ปกิณณกธรรม ตอนที่ 987


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๘๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมวินเทจ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

    วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เช่นได้ยินกับเสียง เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรมค่ะ

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ได้ยิน แล้วก็เสียงเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ได้ยินก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม แต่ได้ยินเป็นเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ได้ยิน ไม่เป็นเสียงค่ะ เสียงก็คือเสียง ได้ยินก็คือได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นเสียงกับได้ยินเนี่ย มีอะไรที่ต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่างกันค่ะ

    ท่านอาจารย์ ต่างกันยังไงคะ

    ผู้ฟัง เสียง เสียงก็คือรูป

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ทำไมใช้คำว่ารูป

    ผู้ฟัง ก็คือวันนี้มันมีเครื่องวัด

    ท่านอาจารย์ เนี่ยค่ะ เห็นไหมคะ

    ผู้ฟัง เครื่องวัดว่าเป็นกราฟอ่ะค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ นี่ค่ะ คือเรารวมกันหมดเลย ที่เราได้ฟังธรรม ที่เราได้ฟังเรื่องโน้นเรื่องนี้ ผสมกันออกมาใช่ไหมคะ ยังไม่ได้แยกว่าเวลาที่พูดถึงธรรมเนี่ย เราจะไม่มีเรื่องอื่นเลย คำที่เราใช้ของธรรมก็ต้องเป็นคำที่ไม่เปลี่ยน ใช้เฉพาะในเรื่องของธรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะแยกนะคะ เสียงกับได้ยินนี่ต่างกัน เพราะเสียงไม่รู้อะไรเลย ตัวเสียงน่ะเกิดขึ้นเป็นเสียงนั้น ไม่เป็นเสียงอื่น ตามเหตุตามปัจจัย เสียงดนตรีอย่างหนึ่ง เสียงลมพัดก็อีกอย่างหนึ่ง ตามเหตุตามปัจจัยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเสียงไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร ที่ไหน ยังไง ก็แค่มีการกระทบกันของวัตถุที่ต่างกัน ทำให้เสียงต่างกัน

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนเสียงที่ต่าง ให้ไม่ต่างได้มั้ย

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นตามปัจจัย สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้น เสียงเปียโน เสียงกลอง เสียง ขิม เสียงปี่พาทย์ ต่างกัน ตามสิ่งที่ทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้นนะคะ แต่ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ตาม บนสวรรค์ในนรก ที่ในน้ำ บนบก ประเทศนี้ ประเทศนั้น เสียงก็ยังคงเป็นเสียงที่เกิดขึ้น ตามเหตุ ที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แต่เสียงไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แล้วถ้าไม่มีได้ยิน เสียงจะปรากฎได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นได้ยินเท่านั้น ที่ทำให้เสียงปรากฏ เพราะได้ยินเสียง

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ได้ยินไม่ใช่ได้ยิน เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือแข็ง หรือรส แต่เฉพาะเสียงเดียวนี้มีจริงๆ นะคะ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรมค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ รู้อะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดนะคะ ซึ่งมีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำ ให้รู้ว่าหมายความถึงสิ่งนั้นแหละ คือรูปธรรม คนไทยก็เรียกสั้นๆ รูปธรรมนะคะ หมายความถึงสิ่งที่มีจริงจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นได้ยิน สิ่งใดๆ ก็ไม่ปรากฏ โลกจะมีได้มั้ย

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะปรากฎได้ไหมก็ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีสภาพรู้หรือธาตุรู้ เกิดขึ้นนะคะ เวลาที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงก็ปรากฏว่ามี เวลาเกิดขึ้นทางตาเห็นก็ปรากฏว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เวลาที่เกิดขึ้นนะคะ รสปรากฏเพราะธาตุรู้กำลังลิ้มรสนั้น รสนั้นก็ปรากฏ ถ้าไม่มีธาตุรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย

    ผู้ฟัง อ้อค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมจริงๆ สิ่งที่มีนะคะ ก็ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือรูปธรรมไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ถ้าไม่มีธาตุรู้ รูปธรรมหรืออะไรๆ ก็ปรากฏไม่ได้ว่ามี แต่ธาตุรู้ใครจะห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ รูปธรรมยังเกิดได้เป็นรูปธรรม นามธรรมก็เกิดได้เป็นนามธรรม โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถ ที่จะไปเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นเราเนี่ย รูปธรรมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่รู้อะไรเลย แต่นามธรรมเป็นธาตุรู้ เห็น ได้ยินได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก จำ ชอบ ไม่ชอบทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่รูปธรรมนะคะ เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ เข้าใจธรรมตั้งแต่ธรรม ปรมัตถธรรมเป็นอภิธรรมด้วยลึกซึ้งละเอียดอย่างยิ่ง ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ก็ไม่รู้ แล้วก็มีประเภทใหญ่ๆ ๒ อย่าง เพื่อละความเป็นเรานะคะ ให้รู้ว่านามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรมจนกว่าเมื่อไหร่ สภาพธรรมปรากฏอย่างนั้นจริงๆ นะคะ ก็คือว่าได้เข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ทรงเป็นใคร

    ผู้ฟัง ทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองอ่ะค่ะ

    ท่านอาจารย์ รู้อะไร

    ผู้ฟัง ตรัสรู้ทุกอย่างเลยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ มีใครเปรียบได้มั้ย

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกันสองพระองค์ได้มั้ย

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ในสากลจักรวาล จะมีได้เพียงพระองค์เดียว เห็นความลึกซึ้งไหมคะ ไม่มีใครสามารถที่จะเปรียบได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคำ ไม่ว่ากิเลสของใครมีมากน้อยเท่าไหร่ กุศลของใครมีมากน้อยเท่าไหร่ ปัญญาของใคร สะสมมาแล้วมีมากน้อยเท่าไหร่ แต่ละคำของพระองค์ แสดงกับผู้ที่สะสมมา ที่เค้าสามารถจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตาม รู้แจ้งความจริงนะคะ ตรงตามที่ได้ฟังทุกคำที่ได้ฟังนี่ค่ะ จนกว่าจะรู้แจ้งตรงตามที่ได้ฟัง ผู้นั้นเป็นสาวก ที่เป็นพระอริยสาวก เพราะเหตุว่าสามารถที่จะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นจึงมีพระรัตนตรัย พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ เพราะเหตุว่า เมื่อได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนะคะ ทรงแสดงธรรม ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวที่เราได้ฟังนี่เอง ตั้งแต่ต้นมานี่ค่ะ แต่ละคำ แต่ละคำ มาจากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ มากกว่าที่เราได้ยินมั้ย ลึกซึ้งจนกระทั่งผู้ฟังสามารถประจักษ์ ความจริงตรงตามที่ได้ฟัง ถึงการดับกิเลส คือหมดความสงสัย ในความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นการฟังก็ต้องตามลำดับขั้น จากการที่ไม่เคยฟังธรรมเลย ไม่รู้ฟังเรื่องอะไร กับการได้ฟังพระธรรม คือเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ จนกระทั่งเข้าใจเมื่อไหร่ เป็นปริยัติ หมายความว่าเป็นผู้ที่เริ่มฟัง และรอบรู้ในพระพุทธพจน์ ถ้ารอบรู้แล้วนะคะ ยังแทงตลอดหมายความว่า มั่นคงเป็นสัจจญาณไม่เปลี่ยน ธรรมคืออะไรคะ

    ผู้ฟัง ธรรมก็คือของจริงที่มีอยู่จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ มีมั้ย

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ นี่คือเริ่มใช่ไหมคะ ที่จะเข้าใจว่าธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าสามารถประจักษ์แจ้งธรรมไม่ใช่เรา เพราะได้ฟังมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย เพราะไม่ใช่เราซึ่งเป็นความไม่รู้ และความเห็นผิด จะไปสามารถละกิเลสได้ แต่ความเข้าใจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ละความไม่รู้ตรงนั้น และฟังอีกก็ค่อยๆ เข้าใจอีก ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้อีก เป็นเรื่องของปัญญาเท่านั้นค่ะ ที่จะสามารถรู้ความจริงว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร ทรงเป็นผู้ที่แสดงพระธรรมคือคำจริง หนทางที่จะทำให้ปัญญา ความรู้ถูก ความเห็นถูก ค่อยๆ เกิดขึ้น มั่นคงขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้นคำที่เคยพูดโดยความไม่รู้เนี่ย จะรู้เลยว่าผิด ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเมื่อมีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ คือธรรมที่สามารถจะนำไปสู่ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทำให้ผู้ฟังเนี่ยมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น คลายกิเลสจนรู้แจ้งสัจธรรมเป็นสาวก จึงพร้อมทั้ง ๓ คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ไปสำนักปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วสำนักคืออะไรเข้าใจมั้ย

    ผู้ฟัง สำนักก็คือสถานที่ๆ สำหรับไปปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัติคืออะไร

    ผู้ฟัง ปฏิบัติคือการแสดงออกซึ่งการกระทำ เป็นพฤติกรรมอ่ะค่ะ

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัติคือการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมนะคะ เห็นมั้ยว่าไปไหน รู้มั้ยว่าสำนักคืออะไร ปฏิบัติคืออะไร เพราะฉะนั้นถูกมั้ย

    ผู้ฟัง คือไม่ได้ไปคิดรายละเอียดมากค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ แค่ฟังธรรมต้องเป็นผู้ตรง ประโยชน์จากการฟังนะคะ ซึ่งจะติดตามไปถึงชาติหน้าซึ่งอาจจะเป็นพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นสามารถที่จะถอยกลับจากความเห็นผิด ไม่เข้าใกล้ความเห็นผิด เข้าไปแล้วก็ถอยกลับ มิฉะนั้นแล้วก็จะถลำนะคะ ผิดต่อไปเหมือนคนที่ลงเรือไปสู่ท่าอื่น ไม่มีทางที่จะไปถึงทางที่จะดับกิเลสได้เลย เพราะฉะนั้นความเป็นผู้ตรง กุศลทำให้กล้า เพราะเหตุว่าความถูกต้อง ต้องถูก เพราะเป็นความผิด จะเก็บไว้ทำไม มีประโยชน์อะไร เพื่ออะไร และพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ เป็นความจริงซึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่ใช่ว่าบอกให้เราทำ แต่ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าปฏิปัตติ ซึ่งคนไทยใช้คำว่าปฏิบัติ แล้วยังมีสำนักด้วยคืออะไร หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง ลงมือปฏิบัติสมาธิ

    ท่านอาจารย์ สมาธิคืออะไร

    ผู้ฟัง คือการทำให้จิตตั้งมั่น

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะ เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ แล้วทำได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เป็นเรา เราก็ต้องไม่เอาตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนค่ะ ที่ถ้าไม่ใช่เรา แล้วยังมีเราอีกเหรอคะ เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูกต้องมั่นคงขึ้นว่า ธรรมไม่ใช่เรา นี่ถึงจะเป็นการฟังธรรม เพื่อเข้าใจธรรมขึ้น เข้าใจธรรมขึ้น ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ไปฟังแล้ว ถ้าเป็นเราหรือยังเป็นเราอยู่ ก็คือว่าไม่ได้เข้าใจว่าธรรมไม่ใช่เรา ไม่มีทางที่ธรรมหนึ่งธรรมใดจะเป็นเราได้ ก่อนเห็นไม่มีเห็น มีเรามั้ย แล้วพอเห็นแล้วเป็นเรามั้ย

    ผู้ฟัง ไม่เป็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ความจริงในขณะเห็นนี้ไม่รู้ ก็เป็นเราใช่มั้ยคะ แล้วเห็นก็หมดไป แล้วเราอยู่ไหน เพราะฉะนั้นฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ฟังเผิน รู้ละเข้าใจละ ไม่พอ ต้องเป็นผู้ตรงที่จะมั่นคงในความถูกต้อง ต่อไปเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังขั้นต้นต้องมั่นคงจริงๆ และการได้ฟัง และความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อละคลายความเป็นเรา พระโพธิสัตว์มั่นคงว่า ขณะนี้มีสิ่งซึ่งใครก็ไม่รู้ แต่ทุกคนก็เกิดมาแล้วก็ตายไปให้เห็น เกิดมาแล้วก็ป่วยเจ็บให้เห็น เกิดแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย ให้เห็น เพราะฉะนั้นความจริงของสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงน่ะคืออะไร จะเป็นเราได้ยังไง ในเมื่อเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ เปลี่ยนไปแล้วไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจ ของแต่ละคนเนี่ยนะคะ ก็คือว่า ค่อยๆ มั่นคงขึ้นว่า สิ่งที่ถูกหรือเปล่า ถ้าถูกก็ต้องถูก ถ้าไม่เข้าใจว่าถูกหรือเปล่า ก็ฟังจนกระทั่งมีความมั่นใจขึ้น ว่าเป็นสิ่งซึ่งต้องเป็นอย่างนี้แน่นอนเปลี่ยนไม่ได้ มิฉะนั้นการฟังนะคะ ก็คือว่า ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่สามารถที่จะรู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ อะไรถูก อะไรผิด เพราะว่าถูกเปลี่ยนเป็นผิดไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นเท็จไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่ที่เราไปปฏิบัติธรรมเนี่ยนะฮะ ตามสำนักต่างๆ เนี่ยนะฮะ เพราะเราไปเนี่ยก็เพื่อให้เราเกิดปัญญารู้ซึ้งถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคืออะไรก่อน

    ผู้ฟัง ปัญญาก็คือความรู้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าเห็นผิดจากความเป็นจริงของสิ่งนั้น ชื่อว่าปัญญาหรือปล่าว

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องมั่นคงนะคะ ปัญญาเป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปัญญาก็ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ใครทำให้ปัญญาเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่จะมีปัญญา คือความเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้ยังไง

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นเอง จะเกิดขึ้นตามเหตุ และประจักษ์แจ้ง

    ท่านอาจารย์ คืออะไรคะ เหตุปัจจัยนั้น ถ้าหาเหตุปัจจัยไม่ได้ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญญาคืออะไร ต้องมี ถ้าไม่มีปัญญาก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็การที่เราไปนั่งสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปัญญาคือความรู้ความเข้าใจสิ่งที่มีจริง จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ตามความเป็นจริงได้ ต้องอาศัยอะไร จึงจะเข้าใจได้ เห็นไหมคะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร ตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมที่จะให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริง เพื่อที่จะรู้อย่างที่พระองค์ได้ตรัสรู้ และดับกิเลส ไม่ใช่เราไปทำปัญญาให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีความเข้าใจคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้ได้มั้ยว่าที่ได้ฟังนั้นน่ะ เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็แสดงอยู่ในพระไตรปิฏกหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ คำสอนทั้งหมด ๔๕ พรรษานะคะ ประมวลไว้เป็น ๓ ปิฏก ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงโดยละเอียดโดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง โดยไม่ต้องมีคำของคนอื่นเลย เพราะคนอื่นไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนพูดตามความเป็นจริง จากพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสไว้เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง เพราะไม่สามารถจะรู้เองได้ ฟังคำของคนอื่น เขาก็ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงความจริง ของสิ่งที่พิสูจน์ได้แม้เดี๋ยวนี้ค่ะ ธรรมของพระองค์ไม่ว่าใครจะกล่าวนะคะ เมื่อเป็นคำจริงก็เป็นคำของพระองค์ แต่ต้องเป็นคำจริงที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ให้ไม่รู้ มีใครเป็นที่พึ่งคะ

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าน่ะคะ เป็นที่พึ่ง

    ท่านอาจารย์ พระรัตนตรัยใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ฟังคำของพระองค์เลย พึ่งหรือเปล่า พึ่งพระองค์หรือเปล่า เพียงแต่คิดว่าพึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ฟังธรรมของพระองค์เลย พึ่งพระองค์เปล่า พึ่งยังไง ถ้าไม่ฟังคำของพระองค์

    ผู้ฟัง แล้วอย่างคำของพระองค์เนี่ยก็จารึกอยู่ในพระไตรปิฎกมั้ยคะ ค่ะ ตอนนี้ว่าทางพระสงฆ์นี้ก็ศึกษาพระไตรปิฏกมา

    ท่านอาจารย์ ไม่พูดถึงใครเลยทั้งสิ้นค่ะ เพราะว่าผู้ที่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใครก็ได้ ในสมัยพุทธกาลนะคะ มีทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระภิกษุที่ไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลก็มี อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นพระอริยบุคคลก็มี เพราะเข้าใจธรรม เพราะปัญญา ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง คำสอนทุกคำพูดถึงสิ่งที่มีจริงให้มีความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ได้ฟังพระธรรม สามารถที่จะรู้ความจริง รู้ว่าตัวเองเนี่ยสะสมมาที่จะเข้าใจธรรมในเพศคฤหัสถ์ อบรมเจริญปัญญา อย่างพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระอรหันต์ก่อนที่จะสวรรคต ท่านอนาถบิณฑกะมหาเศรษฐี ผู้สร้างพระวิหารเชตวัน จิตตคฤหบดีเป็นอุบาสกไม่ได้บวชเลย และสาวกอื่นๆ นะคะ ก็ถึงความเป็นพระโสดาบัน พระสกกะทาคามี พระอนาคามี ต่อเมื่อไหร่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นก็ละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ไม่จำกัดเลยว่าเป็นใคร ไม่ได้เฉพาะภิกษุเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่นั่นมันสมัยพุทธกาลนะคะ สมัยนี้

    ท่านอาจารย์ สมัยไหนก็เหมือนกัน นะคะ ความจริงเปลี่ยนมั้ย

    ผู้ฟัง ความจริงไม่เปลี่ยนค่ะ

    ท่านอาจารย์ ความจริงไม่เปลี่ยน

    ผู้ฟัง แต่ว่าความรู้ที่จะให้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความรู้นะคะ ใครก็ตามศึกษาไม่จำกัดว่าใคร เข้าใจได้มั้ย ถ้าศึกษาด้วยความตรง ด้วยความเคารพ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความรอบคอบ ด้วยความลึกซึ้ง สามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้ เป็นปัญญาของผู้นั้นเองค่ะ มาจากคำสอนจึงมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คือมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่ง เพราะพระองค์ทรงแสดงพระธรรม ทุกคำของพระองค์ ทำให้ปัญญาเกิด จนกระทั่งสาวกผู้ฟังเนี่ย สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นพรหมก็ได้ เป็นเทพธิดา เทพบุตร ในสวรรค์ก็ได้ เป็นมนุษย์ก็ได้ ชายก็ได้ หญิงก็ได้ เด็กก็ได้ //ท่านทัพมัลลบุตรเป็นพระอรหันต์เมื่ออายุ ๗ ขวบ ไม่มีการจำกัดเลยค่ะ แล้วแต่ปัญญาที่ได้สะสม สมควรที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมเมื่อไหร่ ใครก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาอย่างนั้น ใครจะไปทำสักเท่าไหร่ ก็ให้ปัญญานั้นเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง และเราจะมีปัญญาได้ยังไงล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ฟังคำจริง พูดถึงสิ่งที่มีจริง รู้ว่าคำนั้นใครตรัส อย่างคำว่าธรรมเนี่ยค่ะ

    ผู้ฟัง อันนี้เราต้องไปศึกษาในไหนคะ

    ท่านอาจารย์ พระไตรปิฎกทั้งหมดเลย

    ผู้ฟัง ทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดนี้มาจากพระไตรปิฏก ทุกคำมาจากคำสอนใน ๔๕ พรรษา เพราะเป็นคำจริง พระพุทธเจ้าพูดเรื่องตาหรือเปล่าคะ พูดเรื่องหูหรือเปล่า พูดเรื่องจมูก พูดเรื่องลิ้นพูดเรื่องกาย พูดเรื่องใจ พูดเรื่องสุข พูดเรื่องทุกข์ พูดเรื่องโกรธ พูดเรื่องมานะความสำคัญตน พระพุทธเจ้าตรัสไว้หรือเปล่า ถ้ามีจริง พระองค์ตรัสจะรู้หรือเปล่า เมื่อตรัสรู้แล้วทรงแสดงความจริงนั้นหรือเปล่า เมื่อรู้สิ่งที่มีจริง แล้วก็แสดงความจริงใครที่สามารถจะเข้าใจ ก็เข้าใจความจริงซึ่งเป็นจริงทุกกาลสมัย อย่างเห็นนะคะ เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี เห็นก็ต้องเป็นเห็น ได้ยินก็ต้องเป็นได้ยิน โกรธก็ต้องเป็นโกรธ สำคัญตนก็ต้องเป็นความสำคัญตน อิสสาก็ต้องเป็นอิสสา เป็นธรรมทั้งหมดนี่ค่ะ ไม่ใช่ใครเลยสักคนเดียว ถ้าไม่มีธรรมเกิด จะมีเรามั้ย แต่เมื่อมีธรรมเกิดขึ้นเพราะไม่รู้ จึงเข้าใจว่าธรรมนั้นเป็นเรา โดยไม่รู้ว่าตามความเป็นจริง ก็คือว่าไม่มีใครไปทำให้ธรรมเกิดได้เลย แต่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป โดยไม่มีใครรู้ จนกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ จากการที่ทรงได้บำเพ็ญพระบารมีนะคะ คือความเพียรซึ่งยากยิ่ง ที่สามารถจะค่อยๆ ละคลายความเห็นแก่ตัว หรือความเป็นตัวตน จนกระทั่งเครื่องที่กั้นปิดบัง ค่อยๆ น้อยลง คลายลงไป สภาพธรรมจึงปรากฏกับปัญญาที่อบรมแล้วค่ะ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ไปนั่งทำ แต่เข้าใจว่าปฏิบัติแต่ไม่มีปัญญา และไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งด้วย เพราะไม่ได้ฟังคำของพระองค์

    ผู้ฟัง แล้วอย่างที่พระสงฆ์ที่ปฏิบัติ แล้วได้ญาณ ได้ฌานอะไรเนี่ยล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เอาละค่ะ พระสงฆ์คือใคร

    ผู้ฟัง สาวกของพระพุทธเจ้าน่ะคะ

    ท่านอาจารย์ พระสงฆ์สาวก หมายความถึงพระอริยะบุคคลค่ะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่ภิกษุบุคคล ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง บวชเป็นภิกษุไม่ใช่บวชเป็นสงฆ์ เพราะว่าภิกษุบุคคลแต่ละ๑ แต่ละ ๑ จะดีจะชั่วยังไง ไม่เกี่ยวกับหมู่คณะ เกี่ยวกับแต่ละ ๑ บุคคล แต่เมื่อเป็นหมู่คณะใช้คำว่าสงฆ์ หรือสังฆะ คำนี้ใช้ทั่วไปนะคะ ฝูงปลวกฝูงมดรวมๆ กันก็เป็นสังฆะเป็นหมู่เป็นคณะทั้งนั้น เพราะฉะนั้นภิกษุสงฆ์ ไม่ได้หมายความถึงภิกษุบุคคล แต่หมายความถึงหมู่ของภิกษุ ซึ่งรวมกันเป็นคณะ ที่จะทำสังฆกรรม คือกิจของสงฆ์ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่า อะไรเป็นกิจที่ภิกษุบุคคลทำไม่ได้ ต้องเป็นคณะสงฆ์รวมกันทำได้ เช่นการบวช ใครจะเที่ยวไปบวชให้ใครไม่ได้ แต่ว่าเมื่อใครจะอุปสมบทจะต้องมีพระภิกษุกี่รูป และภิกษุเหล่านั้นมีคุณสมบัติถึง ความที่จะให้บวชได้มั้ย ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้อะไรเลยทั้งสิ้น ให้เขาบวชแล้วเขาจะรู้อะไร ก็เหมือนคนที่ไม่รู้นั่นแหละ แล้วจะเป็นสาวกเป็นผู้สอนคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมนะคะ มีอะไรเป็นที่พึ่ง ทุกคน พระรัตนตรัย ไม่ได้เจาะจงว่าบุคคลนี้หรือบุคคลนั้น แม้แต่พระผู้มีพระภาคใกล้จะปรินิพพานนะคะ มีผู้ที่ไปทูลถามว่าจะส่งมอบให้ใครเป็นศาสดาแทนพระองค์ ทรงตรัสว่าธรรมมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดเลย ใครก็จะเป็นศาสดาไม่ได้นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้แต่คำว่าธรรม ความลึกซึ้งอยู่ที่ตัวธรรม แล้วแต่ละคำเนี่ยลึกซึ้ง เพราะพูดถึงธรรม ให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นลึกซึ้งไหมคะ ในเมื่อเกิดมาก็เป็นเรา เห็นก็เป็นเรา ได้ยินก็เป็นเรา อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นเรา กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    20 ก.ค. 2567