ปกิณณกธรรม ตอนที่ 960


    ตอนที่ ๙๖๐

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสติปัฎฐาน สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เราจะต้องไปมีที่หนึ่งที่ใดไปนั่งประพฤติปฏิบัติ แต่ความรู้ความเข้าใจรอบด้าน ไตร่ตรองรอบรู้เห็นคุณประโยชน์จริงๆ ของพระธรรมที่สอน พ่อแม่สอนเราจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่มีใครสอนอีก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนทุกชาติที่เกิด และมีโอกาสได้ฟังคำของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพระวินัย พระสูตรหรือพระอภิธรรม เป็นเรื่องของขัดเกลาเพราะอะไร กิเลสมาก โลภะอย่าได้ไปหวังเลยที่จะหมดกิเลส ต้องเป็นความเห็นประโยชน์ของกุศลตามลำดับขั้น พร้อมทั้งการศึกษาเข้าใจในความเป็นธรรม ขาดอันนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าจะรักษาศีลสักเท่าใด ก็เรานั่นเอง จะอดตามพระภิกษุไม่บริโภคนั่นบริโภคนี้ ก็เราอีกนั่นเอง แต่ว่าถ้าเข้าใจในความเป็นอนัตตาจริงๆ ก็แล้วแต่เพราะว่าศีล ๘ อีกนัยหนึ่งคือ อาชีวัฏฐมกศีล อันนั้นก็เป็นชีวิตปกติธรรมดาแล้วแต่ ไม่มีการบังคับ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า แต่ละหนึ่งเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ อบรมเจริญปัญญาได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของกิเลสที่ผลักไส ให้ไปทำสิ่งที่ผิดเป็นเครื่องกั้น

    ผู้ฟัง ต้องรู้ว่าที่เรากินเพราะว่าเราหิว หรือเราอยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้หรอกว่าพระวินัยเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องมีการเข้าใจธรรมก่อนใช่ไหม จากการฟังพระธรรม และเมื่อฟังพระธรรมแล้ว มีผู้ที่รู้จักตัวเองจะเข้าใจธรรมว่าสะสมอัธยาศัยใหญ่ที่จะเป็นพระภิกษุ สละเพศคฤหัสถ์โดยสิ้นเชิง จะกลับไปทำอย่างคฤหัสถ์อีกไม่ได้เลย ไม่ว่าทั้งกายทั้งวาจา การงานอาชีพต่างๆ ทำไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงจะสามารถขัดเกลากิเลสได้ เพราะว่าโลภะไม่เข้ามาลวง ไม่เข้ามาล่อไม่ให้เข้าใจผิดไม่ใช่ให้หวังว่าเราทำ เพื่อเราจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ไม่ใช่ แต่ทั้งหมดเป็นการที่ว่าเข้าใจว่าไม่ใช่เรา อันนี้สำคัญมาก

    ด้วยเหตุนี้พระวินัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ที่รู้อัธยาศัย และก็ต้องการที่จะขัดเกลากิเลสตามรอยพระบาท ประพฤติตามพระองค์ทุกประการ สละอาคารบ้านเรือน ครอบครัววงศาคณาญาติ อบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต แต่เมื่อกิเลสยังมี ท่านก็มีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ผู้ที่รู้เห็นก็ติเตียนแม้เป็นชาวบ้าน ก็ทำให้รู้ว่านั่นไม่เหมาะกับบรรพชิต กราบทูลพระผู้มีพระภาคประชุมสงฆ์ให้ทุกคนเห็นจริงว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่พระภิกษุจะกระทำเยี่ยงนั้น จึงมีวินัยสำหรับภิกษุ แต่สำหรับคฤหัสถ์จะรักษาศีลกี่ข้อ ก็ไม่ต้องบอกใคร เกิน ๕ ก็ได้ ตามพระวินัยมีมากมาย ที่ท่านสวดปาติโมกข์กัน เราจะอบรมเจริญปัญญาของเราก็ตามอัธยาศัย ไม่จำเป็นต้องบอกใคร ประกาศใครหรือว่าไม่ต้องถือเพศเป็นพระภิกษุได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระภิกษุต้องเป็นผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ และต้องประพฤติตามพระธรรมวินัยทั้งหมด ไม่ลืม เพื่อละกิเลส แต่ต้องเห็นกิเลส ถ้าไม่เห็นกิเลสไม่ละ และที่เห็นไม่ใช่เราต้องเป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จะละคลายความติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ก็คือพระอนาคามีบุคคล แต่ไม่ได้หมายความว่า การค่อยๆ ขัดเกลาแต่ละหนึ่งทีละเล็กทีละน้อยจะไร้ประโยชน์ เป็นประโยชน์แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ต้องเพราะปัญญา ธรรมต้องชัดเจนเท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เข้าใจทั้งหมดทีเดียว คงไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เพียงแต่ว่าได้ฟังแล้วก็ไตร่ตรองรู้ว่าละเอียดลึกซึ้ง เกินกว่าที่จะหยั่งได้ แค่นี้ แต่ละคำแต่ละคำ อย่างเห็นทุกคนก็กำลังเห็น แต่ความลึกซึ้งของเห็นเกินกว่าที่จะหยั่งได้ ลองคิดถึงคำนี้ก็แล้วกันว่า หมายความว่าอะไร เป็นธาตุรู้แน่นอน มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็ต้องแสดงว่าเห็น เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ และก็กำลังเห็นด้วย

    เพราะฉะนั้นการที่ฟังพระธรรม ก็คือให้ทราบว่า ก่อนที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ ก็ต้องอาศัยการที่รู้ตัวเองว่าไม่เคยรู้มาก่อน และสิ่งที่ปรากฏที่มีจริง ฟังเท่าใดก็ยังเหมือนเดิม เหมือนจับด้ามมีด เราไม่เห็นเวลาที่ด้ามมีดกำลังสึก เหมือนเดิมใช่ไหม ด้ามมีดจับครั้งที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่พัน ที่หมื่น ที่แสนเหมือนเดิมไหม เราจะไม่รู้เลยว่าปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง อย่าเพิ่งผ่าน สังขารขันธ์ ทำไมถึงกล่าวว่าเจตสิก ๕๐ ประเภทเป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งจากหนึ่งขณะที่ได้ฟัง และก็ขณะที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เรื่อยไป เขาจะค่อยๆ ปรุงแต่ง โดยเราไม่รู้ตัวเลยสักนิดเดียว มีหน้าที่อย่างเดียว คือว่าให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ธรรมทุกอย่างไม่ใช่เรา ทุกอย่างแล้วจะเว้นอะไร เมื่อสักครู่นี้รับประทานอาหารกลางวัน แล้วก็ไปพักผ่อน ทุกอย่างเป็นธรรม เราฟังแล้วก็ต้องลืมเป็นของธรรมดา เพราะเหตุว่าเราจำผิดมานานมาก ตั้งแต่เห็น ตั้งแต่ได้ยิน ทุกชาติไป ก็จำผิดๆ มาว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ก็ต้องรู้ว่าเพราะอะไร เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ก็ขณะนี้ไม่เห็นเกิด ไม่เห็นดับ แล้วจะบอกว่าขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก

    เพราะว่าไม่มีใครที่จะรู้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ความจริง เกินที่ใครจะคาดฝันได้ เพราะเห็นเมื่อใดก็ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมกันเลย เป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตลอดเวลา แต่ความจริงก็คือว่า แต่ละหนึ่งที่รวมๆ กันเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด แยกออกได้เป็นแต่ละหนึ่ง และแต่ละหนึ่งเกิดดับเร็วมากต่อกันสนิทเลย เมื่อสักครู่เดินมาทุกก้าว ต่อกันสนิทจนกระทั่งถึงนั่งลงที่นี่ ก็ต่อกันสนิทไม่เห็นมีอะไรเกิดดับเลย แต่ความจริงทุกอย่างแตกสลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย มิฉะนั้นจะไม่มีการละคลายความเป็นเราหรือความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่การละคลายต้องตามลำดับขั้น ไม่ใช่ให้เราไปละความติดข้อง ที่เราเคยติดข้องในอาหารอร่อยในความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพียงแต่ว่าติดข้องว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มั่นคง ไม่ดับไป ไม่แตกสลายเลย

    เพราะฉะนั้นเห็นเมื่อใดก็พอใจในสิ่งนั้นเอง ที่เหมือนว่าเป็นสิ่งซึ่งยั่งยืน อย่างดอกไม้เมื่อเช้าใครชอบก็ยังเหมือนเดิมใช่ไหม ไม่เห็นแตกสลายไป แต่ว่าตามความเป็นจริงกำลังเกิดดับ ต้องปัญญาที่อบรมแล้วเท่านั้นที่กว่าจะรู้อย่างนี้ได้ แต่ละหนึ่งแยกออกไป เพราะว่าเห็นต้องไม่ใช่ได้ยิน ต้องไม่ใช่คิดนึก ต้องไม่ใช่สุข ต้องไม่ใช่ทุกข์ แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งจริงๆ แล้วไม่เคยที่จะได้รับฟังความจริงว่าไม่ใช่เราหรือของเรา เพราะว่ารวมกันไม่เห็นว่าเป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งแยกขาดจากกัน เพราะฉะนั้นถ้ายังรวมกันอยู่ ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าแยกออกไป เป็นแต่ละหนึ่ง นี่คือปริยัติ เริ่มฟัง

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ขั้นฟัง ฟังเข้าใจ ฟังรู้เรื่อง แต่การเป็นหนึ่งที่เกิด และดับไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่จะยังคงยึดมั่นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะต้องมากมายมั่นคงเหนียวแน่นอย่างนี้ จนกว่าจะรู้จริงอย่างนั้นเมื่อใดเมื่อนั้น ก็ยังมีความต่างขั้นของปัญญาที่อบรมมาที่จะค่อยๆ ละ เพราะฉะนั้นฟังอย่างนี้ไม่ละ หรือว่าสติสัมปชัญญะเกิดก็ไม่ละ จนกว่าจะรู้ความจริงที่สภาพธรรมปรากฏเมื่อใด จึงเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ขั้นต้นยังไม่ละ เห็นไหม ความเหนียวแน่นไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะไปดลบันดาลอะไรได้เลย แต่เป็นผู้ที่เริ่มรู้ความจริงลึกซึ้งยากยิ่ง และก็เป็นเรื่องที่ละความเป็นเราจริงๆ จนไม่เกิดอีกเลย คิดดู ละจนไม่เกิดอีกเลย ไม่มีสักขณะหนึ่ง ซึ่งจะกลับไปคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เที่ยงหรือยั่งยืน

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่า เหมือนเราเรียนหนังสือ ถ้าเราเรียนแล้วรู้แล้ว เห็นที่ไหนเราก็จำได้ กอไก่ ขอไข่ กว่าจะจำไปจนถึงฮอนกฮูก แล้วก็ไปเจอที่ไหนเราก็เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราค่อยๆ คุ้นกับธรรมอย่างมั่นคงในความไม่ใช่เรา แต่ความเป็นเราคอยแทรก คอยคั่น คอยกั้น อยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะหมดความเป็นเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจะเห็นการยากลำบากของปัญญา ซึ่งไม่เหมือนวัชพืช ไม่ต้องทะนุบำรุงเลย งอกงามเจริญดี เหมือนอกุศลกับกิเลสงอกงามเจริญดีทุกวัน แต่ว่าปัญญาความเห็นถูกความเข้าใจถูก ทั้งๆ ฟังอย่างนี้ ละไม่ได้ แต่ต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เพิ่มขึ้นอีก แล้วไม่ใช่เราที่ละ ข้อสำคัญที่สุดก็คือไม่ใช่เราที่ละ อดทนสักเพียงใด ถ้าให้เราทำอะไรชวนกันไปทำ ไปเลย ได้เลย คิดว่าทำได้ ไม่ได้ละอะไรเลย ง่ายเกินไป ที่จะคิดว่าจะสามารถไปเข้าใจความลึกซึ้งของธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ได้ โดยการไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา แล้วก็คิดว่านั่นเองกำลังจะประจักษ์ กำลังจะรู้ กำลังจะละความเป็นตัวตน เป็นสิ่งซึ่งไม่สมเหตุสมผลเลย

    เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ว่าหนทางนี้ ถ้าไม่อาศัยคุณความดีจริงๆ มั่นคงขึ้นเพราะว่าคงจะไม่มีใครรู้ว่า ทุกขณะที่ดี ทำดี คิดดี พูดดี ขณะนั้นกำลังค่อยๆ ละความเป็นเรา เห็นไหม ไม่รู้เลย ทำดีเมื่อใด ถ้ายังคงเป็นเราทำไม่ได้ ก็เห็นแก่ตัว อะไรๆ ก็ต้องเราก่อนเสมอ คนอื่นจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับตัวเอง แต่พอไม่คิดถึงตัวเราเอง ทำความดีเมื่อใด นั่นเป็นหนทางที่จะค่อยๆ ละความเป็นเราจนกระทั่งหมดความเป็นเราได้ เพราะฉะนั้นหนทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางของความดีโดยตลอด เพื่อละความเป็นตัวตนซึ่งไม่ดี เพราะยึดถือว่าเป็นเรา ถ้าไม่ใช่เราสละได้ไหม ไม่ใช่เราสละได้ไหม ได้ แต่พอเป็นเราสละได้ไหม ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่แน่นอนมั่นคงเป็นไปได้ ยากจริงๆ ที่จะค่อยๆ ชำระจิต ก็คือรู้ขณะจิตหรือเข้าใจถูกต้องว่าขณะใดดี และขณะใดไม่ดี แค่นี้ก็ยาก เพราะว่าจะมีปัญหาเสมอที่ถามกันทำอย่างนี้ดีไหม ทำอย่างนั้นไม่ดีไหม หมายความว่าอะไร หมายความว่าไม่รู้ว่าความดีคืออะไรใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมเพื่อไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เห็นความจริงว่า กิเลสมากอย่างนี้จะออกได้อย่างไร ประมาทไม่ได้เลย ไม่มีวิธีลัดไม่มีวิธีง่าย แล้วก็เป็นปกติอย่างนี้ เห็นอย่างนี้เลย อย่างนี้เลย เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริง กำลังเห็นจริง เกิดขึ้นแล้วดับ ไม่ใช่พระองค์เดียวที่รู้ความจริงนี้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระองค์เดียว ก็ไม่มีสาวก ไม่มีผู้ฟัง ไม่มีผู้รู้ตาม แต่เพราะเหตุว่ามีพระปัญญาถึงกับสามารถที่จะทำให้คนอื่นได้ยินได้ฟังคำแต่ละคำ ซึ่งต้องไตร่ตรองจริงๆ จนกว่าจะเป็นความเข้าใจจริงๆ เมื่อนั้นความดีก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยที่ว่าไม่ได้หวังอะไรเลย แต่ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เรา จนกว่าปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจความต่างกันของขั้นการฟังกับขั้นที่ปฏิปัตติ

    เพราะเหตุว่าขั้นต้นถ้าไม่อาศัยการฟัง กำลังพูดกันเรื่องเห็น คิดอะไร คิดเรื่องอื่น ถูกไหม ใครรู้ตรงเห็น ตรงเห็นไม่ใช่ต้องมามีใครอะไรมานั่งจ้องต่างหาก แต่ความเข้าใจค่อยๆ เกิดในขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องจ้อง ไม่ต้องทำอะไร เริ่มเข้าใจถูก นี่คือการค่อยๆ ปล่อย ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ละ แม้แต่ความจงใจ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก บางคนก็อาศัยเจตนาอาศัยความตั้งใจ รักษาศีล ทำโน่นทำนี่ทุกอย่าง แต่ว่าขณะนั้นใครทำ โลภะ อวิชชาทั้งสองอย่างมากมายมหาศาล ครอบครองเป็นเจ้านายใหญ่ยิ่ง ใช้คำว่าเรา เป็นตัณหาทาโส เป็นทาส ไม่ได้อิสระเลย เป็นทาสของอะไร เป็นทาสของความต้องการ จริงไหม ทั้งวัน ลองคิดดู เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมา เป็นเรื่องจริงก็ต้องจริง มีกิเลสมากก็กิเลสมาก มีความเข้าใจเท่าใดก็คือเท่านั้น มีความอดทนเพียงใดก็แค่นั้น แล้วก็จะรู้ได้ว่าทั้ง ๓ ปิฎก เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเรามีความเข้าใจว่าทุกอย่างที่ได้ทรงแสดงรู้ว่าเราขัดเกลากิเลสด้วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะว่าทั้งกายทั้งวาจาทั้งวันเป็นไปด้วยกิเลสทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียวก็คือว่าสามารถที่จะให้คนได้เห็นประโยชน์จากคำที่พระองค์ทรงแสดง อย่างถ้าเป็นพระวินัยก็ประชุมสงฆ์ทุกครั้ง ที่มีความประพฤติเป็นไปทางกายทางวาจาที่ไม่เหมาะสม พระองค์เห็นว่าถูกต้องอย่างนี้ แต่คนอื่นเขาเห็นไหม เขายังไม่เห็น ก็ต้องให้เขาเห็นก่อน ชี้แจงให้เห็นโทษของอกุศล ให้เห็นประโยชน์ของการที่ค่อยๆ อบรมเจริญความดี จนกระทั่งเป็นที่รับรองในเรื่องของความประพฤติทางกายทางวาจาทุกประการว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเพศบรรพชิต นี่ก็แสดงให้เห็นถึงว่า อัธยาศัยถึงสละอาคารบ้านเรือน ก็ยังทรงพร่ำสอนอนุสาสนี แล้วก็มีพระวินัยกำจัดกิเลสอย่างยิ่ง โดยว่าไม่เว้นเลยทั้งกายวาจา ในขณะที่เราฟัง เรากำลังคิดถึงเรื่องปัญญาที่เข้าใจธรรม แล้วทางกายทางวาจาของเราเป็นไปอย่างที่คุ้นเคยหรือเปล่า นี่ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ยากมากแต่ก็เป็นไปได้ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปเป็นปกติ เป็นไปได้แน่นอน เพราะว่าปัญญาคือความเห็นถูกความเข้าใจถูก ไม่ใช่เรา แต่ถ้าเป็นเราเมื่อใดก็คือกั้นเมื่อนั้น ยืดยาวต่อไปอีก เพราะถูกทับถมด้วยความต้องการ และความไม่รู้ ก็อดทนที่จะฟังซ้ำไปซ้ำมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้ง ๓ ปิฎก ดีกว่าไม่ได้ฟัง ดีกว่าไม่มีโอกาสได้ฟัง ดีกว่าไม่ได้เกิดมาที่จะได้อบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ใครก็ทำแทนใครไม่ได้ ใครทำแทนใครได้ เราไม่มีกิเลสเลย เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น ไม่ได้เฉพาะบุคคลนี้หรือบุคคลนั้น สัตว์โลกทั้งหมด ถ้าสามารถที่จะให้หมดกิเลสได้ ก็ต้องทรงกระทำแน่นอน แต่เพราะเหตุว่าใครก็ทำให้ใครไม่ได้ นอกจากเข้าใจขึ้นแล้วก็อบรมเจริญปัญญาแล้วก็ความดี ที่ว่าเมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะสามารถที่จะเห็นประโยชน์ของการที่จะให้คนอื่นได้มีโอกาสเข้าใจด้วย

    เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญญาอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพราะอะไร เพราะพระปัญญายิ่งกว่าใคร ที่เห็นประโยชน์จริงๆ ว่าจะมีชีวิตอยู่ทำไม ช่วยคนอื่นดีไหม ให้เขาเข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้นทั้งหมดของพระองค์ตั้งแต่ตื่นทั้งเช้าบ่ายสาย ค่ำอะไรจนกระทั่งมีเวลาพักผ่อน บรรทมคือหลับไม่นาน ชีวิตทั้งหมดตั้งแต่ตรัสรู้ก็เป็นประโยชน์ แล้วเราก็เห็นคุณจริงๆ ว่ามีโอกาสได้ยินได้ฟัง แล้วก็เมื่อใดจะถึงวันนั้น ก็ด้วยความไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ เข้าใจจนกระทั่งว่า ไม่เหลือความยึดถือว่าเป็นเรา ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดได้เลย คิดดู เราอาจจะคิดว่าความดีอย่างนี้ ชั่วครั้งชั่วคราว เราทำได้ เดี๋ยวเดียว นิดเดียวน้อยมาก เมื่อเทียบกับความที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา และก็เป็นเหตุที่จะทำให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นหลากหลายมาก กิเลสลึกล้ำซ้ำซ้อนยากแก่การที่จะรู้ทัน

    ก็เป็นโอกาสดี ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ฟังไปอีกไม่เป็นไร นานเท่าใดไม่สำคัญ ขอให้เข้าใจ เข้าใจก็คือเดี๋ยวนี้เห็นตรงตามที่ได้ฟังหรือยัง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ายังไม่ตรงตามที่ได้ฟัง วันหนึ่งที่เห็นคุณค่าของการละ ไม่ใช่รีบร้อนที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น คิดดู สิ่งที่ไม่เคยรู้มาเลยนานมากแล้วจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ต้องใช้เวลานานสักเพียงใด นี่คือการละ เห็นไหม ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง มิฉะนั้นเราก็หวังแล้วเราก็จะทำอย่างนั้นอย่างนี้กัน ซึ่งทั้งหมดก็คือว่าด้วยความเป็นเรา ละเอียดลึกซึ้งแยบยลไหม และปัญญานั่นเองที่จะเห็นของตัวเองแต่ละคนด้วย เราเคยคิดไหมที่จะเข้าใจสิ่งที่มี หรือเราอยากจะหมดกิเลส หรืออยากจะทำอย่างหนึ่งอย่างใด เห็นไหมผิดกันแล้ว ถ้าจะเข้าใจก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากช้ามาก แต่เข้าใจจริงๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่เป็นเรื่องคิดว่า เห็นเกิดดับอย่างไร นั่นคือไม่มีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น เฝ้าแต่คิดว่าอย่างไร ต่างกันแล้วเห็นไหม แม้นิดเดียวเล็กน้อยที่สุด เหมือนสองอย่างที่แสนบาง ยากที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง เหมือนเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดอะไรเลยสักนิดหนึ่งว่าจะเล็กจะใหญ่เพียงใด ฟังเข้าใจ เข้าใจเท่านั้น เข้าใจนั่นคือไม่ใช่เราแล้ว และเข้าใจนั้นก็เป็นสังขารขันธ์ จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง จากเมื่อเช้าถึงเดี๋ยวนี้เห็นไหม ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา เพียงใดใครรู้ ไม่ต้องไปมีตัวตน ไปใฝ่หาอีก เรื่องของตัวตนทั้งนั้นเลย แต่ว่าฟังแล้วเข้าใจก็คือเข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเดี๋ยวนี้คิดอะไร

    ผู้ฟัง บอกไม่ได้ เพราะว่ารวดเร็วเกิดดับหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.อรรณพ เพียงได้ยินคำถาม จิตก็เกิดดับ คิดนั่นคิดนี่มากมาย ไม่อาจจะตอบทันว่าคิดอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะแค่เห็น เป็นคุณอรรณพคิดตั้งเท่าใด คิ้ว ตา จมูก ปาก ทุกสิ่งทุกอย่างถึงจะเป็นคุณอรรณพ แต่พอเห็น คุณอรรณพทันทีเกิดดับเร็วเพียงใด เพราะฉะนั้นมีสิ่งที่เราไม่รู้ เหมือนเราพูดถึงสิ่งที่อยู่ใต้มหาสมุทร จมอยู่ที่ก้นมหาสมุทร ทุกอย่างหมดเลย แม้แต่คิดเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ รู้หมดทุกอย่างจิตเท่าใด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าใด รูปเท่าใด แล้วเดี๋ยวนี้คนนั้นคนนี้อยู่ตรงนั้นตรงนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นจะรู้เลยว่าจากคิด จากฟัง ฟังมากมายเลยเมื่อเช้า เมื่อสักครู่อาหารอร่อยไหม ตอบได้ แต่ถามว่าคิดหรือเปล่า ถึงสิ่งที่ได้ฟังเมื่อเช้านี้ ตอบได้ไหม ตอบไม่ได้มะม่วงน้ำปลาหวาน ตอบได้ใช่ไหม แต่เมื่อเช้าวินัยอะไร จิตอะไร เจตสิกอะไร เท่าใด ตอบได้ไหมที่เราสนทนากันไปแล้ว แต่ปัญญาทำหน้าที่ ไม่ต้องห่วงเลย ปัญญาไม่ได้จำ เห็นไหม ความละเอียดมาแล้ว ปัญญาไม่ใช่จำทีละหนึ่ง ต้องหนึ่งเป็นหนึ่ง เราอาจจะไม่ต้องใช้คำที่ทำให้เราพูดตามบ่อยๆ แต่ความเข้าใจของเราไม่ได้ตามคำพูดบ่อยๆ อย่างนั้น เพียงแต่จำ มีหน้าที่จำ จำ ไม่เคยที่จะไม่จำ แต่ว่าจำก็เกิดแล้วจำก็ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีกสักจำเดียว แต่ก็สืบต่อมาเรื่อยๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า อย่างนี้ใครจะมาคิดเอง พูดเองได้ เพราะว่าเป็นจริงทุกคำ แต่ว่ากว่าจะถึงการที่รู้ว่า ไม่ใช่เราได้ ฟังไป แล้วก็เมื่อใดตื่นขึ้นมา ก็คิดถึงธรรมบ้าง มีไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    26 พ.ย. 2567