ปกิณณกธรรม ตอนที่ 957


    ตอนที่ ๙๕๗

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ ฟังดีๆ เข้าใจถูกต้อง ก็คือว่าเป็นอะไรไม่ได้เลย นอกจากเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้แล้วดับ นี่คือความละเอียดที่ว่าฟังธรรมเพื่อละความต้องการ กว่าจะถึงการที่ขณะเห็นก็มีสติ คิดดู เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่ใครฟังเผินๆ แล้วก็จะกล่าวว่ากำลังเห็นก็มีสติ กำลังได้ยินก็มีสติ กำลังรู้แข็งก็มีสติ กำลังคิดนึกก็มีสติ นั่นเป็นอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าถ้าเป็นสติสัมปชัญญะจริงๆ ต้องมีปัญญาระดับที่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องละเอียดมาก ฟังทีละคำดีกว่า ขอให้เข้าใจคำนั้นจริงๆ แทนที่จะไปคิดถึงมากมายหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นวันนี้จะพูดถึงคำอะไร ก็คือหนึ่งคำ ทีละหนึ่งคำ หนึ่งคำ ด้วยความไม่ประมาทในความลึกซึ้ง เพราะว่าแต่ละคำก็หมายความถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้แน่นอน เราไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่มี พูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ และก็ทุกคนฟังแล้วก็จะได้เข้าใจว่า ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ มากน้อยเพียงใด เป็นผู้ตรง ผู้ตรงเท่านั้นที่จะได้สาระจากพระธรรม

    เพราะเหตุว่าพระธรรมตรง ผิดคือผิด ถูกคือถูก จริงคือจริง ไม่จริงก็คือไม่จริง ไม่มีใครเลย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีความมั่นคงอย่างนี้ก็จะค่อยๆ เห็นความต่างของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล เป็นผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ชาติไหนก็ตาม เริ่มได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังเข้าใจเพียงใด ก็เป็นเรื่องธรรมดาปกติ เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับผู้ที่เคยฟัง ไม่เคยฟัง เคยฟังบ้างไหม เคยฟังแค่ไหน ก็รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่มีใครเปรียบได้ ด้วยพระมหากรุณาแม้เพียงคำเดียวที่เข้าใจ สามารถที่จะนำไปสู่การดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะคำหนึ่งๆ ๆ ก็เป็นทีละหนึ่งคำที่เข้าใจขึ้น เดี๋ยวนี้ธรรมหมดเลย เห็นไหม โต๊ะต่างหาก เก้าอี้ต่างหาก คุณอรรณพนั่งอยู่ตรงนั้น ยังไม่ได้เป็นธรรม แต่ละหนึ่งประมาทได้ไหม ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างไม่ได้บอกว่าเป็นคนนั้นหรือเป็นคนนี้ แต่สิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งนั้น เกิดขึ้นเป็นสิ่งนั้นแล้วก็ดับไป ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย

    อ.นภัทร ก็คือจริงๆ อยากจะเกื้อกูลเพื่อนคนนี้ให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เขาบอกว่าดื่มแบบมีสติก็ได้ รู้อาการที่มึนๆ ก็ดับ รู้เซๆ ก็ดับ คือจริงๆ ผมก็ฟังแล้ว ผมก็รู้สึกว่าไม่ใช่เลย ผมก็เลยมาเรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ใช่ใครจะไปรู้ใจใครได้เลย ขณะนี้ใครจะรู้ใจใครได้ ต่างคนต่างรู้ เพื่อประโยชน์คือเป็นผู้ที่ตรง ฟังธรรม แม้แต่คำว่าทุกอย่างเป็นธรรม จะรู้อย่างนั้นได้อย่างไร แค่ฟังไม่สงสัย สิ่งที่มีจริงมีจริง สิ่งที่มีจริงนั่นเองภาษาบาลีใช้คำว่าธรรม ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มี มีจริงๆ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แล้วเดี๋ยวนี้ทุกอย่างเป็นธรรม จะเป็นได้อย่างไร ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น และธรรมปรากฏให้รู้ลักษณะซึ่งไม่ปะปนกัน ทุกอย่างต้องทีละหนึ่ง แล้วเดี๋ยวนี้ปะปนกันไหม คนนั้นนั่งอยู่ตรงนี้ ถ้วยแก้วอยู่นั่น ดอกไม้อยู่นี่ ทุกอย่าง แค่ดอกไม้ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง ต้องทีละหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอื่นไม่ได้ แค่นี้ เป็นคนนั้นก็ไม่ได้ เป็นคนนี้ก็ไม่ได้ ความตรงก็คือเป็นเพียงสิ่งที่มีจริง แค่มีจริงก็หมดปัญญาใช่ไหมถ้าไม่ได้ฟังต่อไป ก็มีจริง ใครว่าไม่มีจริง แต่มีจริงเป็นอะไร

    นี่ต่างหากที่ต้องอาศัยพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วผู้นั้นก็เป็นผู้ตรง ถึงเวลาของปัญญาที่จะรู้หรือยัง ถ้ายัง ไปขวนขวายด้วยความเป็นเราแล้วจะถึงหรือ นอกจากมีความเข้าใจถูกต้องว่า ปัญญาคืออะไร คือความเข้าใจ เวลานี้เรากำลังสนทนาธรรม มีคำมากมาย เพราะฉะนั้นเข้าใจอะไร เข้าใจคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่งคำ แต่ละสิ่งที่มีจริง เป็นทุกอย่างหรือยัง แค่ฟังก็หนักหนาแล้วใช่ไหม ที่เป็นผู้ตรงว่าทุกอย่าง ก็นี่แว่นตา นั่นไมโครโฟน มีดอกไม้ และก็ทุกอย่าง ละเอียดกว่าที่คิดมาก เพราะเหตุว่าแม้แต่หนึ่งก็กำลังเกิดดับ แล้วไม่เห็นมีอะไรดับสักอย่าง เกิดก็ไม่รู้ดับก็ไม่รู้ นี่เริ่มเห็นความต่างแล้วใช่ไหม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มองขึ้นไปบนฟ้าเกินแสนไกล พระปัญญาที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับคนที่คิดเอง ได้ยินคำไหนก็สติเกิด เห็นก็มีสติ ได้ยินก็มีสติ ถูกต้องอะไรก็มีสติ ทุกอย่างเป็นธรรม แค่คำนี้คำเดียว สักอย่างหนึ่ง บอกมาเลยอะไรเป็นธรรมทีละหนึ่งจริงๆ

    อ.นภัทร สภาพธรรมปรากฏทีละหนึ่ง แล้วก็ชีวิตดำรงอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นหนึ่งด้วยที่ปรากฏแล้วดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกด้วย

    อ.นภัทร ฉะนั้นที่เป็นเรื่องราวต่างๆ นานา เพราะว่าปัญญายังไม่ประจักษ์ความเกิดดับที่เกิดขึ้น และดับไป

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่า ถ้าไม่มีธรรมเกิดเลย อะไรก็ไม่มีสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นที่มีทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งไม่ประจักษ์การเกิดดับ

    อ.นภัทร ฉะนั้นคำว่าที่ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนก็คือเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแล้วก็ดับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรม มีไหม ตัวตน สัตว์ บุคคล อะไรก็ไม่มี แต่ธรรมละเอียดกว่านั้น

    อ.นภัทร แล้วที่เราใช้ชีวิต แล้วรู้เรื่องราวต่างๆ ที่ดำเนินไป เสมือนหนึ่งว่าถ้าธรรมปรากฏทีละหนึ่งจริงๆ แล้วปัญญารู้อย่างนั้นจริงๆ ในความที่จะรู้เรื่องราวที่จะชีวิตจะต้องดำเนินไป

    ท่านอาจารย์ เราไม่ไปไกลถึงเพียงนั้น นั่นคือไกลมาก แต่ต้องตั้งต้นจริงๆ ถ้าเราจะใช้ชีวิต ก็คือว่าขณะที่กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ เราคิดถึงความเป็นตัวตน ไม่ใช่ธรรมเห็นไหม แม้แต่การฟังธรรมก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเรากำลังคิดถึงตัวตน หรือว่าเราฟังธรรม ถ้าเราคิดถึงตัวตน ก็ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม เราใช้ชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้ กับขณะนี้ไม่มีเรา แต่มีธรรมแต่ละหนึ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏทางกายอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏคิดนึกไปทางใจอีกอย่างหนึ่ง ทั้งวันถ้าเข้าใจอย่างนี้จึงเป็นธรรม แต่ไม่ใช่ว่าเราใช้ชีวิตใช่ไหม ก็มีความเป็นเราอีก เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรม ความเป็นผู้ตรงก็คือว่าไม่มีเรา เริ่มต้นที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม แม้แต่คำว่าธรรมต้องเข้าใจก่อน

    เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรมเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย แต่ถ้าเป็นเราเมื่อวานนี้ทำอะไร เรารู้ใช่ไหม ก็เป็นเราไปทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการฟังธรรมเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นเวลาฟังธรรมจะไม่มีคำว่าเราใช้ชีวิต แต่กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งซึ่งยากที่จะเข้าใจได้ เพราะไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่การเข้าใจว่า เรานั่งอยู่ตรงนี้ ยังไม่ได้หมดสิ้นไปเลย เพราะการเข้าใจธรรมแต่ละหนึ่งยังไม่พอ เพราะฉะนั้นจะไม่มีความคิดอื่นเลย ฟังธรรมคือธรรม คำนี้หมายความถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ไม่เคยรู้มาก่อนจึงฟัง เพราะฉะนั้นทำไมที่ฟัง เพื่อเข้าใจถูกเข้าใจถูกต้องแค่ไหนแล้วแต่ ไม่ใช่เราจะไปถึงสติปัฎฐาน หรือว่าจะเปลี่ยนชีวิตของเรา จากการเคยเป็นคนอย่างนี้ให้กลายเป็นอีกคนหนึ่ง เป็นไปไม่ได้เลย นั่นคือเรา เพราะฉะนั้นนั่นเป็นเราที่ฟังธรรม นั่นเป็นเราที่คิดว่าเราจะเปลี่ยนแปลงชีวิต นั่นเป็นเราที่เราหวังว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้เข้าใจว่าไม่มีเรา แต่เป็นธรรม นี่เป็นสิ่งซึ่งละเอียด และก็ยากมาก

    เพราะฉะนั้นก็ตั้งต้นจริงๆ ไม่ผิดปกติเลย เพราะอะไรก็เป็นธรรม ธรรมมีอีกคำหนึ่งที่คนไทยใช้บ่อยคือธรรมดา มาจากคำภาษาบาลี ที่คุณคำปั่นได้ให้คำแปลไว้ ก็คือว่าเป็นคำรวมของคำว่า ธรรม กับ ตา "ตา"คือธรรมดา ความเป็นไปของธรรม เพราะฉะนั้นความเป็นไปของธรรมก็คือธรรมดา แดดออกหรือยัง เป็นธรรมดาของธรรม ใครไปเปลี่ยนแปลงได้ ทุกอย่างเป็นธรรมดา คือเป็นธรรมดา คือความเป็นไปของธรรม เพราะฉะนั้นความเป็นไปขณะนี้ของการสะสมของจิตแต่ละหนึ่งขณะหลากหลายมาก แม้แต่กำลังคิดนั่นคือธรรมดา ความเป็นไปของธรรมที่สะสมมา ฟังธรรมเพื่อแม้แต่คำว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจะได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ กระจ่างขึ้น ค่อยๆ รู้ว่ากำลังศึกษาธรรม ซึ่งไม่ใช่เราเลย แต่ละเอียดยิ่งกว่านั้นอีกมากมายมหาศาล กว่าจะค่อยๆ ล้างสิ่งที่สกปรกติดแน่นที่อยู่กับจิตออกไปทีละเล็กทีละน้อย แค่คำพวกนี้ยังไม่ได้ล้าง อุปกรณ์ สบู่อะไรๆ ก็ได้ หมายความว่าเป็นปริยัติ

    คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าล้างได้ทันทีก็พอจบคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนก็สะอาดไม่มีกิเลสเลย แต่นี่ คำของพระองค์เป็นที่พึ่งที่อาศัย ที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะถึงการดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคำ แม้แต่พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ไม่ใช่สำหรับพูดโดยไม่รู้เรื่องหรือไม่จริงใจ แต่เดี๋ยวนี้หลังจากที่ได้เข้าใจแล้ว มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งไหม ไม่ใช่มีคนอื่นอีกเลย ไม่ใช่ครูคนนั้น อาจารย์คนนี้ คำนั้นคำนี้ของคนอื่นเลย แต่ทุกคำที่เป็นคำจริง พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่าเป็นคำของเราทั้งหมด เพราะว่าใครจะพูดความจริงได้อย่างนี้ อย่างที่ได้ทรงตรัสรู้ทุกคำเป็นคำจริงตลอด ๔๕ พรรษา มากมายหลายคำ นับไม่ถ้วนเลย เพื่อให้เราเป็นผู้ตรงว่าแม้แต่แต่ละคำที่ได้ฟังมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด ยังไม่ต้องไปมีสติปัฎฐาน ไปดับกิเลสอะไรเลย แค่เข้าใจถูก เพราะว่าปริยัติหมายความถึงความรอบรู้ในพระพุทธพจน์ ไม่ฟังคำของคนอื่นจริง แต่คำของพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ง่าย ที่คิดว่าจะเข้าใจได้โดยรวดเร็ว แม้แต่คำว่าสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงไม่ได้บอกว่าเป็นคน เห็นมีจริง เห็นดับ คนอยู่ที่ไหน ได้ยินมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ได้ยินเกิดขึ้นได้ยินแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ไม่เหลืออีก

    การฟังพระธรรมก็เพื่อที่จะให้กระจ่าง ในการที่ว่ามีสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้มาเลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมด้วยความไตร่ตรองจริงๆ ว่าแค่ทุกอย่างที่มีจริงละเอียดจนกระทั่งถึงทุกอย่างที่ได้ฟัง เป็นผู้รอบรู้ในคำนั้นไหม รอบรู้แทงตลอดไม่เปลี่ยน เมื่อใดที่ไหนก็เป็นธรรม ขณะนั้นธรรมก็กำลังปรากฏทางตาเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น บอกว่าเป็นคนได้ไหม แล้วก็เห็นคนได้ไหม นี่ก็เริ่มแล้ว ถ้าเป็นความคิดอย่างนี้คือความเข้าใจเดิมๆ แต่พอฟังธรรมเมื่อใด แม้แต่เมื่อได้ยินคำนี้ แต่ก็เริ่มคิด เพราะว่าทุกคนห้ามคิดไม่ได้ คิดถึงอะไร คิดถึงสิ่งที่เห็นแล้ว คิดถึงคำหรือเสียงที่ได้ฟังแล้ว คิดถึงทุกอย่างที่ประสบแล้ว จำไว้แล้วก็คิด เพราะฉะนั้นความจำทั้งวันจำบ้างไหม ในขณะที่กำลังกระทบว่า มีจริงแค่เห็น เห็นไหม นี่คือแต่ละคำ ไม่ต้องไปเรียกชื่อว่าสติปัฏฐาน ไม่ต้องเรียกอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะว่าที่สำคัญที่สุด คือความเข้าใจคำที่ได้ฟัง ขณะใดก็ตามที่เข้าใจก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดกับสภาพที่เข้าใจด้วย เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย เห็นเพียงหนึ่ง แต่ว่าในขณะนั้นต้องมีสิ่งอื่นรวมอยู่ แต่ว่าไม่ได้ปรากฏ นี่เป็นคำที่ค่อยๆ ละเอียดขึ้น ค่อยๆ ละเอียดขึ้น เพื่อที่จะได้รู้จัก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระปัญญาคุณที่ทรงบำเพ็ญมา รู้จริงๆ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องไปคิดถึงว่า คนนั้นคนนี้จะเกื้อกูลเขา เพราะว่าจริงๆ จิตหนึ่งขณะเป็นใครไม่ได้ เกิดคนเดียว เห็นก็คนเดียว คิดก็คนเดียว ได้ยินก็คนเดียว แล้วก็เกิดดับก็ไม่ใช่เราทั้งหมด นี่คือมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่ฟังปล่อยไปเลย หรือฟังแล้วยากเหลือเกิน เมื่อไหร่จะถึง ฟังแล้วสุดวิสัย คิดอย่างนี้แล้วจะถึงได้อย่างไร แต่ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจว่ายาก แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กละน้อย ความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีหรือที่ธรรมจะไม่เป็นไปตามธรรม คือเมื่อเป็นความเข้าใจก็เข้าใจแล้วก็สะสมสืบต่อ ขณะนี้ที่ฟังตั้งแต่คำแรกจนถึงเดี๋ยวนี้ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ไม่มีใครทำหน้าที่ของปัญญาเลยในขณะที่เข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจขณะนั้นก็เป็นหน้าที่ของสภาพธรรมอื่น ไม่เข้าใจมีจริงๆ มีจริง ภาษาไทยก็คือไม่รู้ใช่ไหม ไม่เข้าใจใช่ไหมก็คืออวิชชา

    เพราะฉะนั้นทุกคำเราไม่ได้ไปจำ เรียนคำ จำเสียง แต่ว่ารู้ว่าลักษณะนั้นสภาพธรรมนั้นมีจริงในขณะใดก็แล้วแต่ ขณะที่ไม่เข้าใจก็จริง ขณะที่เข้าใจก็จริง ความไม่เข้าใจจะมาทำหน้าที่ของสภาพธรรมที่เข้าใจได้ไหม ก็ไม่ได้ ต่างมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นแต่ละหนึ่ง แล้วก็ดับไป ฟังอย่างนี้เพื่อไม่ใช่เรา เท่านั้น ใครจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ความคิดความอ่านของแต่ละคน เพราะขณะนั้นก็เป็นเราที่กำลังคิดถึงเพื่อน หรือถึงใครก็ตามแต่ ก็เป็นเรื่องซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นไม่ต้องทำอะไร เพราะขณะคิดจะทำอะไร เราจะทำ จะช่วยเขา ขณะนั้นก็เป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ช่วยไม่ได้ ก็ไม่ได้จริงๆ พระธรรมก็มีไว้แล้วใช่ไหม และก็ถ้าไม่อาศัยการเข้าใจพระธรรม แล้วคำไหนจะไปช่วยใครได้ ไม่มีทางที่จะช่วยใครได้เลย แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังตรัสว่า แล้วเราจะว่าอะไรเขาได้ เพราะฉะนั้นก็ฟังธรรมวันนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจในสิ่งที่มีซึ่งเป็นธรรม

    ผู้ฟัง รอบรู้ในพระพุทธพจน์ในแต่ละคำ ในลักษณะที่ไม่ใช่การเรียนวิชาอื่นๆ

    ท่านอาจารย์ ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แน่ใจ

    ผู้ฟัง แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่ละหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ รอบรู้หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ฟังจนกว่าจะรอบรู้ว่าไม่ใช่เราแน่นอน เห็นเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีตา จุดประสงค์เพราะไม่ใช่เรา เห็นจะเป็นเราไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีตา เห็นก็เกิดไม่ได้แล้ว และเห็นเกิดไม่ได้ เราไปทำเห็นให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะเห็นจะเกิดต่อเมื่อมีปัจจัย นี่คือค่อยๆ รอบรู้ ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย แต่รอบรู้เพื่อที่จะเข้าใจเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่มีตาก็ไม่เห็น ฟังไปก็ยังไม่รู้ลักษณะของเห็น แต่เริ่มที่จะรู้ว่าเกิดมาแล้ว เห็นเกิดแล้วดับ แล้วไม่รู้ความจริงจนตาย จนกว่าบารมีมาแล้ว ความอดทน รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ทรงตรัสรู้เห็นอย่างที่กำลังเป็นเห็น เห็นไหม เพราะฉะนั้นการที่จะรอบรู้ ก็คือว่าไม่ไปรู้เรื่องอื่นเลย แต่รู้ว่าเห็นเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่อย่างอื่น เพราะฉะนั้นฟังอีก ถ้าไม่มีตาก็ไม่เห็น ก็ยังไม่เห็นไปละความเป็นตัวตนได้อย่างไร ฟังอีกจนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นสังขารขันธ์ กำลังทำหน้าที่ของปัญญา โดยไม่มีใครไปทำเลย แต่ต้องมีความอดทน

    เพราะฉะนั้นบารมีไม่ใช่หมายความว่า เราไปทำทานใหญ่ เราไปวิรัติทุจริตใหญ่หรืออะไร แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า ชีวิตประจำวันอกุศลมาก แล้วก็เป็นอย่างนี้โดยไม่รู้ตัวเลย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่รู้ว่า ถ้าขณะนั้นไม่เป็นอกุศล กุศลก็เกิด ถ้าไม่เป็นกุศล อกุศลก็เกิด บังคับบัญชาไม่ได้เลย ความดีแม้เล็กน้อยในชีวิตประจำวัน นั่นคือบารมี เห็นของคนอื่นตก ไม่ต้องเก็บให้เขา เดี๋ยวเขามาเก็บเอง เดี๋ยวเขาเสียนิสัย เดี๋ยวเขาเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเขาเป็นอย่างนี้ กุศลหรืออกุศล เพียงแค่เก็บมานิดหนึ่ง เปลี่ยนเดิมแล้วใช่ไหม เปลี่ยนจากเดิมแล้ว แค่หนึ่งขณะที่เป็นกุศลสะสมไว้ นั่นคือบารมี มีผู้ที่กล่าวว่าท่านพระราหุลเป็นผู้ที่กวาดแล้วก็ทิ้งไม้กวาดไว้ ท่านไม่พูดสักคำ ไม่มีประโยชน์ก็ไม่พูดใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็จะพูดคำที่มีประโยชน์ แค่นี้ก็บารมี ไม่ว่าจะกายหรือวาจา วาจาซึ่งเคยเสียงแข็ง คนอื่นฟัง ทำไมถึงต้องให้เขาไม่สบายใจด้วย แค่เสียงของคำที่เขาได้ยิน ที่พูดกับเขา เปลี่ยน มีความเมตตาแล้วขณะที่คิด มีความเป็นเพื่อน มีการที่จะไม่พูด หรือใช้คำที่คนอื่นจะไม่สบายใจ ขณะนั้นบารมี

    เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันทุกขณะที่กำลังขัดเกลา เพราะมีปัญญารู้ว่ากิเลสมากกายวาจาทั้งวันเป็นไปตามอกุศลทั้งนั้น กุศลด้วยความเป็นเรา หรือว่ากุศลรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นความดีก็มีตั้งหลายขั้นมากเลย กว่าจะค่อยๆ ชำระจิต แล้วอย่างนี้จะไปพูดเรื่องสติปัฎฐาน อย่างนั้นอย่างนี้เป็นสิ่งซึ่งไม่ถูกต้อง อกุศลเกิดมาก แค่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจนิดเดียว แต่ว่าถ้าบ่อยๆ มากขึ้นเหมือนน้ำทีละหยด เมื่อเทียบกับมหาสมุทร ก็อดทนที่รู้ว่าวันหนึ่งความดีจะค่อยๆ เกิดมากขึ้นมากขึ้น แล้วก็สามารถที่จะค่อยๆ รู้ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง โดยที่ว่าฟังแล้วก็เป็นเราเห็น ก็แน่นอนก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะว่าปัจจัยที่จะให้เข้าถึงลักษณะของเห็นที่ไม่ใช่เรายังไม่ถึงเวลา เพราะเหตุว่าความเข้าใจไม่พอ ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้าม ข้ามชีวิตปกติธรรมดา ข้ามความเข้าใจว่าธรรมก็คือว่าเข้าใจสิ่งที่มีจริงได้โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราสักอย่างเดียว เริ่มเห็นความต่างของขณะที่เป็นเรากับขณะที่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แต่ละหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เห็นหนึ่งหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ดับหรือยัง

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ หนึ่งไหม เอากลับมาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ให้เป็นสองได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่ว่าความเข้าใจ ก็หนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ดับแล้ว เข้าใจเมื่อสักครู่นี้ ไม่ใช่เข้าใจเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ถ้าจะพูดถึง ไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดถึงว่าไม่มีเรา เข้าใจจริงๆ หรือยังว่าไม่มีเรา เห็นไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงไม่มีเรา ก็ต้องไม่มีเรา แล้วเราก็ได้แต่พูดต่อไป ถ้ายังไม่มั่นคง พูดถึงว่าไม่มีเรา แล้วก็ยังคงเป็นเราไปเรื่อยๆ เรื่องของเรามาแล้ว แม้แต่คำที่ต้องละเอียด เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ละเอียด ไม่มีทางเข้าใจพระธรรมได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    18 ธ.ค. 2567