ปกิณณกธรรม ตอนที่ 907


    ตอนที่ ๙๐๗

    สนทนาธรรม ที่ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ.นนทบุรี

    วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ เพราะทรงตรัสรู้ว่าถ้าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นมาเลย อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้น ค่อยๆ ฟัง นี่คือธรรม สิ่งที่มีจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรมคือความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นจะมีแต่ละคนอยู่ที่นี่ไหม ก็ไม่มี แต่เกิดแล้วแต่ไม่รู้ว่าเป็นเราเกิดหรืออะไรเกิด เลือกเกิดก็ไม่ได้ เกิดมาแล้วจะเลือกให้อย่าให้มีทุกข์เลยก็ไม่ได้ จะเลือกให้มีอาหารอร่อยทุกวันก็ไม่ได้ เลือกไม่ได้เลยแม้ตั้งแต่เกิดจนตาย

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมดทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลาย ทั้งหมดไม่เว้นเลยเป็น" อนัตตา" มีคำสองคำ อัตตากับอนัตตา อัตตาคือเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นคน เป็นสัตว์ ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเที่ยง แต่อนัตตา อะแปลว่าไม่ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน อย่างเห็นหลับตาก็ไม่เห็นแล้ว แค่เสียงดับไปได้ยินก็ไม่มีแล้ว

    เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ยั่งยืน มีแต่สิ่งซึ่งใครก็บังคับให้เกิดไม่ได้ แต่เกิดแล้ว ใครบังคับให้เกิดแล้วตั้งอยู่ ไม่ให้หมดสิ้นไปก็ไม่ได้ ก็หมดสิ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นนี่คือชีวิตแต่ละวัน แต่ละขณะ ต้องกล่าวถึงแต่ละขณะ เพราะเหตุว่าชีวิตก็คือขณะเห็น ๑ ขณะ ขณะได้ยิน ๑ ขณะ ขณะคิด ๑ ขณะ แต่ละหนึ่งขณะ หนึ่งขณะ หนึ่งขณะหลากหลายรวมกันเป็นไม่รู้เลย ว่าเป็นสิ่งที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าเกิดแล้วรวมกัน ก็ยึดถือว่าเป็นอัตตา เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นคราวนี้ที่ฟัง ก็คงจะได้เข้าใจคำว่าพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงความจริงของสิ่งที่เกิดแล้วมีแล้วในขณะนี้ปรากฏว่ามีจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้ความจริง และทั้งหมดนี่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง และเมื่อรวมกันก็ไม่รู้ว่าเป็นแต่ละหนึ่งเลย รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างดอกไม้ มีกลิ่น ๑ล่ะ มีสิ่งที่ปรากฏเป็นสีแดงๆ บ้าง เหลืองบ้าง ขาวบ้างอีก๑ ล่ะ ถ้ากระทบสัมผัสก็มีแข็ง หรืออ่อนอีก ๑ ล่ะ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง กระจัดกระจายออกไปย่อยที่สุดไม่เหลือเลยไม่มีดอกไม้ แต่ว่าสิ่งที่ยังคงเป็นกลิ่นต้องเป็นกลิ่นเป็นอื่นไม่ได้ สิ่งที่แข็งต้องเป็นแข็งเป็นกลิ่นไม่ได้ และสิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ว่าถึงไม่ใช่แข็งแต่ก็อาจจะเป็นอ่อนนุ่มก็ได้ที่ตัวเราก็เหมือนกันที่ไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้ แต่ไม่เคยเข้าใจว่านั่นคือธรรม คือสิ่งที่มีจริงชั่วคราว เกิดมาขณะแรกชั่วคราวต้องดับไปต้องหมดสิ้นไป ค่อยๆ สืบต่อมาจนกระทั่งเป็นถึงวันนี้ขณะนี้ และเดี๋ยวนี้ก็สืบต่อไปอีก เกิดแล้วก็ดับไป และก็เกิดแล้วก็ดับไปสืบต่ออยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และก็ไม่ใช่ใครด้วยค่อยๆ เข้าใจ สงสัยไหมที่ได้ฟังแล้วนี่คือธรรม แล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นสิ่งนั้นต้องดับ แต่ไม่มีใครเคยเห็นว่าเห็นดับยังเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความเข้าใจของคนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมกับคนที่เริ่มฟังเริ่มไตร่ตรองเริ่มคิดถึงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนความที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นก็เริ่มเข้าใจความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง การที่จะมีความตั้งใจที่จะศึกษาธรรมอย่างสม่ำเสมอ หรือที่เรียกว่ามีศรัทธาที่จะฟังธรรม จะต้องมีปัจจัยอะไรที่จะเป็นสิ่งสนับสนุน

    ท่านอาจารย์ ถึงรู้ก็ทำไม่ได้มีไม่ได้แต่เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฟังแล้วจะทำเลยหาปัจจัยมาเพื่อที่จะทำแต่ให้ทราบว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดแล้วเป็นไปตามการสะสมเพราะว่าทุกคนมีจิต ได้ยินคำว่าจิตทุกคนยอมรับว่ามีใช่ไหม แต่ยังไม่รู้จักว่าในจิตของแต่ละคนมีอะไรบ้าง สะสมอะไรมาบ้างนานแสนนานมากน้อย บางคนก็ขี้โกรธมาจากไหนก็มาจากโกรธบ่อยๆ บางคนก็โลภมากก็มาจากไหนชอบไปหมดเลย ไปตลาดดีหมดทุกอย่าง โน้นก็อยากซื้อนี่ก็อยากได้ บางคนก็กลับไปบ้านหอบไปเยอะเลย ล้วนแต่สิ่งที่ต้องการทั้งนั้นนี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่ละคนที่นั่งอยู่ที่นี่ หรือจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตามจิตแต่ละหนึ่งของแต่ละคนหลากหลายไม่ซ้ำกัน และก็ไม่เหมือนกันด้วยแม้แต่ในขณะนี้ บางคนเห็นแต่บางคนคิดเรื่องอื่น ทั้งที่คิดก็คิดคนละเรื่องด้วยแล้วแต่ว่าจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะชอบอะไร จะไม่ชอบอะไร อาจจะเกิดกำลังคิดอยู่เดี๋ยวนี้ แสดงให้เห็นว่าจิตมีแต่ยังไม่รู้จักจิตพอที่จะรู้ว่าใครก็ทำอะไรธรรมสักอย่างหนึ่งไม่ได้ แม้แต่จิตของแต่ละหนึ่งซึ่งเป็นแต่ละคน เคยไม่ชอบตัวเองบางอย่างบ้างไหม ทำไมเราถึงโง่อย่างนี้ เคยคิดมั้ย หรือว่าคิดว่าทำไมเราฉลาดอย่างนี้ นี่ก็แล้วแต่จะคิด ซึ่งต่างคนก็ต่างคิดแสดงเห็นว่าถ้าไม่มีการสะสมมาที่จะเป็นแต่ละหนึ่งซึ่งหลากหลาย จะมีความคิดหลากหลายถึงอย่างนี้ไหม ช่างคิดได้ว่าทำไมเราฉลาดอย่างนี้แต่ฉลาดจริง หรือไม่ ใช่ไหม ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นธรรมดา ธรรมเป็นธรรมดามาจากคำภาษาบาลีด้วย มาจากคำว่า"ธรรม" กับ"ตา" แต่ภาษาไทยไม่ใช่ตัว ต แต่ใช้ตัว ด เด็ก

    เพราะฉะนั้นแทนที่จะพูดว่าธรรมตา ก็บอกว่าธรรมดาพูดถูก แต่เข้าใจถูกแค่ไหน เช่นบอกว่าเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาจริงๆ ธรรมต้องเป็นไปตามธรรมเป็นอย่างอื่นไม่ได้แต่เป็นไปตามธรรมอะไรอย่างไรยังลึกซึ้งกว่านั้นอีกมาก ซึ่งจะต้องค่อยๆ ดูชีวิตประจำวัน และก็ค่อยค่อยศึกษาว่า ศึกษาธรรมไม่ใช่ศึกษาอื่นไกลเลย เดี๋ยวนี้ตรงนี้ ที่นี่เพราะเหตุว่าตรงนี้แหละจริงที่สุด เห็นขณะนี้จริงที่สุด ไม่ใช่เห็นเมื่อวานนี้ไม่ใช่เห็นเดือนก่อน ปีก่อน กำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏนี้แหละจริง เสียงอื่นที่ไม่ปรากฏจะจริงได้อย่างไร ในขณะที่เสียงนี้เท่านั้นที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นธรรมก็ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น จากชีวิตทั้งชีวิตเลย มาเป็นแต่ละหนึ่งขณะ แล้วก็จะได้รู้จักว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา ถ้าไม่ทรงแสดงความจริงเราจะคิดมั้ยว่าแท้ที่จริงแล้วแต่ละหนึ่งเป็นธรรมแต่ละหนึ่งทั้งนั้นเลย เห็นเป็นเห็น คิดเป็นคิด จำเป็นจำ ชอบเป็นชอบ เปลี่ยนสับสนกันไม่ได้เลย แลกเปลี่ยนอะไรกันก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี้มีธรรมทั้งหมดหลากหลายมากมายไหม แต่ยังไม่รู้สักอย่างต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าถามปัญหาทีละอย่างรู้สึกว่างงแน่ เราก็คงคิดไม่ออก ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เช่นถามว่าขณะนี้เห็นอะไรแค่นี้ธรรมดามากใช่ไหม มีเห็นแล้วก็มีสิ่งที่ถูกเห็นแต่ถ้าถามว่าเดี๋ยวนี้เห็นอะไรทำไมต้องถาม เพราะว่าไม่รู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนเหมือนกันหมดเลยที่เห็น เห็นอะไรจะลองตอบไหม

    ผู้ฟัง ชื่อสำเภา นุชโสภา ฟังอาจารย์มา ๕๐ ปีแล้ว แต่ยังเข้าใจน้อยอยู่

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม พระธรรมลึกซึ้งแค่ไหนต้องเป็นผู้ที่ตรงอย่างยิ่ง แม้จะพูดได้ตอบได้ แต่ยังไม่ประจักษ์ความจริงตรงตามที่ได้ฟัง เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้นเป็นการตรัสรู้ เป็นอภิสมัย สมัยพิเศษขณะพิเศษที่สามารถที่จะรู้ความจริงตรงตามความเป็นจริงทุกคำที่ได้กล่าวไว้

    เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรม และมีหลายขั้น เหมือนกับการเรียนหนังสือตั้งแต่ก ไก่ ไปจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ฟัง ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นที่จะทำให้เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นที่ตอบว่าเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสีใช่ หรือไม่ ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคำว่าใช่หรือไม่ เพราะเหตุว่าต้องเป็นความคิดของเราเอง คิดอย่างไรตอบอย่างนั้นเลย เป็นความมั่นใจว่าเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ที่แยกเป็นสีโน้นสีนี้นี่เป็นเพราะจิตตสังขาร หรือไม่ ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ จะมีคำอีกเยอะ แต่คงจะต้องบอกว่าใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบไปเก็บคำเยอะๆ แต่ แต่ละคำนี่เข้าใจจริงๆ เช่นเห็นอะไรตอบไปได้หมดเลย ใครจะตอบอะไรก็ได้แต่ความจริงคือเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น จริงไหมแค่คำนี้ "เห็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น" มีแข็งจริงเห็นแข็งได้ไหม

    ผู้ฟัง เห็นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เห็นไม่ได้แต่กระทบสัมผัสเมื่อไหร่แข็งปรากฏ แต่ไม่มีวันจะเห็นแข็งเห็นเสียงได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่มีเสียง ขณะนี้ก็มีเสียงแต่ไม่เห็นเสียง แต่เสียงมีจริง แต่เห็นไม่ได้เห็นกลิ่นไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยเหตุนี้จิตเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ จิตรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเราเข้าใจว่าเป็นเรา แต่ความจริงถ้าจิตไม่เกิดขึ้นจะมีเราไหม ก็ไม่มีเรา แต่เวลาที่จิตเกิดขึ้นแล้วเพราะไม่รู้จักว่าเป็นจิตซึ่งเป็นสภาพที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เปลี่ยนจิตหนึ่งให้เป็นอีกหนึ่งไม่ได้ เปลี่ยนจิตได้ยินให้เป็นจิตเห็นไม่ได้ เปลี่ยนจิตเห็นให้เป็นจิตคิดไม่ได้ แม้แต่จิตก็มีแต่ละหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่เข้าใจว่าเป็นเราเกิด ก็คือสภาพของธรรมนั่นเอง ซึ่งเป็นธาตุรู้คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเดียวเห็นจิตเห็น เดี๋ยวได้ยิน ได้ยินคือรู้เสียงก็คือจิตเพราะจิตเป็นสภาพรู้ เดี๋ยวก็มีกลิ่นปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพรู้คือไม่มีจิต กลิ่นก็ปรากฏไม่ได้ เดี๋ยวเจ็บ ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีสภาพที่จะรู้ในสภาพที่เจ็บนั้นเลย

    ด้วยเหตุนี้จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมมาก่อนเลยรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม ใครพูดอย่างนี้ทำไมพูดจริงเปลี่ยนไม่ได้เลยสักคำเดียว เห็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ หลับตาสิแค่ไม่เห็นอะไรๆ ที่คิดว่ามี ไม่มีเหลือเลยดอกไม้โต๊ะ เก้าอี้ คนต่างๆ ไม่เหลือเลยเพียงแค่หลับตาหายไปไหนหมดเพราะสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ปรากฏ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาหลากหลายมาก สีสันต่างๆ ทำให้จำได้ว่ารูปร่างสัณฐานอย่างนั้นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็เลยจำว่าเป็นคน เป็นสัตว์เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นถ้ามีการได้เข้าใจคำว่าธรรม และคำว่าอนัตตาจะถึงความเป็นพระอรหันต์คือรู้ความจริงของทุกอย่าง ประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมซึ่งเดี๋ยวนี้กำลังเกิดดับ แต่เพราะเหตุว่าขาดการที่จะได้ฟัง และค่อยๆ พิจารณาเข้าใจจนกระทั่งชำระจิตของแต่ละหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่รู้ตั้งแต่เกิด และไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แสนโกฏกัปป์มาแล้วไม่เคยรู้ความจริงจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นค่อยๆ เข้าใจแต่ละคำ ทีละคำ

    ผู้ฟัง อยากจะถามอาจารย์เรื่องของสมาธิบ้างได้ไหม

    ท่านอาจารย์ สมาธิคืออะไร ถามได้แต่ว่าถ้าบอกไปโดยที่ไม่รู้ก่อนว่าคืออะไรไร้ประโยชน์ ก็ยังไม่รู้เลยว่าคืออะไร ต้องรู้ก่อนว่าคืออะไรถึงสามารถที่จะกล่าวถึงสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ตามที่อ่านหนังสือเขียนว่าความตั้งใจมั่น ใช่ความหมายของสมาธิไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่จิต จิตเป็นธาตุรู้กำลังเห็นนี่เป็นจิต แต่จิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัยที่อาศัยที่อุปถัมภ์ที่สนับสนุนเกื้อกูลให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นใครจะรู้ว่าขณะที่จิตเดี๋ยวนี้ เห็นเดี๋ยวนี้เป็นจิตมีสภาพนามธรรมธาตุรู้ซึ่งเกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต เกิดร่วมกันกับจิตอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภทใช้คำว่า เจตสิก ภาษาบาลีต้องออกเสียงว่า เจตะสิกะ แต่คนไทยก็อ่านรวมง่ายๆ เสมอเจตสิก มีเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท และถ้าเราไม่รู้จักอะไรเลยเราได้ยินคำว่าสมาธิ หลงแน่ แต่ถ้าได้ฟังธรรมตั้งแต่ต้นทีละคำ ทีละคำ เข้าใจทีละคำ ทีละคำไม่สับสนแล้วก็ไม่หลงด้วย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราได้อ่านหนังสือที่คนโน้นบ้างคนนี้บ้างเขียน หรือว่าอาจจะมีข้อความบางตอนจากพระไตรปิฏกแต่เพียงบางคำ แล้วเราจะเข้าใจเหรอ เหมือนเราเห็นแค่ ก ไก่ แล้วเราไปเปิดตำรับตำราก็เต็มไปด้วย ก ไก่หมด แล้วตัวอื่นล่ะไม่รู้เลยแล้วมันอะไรกันล่ะ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจึงต้องค่อยๆ ศึกษาค่อยๆ เข้าใจพื้นฐานของธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะพอได้ยินคำว่าสมาธิเข้าใจถูกไม่เข้าใจผิด แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาเลยได้ยินคำไหนผิดหมด เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร หลายๆ ท่านรู้จักคำว่าเจตสิก และรูปหรือยัง จิต เจตสิก รูป ถ้าเป็นคนเก่าๆ สมัยโน้นเข้าใจว่าสมัยปู่ย่าตายาย คงจะได้ยินคำว่า จิ เจ รุ นิ ก็เข้าใจว่าเป็นพระคาถาท่องกันใหญ่ คิดว่าจะรักษาอะไรก็แล้วแต่ พออะไรก็ จิ เจ รุ นิ ความจริงเป็นคำย่อของจิต เป็นจิ ย่อจากจิตเป็นจิ เจก็คือเจตสิก รุก็คือรูป นิ คือนิพพานแสดงให้เห็นว่าในบรรดาสิ่งที่มีทั้งหมดหลากหลายมากไม่ซ้ำกันเลยไม่ว่าที่ไหนก็ตาม แต่ลักษณะที่แท้จริงที่ใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้เลยก็คือลักษณะของจิตเป็นธาตุรู้ มีแน่ๆ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีธาตุรู้ใดๆ ก็ไม่ปรากฏเลยทั้งสิ้น แต่ที่มีเสียงปรากฏ ที่มีกลิ่นปรากฏ มีเรื่องต่างๆ ปรากฏก็เพราะมีจิตซึ่งมองไม่เห็นเลย ที่ใช้คำว่าจิตเป็นนามธรรมใช้คำว่านามธรรม ธรรมนี่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่ธรรมก็สามารถที่จะต่างประเภทกันเป็นธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยประเภทหนึ่ง แต่ธรรมอีกประเภทหนึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่เกิดขึ้นรู้ นี่แยกกันเลย ที่เราใช้คำว่ากายกับใจนั่นก็เป็นคำคร่าวๆ แต่แสดงให้เห็นว่าที่เรียกว่าใจนี่ทั้งจิต และเจตสิต เพราะว่าจิตป็นสภาพที่เพียงเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งไม่ทำอะไรเลยแค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้กลิ่น แค่ลิ้มรส แค่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แค่คิดเท่านั้นเอง แต่ว่าชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ อะไรๆ ทั้งหมดในวันนึงๆ ที่เราบอกว่าขยัน ขี้เกียจ เบื่อ หิวเมื่อยต่างๆ เหล่านี้ เป็นเจตสิกทั้งหมดเพราะว่าเป็นสภาพที่ไม่มีรูปร่างแต่เป็นธาตุรู้เช่นเมื่อย เป็นความรู้สึก จะบอกไม่รู้ได้อย่างไรก็รู้สึกอย่างไรล่ะ

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็ศึกษาสิ่งที่มีแล้วเดี๋ยวนี้ด้วยให้เข้าใจจากการที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย เพราะฉะนั้นก่อนอื่นธรรมคือสิ่งที่มีจริงทั้งหมด คือสิ่งที่มีจริงจริงๆ แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มี ภาษาบาลีใช้คำว่าธรรมแต่ภาษาไทยเราเปลี่ยนก็ได้ สิ่งที่มีจริงพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงซึ่งก่อนนั้นแม้สิ่งที่มีจริงคนก็ไม่เคยรู้เลยว่าความจริงของสิ่งที่มีจริงนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมมีลักษณะของตนๆ ด้วย จึงกล่าวว่ามีจริง อย่างเสียงมีแน่ๆ เลย กลิ่นก็มีแต่เสียงไม่ใช่กลิ่น แต่ทั้งเสียง และกลิ่นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ด้วยเหตุนี้สภาพที่มีจริงแม้มีจริงแต่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ก็เป็นธรรมที่ใช้คำว่า "รูปธรรม" ภาษาบาลีก็ต้องออกเสียงเป็น รูปะ กับธรรม ภาษาไทยเราชอบใช้คำภาษาบาลีแต่ความหมายไม่ตรง ยุคนี้ได้ยินคำว่ารูปธรรมบ่อยๆ ใช่ไหม เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม แต่ว่าไม่ใช่ความหมายในพระศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกล่าวถึงธรรมทั้งหมดที่ไม่รู้อะไร แข็งไม่รู้อะไร แข็งเป็นธรรม แข็งเป็นรูปธรรม เสียงมีจริงๆ เป็นธรรมเสียงไม่รู้อะไร เสียงเป็นรูปธรรม กลิ่นมีจริงๆ ปรากฏเวลาที่ได้กลิ่นเป็นธรรมแน่นอนมีจริงๆ แล้วกลิ่นรู้อะไรก็ไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นกลิ่นก็เป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นกาย หรือว่าเป็นเรา ถ้าไม่มีจิตจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีนามธรรม จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ และเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะเลย จะไม่มีจิตขณะไหนซึ่งไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไร เห็นไหมคำถามธรรมดาๆ จริงๆ แต่ตอบได้ไหม ตอบได้แต่ไม่รู้จะตอบอย่างไรถึงจะถูกใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นลองตอบดู เดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไรแค่นี้แค่ถาม ถามกันทุกวันใช่ไหมเราก็พูดเดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไรเป็นอย่างไรบ้างรู้สึกอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นขอถามเดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไร ไม่สบายใจหรือไม่ เห็นไหมพูดกันทุกวัน ไม่สบายใจเป็นคำธรรมดา บางครั้งก็รู้สึกดีใจ แต่บางเรื่องก็ทำให้เสียใจ เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นความรู้สึกมีจริงแน่นอน ความรู้สึกเป็นธรรม ความรู้สึกมองไม่เห็นเลยแต่รู้สึกได้ เพราะฉะนั้นเป็นธรรมที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งใดๆ ก็ตามที่เกิดแล้วเป็นสภาพรู้ ใช้คำว่านามธรรมด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม นี่คือได้รู้จักก็สัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มจากไม่เคยได้ยินคำว่าธรรม หรืออาจจะเข้าใจผิดเพราะไม่ศึกษา จนกระทั่งเริ่มรู้ธรรม นั่นก็ธรรมนี่ก็ธรรมตอบได้ แต่ต้องตอบให้ถูกต่อไปอีกถ้าถามธรรมอะไร ไม่ไช่ตอบเฉยๆ ตอบเฉยๆ แสดงว่ายังรู้ไม่จริง แต่ถ้ารู้จริงแล้ว ถามได้ก็ตอบได้จนถึงที่สุดของความจริงนั้นด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกมีจริงแน่นอน เสียใจมีแน่ๆ ไม่ใช่จิต จิตแค่เห็นแต่เสียใจเป็นเจตสิก เป็นนามธรรมเป็นสภาพความรู้สึกซึ่งเกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้นธรรมอยู่ไหน ก็ที่ตัวทั้งหมดเลยแต่ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง รู้ดีกว่าไม่รู้หรือไม่ เพราะอะไรทำไมรู้ดีกว่าไม่รู้ ไม่รู้ไม่ดีกว่าเหรอ ไม่ต้องรู้อะไรไม่ต้องเสียเวลาฟังไม่ต้องเสียเวลาคิด แต่ว่าถาม ไม่รู้กับรู้อะไรดี รู้ดีกว่า เพราะฉะนั้นรู้ว่าขณะนี้ธรรมไม่ได้อยู่ที่อื่นเลยที่เคยเข้าใจว่าเป็นเราเป็นเขาเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งหมดเป็นธรรม และที่ตัวที่เข้าใจว่าเป็นเรามีทั้งจิตเห็น เจตสิก สุข ทุกข์ ชอบไม่ชอบ ขยัน หิว เมื่อย ต่างๆ เป็นเจตสิก แล้วก็มีรูปด้วย แข็งมีไหม ที่ตัวแข็งไม่รู้อะไร

    เพราะฉะนั้นคิดว่าเป็นเรา แต่ความจริงเป็นรูปธรรม เป็นประเภทที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นที่ว่ากาย และใจ กายก็คือสภาพที่ไม่รู้ แต่นั่นเป็นคำพูดคร่าวๆ ยังไม่ละเอียดแต่ถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วละเอียดกว่านั้นมาก ละเอียดทุกอย่างละเอียดทุกคำ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    3 ก.ย. 2567