ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1037


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๐๓๗

    สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร

    วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะฟังพระธรรม และที่เข้าใจก็เป็นปัญญา ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มี ขณะนี้เพียงเข้าใจเรื่องของสิ่งที่มี แต่ยังไม่เข้าใจตรงขณะที่สิ่งนั้นปรากฏทีละหนึ่ง เพราะปรากฏรวมกัน เพราะฉะนั้นก็ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็มีธรรม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีนามธรรมกับรูปธรรม แล้วก็รูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่ารูปจะสวยงามสักเท่าไหร่ กลิ่นจะหอมสักเท่าไหร่ ก็รู้อะไรไม่ได้เลย แต่ธาตุรู้มี ๒ อย่างที่เกิดขึ้น คือจิตกับเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เมื่อเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นก็มีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ และต่อไปก็จะรู้ว่าจิตรู้ได้ทุกอย่าง จิตรู้นิพพานได้ไหม เห็นไหม เพราะไม่ลืมว่าจิตรู้ได้ทุกอย่าง เจตสิกรู้อย่างเดียวกับจิต ดับพร้อมจิต แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานอย่างจิต เพราะจิตแค่รู้ แต่เจตสิกชอบ รู้โดยฐานะที่พอใจในสิ่งนั้น รู้โดยฐานะที่ขุ่นเคืองไม่พอใจในสิ่งนั้น ก็เป็นโทสะ รู้ในฐานะที่มีความกรุณาเมตตาในสิ่งนั้นก็เป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้นทั้งวันที่เคยเป็นเราก็คือจิต เจตสิก รูป เดี๋ยวนี้ใครรู้ ถ้าไม่ฟังไม่รู้ ฟังแล้วก็ยังไม่รู้ จนกว่าปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะขณะนี้กำลังคิดถึงอะไร คิดถึงสิ่งที่ปรากฏ เห็นไหม คิดก็เป็นจิตไม่ใช่เห็น แต่เพราะเห็นจึงคิดตามที่เห็น ทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม คือสิ่งที่มีจริง ก็ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีจิตไหม ถ้าเดี๋ยวนี้มีจิต จิตคืออะไร ก็ทบทวนเท่านั้นเอง กำลังมีธาตุรู้ ถ้าเป็นคนที่ตายเป็นศพ ไม่เห็น มีแต่รูป แต่ขณะนี้ที่เห็นคิดดูว่าต่างกับรูปที่ไม่มีจิต

    เพราะฉะนั้นเรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริง เห็นเดี๋ยวนี้มีจริงแน่ๆ ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่รู้ว่ามีอะไรที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นธาตุรู้เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏแสดงว่าไม่มีธาตุรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ปรากฏ ก็ต้องมีธาตุรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เราเรียกตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าธาตุนั้นเป็นธาตุรู้คือ บางครั้งก็บัญญัติใช้คำว่าจิตตัง หรือจิตตะหมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้เฉพาะสิ่งนั้น ไม่รักไม่ชัง ไม่จำอะไรเลย แค่รู้ นั่นคือลักษณะของจิต แต่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น เกิดเองไม่ได้ ลองไปทำให้อะไรเกิด ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่ต้องมีสิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นเองโดยความเป็นอนัตตา ทำให้สิ่งที่เกิดเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้จิตเห็น ได้ยิน เสียงปรากฏ ขณะที่เสียงปรากฏ นั่นคือจิตกำลังรู้เฉพาะเสียง แต่คนเราหรือว่าสิ่งที่มีชีวิต ไม่ได้มีแต่เฉพาะเห็น เห็นแล้วมีคิด มีชอบ มีไม่ชอบ มีจำ มีริษยา มีพยาบาท ทั้งหมดในชีวิตประจำวันเป็นเจตสิก เมื่อไม่ใช่ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ก็เป็นเจตสิกทั้งหมด เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นไม่ทำอะไรเลย นอกจากรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏ สภาพนามธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เช่น ความจำ จำสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่มีสิ่งใดปรากฏเลยจะไปจำอะไร แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ก็มีธาตุจำ ซึ่งไม่ใช่จิตที่รู้แจ้ง แต่เพราะอาศัยกันเกิดพร้อมกัน สภาพหนึ่งรู้แจ้ง อีกสภาพหนึ่งจำสิ่งเดียวกันที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ขณะนี้ก็มีจิตที่กำลังรู้แจ้ง และมีความจำเกิดขึ้นด้วย สภาพจำภาษาบาลีใช้คำว่าสัญญาเจตสิก ภาษาบาลีก็ต้องออกเสียงทุกคำ เจตสิกะ แต่ว่าของเราก็พูดง่ายๆ อย่างคนไทยที่คุ้นเคยก็คือสัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ถ้าไม่จำจะไม่มีอะไรที่ปรากฏเลย แต่เมื่อมีการที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ มีธรรมหนึ่งที่จำสิ่งนั้นแล้ว

    ด้วยเหตุนี้เจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น จะมีจิตโดยไม่มีเจตสิก เกิดไม่ได้เลย เพราะจิตเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเจตสิก และเจตสิกจะไม่เกิดกับรูป แต่เกิดกับจิต เมื่อไหร่ที่จิตเกิดเมื่อนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเจตสิกหลากหลายเป็น ๕๒ ประเภท ความพอใจมีไหม เพราะมีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็พอใจในสิ่งที่กำลังรู้ ไม่ใช่ไปพอใจในสิ่งอื่น แต่พอใจในสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง และเจตสิกก็พอใจในสิ่งที่กำลังเป็นอารมณ์ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้นมีจิต สภาพรู้ ต้องมีอารมณ์หรืออารัมมณะ หรือบางครั้งจะใช้คำว่า อาลัมพนะ เพราะฉะนั้นนี่ก็คืออีกภาษาหนึ่ง แต่หมายความถึงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เป็นอารัมมณะของจิตที่กำลังเห็น เสียงที่กำลังปรากฏก็เป็น อารัมมณะ คือสิ่งที่จิตกำลังได้ยินเฉพาะนั้น แต่ในขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภทอย่างน้อย

    เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งที่จิตหนึ่งประเภทเกิด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก ทำให้จิตหลากหลายเป็นจิตประเภทต่างๆ เป็นจิตที่มีความกรุณาเกิดร่วมด้วยก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตที่มีโทสะ พยาปาทะเป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง เพราะทำให้จิตนั้นเป็นจิตประเภทนั้น เศร้าหมองไปด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดี หรือว่าผ่องใสด้วยสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี เพราะฉะนั้นจิตไม่ทำอะไรเจตสิกเลย เพียงรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเจตสิกที่เกิดด้วยกัน พร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ทำหน้าที่ของตนในขณะที่จิตกำลังรู้แจ้ง ทำหน้าที่รู้แจ้ง เจตสิกแต่ละหนึ่งก็ทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละหนึ่ง ในอารมณ์เดียวกันที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจิตเห็นเดี๋ยวนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง ก็ไม่มีใครจะสามารถจะรู้ได้เลย แม้ว่าเป็นธาตุที่เกิดขึ้นพร้อมเจตสิก ก็ไม่มีใครรู้ แต่จากการที่ทรงตรัสรู้ ก็ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ผัสสเจตสิก ได้ยินชื่อคนไทยก็ได้ยินบ่อยๆ ผัสสะคือกระทบ เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้เสียงปรากฏ หมายความว่า ผัสสเจตสิกเกิดพร้อมจิต กระทบเสียงพร้อมกับจิตที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นจิตจะไม่ได้ยินไม่ได้ เพราะเจตสิกที่เกิดกับจิตกระทบเสียง เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นพร้อมเจตสิกนั้นต้องได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครเลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย เลือกอารมณ์ไม่ได้ เลือกจิตไม่ได้เลือกอะไรไม่ได้เลย เพราะว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นจึงเกิดขึ้นได้ นี่ค่อยๆ เห็นความเป็นอนัตตาคือไม่ใช่เรา จนกว่าจะถึงที่สุดโดยการประจักษ์แจ้ง เดี๋ยวนี้เองทั้งหมด แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ก็เป็นธรรมที่ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ รู้ว่ามี เหมือนคนกำลังบอกเราว่าใต้มหาสมุทรมีอะไรบ้าง แต่เราอยู่บนฝั่ง มองไม่เห็น แต่เขาบอกเราว่าใต้มหาสมุทรมีอะไรบ้าง เหมือนเดี๋ยวนี้มีจิต มีเจตสิก กำลังเกิดดับ ทำหน้าที่ของจิตเจตสิก ก็ไม่เห็น

    เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งสามารถเป็นแสงสว่างที่จะทำให้สิ่งที่อยู่ในความมืดนั้นปรากฏ โดยเลือกไม่ได้ ทั้งหมดก็คือว่าตามเหตุตามปัจจัย เพื่อละคลายความติดข้อง สำคัญในสิ่งที่ไม่มีว่าเป็นเรา เกิดแล้วดับแล้ว แล้วเราอยู่ที่ไหน แล้วก็มีสิ่งที่เกิดอีก ทำให้หลงเข้าใจว่าเป็นเราอีก แต่ก็ดับแล้วอีก เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วก็ทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร และก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จิตเป็นสภาพรู้เป็นใหญ่เป็นประธาน หนึ่งแล้ว ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่มีธาตุรู้เกิดขึ้นเป็นจิต แต่จิตที่เกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่เจตสิก แต่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น โดยจิตเป็นสภาพรู้ เมื่อเจตสิกเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้นรู้อะไร ถ้าเสียงปรากฏ เพราะผัสสเจตสิกกระทบเสียง เวลานี้บางคนคิด ผัสสเจตสิกไม่ได้กระทบเสียง ขณะนี้ที่บางคนเห็น แต่บางคนไม่เห็นกลับคิด เพราะฉะนั้นผัสสเจตสิกของผู้ที่กำลังเห็น ขณะนั้นกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นปัจจัยให้จิตไปรู้อื่นไม่ได้ เพราะเกิดพร้อมกัน เป็นธาตุรู้ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น และเมื่อผัสสะกระทบสิ่งใด จิตต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพรู้ และก็มีเจตสิกเกิดด้วยพร้อมกัน แต่ต่างคนต่างไม่ใช่สิ่งเดียวกัน จิตเป็นจิต เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท แต่ละหนึ่ง จะไปทำหน้าที่ของอีกเจตสิกหนึ่งไม่ได้ หนึ่งคือหนึ่ง เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีผัสสเจตสิกเกิดพร้อมจิตเห็น ใครรู้ กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็ต่อเมื่ออาศัยความเข้าใจธรรมละเอียดขึ้นละเอียดขึ้นละเอียดขึ้น ในขั้นฟัง ที่ใช้คำว่าปริยัติ คือรอบรู้ในสิ่งที่ฟัง จนมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง จะรู้ความจริงของธรรมคือเดี๋ยวนี้ เพราะว่าสิ่งที่ดับไปแล้วไม่ได้กลับมาอีก สิ่งที่ยังไม่เกิดก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะยังไม่มีไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดด้วย

    ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็น ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธก็คือว่าเดี๋ยวนี้ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ เกิดดับไม่ใช่ขณะอื่น ต้องขณะที่กำลังมีอยู่ แล้วแต่ว่าจะเป็นเห็น จะเป็นได้ยิน จะเป็นคิด จะเป็นอะไรก็ได้ทั้งหมดที่มีเพราะเกิด เพราะฉะนั้นปัญญาก็สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจ จนสิ่งที่อยู่ใต้มหาสมุทร ปกปิดไว้ด้วยทะเลมืด ค่อยๆ มีแสงสว่างที่นำไปสู่การที่จะรู้ทีละหนึ่ง ไม่ใช่พร้อมกันทั้งหมด

    ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า สติปัฏฐานหรือว่าสติสัมปชัญญะ ซึ่งไม่ใช่ขั้นฟัง และไม่ใช่ขั้นที่ใครจะไปทำได้ แต่เพราะปัญญาเจริญขึ้น เข้าใจขึ้น ก็นำไปสู่การที่จะถึงเฉพาะตัวจริงของธรรมเดี๋ยวนี้ซึ่งเป็นธาตุรู้ที่กำลังเกิดดับ แต่ปัญญาไม่ใช่ว่าพอไปรู้ ก็เกิดดับทันที เหมือนขณะนี้แค่ฟัง แล้วถ้าสภาพธรรมปรากฏเป็นวิปัสสนาแต่ละขั้น ไม่ใช่พอเป็นวิปัสสนาก็ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ แล้วก็ดับกิเลสได้เลย เพราะว่าความไม่รู้ สะสมมามากมายมหาศาลนับประมาณไม่ได้ ถ้าคิดถึงอย่างนี้ แล้วกว่าความไม่รู้จะค่อยๆ น้อยลง แล้วการที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ต้องค่อยๆ น้อยลง จนปรากฏลักษณะที่เป็นธาตุหรือเป็นธรรม นั่นจึงจะประจักษ์ว่าไม่ใช่เราแน่ๆ เป็นธาตุที่รู้เกิดขึ้น ไม่มีรูปร่างเลย แต่ขณะนั้นกำลังมีสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์แต่ละหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม คือเพื่อไม่เข้าใจผิด ไม่หลงผิด ตามคำของคนอื่น ที่กล่าวว่าธรรมง่าย ง่ายได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่ เคยได้ยินคำที่เราได้ยินมาแล้วกี่ชาติ นับไม่ถ้วนเลย พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากี่พระองค์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ได้ยินคำอย่างนี้แหละซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าปัญญาค่อยๆ รู้ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่มีเดี๋ยวนี้เพราะเกิดและดับไป ไม่กลับมาอีก แค่นี้ การที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายความติดข้อง รู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เพียงขั้นนึก แต่ต้องมีความเข้าใจด้วยการไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นตัวตนที่พยายามไปทำด้วยความเป็นเรา ต้องมีความเข้าใจว่าไม่ใช่เราเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นการถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นถ้าจะไปขวนขวายทำเพื่อจะให้รู้ นั่นก็คือผิด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าไปอยากได้ อยากทำ อยากรู้ แล้วก็จะรู้ได้ แต่ต้องเป็นละความต้องการ เพราะเข้าใจว่า ลองต้องการได้ไหม ไม่ว่าจะต้องการอะไร ได้ไหม เป็นไปไม่ได้ เพราะความต้องการ แต่ถึงไม่ต้องการมีปัจจัยจะเกิดเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรา ตอนนี้ชัดเจนเรื่องจิตเจตสิกหรือยัง เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และเจตสิกมี ๕๒ ประเภท จึงปรุงแต่งให้จิตหลากหลายเป็น ๘๙ ประเภท ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่ละหนึ่งคนมีไม่ครบ กล่าวถึงทั้งหมดเลยในสากลจักรวาล ในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต อย่างไรก็ตามแต่ ไม่พ้นจากประเภทใหญ่ๆ ซึ่งแสดงไว้ว่า ๘๙ แต่ความจริงความละเอียดหลากหลายมาก

    ผู้ฟัง ก็คือ ผัสสเจตสิก ไปกระทบแล้วจิตถึงจะรู้

    ท่านอาจารย์ ผัสสเจตสิกเกิดกระทบ เห็นไหม เขาเกิดกระทบ ไม่กระทบได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะเป็นเจตสิกที่กระทบอารมณ์

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่กำลังจะถามว่าถ้าอย่างนั้นที่เขาสอนๆ กันฝึกสมาธิหรือฝึกให้เจตสิกจับอยู่ตรงนั้น ไม่ไปที่อื่น แล้วไม่วอกแวกไปที่อื่น ให้อยู่กับที่ ท่านอาจารย์ก็ตอบแล้วว่า ไปด้วยความอยากไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่พุทธะคืออะไร

    ผู้ฟัง พุทธะคือผู้รู้

    ท่านอาจารย์ เมื่อรู้แล้ว กล่าวสิ่งที่รู้ให้คนอื่นได้รู้ด้วยใช่ไหม เพราะฉะนั้นผู้ฟังต้องรู้ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย แล้วกล่าวว่าสมาธิ เพราะฉะนั้นได้ยินคำไหน ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไปจำแล้วไม่รู้ เพราะฉะนั้นได้ยินคำไหน พุทธะคือรู้ อนุพุทธะคือผู้รู้ตาม รู้ตามใคร รู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงประจักษ์และทรงแสดง เพราะฉะนั้นไม่ว่าขณะใดก็ตาม ได้ยินคำไหนก็ตาม รู้เมื่อไหร่เป็นผู้ที่เป็นสาวก ผู้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเกิดรู้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจไม่ชื่อว่าผู้รู้ หรือผู้เข้าใจ เพราะฉะนั้นได้ยินคำไหนต้องเข้าใจ สมาธิคืออะไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ถ้าย้อนไปถึงที่ฟังแล้ว พอคิดออก สิ่งที่มีจริงประมวลแล้วเป็นประเภทใหญ่ๆ นามธรรมกับรูปธรรม ธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิตและเจตสิก กับรูปซึ่งไม่รู้ เพราะฉะนั้นสมาธิจะคืออะไร เห็นไหม ค่อยๆ ไตร่ตรอง มีธรรมที่เกิดต่างกันเป็น ๓ ประเภท รูปธรรมไม่รู้อะไรเลย และก็จิตเป็นธาตุรู้อย่างเดียว ไม่รักไม่ชัง ไม่อะไรหมด ไม่กระทบอารมณ์ด้วย เพราะฉะนั้นเจตสิกมี ๕๒ ประเภท แล้วเราก็เรียกชื่อในภาษาไทย เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวชัง แต่ไม่รู้ว่านั่นคือสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา แต่มีปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกับจิต ด้วยเหตุนี้พอฟังอย่างนี้แล้ว สมาธิคืออะไร เป็นธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องเลย เห็นไหม ไม่ต้องถามใคร แต่ว่าเพราะได้เข้าใจจริงๆ ไตร่ตรองจริงๆ ใครจะบอกว่าสมาธิไม่ใช่เจตสิก เชื่อไหม เห็นไหม ค่อยๆ มั่นคง ถึงใครจะบอกอย่างไร ไม่ถูกก็คือไม่ถูก เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้จริงไม่เปลี่ยนแปลง และมีความเข้าใจที่มั่นคงถึงสภาพธรรมที่ทั้งหมดเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นตอนนี้รู้ได้แล้วว่า สมาธิเป็นเจตสิก ภาษาบาลีมีชื่อของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง เจตสิกที่เกิดกับจิต มีชื่อที่เรียกสภาพธรรมนั้นๆ หลากหลายต่างกัน เพราะฉะนั้นมีเจตสิกหนึ่งที่ชื่อว่า เอกัคคตาเจตสิก เอกะคือหนึ่ง เพราะฉะนั้นเจตสิกนี้เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้

    เพราะฉะนั้นจิตหนึ่งรู้ได้อารมณ์เดียว จิตหนึ่งจะรู้ ๒-๓ อารมณ์ ไม่ได้เลย เพราะเอกัคคตาเกิดขึ้น เพราะผัสสะกระทบและจิตรู้ เอกัคคตาก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้นเราไม่เคยรู้เลย เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะว่าจิตแต่ละดวงมีสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในสิ่งที่จิตกำลังรู้ การตั้งมั่นไม่ใช่ลักษณะของจิต แต่จิตเป็นธาตุรู้ ซึ่งขณะนั้นรู้เฉพาะสิ่งที่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยตั้งมั่น ด้วยเหตุนี้จิตทุกขณะมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าตั้งมั่นในอารมณ์ ทีละหนึ่งขณะใช่ไหม จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใดก็เพราะผัสสเจตสิกและเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น รู้อารมณ์นั้น ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น กระทบอารมณ์นั้น ทีละหนึ่งทีละหนึ่ง ไม่ปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นที่อารมณ์ใดชัดเจน เพราะเหตุว่าทีละหนึ่งอย่าง เดี๋ยวนี้เห็นก็ตั้งมั่นในสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินก็ตั้งมั่นในเสียง คิดก็ตั้งมั่นในเรื่องที่คิด เพราะฉะนั้นลักษณะที่ตั้งมั่นที่รวดเร็ว เกิดดับหลากหลาย ไม่ปรากฏความตั้งมั่น จนกว่าจะตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์เดียวนานๆ ลักษณะของความตั้งมั่นจึงปรากฏ จึงใช้คำว่าสมาธิ

    เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าที่พูดว่าสมาธิคืออะไร ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่ไปคิดเอาเอง ไม่ใช่พูดว่าสมาธิ แต่ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร อย่างนั้นจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รู้ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคิดเอง แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรา สำคัญที่สุดคือค่อยๆ น้อมไปสู่ความไม่ใช่เรา แต่ละชาติ แต่ละคำที่ได้ฟัง จนกว่าจะมั่นคงถึงที่สุด ที่เป็นอภิสมัย สภาพธรรมปรากฏจริงๆ ประจักษ์แจ้งว่าที่สะสมมาไม่ได้ขาดประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่เสียเวลาด้วย แต่ละหนึ่งขณะที่เข้าใจ กำลังสะสมเพื่อความมั่นคงยิ่งขึ้น ที่จะไม่เปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่าถูกก็คือถูก ใครจะเปลี่ยนถูกให้เป็นผิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เดี๋ยวนี้มีเอกัคคตาเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี ถ้าเราสนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เริ่มแล้วใช้คำว่าสนใจ สนใจไม่ใช่เอกัคคตาเจตสิก แต่เป็นมนสิการเจตสิก เป็นสภาพธรรมทั้งหมดเลย ในชีวิตประจำวันธรรมหมด ไม่มีเราเลย แต่เพียงเราไม่รู้เท่านั้นเอง แต่ให้รู้ว่าแต่ละหนึ่ง ต้องไม่ปะปนกัน เพราะฉะนั้นมนสิการเริ่มสนใจ ถ้าสนใจมาก ก็อยู่ตรงนั้นแหละนาน เช่น การอ่านหนังสือที่จะเข้าใจเรื่องราว ใครพูดอาจจะไม่ได้ยิน เพราะเหตุว่าไม่ได้ไปสู่เสียงที่กำลังปรากฏ แต่สู่ที่เรากำลังสนใจ มั่นคงขึ้น มั่นคงขึ้นลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ แต่ไม่ใช่เรา แล้วต้องละเอียดด้วยว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะความจริงเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าเป็นอกุศลจะบอกว่าสมาธิเป็นกุศลก็ไม่ได้ ใช่ไหม ต้องเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลต้องรู้อีกว่าเพราะอะไร สมาธินั้นจึงเป็นกุศล ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีเอกัคคตาเจตสิกไหม มี ถ้ามีการสนใจฟังธรรมเข้าใจธรรม ขณะนั้นความสนใจนั้น ก็สามารถที่จะปรากฏลักษณะของสมาธิได้ แต่ทำไมจึงมีคำว่า ธัมมานุสติ หรือพุทธานุสติ สติคือสภาพที่ระลึกที่สิ่งนั้นด้วยความตั้งมั่น เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแค่ฟังอย่างนี้ แล้วก็บอกว่าเป็นระดับขั้นของสมาธิ น้อยมากไม่พอ เพราะฉะนั้นทรงแสดงระดับของเอกัคคตาเจตสิกมากหลากหลายตามเหตุตามปัจจัย ที่สมควรจะกล่าวว่า ขณะนั้นเป็นสมาธิระดับไหน เพราะว่าสมาธิก็ต้องมีหลายขั้นด้วย นี่คือการที่เราไม่รู้จักสิ่งที่มีแล้วในชีวิต ตั้งแต่หลายชาติมาแล้ว แม้ในชาติที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่รู้จัก แล้วถ้าตายไปก็คือว่าไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่พอเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจเริ่มคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เริ่มเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เพราะฉะนั้นพระองค์ตรัสรู้จิตและเจตสิก และแสดงให้คนอื่นได้เริ่มฟัง ได้เริ่มเข้าใจว่าไม่ใช่เราแน่นอน จิตเป็นจิต เจตสิกแต่ละหนึ่งก็เป็นเจตสิกแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าสมาธิ แล้วไม่รู้จักสมาธิ เพราะไม่สนใจที่จะเข้าใจว่าสมาธิคืออะไร ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจ แต่ทุกคำที่ได้ยิน สนใจคืออะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 181
    21 มี.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ