ปกิณณกธรรม ตอนที่ 908


    ตอนที่ ๙๐๘

    สนทนาธรรม ที่ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ.นนทบุรี

    วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วละเอียดกว่านั้นมากละเอียดทุกอย่าง ละเอียดทุกคำ แม้แต่ที่กายยังละเอียดยิบใช่ไหม เพราะมีอากาศแทรกคั่นอยู่จนสามารถที่จะแตกย่อยทำลายได้ ที่ว่าแข็งเป็นเราตั้งแต่ศีรษะจดเท้ามีอากาศช่องว่างคั่นอยู่อย่างละเอียดมากพร้อมที่จะแตกย่อย แขนขาดเมื่อไร ตัดผมเมื่อไหร่หรือว่าตัดเล็บ หรืออะไรก็แล้วแต่ทุกสิ่งทุกอย่าง แตกสลายย่อยยับได้เพราะเหตุว่ามีอากาศแทรกคั่นอยู่แล้วนั่นหรือคือเรา แล้วนั่นหรือของเรา สิ่งที่มีเพียงอ่อน หรือแข็ง เย็นหรือร้อน และมีอากาศแทรกคั่นเหมือนกองฝุ่นซึ่งมีสีต่างๆ กองฝุ่นนี้มั่นคงมากไม่แตกให้เราเห็นปลิวไปแต่รวมกันจนกระทั่งมีสีต่างๆ เป็นคิ้วบ้าง เป็นตาบ้างเป็นหูบ้าง เป็นเท้าบ้างเป็นเล็บบ้าง ทั้งหมดก็คือสภาพลักษณะที่แข็งหรืออ่อนก็แล้วแต่ ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใครไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วไม่ใช่ใครด้วย นี่คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทำให้เรา ค่อยๆ ละคลายความติดข้องไม่เดือดร้อนเพราะเหตุว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ธรรมก็ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยบังคับบัญชาไม่ได้

    เพราะฉะนั้นอีกความหมายหนึ่งของอนัตตา นอกจากว่าไม่ใช่อัตตาก็คือว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้เลย ธรรมอยู่ที่ไหนตอนนี้ เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม มีแน่ๆ แล้วก็ที่ตัวก็มีนอกตัวก็มีทุกคนทุกแห่งที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้นจึงปรากฏว่ามี เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งใดไม่เกิดก็จะไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งที่เรากล่าว เกิดทั้งนั้นเลยเห็นเมื่อไหร่ เห็นเกิดเกิดเมื่อนั้นได้ยินเมื่อไหร่ได้ยินเกิดเมื่อนั้น คิดเมื่อไหร่คิดเกิดเมื่อนั้น เจ็บเกิดเมื่อไหร่เจ็บเกิดเมื่อนั้นถ้าเจ็บไม่เกิดก็ไม่มีเจ็บ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมทั้งหมด เข้าใจถูกต้องไหม จริงหรือไม่ ไม่ใช่บังคับเลยให้เชื่อ แต่คิดไตร่ตรองเป็นจริงอย่างนั้นไหมถ้าจริงใครสอน

    เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิเช่นนั้นแล้วจะไม่รู้เลย พระองค์สอนให้เข้าใจความจริงว่าเกิดแล้วตาย ใครก็หนีความตายไม่พ้น แล้วก่อนตายทำอะไรบ้าง ดีหรือชั่ว ซึ่งเป็นเหตุ ผลต้องมีแน่นอนเมื่อเหตุมีผลต้องมี แล้วเกิดมาแล้วก่อนตายทำกรรมไว้มากไหมกรรมดีกรรมชั่วทั้งหลายรู้ได้ด้วยตนเอง แล้วกรรมดี และกรรมชั่วก็ให้ผล ให้ผลอย่างไร ตายแล้วเกิดอีกแน่ เพราะผลของกรรมที่ได้ทำไว้ ถ้าเป็นผลของกรรมดี ก็เกิดเป็นมนุษย์ ความดีก็มีหลายระดับตั้งแต่เป็นมนุษย์ยากไร้จนกระทั่งเป็นเศรษฐีมั่งมี มีรูปสวยมีสมบัติมากต่างๆ เหล่านี้เป็นผลของความดีทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นเหตุต้องมีผลจะช้าหรือเร็วก็ตามแต่ และผลก็คือ ขณะแรกที่เกิด เกิดต่างกันแล้วใช่ไหม เลือกพ่อแม่ที่จะเกิดหรือไม่ เลือกพี่น้องหรือไม่ เลือกวงศาคณาญาติหรือไม่ เลือกบ้านช่องตระกูลสมบัติหรือไม่ เลือกไม่ได้เลย เกิดแล้วตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นคนไทยเราก็ใช้คำที่ติดปาก แต่อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งว่าตามบุญตามกรรม ฝืนไม่ได้ บุญทำมาอย่างไรผลของบุญก็เป็นอย่างนั้น อกุศลกรรมทำมาอย่างไรผลของอกุศลกรรมก็เป็นอย่างนั้น มีใครบ้างที่อยากเจ็บไข้ไม่มีเลย มีใครบ้างที่อยากเป็นทุกข์ก็ไม่มี แต่ทำไมมีทั้งๆ ที่ไม่อยากมี เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาถ้าไม่มีเหตุที่ได้กระทำไว้ผลนั้นๆ ก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีอีกมากที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง แต่เราไม่รู้แต่จะค่อยๆ รู้ขึ้นเพราะว่าอย่างไรก็ต้องตาย อยากตายไหม เสียดายไหม ยังไม่อยากตายใช่ไหมแล้วจะไม่ตายได้ไหม ถ้าไม่ได้ยังไงก็ตั้งตายแล้วจะทำอะไรดีก่อนไป ทำชั่วหรือทำดี นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ เเต่ต้องเข้าใจ และทั้งหมดเป็นธรรมก่อนอย่างไรๆ วันนี้ฟังมาแล้วอาจจะมากหลายเรื่อง ลืมไปก็อาจมีแต่ขอให้รู้ว่าธรรมคืออะไร สิ่งที่มีจริงทุกอย่าง คำว่าธรรมเป็นภาษามคธีภาษาบาลี ภาษาไทยคือสิ่งที่มีจริงถ้าเราบอกคนอื่นว่าเห็นนี่แหละเป็นธรรม แล้วเขาไม่ได้ฟังเลยเขาเชื่อไหมเขาต้องคิดว่าธรรมต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องใหญ่โตเรื่องอริยสัจจะเรื่องอะไรต่างๆ แต่รู้ไหมว่าถ้าไม่มี เห็นไม่มีได้ยินแล้วจะมีอริยสัจจะ จะมีธรรมอื่นๆ หรือมีชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นไปตั้งแต่เกิดจนตายได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่หวังว่าทุกท่านจะไม่ลืม ก็คือเริ่มเข้าใจว่าธรรมเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ความจริง ถึงที่สุดแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ของสิ่งที่มีจริงไม่ปะปนกันเลย แล้วก็อย่างละเอียดด้วย จนกระทั่งทำให้ผู้ที่ได้เข้าใจ เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น จนละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นขั้นต้นซึ่งจะทำให้ละกิเลสได้ต่อไปจนถึงความเป็นพระอรหันต์ ผู้หมดจดไม่มีกิเลสใดๆ เหลืออีกเลยกิเลสเป็นสิ่งที่ไม่ดีคนก็รู้ แต่ไม่มีวิธีที่จะให้หมดกิเลสถ้าไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นก็ให้เข้าใจว่าธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ผมชื่อนายธนคร คงลิ้มสุธาจากเมื่อครู่นี้ได้ฟังอาจารย์พูด แล้วก็รู้เรื่องว่าธรรมคือสิ่งที่เราเห็นจริง เกิดขึ้นขณะนี้มีจริง

    ท่านอาจารย์ อีกนิดนึงได้ไหมคือว่าไม่มีเรา แต่มีเห็น มีคิด มีทุกอย่างที่เป็นชีวิตจริงๆ เลยแต่ทั้งหมดไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมบางอย่างที่มันเกิดขึ้นกับเรา วันนี้ก็เกิดพรุ่งนี้ก็เกิดแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างที่ว่า เวลาเราชอบใคร หรือเกลียดใครคนๆ นั้นมันก็ยังอยู่ในใจเราตลอดแล้วเดี๋ยวเราเจอคนๆ นั้นตรงนี้ คนนี้ก็ชอบคนนี้ก็เกลียด ผมอยากจะรู้ว่ามันเป็นเหตุ และปัจจัยหรือไม่ ที่ทำให้เราชอบเราไม่ชอบ เรามีทุกข์กับสุขกับสิ่งเหล่านี้ มันเกิดจากสิ่งที่เราเคยทำไว้แล้วหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คำตอบตั้งแต่ขั้นต้นก็มี ขั้นกลางก็มีแต่ขั้นต้นกว่าจะถึงขั้นกลางก็คงยาวต้องตามลำดับด้วย เพราะฉะนั้นขอเชิญคุณธีรพันธ์

    อ. ธีรพันธ์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จริงๆ แล้วก็อย่างที่ได้ทราบแล้วใช่ไหมว่าเป็นธรรม ถ้าเขาไม่เข้าใจความเป็นธรรมเลยก็จะเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เป็นผลของกรรมแต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว อะไรเกิดต่อ โดยความรวดเร็วของจิต จิตไม่ชอบก็มี ชอบก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี เพราะฉะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่เป็นบุญเป็นบาปเพราะอะไร สะสมมาที่จะคิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ขอย่อยคำตอบ เพราะว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าเราไม่ย่อยคำตอบเราจะไม่เข้าใจเลย อย่างที่ถามว่าทำไมผลของกรรมทำให้เราเห็นสิ่งนั้นนาน บ่อย ใช่ไหมนี่เป็นคำถามตอนแรก เพราะเหตุว่ากรรมๆ หนึ่งกว่าจะสำเร็จไปได้บางกรรมคิดอยู่หลายวันใช่ไหมก่อนที่จะกระทำ บางครั้งก็คิดเป็นเดือนเป็นปีกว่ากรรมนั้นจะสำเร็จไปได้ แสดงว่ากรรมไม่ใช่เพียงหนึ่งขณะของจิตเเสนสั้นมาก แต่หลายๆ ขณะกว่ากรรมนั้นจะสำเร็จเช่นจะทำบุญ อาจจะทำอะไรก็ได้กว่าสิ่งนั้นจะเสร็จก็ต้องมีการซื้อการหา การกระทำต่างๆ กว่าจะสำเร็จเป็นบุญที่ได้กระทำแล้ว แต่ขณะจิตนั้นทราบไหมว่า ไม่ได้เป็นบุญตลอดสลับกับอกุศลบ้าง อย่างเวลาที่ไปตลาดตั้งใจจะซื้อของ เห็นสิ่งที่ไม่ดีนี่ไม่ดี และไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบก็ต้องเป็นอกุศล ถูกไหมแต่นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเราจะต้องค่อยๆ ขยายให้เข้าใจขึ้นแต่ให้ทราบว่ากรรมหนึ่งกว่าจะสำเร็จลงไปได้ ก็ต้องมีเจตนาที่เป็นกุศล และอกุศล มากไม่ใช่เพียงหนึ่งขณะเดียว เพราะฉะนั้นผลของกรรมเช่น เม็ดมะม่วงเม็ดหนึ่งทำให้เกิดผลมะม่วงเท่าไหร่ คือพอเป็นต้นแล้วใช่ไหม แล้วก็ทุกปีที่ออกผลคิดดูมาจากเม็ดมะม่วงเม็ดเดียวที่ฝังลงไปในดิน

    เพราะฉะนั้นการกระทำของเราที่ทำไปแล้ว จะให้ผลซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าให้ผลหมดสิ้นหรือยัง หรือว่ามีกรรมอื่นมาแทรก เช่นเราเกิดมาเป็นผลของกุศลกรรมแน่นอนที่เกิดมาเป็นมนุษย์แต่ก็จำแนกตามกำลังของกุศลทำให้เราได้ต่างกันไป แต่เราก็เกิดในบ้านนี้ แล้วก็เห็นห้องนอนนี้ เห็นสนามหญ้านี้ที่ตรงนี้ ตั้งแต่เด็กมาเลย ยังไม่ย้ายบ้าน กรรมก็ทำให้ที่ทำแล้วให้ผลให้จิตเห็น เห็น เห็น เห็น สิ่งที่เป็นผลของกรรมนั้นจนกว่าจะมีกรรมอื่นที่เปลี่ยนเช่นออกจากบ้านไปเห็นอย่างอื่น เห็นคนถูกรถทับตายบ้าง เห็นอะไรบางพวกนี้ ก็ไม่ใช่ผลของกรรมที่ทำให้เราเกิดมาแล้วอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่เป็นผลของกรรมนั้นนาน

    เพราะฉะนั้นแต่ละวันก็แสดงให้เห็นว่ากรรมให้ผลเมื่อไหร่ เราต้องเข้าใจมิฉะนั้นเราก็พูดแคบๆ สั้นๆ ผ่านๆ ว่ากรรมมี ผลของกรรมมี แต่มีเมื่อไหร่จะบอกด้วยตั้งแต่เกิดเลยขณะแรก จิตแรกขณะแรกที่เกิดนะคะ คือจิตเกิดเป็นผลของกรรม ถ้าช้างเกิดล่ะช้างก็เกิดเหมือนกันจิตขณะแรกของช้างเป็นผลของกรรมแน่ๆ แต่เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นช้าง อกุศลกรรมไม่สามารถที่จะได้ยินได้ฟังธรรม ได้เข้าใจธรรม ได้ศึกษา ได้อะไรเลยก็แค่กินแค่อยู่จนกว่าจะตายแล้วกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมดมีไหม ก็ต้องมีนี่คือความหลากหลายของกรรมเริ่มเห็นความเป็นอนัตตาว่าไม่มีใครทำอะไรให้ใครได้เลย นอกจากจิตแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดดับสืบต่อเป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้าง เวลาให้ผลขณะแรกคือให้เกิดขึ้น ๑ ขณะจิต แล้วดับไปแต่ทำไมยังมีเรานั่งอยู่ตรงนี้ หรือว่าพอเกิดมาแล้วทำไมยังมีลักษณะที่จะต้องเติบโตจนกระทั่งคลอดออกมาจากครรภ์มารดา แล้วก็มีการเติบโตขึ้น ก็เพราะเหตุว่าใครยับยั้งจิตไม่ได้ ธาตุรู้มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปการดับไปของจิตธาตุรู้ก่อนเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่นเลย

    เพราะฉะนั้นเกิดเป็น ๑ ขณะจิต ตายเป็น ๑ ขณะจิต ต่างกันแล้วใช่ไหม ขณะที่เกิดกับขณะที่ตาย แต่จากเกิดก็ต้องมีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อทีละ ๑ ขณะ จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายที่เราใช้คำว่าตาย ภาษาบาลีจะใช้คำว่าจุติ หมายความว่าเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลยสัก ๑ ขณะ จะไปขอร้องอย่างไรก็ไม่ได้นี่คือกรรม และผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความละเอียดเมื่อมีกรรมแล้ว ก็ทำให้ชีวิตเป็นไปตามกรรมที่ทำให้เกิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นจนกว่าจะมีกรรมอื่นให้ผลเมื่อไร ป่วยไข้เมื่อไหร่ไม่ใช่ผลของกรรมที่ทำให้เกิดล่ะเพราะเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ต้องมีใคร ที่จะทำให้เราบาดเจ็บ ตกบันไดเองก็ได้ ตกเขาเองก็ได้ ทำตัวเองก็ได้ มีดบาดก็ได้ใครทำ เพราะฉะนั้นให้เข้าใจสภาพธรรมซึ่งเป็นธรรมจริงๆ แต่ละหนึ่งไม่ใช่ใคร แต่ว่าเป็นจิตเจตสิกเกิดพร้อมกันเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ และเป็นรูปซึ่งไม่รู้อะไรเลยแต่เกิดพร้อมจิต ได้ทุกขณะนี้แสดงให้เห็นว่าเราต้องศึกษาให้เข้าใจอีกมากแต่ละคำที่พูด เรายังไม่รู้เลยเพียงแค่ ก ไก่ ยังไม่มีสระอา สระอิ อะไรทั้งสิ้น ตั้งกี่ตัวกว่าจะรวมกันแล้วก็สามารถที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมพอสมควรที่ ยังไม่เคยได้ฟังมาก่อนตามลำดับขั้น ร้านอาหารได้สังเกตได้เลย อยู่ติดกันสองร้าน ร้านหนึ่งคนเข้าเต็มทุกวันอีกร้านไม่มีคนเข้าเลย ใครไปทำอะไรให้ เริ่มรู้แล้ว ไม่มีใครทำให้เลยนอกจากกรรมของเราที่ได้ทำแล้ว

    เพราะฉะนั้นผลของกรรมนั้นก็แสดงว่าให้หลายอย่างแม้แต่การค้า จะได้กำไรหรือขาดทุนเพราะเหตุคืออะไร ถ้าเป็นผลของกุศล ก็นำสิ่งที่ดีมาให้ได้กำไรมากเพราะทำสิ่งที่ดี เกินกว่าที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นผลก็มากกว่าที่คิดไว้ หรือว่าการที่ได้กำไรน้อยก็เพราะเหตุว่าก็ทำพอสมควรทุกสิ่งทุกอย่างถ้าศึกษาโดยละเอียด เพราะฉะนั้นพระไตรปิฏกเป็นสิ่งซึ่งจะทำให้เราได้เข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลยแต่ก่อนที่จะเข้าใจพระไตรปิฏกได้ต้องมีพื้นฐาน ความเข้าใจธรรม และจิต เจตสิต และรูปจนกระทั่งมีความมั่นคงว่าข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฎกไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา นี่ก็เป็นคำตอบตอนต้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะคิดถึงคำถามทั้งหลาย ก็จะต้องรู้ว่าถ้าตอนต้นเรายังไม่เข้าใจตอนหลังเราจะเข้าใจไม่ได้เลย แต่ถ้าเราเข้าใจตอนต้นแล้วคำหลัง ก็สามารถที่จะเข้าใจได้แม้จะโดยไตร่ตรองเองก็ได้

    ผู้ฟัง ผมนายสุวินัย วุฒิโสภากร ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยกล่าวถึงคำว่าการรู้อารมณ์ด้วยความเข้าใจจึงสงบ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ขณะนี้มีสภาพรู้ หรือไม่ (มี) เมื่อมีสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ จะมีรู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อครู่นี้คุณสุวินัยพูดถึงคำว่าอารมณ์ บางคนอาจจะไม่เข้าใจ เพราะว่าภาษาไทยเราบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี แต่ไม่รู้ว่าอารมณ์จริงๆ คืออะไรเพียงแต่ว่ารู้สึกสบาย แต่ว่าความจริงอารมณ์หมายความถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้ จิตกำลังรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเฉพาะสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต การศึกษาธรรมต้องละเอียดมากแม้แต่คำเดียวเช่นคำว่าอารมณ์ ภาษาบาลีจะออกเสียงว่าอารัมมณะ แต่คนไทยก็ตัดเสียงสั้นๆ ว่าอารมณ์ ที่เราเคยพูดในภาษาของเรา ตั้งแต่เกิดก่อนที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่เข้าใจคำที่เราพูดเลยกล่าวได้จริงๆ ว่าเราพูดคำที่เราไม่รู้จักเราพูดคำว่าอารมณ์ เราพูดคำว่านามธรรม เราพูดคำว่ารูปธรรมแต่เราเข้าใจอะไร หรือไม่ แต่ว่าการศึกษาธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดยิ่งเพราะเหตุว่าพระอรหันตสัมมาสัมเจ้าเป็นใคร อันนี้ลืมไม่ได้เลย ที่จะต้องมีความเคารพสูงสุดคือว่าเมื่อได้ยินได้ฟังแต่ละคำ ขอให้เข้าใจคำนั้นก่อนที่จะผ่านไป คิดเอาเองบ้าง หรือว่าเชื่อคำของคนอื่นบ้าง หนังสือต่างๆ บ้าง แต่ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าเป็นคำของพระสัมมาสัมเจ้าจะพูดถึงทุกคำชัดเจนถูกต้อง ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้นอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน อะไรเป็นอารมณ์กำลังได้ยินอะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง เสียง

    ท่านอาจารย์ เสียง เฉพาะเสียงที่จิตได้ยินเสียงนั้นเท่านั้น เสียงอื่นไม่ใช่เสียงในป่า เสียงที่ถนนไม่ใช่เป็นอารมณ์ของจิต ต่อเมื่อใดจิตใดเกิดขึ้นรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้นคำถามของคุณสุวินัย ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

    ผู้ฟัง การรู้อารมณ์ด้วยความเข้าใจจึงสงบ

    ท่านอาจารย์ การรู้อารมณ์ด้วยความเข้าใจจึงสงบ สงบที่นี่ไม่ใช่นั่งคนเดียว เงียบๆ ในห้อง ไปป่า หรือว่าในถ้ำ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่สงบที่นี่หมายความว่าสงบจากอกุศลธรรม สงบจากกิเลส สงบจากโลภะ สงบจากโทสะ และสงบจากโมหะความไม่รู้นี่คือความละเอียดยิ่ง เพราะส่วนใหญ่คนจะต้องการเพียงสงบจากความโลภ หรือว่าสงบจากความโกรธจริงๆ แล้วสงบจากความโลภรู้สึกจะไม่ค่อยจะอยาก อยากจะโลกมากๆ สนุกมากๆ เพลินมากๆ ทำยังไงถึงจะหัวเราะหรือว่ามีความสุข มากๆ นั้นคือไม่เคยคิดที่จะสงบจากโลภะ

    เพราะฉะนั้นไม่ได้มีความเข้าใจเลยว่า ธรรมละเอียดอย่างยิ่ง ถ้าไม่รู้ว่าสงบจากโลภะด้วย สงบจากโทสะด้วย และสงบจากโมหะด้วยจึงจะสงบ ถ้าตราบใดที่มีโมหะความไม่รู้จะสงบได้อย่างไร คิดไปต่างๆ นาๆ คิดเองทั้งนั้นเลย แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความยินดีติดข้องชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ มั่นใจยึดถือว่าเป็นของเรา ความจริงแม้ร่างกายที่เคยเข้าใจว่าเป็นของเราก็ไม่ใช่ของเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่ใช่ของเราเลยจากโลกนี้ไปแล้วไหนล่ะเป็นของเราหรือ ไม่ใช่ของเราอีกต่อไปเลย

    เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเป็นของเราเลยทั้งหมด เพราะฉะนั้นการฟังคือการรู้ธรรมด้วยความเข้าใจจึงสงบเพราะว่าขณะนั้นความเข้าใจไม่ใช่ความไม่รู้ และถ้ามีความเข้าใจแล้ว ความติดข้องในสิ่งที่เข้าใจจริงๆ ไม่มี จึงสามารถที่จะละหรือดับโลภะ โทสะ โมหะได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ มิฉะนั้นจะฟังธรรมทำไมก็ให้มีโลภะมากๆ อย่างเคยให้ไม่รู้เหมือนเดิม จะเกิดที่ไหนจะตายเมื่อไร จะไปนรก หรือว่าจะเป็นเปรตจะเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ไม่สนใจเพราะเหตุว่า ไม่อยากจะรู้ไว้ว่าคิดว่าไม่รู้ดีกว่าสบายดีไม่ต้องเดือดร้อนที่จะต้องมานั่งฟังนั่งไตร่ตรอง เพราะฉะนั้นแต่ละคำเผินไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่าสงบต้องรู้ทันทีว่าสงบจากโลภะความติดข้อง เคยคิดไหมสงบจากโทสะ ความขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กน้อย แม้วาจาที่จะเป็นโทษให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเสียใจขณะนั้นก็เพราะโทสะ เคยคิดไหมที่จะสงบจากอกุศลประเภทนั้น และสงบจากความไม่รู้เพราะรู้ขึ้นถ้าไม่รู้อยู่ไม่มีทางจะสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ขณะใดที่รู้ รู้คือเข้าใจถูกละความไม่รู้เมื่อนั้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะหมด ก็คือสงบจริงๆ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ แม้คำพูด หรือเสียง ในขณะที่กล่าว หรือพูดถึงเรื่องราว ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สภาพธรรม ณ ขณะนั้นก็เกิดดับไป ณ ขณะนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ ใครรู้บ้างว่าจิตเจตสิกเกิดดับสืบต่อไม่ขาดสายเลย เราสนใจแต่สิ่งที่จิตรู้ คนนั้น คนนี้ โต๊ะนั้น ดอกไม้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตกำลังรู้เราสนใจภายนอกที่จิตรู้สิ่งนั้น แต่ลืมว่าถ้าจิตไม่เกิดไม่มีเห็น คนตายไม่เห็น ไม่ได้ยินไม่คิดไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกนี้โดยการไม่รู้ว่าแท้ที่จริง สภาพธรรมที่มีจริงคือจิตเจตสิกหลากหลายมากซึ่งเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตายถึงขณะนี้ และต่อไปอีกจนถึงตาย ก็เกิดอีกต่อไปอีกไม่จบเป็นสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะมีการค่อยๆ ดับความไม่รู้จนความไม่รู้หมดเมื่อนั้นจึงจะไม่มีการเกิดดับ ซึ่งไม่ใช่เราเลยแต่เป็นธาตุซึ่งต้องเป็นไปอย่างนั้นใครก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    4 ก.ย. 2567