จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001


    จิตปรมัตถ์

    แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๐๐๑


    ท่านอาจารย์ พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงสภาพธรรมทั้งปวงให้บุคคลอื่นได้ฟัง ได้พิจารณา ได้อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทำให้เกิดปัญญา ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรียนไปเท่าไรก็ยังไม่รู้ๆ แต่เมื่อฟังแล้วสามารถพิจารณา และศึกษา แล้วเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วก็ถูกต้องขึ้น แล้วก็ชัดเจนขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อครู่นี้ที่กำลังเห็น และเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด อกุศลจิตย่อมเกิดแล้ว พอที่จะทราบไหมว่า เป็นอกุศลอะไร เรื่องคิดมีมากสำหรับให้พิจารณา แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น พอจะทราบไหมว่า อกุศลอะไรเกิดแล้ว ลักษณะมี แต่ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ ก็เป็นเรื่องของอกุศลทั้งหลาย โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อิสสาบ้าง มัจฉริยะบ้าง ต่างๆ นานา แต่สภาพธรรมมีจริงๆ เกิดชั่วขณะตามเหตุตามปัจจัย แล้วดับไปรวดเร็วเหลือเกิน

    นี่เป็นเหตุที่จะต้องเจริญสติที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะจริงๆ ทราบหรือยังว่าอะไร

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ แต่ลักษณะนั้นเห็นไหมลักษณะของโลภะปรากฏไหม ไม่ เพราะฉะนั้นลักษณะอะไร ถ้าความพอใจก็เป็นลักษณะของโลภะที่ปรากฏ แต่ว่าในขณะนั้นลักษณะโลภะปรากฏเป็นความพอใจไหม หรือลักษณะของสภาพธรรมอะไรปรากฏ ความไม่รู้ โมหะ อวิชชา แม้ว่าเป็นอกุศลก็ผ่านไปโดยความไม่รู้ เพราะเหตุว่าอวิชชาไม่สามารถจะรู้ลักษณะของอวิชชาได้ แต่ขณะใดที่ไม่รู้ ลักษณะของความไม่รู้มี ให้รู้ว่าในขณะนั้นไม่รู้ ใช่ไหม กำลังเห็น ไม่รู้ว่า หลังจากเห็นแล้วเป็นอะไร หรือใครรู้ ชั่วขณะจิตที่เห็นดับไปแล้ว อกุศลเกิดแล้วถ้ากุศลไม่เกิด การนึกถึงทานยังไม่เกิด สติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพของการเห็น หรือว่าสภาพธรรมอื่นที่มี ที่ปรากฏในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น หลังจากการเห็นดับไปแล้ว เป็นสภาพไม่รู้ในขณะนั้นซึ่งเป็นโมหมูลจิต หรือโลภมูลจิต แต่ถ้าลักษณะของโลภมูลจิตไม่ปรากฏ ย่อมเป็นลักษณะของความไม่รู้ จริงไหม หรือท่านผู้ใดรู้หลังจากเห็น ถ้าอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของกุศลจิต

    สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วพิสูจน์ได้ แต่ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจชัด เมื่อเข้าใจชัดแล้วอย่าทำ แต่ให้รู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ เพราะว่าถ้าจะทำ สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด และปรากฏในขณะนั้น ถ้าคิดเป็นสภาพธรรมที่มีจริง สติสามารถที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพคิด เป็นจิตที่กำลังรู้คำ เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดมามีชีวิตแล้ว จะมีจิตเกิดขึ้นพร้อมเจตสิก ซึ่งจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏทุกขณะไป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงทราบแล้วว่า จุดประสงค์ของการฟัง และการศึกษาธรรมนั้น เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การที่จะฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ละเอียดขึ้น ที่ต้องกล่าวถึงจุดประสงค์บ่อยๆ ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องฟังธรรม และพิจารณาจนกว่าจะมีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่เมื่อสติปัฏฐานไม่สามารถที่จะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่ ยังไม่ใช่ผู้ได้อบรมเจริญจนกระทั่งเป็นพละ มีกำลังจนกระทั่งสติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ก็จะต้องทราบว่า แม้ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด แต่ความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และความเป็นผู้มั่นคงในการที่จะเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ผู้ที่ต้องการอย่างอื่นนั้น จะทำให้สติเกิดเป็นไปในกุศลประการต่างๆ โดยไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าฟังโดยไม่พิจารณาให้แยบคาย ก็อาจจะมีความต้องการกุศล เพราะว่าทุกคนไม่ชอบอกุศล ความเป็นตัวตนมีอยู่ที่ทำให้รังเกียจในอกุศลด้วยความเป็นตัวตน แต่ไม่ใช่ด้วยความรู้ว่า แม้อกุศลใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น หรือแม้กุศลที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบแต่ละขณะ ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นกุศล กุศลนั้นก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็มีการสะสมมาวิจิตรต่างๆ กัน บางคนก็มีอกุศลมาก บางคนก็มีกุศลมาก แต่ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แล้วเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน รู้ว่า แม้สติปัฏฐานจะไม่เกิด แต่ก็มีสังขารขันธ์ซึ่งเป็นความเข้าใจจากการฟัง อุปการะเกื้อกูลให้กุศลขั้นอื่นๆ เกิด

    เพราะฉะนั้น แม้กุศลขั้นอื่นๆ นั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นอย่างนี้ กุศลนั้นๆ จึงจะเป็นบารมีที่จะทำให้อุปการะเกื้อกูลที่สติจะระลึกรู้ในสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเป็นขั้นๆ เพราะบารมีเต็มเปี่ยมด้วยการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และสติปัฏฐานนั่นเองเกื้อกูลให้กุศลขั้นต่างๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตนที่ต้องการบารมี หรือต้องการเจริญกุศล

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน แม้ในขั้นของการฟัง แม้แต่ในขั้นของการที่จะเกิดกุศลขั้นต่างๆ เพื่อที่จะได้เกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น และน้อมศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าผู้ที่สติปัฏฐานยังไม่มีกำลัง จะเห็นได้ว่า ความเป็นตัวตนยังมีกำลังมาก ไม่ว่าจะในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่รังเกียจอกุศล ในขณะที่ต้องการกุศล ก็เป็นไปตามกำลัง คือ การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นกุศลของเรา เป็นอกุศลของเรา เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะดับความเป็นตัวตน ความเป็นเรา ความเป็นของเราได้ ก็ด้วยการพิจารณาจนมีความเข้าใจที่มั่นคง และเจริญสติปัฏฐาน และแม้สติปัฏฐานไม่เกิด ก็รู้ว่ามีปัจจัยของกุศลขั้นอื่นๆ ที่จะเกิด โดยที่ว่าไม่เป็นผู้ที่ติดในกุศล มิฉะนั้นแล้วโลภะนี้จะทำให้มีความต้องการ มีความพอใจ มีความอยากได้ในกุศล ถ้าเป็นอย่างนั้น กุศลนั้นไม่เป็นบารมี เพราะเหตุว่ายังเป็นช่องรั่วที่จะทำให้กุศลเหล่านั้นไม่ถึงความสมบูรณ์เต็มที่ ที่จะทำให้สติปัฏฐานสามารถที่จะประจักษ์ได้ว่า กุศลนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล

    ที่ท่านผู้ฟังที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว แล้วก็ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ นี้ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลบุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพราะสังขารขันธ์ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต ที่เป็นศรัทธา ที่เป็นปัญญา ที่เป็นวิริยะ ที่เป็นโสภณเจตสิกอื่นๆ ปรุงแต่งทำให้เกิดกุศลขั้นการฟังต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเกื้อกูลให้สติเกิดขึ้นตามขั้นของความเข้าใจ และเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งจะมีการศึกษาจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมสติ ซึ่งเป็นไตรสิกขา

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟังปรมัตถธรรม จุดประสงค์ของการฟังเรื่องจิต เพื่อที่จะให้เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เข้าใจยิ่งขึ้นในลักษณะของจิตที่กำลังมีในขณะนี้ ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ซึ่งเป็นเรื่องจิต ที่ทรงแสดงไว้มากในพระไตรปิฎก แต่จุดประสงค์จริงๆ นั้น เพื่อให้สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กำลังปรากฏ

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๘๐ และข้อ ๑๘๑ มีข้อความว่า

    เทวดาทูลถามว่า

    โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต ฯ

    แสดงให้เห็นถึงธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วยังไม่เพียงแต่เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังคิดนึกต่างๆ นานาที่แสนวิจิตร

    เพราะฉะนั้น แต่ละคน โลกของแต่ละคนก็เป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคน จิตของบางคนก็สะสมกุศลไว้มาก ไม่ว่าจะเห็นบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ที่มากไปด้วยอกุศลธรรม แต่จิตของบุคคลนั้นก็ยังสามารถที่จะเกิดเมตตา หรือกรุณา หรืออุเบกขาได้ ในขณะที่คนอื่น อีกโลกหนึ่งของเขา เป็นโลกของความชิงชัง หรือความไม่แช่มชื่น หรือว่าความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น แต่ละคนอยู่ในโลกของตัวเองแต่ละโลกทุกๆ ขณะ ตามความเป็นจริง

    ดูเหมือนว่าอยู่ร่วมโลก หรือว่าโลกเดียวกันนะคะ แต่ถ้าทราบตามความเป็นจริงว่า สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นรูปธรรม มีปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จริง แต่ว่าถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย แต่เพราะจิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โลกของแต่ละคนก็เป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคน โลกไหนจะดี โลกที่สะสมกุศลมากๆ พร้อมที่จะเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือโลกที่ชิงชัง โกรธแค้น ขุ่นเคือง ซึ่งแม้ว่าจะเห็นบุคคลเดียวกัน จะรู้เรื่องบุคคลเดียวกัน โลกของแต่ละคนก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคนที่สะสมมาต่างๆ กัน

    สิ่งที่ปรากฏทางตา มี ทำให้ดูเหมือนว่า อยู่ร่วมกันในโลกนี้มากมายหลายคน แล้วแต่กาละ และเทศะ แต่ว่าถ้าประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ชั่วขณะนั้นซึ่งเป็นเพียงการเห็น เป็นเฉพาะโลกของการเห็น ซึ่งไม่มีคน ไม่มีสัตว์เลย ไม่มีวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเพียงเห็น ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐาน และเรื่องราวใดๆ ของสิ่งที่เห็น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าทั้งหมดนี้ ที่เข้าใจว่าเป็นโลกซึ่งเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนมากมายหลายคน หลายวัตถุสิ่งของต่างๆ ในโลก เป็นโลกของความคิดนึกถึงสิ่งที่เห็นที่กำลังปรากฏ แต่ว่าในขณะที่เห็นนั้นเป็นโลกหนึ่งคือโลกของสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ใช่โลกของความคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏ แล้วแต่ละคนก็มีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวๆ ๆ ๆ สืบต่อกันไปทีละขณะ จนปรากฏเหมือนกับว่า เป็นโลกที่กว้างใหญ่ และประกอบด้วยผู้คนสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ให้ทราบว่า ถ้าจะเข้าใจโลกจริงๆ ให้รู้ว่าปรากฏเพียงแต่ละอย่าง และแต่ละขณะจิตเท่านั้นเอง แต่เพราะการเกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็เลยเป็นโลกที่ไม่แตกสลาย เป็นโลกที่ปรากฏเสมือนยั่งยืน และประกอบด้วยสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งของมากมายหลายอย่าง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว โลกก็คือการเกิดขึ้นของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เพียงชั่วขณะเดียว แล้วก็ดับไปแต่ละขณะเท่านั้น

    ขอกล่าวถึงข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส ปสูรสุตตนิทเทส ที่ ๘ ข้อ ๓๑๙ ซึ่งมีคำอธิบายเรื่องจิต มีข้อความว่า

    ชื่อว่า ใจ ในคำว่า คิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ ความว่า ใจ คือ จิต ใจ มนัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่เกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะหลายคำ เพื่อจะให้เข้าใจลักษณะของจิตซึ่งทุกคนมี แต่เนื่องจากว่าเป็นอาการรู้ หรือธาตุรู้ ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า เพียงลักษณะที่เป็นธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ทุกคนคงจะเข้าใจความหมายบางประการของจิต ที่ว่า “ใจ” คือ จิตซี่งทุกคนมี และอาจจะขาดการพิจารณา ก็เพียงแต่ทราบว่า มี แต่ไม่ทราบว่า ขณะไหน เมื่อไรที่เป็นจิต

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่า

    โลกทั้งหมด เป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต

    เวลานี้โลกของท่านผู้ฟัง คือ ที่นี่ กำลังอยู่ที่นี่ กำลังเห็น โลกเห็นมีสิ่งต่างๆ เห็นสิ่งต่างๆ โลกได้ยินก็มี ทั้งหมดนี้เป็นโลกที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน แต่ลองพิจารณาตามความเป็นจริง ที่จะให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นในลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเป็นธาตุรู้ว่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นโลก ที่ท่านกำลังเห็นอยู่ หรือได้ยินอยู่ในขณะนี้ จะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็นนี่เองปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้ เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองสติสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่บังคับ ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานทราบว่า การฟังเป็นเพียงปัจจัย ที่สติจะเกิด หรือไม่เกิด แล้วแต่การสะสม

    ทางหูที่กำลังได้ยินนี้ ในขณะนี้เองเสียงกำลังปรากฏ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะระลึกลักษณะของเสียง เป็นสิ่งที่มีจริง กำลังปรากฏ รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง หรือว่าเพราะการฟัง จึงรู้ว่าเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏได้เพราะจิตเกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ก็จะน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังรู้ ซึ่งใช้คำว่า “จิต” เพราะฉะนั้น ก็อย่าเพิ่งคิดว่า เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว เวลาที่พูดถึงเรื่องจิต แต่เวลานี้จิตกำลังมี กำลังเกิดขึ้น กำลังรู้ทางหูคือ ได้ยิน กำลังรู้ทางตาคือ เห็น เป็นสิ่งที่สามารถจะประจักษ์แจ้งชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ แต่เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์นั่นเอง จึงต้องฟังอีกเรื่องของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่มีจริง ที่กำลังเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ก็คงจะไม่ลืมว่า ไม่ใช่เพื่อจะรู้มากๆ ว่าจิตมีกี่ดวง ประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง แบ่งเป็นประเภทอย่างไร แต่จุดประสงค์ แม้ว่าจะเรียนละเอียดอย่างนั้น ก็เพื่อจะรู้ชัดในสภาพของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ ที่กำลังรู้ในขณะนี้

    ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย จิตตนิทเทส มีข้อความว่า

    ธรรมชาติที่ชื่อว่า “จิต” เพราะจิตเป็นธรรมชาติวิจิตร

    ที่ชื่อว่า “มนะ” เพราะรู้อารมณ์

    ที่ชื่อว่า “หทัย” เพราะความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน

    อย่าลืมว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน ในจนกระทั่งลึกซึ้ง และก็มองไม่เห็นเลย เพราะเหตุว่าจิตไม่ได้อยู่ภายนอกที่จะสัมผัสกระทบ หรือแสวงหาได้ แต่ที่จะรู้ลักษณะของจิตได้ก็ต่อเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ได้อยู่ข้างนอก ไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ รูปสีสันวัณณะข้างนอก แต่เป็นธาตุรู้ภายใน เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปธาตุทั้งหลาย เพราะเหตุว่ารูปธาตุทั้งหลายแสวงหาได้ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นธาตุอะไรก็ตาม อยู่ที่โน่นบ้าง อยู่ที่นี่บ้าง แต่ว่าธาตุรู้ไม่มีใครจะไปแสวงหาที่อื่นได้ ไม่สามารถที่จะเข้าห้องทดลองแล้วสร้างธาตุรู้ขึ้น แต่ว่าธาตุรู้เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นรู้ในขณะที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ก็คือพิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่มีการเห็นก็จะไม่รู้ว่า มีธาตุรู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ สีสันวัณณะปรากฏ เพราะมีสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย ดูเป็นของธรรมดา สีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ไม่เกิดขึ้นเห็น

    เพราะฉะนั้น ธาตุรู้นั้นเป็นภายใน เป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ

    ที่ชื่อว่า “ปัณฑระ” เพราะความหมายว่า บริสุทธิ์ คำนี้ตรัสหมายเอา “ภวังคจิต”

    เวลาที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือคิดนึกทางใจเลย ดูเหมือนทุกท่านจิตบริสุทธิ์ ไม่ปรากฏว่าชอบ ไม่ปรากฏว่าชัง แต่เวลาที่มีการเห็นเกิดขึ้น ถึงจะรู้ว่า มีกิเลสมากน้อยแค่ไหนจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย ไม่มีการคิดนึก จิตของทุกท่านเป็น “ปัณฑระ” บริสุทธิ์ เป็นภวังค์ ไม่ปรากฏความชอบ ความชังใดๆ เลย แต่ขอให้อะไรปรากฏทางตาให้จิตเห็นเกิดขึ้นเถอะ เมื่อนั้นจะทราบได้ว่า ไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่ามีความชอบ ความติด ความพอใจในสิ่งที่เห็นบ้าง หรือว่ามีความชัง มีความไม่แช่มชื่น มีความไม่ชอบ มีความไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ในขณะที่ชอบ ในขณะที่ชัง เพราะเห็น เพราะได้ยิน เพราะได้กลิ่น เพราะลิ้มรส เพราะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะคิดนึก แต่เวลาที่จิตเป็นภวังค์ คือ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ในขณะนั้นจะไม่ทราบเลยว่า มีกิเลสมาก เพราะเหตุว่าไม่มีการปรากฏ

    ที่ชื่อว่า “มนายตนะ”

    อธิบายในคำว่า “มนายตนะ” นั้น มนะ พึงทราบว่า อายตนะ เพราะความหมายว่า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ

    จริงดังนั้น ธรรมมีผัสสะเป็นต้น ย่อมเกิดในมนะนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก ย่อมประชุมที่มนะ โดยเป็นอารมณ์ แม้เพราะความหมายว่า เป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุแห่งผัสสะเป็นต้น โดยอรรถว่า เป็นสหชาตปัจจัย

    นี่เป็นคำอธิบายในอัฏฐสาลินี เพื่อที่จะให้มีการพิจารณา และเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ที่กำลังเกิดขึ้นรู้ในขณะนี้

    เพราะเหตุว่า “มนายตนะ” อธิบายในคำว่า “มนายตนะ” นั้น มนะ พึงทราบว่า อายตนะ เพราะความหมายว่า เป็นที่อยู่อาศัย

    คำว่า อายตนะ ความหมายว่า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ จะไม่มีการปรากฏเลย เมื่อไม่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตก็ไม่มี ไม่มีการที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือว่าไม่มีการที่จะเกิดป่วยไข้ได้เจ็บ ไม่มีการที่จะต้องประจวบกับสิ่งที่ไม่พอใจ หรือว่าพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ แต่เพราะเหตุว่ามีจิตซึ่งเป็นที่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุมของธรรมอื่น มีผัสสะเป็นต้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    5 พ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ