ปกิณณกธรรม ตอนที่ 997


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๙๙๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมบียอน รีสอร์ท จ.กระบี่

    วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เช่นปัญญาขั้นฟังขณะนี้ ก็ฟังรู้ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้แต่ละ๑ แต่ละ ๑ นี่หลากหลาย แต่ยังไม่ถึงปฏิบัติที่จะรู้ทีละ ๑ รู้ว่าเป็นแต่ละ ๑ แต่ยังไม่รู้ทีละ ๑

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ ได้กล่าวถึงคำว่างามในเบื้องต้น ซึ่งความหมายของคำว่างามในเบื้องต้น ท่านก็อธิบายว่าศีล และทิษฐิที่ตรงเป็นเบื้องต้น

    ท่านอาจารย์ ศีล และทิษฐิที่ตรง ศีลคืออะไร

    อ.ธิดารัตน์ ก็ความเป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ว่าเราข้ามได้ไหม ข้ามไม่ได้เลย แม้แต่คำว่าศีลที่เราเข้าใจกัน เราเข้าใจกุศลศีล แต่ว่าถ้าศึกษาแล้วจะรู้ว่าแค่นั้นไม่พอเลย ต้องเข้าใจว่าศีลคืออะไรก่อน ศีลคือปกติ เพราะฉะนั้นทำตามปกติเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เพราะฉะนั้นขณะไหนที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีล เพราะว่ารูปไม่เป็นกุศล และอกุศล รูปให้ทานไม่ได้ รูปฟังธรรมไม่ได้ อะไรทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นนามธรรมเท่านั้น คือจิต และเจตสิกซึ่งจะเป็นศีล เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง จิตเจตสิกเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าที่มีอยู่ เช่นเห็น ได้ยิน แล้วก็เป็นกุศลอกุศล รู้ไหมว่ามีจิตตั้งมากมายเกิดคั่น ก่อนที่จะรู้ว่าเห็นอะไร แค่นี้ก็ไม่รู้แล้วใช่ไหม แต่ก็ฟังต่อไป ฟังต่อไป ศีลนั้นประกอบด้วยความเห็นถูกหรือเปล่า เห็นไหม เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ไม่ใช่ให้เราข้าม แม้แต่ที่พูดว่าที่มีความเห็นถูกต้อง มีทิษฐิตรง ก็คือว่าฟังเพื่อที่จะได้เข้าใจตรง ขณะที่เป็นกุศลก็เป็นกุศลศีล และยังมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ทั้งหมด รู้ได้ยังไง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เดี๋ยวนี้ทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ก็น่าสงสัยว่ารู้อะไร และรู้ได้อย่างไร มีเห็น รู้ได้จริงๆ ว่าเห็นเกิดแล้วเห็นดับ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี ได้ยินมีรู้ได้จริงๆ ว่าได้ยินเกิดขึ้น และดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้เพราะพระปัญญา พระปัญญานั้นมาจากไหน อกุศลจิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ ไม่ดีงาม

    เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหมดไม่ใช่บารมี ส่วนคนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย ก็มีปัจจัยที่จะดีบ้างชั่วบ้าง เด็กเล็กๆ ช่วยพ่อแม่ถือของ อาสาเลย ไม่ต้องไหว้วานเลย มาจากไหน ก็มาจากการสะสม ธรรมทั้งหมดไม่ว่าดีชั่ว เกิดเองไม่ได้ต้องอาศัยปัจจัย ที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิดเป็นดี หรืออาศัยสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นชั่ว เพราะฉะนั้นแต่ละคนต้องไม่ลืม ธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นใครก็ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ไม่กลับมาอีกเลย ดีไหม เห็นไหม คนที่ทำความดีธรรมดา ไม่เคยฟังธรรมเลย มีดีมีชั่วแต่ถึงจะดีก็ไม่เคยรู้ความจริงว่าขณะนี้ มีสภาพธรรมไม่ใช่เราเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่อ เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่มีกุศล แต่ไม่มีปัญญา สามารถที่จะมีบารมีไหม ไม่ จะมีบารมีได้ยังไง แต่เมื่อใดที่มีความเห็น เดี๋ยวนี้เข้าใจถูกต้อง เห็นเกิด และดับ นี่เข้าใจถูกต้อง คิดเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาแล้วเมื่อไหร่จะหยุดสักที ดีไหม เพราะว่าจากไม่มี ก็เกิดแล้วก็ดับไปเลย เหมือนไม่เคยมีแล้วมีทำไม มีสำหรับไม่รู้ มีสำหรับติดข้อง มีโดยที่ว่าใครก็ยับยั้งไม่ได้ ไม่ให้เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างมั่นคง อย่างนี้จริงๆ หยุดเกิดสักทีดีไหม หรือยังไม่เห็นภัยของการเกิด ก็เป็นธรรมดา เพราะว่าฟังไว้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปบังคับให้ใครเห็นภัยของสังสารวัฎเดี๋ยวนี้เลย ไม่ใช่ เพียงแต่บอกให้รู้ความจริง ว่าเดี๋ยวนี้คืออย่างนี้ และไม่เป็นอย่างอื่น เห็นเกิดขึ้น และดับ ได้ยินเกิดขึ้น และดับ ทุกอย่างเกิดขึ้น และดับ แล้วไม่กลับมาอีก ให้รู้แต่ไม่ใช่ไปทำ หรือไม่ใช่ให้ใครไปหยุดยั้ง แต่เริ่มคิดไหมว่าไม่มีประโยชน์ ถ้ายังไม่คิดก็ไม่เห็นว่าเป็นภัย แต่ว่าความจริงก็เป็นอย่างนี้ ถ้าฟังพระคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปอีก ก็ทรงแสดงความละเอียดยิ่งขึ้นของธรรม เพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจให้ถูกต้อง จนกว่าเมื่อไหร่จะรู้ว่า แล้วจะมีประโยชน์อะไร ที่เพียงแค่เกิดแล้วดับ ถ้าฟังแล้วเข้าใจอย่างนี้แล้วแค่เข้าใจ แต่ก็ยังติดข้องถูกไหม

    เพราะเวลานี้ทุกคนก็เข้าใจ ก็เห็นว่าถ้าไม่เกิดเสียเลย ต้องดีกว่า อยากทำอย่างนั้น ถ้าไม่ต้องมีเรา ที่คิดจะอยาก เพราะว่าต้องทำใช่ไหม นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเพียงแต่ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สบายมากเลย ไม่มีตัวตน ที่จะอยากไปทำอย่างนี้ทำอย่างนั้น คิดอย่างนี้คิดอย่างนั้นเลย แต่ว่าห้ามไม่ได้ เพราะเมื่อห้ามไม่ได้ก็ต้องเข้าใจ มีหนทางเดียวที่เข้าใจให้ถูกต้อง เพราะความเข้าใจนั่นต่างหาก ที่จะละความติดข้อง ไม่ใช่ว่าใครรู้แล้วว่าสังสารวัฏฏ์ มีภัยมาก ไปดับกิเลสกันเถอะ เป็นไปได้ไหม ไม่ได้ ชวนใครให้ดับกิเลสก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ คนที่ชวนก็รู้อยู่ ว่าสังสารวัฎฏ์ก็เป็นอย่างนี้ เป็นภัยอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ใครจะดับสังสารวัฎฏ์ได้ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่ฟัง เพื่อเข้าใจ ฟังเพื่อเข้าใจ จนกว่าความเข้าใจนั้น จะเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น และก็ค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ โดยการที่ว่าไม่เผิน ฟังแต่ละคำให้เข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็เริ่มฟัง แล้วก็เห็นว่า กว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่ง คือฝั่งที่ไม่มีกิเลสเลย คนละฝั่งใช่ไหม พระอรหันต์ท่านอยู่ฝั่งโน้น ไม่มีกิเลสเลยสักนิดเดียวก็ไม่มี ธรรมดานี่ไม่มีใครรู้ว่าเห็นแล้วก็เกิดกิเลส เพราะฉะนั้นการที่จะไม่มีกิเลส หลังจากที่เห็น โดยที่ไม่รู้ว่ามีด้วยซ้ำไป แล้วก็ฟังว่ามี ก็ยังไม่สามารถที่จะละได้ แต่ผู้ที่เหมือนเดิมคือเห็นแต่แทนที่จะเป็นอกุศลอย่างคนอื่น เหมือนเดิม อย่างพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน และปุถุชน บุคคลผู้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสหมด หมดต้องหมดจริงๆ ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นปัญญาต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง สติใช้คำว่าตามรู้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ไปตามสิ่งที่หมดแล้ว เพราะสิ่งที่หมดแล้วตามไม่ได้ ตามสิ่งที่ยังไม่เกิดก็ไม่ได้ เพราะยังไม่เกิด แต่เดี๋ยวนี้ที่ใช้คำว่าตาม ถ้าสมมติว่าความเข้าใจยังน้อย ตามนี่ห่างมากใช่ไหม แต่ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ตามทันที หมายความว่าทันทีที่สิ่งนั้นยังปรากฏว่ายังมี

    เพราะฉะนั้นสติก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมี อย่างเห็นเดี๋ยวนี้ เราฟังเรื่องเห็นแต่ไม่รู้ที่เห็น แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีปัจจัย ที่จะเริ่มถึงเฉพาะเห็น ไม่มีอย่างอื่นเลยนอกจากเห็น ที่กำลังเห็นขณะนั้น ก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งใช้คำว่าสติปัฏฐาน และกว่าจะเข้าใจจนกระทั่งดับกิเลสหมด ยังไม่ต้องถึงพระอรหันต์ แค่พระโสดาบันก็ไม่ต้องคิดเลย ว่าอีกนานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับปัญญาแต่ละขณะที่เข้าใจขึ้น แล้วคิดถึงทุกท่านที่สะสมปัญญามาแล้วมาก ถึงความเป็นพระอรหันต์ ต่างจากคนที่อยู่ฝั่งนี้ คือฝั่งของกิเลส เพราะฉะนั้นฝั่งโน้น จะถึงได้ก็ด้วยอาศัยคุณความดี จึงเริ่มเข้าใจความหมายว่าบารมี มีคนที่ไม่ค่อยขยันทำกุศลใช่ไหม มีไหม ไม่ค่อยขยันทำกุศล แต่พอเข้าใจคำว่าบารมีเริ่มละ ขวนขวายละ แม้นิดเดียวที่ไม่เคยทำเริ่มทำ เพราะมีความเข้าใจไม่ใช่เพราะอะไร เพราะเข้าใจ เพราะเห็นประโยชน์ว่าถ้าขาดบารมี การที่จะดับกิเลสเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ากิเลสเกิดจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่า ถึงไกลแสนไกลแต่ความดีแต่ละขณะขณะนั้น ไม่ทำให้พอกพูนกิเลส ซึ่งจะหนาขึ้นอีกยิ่งไกลไปอีก เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นประโยชน์อย่างนี้ เพราะปัญญามีจึงเริ่มเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ทำเพราะเหตุว่าปัญญาต่างหาก ที่ทำให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศลได้ เมื่อนั้นแหละจึงเป็นบารมี

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ ก็มีคำถามที่ฝากถาม มาจากหาดใหญ่ อยากทราบความละเอียดของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม

    อ.วิชัย บังคับไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ และกุศลที่เกิดไม่ประกอบด้วยปัญญามีไหม

    อ.วิชัย ก็มีครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบางคนเข้าใจผิดคิดว่า พอฟังธรรมเข้าใจแล้วกุศลทั้งหมดเกิดพร้อมด้วยปัญญา ไม่ใช่ แต่ปัญญาที่เข้าใจที่สะสมไว้เป็นปัจจัยให้มีกุศลธรรมเกิดขึ้นแทนอกุศลธรรม ส่วนจะประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม แต่กุศลที่เกิดเพราะมีความเข้าใจ กุศลนั้นจึงเป็นบารมี แต่ไม่ได้หมายความว่า กุศลที่เกิดทุกครั้งต้องประกอบด้วยปัญญา

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ครับ ก็เป็นการประพฤติตน ให้เป็นประโยชน์ ด้วยจิตที่ดีงามแต่ว่าจะเป็นปัญญาหรือเปล่า ที่จะเป็นบารมีครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เคยเข้าใจเรื่องสังสารวัฎฏ์ ไม่เห็นโทษที่แม้กุศลเพียงเล็กน้อย ก็ดีกว่าขณะนั้นเป็นอกุศล นี่เป็นปัญญาหรือเปล่า เพราะว่ากว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่ง ไม่ขณะนั้นไม่เกิดกุศลก็เป็นอกุศลละ เห็นโทษไหมล่ะ วันนี้รวยไหมอกุศล เป็นเศรษฐีอกุศลกันทั้งนั้นเลย เต็มมากมายมหาศาล และกุศลนั่นเป็นขอทานเป็นยาจกไหม นานๆ จะเกิดสักครั้งหนึ่งไหม แล้วก็จะมุ่งหน้าไปถึงฝั่งโน้น ซึ่งดับกิเลสไม่เหลือเลย ลองคิดดู

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวถึงบารมีก็มี ๑๐ คือในบารมี ๑๐ นะครับ ไม่มีสติปัฏฐานอยู่ในนั้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา สตินั้นเป็นสติปัฏฐานได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีทางเป็นสติปัฏฐานได้ แต่ท่านไม่ได้ยกว่าสติปัฏฐานเป็น ๑ ในบารมี เพราะว่าอยู่ในปัญญาบารมีอยู่แล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายกคงต้องยกหมด โสภณเจตสิก เมื่อมีปัญญาแล้ว เราก็พอจะกล่าวได้ไหมว่า กุศลนั้นมีปัญญาเป็นพื้นฐาน เพราะมีการสะสมของปัญญา ด้วยเหตุนี้เมื่อมีปัญญาแล้ว กุศลทั้งหลายเพราะมีปัญญาจึงเป็นบารมี

    ผู้ฟัง ปัญญาเป็นหลักในบารมี ๑๐ ที่มีปัญญาเป็นหัวหน้าทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นคนก็คิดว่าเมื่อมีปัญญาแล้ว ไม่ต้องมีทาน ไม่ต้องมีการให้ไม่ต้องมีอะไรเลย มีแค่ปัญญาอย่างเดียว แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ปัญญาต่างหากที่จะทำให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้น ปัญญานำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล แม้แต่ทาน ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว อาจจะให้น้อยมาก หรือว่าให้ไม่ได้เลย แล้วแต่สิ่งที่ให้หนึ่งก็ให้ได้เพียงบางสิ่ง แต่พอมีปัญญาละให้เพิ่มมากขึ้น หลายสิ่งก็ให้ได้ ตามกำลังของปัญญาทั้งหมดนี้ต้องตามกำลังของปัญญา

    ผู้ฟัง เรื่องในพระสูตรที่ท่านกล่าวถึงเศรษฐีที่ตระหนี่ แสดงให้เห็นถึงความตระหนี่ ซึ่งในเรื่องทานนี่คงจะมีน้อยมาก แต่ว่ามีปัญญาที่ท่านทำมา ต่อมาจึงได้บรรลุความเป็นพระอริยะบุคคล ชี้ให้เห็นถึงทานบารมีกับปัญญาบารมีต่างกัน หรือว่าต้องเข้าใจอย่างไรท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่าแต่ละ ๑ ตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา เป็นแต่ละ ๑ จริงๆ บางคนมีการให้ทานมาก แต่ให้ทานอย่างนี้ได้ ให้ทานอย่างอื่นไม่ได้ ให้ได้แค่ประเภทของทานอย่างนี้ แต่ทานอื่นให้ไม่ได้ มีตัวอย่างมากมายในชีวิตประจำวัน ศีลเป็นมหาทาน เห็นไหม ถ้าไม่สามารถสละคำไม่ดี ก็ต้องพูดคำไม่ดี เพราะฉะนั้นการเว้นไม่กล่าวคำที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน เป็นศีล แต่ก็สละ ให้ทราบว่ากุศลทั้งหมดเป็นการสละ แต่ว่ามากน้อยเท่าไร สละความเป็นเรา แต่ไม่รู้เพราะว่าปัญญาน้อยมาก แต่กุศลทุกประเภทเป็นการสละ ไม่ใช่เป็นความติดข้อง

    ผู้ฟัง ก็คือสัมพันธ์กันทั้งหมดในบารมี๑๐

    ท่านอาจารย์ กุศลมีมากมายเหลือเกินใช่ไหม กุศลนิดหนึ่งจะไปละสิ่งที่เป็นอกุศลประเภทนั้นหน่อยหนึ่ง กุศลอีกชนิดหนึ่งก็ไปละกุศลประเภทอื่นอีกหน่อยหนึ่ง แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ และถ้าทำกุศลประเภทนี้มากๆ ก็เหมือนกับว่าได้สละอกุศลประเภทนี้เช่นการให้ และการไม่ให้เป็นต้น แต่อย่าลืมว่าเชื้อยังมีอยู่เต็ม และอย่างอื่นก็ยังมี เพราะฉะนั้นไม่สละเพราะอะไร ก็ยังมีอีก เพราะโทสะหรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งหมด ก็เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่เรา และหมดแล้วด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็กังวลอยู่นั่นแหละ แต่เดี๋ยวนี้เป็นธรรม และปัญญาไม่ได้รู้ตามที่ได้ฟัง ก็ฟังจนกว่าจะละความติดข้อง เพราะฉะนั้นการสะสมปัญญา ที่ผ่านมาแล้วกี่กัปป์ก็ตาม แต่ ถึงเวลาที่จะให้ผลหรือยัง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่ไปปฏิบัติที่สำนักปฎิบัติ แล้วจะรู้ความจริง เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการสะสมจริงๆ เป็นเรื่องของอนัตตาจริงๆ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนให้เป็นอัตตาได้เลย ท่านพระสารีบุตรรู้ก่อนไหม ว่าท่านพร้อมแล้ว ไม่มีทางเลย ปกติธรรมดากิเลสเต็ม นับปุถุชนธรรมดานี่แหละ แต่ว่าสะสมสิ่งที่จะสามารถ ถึงเวลาที่จะมีสภาพนั้นปรากฏกับปัญญา เพราะฉะนั้นขณะนี้ เห็นเกิดดับแต่ว่าไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ถึงขั้นที่ สภาพธรรมนั้นจะปรากฏกับปัญญา ด้วยเหตุนี้ ท่านที่เป็นพระภิกษุที่มีความเข้าใจ ภิกษุเห็นภัยในสังสารวัฎฏ์ ท่านมีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ เวลานี้ปัญญาระดับนั้นยังไม่ปรากฏ แต่ก็สะสมเหตุปัจจัย เพื่อมีชีวิตที่จะถึงวันที่ปัญญาปรากฏ

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ ท่านอาจารย์ใช้คำว่าปัญญาปรากฏ แสดงว่าก็ไม่ใช่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาธรรมดา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ขณะนี้กำลังฟังเข้าใจใช่ไหม เป็นปัญญาธรรมดาหรือเปล่า ไม่ใช่ขณะที่ปัญญาปรากฏ ทั้งหมด ทุกคำ ใครรู้ อวิชารู้ไม่ได้เลย ตัวตนรู้ไม่ได้ แต่ปัญญาความเห็นถูกความเข้าใจถูกตั้งแต่เริ่ม ค่อยๆ สะสมไป ด้วยการละทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ปัญญาปรากฏไหม

    อ.ธิดารัตน์ ก็ยัง

    ท่านอาจารย์ แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดพร้อมด้วยปัญญา ปัญญาปรากฏไหม เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นปัญญา ระดับสติปัฎฐาน ไม่ใช่ระดับที่เป็นปฏิเวธ ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปัญญา ระดับวิปัสสนาก็เหมือนกัน แต่ต่างระดับที่สิ่งนั้นเหมือนเดิม แข็งเป็นแข็งอย่างเดิมธรรมดา แต่ว่าปัญญาที่ถึงระดับของการที่จะถึงปัญญาระดับไหน ปัญญาระดับนั้นจึงปรากฏ ว่าสามารถที่จะรู้เข้าใจสภาพธรรม ในขณะนั้นได้ขั้นนั้น ธรรมที่มีจริงๆ ๒ ประเภทใหญ่ คือสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรม และสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้เป็นนามธรรม มี ๒ คือจิต เจตสิก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องเป็นหนึ่งใน ๓ รูปเป็นรูป จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นจะอาศัยอื่นเป็นปัจจัยได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่างก็อาศัยกัน และกัน

    ผู้ฟัง พอจะเริ่มมองเห็นช่องทางนิดนึง

    ท่านอาจารย์ ปัจจัย จึงเป็นคัมภีร์สุดท้ายของอภิธรรมปิฏก คือคัมภีร์ปัฏฐาน เพราะว่าถ้าเรายังไม่รู้สิ่งที่กำลังมี เราจะรู้ปัจจัยของสิ่งนั้นได้ยังไง ต้องเข้าใจในสิ่งที่มีถ่องแท้ แล้วจะละก็ต่อเมื่อ ทำไมแค่คิดก็ต่างกัน เห็นมั้ย หรือแม้แต่เห็นก็ไม่ใช่คิด ก็ต้องมีปัจจัยที่ต่างกัน มิฉะนั้นเห็นก็ต้องเป็นเห็น มีคิดด้วย แต่ก็เห็นว่าเห็นไม่ใช่คิด เพราะฉะนั้นคิดก็อาศัยปัจจัยอื่น เช่นไม่ต้องอาศัยตาก็คิด ไม่ต้องอาศัยหูก็คิด ใช่ไหม เพราะฉะนั้นแต่ละ ๑ จะปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ลึกล้ำมากนะครับ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ มากที่สุด แค่คิดถึงความไม่รู้ว่ายิ่งกว่าจักรวาล ทั้งหมดอยู่ในจิต ดำมืดสนิท สกปรกเต็มไปด้วยเชื้อโรค เท่านั้นเลย เท่าจักรวาล เพราะฉะนั้นชำระจิตให้ผ่องใส จึงสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ตรงตามที่ได้ฟัง จึงมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพราะว่าถ้าไม่สามารถที่จะรู้จริง ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ คำพูดเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นคำไม่จริง แต่เมื่อเป็นคำจริง คำจริงนั้นถึงที่สุด สามารถรู้ความจริงได้ และผู้ที่รู้ได้ จึงละความสงสัย และก็ดับกิเลสตามลำดับขั้น จนกระทั่งหมดไม่เหลือเลย

    ผู้ฟัง มันก็เป็นช่องทางให้พวกเรา ได้เกิดสั่งสมปัญญาแต่ละอย่าง แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ตั้งแต่สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา ไปสู่ภาวนามยปัญญา

    ท่านอาจารย์ เป็นสาวกโพธิสัตว์ เพราะว่าโพธิสัตว์มี ๓ เพราะว่าพระมหาสัตว์หรือพระมหาโพธิสัตว์ คือผู้ที่บำเพ็ญบารมีถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้สภาพธรรมซึ่งใครจะรู้ได้ กำลังเห็นอยู่นี้เกิดแล้วก็ดับด้วย และก็ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไหร่ แล้วก็เมื่อจิตนี้ดับไป แล้วจิตอะไรเกิดต่อ อย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ โดยที่ว่ามีสภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยต่างกัน เพราะว่าเห็นขณะนี้อาศัยเจตสิก ๗ ประเภท แต่ทันทีที่จิตเห็นดับ จิตที่เกิดสืบต่อ ต้องอาศัยเจตสิกเพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้ทำกิจเห็น แต่รับรู้สิ่งที่จิตเห็นเห็นเหมือนเห็นเลย แต่ไม่ได้ทำทัศนกิจ ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่มีทางจะเป็นเราได้เลย และถ้าไม่ฟังพระธรรมก็ไม่มีทางที่สามารถ จะถึงการรู้แจ้งสภาพธรรม ที่จะดับกิเลสถึงอีกฝั่งหนึ่งได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ ถ้างั้นทุกคนที่ได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ของพระบรมศาสดานี้ จะต้องมีเหตุปัจจัย ในการที่สะสมบุญทั้งหลายแหล่ ที่มาแต่เก่าก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แม้เห็นขณะนี้ก็ต้องเกิดมาจากชาติไหนก็ไม่รู้ กรรมอะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นการที่มีโอกาสได้ฟังธรรม ก็ต้องมาจากชาติไหน เกิดเป็นใคร แล้วก็มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเมื่อไหร่ จากใคร เพราะว่าต่อไปอีกแสนโกฏกัปป์ก็คือวันนี้ เพราะฉะนั้นที่เคยได้ฟังวันนี้แหละ ใช่ไหม ก็สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริง ก็เห็นมี แล้วจะรู้ความจริงของเห็นไม่ได้หรือ ก็เห็นมี เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะรู้ความจริงที่เกิดดับไม่ได้หรือ แต่ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นปัญญาที่ละคลายความไม่รู้

    อ.วิชัย เกี่ยวกับเรื่องสติปัฎฐาน ๔ ซึ่งธัมมานุปัสสนา ก็จะมีนิวรณ์บรรพ ขันธบรรพ อายตนบรรพ โพชฌงค์บรรพ สัจจบรรพ ก็ดูเหมือนกับเป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง จะเป็นไปตามอำนาจของความยึดถือยังไงครับ อย่างเช่นนิวรณ์ก็รู้ว่าเป็นอกุศลธรรม ขันธ์ก็รู้ว่าเป็นรูปขันธ์บ้าง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอะไรต่างๆ บ้าง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีจิตไหม

    อ.วิชัย มีจิต

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิกไหม

    อ.วิชัย มี

    ท่านอาจารย์ มีความรู้สึกอะไรไหม

    อ.วิชัย ก็มี

    ท่านอาจารย์ มีจำอะไรรึเปล่า

    อ.วิชัย ก็มีด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขันธ์ไหนล่ะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    26 ก.ค. 2567