ปกิณณกธรรม ตอนที่ 996


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๙๙๖

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมบียอน รีสอร์ท จ.กระบี่

    วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรม ก็คือปกติ ธรรมดาความเป็นไปของธรรม เห็นเป็นปกติ จะให้เห็นไม่เป็นปกติได้ยังไง ได้ยินเดี๋ยวนี้ก็เป็นปกติ จะไม่ให้ได้ยินเป็นปกติอย่างนี้ได้ยังไง คิดก็เป็นปกติ ชอบก็เป็นปกติ ไม่ชอบก็เป็นปกติ ทั้งหมดแสดงถึงการสะสมมาแล้ว ซึ่งเหมือนจมอยู่ใต้มหาสมุทร เราพูดถึงจิตตั้งหลายประเภท ไหนจิตไหนปรากฏบ้าง พูดถึงเจตสิก ๕๒ พูดถึงสมาธิ ไหนล่ะอยู่ไหน ไม่อยู่ใช่ไหม เพราะอะไรไม่ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีทางที่ใครจะพยายามไปจับไว้ หรือพยายามที่จะไปให้รู้ได้ แต่เป็นการขัดเกลาความไม่รู้ ซึ่งมีมานานตามปกติ ด้วยปัญญาที่รู้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่ก็ตามเดี๋ยวนี้เกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นได้เลย ไม่ว่าใครกำลังคิดอะไร ใครกำลังชอบ ใครกำลังไม่ชอบ ใครกำลังเห็น ใครกำลังแล้วแต่ จะเจ็บ จะปวด จะเป็นยังไงก็ตามแต่ เกิดแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะรู้ความจริงต่อเมื่อรู้สิ่งที่เกิดแล้ว สิ่งที่ยังไม่เกิดจะรู้ได้ไหมยังไม่เกิด สิ่งซึ่งดับหมดไปแล้วจะรู้ได้ไหม ไม่เหลือ แต่สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ต่างหาก เป็นปกติอย่างนี้ต่างหาก เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นขณะที่สามารถเข้าใจความจริง ของสิ่งซึ่งเป็นแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ที่สะสมมา ไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนกันได้เลย แม้แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัญญาของพระองค์ พระมหากรุณาที่ให้คนอื่นได้เข้าใจ ก็ต้องเป็นของแต่ละ ๑ ซึ่งใครจะไปขัดเกลากิเลสของคนอื่นนี่ไม่ได้เลย นอกจากปัญญาของบุคคลนั้นเองที่จะฟัง และเข้าใจเข้าใจแล้ว ถ้าดีใจก็เป็นปกติ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นทั้งหมด ถ้ายังไม่เป็นการเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีเป็นปกติ ด้วยความเป็นอนัตตา ไม่มีทางที่จะละกิเลส หรือว่าความเป็นตัวตนได้เลย เพราะว่าตัวตนคอยจัดการ เป็นอย่างนั้นบ้างเป็นอย่างนี้ ให้จดจ้องที่นั่นบ้าง ให้คิดอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้ ลงมีอะไรเป็นผู้จัดการขึ้นมา ก็คือว่าด้วยความเป็นเรา ที่ต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใครทำอะไรได้เลย เดี๋ยวนี้เห็นแล้วแต่ไม่รู้เห็นซึ่งดับแล้ว เดี๋ยวนี้ก็กำลังได้ยิน แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่ได้ยิน ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญานี่ เป็นจิรกาลภาวนา หมายความว่านาน ไม่ต้องไปนับเลย ขึ้นอยู่แต่ว่าความเข้าใจของเรา มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่เข้าใจเลยจะไปหวังรู้โดยการทำแบบอื่น ไปนั่งทำสมาธิ คิดว่าประเดี๋ยวสิ่งนั้นก็ดับ สิ่งนี้ก็เกิด ไม่ใช่ความเข้าใจสิ่งที่มีตามปกติ เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเพราะไม่รู้ มีแต่ความอยากจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ และเกิดดับให้เห็น แต่ขณะนั้นก็ไม่ได้เข้าใจอะไร ไม่ได้ขัดเกลากิเลสซึ่งหนาแน่นมาก อยู่ในจิตทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทไหน หรือว่ากุศลประเภทไหน ทั้งหมดที่เกิดแล้วดับแล้ว แต่สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไปเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินต่อไป จากคนนี้ก็เป็นคนนั้นเป็นคนโน้นต่อๆ ไปอีก ไม่มีวันจบ จนกว่าปัญญาจะมั่นคง และก็ละคลายด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติ การฟังธรรมเป็นปกติ การเข้าใจสิ่งที่กำลังมีก็เป็นปกติ การละคลายความไม่รู้ก็เป็นปกติ จะได้เห็นสภาพธรรมซึ่งมองไม่เห็นเลยเดี๋ยวนี้เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ลืมแล้วว่าเป็นจิตเจตสิก เพราะไม่ปรากฏ จนกว่าปัญญานั่นแหละ ที่ได้อบรมแล้วจากปริยัติ ซึ่งหมายความถึงการฟังพระพุทธพจน์

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดของ พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราจะเข้าใจตรงนี้ตรงนั้น แต่ว่าเข้าใจแค่ไหนจากคำนั้น ไม่ว่าจะในพระสูตรนี้ กล่าวถึงเรื่องโพชฌงค์ พระสูตรอื่นก็มีโพชฌงค์ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเข้าใจโพชฌงค์ในพระสูตรนี้ และก็ติดตามไปเข้าใจโพชฌงค์ในสูตรต่อๆ ไป แต่ต้องเข้าใจทุกคำแล้วก็ทีละคำ เช่นโพชฌังคะ ในภาษาบาลี หมายความถึงสภาพธรรมที่ทำให้เกิดการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหลายไม่ใช่องค์ หรือไม่ใช่ธรรมที่จะทำให้นำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้นธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ การที่สามารถที่จะวิจัยที่นี่ไม่ใช่คิดเลย แต่ประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันหลากหลาย วิจัยกับลักษณะแต่ละ ๑ จะเหมือนกันไม่ได้เลย โลภะกับฉันทะ ทรงแสดงไว้ทำไม ไม่ใช่เราแต่เป็นธรรมแต่ละอย่าง และไม่ใช่ให้เลือกอยากจะรู้ฉันทะวันนี้มาพูดกันเรื่องฉันทะ ตัวฉันทะก็กำลังมีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็พูดถึงด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุด ก็คือความเข้าใจซึ่งชำระจิตซึ่งไม่บริสุทธิ์ มานานแสนนาน จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น จึงสามารถเริ่มเข้าใจ สิ่งที่ปรากฏอย่างแข็ง ไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ใครเริ่มเข้าใจแข็ง

    ถ้าไม่มีการได้ฟังพระธรรม ว่าเป็นเพียงสิ่งซึ่งมีจริง และมีจริงมานานแสนนานด้วย และอีกนานแสนนานต่อไปก็มี แต่ปัญญารู้ความจริงตรงนั้นแค่ไหน ไม่ใช่ว่าสามารถที่จะไปนั่งทำสมาธิ และให้ไปประจักษ์การเกิดดับ แต่ต้องเป็นผู้ตรง คือฟังธรรมเมื่อไหร่ ฟังอะไร ถ้าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือคำจริงที่กล่าวความถึงสิ่งที่มีจริง ให้รู้ว่าจิตคืออะไร สะสมอะไรมา ไม่สามารถที่จะหมดจากกิเลสได้ ด้วยการเพียงฟังเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าด้วยการอยากฟังมากๆ เพื่อคิดว่าถ้าฟังมากๆ แต่ต้องเป็นการที่รู้ว่าไม่ใช่เราแล้วก็เป็นปกติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีตามปกติเดี๋ยวนี้ ไม่เข้าใจทั้งหมดเลยใช่ไหม แล้วปัญญานั่นแหละ ต้องเข้าใจทั้งหมด จึงสามารถที่จะละได้ เว้นอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าโสตาปัตติมรรค โลกุตตระจิตแรกที่เกิดขึ้นสามารถที่จะดับกิเลส ได้ยินคำว่าดับ ไม่เกิดอีกเลยเป็นสมุทเฉท เพราะฉะนั้นสภาพธรรมขณะนี้ การดับไปของเห็นเป็นธรรมดา และก็มีปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้นอีก และก็ดับไปอีกเป็นธรรมดา แต่การที่จะดับความไม่รู้ และความติดข้อง ที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดเดี๋ยวนี้ ก็ต่อเมื่อปัญญาที่ได้อบรม ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นค่อยๆ เจริญขึ้น เช่นเดี๋ยวนี้ปัญญากำลังทำหน้าที่ค่อยๆ สะสมอีกแสนโกฏิกัปป์ ปัญญาที่เกิดในวันนี้ก็ติดตาม และก็พร้อมที่จะเกิดเพิ่มพูนขึ้นอีก เมื่อมีการได้ยินได้ฟังอีก เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ก็เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด ที่จะเริ่มเข้าใจ แม้แต่คำว่าธรรมทั้งหลาย ชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่เรา แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ถ้าชัดเจนต้องไม่เหลือเลย แล้วก็เป็นปกติด้วย

    นี่ก็เริ่มจะเห็นพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งซึ่งมีเดี๋ยวนี้ที่เหมือนอยู่ในความมืด หรือว่าเหมือนอยู่ใต้มหาสมุทร เหมือนมีของที่ปกปิดไว้ เหมือนคนที่อยู่ในทางที่หลง ไม่มีใครสามารถที่จะบอกหนทางใด ที่จะออกจากความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังมี ก็ต่อเมื่อได้ฟังคำของพระองค์ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เริ่มเข้าใจ บารมี ธรรมที่ขาดไม่ได้เลย ในการที่จะต้องเจริญเพราะเหตุว่าเป็นกุศลธรรม เพราะอกุศลทุกประเภท ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ซึ่งกำลังเป็นอย่างที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่กุศลไม่เกิด อกุศลเกิดไม่รู้ตัวเลย ตั้งแต่เช้ามาแค่ลืมตาก็เป็นอกุศล และเดี๋ยวนี้ลืมตามานานเท่าไหร่แล้ว อกุศลเพิ่มขึ้นเท่าไหร่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าประมาทอกุศล เพราะเหตุว่าอกุศลมาก และจะค่อยๆ ละคลายไปได้ ก็ต่อด้วยปัญญาเท่านั้นจริงๆ แล้วก็ถ้าไม่มีการที่จะรู้จริงๆ อย่างเดี๋ยวนี่ปกติ ปัญญาทุกระดับสามารถเกิดได้ ขณะนี้ปัญญาขั้นฟังสามารถเกิดได้ ปริญัติคือฟังพระพุทธพจน์ ด้วยความเข้าใจที่รอบรู้ มั่นคง แทงตลอด ไม่ว่าขณะไหน เดี๋ยวนี้ธรรมก็เป็นธรรม เดี๋ยวนี้ธรรมก็เกิดดับ เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรได้ เดี๋ยวนี้มีความเข้าใจแค่ไหนก็ต้องตรงว่า เพียงแค่ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าขาดการฟังแล้ว ปัญญาระดับขั้นต่อไปเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นพระศาสนา งามตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เบื้องต้นคือเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ ถ้าเข้าใจว่าธรรมขณะนี้เป็นอย่างนี้ แล้วจะไปทำสมาธิไหม

    ไปทำทำไม ไปทำอะไร ก็ตัวตนนั่นแหละปกปิด ไว้ด้วยความอยาก เพราะฉะนั้นจากไม่มี ก็มีความเป็นตัวตนเพิ่มอีก แล้วยังคิดหลงผิดว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อมีความอยากแล้วจะดีได้ยังไง แล้วเขามีความเป็นตัวตนด้วย เพราะฉะนั้นทั้งหมด ก็ไม่ทำให้สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งไม่มีใครทำ เกิดแล้ว แต่สมาธิคือมีเราไปทำ แล้ว เข้าใจว่าเป็นเราที่ทำได้ ด้วยเหตุนี้ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากทุกขั้น จากปริยัติ ฟังพระพุทธพจน์ไม่พอ ต้องมั่นคง ต้องรอบรู้ ต้องแทงตลอดคือละ ไม่หวังสักนิดว่าสติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไหร่ นั่นเป็นการเปรียบเทียบละ มั่นคงขึ้นละ แต่ถ้ายังรออยู่นิดๆ หน่อยๆ ขณะนั้นก็แสดงว่าปริยัติยังไม่มั่นคง ถ้าปริยัติมั่นคงจริงๆ ปกติจริงๆ เกิดแล้วดับแล้ว เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด จากการฟัง ธรรมเป็นปริยัติ มั่นคงเป็นสัจจญาณเป็นปัจจัยให้เดี๋ยวนี้ ปกติอย่างนี้ที่เคยเป็นไม่รู้ใช่ไหม เห็นดับขณะนั้นอีก ๓ ขณะอกุศลเกิดแล้วก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้ามีการเข้าใจก็มีปัจจัย ซึ่งแม้ขณะเห็นแทนที่จะเป็นอกุศล กุศลก็เกิดได้พร้อมปัญญาที่เริ่มรู้ลักษณะ เริ่มเข้าใจสิ่งที่มี แม้ว่าสิ่งที่มีถูกปกปิดไว้ นานแสนนาน มืดสนิท ถ้าไม่มีแสงไฟ ที่จะส่องให้เห็นจริงๆ ไม่มีทางจะเห็นได้ แต่จากความเข้าใจขั้นฟัง เริ่มละ ที่จะมีอุปกรณ์ที่สามารถที่จะทำให้รู้ความจริงว่า ปัญญาก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังมี แต่เมื่อยังไม่รู้ ก็ต้องฟังต่อไป เพื่อละความเป็นเรา จนกระทั่งไม่หวังเลย ไม่มีความหวังเป็นเครื่องกั้น ไม่มีวิชาเป็นเครื่องกั้น สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ ขณะนั้นรู้ได้ ในความเป็นอนัตตาที่มั่นคงขึ้น แล้วสติสัมปชัญญะใครเลือกได้ ยิ่งแสดงความมั่นคง ว่าแม้สติก็เป็นอนัตตา เพราะว่าเมื่อยังไม่เกิด จะรู้ได้ยังไงว่า ต่อไปจะรู้อะไร จะเกิดรึเปล่า เพราะฉะนั้นต่อเมื่อไหร่เกิด เมื่อนั้นปัญญารู้ทันที ในลักษณะของสติสัมปชัญญะ เพราะไม่ใช่ขณะที่กำลังฟังซึ่งเป็นปริยัติ เพราะฉะนั้นนั่นคือปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเดี๋ยวนี้กำลังเกิด ทีละ ๑ และก็ไม่หวังด้วย จะนานเท่าไหร่ จะมากน้อยเท่าไหร่ แต่ก็มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ถ้ามีความหวังก็กั้นทันที

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดถึงการศึกษาที่ถูกต้องก็คือเป็นไปเพื่อการละทั้งสิ้น อันนี้เนี่ยผมเข้าใจว่า ถ้าบุคคลที่ยังมีความสังเกตจริงๆ จะทราบได้ทันทีว่า เป็นความแตกต่าง ระหว่างหนทางที่ชนในโลกนี้ เดี๋ยวนี้ที่ไปลงสมาธิกันเนี่ย ไปเพื่อความติดข้องต้องการทั้งสิ้น ต้องการความสงบ ต้องการทุกอย่าง โดยไม่ได้ซักถามถึงเหตุผล โดยแท้จริงว่าจริงๆ แล้วชีวิตนี้เพื่ออะไรกันแน่ ถ้าพอได้ฟังเข้าใจตามสมควรแล้ว จะทราบเลยว่า แม้การได้ฟังความเข้าใจที่ถูกต้องนั้น ท่านอาจารย์ก็แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจก็ละ ความไม่เข้าใจไปเรียบร้อยแล้ว จะเป็นเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็รู้ว่าเรื่องละเป็นเรื่องของปัญญา เรื่องรู้ก็เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องเราขวนขวาย แต่แต่ละคำ เข้าใจได้มีการไตร่ตรอง และอย่างองค์ที่จะทำให้จะรู้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หรือว่าแม้แต่สติสัมโพชฌงค์ทั้งหมดนี้ ก็คือว่าเดี๋ยวนี้หรือเปล่า ถ้าไม่มีความเข้าใจเดี๋ยวนี้ จะเอาโพชฌงค์มาแต่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจบารมี ขันติบารมี ไม่ได้อดทนอะไรเลย สนุกได้เพราะเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย อดทนที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ได้ไปทำให้เกิดขึ้นด้วย เกิดแล้ว เวลาเสียใจ มีใครทำให้เกิดรึเปล่า มีใครอยากจะทำให้เสียใจเกิดบ้างไหม ก็ไม่มี แต่เกิดแล้ว ไม่มีใครทำ อดทน ที่จะรู้ว่าขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นความอดทนที่สูงที่สุด ก็คืออดทนที่จะเข้าใจถูกต้อง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยเกิดไม่ได้ เราเริ่มเรียนเหตุผลตั้งแต่ต้นเลย คือสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิด ต้องเป็นไปตามธรรมที่เกื้อกูลอุปการะ สนับสนุนให้เกิดขึ้น และธรรมมีอะไรบ้าง ธรรมเหล่านั้นก็อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ถ้าไม่ฟังตามลำดับให้เข้าใจจริงๆ อย่างมั่นคง ไม่มีทางเลยที่จะละกิเลสได้ เพราะทำไมล่ะ ยังคิดว่าเป็นเรา ในเมื่อเข้าใจเมื่อไหร่ ตรงเข้าใจนั่นแหละละความไม่รู้ และความติดข้อง เพราะฉะนั้นปัญญากับโลภะ ห่างไกลกันมาก ไม่อยู่ใกล้กันเลย แต่ว่าทุกวันนี้ สะสมมาที่จะติดข้อง เพราะฉะนั้นความติดข้อง ชำนาญมาก ในการที่จะเกิดอย่างรวดเร็ว และก็ไม่มีการที่สะสมปัญญามาพอ ที่จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นความติดข้องที่ต้องละ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องชีวิตที่เป็นปกติ เมื่อกี้ได้ปรารภไปถึงเรื่องว่า พวกเราศึกษาธรรมกันแบบไหน รู้สึกสนุกสนานกันมาก

    ท่านอาจารย์ ก็น่าจะคิด มีหรือที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสอนให้คนทรมานตัว ไปนั่งอยู่ตั้งนาน มีหรือที่พระพุทธเจ้าจะสอนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นแค่นี้เขาก็ไม่รู้จักความเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แล้วเขาจะสามารถเข้าใจธรรมได้ยังไง เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าเป็นเรื่องละ นี่เรื่องที่มั่นคงที่สุด และขณะใดก็ตามที่รู้ว่าธรรมนี่ขณะนี้เดี๋ยวนี้เป็นปัฏฐานะ ที่ตั้งของสติที่จะรู้ความจริงทั้งหมด เห็นไหม จะต้องไปเลือกอะไรที่ไหน ทุกอย่างที่มีเดี๋ยวนี่แหละ เป็นที่ตั้งคือปัฏฐานะของสติสัมปชัญญะซึ่งเกิดเพราะเข้าใจ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นที่ตั้งของความหลงติดความพอใจ โดยที่ว่าขณะนั้นไม่รู้ความจริง ว่าแท้ที่จริงแล้วแต่ละ ๑ เป็นแต่ละ ๑ สิ่งที่ปรากฏทางตาแค่คำนี้คำเดียว ปรากฏให้เห็นได้เมื่อเห็นเกิดขึ้น สิ่งนั้นเกิดขึ้น และดับไปคนอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่ไหนทุกคำต้องสอดคล้องกับ คำว่าไม่ใช่เรา และเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมล้วนๆ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่ว่ามากด้วยตำรา พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม แต่มากด้วยการเข้าใจ เข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำทีละคำ เพราะทุกคำสอดคล้องกันทั้งหมด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะอะไร ที่จะเป็นที่ตั้งของสติได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างที่มีจริงจริง สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ถ้าไม่รู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ก็ไม่ใช่ปัฏฐานะของสติ เพราะว่าคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ เป็นเรื่องของปัญญา เราจะหยิบยกเพียงคำเดียวจากที่ไหนก็ไม่รู้ จะพยายามเข้าใจคำนั้นเป็นไปไม่ได้ จะไปหยิบคำว่าอายตนะ หรือว่าโพชฌงค์ หรือว่าปฏิจจสมุทปาท หรืออะไรก็ตามแต่อีกมากมาย เพื่อที่จะเข้าใจคำนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความเข้าใจพื้นฐาน ของการที่จะเข้าใจว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริง หมายความว่าสิ่งนั้น ต้องเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ไม่มีใครรู้ จึงต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญบารมีนานไหม กว่าเราจะได้ยินคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โดยไม่ใช่เพียงแค่ฟัง เดี๋ยวนี้ที่จะรู้ว่าเป็นอนัตตา ก็ต้องรู้ว่าแข็งก็เป็นแข็ง จะเป็นอย่างอื่นก็ไม่ใช่ ใช่ไหม อนัตตาหมายความว่าเป็นอื่นไม่ได้เลย ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ทุกอย่างเราก็รู้ว่าสติ และก็ไม่มีคำว่าปัฏฐานะ ต้องเป็นสติระดับไหนจึงจะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไม่มีความรู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วก็พูดกันเรื่องสติปัฏฐาน ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าสติเป็นอะไร ทบทวนกันอยู่เรื่อยๆ โดยชื่อตอบได้หมดทุกคนเลย สติเป็นอะไร แต่ถามว่าเดี๋ยวนี้มีสติไหม จะตอบว่าไง

    อ.วิชัย สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ระลึกอะไร

    อ.วิชัย ระลึกเป็นไปในกุศลโดยประการต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เช่น

    อ.วิชัย อย่างเช่นการจะฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ กุศลทุกประเภทเกิดขึ้นได้เพราะสติ ถ้าไม่มีการระลึกเป็นไปในกุศลกุศลนั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นกุศลทุกประเภท ต้องมีสติ สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล แต่คำนี้ก็ยังแค่ที่กล่าวว่ากุศลทุกประเภท ถ้าศึกษาต่อไป จิตที่ดีงามทุกประเภท ซึ่งไม่ใช่หมายความเฉพาะกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ แม้แต่ผลก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ธรรมไม่ใช่ว่าเราจะพูดเสร็จแล้วเข้าใจ แต่ต้องให้เขาเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม แล้วเป็นอะไร ตั้งแต่เป็นธรรม แล้วก็เป็นจิตหรือเป็นเจตสิกเป็นรูป เป็นธรรมฝ่ายกุศล และอกุศลอย่างไร ถึงจะเป็นขั้นๆ ว่าสติขั้นทานไม่ใช่สติปัฏฐาน เพียงแค่ระลึกเป็นไปในการให้ สติขั้นศีลไม่ใช่สติปัฏฐาน เพียงแค่ระลึกเป็นไปในการที่จะมีกายวาจาที่ดี ที่เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือกัน เมื่อกี้นี้มากเลย ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เพราะสติเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่สติปัฎฐาน เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มีความเข้าใจอะไร แล้วจะกล่าวถึงสติปัฏฐาน แล้วเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถามว่าอะไรเป็นสติปัฎฐาน ตอบได้ซึ่งไม่เปลี่ยน สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นสติปัฏฐานะ ที่ตั้งที่จะให้สติระลึกพร้อมปัญญา ที่สามารถเข้าใจถูกในความจริงของสิ่งนั้น จึงจะเป็นสติปัฏฐาน

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์ครับ ขณะที่ฟังธรรมเห็นเนี่ยก็ต้องมี ก็เริ่มมีความเข้าใจ ซึ่งระดับของความเข้าใจ ก็ต้องมีสติด้วยในขณะนั้น แต่ไม่ใช่สติปัฎฐาน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    อ.วิชัย การที่เริ่มเข้าใจในสิ่งนี้ และมากขึ้นเพิ่มขึ้นจนมั่นคงว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่มีจริงๆ แต่ว่าก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่

    อ.วิชัย รู้เพียงแต่เข้าใจสิ่งที่มีจริง และจะเป็นเหตุให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น และก็มีปัจจัยให้สตินี่ระลึกได้เพียงแค่นี้ แต่ว่าขณะนั้นสติก็ไม่ระลึก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นใครบังคับให้สติเกิด กำลังฟังอย่างนี้ อย่างนี้อย่างนี้เลย ใช่ไหม เป็นกุศลหรือเปล่า ต้องตรงเมื่อเข้าใจ เป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ต้องเป็นคนตรงมากในทุกอย่าง พูดแล้วก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่กำลังกล่าวถึง เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะกล่าวถึง ธรรมทีละหนึ่งคำให้เข้าใจจริงๆ ตั้งแต่ต้นตามลำดับ เข้าใจสติพอที่จะกล่าวถึงสติปัฎฐานหรือยัง หรือว่าอยากฟังเรื่องสติปัฎฐาน เพราะเค้าพูดเรื่องสติปัฏฐาน จนอยากทำสติปัฏฐาน ก็ผิดเลย เพราะไม่เข้าใจทีละคำอย่างมั่นคง

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ครับ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง ในสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรมแต่ละอย่าง ก็ไม่มีหนทางที่จะให้ความรู้เจริญขึ้นได้เยอะ ถ้าไม่มีการฟังในสิ่งที่ปรากฏจนเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เริ่มเข้าใจความหมาย ของคำว่าธรรม ธรรมเป็นธรรม แล้วธรรมยังเป็นอนัตตาด้วย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เวลานี้เกิดเป็นอย่างนี้ทั้งหมดไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้อะไรเป็นเหตุให้แต่ละ ๑ เกิดขึ้น และแต่ละ ๑ ก็ดับไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจ และเห็นพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ต่างกันมาก อย่าเพิ่งรีบร้อนจะไปรู้อย่างพระองค์เลย เพราะฉะนั้นทรงแสดงพระธรรม งามในเบื้องต้น ขั้นฟังเข้าใจอย่างละเอียด อย่างตรง อย่างมั่นคง จะไม่มีการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่ามีการเข้าใจเพิ่มขึ้น ตามกำลังของปัญญา เช่นปัญญาขั้นฟังขณะนี้ ก็ฟังรู้ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ หลากหลาย แต่ยังไม่ถึงปฏิปัตติที่จะรู้ทีละ ๑ รู้ว่าเป็นแต่ละ ๑ แต่ยังไม่รู้ทีละ ๑

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    26 ก.ค. 2567