ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1013


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๐๑๓

    สนทนาธรรมที่ สำนักงานเขตพระโขนง

    วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงเวลาที่จะแตกย่อย เราก็เข้าใจว่าเป็นตัวเราทั้งหมดเลย แต่ถ้าย่อยออกไปเป็นทีละส่วน ทีละส่วน ทีละส่วน ไหนเรา ตาเป็นตา แขนเป็นแขน ขาเป็นขา แขนขาดไม่ใช่ขาขาด แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ก็เป็นแต่ละส่วน ซึ่งมีจริงๆ ซึ่งท้ายที่สุดลองคิดดูว่าจริงไหม ที่ว่าไม่มีเรามีสิ่งที่มีจริงๆ เท่านั้น แต่ว่ารวมกันแล้วก็เข้าใจผิดว่าเป็นเรา ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ดอกไม้ก็แยกออกไปได้ โต๊ะก็เอาไปฟันให้ละเอียดยิบแตกย่อยให้หมดก็ไม่เหลืออะไร เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงมีแล้วก็หมดไป ชั่วคราวใช่ไหม แม้แต่เกิดแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วเป็นเรารึเปล่า ตายแล้วไม่ใช่เรา แต่ยังไม่ตายเป็นเรา เป็นตัวเรา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่เคยเข้าใจความจริง ที่จะละคลายความยึดมั่น ซึ่งนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะไม่รักใครเกินกว่าตัวเอง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าก็รักมากใช่ไหม ดูแลอาบน้ำ แต่งตัว ตั้งแต่เช้าทุกวัน

    ผู้ฟัง กราบสวัสดีอาจารย์ สองข้อ มีข้อหนึ่ง ต้องทำอย่างไรถึงจะตัดจากกิเลสได้ หรือไม่ทำให้มันลดน้อยลงไป และอีกข้อหนึ่ง วิธีปฏิบัติตัวในการที่จะไม่ทำให้หลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ มีกิเลสเพราะอะไร เห็นไหม ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครเขาจะไปตัดได้ แต่กิเลสมีเพราะอะไร ต้องตัดสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดกิเลส กิเลสถึงจะหมดได้ ไม่ใช่มีเราไปตัดกิเลส ลองเปรียบเทียบดู คำสอนคำพูดไหนถูกต้อง ถ้าไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดกิเลส แต่จะมีตัวตนไปตัดกิเลส จะสำเร็จไหม การฟังธรรมจึงต้องละเอียด เพราะเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ธรรมในพระศาสนาที่ตรัสรู้โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ละเอียดอย่างยิ่ง คนฟังต้องรู้ประโยชน์ว่าเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะหมดกิเลส ก็ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วกิเลสอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าอะไรตัดกิเลส และกิเลสคืออะไร เห็นไหม ต้องตั้งต้นอย่างละเอียดมาก ไม่ใช่ว่ามีเราอยากจะไปตัดกิเลส ทำไมอยากตัดกิเลส กิเลสไม่ดีหรือ แล้วยังไง แล้วกิเลสเกิดจากอะไรก็ไม่รู้สักอย่าง เพราะฉะนั้นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง หายากยิ่ง ที่ใครจะทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้เลย ทั้งๆ ที่ปรากฏทุกวัน เหมือนอยู่ในความมืดสนิท อยู่ไปวันๆ เห็นไปวันๆ ชอบไปวันๆ คิดไปวันๆ แล้วก็ตายจากโลกนี้ไป ไม่มีการรู้ความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วนี่ อยู่ทุกวันนี่จะตายวันไหนก็ได้ โดยที่ไม่รู้มาเลย ว่าแท้ที่จริงแล้วคืออะไร ถ้าเป็นเราตายก็ไม่มีเรา ถ้าไม่มีการเกิดก็ไม่มีเราเกิด แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย สิ่งที่มี มี แต่ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา ใช่ไหม เล็บเมื่อกี้นี้ถ้ายังอยู่ที่ตัว ก็เป็นเล็บของเรา พอตัดเล็บทิ้งออกไป ไหนล่ะ เอาเราไปทิ้งหรือ

    เพราะฉะนั้นแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ที่มีอยู่ที่ตัวนี่ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ ฟังนี่แหละถ้าไม่เข้าใจก็คือกิเลส แต่ฟังเข้าใจเมื่อไหร่เมื่อนั้น ความเข้าใจไม่ใช่กิเลส เพราะฉะนั้นหนทางที่จะละกิเลสก็คือว่าเข้าใจ ความเข้าใจต่างหากละกิเลส ไม่ใช่เราละกิเลส เพราะฉะนั้นคำพูดใดๆ ที่เผิน ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คนจะหลงเข้าใจว่าฟังง่าย ทำง่าย ทำได้ แต่ผิด ทำได้จริงๆ หรือ ทำได้จริงๆ ทำเดี๋ยวนี้ และทำอะไรก็ไม่รู้ เต็มไปด้วยความไม่รู้ แต่ให้ทราบว่า ปัญญาความเห็นที่ถูกต้องละกิเลสไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังจะมีปัญญาไหม จะเอาตัวเราไปละกิเลสได้ยังไง เราตามกิเลสมานานแล้ว ตามมาตั้งแต่เกิดทุกวัน แล้วก็จะคิดไปละกิเลส ด้วยความเป็นตัวตนที่จะไปละ เป็นไปไม่ได้ เพราะตามกิเลสตลอด เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ทำไม่ได้ ไม่มีใครแต่เข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้อง แต่ถ้ามีคนบอกว่าทำอย่างนี้นะ แล้วจะดับกิเลส เชื่อเขาไหม เขาไม่ให้เราเข้าใจอะไรเลยสักอย่างเดียว แต่บอกให้ทำ ก็ตัวเราสิเก่ง ดับกิเลสได้แล้วจริงหรือ กำลังทำนั่นแหละเป็นกิเลสแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ต้องฟังจริงๆ แต่ละคำ ถึงได้เมื่อกี้นี้มีหลายคำถาม แต่แม้แต่คำถามแรก ก็ต้องมีความเข้าใจก่อน แต่ละคำด้วย ค่อยๆ ไตร่ตรองจนกระทั่งมั่นคง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่าสิ่งที่มีจริง มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ก็มี แต่ไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยเกิด เกิดแล้วก็หมดไป ดับไป คนตาบอดเห็นไหม ไม่เห็น คนหูหนวกได้ยินไหม แต่คนตาดีไม่ได้เห็นตลอดเวลา เดี๋ยวก็ได้ยินละเดี๋ยวก็คิดละ เพราะฉะนั้นเห็นกับชั่วคราว ทุกอย่างชั่วคราว ที่สั้นมากเพราะไม่รู้ จึงหลงว่าเป็นเรา และก็ไปหาทางจะไปดับกิเลสได้ยังไง ในเมื่อความไม่รู้ต่างหาก ซึ่งเป็นกิเลส นำมาซึ่งกิเลสทุกอย่าง ต้นเหตุของกิเลสอยู่ที่ความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าจะละกิเลสก็คือค่อยๆ รู้เมื่อไหร่ ความรู้ก็ละความไม่รู้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลส ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ และปัญญาละกิเลส ไม่ใช่ทำยังไง จะปฏิบัติยังไง แล้วถ้าคนอื่นเขาสอนเชื่อเลย แต่ไม่ใช่ปัญญาเลยสักนิดเดียว เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวตน ซึ่งจะไปดับกิเลส แต่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะขณะนั้นก็เป็นกิเลส

    ผู้ฟัง มีอีกข้อนึง ที่ว่าบอกว่าจะปฏิบัติตัวยังไง ในการที่จะไม่ทำให้หลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ สติคืออะไร

    ผู้ฟัง รู้ตัว

    ท่านอาจารย์ รู้ตัวเดี๋ยวนี่รู้ไหม นั่งอยู่นี่รู้ไหมว่านั่ง รู้ตัวไหมว่านั่ง เห็นรู้ตัวมั้ยว่ากำลังเห็น

    ผู้ฟัง รู้ตัว

    ท่านอาจารย์ นั่นหรือสติ เพราะฉะนั้นใช้คำที่ไม่รู้จัก พูดคำที่ไม่รู้จักจนกว่าจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงจะรู้ตัวธรรมแท้ๆ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดอย่างยิ่ง รู้ว่าธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ของใคร ไม่เหมือนคำของใครทั้งหมด เพราะคำของคนอื่น ไม่ใช่คำที่เกิดจากการตรัสรู้จากปัญญาเป็นคำที่คิดเองพูดเอง ถามว่าสติคืออะไรก็ตอบไม่ได้ ตอบได้แค่รู้สึกตัว เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกตัวเป็นสติหรือ แล้วทำยังไงจะไม่หลงลืมสติก็รู้ตัวแล้วไงว่านั่ง ถ้าเข้าใจว่าสติคือรู้ตัวว่านั่ง ก็รู้ตัวแล้ว หลงลืมตรงไหน เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าสติก็ไม่รู้จัก แต่พูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อให้คนอื่นเกิดปัญญาของตนเอง ไม่ใช่ให้ปัญญาของพระองค์ นี่ไปดับกิเลสของใครใคร ไม่ใช่อย่างงั้น ต้องรู้ว่าก่อนฟังธรรม นี่ไม่เข้าใจอะไรทั้งหมดเลย แต่พอฟังแล้วเริ่มเข้าใจ เริ่มเข้าใจเพราะได้ฟังคำซึ่งเป็นธรรมสิ่งที่มีจริง จากการตรัสรู้ เพราะฉะนั้นแต่ละคำนี่ อย่าเพิ่งคิดว่ารู้แล้ว เขาว่ามีสติไม่ใช่เลย ต้องมาบอกก่อนว่าสติคืออะไร ถึงจะรู้ว่าใช่สติหรือไม่ใช่สติ อย่างเมื่อกี้นี้ บอกว่านั่งก็รู้สึกตัวเป็นสตินี่ ไม่ใช่ ตั้งก็ไม่ได้ไม่มี ก็ไม่มี จะไปเอาอะไรตั้งสติอยู่ไหน ตั้งตัวเองก็ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้นฟัง ฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่เราคิดเอง ถ้าเราคิดเองเราก็ต้องไม่นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ตรัสไว้ดีแล้ว ๔๕ พรรษา ตั้งแต่ตรัสรู้จนนิพพาน ทุกคำมีคุณค่าที่จะทำให้เรา ได้เป็นผู้ที่เข้าใจความจริง มิฉะนั้นแล้วเราก็ไม่รู้ว่า เราเกิดมานี่อะไรจริง เพราะฉะนั้นฟังคำให้รู้ว่าคำใดที่ได้ฟัง เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำใดไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่คิดกันเอง ถ้ามีคนบอกให้ตั้งสติ ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราไม่รู้ว่าสติคืออะไร และจะตั้งกันยังไง ไม่รู้ แล้วรู้จักสติหรือยัง ต้องตรง ธรรมนี่ ต้องตรงจึงจะได้สาระ มิฉะนั้นเราก็จะเสียเวลา

    ผู้ฟัง เวลาจะตั้งสติแล้วต้องคิดถึงพระพุทธเจ้าก่อน จะได้ตั้งสติได้

    ท่านอาจารย์ สติเป็นยังไงจะได้ตั้งได้

    ผู้ฟัง ก่อนจะทำอะไรแล้วก็ต้องคิดๆ ก่อนไง คิดก่อนค่อยทำไง

    ท่านอาจารย์ และคิดเป็นเราหรือเป็นสติ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรา คิดไม่ใช่สติ

    ผู้ฟัง อาจารย์ก็อธิบายให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริง นี่ถูกต้องที่สุด คือผู้ฟังเริ่มรู้ว่าไม่เข้าใจ นี่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยของการฟัง และจะได้ฟังแต่ละคำ และเข้าใจไหม ก่อนอื่นสติก็มีแต่ไม่เคยรู้ เห็นไหม สติมีแต่ไม่เคยรู้ และยังเข้าใจว่าสติเป็นเราด้วยซ้ำไป เรามีสติ เราตั้งสติ แต่ตอนนั้นเราก็พูดกันแล้วใช่ไหม สิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ เกิดแล้วก็หมดไปดับไป แล้วก็หายไป แล้วจะเป็นของเรา หรือเป็นเราได้ยังไง เพราะฉะนั้นแต่ละคำต้องตั้งต้นให้ตรง และให้ถูกว่า มีสิ่งที่มีจริงแน่นอน และสิ่งที่มีจริงนี่ต้องเกิด ไม่เกิดก็ไม่มี ค่อยๆ คิด เดี๋ยวนี้สิ่งใดปรากฏสิ่งนั้นต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีไม่ปรากฏ แต่สิ่งที่เกิดนี้ ใครทำให้เกิดขึ้น ไม่มีใครสักคน ได้ยินแล้ว ใครไปทำให้ได้ยินเกิด คิดแล้วใครไปทำให้คิดเกิด ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยที่จะเกิด ไม่ใช่มีเราไปทำ แต่ว่าแยกแล้วก็เป็นแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะสิ่งนั้น สิ่งนั้น สิ่งนั้น ซึ่งไม่ใช่ใครทั้งสิ้น สติเป็นกิเลสหรือเปล่า ไม่รู้ตอบไม่ได้ ใช่ไหม แต่ถ้ารู้แล้วก็สามารถที่จะบอกได้เข้าใจได้ ใครคิดว่าสติเป็นกิเลสบ้าง คิดน่ะคิดไปเถอะ ผิดถูกก็แล้วแต่ แต่ไม่ใช่ความจริงจนกว่าจะเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้อะไรเป็นอะไร โต๊ะมีสติไหม ชุดขาวเป็นสติมั้ย ชุดขาวก็ไม่ใช่สติ ชุดขาวก็คือชุดขาวต้องตรง เพราะฉะนั้น สติไม่ใช่ชุดขาว สติไม่ใช่ชุดเหลือง และสติก็ไม่ใช่เรา เอาแค่นี้ก่อน สิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ มีจริงๆ แต่ไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ใช่ของเราด้วย เพียงแต่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ชั่วคราว แม้สติก็ชั่วคราวด้วย ค่อยๆ รู้ในคำว่าสิ่งที่มีจริงก่อน ว่ามีจริงๆ ไม่มีใครไปทำเลย แต่สิ่งนั้นเกิดแล้วมีปรากฏให้รู้ว่ามีจริง แล้วก็ไม่ใช่ของใคร

    เพราะฉะนั้นตรงกับคำว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงทั้งหลาย เป็นอนัตตา ได้ยินคำว่าอนัตตาไหม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรทั้งหมดเลย คำนี้เปลี่ยนไม่ได้ สิ่งนั้นมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี มีจริงแต่ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราด้วย ไม่มีเราเลยทั้งสิ้น ตั้งต้นอย่างนี้แล้วค่อยๆ เรียนเรื่องสิ่งที่มีจริงทีละ ๑ ทีละ ๑ ทีละ ๑ จริงๆ แล้ว สิ่งที่มีจริงนี่ต้องต่างกันมากเลยใช่ไหม แข็งเป็นกลิ่นได้เปล่า หอมไหม กลิ่นเป็นกลิ่น แข็งเป็นแข็งใช่ไหม หวานเป็นเค็มหรือเปล่า หวานก็เป็นหวาน เค็มก็เป็นเค็ม แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ไม่เกิดก็ไม่ปรากฏว่าหวาน หวานก็ดับไป อย่างอื่นเกิดขึ้นแทนทันที เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าที่เกิดมาในโลกนี้ ชั่วคราว คือแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ มีจริงหมดเลย แยกออกไปแล้วก็เป็นแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่ใช่ใคร และไม่ใช่ของใคร นี่คือเริ่มที่จะฟังธรรม

    ผู้ฟัง คนเราเกิดมาไม่มีสติ เคล็ดลับทำอะไร

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่รู้จักสติไง

    ผู้ฟัง เรารู้จักสตินะ

    ท่านอาจารย์ เรารู้จักเราก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง เวลาเราจะคิดอะไร เราก็ต้องใช้สติคิด

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นเราต้องฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม

    ผู้ฟัง แล้วคนควรเกิดมาไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนสิ เราต้องฟังคำของคนอื่นไหม หรือว่าเราจะคิดของเราอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มีตั้งหลายคำ

    ผู้ฟัง อาจารย์ อธิบายมาแล้วกัน คงไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ อธิบายว่าอย่างนี้ อธิบายว่าสิ่งที่มีจริง มีจริงๆ ถูกต้องไหม ก็ไม่ตอบ แปลว่าว่ามีหรือไม่มีก็ไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเป็นการที่จะค่อยๆ เข้าใจ ความเข้าใจเป็นปัญญา ก็ต้องค่อยๆ คิด แล้วก็เรื่องที่จะพูด ก็ค่อยๆ ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น มากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ตั้งตนขึ้นมาก็นี้เป็นรูป ไม่ใช่ แต่หมายความว่า เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ ไหม มีอะไรไหม มีเสียง อย่างนี้สิ แสดงให้รู้ว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ คือเสียง ถ้าเสียงไม่เกิดมีเสียงไหม เห็นมั้ย นี่คือค่อยๆ เข้าใจละ ทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่เสียงก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรก็ตามทั้งสิ้นที่มี สิ่งนั้นต้องเกิดจึงมี ถูกไหม ถ้าไม่คิดจะมีคิดไหม เป็นคนที่มีเหตุผลไม่มี เพราะฉะนั้นคิดเกิดจึงมีคิด ถ้าคิดไม่เกิดก็ไม่มีคิด เลือกคิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าคิดไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา คิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บางคนคิดดี บางคนคิดชั่ว เริ่มจะถึงสติแล้ว บางคนคิดดีบางคนคิดชั่ว คิดชั่วมีสติไหม ไม่มี คิดดีมีสติไหม ก็ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่ายังไม่ละเอียดพอ แต่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เราเริ่มหัดคิด จะเป็นคนที่หัดมีเหตุผลไม่ใช่เชื่อใคร ไม่ว่าใครเขาบอกเราก็ฟัง แล้วก็ตามไป แต่ว่าต้องเป็นคนที่คิดไตร่ตรอง และการคิดไตร่ตรองนี่เมื่อเป็นสิ่งที่เป็นจริงก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นความถูกต้อง ก็คือสิ่งที่จริงตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น เสียงหมดไปละ เสียงใคร ไม่ใช่เสียงใคร ไม่ใช่เสียงของใคร เสียงเกิดแล้วเสียงก็หมดไป จะไปหาเสียงที่ไหนอีกก็ไม่ได้ จะบอกว่าเป็นของเราก็ไม่ได้ ของใครก็ไม่ได้ และไม่ใช่แต่เฉพาะเสียง ทุกอย่างหมด แม้แต่คิดคิดแล้วก็หมดไป คิดเมื่อกี้นี้ก็หมดไป หมดไปแล้วจะไปหาคิดนั้นอีกที่ไหนก็ไม่ได้ ให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่าสิ่งที่มี มีเมื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีถูกไหม ค่อยๆ ฟัง ก็ต้องฟังจนกว่าจะเป็นความรู้ของตัวเอง ตอนนี้รู้แล้วว่า ถ้าอะไรไม่เกิดก็ไม่มี สิ่งที่มีนั้นคือสิ่งที่เกิดแล้ว เกิดแล้วชั่วคราวก็ดับไป อนิจจังทุกขังอนัตตา เคยได้ยินคำนี้ใช่ไหม แต่ไม่ได้คิดถึงคำนี้เลย พูดตาม เข้าใจนิดนิดหน่อยหน่อย อนิจจังคือไม่เที่ยง เกิดแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย ไม่เที่ยง แต่ไม่เที่ยงนั้นคือทุกอย่างที่มีชั่วคราวมาก พอได้กลิ่นหมดแล้ว ไม่ใช่ทั้งวัน เห็นก็ไม่ใช่ทั้งวัน จำมีจริงไหม ถ้าไม่เกิดจะมีจำไหม มีไหม ถ้าจำไม่เกิดขึ้นจะมีจำไหม นี่คือเริ่มเป็นคนมีเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุผลจะฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เข้าใจ แต่ความมีเหตุผลคือปัญญาที่เริ่มตรง พอจะรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วจึงปรากฏ แต่ไม่รู้ความจริงว่าเกิดแล้วดับ ไม่เข้าใจในความเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าฟังเรื่องอื่นทั้งหมด ก็ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ได้ เพราะยังคงยึดถือว่ายังมีสิ่งนั้นอยู่ ซึ่งความจริงสิ่งใดก็ตาม เกิดแล้วดับแล้วทันทีไม่เหลือเลย จริงหรือเปล่า เห็นไหม ไตร่ตรองไม่ใช่ให้เชื่อ แต่ให้คิดก่อนว่าถูกไหม จริงไหม อะไรก็ตามปรากฏเพราะเกิดขึ้น และก็ดับไป สั้นมากแต่สั้นมาก และสืบต่อกันทั้งวัน จนไม่รู้เลยว่าอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้ามาที่เกิดแล้วดับแล้ว แต่ทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราว อนิจจังทุกขังสิ่งที่สั้นมากแสนสั้น และหายไปเลย จะนำความสุขมาให้อย่างไร เพราะไม่มี มีเพียงให้ติดข้อง ยึดถือว่ายังอยู่ แต่ว่าความจริงหมดแล้วไม่เหลือ เพราะฉะนั้นกว่าเราจะเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก ไม่ใช่ไปทำอะไร เพราะฉะนั้นไปทำอะไรที่จะให้หมดกิเลส ทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ แค่วันนี้ รู้ว่าสิ่งที่มีนี่เกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีแค่นี้ก็เริ่มเป็นความถูกต้องแล้ว และสิ่งที่เกิดบังคับบัญชาก็ไม่ได้ ไม่อยากให้ไฟไหม้ ไฟไหม้ได้มั้ย ก็ไหม้แล้วตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยากเจ็บปวด ก็เจ็บแล้ว เกิดแล้ว ปวดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจ ทีละนิดทีละหน่อย ในสิ่งที่มีจริงในชีวิตทั้งหมด

    ผู้ฟัง คำถาม พอดีได้ฟังบ่อยๆ กับคำพูดที่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อันนี้รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายคำนี้หน่อย

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำ สภาพธรรม ๑ ละ ที่กำลังปรากฏ หมายความว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่มีจริงเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงนั้นแหละ มีสภาวะ มีลักษณะของตน ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย เสียงเปลี่ยนเป็นแข็งไม่ได้ เสียงต้องเป็นเสียง แข็งเป็นรสไม่ได้ แข็งต้องเป็นแข็ง หวานก็มีภาวะลักษณะหวาน เป็นสภาวะของตนที่ต้องหวาน เป็นอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาวธรรมเข้าใจแล้วไหม ธรรมซึ่งมีลักษณะจริงๆ เฉพาะของตนซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ค่อยๆ เข้าใจธรรมตามลำดับ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยน ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ นี่เริ่มเข้าใจถูกต้อง ทีละน้อยทีละน้อย แต่ไม่เปลี่ยนเลยตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย คำที่จริงแล้วเปลี่ยนไม่ได้ คำจริงต้องเป็นคำจริงตลอด เมื่อกี้ถามว่าสภาวธรรมที่ปรากฏใช่ไหม

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สภาวะหรือสภาพเหมือนกัน ว กับ ภ ใช้แทนกันได้ เพราะฉะนั้นภาษาไทยเราจะพูดว่าสภาพธรรม แต่ภาษาอื่นจะใช้สภาวธรรม ความหมายอย่างเดียวกัน ที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้อะไรที่ปรากฏจริงใช่ไหม มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น เห็นแข็งไหม ไม่เห็น เพราะแข็งเป็นสภาวะที่แข็ง รู้เมื่อกระทบสัมผัสแต่ไม่เห็น แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ จริงๆ น่าเหนื่อยไหม ไม่เหนื่อยก็ดี เพราะว่าธรรมจริงๆ แล้วเบาสบาย ค่อยๆ ได้ยินสิ่งซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อน แต่ละคำ ฟังแล้วก็ไม่ลืม จะฟังต่อไปก็เข้าใจอีกได้ พูดถึงสิ่งที่มีจริงทั้งนั้นเลย แต่สิ่งที่มีจริงขยายออกไปได้ ๔๕ พรรษา เพื่อให้เราเห็นจริงๆ ว่าไม่ใช่ของเรา เกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็หมดไป ตอนนี้มีใครไม่รู้จักสภาวธรรมบ้างมั้ย หรือสภาพธรรมสิ่งที่มีลักษณะของตน แข็งเป็นแข็ง เสียงเป็นเสียง นี่แหละเป็นธรรมแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    อ.คำปั่น จากคำถามที่ท่านอาจารย์ได้ถามว่ากิเลสเป็นสติหรือเปล่า จะให้ความเข้าใจอย่างไรอาจารย์อรรณพ

    อ.อรรณพ กิเลสก็คือสิ่งที่ไม่ดีงาม เป็นสิ่งที่เมื่อเกิดกับจิต แล้วก็ทำให้จิตนั้นไม่ดี ยกตัวอย่างกิเลสที่น่ากลัวที่สุดก็คือความไม่รู้ อย่างโจรนี่ เขามีความไม่รู้เยอะมากเลย ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ถึงไปปล้นคนอื่นเขา เพราะฉะนั้นจะต้องประกอบไปด้วยความไม่รู้หรือว่าโมหะ แล้วบางทีก็มีความอยากได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เป็นตัวหลักๆ ของกิเลส เพราะฉะนั้นจะละกิเลสได้ ก็ต้องละความไม่รู้ และสะสมความรู้ ที่จะเป็นไปเพื่อละกิเลส

    อ.คำปั่น สติเป็นธรรมฝ่ายดี ก็ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี และธรรมฝ่ายดีจะไปเกิดกับธรรมฝ่ายไม่ดี ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่กิเลสเกิดขึ้น ความไม่รู้เกิดขึ้น ความติดข้องเกิดขึ้น ไม่มีสติ เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ เริ่มสะสมความจริง จากคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    23 ก.ย. 2567