ปกิณณกธรรม ตอนที่ 962


    ตอนที่ ๙๖๒

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอากัปกิริยาทั้งหลาย ก็ติดตามมาก็เป็นปกติ เรียกว่าเป็นปกติของชีวิตของแต่ละคนในแต่ละชาติ เพราะฉะนั้นบางคน ก็นั่งสวย เดินสวย จะพูดก็งามไปหมด ก็เพราะเหตุว่าเขาก็คงไม่ใช่ เป็นคนที่ไปดัดไปทำให้เป็นอย่างนั้น แต่ปกติคุ้นเคยที่จะเป็น ก็เป็นความคุ้นเคย

    เพราะฉะนั้นความคุ้นเคยก็ต้องแก้ยากถ้าเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าจำเป็นแน่นอนที่จะต้องละ แต่อากัปกิริยาที่จะละเอียดไปจนถึงว่า เป็นความคุ้นเคย แสนนานมาแล้ว แม้แต่ที่เคยเป็นไส้เดือนไม่รู้ว่ากี่ชาติใช่ไหม ก็ยังเป็นอย่างนี้ได้

    ผู้ฟัง คือธรรม ซึ่งไม่เคยมีใครตั้งคำถามอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่ไม่เหมือนใคร เพราะฉะนั้นคำใดก็ตามที่ไม่เหมือนใคร ทุกคำเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ไม่ใช่คำของคนนี้หรือคนนั้นพูด แต่คำที่ไม่เหมือนใครในสังสารวัฎฏ์ ไม่เคยได้ยินเลยไม่เคยเข้าใจ คำนั้นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจริงๆ ธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก บางคนไม่คุ้นกับการที่จะสนทนา ถามตอบ เพราะว่าต้องคิดเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นบอก เขาคิด เขาเข้าใจ เขาพูด เขาตอบ แล้วเราเข้าใจหรือไม่ อย่างนี้จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าคนที่พูดให้คนอื่นฟัง แต่ไม่รู้ว่าคนฟังนี่เข้าใจหรือไม่ เรียกว่าเข้าใจแค่ไหน

    คำว่าโง่ก็มีในพระไตรปิฏก คนโง่คนเขลา คือคนที่ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นทุกคนโง่ใช่ไหม ภาษาบาลี ใช้คำว่าอวิชชา โง่ก็คือไม่รู้ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ เมื่อไหร่ที่สภาพธรรมนี้เกิดขึ้น ก็คือไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจในสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟัง แม้ว่ามีอยู่ทั้งวัน ก็ไม่เคยมีใครบอกว่านั่นแหละเป็นอะไร ไม่ใช่เราอย่างไร

    ด้วยเหตุนี้ ขณะการสนทนาธรรมมีประโยชน์เมื่อเข้าใจ ไม่ต้องกลัว หรือไม่ต้องคิดอะไรเลยทั้งสิ้น บางคนก็อาจจะพูดคำซึ่งไม่ถูกต้องเลย เช่น เวลาที่มีการสนทนา และก็มีการถามที่จะให้เข้าใจ ที่จะตอบกันให้ถูก เขาถามว่ากดดันไหม ใช้คำนี้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเป็นคนที่จะต้องตอบได้ แล้วมาถูกถามแล้วตอบไม่ได้ กดดัน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะทุกคนไม่รู้ แล้วก็ได้ยินได้ฟังคำซึ่งลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นเป็นปกติธรรมดา ที่มีการสนทนาก็คือว่าได้เข้าใจขึ้น การเข้าใจไม่ใช่กดดัน

    เพราะฉะนั้นจะใช้คำ ทางโลกกับทางธรรม เป็นการทำตามเหมือนที่เคยคือ โดยไม่รู้อะไร อย่างที่บอกว่าภาษาไม่แข็งแรง ภาษาผู้ป่วยไข้หรือ เป็นโรคอะไรต้องไปหาหมอหรือเปล่า แต่ก็พูดกันจริง ขอให้มีคนพูดสักคนหนึ่งเถอะ แล้วคนอื่นก็จะตามไปหมด จิตอาสา จิตไหนนะ อาสาอย่างไร ไหนแล้วบอกสิ แต่ก็ใช้กันไปธรรมดาเลยว่าจิตอาสา เพราะฉะนั้นมีคำว่ากดดัน ก็เลยมาคิดว่าการที่สนทนากัน ถามตอบเพื่อที่จะให้ไตร่ตรอง ให้เข้าใจ จนกระทั่งไม่ใช่เป็นคำที่คนอื่นบอก แต่เป็นคำที่เขาฟังแล้ว คิด ไตร่ตรอง จนกระทั่งมีความมั่นใจ ไม่ใช่กดดัน ถ้ากดดันหมายความว่าไปทำให้คนอื่นลำบาก แต่นี่ทำให้เข้าใจ จากการคิดของตัวเอง อยากคิดไหม ไม่อยากจะฟังแต่คนอื่นเขาพูด ก็เป็นความรู้ของเขา แต่ของตัวเองไม่คิดเลย เพียงแต่อ๋อเขาพูดแล้ว ก็จำแล้วก็อ้างด้วย คนนี้พูดมาอย่างนั้นคนนั้นพูดอย่างนี้ แล้วเราเข้าใจว่าอย่างไร ไม่พูดเลย

    ด้วยเหตุนี้ทุกคำต้องเป็นเรื่องตรง เรื่องจริงไม่ใช่เรื่องตามกันโดยที่ว่า ไม่เห็นจะถูกต้องเลย แต่ก็เหมือนว่าถูก และก็ตามๆ กันอย่างนั้นก็ไม่ใช่ความเข้าใจจริงๆ เพราะว่าพระธรรม ต้องเป็นเรื่องของความตรง พระธรรมฟังแล้วต้องเบิกบาน อาจหาญ ร่าเริง ในการที่ได้มีโอกาสได้รู้ความจริงของสิ่งที่มี ตลอดวันไม่เคยรู้มาเลย นี่แหละคือสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แค่นี้ก็ปลาบปลื้มแล้ว จากสิ่งที่มี และไม่มีใครรู้ได้ แต่มีผู้ที่สามารถรู้ได้ รู้ได้อย่างไร ก็ทรงแสดงความจริงให้คนอื่นได้รู้ด้วย ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ผู้ไม่รู้จะแสดงได้ไหม ก็ไม่ได้แต่เพราะเหตุว่าผู้นั้น ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงอย่างละเอียดยิ่งถึงที่สุดโดยประการทั้งปวง แค่นี้ก็นำมาซึ่งวันหนึ่งเมื่อฟังแล้ว เราก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็ไม่เห็นจะกดดันอะไร แต่ก็เริ่มจะมีคนเอาคำที่ทางโลกใช้มาใช้กับทางธรรม กดดันไหม ที่ถูกถามนี่กดดันไหม มาฟังธรรม กดดันไหม ไม่ใช่จะต้องไปตามใคร ฟังแล้วจากไม่เข้าใจ ได้ยินคำใหม่ๆ ได้เริ่มเข้าใจทีละคำ แม้แต่คำว่าธรรมมีความเข้าใจที่มั่นคง ธรรมในภาษาบาลี ภาษาบาลีไม่มีคำว่าสิ่งที่มีจริง เขาก็เลยใช้คำของเขา ที่เขาพูดกันว่า ธรรม สิ่งที่มีจริง แต่เรานี่ สิ่งที่มีจริงมีจริงไหม ก็มีจริง รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงหรือยัง ก็ยังไม่รู้ ก็คือต้องอาศัยการที่มีผู้รู้ความจริงในอีกภาษาหนึ่ง แต่คำแปลนอกจากตรงกันแล้ว ทุกคำบ่งถึงสิ่งที่มีจริง จะใช้คำว่าโลภะ จะใช้คำว่านันทิราคะ จะใช้คำว่าอาสา ทั้งหมดที่เราใช้ในภาษาไทยเป็นลักษณะแง่มุมต่างๆ ของสภาพธรรมที่มีจริง ที่ติดข้อง ลักษณะที่ติดข้อง พรุ่งนี้จะทำอะไร ติดข้องไหม ปีหน้าจะทำอะไร ติดข้องไหม หวังหรือเปล่า นั่นคือโลภะ เขาใช้คำว่าอาสาก็ได้ใช่ไหม

    นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราเข้าใจความจริงแล้ว เราก็จะรู้ว่าทั้งหมด ที่เราไม่เคยรู้ มีผู้ที่ทรงพระมหากรุณา ให้เราได้เข้าใจ ไม่ได้มากดดันให้เราต้องตอบเพื่อให้ต้องเข้าใจ แต่เป็นการเบิกบานที่จากไม่รู้ เป็นผู้ที่สามารถที่จะเริ่มรู้ถูกตามความเป็นจริง ฟังเท่าไรเข้าใจเท่าไหร่ก็รู้เท่านั้น ปลาบปลื้ม เบิกบาน อาจหาญ ร่าเริง ที่มีโอกาสได้รู้สิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน เพราะฉะนั้นต้องรู้จริงๆ ว่า ฟังเพื่อเข้าใจ ทุกคนที่ฟังก็เพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่พูดธรรมไม่ได้ต้องการให้คนฟังไม่เข้าใจ เสียดายเวลาใช่ไหม ตั้งมากมาย ยาวนานแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นแม้แต่เข้าใจสักนิดสักหน่อย ก็ยังดีกว่า ไม่รู้เลยว่าเข้าใจแค่ไหน เข้าใจมากน้อยไหม เพราะฉะนั้นการสนทนาธรรมเป็นมงคล ในมงคล ๓๘ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังธรรมอย่างเดียว ฟังธรรมก็เป็นมงคล ๑ ใน ๓๘ ก็ยังไม่พอ ยังมีสนทนาธรรมเป็นมงคลอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าถ้ายิ่งมีการสนทนากัน ก็ยิ่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ในครั้งพุทธกาล ณ พระวิหารเชตวัน มีผู้ที่ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถาม เห็น เที่ยงหรือไม่ ทำไมถาม ไม่บอกไปเลย อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครคิดอย่างนี้บ้าง พระมหากรุณาที่จะให้คนนั้นได้ไตร่ตรอง เพราะอะไรก็มีเห็นมิใช่หรือ ก็ต้องรู้ใช่ไหม ลองพิจารณ ลองคิด ว่า เห็น นี่เที่ยงไหม ขอให้เราเป็นฝ่ายที่ถูกถามเหมือนในครั้งพุทธกาล จะตอบว่าอย่างไร ไม่คิด คิดไม่เป็น คิดไม่ออก เห็นกำลังเห็น แล้วก็มีได้ยิน ได้ยินไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นเห็น เที่ยงไหม ไม่ได้เห็นตลอดวัน ไม่ได้เห็นตลอดเวลา แต่ไม่เคยคิดเลยว่า เห็นต้องเกิด ถ้าไม่เกิดไม่มีเห็นแน่นอน และเห็นจะเกิดตามใจชอบไม่ได้ ใครอยากจะเห็น แต่ไม่มีตา จักขุปสาท หมอคนไหนก็ไม่สามารถที่จะทำให้จักขุปสาทเกิดได้เลย เพราะรูปนี้ เกิดจากกรรม เป็นสิ่งซึ่งไม่เห็นกดดันเลย นอกจากเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่มีผู้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สนทนา พระองค์จะตรัสถาม จักขุวิญญาณ ภาษาบาลี คือเห็นเดี๋ยวนี้เที่ยงไหม ก็คิดบ้าง เหมือนคนในครั้งโน้น ที่กราบทูลตอบว่าไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ก็ต้องมีการไตร่ตรอง ไม่ใช่ว่าบอกไป บอกไป แล้วเขาจะเข้าใจแค่ไหน เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เข้าใจแค่ไหนไม่รู้ นั่นก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ก็คือว่า ให้ผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง

    เวลานานมากกับการที่จะเข้าใจธรรม ๑ ปีแรก ๒ ปีแรก ๓ ปีแรกสำหรับบางคน ยังไม่เข้าใจ แต่สำหรับคนที่สะสมมาแล้ว แค่ฟัง ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ตอบมาเพราะไตร่ตรอง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าประโยชน์อยู่ที่ผู้ฟัง ไม่ใช่ว่าผู้พูดสามารถที่จะไปทำให้เขาเข้าใจ ต้องเป็นการสะสมของเขาเอง เห็นประโยชน์จริงๆ ว่าแม้คำเดียว ที่เกิดจากความคิดของตนเอง ก็มั่นคงกว่าการที่จะไปให้เขาตอบ แล้วเราก็ไม่แน่ใจ เพราะเราไม่เคยคิด ได้ยินคำว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่อัตตากำลังทำหน้าที่ แทนที่จะเริ่มเข้าใจว่า แต่ละคนไม่มีใครที่จะต้องไปบังคับ เพียงแต่จะสนทนาไหม ถ้ามีคำถาม เพื่อคิดใช่ไหม ใครบ้างที่จะตอบโดยไม่คิด เพราะฉะนั้นตอบถูกเพราะคิดถูก ตอบผิดเพราะคิดผิด ก็จะได้สนทนาจนกระทั่งถูกต้อง น่าบันเทิง รื่นเริง ที่ได้มีการที่เบิกบานได้รู้ความจริง แทนที่จะคิดว่าเป็นการกดดัน แต่ไปนิยมใช้คำที่ใช้ต่างๆ กันมา โดยที่ว่าคนละเรื่อง ธรรมไม่ใช่เรื่องกดดันเลย ไม่มีใครบังคับใคร ให้มาอินเดีย อาจจะมีการชักชวน ทางตรงทางอ้อม เพื่อประโยชน์ แต่บังคับได้ไหม ถึงอย่างไรไม่มาก็ได้ ใช่ไหมแต่ที่มาก็เพราะอนัตตาใช่ไหม

    จึงต้องค่อยๆ เข้าใจในทุกสถานการณ์ว่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วเปลี่ยนไม่ได้ เพราะเป็นความจริงถึงที่สุด ใครจะเปลี่ยนพระวินัยได้ไหม เก่งกว่าหรือจึงลบล้างคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว แม้พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อทำสังคายนาพระอรหันต์ทั้งนั้นไม่เปลี่ยน แล้วเราเป็นใคร เป็นเรื่องที่ตรงกับความเป็นจริงที่จะต้องรู้ว่า บุคคลผู้เลิศประเสริฐที่สุด ซึ่งเป็นที่พึ่งของชาวโลกกี่จักรวาลก็ตามแต่ ไม่มีใครเปรียบได้ ก็คือผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง ตรัสรู้คือรู้จริงๆ แน่นอนประจักษ์แจ้งไม่เปลี่ยน เมื่อจริงอย่างนั้นแล้วจะเปลี่ยนได้อย่างไร อย่างเห็นเกิดนี้ ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีเห็น ใครเปลี่ยนได้ ว่าถึงเห็นไม่มีก็เห็น เป็นไปได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ถ้าได้ยินไม่เกิดก็ไม่มีได้ยิน มีใครบอกได้ยินไม่เกิดก็ยังได้ยิน ฝันเห็น เห็นหรือเปล่า ใช่ไหม เราใช้คำว่าฝันเห็น ชัดเจนอยู่แล้ว ฝันเห็นไม่ใช่เห็น เห็นเป็นเห็น ฝันเป็นฝัน เราสามารถที่จะคิดถึงพี่น้องเพื่อนฝูง ที่กรุงเทพฯได้ใช่ไหม ยังอยู่หรือตายไปแล้ว ยังไม่ได้ส่งข่าวมาเลย คิดเองต่างๆ นาๆ ใช่ไหม แต่ความจริงก็ต้องเป็นความจริง เพราะฉะนั้นคิดก็คือคิด จำก็คือจำ จำว่ามีบ้าน มีเพื่อน มีเรื่องราวต่างๆ แต่ความจริงเป็นอย่างที่จำรึไม่ หรือว่าเห็นแน่นอนว่า กำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ได้ยินก็แน่นอนว่า ต้องมีเสียง เสียงนั้นด้วยไม่ใช่เสียงอื่น ที่ปรากฏให้ได้ยิน ไม่ใช่ไปคิดเองจำเอง นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่เห็นพระคุณ เพราะถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนไม่รู้ก็ไม่รู้ตลอดไป จะรู้ได้อย่างไร

    อ.นภัทร จากการศึกษาที่ว่าจิตมี ๘๙ เจตสิกมี ๕๒ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดร่วมกับเจตสิก ที่มีความหลากหลายถึง ๘๙ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์มีจิตหรือไม่

    อ.นภัทร พระอรหันต์มีจิต

    ท่านอาจารย์ อยู่ใน ๘๙ หรือไม่ จิตทั้งหมดหลากหลาย สุดที่จะประมาณได้ แต่ละ ๑ แม้โลภะเกิดแล้วดับไม่กลับมาอีก เป็นโลภะอื่นต่อไป ไม่ซ้ำกันเลย จะไม่ใช่จิตเดิมจิตเดียวที่กลับมาเกิดอีกได้ เพราะฉะนั้นโลกนี้มีสัตว์โลกเท่าไหร่ นอกจากโลกมนุษย์ เทวโลก พรหมโลกเท่าไหร่ แค่มนุษย์ ในประเทศหนึ่งเท่าไหร่ ทั้งโลกเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจิต ๑ ขณะเกิดแล้วดับไม่กลับมาอีก จะมากมายมหาศาล ประมาณไม่ได้เลย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ประมวลประเภทของจิต ว่าแม้จะหลากหลายกันอย่างไรก็ประมวลเป็น ๘๙ ประเภท หรือโดยพิเศษที่ประกอบด้วยจิต ที่เป็นฌาณจิตก็ถึง ๑๒๐ ประเภท แล้วทั้งหมดไม่เว้นเลย จะต้องเป็นจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นวันนี้ที่นี่ มีพระอรหันต์ไหม

    อ.นภัทร ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมีจิตของพระอรหันต์มั้ย

    อ.นภัทร ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะไปมีจิตอย่างพระอรหันต์ได้ไหม

    อ.นภัทร ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในจิต ๘๙ แต่ละ ๑ คนมีไม่ครบ ๘๙ เพราะเหตุว่า ๘๙ นี้ทรงแสดงโดยไม่เหลือเลยทั้งจักรวาล

    อ.นภัทร ดังนั้นใน ๘๙ ก็คือเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง

    ท่านอาจารย์ แต่ละ ๑ ซึ่งจำแนกออกเป็นอกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ประเภท จะหลากหลายสักเท่าไหร่ อย่างไรๆ ก็ตาม กี่ภพกี่ชาติก็เป็นหนึ่งใน ๑๒ ประเภท แต่ไม่ใช่จิต ๑ เพราะว่าเกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีกใช่ไหม ในอกุศลทั้งหลาย โลภะมีเท่าไหร่ อกุศลมีแค่ ๑๒ แต่เกิดบ่อยมาก ถ้านับจำนวนขณะต้องมากกว่าทางฝ่ายกุศล แต่ว่าด้วยประเภทแล้ว อกุศลมี ๑๒ ประเภท อะไรบ้าง จะได้รู้จักเดี๋ยวนี้เลย

    อ.นภัทร อกุศลใช่ไหม โลภะ ๘ โมหะ ๒ โทสะ ๒

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม โลภะประเภทไหน ใน ๘ ประเภท ไม่ต้องรู้ นั่นคือคิด แต่ฟังทำไม ฟังเพื่อรู้ว่าไม่ใช่เรา บางครั้งโลภะอย่างนี้ บางครั้งโลภะอย่างนั้น แต่อย่างนี้หรืออย่างนั้น ก็แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ว่าโลภะที่ไม่มีความเห็นผิด เป็นแต่เพียงความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เป็นปกติธรรมดา เพราะโลกนี้เป็นโลกที่มีรูป เพราะฉะนั้นจะติดข้องในอะไร ก็ติดข้องในรูปที่มีแล้วไม่รู้ มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีเย็นร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นแม้รูปมีมากกว่านี้ แต่ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันมีเท่านี้ใช่ไหม ให้ค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงชื่อหลากหลายมาก แม้แต่รูปที่สามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้จริงๆ ในวันหนึ่งๆ เกินกว่า ๗ แต่ที่ปรากฏจริงๆ ให้รู้ได้ทั้งวัน แค่เพียง ๗ แล้ว แต่ขณะเห็นไม่ใช่เห็นเสียง ต้องเป็นรูปหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ๑ รูป ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่เรียกชื่อก็ได้ ไม่รู้จักก็ได้ แต่มีไหม สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เห็นไหม เริ่มมีปัญญา เริ่มเป็นปัญญาของตัวเอง ที่ไม่ใช่ไปจำชื่อมาตอบ แต่รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีไหม สิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อลืมตา มีแน่นอน เห็นแน่นอน เพราะฉะนั้นเมื่อมีเห็น ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น จะกล่าวว่าเห็น แต่ไม่มีสิ่งที่ถูกเห็นได้อย่างไร นี่คือเริ่มเข้าใจถูกต้องแล้ว บังคับให้เห็นเกิดได้ไหม ไม่ได้ ทั้งหมดคล้อยตามมาสู่ความเข้าใจความไม่ใช่เรา ความเป็นอนัตตาทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น รูปหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ รูปหนึ่งปรากฏให้ได้ยินได้ เช่นเสียง สำหรับคนที่ไม่มีหู ที่เป็นรูปพิเศษใช้คำว่า โสตปสาท โสตคือหู เพราะฉะนั้นโสตปสาทคือรูปที่กลางหู มองไม่เห็นเลย แต่รูปนี้สามารถกระทบเสียง ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่เสียงกระทบอะไร กระทบธาตุนี้ ใครพาเสียงมากระทบหรือไม่ ต้องพาเสียงมาให้ที่หูหรือเปล่า ถึงจะได้ได้ยิน เพราะฉะนั้นบางคนก็บอกเวลาเสียงมากระทบหูบ้าง อะไรบ้าง เหมือนกับเดินทางมา แต่ความจริง ทันทีที่กระทบก็เป็นปัจจัยก่อนที่จะดับ จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ยังไม่ดับ

    นับไปนับมาก็โลภะจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือประเภทหนึ่งไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย แต่มีความติดข้อง ในสิ่งที่ปรากฏ มีหรือไม่

    อ.นภัทร แต่โลภะที่ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะที่ทานข้าว และมีความยินดี มีความติดข้องในรสของอาหาร ในขณะนั้นจะเรียกว่าจะเห็นโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็น

    อ.นภัทร อย่างนั้นก็ยังไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพียงคิดถึง จากที่ได้ฟัง

    อ.นภัทร แล้วโลภะจริงๆ ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเราไม่สามารถที่จะเห็นได้

    ท่านอาจารย์ เรา ไม่ใช่ปัญญา

    อ.นภัทร เพราะฉะนั้นก็อย่างที่บอกว่า ก็ต้องมาจากขั้นปริยัติที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย และเป็นผู้ตรงๆ ว่านั่นคือเข้าใจจากฟัง เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าปริยัติ ปฏิปัติ ปฏิเวธ ถ้าไม่สับสน แต่ถ้าไม่ได้ยิน ๓ คำนี้ก็คิดว่านี่แหละที่กำลังเข้าใจคือการประจักษ์แจ้ง เพราะไม่เข้าใจเลย ไม่ใช่ตามลำดับ เป็นการประมาทพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนแค่นี้เรารู้ได้เลยประจักษ์เลย ตามที่พระองค์ได้ประจักษ์แจ้ง เป็นสิ่งที่ผิด เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจเลย ว่าขั้นฟังนี่ต้องเป็นผู้ตรง เห็นเกิดดับแล้ว ประจักษ์การเกิดดับหรือยัง

    อ.นภัทร ยังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่จะประจักษ์

    อ.นภัทร ต้องเป็นขั้นของวิปัสสนาญาณ

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไหร่จะเป็นวิปัสสนาญาณ

    อ.นภัทร ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ และอบรมเจริญปัญญาขณะไหน ที่จะประจักษ์ได้

    อ.นภัทร ก็ต้องเริ่มจากขั้นการฟัง ก็พิจารณา แล้วก็เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ขั้นนั้นเป็นขั้นไหน

    อ.นภัทร ยังเป็นขั้นปริยัติ

    ท่านอาจารย์ ยังเป็นขั้นปริยัติ เพราะฉะนั้นต้องรู้ความต่างกัน เมื่อฟังแล้ว สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด จะรู้ไหมว่าต่างกับปกติอย่างไรที่เป็นปริยัติ ไม่สามารถจะรู้ได้เลย ต่อเมื่อใดที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นจึงเกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ความต่าง

    คำที่ได้ยินในพระไตรปิฏก ถ้าคนที่ตื้นคิดว่าง่าย จะเข้าใจผิดทันที แต่ถ้าเป็นคนที่ละเอียด จะรู้ความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏด้วยดี ปรากฏดีไหม ทำไมให้คิดทำไมไม่ตอบ ทำไมไม่บอก เห็นไหม จะมีประโยชน์อะไรถ้าจะตอบตามพระไตรปิฏก แต่ว่าคิด แล้วก็ค่อยๆ เป็นความเข้าใจที่มั่นคง

    อ.นภัทร ท่านอาจารย์ถามว่าขณะนี้ เห็นปรากฎด้วยดีหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำว่าด้วยดี นี่หมายความว่าอย่างไร ใครไปทำให้ด้วยดีหรือ หรือสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้เลย แข็งอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ ปรากฏด้วยดีไหม ตอบอย่างจริงใจ ถ้าตอบถูกหมายความว่า เข้าใจธรรมว่า ด้วยดีคืออย่างไร และเพราะอะไร ต้องมีเหตุ แค่สองคำที่เพิ่ม "ด้วยดี" ต้องมีเหตุที่จะให้เป็นอย่างนั้น ลึกซึ้งไหม ไม่ใช่ผ่านไป ก็คิดว่า ปรากฏด้วยดีแล้ว ด้วยดีเป็นอย่างไร แค่คำธรรมดา แข็งก็เป็นแข็ง แข็งเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วปรากฏด้วยดี เป็นอย่างไร

    อ.นภัทร ปรากฏด้วยดีคือปรากฏตามลักษณะ ความเป็นปกติของสภาพธรรมนั้นๆ โดยไม่มีตัวเราเข้าไปจัดการ หรือว่าเข้าไปที่จะรู้ เพราะจิต และเจตสิกเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติของเขา นั่นคือปรากฏด้วยดี

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ปริยัติ หรือปฏิบัติ หรือปฏิเวธ

    อ.นภัทร เป็นปริยัติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ เมื่อมีปัจจัย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    13 พ.ย. 2567