ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1003


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๐๐๓

    สนทนาธรรม ที่ บ้านธัมมะ จ.ลำพูน

    วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ ท่านอนาถบิณฑิกะหรือแม้แต่ท่านพระอนุรุทธะ หรือใครทั้งหมดฟังธรรมก่อน และรู้จักตัวเองว่าจะมีชีวิตขัดเกลากิเลส ในเพศไหน ท่านอนาถบิณฑิกะเป็นพระโสดาบันในเพศคฤหัสถ์ ก็ไม่ได้บวช ท่านก็ศึกษาขัดเกลากิเลส ตามที่ท่านสะสมมา เป็นผู้ที่ตรง ส่วนพวกเจ้าศากยะก็หลายท่าน ท่านพระอานนท์ และก็ท่านพระอนุรุทธะเหล่านี้ เห็นโทษ และบวช ท่านเป็นถึงพระอรหันต์ เพราะว่าท่านสะสมมาที่จะถึงการดับกิเลสระดับนั้นได้ เพราะฉะนั้นภิกษุในครั้งพุทธกาล มีทั้งภิกษุที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ และมีภิกษุที่ยังไม่ถึงการดับกิเลส แต่ก็ฟังธรรมขัดเกลากิเลสด้วยวินัย ซึ่งท่านสามารถจะประพฤติ ขัดเกลากิเลสได้มากกว่าคฤหัสถ์ แล้วก็มีภิกษุซึ่งบวชแล้วแต่มีกิเลสหนา เพราะฉะนั้นกิเลสนั้นก็ติดตามไป ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงแสดงโทษของภิกษุ ซึ่งไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยไว้ เช่นภิกษุที่รับเงิน และทองเป็นต้น เพราะเหตุว่าความต่างกันของชีวิตคฤหัสถ์ กับบรรพชิตก็คือว่า คฤหัสถ์แสวงหาทุกอย่างได้โดยชอบธรรม ไม่ผิด ซื้อได้ ขายได้ ทำธุรกิจได้ เพลิดเพลินได้ ฟังเพลงได้ ดูหนังดูละครได้ อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านหนังสือบันเทิงต่างๆ ได้ และอบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์ ที่รู้ความจริง ตรงต่อความจริง จึงจะสามารถที่ดับกิเลสได้ สำหรับบรรพชิตในครั้งโน้น เพราะเห็นโทษอย่างนี้ นอกจากฟังพระธรรมแล้วก็ยังรู้ตัวว่า จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปไม่ได้ ตั้งแต่เริ่มบวช จะบวชตอนบ่ายตอนค่ำตอนเช้ายังไงก็ตามแต่ หลังจากนั้น แม้รุ่งขึ้นก็ต้องสำนึกว่าเราไม่ใช่คฤหัสถ์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อขัดเกลากิเลสอย่างละเอียดขึ้น ตามพระธรรมวินัย ซึ่งละเอียดมาก ถึงกี่ข้อคุณธีรพันธ์

    อ.ธีระพันธ์ุ สิกขาบท ก็จะมีถึง ๒๒๗ ข้อ

    ท่านอาจารย์ ต้องครบใช่ไหม

    อ.ธีระพันธ์ุ ต้องครบ ขาดไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าประพฤติผิดจากที่ได้ทรงบัญญัติไว้เป็นยังไง

    อ.ธีระพันธ์ุ ต้องอาบัติ ต้องโทษ ตามอาบัตินั้นๆ ถ้าปาราชิกนี่ขาดจากความเป็นพระภิกษุโดยทันที และจะกลับเข้ามาบวชอีกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงแค่ไม่ประพฤติ ปฏิบัติตามพระวินัย ที่ทรงบัญญัติไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่อย่างอ่อน คืออภิสมาจาระ ความประพฤติของกายวาจาที่เหมาะที่ควร ในเพศบรรพชิต เพียงไม่ประพฤติตามก็ต้องอาบัติ แล้วก็จะเป็นภิกษุได้ยังไง ในเมื่อผิดจากที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว ต้องสำนึกตน เมื่อสำนึกตน แล้วต้องแสดงโทษของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยไป ฉันผิดก็สบายดี ฉันดุด่าว่าใคร ก็ปล่อย ปล่อยไปไม่ได้เลย ต้องสำนึกจริงๆ ในการที่เป็นพระภิกษุ เป็นศากยบุตร ประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนบิดา เพราะฉะนั้นถ้าทำสิ่งใดผิดคือพูดที่ทำร้ายคนอื่นขณะนั้น กี่คำก็ตามแต่ จะมากจะน้อยจะหนักจะหนา จะด่าจะว่าอะไรก็ตามแต่ทั้งหมดก็ต้องอาบัติ ซึ่งจะต้องสำนึก แล้วจะพ้นจากอาบัตินี้กลับคืนเป็นภิกษุในธรรมวินัยได้ ก็ต่อเมื่อได้บอกสำนึกแล้ว ก็แจ้งพระภิกษุด้วยกัน ว่าได้กระทำผิดข้อนี้ สำนึกแล้ว ต้องบอกด้วย ที่จะไม่กระทำอีกต่อไป และการปลงอาบัติก็มีหลายระดับตั้งแต่อาบัติเบา จนกระทั่งถึงอาบัติหนัก จะต้องปลงอาบัติด้วยวิธีตามพระวินัยอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่สะอาด และบริสุทธิ์มาก ที่คฤหัสถ์ควรเข้าใจด้วย ถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้พระวินัย คฤหัสถ์ก็หลงว่าบุคคลที่ประพฤติผิด จากพระธรรมวินัยเป็นภิกษุ แต่ความจริงไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย

    ผู้ฟัง กราบสวัสดีท่านอาจารย์แล้วก็วิทยากรทุกท่าน ผมชื่อชาญยุทธ อยู่เชียงใหม่ ในชีวิตประจำวัน บางครั้งเราก็ต้องติดต่อกับผู้คน มันก็ก่อให้เกิดโทสะขึ้น แต่ใจจริงไม่อยากจะให้เกิดแต่ว่ามันก็ไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไหร่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เห็นไหม เพราะฉะนั้นเรื่องหลงง่ายมากเลย การตั้งต้นที่ถูกตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้ามาศึกษาธรรมฟังธรรมเพื่อตัวเรา จะเป็นคนดีจะละกิเลส จะไม่โกรธ จะทำทุกอย่างถูกต้องในทางที่ถูก ไม่ใช่การฟังธรรมเพื่อรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นเราที่ฟังธรรมแล้วก็ดีใจ เรารักษาศีลได้กี่ข้อเราฟังธรรมเข้าใจ ข้อนั้นข้อนี้ก็ยังคงเป็นเราตลอดไป เพราะฉะนั้นต้องฟังธรรมด้วยความละเอียดจริงๆ ว่าเดี๋ยวนี้ฟังเพื่อรู้ว่าไม่มีเราที่นั่งอยู่ที่นี่ ได้ยิน เห็นเป็นธรรมคือฟังด้วยการเข้าใจว่าไม่ใช่เรา จนกว่าธรรมจะประจักษ์แจ้งกับปัญญาที่อบรมแล้ว ในความเป็นธรรมแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดดับให้ประจักษ์แจ้งว่าไม่ใช่เรา แต่ถ้ามีเราเข้ามาขวาง กั้นทันที

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแบบนี้เรียกว่าเป็นวิบากกรรมหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ วิบากคืออะไร

    ผู้ฟัง วิบากคือผลของการกระทำ

    ท่านอาจารย์ ผลของการกระทำ วิบากคืออะไร เดี๋ยวนี้มีวิบากไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ บังคับบัญชาไม่ได้ รู้ไหมว่าเป็นวิบากของกรรมอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกรรมเป็นสภาพธรรมปกปิด แม้ขณะที่เรากำลังฟังธรรมอย่างนี้ ผลของการฟังจะเกิดเมื่อไรก็รู้ไม่ได้ หรือถ้าเป็นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ จะเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี กระทบสัมผัสไม่ดี เหตุไม่ดีต้องนำมาซึ่งผลที่ไม่ดี แต่ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เหตุนั้นได้กระทำเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจเป็นเราหรือเปล่า ที่ได้ยินเสียง เป็นเราหรือเปล่าที่กำลังติดต่อกับคนนั้นคนนี้ ที่จะต้องทำตัวอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งความจริงขณะนั้นเป็นการคิด แต่ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่เรา คิดก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นสำหรับพระโสดาบันบุคคล ไม่เหลือความเป็นเราในสิ่งที่มี ไม่สามารถจะเข้าใจผิดว่าเป็นเราอีกต่อไป เพราะดับความเป็นเราได้ ไม่ว่าจะเผชิญกับอะไร ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ โดยสภาพที่น่าปลาบปลื้มที่สุด ดีที่สุด งามที่สุด ลาภยศสรรเสริญ หรือว่าทั้งเสื่อมลาภ เสื่อมยศ สรรเสริญนินทา ทุกข์ ทุกอย่างเป็นธรรมเมื่อไหร่เมื่อนั้นคือสามารถที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เราจึงรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อมีปัจจัยก็เกิด และไม่ยั่งยืนด้วย แค่เกิด และดับไป เพราะฉะนั้นจะห่วงใยในตัวนี้ไหม ตัวนี้ที่อยากดี ทำทุกอย่างเพื่อตัวนี้ให้ดี ก็ยังคงมีความเป็นเรา ด้วยเหตุนี้แม้จิตจะสามารถ ให้สงบจนถึงขั้นฌานจิต รูปฌาน อรูปฌาน ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะว่ากิเลสที่เกิดทั้งธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศล และอกุศล ไม่ได้อยู่นอกจิตเลย สะสมอยู่ในจิตทุกขณะ แม้แต่ดับไปแล้ว แต่เมื่อได้เกิดขึ้นแล้วโดยฐานะที่เกิดแล้วดับ สิ่งนั้นก็สะสมอยู่ในจิต เป็นพืชเชื้อที่จะทำให้กิเลสประเภทนั้นๆ เกิดโดยความเป็นอนัตตา ความจริงพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำไม่ใช่สิ่งที่ใครจะเข้าใจได้ง่ายๆ

    เพราะฉะนั้นจะเจาะจงอยากรู้ตรงนี้ หรือว่าอยากรู้ตรงนั้น จะไม่มีทางเข้าใจได้เลย ต้องเข้าใจจริงๆ ถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ซึ่งใครก็รู้ไม่ได้เลย ทุกคนตั้งแต่เกิดมา ไม่ว่าจะในชาติไหนก็ตาม มีเห็น มีได้ยิน มีทุกอย่างตลอดทั้งวัน แต่ไม่รู้ความจริง แล้วคิดถึงผู้ที่สามารถเหนือบุคคลใดทั้งสิ้นที่จะตรัสรู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราเผินๆ อยากรู้คำนี้ก็ขอคำนี้ อยากรู้คำนั้นก็ขอธรรมนั้น แต่ต้องเข้าใจว่าขณะนี้แม้เห็น แม้ได้ยิน ได้กลิ่น มืดหมดด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นความจริงที่มีเนี่ย ต้องมีแน่นอนกำลังเห็นอย่างนี้ กำลังได้ยิน ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้นมืด เพราะไม่รู้อยู่ไปในโลกนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย สนุกชั่วคราว เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวสุข ย้อนไปถึงเมื่อตอนเกิดมา ผ่านสุขผ่านทุกข์มาเท่าไหร่ แล้วเดี๋ยวนี้อยู่ไหน เพราะฉะนั้นก็จะจากโลกนี้ไปด้วยความมืดสนิทเหมือนเดิม ไม่มีใครสามารถที่จะนำไปสู่แสงสว่าง ที่จะรู้ความจริงว่าแต่ละ ๑ ขณะนี้ ไม่ใช่เรา แต่ว่าการที่จะรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เพราะเราอยากรู้ แต่เพราะมีความเข้าใจถูกต้องเพราะไม่รู้จึงฟัง

    เพราะฉะนั้นใครก็ตาม สำนักไหนก็ตาม ไม่ได้พูดให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ไม่ได้บอกว่าเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา ได้ยินเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา แต่สอนให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ นั่งบ้าง นอนบ้าง แล้วจะออกจากความไม่รู้ ที่ไม่รู้ตั้งแต่เกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่จะต้องเข้าใจ พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อน อื่นว่าเราอยู่มานานในโลกนี้ ด้วยความมืดสนิทคือไม่รู้ แล้วก็มีผู้ที่ทรงตรัสรู้สิ่งซึ่งเปิดโลก จากโลกเดิมซึ่งเต็มไปด้วยคน สัตว์ บุคคลต่างๆ เป็นทีละ ๑ ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเนกขัมมะ ไปทำอะไร เห็นไหม ไม่ทราบว่าจะมีคนที่เข้าใจผิด สักเท่าไหร่ประมาณไม่ได้เลย เพราะเค้าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็ต้องรู้ว่าพระองค์ทรงแสดงความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเพียงแค่เอ่ยคำว่า เห็น เราจะไม่รู้เลยว่าเกิดแล้วดับ ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้น แต่มีปัจจัย ฝนตกตามปัจจัย หนาวตามปัจจัย ฟ้าร้องตามปัจจัย ทุกอย่างต้องมีปัจจัย ไม่อย่างงั้นก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย แล้วทั้งหมดก็ไม่พ้นได้ จากสิ่งที่ปรากฏได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ โลก แต่ว่าซ้อนกันสลับเร็วมาก จนปรากฏเป็นนิมิตรูปร่างสัณฐานต่างๆ ถ้าแตกย่อยออกเป็นทีละ ๑ แข็งเป็นแข็งเกิดแล้วดับ เห็นเป็นเห็นเกิดแล้วดับ ถ้าที่ไหนไม่บอกความจริงของสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจถูกต้องว่า ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจตั้งแต่ต้น ไม่มีทางที่จะรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เพราะพระองค์ทรงสอนสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ ถ้าคนไม่รู้ก็พูดไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่าได้ประจักษ์แจ้งความจริง จึงสามารถที่จะตรัสทุกคำเป็นความจริง ซึ่งผู้ฟังต้องไตร่ตรองไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเองซึ่งมืดสนิทมานาน แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง ค่อยๆ ถูกต้องขึ้น จนสามารถที่จะประจักษ์ว่า พระธรรมทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เป็นความจริง เห็นกำลังเห็นเป็นความจริง เห็นเกิดแล้วดับเป็นความจริง เห็นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ใครก็ทำให้เห็นเกิดไม่ได้ เห็นแล้วก็ดับไป ใครก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วไม่มีอะไรในขณะที่เห็น และเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มีตั้งเยอะมีคนมีอะไรตั้งหลายอย่างในขณะที่เห็น แสดงว่ายังไม่สามารถที่จะรอบรู้ จนกระทั่งรู้รอบในสิ่ง ๑ ที่ปรากฏ ไม่มีสิ่งอื่นปรากฏเลย เมื่อนั้นแหละสว่าง ที่จะรู้ว่าสิ่งที่เคยมืดสนิท แท้จริงแล้วไม่มีใครเลยนอกจากสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น และดับไป

    เพราะฉะนั้นในยุคที่ผู้คนที่เป็นชาวพุทธ ไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด ด้วยความเคารพ เชื่อตาม บางคนก็บอกว่า อาจารย์ว่าอย่างนี้ อีกท่านหนึ่งก็อีกอาจารย์หนึ่ง อาจารย์ก็ว่าอย่างโน้น แล้วพระบรมศาสดาตรัสว่าอย่างไร ทำไมไม่คิด ทำไมฟังคำของคนอื่น ฟังได้ ฟังคำของใครก็ได้หมด แต่ต้องพิจารณาว่าคำนั้นจริงหรือเปล่า พูดให้เกิดปัญญาหรือเปล่า เพราะการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ไม่ใช่เพื่อพระองค์พระองค์เดียวที่จะดับกิเลสแต่เห็นกิเลสว่ามีมาก ยากที่ใครจะบำเพ็ญบารมีถึงการที่จะดับได้ เพราะแสนยากต้องอาศัยผู้ที่มีพระอัธยาศัยใหญ่ยิ่ง ที่จะถึงการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เมื่อทรงประจักษ์แจ้งธรรมแล้ว ก็ทรงแสดงความจริงทุกอย่าง โดยละเอียดยิ่งโดยประการทั้งปวง เพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มี ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ ไม่ต้องไปเดินจงกรม ไม่ต้องไปทำอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าจากการฟังพระธรรม ก็ค่อยๆ เข้าใจแต่ละคำต้องศึกษาธรรมทีละคำ แล้วก็แต่ละคำด้วย เพราะเหตุว่าแต่ละคำ กำลังมีจริงๆ แล้วก็ลึกซึ้งด้วย ถ้าพูดถึงสิ่งนี้คือคำนี้ แล้วไปพูดถึงสิ่งอื่นต่อ ยาวมากแล้วจะเข้าใจได้ยังไง

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ ผมนายจรัส ธนการ ผมก็เอาพระไตรปิฏกที่มีข้อความว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่รับ และไม่ยินดีในเงินทอง ก็อ่านให้เจ้าอาวาสฟังพร้อมกับญาติโยมเยอะแยะ ผมก็ถามท่านเจ้าอาวาสว่าท่านรับนี่ ท่านไม่กลัวอบายหรือ เจ้าอาวาสท่านตอบว่าเป็นธรรมดา คือท่านตอบว่ารับกันทั่วประเทศ แล้วท่านไม่กลัวอบายหรือ เพราะในนี้บอกว่าถ้าผิดพระวินัยนี้ก็ถือว่า ทำผิดพระพุทธบัญญัติ ท่านบอกว่ามันอยู่ที่ใจ ส่วนใหญ่ภิกษุจะเข้าใจในลักษณะนี้ และก็บวช โดยมากจะไม่เชื่อเกี่ยวกับเรื่องวัฏฏะ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ผมถามพวกเพื่อนหรือพวก มักจะบอกว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ก็อยากใคร่เรียนถามความเห็นของท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นจริงอย่างนี้ในยุคนี้ เป็นยุคซึ่งไม่มีการเข้าใจพระธรรมวินัย และเป็นยุคที่ไม่สนใจด้วย แต่สนใจในเรื่องปฏิบัติ ในเรื่องครูอาจารย์ แล้วแต่ว่าครูอาจารย์จะให้ทำอะไร ปฏิบัติอะไรก็ทำ แต่ว่าคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้บอกให้ใครทำหรือให้ใครปฏิบัติ ทุกคำเป็นคำที่ทำให้คนนั้น เข้าใจความจริงขณะนั้น เพื่อที่จะได้รู้ว่าก่อนนี้ไม่เคยได้ฟังคำเหล่านี้เลย เพราะฉะนั้นผู้ที่กล่าวคำนี้ ต้องเป็นผู้ที่ตรัสรู้ความจริงจึงได้สามารถที่จะกล่าวถึง สิ่งที่มีจริงโดยละเอียดอย่างยิ่ง โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่กล่าวว่า ภิกษุรับเงินทองเป็นธรรมดา เป็นผู้ไม่ละอาย ไม่รู้ความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต ไม่งั้นก็เหมือนคฤหัสถ์ จะมีอะไรที่ต่างกัน ในเมื่อคฤหัสถ์รับเงินทอง แล้วก็ซื้อขายรถรา หรือว่าช่วยโน่นช่วยนี่อะไรก็ตามแต่ คนนั้นก็จะเป็นภิกษุได้ทำไม ในเมื่อทำงานของคฤหัสถ์ที่ทำ ทำหน้าที่ที่คฤหัสถ์ทำ แต่ว่าสำหรับบรรพชิต รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นบวชอุทิศใคร บวชมีใครเป็นศาสดา แต่ถ้าบวชโดยที่ว่าไม่เข้าใจพระธรรม ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ไม่ได้บวชเพื่อที่จะเข้าใจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทต้องเข้าใจ ความต่างกันของภิกษุ ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย กับภิกษุในธรรมวินัยต่างกันมาก เพราะเหตุว่าถ้าไม่รักษาพระวินัย บวชทำไม มีคำตอบไหม ว่าบวชทำไม ศึกษาธรรมสำหรับคฤหัสถ์เขาศึกษากัน แต่พระไม่ศึกษา คฤหัสถ์รู้ว่าภิกษุรับเงิน และทองไม่ได้ เพราะเหตุว่าได้สละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กระทบกาย เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง สละทรัพย์สมบัติ สละพี่น้องวงศาคณาญาติ สละความสนุกสนาน เพลิดเพลินทั้งหมด เพื่อเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เพื่อขัดเกลาความไม่รู้ และรู้ว่าถ้าสามารถที่จะมีชีวิตที่ขัดเกลากว่าคฤหัสถ์ ก็เป็นสิ่งที่เคยได้สะสมมา ไม่ใช่เป็นการฝืนอัธยาศัย บวชเพราะอยากบวช บวชเพราะเขาชวนให้บวช นี่ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง มิฉะนั้นคฤหัสถ์ชาวพุทธซึ่งไม่ใช่พระ ก็จะไม่รู้ว่าพระภิกษุคือใคร ต้องรู้ว่าพระภิกษุคือใคร และใครเป็นภิกษุในธรรมวินัย ใครไม่ใช่ภิกษุในพระธรรม

    ผู้ฟัง แต่ปัจจุบันความเข้าใจของผู้บวช หรือว่าชาวบ้าน มันไม่ตรงไปตามพุทธประสงค์ เพราะฉะนั้นอาจารย์ว่าบวชตามประเพณี บวชเพื่อหนีโรค บวชเพื่อไม่รู้จะทำอะไร บนไว้บ้างอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างไม่สมควร เว้นบวชเพราะเข้าใจพระธรรม และรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ว่าสามารถสละเพศคฤหัสถ์ ถ้าไม่สามารถสละเพศคฤหัสถ์ ก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ฟังธรรม เข้าใจธรรม ตรงต่อธรรม ขัดเกลากิเลส รู้แจ้งอริยะสัจธรรมได้ด้วย เป็นถึงพระอนาคามี แต่ว่าเวลาที่บรรลุอรหัตถ์แล้ว ก็ไม่เป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะเหตุว่าหมดกิเลสไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้นต้องรู้คุณค่าของพระธรรม และคุณค่าของแต่ละคำ ที่ว่าเมื่อได้ยินแล้ว คำนี้กว่าจะได้ยินทั้งผู้ที่บำเพ็ญบารมีถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ที่เป็นสาวก ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยเห็นประโยชน์มาก่อน จะไม่เป็นผู้ที่ตรง และรู้ว่าประโยชน์อยู่ที่ไหน ต้องรู้ว่ากิเลสเป็นกิเลส ปัญญาคือปัญญา ไม่ใช่ทำไปด้วยความไม่รู้ แล้วก็กล่าวอ้างว่าเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์สมควรอย่างยิ่ง ที่จะเข้าใจพระวินัย เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะไปว่ากล่าวตักเตือนภิกษุได้ เพราะเราเป็นคฤหัสถ์ แต่ว่าเราสามารถที่จะกล่าวคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ทั้งพระธรรม และพระวินัย ให้เป็นที่รู้ทั่วไป เพื่อที่จะได้ไม่ร่วมมือกันทำลายพระศาสนา โดยการส่งเสริมผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุในธรรมวินัย

    ผู้ฟัง กัปป์นี้เป็นภัทรกัปป์ กัปป์นี้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ถึง ๕ พระองค์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรู้ไหมว่า ๕ พระองค์นั้นมีได้ยังไง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อ แต่ต้องเข้าใจธรรมก่อน แล้วก็จะค่อยๆ รู้ว่า เพราะความยากยิ่งในการที่จะรู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขณะนี้เห็นเกิดแล้วดับ ทุกอย่างเกิดแล้วดับจริงๆ แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ เป็นความชัดเจนที่เห็นว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เรา แต่ว่าถ้าไม่มีปัญญา จากการฟัง แล้วค่อยๆ ละคลายความติดข้อง ในความเป็นเรา ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นปัจจัย ที่จะทำให้สามารถรู้เฉพาะ ลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ รวมกันแล้ว ดอกกุหลาบ ไหนละธรรม แต่ละ ๑ อยู่ไหน ก็เป็นดอกกุหลาบไปแล้ว เป็นดอกไม้ใบไม้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจสิ่งที่มี ถ้าเข้าใจ๑ ขณะเดี๋ยวนี้ ก็จะรู้ว่า ๑ ขณะนี้เกิดแล้วดับ แล้วก็มีอีก ๑ ขณะ เกิดสืบต่อไม่หยุดยั้งเลย เป็นสังสารวัฏฏ์ แม้ชาติก่อน จิตขณะสุดท้ายดับไป จิตขณะแรกของชาตินี้ ก็เกิดสืบต่อจากจิตสุดท้ายของชาติก่อน ไม่มีระหว่างคั่นเลย แค่นี้ก็ไม่รู้ใช่มั้ย ไม่รู้ ชาติก่อนกับชาตินี้ก็ไม่ว่ากัน แต่เดี๋ยวนี้กับเมื่อกี้นี้ ก็เป็นอย่างนี้ ก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปคิดถึงกัปป์ก็คือว่าทั้งหมดยาวนานแสนนาน แล้วก็นานๆ ก็จะมีการรู้สภาพธรรม ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะอนุเคราะห์คนอื่นให้ได้เข้าใจด้วยเท่านั้นเอง ก็วนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ

    ผู้ฟัง คือท่านอาจารย์ก็จะเน้นเสมอว่าให้ละความเป็นเราด้วยทิษฐิก่อน

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เพราะอวิชาทำให้เกิดความไม่รู้ ติดข้องในสิ่งที่มี ด้วยเห็นว่าสิ่งนั้นเที่ยง ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงไว้ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งหมดเลย ไม่เว้นเลยซักอย่างเป็นอนัตตา ต้องเข้าใจทีละคำ แล้วค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรองว่าเห็นด้วยไหม ในคำว่าไม่ใช่เราคืออนัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะเหตุว่าหลายอย่างรวมกัน ทั้งแข็ง ทั้งอ่อน ทั้งสี ทั้งกลิ่น ทั้งรส ในสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แล้วเรารู้อะไรหรือเปล่า เพราะไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นเรา แล้วจะไม่ยึดถือว่าเป็นเรา ก็ต่อเมื่อไม่ใช่ความหลงเข้าใจอย่างเดิม แต่ต้องเป็นการที่ฟังแล้วเข้าใจทีละคำ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    8 ก.ย. 2567