ปกิณณกธรรม ตอนที่ 975


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๗๕

    สนทนาธรรม ที่ ร้านโป๊ด เรสเตอร์รอง

    วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะเข้าถึงลักษณะจริงๆ ของธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะมากมาย มหาศาลสักเท่าใด ก็รู้ความจริงว่า ถ้าจะเป็นประเภทใหญ่ๆ ธรรมมี ๒ ประเภทคือ ธรรมสิ่งที่มีจริง มีจริงแต่ไม่รู้อะไร ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย แข็งอย่างนี้ รู้อะไรไหม จะมีใครไปจับ แข็งก็ไม่รู้ว่าถูกจับ เกิดเป็นแข็งแล้วก็ดับ เป็นอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งปรากฏ มีธาตุหรือสภาพธรรมที่เราเคยเป็นเรา รู้ว่าสิ่งนั้นแข็ง ความจริงเมื่อไม่ใช่เรา แต่มีสภาพที่รู้แข็งแน่นอน ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นสภาพรู้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้คำว่านามธรรม น้อมไปสู่สิ่งที่ปรากฏ หมายความว่ารู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏ เช่นขณะนี้นั่งอยู่ที่นี่ เห็นดอกไม้ข้างนอกไหม ธรรมดาเห็นไหม ไม่เห็นจะเห็นได้อย่างไร ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏ เริ่มเข้าใกล้คำนี้แล้วใช่ไหม อะไรก็ตามที่กำลังปรากฏว่ามีเดี๋ยวนั้นขณะนั้น มีจริงๆ ชั่วขณะที่ปรากฏ เห็นโต๊ะ เห็นมี เห็นอะไร เห็นสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นโต๊ะ แต่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ถูกต้องไหม ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เพราะอะไร เพราะมีตา มีตาไว้ทำไมใช่ไหม ใครทำให้ตาเกิด อนัตตามีเหตุปัจจัยก็เกิด บางคนตาบอด บางคนตาไม่บอด ก็มีเหตุปัจจัย มีตาทำไม ตาเป็นสิ่งที่พิเศษ สามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ข้างหลังมีอะไรบ้าง บอกหน่อย ไม่ปรากฎใช่ไหม เพราะไม่ได้กระทบตา ความละเอียดแม้แต่ชั่วเห็น จะเห็นที่ไหนก็ตามแต่ เห็นเมื่อใดก็ตามแต่ ต้องมีปัจจัยสิ่งที่เกื้อกูลอนุเคราะห์ สามารถทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นตาเห็นอะไรหรือเปล่า คิด ธรรมต้องไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เรา ถ้าไม่ใช่เราก็ต้องบอกมาให้ถึงที่สุดเลยว่า ไม่ใช่เราเพราะอะไรๆ อะไรอย่างตาอย่างนี้ เห็นไหม ไม่เห็นเพราะเป็นรูปธรรม สภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพียงแต่ว่าเป็นที่อาศัยเกิดของธาตุที่เห็น เริ่มเห็นความละเอียด ขณะนี้ตาก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็มี เห็นก็มีทั้ง ๓ อย่างใช่ไหม คือมีตาหนึ่ง แล้วต้องมีสิ่งที่กระทบตาด้วย แล้วก็มีธาตุรู้คือเห็นเกิดขึ้น เพราะเห็นต้องเกิดที่ตา ต้องอาศัยตา แล้วถ้าไม่มีอะไรมากระทบตา ก็ไม่เห็น อย่างข้างหลัง สิ่งที่อยู่ข้างหลังไม่ได้มากระทบตา ก็มองไม่เห็นใช่ไหม ถ้าจะใช้ภาษาบาลีก็อายตนะ ยังไม่ต้องรีบร้อนไปเข้าใจ เพราะทั้งหมดอยู่ในพระไตรปิฏก คิดดู ไม่ใช่นอกพระไตรปิฏกเลย ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างเพียงแต่ว่าเราไม่ไปเอาคำภาษาบาลีมาพูด

    แต่ทั้งหมดถ้ามีความเข้าใจขึ้น เป็นธรรมสิ่งที่มีจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยครบถ้วน โดยประการทั้งปวง ที่จะให้คนสามารถได้เข้าใจ และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น จนดับกิเลสคือความไม่รู้ได้ ตอนนี้เราก็เริ่มรู้แล้ว ตาไม่เห็นอะไร เป็นรูปธรรม สิ่งที่กระทบตา ไม่เห็น เพราะเพียงแต่ปรากฏว่ามีเป็นรูปธรรม ส่วนธาตุรู้คือเห็นไม่ใช่เรา เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ยิน เห็นต้องเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับ จะเป็นใคร จะเป็นเราก็ไม่ได้ จะเป็นของเราก็ไม่ได้ จะบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ ก็ตรงตามที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วก็มี ๒ อย่าง สภาพธรรมที่เกิดอย่างหนึ่งไม่รู้อะไรเลยเป็นรูปธรรม สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นรู้แล้วดับ ได้ยิน เดี๋ยวนี้เข้าใจว่าเป็นเราได้ยิน แต่เราจะได้ยินอย่างไร ในเมื่อได้ยินเกิดได้ยินแล้วดับ ได้ยินเกิดขึ้น จากไม่มีได้ยิน แล้วก็มีได้ยิน แล้วก็ไม่เหลือเลย แล้วเราจะอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็มีจริงชั่วขณะที่แสนสั้น และจำได้ เข้าใจได้ไม่เปลี่ยนแปลงว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่มีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่เปลี่ยนเลย นามธรรมก็กำลังเกิดดับ รูปธรรมก็กำลังเกิดดับ ไม่รู้ตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เข้าใจว่าเป็นเราเกิด และเราตาย

    นี่คือประโยชน์ของการที่ในชาติหนึ่งมีโอกาสได้ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ก่อนที่จะจากโลกนี้ไป และการที่ได้เข้าใจแล้วจะค่อยๆ สะสมใช้คำว่าอบรม ไม่ใช่เราไปทำ หรือเราไปอบรม อบรมคือปัญญาที่ไม่เคยเกิดก็เกิดขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นเล็กน้อยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริง ตามลำดับขั้น คือขั้นฟัง ใช้คำว่าปริยัติ แค่นี้ดับกิเลสไม่ได้ เพราะสภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่ใครรู้ แค่ฟัง แล้วก็เริ่มรู้ว่าจริง แต่ว่าปัญญาต้องถึงระดับสามารถประจักษ์แจ้งจริงๆ ขณะที่เกิดดับ จึงจะดับกิเลสได้แต่ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ใครไปทำด้วย แต่ที่ยากแสนยาก เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เหมือนอกุศล ก็เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เมื่อสักครู่นี้คุณคำปั่นชอบอะไร รับประทานอาหารอร่อย

    อ.คำปั่น แกงไตปลา

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ชอบ หมดแล้ว ไม่เหลือ แล้วคุณคำปั่นชอบอะไรขณะนี้ สิ่งที่ชอบไม่ใช่แกงไตปลา ขณะที่กำลังชอบแกงไตปลา ชั่วขณะที่ชอบแล้วหมด ชอบก็หมด ไตปลาก็หมด ทุกอย่างก็หมด แล้วก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นแทน รวดเร็วสืบต่อไม่ขาดสาย แล้วก็ไม่ห่างไกลเลย จนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้รอยต่อได้ขณะนี้ว่า ขณะเห็นมีได้ยินด้วย ความจริงต้องเป็นคนละขณะ เพราะฉะนั้นก็เริ่มเข้าใจธรรม เข้าใจธรรมที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัย อาศัยปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และก็ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะ ที่คุณคำปั่นเรียกว่าแกงไตปลา ความจริงเป็นอะไร

    อ.คำปั่น ก็ต้องมีรูปธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จึงมีการสมมติเรียกว่าเป็นแกงชนิดนี้ แล้วก็มีการเห็น แล้วก็มีการติดข้องจากสิ่งที่ปรากฏนั้น

    ท่านอาจารย์ มีรสแน่นอนใช่ไหม ถึงได้บอกว่าเป็นแกงไตปลา แล้วก็ขณะนั้นจำได้ด้วย เห็นไหม เพราะฉะนั้นจำเป็นเราหรือเปล่า ทีนี้ตอบได้แล้ว เป็นเราหรือเปล่าคะจำ เราจำหรือเปล่า หรือว่าจำมีจริง จำเป็นสิ่งที่มีจริง หนึ่งในบรรดาสิ่งที่มีจริงทั้งหลาย จะบอกว่าจำไม่จริงไม่ได้ จะบอกว่าจำไม่มีไม่ได้ ก็จำเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นจำก็เป็นจำ จำก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรม ก็ไม่ไกลตัวเลย ทุกขณะที่มีที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นธรรมทั้งหมด แต่ไม่รู้ และเมื่อได้ฟังธรรมก็สิ่งเดิมๆ ที่เคยไม่รู้นั่นเอง ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ กระจ่างขึ้น ค่อยๆ รู้ว่า มี ชั่วคราวแล้วก็ดับไป หาแกงไตปลาเจอไหม ไปเอาแกงไตปลามาให้หน่อย ก็ไม่ใช่แกงไตปลาเก่าที่ลิ้มแล้วหมดไป ต้องเป็นไปทุกขณะ แล้วอะไรที่เป็นของเรา ทุกอย่างถูกปกปิดไว้ด้วยความไม่รู้ซึ่งมืดสนิท ยังไงยังไงก็ไม่รู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้นเริ่มเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี แล้วเราวันนี้ดีขึ้นหรือเปล่า บารมีอยู่ไหน รู้ว่าอกุศลไม่ดี กิเลสไม่ดี ทำให้จิตใจไม่สะอาดเศร้าหมอง ไม่อยากมี แล้วอย่างไร อยากก็เป็นโลภะติดเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้เลย ถ้าไม่มีผู้ที่บำเพ็ญบารมี จะไม่รู้ความจริงอย่างนี้ได้เลย ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีกิเลสมากๆ เลย ชาดกพระชาติต่างๆ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ก็เป็นชีวิตธรรมดาของทุกๆ คน เหมือนอย่างนี้ แล้วทรงบำเพ็ญบารมี เพื่อค่อยๆ ละความไม่รู้ ค่อยๆ มีความดีที่จะสละ ทราบไหม ทุกครั้งที่ทำดี นั่นคือกำลังสละกิเลส ถ้าคนไม่บอกก็ไม่รู้คิดว่า ก็ทำไป สะสมมา แต่ความจริงทุกขณะที่ดีนั่นเอง กำลังสละความไม่ดี เพราะฉะนั้นกว่าพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงบำเพ็ญพระบารมี สละความไม่ดีที่สะสมมานานแสนนานได้ ต้องนานเท่าใด ฉันใด ทุกคนต้องฉันนั้น ดีเท่าใด แต่ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นเข้าใจนามธรรม เข้าใจรูปธรรม เดี๋ยวนี้มีไหม สิ่งที่ปรากฏมีจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ น่าแปลก เกือบจะไม่รู้ว่าอะไรกำลังปรากฏได้อย่างไร ดูเหมือนอากาศว่างๆ แล้วก็มีสีสันวรรณะต่างๆ และก็มีความจำว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งหมดที่ไม่รู้มีจริงเป็นสภาพรู้ กว่าจะถึงลักษณะซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ มีจริงแต่ไม่ใช่สภาพรู้ ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ ก็แสนนาน ค่อยๆ ละความไม่รู้ไป ด้วยความเข้าใจขึ้น เวลาฟังเข้าใจ เวลาไม่ฟัง ลืม แล้วก็เป็นอย่างนี้ และไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่ฟัง จะยิ่งไม่เข้าใจมากสักเท่าใด ด้วยเหตุนี้กว่าจะละความไม่รู้ และความไม่เข้าใจได้ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่ใช่เรา แต่มีธรรม ๒ ฝ่าย กุศลกับอกุศล บางแห่งบางครั้ง จะใช้คำว่าธรรมกับอธรรมก็ได้ คือแต่ละคำมีเรื่องมากมาย ลักษณะต่างๆ หลากหลายมาก จึงมีคำมากสำหรับที่จะกล่าวถึงแต่ละอย่างนั้น ถ้ากล่าวโดยระยะของดีชั่ว ก็ใช้ว่าธรรมกับอธรรม ถ้ากล่าวถึงทุกอย่างเป็นธรรมก็ไม่เว้นเลย แม้อธรรม ความชั่วก็เป็นธรรม ความดีก็เป็นธรรม นี่คือเข้าใจแต่ละคำ รอบรู้ในคำนั้นแล้วก็แทงตลอดในความหมายด้วย

    ผู้ฟัง วิปัสสนากรรมฐานหรือภาวนา เป็นส่วนหนึ่งของธรรมด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ น่าจะทราบเองเลย แต่ตอบไม่ได้แน่ แน่นอน ถ้าตอบก็ต้องผิด เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ว่าวิปัสสนาคืออะไร กรรมฐานคืออะไร เห็นไหม ต้องผิดแน่เพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นที่จะรู้ที่จะถูกต้องเข้าใจก่อน วิปัสสนาไม่ใช่ภาษาไทย ถูกต้องไหม เป็นภาษามคธี ภาษาบาลีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับชาวมคธ กับผู้ที่เข้าใจภาษานั้น เพราะฉะนั้นวิปัสสนา แปลว่าอะไรคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น ก็เป็นปัญญาที่เห็นอย่างแจ่มแจ้ง ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ปัญญาแน่นอนใช่ไหม เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นที่นี่คือเข้าใจเหมือนสิ่งนั้นปรากฏเฉพาะหน้า ให้เห็น ตามความเป็นจริง อย่างแข็งอย่างนี้ มองเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีแข็ง บอกว่ามี ก็ต้องรู้ว่า จะรู้ได้ยังไงว่ามีแข็ง

    ผู้ฟัง ก็ต้องไปกระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอาศัยกายปสาทเท่านั้น ที่จะกระทบกับแข็งได้ เป็นอนัตตา แข็งต้องเกิด กายประสาทรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับแข็ง ตาไม่สามารถกระทบแข็งได้ แต่ว่าที่แข็งมีอีกรูปหนึ่ง คือสีสันวรรณะที่กำลังปรากฏ อยู่ที่ธาตุดินอยู่ที่แข็ง ลองจับดูสิ่งที่แข็ง แล้วก็มองก็เห็นสีสันวรรณะของสีนั้น แต่ไม่เห็นแข็ง นี่คือธรรมใช่ไหม ที่วิปัสสนาหรือยัง วิ เห็น หมายความถึงเข้าใจ ไม่ใช่เห็นอย่างเห็นสิ่งที่ปรากฏ วิปัสสนา ความเห็นถูก ชัดเจน เหมือนเห็นด้วยตา มืดไหม มืดมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี รู้ได้ทางไหน

    ผู้ฟัง ก็ด้วยการมอง

    ท่านอาจารย์ ทางตาใช่ไหม ทางตาเห็นสิ่งที่ปรากฏว่ามืด มืดอย่างนั้นยังมองเห็นว่ามืด ความไม่รู้มืดกว่านั้น ทั้งๆ ที่ลืมตาก็ไม่เห็นความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นความมืดนั้นใช้คำว่าอวิชชา วิชาแปลว่าปัญญา ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ต้องเห็นใช่ไหม ถึงจะเป็นปัญญา แต่ไม่ใช่เห็นด้วยตา เห็นด้วยความเข้าใจที่สิ่งนั้น จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตามแต่ แต่ปัญญาสามารถเข้าใจถูก ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ขณะนั้นวิปัสสนาหรือยัง ยัง ยัง ถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็หลงกันไป หลงทางกันไป เพราะฉะนั้นก็อยู่ในโลกของความหลง เข้าใจว่ารู้ด้วย แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นไม่มีสำนักปฏิบัติในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกให้ใครไปสำนักปฏิบัติ ไม่ได้มีวิธีว่าให้นั่ง ให้กำหนดที่โน่น ให้รู้ตรงนี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก มีคำว่ากรรมฐาน แน่นอน คำนี้ หมายความว่าอะไร เห็นไหม ต้องเข้าใจความหมายของคำ และเข้าใจตัวจริงคือธรรมด้วย ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่ากรรมฐาน

    อ.คำปั่น กรรมฐานนะ หรือว่ากรรมฐาน ก็คือที่ตั้งแห่งการกระทำ การกระทำในที่นี้ ไม่ใช่การกระทำที่เป็นตัวตน แต่ว่าเป็นปัญญาที่เข้าใจ อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นที่ตั้งแห่งการกระทำในที่นี้ หมายถึงที่ตั้งที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ ตามความเป็นจริง แม้แต่ที่เขาถึงว่าวิปัสสนากรรมฐาน ก็ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปัญญาสามารถ รู้อย่างแจ่มแจ้ง ตามความเป็นจริงได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นกรรม กิจการงานของอะไร กรรมฐาน ได้ยินคำว่ากรรม ทุกคนคิดถึงการกระทำใช่ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่เป็นธาตุรู้ จะต้องมีกิจที่จะกระทำ ในขณะที่เกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ อย่างขณะนี้ เห็นเป็นกิจหนึ่ง กิจเห็น ได้ยินเป็นอีกธาตุหนึ่ง เกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยิน เกิดขึ้นเพื่อทำกิจหน้าที่แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งแต่ละ หนึ่ง เพราะฉะนั้นกรรมฐาน ฐานะ ที่ตั้งของการกระทำของปัญญา ที่เริ่มเข้าใจถูกในสิ่งนั้นที่ปรากฏ เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏแต่ไม่รู้ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏ และเคยไม่รู้ เวลาที่มีความเข้าใจขึ้น ก็รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ที่เคยไม่รู้นั่นเอง อย่าลืม ถ้าพูดถึงธรรมที่เกิดขึ้นมีจริงๆ ปรากฏให้รู้ได้ มี ๒ อย่าง แต่เป็นทั้ง ๒ อย่างไม่ได้ ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าไม่ใช่สภาพรู้จะเปลี่ยนเป็นรู้ไม่ได้เลย แข็ง จะให้แข็งไปรู้อะไรไม่ได้เลย เสียงจะให้เป็นเสียง ไปรู้อะไรก็ไม่ได้ กลิ่นจะให้กลิ่นไปรู้อะไรก็ไม่ได้สภาพธรรมที่ไม่รู้เกิดรู้ขึ้น และต้องไม่รู้ จึงได้เป็นสภาพที่มีจริง แต่ไม่รู้ เป็นรูปธรรมไม่ใช่ไปติดคำว่ารูปธรรม นามธรรม เขาว่ารูปธรรมเป็นอย่างนี้ เราก็พูดตาม แล้วนามธรรมเป็นอย่างนั้น ก็พูดตาม แต่ว่าที่จะรู้จริงๆ คือไม่ใช่พูดตาม ความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ง่วง มีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นใครหรือเปล่า เห็นไหม ข้อสำคัญที่สุดคือเป็นใครหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่มีจริง ที่เปลี่ยนลักษณะไม่ได้เลย เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้นทุกครั้งที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นง่วงมีจริง เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมประเภทไหน มี ๒ อย่าง นามธรรมหรือรูปธรรม เห็นไหม แค่นี้ก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ถ้าอบรม เห็นไหม ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ ไม่ลืมแล้วก็ปัญญาความเข้าใจต่างหาก ที่อบรมไม่ใช่เราไปอบรมปัญญา แต่ความเข้าใจที่เรียกว่าอบรม คือจากไม่มีก็มีขึ้น จากมีน้อยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มากขึ้นนั่นคือภาวนา แต่ง่วงมีแน่ๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพที่ง่วง เป็นนามธรรม ไม่ใช่สำหรับตอบ แต่สำหรับเข้าใจ นี่ลืมไม่ได้เลย ศึกษาธรรมไม่ใช่สำหรับตอบ ไม่ใช่สำหรับสอบ ไม่ใช่สำหรับปริญญา แต่ว่าสำหรับเข้าใจ

    ผู้ฟัง ความมั่นคงในธรรมคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมคือความเข้าใจ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจ แล้วก็พูดเอง แต่ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม เข้าใจอย่างนี้ก็เป็นธรรม คือความเข้าใจถูกว่าทุกอย่างมีจริง เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พูดถึงสิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้สิ่งที่มีจริงแน่นอน ถ้าสิ่งนั้นไม่มีจะตรัสรู้อะไร จะตรัสรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงนั่นเองใช้คำว่าธรรม มั่นคงไหม เข้าใจอย่างนี้ มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ กลิ่นเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่พอใช่ไหม การเข้าใจอย่างนี้มีประโยชน์ไหม เป็นประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ เป็นประโยชน์แน่นอน เพราะฉะนั้นจะฟังต่อไปให้เข้าใจขึ้นหรือเปล่า เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์แล้ว

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ นั่นมั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ เมื่อใดที่ชีวิตก็นอกจากจะเป็นไปตามปกติ ยังเพิ่มการที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ ไม่เว้นเพราะเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง นั่นคือมั่นคง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งวันให้เรานั่งฟัง อย่างนั้นมั่นคงหรือเปล่า คุณคำปั่น

    อ.คำปั่น ก็เป็นเรื่องของความเป็นผู้เห็นประโยชน์ ไม่ใช่ด้วยความอยากความต้องการที่จะรู้มากๆ เพราะว่าทุกครั้งที่ฟังพระธรรม ก็ด้วยความเข้าใจความจริง

    ท่านอาจารย์ คุณธีระพันธ์ฟังธรรมทั้งวันเลย เปิดไป มั่นคงไหม

    อ.ธีระพันธ์ ไม่ได้หมายความว่าฟังมากแล้วจะมั่นคง แต่ว่าความเข้าใจในแต่ละครั้งที่ฟังนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือยัง กว่าจะเป็นความมั่นคงได้ นี่ก็ไม่ใช่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเลย ต้องสะสมแต่ละครั้งแต่ละครั้งที่ฟัง บางท่านอาจคิดว่าฟังวันนี้ เหมือนกับมาฟังทั้งวันเลย และคิดว่าเข้าใจ แต่ความจริงแล้วถ้าพิจารณาดูแล้ว แต่ละคำแต่ละคำ ที่ฟังเข้าใจอะไรบ้าง ความเข้าใจสำคัญที่สุดจะมากจะน้อย ความเข้าใจต้องมาก่อน

    ท่านอาจารย์ เราทำความเข้าใจให้มั่นคงได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ นี่มาแล้ว ลืมแล้วว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดแล้ว เห็นเกิดแล้ว ไม่ได้ไปทำให้เกิด คิดเกิดแล้วไม่ได้ ไปเตรียมตัวเตรียมทำให้คิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะเกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่สมควรที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นใครจะไปทำให้มั่นคงได้ไหม

    ผู้ฟัง ทำให้มั่นคงไม่ได้ เพราะว่าต้องเกิดขึ้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความเห็นถูก มั่นคงแค่ไหน เราก็จะรู้ได้ว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนไปตามคำของคนอื่น แต่ความจริงต้องเป็นความจริง เพราะฉะนั้นที่เขาว่าไปทำวิปัสสนา ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ มั่นคง ไม่ใช่ไปถามใคร แต่ทุกคำถามที่มี แล้วเราก็จะรู้เองว่า เราเป็นคนที่ตรง และมั่นคงในความถูกต้อง ในเหตุในผลไหม มั่นคงก็คือว่าไม่เปลี่ยนแปลง ความจริงต้องเป็นความจริง ถูกต้องถูก ผิดต้องผิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    16 ธ.ค. 2567