ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1033
ตอนที่ ๑๐๓๓
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความละเอียดอย่างยิ่งของความติดข้อง อย่างเบาบางที่ใครก็ไม่รู้ได้ว่า มีตั้งแต่ระดับที่ไม่รู้ตัวเลยว่ารักตัว
อ.อรรณพ ถ้าท่านอาจารย์พูดถึงความรักตัว ก็หมายความว่ามีความยึดถือว่ามีตัวเรา แล้วก็เมื่อยึดถือว่ามีตัวเรา ก็ต้องยึดถือว่ามีบุคคลอื่นรวมถึงสิ่งต่างๆ ทั้งที่ไม่ได้มีชีวิตอะไร รถ บ้าน สิ่งของต่างๆ ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามถ้ายังมีความยึดถือว่าเป็นตัว ก็ยังต้องมีความรักตัวเอง แต่ก็ต้องละเอียด ท่านอาจารย์อย่างพวกที่เขาติดยาเสพติด คนทั่วไปเขาบอกว่า เขาไม่รักตัวเองไปติดยาเสพติด ไปทำให้ตัวเองลำบาก อย่างคนที่ติดยาเสพติดเขารักตัวเขาอย่างไรท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รักก็ไม่เสพแน่
อ.อรรณพ เพราะอยากให้ตัวเองสบาย ใช่ไหม อยากให้ตัวเองมีความรู้สึกที่สบาย เขาก็ยึดความรู้สึกว่าเป็นเขา แล้วก็ต้องการความรู้สึกที่สบาย แต่ด้วยความไม่รู้ในโทษ ของยาเสพติดนั้น
ท่านอาจารย์ แล้วความรักตัวนี่ถูกหรือผิด
อ.อรรณพ ถ้าผมพูดแบบแย้ง พูดแย้ง คืออาจารย์ถามว่าความรักตัวนี่ถูกหรือผิด ถ้ารักตัวในทางที่ไม่ดีก็ผิด ถ้ารักตัวในทางที่ดีก็ถูก
ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่มีตัว
อ.อรรณพ ก็คิดไปเองว่ามี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถูกหรือผิด เมื่อไม่มีตัว แล้วก็ยังเข้าใจว่ามีตัว แล้วก็รักตัวด้วย ถูกหรือผิด
อ.อรรณพ อันนี้ก็ต้องผิด แต่ว่ายากที่จะเข้าใจเช่นนั้น เพราะว่าเราเคยคุ้นกันว่า ถ้ารักตัวในทางที่ผิดก็คือไม่ดี รักตัวก็ไปเอาเปรียบคนอื่นเขา ไปโกงเพื่อให้ได้
ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจว่ามีตัวจึงรักตัว แต่ถ้ารู้ว่าไม่มีตัว จะรักตัวได้อย่างไรในเมื่อไม่มีตัว
อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ ชี้ถึงจุดเบื้องต้นเลย จุดแรกเริ่มกำเนิดเลย เพราะมีความ ยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา จึงมีความรักตัวเราผิดตั้งแต่ว่ายึดในสิ่งที่ไม่มี ว่ามี เช่นนั้นเองใช่ไหมท่านอาจารย์ ยึดในสิ่งที่ไม่มีว่ามี ทีนี้ตัวเราก็นั่งอยู่ ท่านอาจารย์บอกว่าไม่มี จะได้อย่างไร ผมเชื่อว่าผู้ที่ท่านมาใหม่ๆ ยากที่จะเข้าใจ ก่อนที่จะสนทนาก็ได้พบกับท่านผู้เป็นทีมงานจัดสนทนาธรรม ท่านก็ปรารภว่า เอาง่ายๆ หน่อยนะอาจารย์ เอาเป็นพื้นๆ หน่อย เพราะว่าฟังแล้วก็คงจะยากสำหรับผู้ที่ใหม่ ไม่ง่ายแน่นอน พระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ถ้าอยากฟังธรรมที่ง่ายๆ ท่านอาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ เบาๆ ง่ายๆ คือเบาๆ แล้วความจริงกับความไม่จริงต้องการอย่างไหน
อ.อรรณพ ต้องการความจริง แต่เอาแบบง่ายๆ หน่อยได้ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม สิ่งที่มี ธรรมดา เห็นนี่ยากหรือง่าย
อ.อรรณพ ก็มีอยู่
ท่านอาจารย์ ยากไหมหรือง่าย ใครก็รู้ เบาไหม พูดถึงเรื่องเห็น
อ.อรรณพ คือถ้าท่านอาจารย์ถามแค่นี้ ใครๆ ก็เห็นด้วยว่า เห็น ได้ยิน มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึกทุกคนยอมรับว่ามี แต่พอบอกว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึกเป็นธรรมไม่ใช่เรา อันนี้จะยากตรงนี้เลย
ท่านอาจารย์ ไม่ยากเลย อันนี้เป็นการเริ่มต้นให้เป็นผู้ตรง ที่จะได้เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิเช่นนั้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ถ้าเราไม่กล่าวถึงสิ่งที่มีว่า นั่นแหละคือสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ซึ่งชาวโลกไม่รู้ เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจถูกว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงจริง
อ.อรรณพ คือธรรมไม่ง่าย แต่ค่อยๆ เข้าใจได้ แล้วเบื้องต้นของความเข้าใจก็คือ ฟังแล้วค่อยๆ ไตร่ตรอง ว่าธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง คือเห็น ได้ยิน ที่มีจริงๆ แต่ว่าที่ยากก็คือ เห็นก็ยังเป็นเราเห็น
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปหาเห็นเลย ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรหมด มีแล้วแต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทำให้รู้ว่าพระองค์ตรัสรู้อะไร ทรงตรัสรู้สิ่งที่มีตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นซึ่งคนอื่นไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราฟังคำที่พูดถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งคนอื่นไม่รู้ แต่จะรู้เมื่อฟังพระองค์ แล้วก็ได้เริ่มเข้าใจว่านี่แหละคือหนทาง ที่จะละกิเลส เพราะเหตุว่ากิเลสไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเอง ถ้าไม่มีกิเลสเป็นทุกข์ไหม คิดง่ายๆ เบาๆ ถ้าไม่มีกิเลสเป็นทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทุกข์ไหม
อ.อรรณพ ไม่ทุกข์แน่
ท่านอาจารย์ เพราะดับกิเลสหมด แต่เราเป็นทุกข์ไหม เพราะไม่รู้ และมีกิเลส เพราะฉะนั้นหนทางที่จะดับทุกข์ ก็คือว่ามีความรู้ที่จะดับกิเลส
อ.อรรณพ แล้วอีกอย่างที่เป็นความยาก ที่มาได้ยินได้ฟังธรรมอย่างนี้ อย่างที่กำลังสนทนากันนี่ เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาก็คุ้นเคยกับ คำว่าพระพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนาก็คือการให้ทาน รักษาศีล หรืออะไรดีๆ อย่างเช่นมีความกตัญญูอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่ดี ก็คิดว่าสิ่งที่ดีอย่างนี้ ก็คิดว่าอันนี้คือพุทธศาสนา ท่านอาจารย์จะช่วยแสดงว่าพระพุทธศาสนาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การให้ทาน รักษาศีล อะไรอย่างนี้ อย่างไร
ท่านอาจารย์ ใครก็พูดได้ คำสอนของใครก็มีทั่วโลก ให้ทานก็ให้กัน ศีลก็รักษากัน แต่จะไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเพียงแต่เป็นคนดี ให้ทาน รักษาศีล
อ.อรรณพ ซึ่งตรงนี้เป็นตรงที่ท่าน สมควรที่จะพิจารณาในความแตกต่างตรงนี้ เพราะว่าถ้าท่านต้องการธรรมง่ายๆ ธรรมพื้นๆ ไม่ต้องมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ไม่มีพระศาสนาเว้นว่างจากพระพุทธศาสนา มีการให้ทานไหม มี มีศีลไหม มี ถ้าต้องการอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องมีพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาแสดงถึงสิ่งที่เป็นจริงถึงที่สุด อันนี้ถามท่านอาจารย์ว่าถ้าความจริงถึงที่สุด พระพุทธศาสนาละเอียด แล้วก็ลุ่มลึกเหลือเกิน เอาแค่ทาน ศีล ธรรมดาทั่วไปอย่างนี้พอแล้วไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องฟังธรรมก็มีทาน มีศีล
อ.อรรณพ ก็แล้วถ้ามีทาน มีศีล โดยไม่ต้องฟังธรรม แล้วก็พอแล้วไม่ต้องฟังได้ไหม
ท่านอาจารย์ คนที่ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัย อย่างที่ได้กล่าวตั้งแต่ตอนต้น มีบุคคล ๒ จำพวก พวกหนึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังเลยแล้วก็ไม่ต้องการฟังด้วย ถามก็ไม่ฟัง ชวนก็ไม่ฟังสักอย่างเดียว แต่คนที่เห็นประโยชน์ สะสมมาแล้วที่จะรู้ว่าชีวิตแสนสั้น แล้วก็วันหนึ่งๆ รู้รึเปล่าว่าชั่วมากกว่าดี ไม่ต้องไปไหน อยู่เฉยๆ อย่างนี้แหละ ไม่รู้แล้วว่ามีกิเลส เพราะแม้ความไม่รู้ก็เป็นกิเลส ใครจะมาบอกอย่างนี้ได้ ให้เรารู้ความจริงว่า ไม่ใช่เราแต่ว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย ใครจะไม่โกรธเกิดขึ้นโกรธเกิดแล้ว ใครจะไม่ให้คิด คิดแล้ว แล้วก็คิดอย่างที่ไม่อยากจะคิดก็เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย
เพราะฉะนั้นเริ่มเห็นการที่ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาให้สุขให้ทุกข์ ให้เห็น ให้ได้ยิน ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นได้เลย แต่ก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วก็เป็นอย่างนี้แหละมานานแล้วด้วย ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ แสนโกฎกัลป์ชาติ ประมาณไม่ได้เลยว่านานเท่าไหร่ พระพุทธเจ้ากี่พระองค์ตรัสรู้ ปรินิพพานไปแล้ว แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะได้คำทำนายจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ก็ได้ฟังธรรมมาก่อน ฟังได้รับคำพยากรณ์แล้ว ก็ยังต้องได้พบพระพุทธเจ้าอีกรวมแล้ว ๒๔ พระองค์ กว่าจะถึงการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะกิเลสเต็ม ยังไม่ได้ดับเลย แต่เพราะบารมีการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว ค่อยๆ ฟังธรรมเหมือนเดี๋ยวนี้ เริ่มฟังเริ่มรู้ว่าธรรมคืออะไร แล้วก็มีการสนใจ ศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ของการที่ว่า เกิดมาแล้วตายไปแล้วไม่รู้นี่ รู้ดีกว่าไหม แล้วก็ไม่ต้องไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินี้หรอก เพราะแสนไกลแค่สะสมไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งสามารถที่จะรู้ได้ นั่นคือการที่เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์
เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ว่าจะเห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม หรือว่าไม่เห็นประโยชน์ ถ้าเห็นประโยชน์ ก็คือว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทว่า พระธรรมต้องยากแน่นอน แต่รู้ได้เข้าใจได้ เพราะกำลังมีเดี๋ยวนี้ ด้วยเหตุนี้การสนทนาธรรมเป็นมงคล ไม่ใช่ฟังอย่างเดียว มีข้อสงสัยประการใดหรือจะพูดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ประโยชน์คือความเข้าใจทีละคำ เช่นอริยสัจจะ ถ้าพูดแล้วเรารู้ว่าสัจจะคืออะไร เพราะว่าอริยสัจจธรรมต้องมีธรรม ถ้าไม่มีธรรมจะมีอะไร สัจจธรรมก็ไม่มี เพราะฉะนั้นมีสัจจธรรม ก็คือสิ่งที่มีนี้แหละเป็นความจริง แต่เคยรู้ไหมว่าเป็นธรรม ไม่รู้เลย ใช่ไหม เป็นขนม เป็นดอกไม้ เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่รู้ว่าแต่ละหนึ่งเป็นธรรม ซึ่งรวมกัน กลิ่นเป็นกลิ่น ไม่ใช่สี รสเป็นรส ไม่ใช่กลิ่น แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง รวมกันแล้วเราไม่เคยสนใจเลย แต่ว่าเรายึดถือ รวมสิ่งที่รวมกันว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง จึงเป็นอัตตา
เพราะฉะนั้นคำว่าอัตตา มีทั้งภายใน และภายนอก อัตตาคือสิ่งหนึ่งสิ่งใด หมายความว่ามีสิ่งหนึ่งที่รวมกันแล้ว นี่คุณอรรณพใช่ไหม แต่ตาเป็นตา หูเป็นหู คิดเป็นคิด จำเป็นจำ ทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละหนึ่งแต่รวมกันแล้วเป็นคุณอรรณพ เป็นอัตตา แต่ถ้ายึดถือสิ่งที่มีนั้นว่าเป็นเราใช้คำว่าสักกายะ ของเรา เพราะฉะนั้นมีคำว่าอัตตานุทิฏฐิ กับสักกายทิฏฐิ ๒ คำ ทิฏฐิคือความเห็น ไม่ว่าจะความเห็นถูกความเห็นผิด เพราะฉะนั้นมีคำว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นถูก แล้วก็มิจฉาทิฎฐิความเห็นผิด ความเห็นผิดมีมาก แม้เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ถูกใช่ไหม เริ่มจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หมายความว่าสิ่งนั้นเที่ยง ไม่เห็นดับไปเลย นี่ก็ผิดตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นทิฏฐิที่เป็นอัตตาทั้งหมด ผิด เป็นอัตตานุทิฏฐิทั้งนั้น เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นดอกไม้ เป็นเก้าอี้ แต่ถ้าอัตตานั้นอยู่ตรงนี้ ยึดถือว่าเราก็เป็นสักกายทิฏฐิ ทุกคนมีไหมสักกายทิฎฐิ แล้วก็มีอัตตานุทิฏฐิไหม มี ทิฏฐิเป็นความเห็นผิดหมายความว่าทุกคนมีความเห็นผิด จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ถ้าเห็นถูกแล้ว สัมมาทิฏฐิต้องเข้าใจอีกว่า เห็นอะไรจึงถูก
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำให้เข้าใจคำที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เคยรู้จักเลย กล่าวได้เลยว่าตั้งแต่เกิดจนตายพูดคำที่ไม่รู้จัก อริยสัจจธรรม ใช่ไหม รู้จักธรรมไหม ธรรมคือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม ถ้ายังไม่รู้จักว่าอย่างนี้เป็นธรรม ก็เป็นอัตตานุทิฏฐิความเห็นว่ามีเรา แล้วก็นี่เป็นเรา เพราะฉะนั้นอริยสัจจธรรมสิ่ง ที่มีจริงเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนี้ให้เป็นอื่นไม่ได้เลย เปลี่ยนเสียงให้เป็นเห็นก็ไม่ได้เปลี่ยนกลิ่นให้เป็นหวานก็ไม่ได้ แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน จึงใช้คำว่าธาตุ หรือ ธา-ตุ เป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตน ถ้าธรรมแต่ละหนึ่งไม่มีลักษณะหลากหลาย เราจะมีคำพูดที่กล่าวถึงธรรมแต่ละหนึ่งไหม ก็ไม่มี ใช่ไหม แต่เพราะเหตุว่าทุกคำ เสียงนี่เป็นไปตามความหมาย ถ้าพูดถึงเห็นทุกคนไม่ได้คิดถึงหู เพราะฉะนั้นทุกเสียงนี่เป็นไปตามความหมายของสิ่งที่มีจริง ด้วยเหตุนี้ธรรมมี แต่เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นความเห็นผิด ซึ่งเป็นอัตตา จึงเป็นอัตตานุทิฏฐิ สัจจธรรมต้องมีธรรม ซึ่งเป็นความจริงสัจจธรรม แต่อริยสัจจธรรม ต่างกับธรรม หรือสัจจธรรมแล้วใช่ไหมธรรมมีจริง ธรรมทั้งหมดใครก็เปลี่ยนไม่ได้ เป็นสัจจธรรม เรากำลังพูดถึงความจริง ถ้าพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เป็นอัตตา แต่ถ้าพูดถึงธรรมคือหนึ่ง แล้วก็เป็นสัจจะ แล้วก็เป็นความจริงซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ด้วย แต่ธรรมนั้นเป็นอริยสัจจธรรมหรือยัง ไม่ใช่เราพูดชื่อ อริยสัจจะธรรม ๔ ยังไงกัน ไม่ได้เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้จักแต่ชื่อที่บอกเล่าตามๆ กันมา แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม บอกได้ไหมว่าอริยสัจจธรรมคืออะไรบ้าง
อ.อรรณพ ในแวดวงของพวกนักวิชาการเรา เอาหลักอริยสัจ ๔ มาเพิ่มขีดสมรรถนะในการปฏิบัติงาน ก็ดูเหมือนเห็นประโยชน์ของคำสอนในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ แล้วก็จะเอาอริยสัจ ๔ มาปรับหรือมาประยุกต์ ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้ให้เกิดประโยชน์ในกิจการงานอะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ พูดง่ายมาก เห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนา แต่ความจริงยังไม่เห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนาต่างหาก ถ้าเห็นประโยชน์ต้องรู้ว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร ถ้ายังไม่รู้แล้วจะบอกว่าเห็นประโยชน์ได้ไหม ถ้าเป็นคนที่ตรงที่สุด จึงจะสามารถได้สาระจากพระธรรม เพราะว่าธรรมจริง ธรรมตรง ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด คิดเองไม่ได้เลย เราเพียงแต่พูด แต่ว่าเราไม่ได้เข้าใจคำที่เราพูด พูดคำที่ไม่รู้จักตลอดเวลาจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แล้วมีความเข้าใจในธรรม เมื่อนั้นเราก็พูดคำที่เรารู้จัก อย่างอริยสัจจธรรม พูดอย่างไม่รู้จักกับพูดอย่างรู้จักนี้ก็ต้องต่างกันมาก
อ.วิชัย ก่อนที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ คือยังข้องต่อการที่จะตรัสรู้อยู่ ฉะนั้นธรรมมี แต่เมื่อยังไม่ตรัสรู้ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังไม่มี แต่เพราะตรัสรู้ รู้แจ้งในอริยสัจจธรรม ความจริงที่มีในขณะนี้ ดังนั้นการเริ่มต้นที่จะเข้าใจความจริง เห็นมีจริงไหม ทุกท่านก็เห็น แต่ยังไม่เข้าใจว่าเห็นคืออะไร ซึ่งเห็นก็เป็นปกติธรรมดา ได้ยินก็มีจริงๆ แต่จากการตรัสรู้พระองค์แสดงสิ่งที่มีคือ เกิดขึ้น แล้วดับไป ตั้งอยู่ในสภาพนั้นหรือลักษณะนั้นดำรงอยู่ตลอดไปไม่ได้ ต้องมีการเกิดขึ้น แล้วดับไป รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น คือทุกขอริยสัจจะ ใช่ไหม เพียงเริ่มเข้าใจว่า ความจริงขณะนี้กว่าจะถึงการตรัสรู้ ถ้าไม่มีการเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะถึงการตรัสรู้ได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นปัญญาที่เห็นคุณของพระธรรม ว่าความจริงอย่างนี้หาฟังยากมาก ที่จะแสดงความจริงแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง โดยละเอียด ธรรมมีจริงแต่ถ้าไม่มีพระธรรมที่แสดง ความจริงอย่างละเอียดบุคคลนั้นก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ คือเข้าใจผิด หลงผิดด้วยความไม่รู้ว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติม
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเบื้องต้น ทุกอย่างต้องตั้งต้น ที่จะต้องรู้ว่าภิกขุหรือภิกษุในภาษาไทยคือใคร คำถามเหมือนง่าย เห็นตามท้องถนน ในวัดวาอาราม ทุกหนทุกแห่ง ใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ แล้วภิกษุคือใคร คือผู้ที่ได้ฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรมเหมือนอย่างเราคฤหัสถ์ก่อนบวชใช่ไหม ก็เป็นคฤหัสถ์คือผู้ครองเรือน เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว คนที่สะสมมา เห็นโทษของการครองเรือน แล้วก็สะสมมาที่จะสละ ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างคฤหัสถ์หมด ทรัพย์สินเงินทอง วงศาคณาญาติ กิจการงาน ภาระหน้าที่ต่างๆ เพราะเห็นประโยชน์ใหญ่ในการที่จะสละชีวิต เพื่อได้ฟังพระธรรม และขัดเกลากิเลสด้วยพระธรรม เพราะรู้ว่าถ้าไม่มีการเข้าใจธรรมแล้ว ไม่มีอะไรจะขัดกิเลสได้เลย เพราะฉะนั้นภิกษุ เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมได้ฟังพระธรรม แล้วก็มีความมั่นคงที่จะอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่เห็นกิเลส และละกิเลส ละเอียดกว่าคฤหัสถ์ เพราะว่ากิเลสของคฤหัสถ์ ถ้าเทียบกับกิเลสของผู้ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต แล้วห่างไกลกันมาก คฤหัสถ์ก็รับประทานอาหารอร่อยใช้ไหม พระภิกษุก็รับประทานอาหารอร่อยเหมือนกันเลย แล้วสละกิเลสตรงไหน ถ้าไม่มีธรรมที่จะมีความเข้าใจอย่างที่เราเริ่มฟัง เหมือนท่านเหล่านั้นก่อนที่ท่านจะบวชเป็นพระภิกษุ ท่านต้องได้ฟังธรรมก่อน รู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีการเกิดแล้วดับไป ตลอดเวลา แล้วสิ่งที่ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย ปัญญาของใครสามารถที่จะมั่นคงรู้ว่า ชีวิตของชาวโลกวุ่นวาย เต็มไปด้วยความติดข้องในสิ่งที่ไม่มี เพราะเหตุว่า ก่อนมี ไม่มีเลย แล้วก็เกิดขึ้นนิดเดียว สั้นมาก แสนสั้นสุดที่จะประมาณได้ จนไม่มีใครรู้ว่าขณะนี้กำลังเกิดดับอย่างเร็วที่สุด จึงลวงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นคน เป็นวัตถุ เป็นอัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเห็นความละเอียดลึกซึ้งอย่างนี้ แล้วมีความมั่นคงว่าชีวิตนี้ไม่มีประโยชน์ที่จะครองเรือนอย่างคฤหัสถ์ ถ้าสามารถที่จะมั่นคงในการที่จะดำเนินตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเพศของภิกษุ ซึ่งบรรพชาหมายความว่าสละ ละทุกอย่าง อุปสมบทเข้าใกล้ความสงบ ในเพศบรรพชิต ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นก็มีการสำนึกว่าเราไม่ใช่คฤหัสถ์แล้ว การที่บวชแล้วกิเลสยังมี ก็มีการประพฤติเหมือนที่เคยกระทำในเพศคฤหัสถ์ เป็นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติโทษ แล้วก็ประชุมสงฆ์ชี้แจงว่า ทำอย่างนี้เหมือนคฤหัสถ์ สมควรไหมแก่การเป็นเพศบรรพชิต เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่า ผู้ที่เป็นภิกษุต้องประพฤติอย่างที่ได้ทรงบัญญัติแล้ว ถ้าไม่ได้ประพฤติตาม ก็มีอาบัติ คือโทษที่ล่วงละเมิดสิกขาบท ตั้งแต่เบาจนกระถึงหนักที่สุด ที่ต้องพ้นจากความเป็นภิกษุ เพราะฉะนั้นรู้จักภิกษุหรือยัง ว่าเป็นใคร
อ.วิชัย ท่านอาจารย์ แล้วเหตุใด ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จึงไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1021
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1022
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1023
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1024
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1025
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1026
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1027
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1028
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1029
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1030
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1031
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1032
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1033
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1034
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1035
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1036
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1037
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1038
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1039
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1040
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1041
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1042
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1043
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1044
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1045
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1046
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1047
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1048
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1049
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1050
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1051
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1052
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1053
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1054
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1055
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1056
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1057
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1058
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1059
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1060
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1061
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1062
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1063
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1064
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1065
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1066
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1067
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1068
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1069
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1070
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1071
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1072
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1073
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1074
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1075
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1076
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1077
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1078
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1079
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1080