ปกิณณกธรรม ตอนที่ 977


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๗๗

    สนทนาธรรม ที่ ร้านโป๊ด เรสเตอร์รอง

    วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่าเจตสิก เพราะเหตุว่าเกิดกับจิต เกิดในจิต แยกกันไม่ออกเลยแต่จิตก็ยังคงเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกแต่ละหนึ่งก็เป็นเจตสิก ซึ่งก้าวก่ายสับสนกันไม่ได้ มีจริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นบางครั้ง เราใช้คำว่าจิต ภาษาบาลีจะใช้คำว่าจิตตุปาทะ หมายความว่าการเกิดขึ้นของจิต ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงจิตเรารวมเจตสิก ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งใช่ไหม เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปกล่าวชื่อทั้งหมด ก็รวมกันเป็นจิต แล้วก็พูดถึงจิตครั้งใด ก็ และเจตสิกร่วมเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น จะพ้นจาก ๓ อย่างนี้ไม่ได้เลย แม้แต่จะกล่าวว่าวิถีจิต ต้องรู้ว่าวิถีคืออะไร จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จริงไหม โดยเหตุผลธรรมดาๆ เมื่อมีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ด้วยจะมีจิตเปล่าๆ ได้ไหม โดยไม่มีสิ่งที่ถูกจิตรู้ ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจิตเห็นมีสิ่งที่กำลังถูกเห็น จิตได้ยิน มีเสียงที่กำลังถูกได้ยิน

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นธาตุรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ในขณะนั้น ซึ่งสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่าอารัมมณะ หรืออาลัมพนะแต่คนไทยก็เอาภาษาบาลีมาใช้ สั้นๆ ว่าอารมณ์ ต่อไปนี้พอได้ยินคำว่าอารมณ์ แล้วศึกษาธรรมก็รู้ว่า ไม่เหมือนอย่างที่คนไทยใช้เป็นชีวิตประจำวัน แต่หมายความว่าสิ่งที่ถูกจิตรู้ แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง จิตเกิดขึ้น และจิตก็ดับไป สิ่งที่ควรจะรู้ต่อไปก็คือว่า รูปทั้งหมดมีอายุเกิดดับช้ากว่าจิต รูปหนึ่งรูป เสียงหนึ่งเสียง เฉพาะหนึ่งเสียง จิตที่รู้เสียงนั้น เกิดดับ ๑๗ ขณะเสียงนั้นจึงดับ แล้ว ๑๗ ขณะ ขณะนี้ใครนับได้ ใครรู้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ประเมินคร่าวๆ ว่าเสียงดับ แต่ก่อนเสียงดับจิตเกิด ๑๗ ขณะ เร็วกว่าเสียงอีก ด้วยเหตุนี้ความเป็นไปในการเกิดขึ้น รู้อารมณ์ของจิต จึงต้องเกิดขึ้นรู้เป็นลำดับ ชื่อว่าวิถีจิต เพราะฉะนั้นวิถีจิตหมายความถึง การที่จิตจะรู้อารมณ์ทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สิ่งนั้นมีจริงๆ กระทบจริงๆ อายุมากกว่าการเกิดดับของจิต เพราะเหตุว่ารูปหนึ่งรูป จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงว่า จิตแต่ละ ๑ ขณะซึ่งรู้รูปรูปเดียว ซึ่งเกิด และยังไม่ดับ มีจิตอะไรบ้าง เป็นความเป็นไปของจิต ที่รู้อารมณ์เดียวกัน แต่ทำกิจต่างกัน ค่อยๆ เห็นชัดไหมว่าจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่ หน้าที่อะไร หน้าที่รู้อารมณ์ แต่ว่าจิตแต่ละหนึ่งก็ต่างกันไปทำหน้าที่ต่างๆ กัน เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ในพระสูตรก็ไม่ได้แสดงโดยละเอียด โดยนัยของพระอภิธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราอ่านพระสูตร เท่าที่เรารู้เวลานี้เห็นชอบไหม ไม่ได้กล่าวถึงวิถีจิต ความเป็นไปของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ จนถึงขณะที่ชอบหรือไม่ชอบ เพราะฉะนั้นทุกคำที่ได้ฟัง ก็คือว่า เมื่อกล่าวถึงวิถีจิต หมายความถึงจิตที่รู้สิ่งที่กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีจิตกี่ประเภทที่เกิดดับสืบต่อกัน ทำหน้าที่ของจิตนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่จิตเดียวกัน มีจิตขณะเก่าที่ดับไป มาเกิดอีกบ้างไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ถ้าใช้คำว่าดับ คือเลย ไม่กลับมาอีกเลย ไม่มีทางที่จะเป็นขึ้นมาอีกได้เลย เกิดแล้วดับคือไม่กลับมาอีก เห็นเมื่อสักครู่นี้ไม่ใช่เห็นเดี๋ยวนี้ แม้แต่ตาเมื่อสักครู่นี้ ก็ไม่ใช่ตาเดี๋ยวนี้ ตาก็เกิดดับ แต่ว่าช้ากว่าจิต เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็คือค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อไม่ใช่เรา เพื่อน้อมไปสู่การที่จะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา และน้อมไปสู่การที่จะเข้าใจทีละหนึ่ง ทั้งๆ ที่กำลังมี เหมือนอยู่ในความมืดเป็นเวลานี้ ความรู้สึกมีไหมเดี๋ยวนี้ มี รู้ไหม ดีใจ เสียใจ เฉยๆ สุข ทุกข์ รู้ไหม

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ ทีละหนึ่ง ต้องทีละหนึ่ง เห็นขณะนี้มีความรู้สึกจิตที่รู้สึกในขณะที่เห็นมีไหม มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตเป็นธาตุรู้ เจตสิกที่รู้สึกเป็นเวทนาเจตสิก เห็นเป็นวิถีจิตรึเปล่า ตอนหลับสนิทมีเห็นไหม ไม่ หลับสนิท มีเราในโลกนี้ ชื่ออะไร อยู่ที่ไหนไหม ไม่มีเลย แต่มีจิตเกิดดับ ดำรงภพชาติ ยังไม่จากโลกนี้ไปก็ยังไม่ตาย จิตขณะนั้นไม่ได้ทำจุติ เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ในขณะที่หลับสนิททำกิจดำรงรักษาภพชาติ ใช้คำว่าภว กับ อังคะ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจิตขณะสุดท้ายจะเกิดขึ้นทำกิจพ้นความเป็นบุคคลนี้ก็ตาย เพราะฉะนั้นระหว่างที่หลับสนิท ไม่เห็นใช่ไหม ไม่ได้ยิน แต่เมื่อไรมีเสียงกระทบหู จิตได้ยินเกิดขึ้น จิตจะต้องเกิดดับสืบต่อ ก่อนเสียงดับ มีจิตอะไรบ้าง นั่นคือวิถีจิต ความเป็นไปของจิตแต่ละหนึ่งขณะซึ่งสืบต่อกัน ที่จะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่ภวังค์

    เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่ภวังคจิต เพราะเห็น ถ้าภวังคจิต หมายความว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน ขณะนั้นคือยังไม่ตาย ก็ต้องมีจิตเกิดดับดำรงภพชาติ จิตขณะนั้นรู้อารมณ์ไหม ถูกต้อง อารมณ์อะไร ตอบถูก จิตขณะที่หลับก็รู้อารมณ์ เพราะอะไร เพราะจิต แล้วต้องรู้ จิตที่ไม่รู้ไม่มี เพราะจิตเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น จะเปลี่ยนจิตนั้นเป็นสภาพที่ไม่รู้ไม่ได้ แต่หลากหลายประเภทมากวันหนึ่งวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นในขณะที่หลับสนิทเป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตคิด ไม่ใช่จิต ได้ยิน แต่เป็นจิตที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน แต่มีดำรงภพชาติสืบต่อ แต่จิตนั้นรู้อารมณ์ไหม ขณะที่หลับสนิทมีจิตเกิดดับรู้อารมณ์มั้ย อารมณ์คืออะไร ลืมหรือยัง ทุกคำลืมไม่ได้เลย กลับไปทบทวน ถ้ามีความที่เคยเห็นประโยชน์ และสะสมมา เริ่มจะคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง เพราะว่าวันหนึ่งวันหนึ่งแต่ละความคิดเกิดบังคับบัญชาไม่ได้ ว่าเราจะคิดเรื่องอะไร คนที่ชอบเรื่องอาหาร ก็จะคิดเรื่องกุ้ง ปู ปลา ผักใช่ไหม คนที่ชอบเสื้อผ้าสวยๆ ก็คิดไปอีกเรื่องหนึ่ง คนที่ชอบธุรกิจ ก็คิดไปอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นยับยั้งความคิดไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ฟังธรรม เห็นประโยชน์ และเคยสะสมมา ก็มีโอกาสที่จะคิดถึงคำที่ได้ฟังแล้วไตร่ตรองขณะนั้น ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าอารมณ์ เห็นไหม ได้ยินแล้ว คืออะไร ได้ยินแล้ว ตอนได้ยินเข้าใจแล้ว ทบทวนว่าอารมณ์คืออะไร

    ผู้ฟัง อารมณ์คือความรู้สึก หรือความคิดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ไม่ใช่จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ผิดหรือถูก ถูกใช่ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกรู้ คำภาษามคธ ไม่มีคำว่าสิ่งที่ถูกรู้ แต่ใช้คำว่าอารัมมณะ ซึ่งคนไทยเรียกสั้นๆ ว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นคนไทยใช้คำภาษาบาลี เพราะเคยฟังธรรม แต่ไม่เข้าใจคำ ที่ได้ยินถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่า วันนี้อารมณ์ดีไหม ตั้งแต่เช้ามาอารมณ์ดี บางวันก็อารมณ์ไม่ดี บางคนก็ไม่รู้สาเหตุว่า ทำไมอารมณ์ไม่ดี ทำไมอารมณ์ดี แต่รู้หรือเปล่าว่า อารมณ์คืออะไร คือสิ่งที่จิตรู้ ถ้าเป็นสิ่งที่ดีน่าพอใจ สิ่งที่ถูกรู้ และเป็นสิ่งที่ดีอารมณ์ดี เสียงเพราะๆ เป็นอารมณ์ดี

    เพราะฉะนั้นจิตรู้อารมณ์ แล้วแต่ว่าอารมณ์นั้นดีจิตก็รู้ อารมณ์ไม่ดีจิตก็รู้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นชอบอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง ชอบมากเลย อารมณ์เพราะว่า เหมือนมีสีสัน เพียงแต่ว่า ให้เข้าใจว่าสีสันอันนั้นที่กำลังเกิดขึ้นอันนั้น เป็นสิ่งที่ควรที่จะต้องละหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ รู้ไหม ชอบอารมณ์ ก็ต้องมีจิตเกิดชอบอารมณ์ ไปตลอดเรื่อยๆ ไม่รู้จบ เพราะชอบ ยังไม่หน่าย ยังไม่คลาย ยังไม่เห็นโทษ ว่าอยู่ดีไม่ว่าดี ก็เกิดขึ้นมารู้แล้วก็ดับไป แล้วไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรเลย ยังไม่เห็นภัย

    ผู้ฟัง ถึงต้องฟังอย่างไร นี่ขนาดฟังมาตั้งจะ ๑๐ปี แล้ว ยังไม่เข้าใจเลย

    ท่านอาจารย์ เทียบแสนโกฏกัป กำลังเริ่มภาวนาอบรมสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยมีมาก่อนเลย ให้ค่อยๆ มี ค่อยๆ ตรง ค่อยๆ ถูกต้องขึ้น เพื่อละความไม่รู้ จึงสามารถที่จะละกิเลส สิ่งที่ไม่ดีได้ รู้ว่าไม่ดี แต่ก็ไม่สามารถที่จะละได้ เพียงขั้นรู้เท่านั้นจากการฟัง แต่เริ่มรู้ว่ามีหนทาง หนทางนั้นคือไม่ใช่นุ่งขาว ไม่ใช่ไปสำนักปฏิบัติ แต่หนทางคือปัญญาจากการฟัง เป็นความเข้าใจถูกต้องตามลำดับ ปริยัติฟังแค่นี้ ชื่อว่าฟังพระพุทธพจน์ แต่เป็นปริยัติต่อเมื่อรอบรู้ในพระพุทธพจน์ และแทงตลอดในพระพุทธพจน์ ขั้นปริยัติก็ยังต้องแทงตลอด เพราะฉะนั้นก็สะสมไป เพราะว่าเริ่มมีเมล็ดพืชของปัญญา อาศัยการพิจารณาไตร่ตรอง ช่วยเป็นปัจจัย เหมือนปุ๋ย เหมือนน้ำดีๆ ดินดีๆ ทำให้เจริญเติบโต

    ผู้ฟัง ได้ยินคำว่านิพพาน แล้วก็จากที่ได้ไปที่วัด หรืออะไรต่างๆ ก็ทุกคนก็เหมือนมาเร่งภาวนา เพราะอยากไปนิพพาน ก็เลยอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่าคืออะไร ไปนิพพาน

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่ไม่เกิดจะดีไหม เพราะว่าเกิดมาแล้วดับ แล้วไม่เหลือทุกอย่าง นี่เริ่มคิดใช่ไหม แค่เริ่มจะเข้าใจว่า มีภาวะที่ต่างกับสภาพธรรมที่เกิด เกิด เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่เกิดแล้วก็ดับไป ดับไป เร็วสุดที่จะประมาณได้ ไม่เหลืออะไรเลย แค่เกิดมาแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่เหลือ ตลอดในสังสารวัฎแม้ขณะนี้ กับไม่ต้องมีอะไรเกิด เพราะจะต้องมีอะไร จากไม่มี ก็มี แล้วก็ไม่มี ก็เหมือนกับตอนเดิม ก็ไม่มีใช่ไหม ไม่มีเสียงแล้วก็มีเสียง แล้วเสียงก็หายไป แล้วมีทำไม เสียงที่เกิดขึ้นปรากฏนั่นมีทำไม เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มี ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏสวยๆ งามๆ ดอกกุหลาบอะไรก็ตามแต่ เสียงดนตรีเสียงอะไร กลิ่นหอมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มี แล้วก็เกิดมี แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เป็นอย่างนี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น จะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่รู้จบ และไปหลงเข้าใจว่าเป็นเราด้วย

    เพราะฉะนั้นสุขทุกข์ก็อยู่ที่ความ ที่ไปยึดถือว่าเป็นเรา แต่ความจริงก็เป็นธรรมซึ่งไม่มีใครยับยั้ง ปัจจัยที่จะทำให้เกิด และก็ดับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจากการที่พระโพธิสัตว์เริ่มเห็น ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าสิ่งนี้จะไม่ต้องเกิดขึ้นอีกเพราะอะไร และการเกิดกับการไม่เกิด อย่างไหนดีกว่ากัน

    ผู้ฟัง ไม่เกิดดีกว่า

    ท่านอาจารย์ นั่นคือนิพพาน หมายความถึง พ้น หมด สิ้น ตัณหา ความต้องการที่ติดข้อง ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ทีนี้เราต้องตายหรือเปล่า ถึงต้องไปนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย ตายแล้วอะไรตาย เห็นไหม ก็จิตเจตสิกรูป และอะไรเกิด ก็จิตเจตสิกรูป ชาติก่อนก็จิตเจตสิกรูป ชาตินี้ที่เกิดมาก็เป็นจิตเจตสิกรูป ชาติต่อไปก็เป็นจิตเจตสิกรูป เพราะฉะนั้นไม่ใช่นิพพาน นิพพานต้องเป็นภาวะที่ปัญญาเข้าใจความจริงที่เกิดดับ ในความไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ เริ่มคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะรู้ว่าไม่มีเรา พอไม่มีเราแล้วกิเลสจะลดน้อยลงไหม เพราะที่กิเลสมากๆ เพราะเราทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปัญหาของโลก ของประเทศ ของบ้านเมือง ของแม้ในครัวเรือน ก็คือเรา แต่ถ้าไม่มีเรา เป็นธรรม ฝนตก แดดออก น้ำท่วม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีการเดือดร้อน แต่เพราะเหตุว่ามีสภาพรู้ ซึ่งยับยั้งไม่ให้เกิดไม่ได้เลย เป็นธาตุที่ต้องรู้ ต่อเมื่อใดหมดปัจจัยที่จะทำให้ธาตุรู้เกิดขึ้น เมื่อนั้นคือ ปรินิพพาน ไม่มีอะไรเกิดอีกได้เลย เพราะดับเหตุที่จะให้เกิด ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของสังสารวัฏ สังสารวัฏคือสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ ไม่มีใครหยุดยั้งได้เลย

    เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า ดีหรือไม่ดี ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็ไม่รู้ บางคนเขาไปปฏิบัติ และเขากลัวจะถึงนิพพาน เพราะไม่รู้จริงๆ ความรู้กับความไม่รู้ตรงกันข้ามกัน เหมือนความมืดกับแสงสว่าง ถ้าไม่รู้จักไม่รู้จักนิพพาน จะถึงนิพพานได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ รู้จักแล้วบ้าง จะถึงได้ไหม

    ผู้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ จนกว่าปัญญาจะถึงระดับ ที่สามารถเห็นโทษของสังสารวัฎ

    ผู้ฟัง แสดงว่าน้อยคนที่จะได้ไปถึงนิพพาน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ ในครั้งนั้นเป็นกาลสมบัติ ก็ต้องมากกว่ากาลวิบัติ กาลสมบัติคือสมัยที่มีคนสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกมาพร้อม ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทั้งหมด เป็นธรรมที่มีจริงเป็นสัจจะเป็นความจริง เพราะฉะนั้นถ้ารู้แจ้งอริยสัจธรรม หมายความว่ารู้ความจริงของสิ่งที่เราได้ฟัง การเกิดดับประจักษ์แจ้งจริงๆ ด้วยปัญญา ทำให้บุคคลนั้นดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคล จึงเป็นอริยสัจธรรม แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสได้รู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร จากการที่คิดว่าพระธรรมง่าย ไม่มีอะไร พระองค์ก็แค่ให้ไปสำนักปฏิบัติ ให้ไปปฏิบัติ และก็รู้แจ้งในอริยสัจธรรม นั่นผิดเลย นั่นคือไม่รู้จักก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประมาทในพระปัญญาคุณ

    ผู้ฟัง สิ่งที่อาจารย์นำมาสอน มาจากพระไตรปิฎก เห็นท่านอาจารย์พูดหลายครั้ง

    ท่านอาจารย์ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำจริงหรือเปล่า และคำที่ได้ฟังเป็นคำจริงหรือเปล่า เป็นคำเดียวกับที่ได้ตรัสเรื่องความจริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตอนนี้ถ้าเราอยากจะรู้ว่า คำนั้นจริงหรือเปล่า เราก็ต้องไปดูในพระไตรปิฎกหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระไตรปิฏกพูดเรื่องอะไร เรื่องสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพูดซึ่งเดี๋ยวนี้ใช่ไหม พูดให้รู้ว่าสิ่งที่มี เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าไม่ใช่เรา แต่ความจริงเป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีจริงชั่วคราว ทุกคำเป็นคำจริง เพราะฉะนั้นก็ดูได้ แต่พระไตรปิฎกไม่ใช่สำหรับอ่าน สำหรับศึกษาโดยละเอียดยิ่ง โดยรอบรู้ โดยลึกซึ้ง

    ผู้ฟัง นี่ก็จะเป็นคำตอบหนึ่ง ที่ถามว่าจะได้ ก็คือได้คำสอนที่เป็นจริงของพระพุทธเจ้า ก็คือสิ่งที่เราผ่านมา ฟังมานั้นมันอาจจะผิด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นโป๊ดถึงอยากให้คุณติ๊ก ได้มาเจอสิ่งที่เป็นธรรมจริงๆ จากวิทยากร และจากท่านอาจารย์ในวันนี้

    ท่านอาจารย์ คุณโป๊ดเป็นเพื่อนที่ดีใช่ไหม เพื่อนที่ดีไม่ได้หมายความว่า พาไปเที่ยวสนุกสนาน ให้ได้ทรัพย์สมบัติ มากมายมหาศาล เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ทรัพย์ที่แท้จริง ไม่ใช่ของเราด้วย เพราะฉะนั้นทรัพย์สมบัติจริงๆ ทรัพย์หมายความถึง สิ่งที่ที่เป็นเครื่องปลื้มใจ ทำให้รู้สึกสบายใจ เวลามีทรัพย์แล้วก็รู้สึกอบอุ่นใช่ไหม ยังพอที่จะไม่เดือดร้อน หิวก็มีอาหาร อะไรก็ได้ใช่ไหม ต้องการทั้งหมด ก็คือว่าที่เราต้องการทรัพย์ เพราะเราต้องการรูป เสียง กลิ่น รส ในชีวิตประจำวัน มีตาเห็น มีหูได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีใจที่คิดนึก เราต้องการอื่นจากนี้หรือเปล่า ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้เอง ซึ่งมันไม่ใช่ของเราเลย เพราะไม่มีเรา และสิ่งนั้นก็ปรากฏเพียงชั่วคราว เพราะฉะนั้นทรัพย์ที่เหนือทรัพย์อื่นใดที่มีค่า เป็นเครื่องปลื้มใจอย่างยิ่งคือการได้รู้ความจริง ซึ่งไม่สามารถจะรู้เองได้เลย นอกจากธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ๔๕ พรรษา ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ศึกษาธรรมได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นภิกษุที่ไม่ศึกษาธรรม และก็ไม่ประพฤติตามพระวินัย ทำลายพระศาสนา

    ผู้ฟัง เราเรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าไป เราจะได้อะไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจกับไม่เข้าใจอะไรดีประโยชน์

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจถูก กับความไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง เข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ เป็นคำตอบหรือยัง และยิ่งเข้าใจประโยชน์จะยิ่งมากไหม เพราะไม่มีเราเห็นไหม แค่นี้ก็พ้นจากความเป็นเราทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ ขัด ค่อยๆ เกลา ค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย ความเป็นเรา เพราะความเป็นเราเป็นเหตุของอกุศลทั้งปวง ด้วยเหตุนี้การดับกิเลสต้องดับการยึดถือสภาพธรรม ที่หลงยึดถือสิ่งที่ไม่มี เพียงแค่เกิดดับว่าเป็นเรา และกิเลสเองก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง นานมากแล้วที่เราไม่รู้ว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นอยู่ดีๆ ทันทีเข้าห้องปฏิบัติแล้ว จะเป็นพระโสดาบัน ดับกิเลส และเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจคำว่าภาวนา ซึ่งหมายความว่าอบรมด้วยคุณความดี ไม่ใช่ให้ไปทำอกุศล แล้วก็ไปนั่ง ๗ วัน นุ่งขาวห่มขาวอย่างนั้นไม่ได้ขัดเกลาอะไรเลย มีแต่หวังทำอะไรก็ได้ แล้วก็ไปนั่ง แล้วก็เข้าใจว่าจะเป็นพระโสดาบัน จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล แน่นอน เพราะฉะนั้นวันหนึ่งอกุศลกับกุศลอะไรมากกว่ากัน เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าปัญญาความเห็นถูกกำลังเห็นถูก กำลังฟังค่อยๆ เข้าใจ ปัญญากำลังค่อยๆ เกิด ท่ามกลางอกุศล เห็นก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นอกุศล และได้ยินก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ก็เป็นอกุศลทั้งวัน เพราะฉะนั้นปัญญาที่เกิดในขณะที่เข้าใจ เป็นประโยชน์ไหม ประโยชน์ใหญ่หลวง ยิ่งกว่าที่คิด เพราะโดยมากเราคิดว่า แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไร แคบมาก แค่เราจะได้ประโยชน์อะไร แต่นี่ไม่มีเรา ประโยชน์มากกว่าไหม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สิ่งที่เลิศประเสริฐกว่าที่ใครสามารถจะให้ได้ เราจะได้รับของขวัญอะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง เพราะชั่วคราว หมดแล้วไม่เหลือเลยทั้งนั้น ทั้งชาติก่อนทรัพย์สมบัติ ชาติก่อน รวมกับทรัพย์สมบัติชาติก่อนๆ ๆ ๆ อยู่ไหน ไม่มีเลยสักนิดเดียว ทรัพย์สมบัติชาตินี้ก็เช่นเดียวกัน ที่เราหวังว่าจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง เพราะว่าไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ เพียงแค่เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ไม่เหลือทุกอย่างค่อยๆ เข้าใจ และปัญญา ภาวนาอบรมเพิ่มขึ้น ละคลายเพิ่มขึ้น วันหนึ่งก็จะเหมือนบุคคลในครั้งอดีต ที่ท่านสะสมมาแล้ว สามารถที่จะเข้าใจได้ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่านี่เป็นเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่ปฏิปัตติ ปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อปัญญานั้นอบรมมากขึ้น จากปฏิปัตติ ก็จะนำไปสู่ปฏิเวธ คือรู้ว่าสิ่งที่พูดได้ยินได้ฟังเป็นความจริงอย่างนั้นทุกอย่าง ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    17 ธ.ค. 2567