ปกิณณกธรรม ตอนที่ 991


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๙๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมวินเทจ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

    วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ และจิตที่ได้ยินเนี่ย เราเรียกว่าจิตได้ยิน เกิดขึ้นทำกิจได้ยินเสียง ไม่ทำกิจอื่นเลยค่ะ ไม่หลับ ไม่คิด ไม่อะไรหมด แค่เกิดได้ยินแล้วดับ เราอยู่ที่ไหน แล้วก็ดับไปหมดแล้วด้วย แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นก็ยึดถือสิ่งที่ไม่มีหมดแล้วอย่างมั่นคงว่ายังมี นี่คือความไม่รู้ว่ามากมายสักแค่ไหน กว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น แล้วจะไปสำนักปฏิบัติไหมคะอย่างนี้ เห็นไหมคะ สำนักปฏิบัติทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ต้องเป็นผู้ที่ตรง คำสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการพูดถึงให้เข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ให้ทำ ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนนั้นจะไม่เกิดปัญญาของตัวเองเลย เพราะฉะนั้นมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่จะไม่หลงผิด มีความเข้าใจที่มั่นคงถูกต้อง เพราะแม้แต่คำว่าหลับเนี่ย ก็เข้าใจได้ไม่ใช่เราเลย บังคับได้ไหมคะ ไม่ได้ แล้วไม่ให้ตื่นได้มั้ย ให้ตื่นเวลานั้นเวลานี้ได้มั้ย ก็ไม่ได้ ทั้งหมดเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าตื่นเวลานั้นบ่อยๆ ชักจะตื่นเวลานั้น เห็นมั้ยคะ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นหลับจิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้มั้ยคะ ต่อไปนี้เราจะใช้อีกคำหนึ่งคือคำว่าอารมณ หรือภาษาไทยใช้คำว่าอารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดว่าสิ่งที่ถูกจิตรู้ นี่ยาวหลายคำ แล้วก็ไม่ใช่ภาษาบาลีนะคะเพราะฉะนั้นเราก็เริ่มเรียนภาษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอน ชาวมคธี ชาวมคธเนี่ยด้วยภาษามคธี แล้วก็ค่อยๆ เรียนภาษาบาลี ให้ถูกต้องทีละคำสองคำ ถ้าเรียนบาลีจริงๆ นะคะ ที่จะให้สามารถแปลได้นี่ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี ถ้าจะให้เป็นผู้ที่รอบรู้จริงๆ แต่แค่รู้คำ

    เพราะฉะนั้นคนที่รู้ภาษาบาลี ไม่เข้าใจธรรม แต่ต้องศึกษาธรรมด้วยนะคะ เมื่อศึกษาธรรมแล้ว ผู้ที่รู้ภาษาบาลี เนี่ยจะรู้ความลึกซึ้งของคำด้วย ในขณะผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี เข้าใจธรรม แต่ไม่สามารถที่จะรู้ ความลึกซึ้งของคำ เช่น ปัญญัติ รู้ได้โดยอาการนั้นๆ ใช่ไหมฮะ แล้วก็บอกอ๋อ พอเห็นแล้วก็บัญญัติ แล้วก็ตามคำไปเลย หมายความว่ารู้ได้โดยอาการ อ้อเห็นแล้วก็บัญญัติดอกไม้ เห็นแล้วก็โต๊ะ เพราะฉะนั้นเห็นแล้วก็มีบัญญัติ รู้บัญญัติ แต่ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็คือว่ารู้ได้โดยอาการนั้น ไม่ว่าจะเห็น หรือได้ยิน ได้ยินก็รู้ได้โดยอาการของเสียงนั้นๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจึงสามารถรู้ว่าเสียงนั้นน่ะ หมายถึงคำอะไร ความหมายอะไร นี่ค่ะก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นความละเอียดนะคะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต้องศึกษาเพื่อเข้าใจค่ะ ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่คำหนึ่งคำใด หรืออยากจะรู้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้นะคะ มีภาษาบาลี ๑ คำ คืออารัมมณะ หรือบางครั้งใช้คำว่าอ่านอาลัมพนะ ความหมายอย่างเดียวกันนะคะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ จะมีความหมายความแปลอีกหลายนัย ลึกซึ้ง แต่ว่าแค่นัยยะเดียว ก็ให้เข้าใจให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเราไม่ใช่ เป็นนักภาษาที่เพียงรู้ภาษา แต่อาศัยภาษาเข้าใจธรรม นี่ต่างกันแล้วใช่ไหมคะ ค่ะ เพราะฉะนั้นขณะที่หลับ ไม่ใช่เห็น ไม่ได้ทำทัสนกิจ ไม่ได้ยิน ภาษาบาลีใช้คำว่าสวนะ ฟังนี่นะคะ สวนกิจ

    เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังหลับ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่จิตเกิดขึ้นต้องทำหน้าที่ เกิดเปล่าๆ ไม่ได้เลยค่ะ หน้าที่ ๑ หน้าที่ใด ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ก็ทำภวังค์กิจ ภวกับอังคะ อังคะคือองค์ ภวคือภพ เพราะฉะนั้น ที่ทำให้ภพชาติยังมีอยู่ ยังไม่หมดสิ้นไป ก็คือจิตนี้แหละซึ่งเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติเป็นภวังค์ จนกว่าจะตื่นแต่ไม่ตาย ถ้าตายต้องเป็นอีกจิตหนึ่ง ที่ไม่ได้ดำรงภพชาติ นี่คือความละเอียดอย่างยิ่งนะคะ ซึ่งเกิดมาก็ไม่เคยรู้ จนกว่าจะได้ฟังเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น แล้วก็จะเห็นคุณค่าว่าจะเข้าใจได้มากกว่านี้อีก จนกระทั่งสามารถรู้ความจริงอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว นี่ก็คือประโยชน์ของการที่มีโอกาสได้ฟังธรรม แล้วก็ไม่ประมาทที่จะเข้าใจนะคะ แต่ละคำ อย่างคำว่าจิต ธาตุรู้ มีหลากหลาย จิตเกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้นกิจแรกคือปฏิสนธิจิต หมายความว่าอะไรคะปฏิสนธิ ปฏิแปลว่าเฉพาะ สันธิแปลว่าสืบต่อ จิตนี้เกิดสืบต่อจากจุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน ไม่ไปเกิดต่อจากจิตไหนเลยทั้งสิ้น เกิดได้เฉพาะต่อจากจุติจิตของชาติก่อน คือทันทีที่จุติจิตของชาติก่อน ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นบุคคลนี้ ต่อไปอีกไม่ได้เลยนะคะ กรรมหนึ่งในสังสารวัฎฏ์ อย่าลืมนะคะ มากมายมหาศาลเลือกไม่ได้เลย แต่ถึงเวลาพร้อมที่จะทำปฏิสนธิกิจ เป็นปัจจัยให้จิตก่อนตายเนี่ย เศร้าหมองเป็นอกุศล หรือผ่องใสในอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งไม่มีใครไปเลือกหรือไปทำให้เกิดขึ้น เห็นไหมคะ กรรมที่ได้ทำแล้วเจตนาเกิดแล้วดับแล้ว แต่แรงของเจตนาเนี่ย สามารถที่จะทำให้จิตประเภทที่เป็นผลของกรรมเกิดรู้ทางตาเห็น ทางหู ได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตเหล่านี้ทั้งหมด เป็นผลของกรรม ภาษาบาลีใช้คำว่า วิปากะ หมายความว่าพร้อมที่จะให้เกิดเห็น แต่ยังมีนะคะ กรรมอื่นอีกเยอะแยะ ยังไม่พร้อมที่จะให้เกิดเห็น ก็ยังไม่ทำให้เห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นเลือกไม่ได้ว่า จะเห็นอะไร เห็นที่ไหน เพราะว่าต้องแล้วแต่กรรม จะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็แล้วแต่กรรม เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็แล้วแต่กรรม ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ก็แล้วแต่กรรม ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ก็แล้วแต่กรรม

    ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ นะคะ จะเดือดร้อนมั้ย ก็ไม่เดือดร้อน แค่ ๑ ขณะจิตสั้นแสนสั้นเท่านั้นเอง จะสุขสักเท่าไร ก็ ๑ ขณะจิต ทุกข์สักเท่าไหร่ก็ ๑ ขณะ จิตยั่งยืนไม่ได้ เที่ยงไม่ได้ เป็นอย่างนั้นต่อไปไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้นะคะ ไม่เดือดร้อนเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้น เป็นความเห็นที่ถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา เพราะฉะนั้นแต่ละคำของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่คะ ทำให้สงบจากความไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลเหตุของอกุศลทุกประเภท ถ้ารู้แล้วจะเป็นอกุศลไม่ได้สักประเภทเดียว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าศึกษาต้องเข้าใจความจริงนะคะ นี่เป็นอภิธรรมแล้วเป็นธรรมด้วยหรือเปล่า ก็ธรรมนั่นแหละ แต่ละเอียดขึ้น จึงเป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้นอารัมณะ หรืออารมณ์ในภาษาไทย หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เดี๋ยวนี้มีมั้ย มี และเดี๋ยวนี้มีจิตมั้ย มี จิตเกิดขึ้นไม่รู้อารมณ์ได้มั้ย ไม่ได้ นี่ค่ะคือเริ่มเข้าใจธรรม เริ่มมั่นคงว่าไม่ใช่ไปทำ จะไปทำอะไรโดยความไม่รู้ เนี่ย ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย พระองค์ไม่ได้สอนให้ใครทำ แต่ให้ปัญญาซึ่งไม่เคยเกิด ได้เกิด และเริ่มเจริญขึ้น จนสามารถจะรู้ความจริง อย่างที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ จึงจะเป็นสาวกคือผู้ฟัง จึงจะเป็นชาวพุทธ เพราะรู้จักพุทธศาสนา

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ และอาจารย์วิทยากร การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์เนี่ย ต้องเป็นกุศลเป็นปัจจัยให้ได้มาเกิด ได้อัตภาพที่เป็นมนุษย์ ที่ไม่พิการนะคะ

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดมามาเป็นมนุษย์เนี่ย เป็นผลของจิตที่ดี กุศลดีงามไม่นำความทุกข์มาให้เลยนะคะ เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต และเจตสิกซึ่งเป็นผล เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นอะไร ภาษาไทยธรรมดากับผลของกรรมดี เพราะฉะนั้นตัวผลของกรรมดีเนี่ยนะคะ ผลนั้นเป็นจิต และเจตสิกที่เกิดเพราะเหตุที่ดี แต่เพราะการเกิดไม่ใช่ตัวเหตุ แต่เป็นตัวผล จึงเป็นกุศลวิบาก ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็ดับไป และก็เป็นภวังค์สืบต่อ จะมีปฏิสนธิจิต ๒ ๓ ขณะในชาติหนึ่งได้มั้ย

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นชาติหนึ่ง มีปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดสืบต่อ เป็นจิตประเภทเดียวกันเลย เหมือนกันเลยกับปฏิสนธิจิต เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แต่เพราะไม่ได้ทำกิจสืบต่อจากชาติก่อน จึงไม่ใช่ปฏิสนธิจิต

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ จิตขณะแรกของชาตินี้ที่เกิดมา ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ต้องมีจิตขณะแรกที่เกิด จิตนั้นเป็นชาติวิบาก จิตมี ๔ ชาติ ชาตินะคะ คือเกิดเป็นกุศล ๑ เรียกว่าเกิดเป็นอกุศล ๑ ทั้งสองอย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต จิตที่เป็นผลต้องมาจากประเภทเดียวกัน คือจิตเป็นธาตุรู้ผลก็ต้องเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นจิตเป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นผลของเหตุ ก็ต้องเป็นจิตที่รู้เป็นวิบาก ถ้าเหตุดีเป็นกุศลจิตที่เกิดรู้อารมณ์ จิตทั้งหมดต้องรู้อารมณ์ ไม่ว่าเหตุหรือผล หรืออะไรต่างๆ ถ้าเป็นจิตแล้วต้องรู้อารมณ์ก็ต้องรู้สิ่งที่ดี เพราะเป็นผลของเหตุที่ดี เพราะฉะนั้น ๑ ขณะแรกที่เกิดขึ้น ๑ ขณะสั้นแค่ไหน บังคับบัญชาได้มั้ย บอกให้จิตนี้เกิด จิตนั้นเกิดทำปฏิสนธิได้มั้ย ไม่งั้นเดี๋ยวทุกคนเลือกกันใหญ่เลย จะให้จิตไหนทำกิจปฏิสนธิใช่ไหมคะ เอาจิตดีๆ ใช่ไหมคะ แต่เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ ถึงแม้จะทำกรรมดีไว้เป็นถึงพระโพธิสัตว์ พระมหาสัตว์ที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กรรมก็ยังให้ผล บางพระชาติเป็นนก บางพระชาติเป็นช้าง บางพระชาติเป็นลิง เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถที่จะทำให้ ปฏิสนธิจิตเกิดตามใจชอบ แต่กรรมใดก็ตามนะคะ พร้อมที่จะให้ผล จึงสามารถให้ผลได้ เพราะเหตุว่ากรรมมีเยอะมาก นับไม่ถ้วนเลย เมื่อเช้านี้ก็มีตั้งหลายขณะจิตใช่ไหมคะ กุศลกรรมอกุศลกรรมก็แล้วแต่ และก็สะสมสืบต่อ รวมถึงชาติก่อนๆ นั้นด้วย ไม่รู้ว่ากรรมไหนจะให้ผลเมื่อไหร่ และทางไหน เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงไว้ว่า กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด เมื่อทำแล้วนะคะ ก็ไม่รู้ว่าจะให้ผลเมื่อไร เวลาที่ผลเกิดก็ไม่รู้นี่มาจากกรรมอะไร จริงไหมคะ แต่ก็เหตุกับผลต้องตรงกัน เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล เพราะฉะนั้นตราบใดที่มีกรรม ก็ต้องมีผลของกรรม เพราะฉะนั้นกรรมที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นกรรมหนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะให้เป็นคนอย่างนี้แหละ ยังไม่พอนะคะ เกิดแล้วกรรมอื่นยังพร้อมที่จะให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้างอีก แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผลอย่างไร แต่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้น เป็นชนกกรรม ชนกที่เราเรียกว่าพ่อ ชนกะคือเป็นกรรมที่ทำให้วิบากจิตทำปฏิสนธิกิจ เป็นแต่ละ ๑ ๑ ขณะหนึ่งเดียว หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ทีละ ๑ ขณะ จิตประเภทเดียวกันเลย เดี๋ยวนี้มีภวังค์มั้ยค่ะ

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ เห็นไหมคะ ไม่รู้ ตอนหลับสนิท ภวังค์เกิดดับนานเท่าไรมากเท่าไรก็ไม่มีใครรู้ แต่ว่ามีแน่นอนใช่ไหมคะ และไม่ใช่วิถีจิต เพราะไม่ใช่จิตที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ทราบว่าขณะใดที่เห็นเป็นผลของกรรม ขณะใดที่ได้ยินเป็นผลของกรรม ขณะที่ได้กลิ่นเป็นผลของกรรม ขณะที่ลิ้มรส รสอะไรก็แล้วแต่ เป็นผลของกรรม ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบกาย ขณะนั้นเป็นผลของกรรม ถ้ากล่าวโดยไม่ละเอียดมาก เท่าที่สามารถจะรู้ได้ ก็คือขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้เนี่ยจะดีหรือไม่ดี น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ก็แล้วแต่ว่าได้กระทำเหตุมาอย่างไร ก็เป็นปัจจัยเมื่อถึงเวลา ที่จะให้กรรมนั้นให้ผล ก็เป็นไปตามสภาพธรรมที่เป็นผลคือ เหตุได้กระทำไว้ไม่ดี ผลก็ต้องไม่ดี เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของกรรม นอกจากนี้แล้วนะคะ ไม่ใช่วิบาก แค่นี้สั้นๆ พอจะรู้ได้มั้ย เห็นไหมคะ คิดเป็นวิบากหรือเปล่า เมื่อคิดไม่เป็นวิบาก เพราะฉะนั้นการเรียนธรรม ไม่ใช่ไปเรียนวิถีจิตเรียนชื่อนะคะ แต่เรียนเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เห็นมี ได้ยินมี ได้กลิ่นมี ลิ้มรสมี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายมี ไม่เคยรู้เลยว่านี่แหละผลของกรรม แต่ ณ บัดนี้รู้ว่าเห็นเนี่ยเป็นผลของกรรมล่ะ ได้ยินก็เป็นผลของกรรม ได้กลิ่นเป็นผลของกรรม ลิ้มรสเป็นผลของกรรม รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นนะคะ ถึงได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่าฟังเพื่อเข้าใจค่ะ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย กรรมให้ผลเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง เมื่อกรรมนั้นสุกงอมจะให้ผล

    ท่านอาจารย์ ขณะไหน

    ผู้ฟัง ขณะเห็นก็ได้ ขณะได้ยินก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกรรม ให้ผลครั้งแรกที่สุดเมื่อไร

    ผู้ฟัง ตอนเกิดค่ะท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ ปฏิสนธินั่นแหละค่ะ เป็นผลของกรรม ต่อจากนั้นนะคะ เปิดทางละ ปฏิสนธิจิต ประมวลมาซึ่งกรรม ที่สามารถจะให้ผลในชาตินั้น

    ผู้ฟัง มาพร้อมแล้วเหรอค่ะ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ อยู่ในจิตค่ะ

    ผู้ฟัง อยู่ในจิตแล้วเหรอคะ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เป็นกุศล และอกุศลที่เกิดแล้ว ไม่ได้สูญหายเลยนะคะ แม้ดับไปแล้วก็ได้สะสม ในฐานะที่เกิดแล้วเนี่ย เป็นพืชเชื้อที่จะให้เกิดอีก เกิดอีก เกิดอีก เพราะฉะนั้นต้องรู้คะว่า ๑ ขณะจิตเนี่ย ไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า สะสมอะไรไว้มากแค่ไหน แต่สำหรับปฏิสนธิในชาติ ๑ ชาติ ๑ ประมวลมาเฉพาะกรรมที่ทำกิจปฏิสนธินั่นนะคะ ที่สามารถจะให้ผลได้ในชาตินั้น เพราะฉะนั้นเกิดเป็นงู กับเกิดเป็นคนเนี่ย ปฏิสนธิต่างกันละ ความที่กรรมอื่นๆ จะสามารถให้ผลได้ ก็ต้องต่างกัน งูจะมีช้อนทองมั้ย

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใช่ไหมคะ เพราะกรรมนั้นจำกัดละ สามารถที่จะให้ผลแค่ไหนในชาตินั้น ประมวลมาซึ่งกรรมใดๆ ที่สามารถจะให้ผลเฉพาะในชาตินั้น ม้ากัณฐกะนี่คะ เป็นม้า แต่ว่าพอจากโลกนี้ไปแล้ว เป็นเทพบุตร ต่างกันไหมคะ

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ การให้ผลของกรรมพลิกเลย จากม้าเป็นเทพบุตร เหนือมนุษย์อีก ปัญญาที่สะสมมาแล้วนะคะ สามารถที่จะฟังธรรม แล้วเป็นพระโสดาบัน เมื่อเป็นกัณฐกะเทพบุตร ตอนที่เป็นม้ากัณฐกะนั้น ไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ขา เมื่อกี้ท่านอาจารย์กล่าวว่า ปฏิสนธิจิตเนี่ย เป็นกรรมที่ประมวลมาแล้วที่มา

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิต ประมวลมาซึ่งกรรมที่สามารถจะให้ผลในชาตินั้น

    ผู้ฟัง ประมวลมาซึ่งกรรมที่จะให้ผล

    ท่านอาจารย์ แต่กรรมอื่นก็มีไม่ใช่หายไปหมดนะคะ แต่เฉพาะวิบากจิตซึ่งทำกิจปฏิสนธิ แต่ละคนเนี่ย เป็นผลของกุศลทั้งนั้นเลย ที่นั่งอยู่ที่นี่ ต่างกันมั้ย

    ผู้ฟัง ถึงเป็นผลของกุศลก็ต่างกัน อาจารย์ คะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะเหตุต่างกัน และการสะสมมาก็ต่างกัน คิ้ว ตา จมูก ปาก ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนะคะ ไม่ใช่จำคำ เขาว่า ตามเขา แต่ต้องคิดไตร่ตรอง กว้างขวาง ละเอียดขึ้น มั่นคงขึ้น จินตามยปัญญา เพียงแค่การฟังเนี่ย สามารถจะมีหูกระทบเสียง ได้ยินเสียง จำเสียง รู้ความหมายของเสียง และมีการสะสมมาที่จะเข้าใจคำนั้นแค่ไหน ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ได้ยินเหมือนกัน เสียงเดียวกัน คำเดียวกันด้วย แต่ความสามารถที่จะเข้าใจ ความหมายของคำนั้นน่ะแค่ไหน ท่านพระสารีบุตรนี่ต้องต่างกับคนอื่นละ นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามีสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะคิดเอง อาศัยการฟัง ว่าจริงหรือเปล่า ถูกต้องมั้ย ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ก็เป็นหนทางที่จะละคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หนทางเดียว ไม่ใช่สำนักปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้เลย ที่ใครจะละคลายกิเลสซึ่งมีมากนะคะ ประมาณไม่ได้เลยว่าแค่ไหนเลยค่ะ จากการไปทำอะไรขึ้นมา แล้วไม่รู้อะไรอย่างเงี้ย แล้วก็จะไปเป็นพระโสดาบัน เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหมคะ แม้แต่จะฟังธรรม ก็ยังต้องฟังด้วยความใส่ใจ มนสิการะ ด้วยความแยบคายในเหตุในผล ของคำแต่ละคำเนี่ยที่ได้ฟัง อย่างปฏิสนธิจิต ๑ ขณะ จิตอื่นที่เกิดนะคะ เกิดแล้วก็ดับทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นชีวิตดำรงอยู่ เพียงชั่ว ๑ ขณะจิต แต่ ๑ ขณะเนี้ยหลากหลายแค่ไหน คิดดู ของแต่ละ ๑ คนนะคะ เห็นมั้ยคะ ก็แค่ ๑ ขณะเท่าๆ กัน ๑ ขณะเท่ากัน แต่ความหลากหลายของจิต ๑ ขณะนั้นต่างกันมหาศาล เพราะฉะนั้นกรรมที่ได้กระทำไว้ของจิตนี้ กรรมที่ได้กระทำไว้ของจิตนั้น แล้วแต่ว่ากรรมใดพร้อมที่จะให้ผล ทำให้ปฏิสนธิ เกิดทำกิจเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แม้ว่าทุกอย่างนะคะ สะสมอยู่ในจิต ไม่หายออกไปนอกจากจิตได้สักอย่างเดียว ไม่ว่ากรรมชั่ว กรรมดี กรรมเล็ก กรรมน้อย กรรมใหญ่ กรรมอะไรทั้งหมด สะสมอยู่ในจิต แต่ว่าปฏิสนธิจิต ก็ประมวลมาซึ่งกรรม ที่สามารถจะให้ผลในชาตินั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า กรรมอื่นหายไปหมด ไม่มีโอกาส เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิต แล้วแต่ว่าประมวลมา ของแต่ละ ๑ คนเนี่ย วิจิตรมากว่าประมวลมา ตั้งแต่เกิดแล้วจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร ย้อนถอยไปตั้งแต่เป็นเด็กนะคะ เราผ่านอะไรมาบ้าง สนุกสนานรื่นเริงที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน ที่อื่นๆ นะคะ หมด ไม่มีเหลือเลยใช่ไหมคะ แต่อกุศล และกุศลที่เกิดแล้วเนี่ย สะสมอยู่ในจิต เป็นสภาพธรรมที่ใช้คำว่าสังขารขันธ์ หมายความว่าเป็นธรรมชาติ ที่ปรุงแต่งแต่ละ ๑ ขณะเนี่ย เกิดแล้วดับจริงนะคะ แต่สะสมปรุงแต่งจิตขณะต่อไป ทำให้ต่อไปเราคิดยังไง เข้าใจยังไง ถูกหรือผิดยังไงเนี่ยค่ะ ทั้งหมดเนี่ยก็เป็นธรรม ที่ประมาทไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมด้วยนี่นะคะ ทีละคำที่จะทำให้เข้าใจมั่นคงจริงๆ เนี่ย รู้เลยว่าไม่ใช่เราเพราะเป็นธรรม ทุกอย่างก็คือว่าศึกษาเพื่อให้เข้าใจ ไม่ได้ให้ไปจำ ให้จบปริเฉทนั้น คัมภีร์เล่มนั้นเล่มนี้ค่ะ พระอภิธรรมอะไรต่างๆ แต่อ่านแล้วรู้เลย พระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมทรงพระมหากรุณาแสดง ให้เห็นความจริงว่า ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย แล้วก็จะรู้ถึงปัญญาอย่างนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ ใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นสามารถจะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ต่อเมื่อมีการฟังด้วยความแยบคายไม่ใช่ไปเรียนอยากจะสอบ แต่เมื่อฟังก็รู้เลยว่า กำลังพูดถึงสิ่งที่มีทุกปัจจัย แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน อย่างเวลานี้ จิตเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสิ่งที่จิตรู้ คิดดู จิตแม้ว่าเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นธาตุรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีเสียง จิตได้ยินจะเกิดมั้ย ก็เกิดไม่ได้ ทั้งๆ ที่จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ ในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่ยังจะต้องอาศัยปัจจัย เพราะฉะนั้นอารัมณปัจจัย แค่นี้ง่ายมาก ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย สิ่งใดก็ตามที่จิตกำลังรู้ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิด

    ผู้ฟัง เราก็ได้เรียนรู้ ๑ ปัจจัยแล้วใช่ไหมคะ อารัมณปัจจัย ที่จะเกิดทุกครั้ง ต้องรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ขาดอารัมณปัจจัยไม่ได้เลย แต่พอไปเรียนปัจจัย เราก็คิดว่าต้องเป็นอย่างงี้ๆ พอถึงเวลานี้ไหนละ กำลังมีอารัมณปัจจัยก็ไม่รู้ เพราะอะไรคะ จิตยังไม่รู้เลย ยังไม่รู้ตัวจิตจริงๆ กำลังมี กำลังเกิดดับ ยังไม่ถึงปัญญาระดับที่ปฏิปัตติ ที่จะรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    20 ก.ค. 2567