ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1090
ตอนที่ ๑๐๙๐
สนทนาธรรม ที่ วิลล่า วิลล่า พัทยา รีสอร์ท จ.ชลบุรี
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ท่านอาจารย์ อย่างที่บอกว่าแว่นตา ความจริงคือแข็งเมื่อกระทบสัมผัส และสีสันวัณณะรูปร่างสัณฐานเมื่อเห็น และที่กระทบสัมผัสบางทีแข็งบางทีอ่อน บางทีเย็นบางทีร้อน บางทีตึงหรือไหว เพราะฉะนั้นเย็นก็มีจริงๆ ต้องเป็นธรรม ร้อนก็มีจริงๆ ต้องเป็นธรรม แข็งก็มีจริงเป็นธรรม อ่อนก็มีจริงเป็นธรรม ตึงมีแน่ๆ ไหวก็มีแน่ๆ สิ่งที่เราพูดทั้งหมดเป็นชีวิตประจำวันซึ่งมี แต่ปกปิดไว้ ถ้าไม่มีคำสอนซึ่งเกิดจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เห็นเป็นคน เห็นเป็นนก เห็นเป็นแว่นตา เห็นเป็นสิ่งต่างๆ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงแต่ละหนึ่ง แล้วก็ที่มารวมกันคือกี่รูป ธาตุรู้แต่ละหนึ่ง ซึ่งจิตก็เป็นจิต เจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภท ก็เป็นแต่ละหนึ่งๆ ๆ ๆ ซึ่งรวมกันไม่ได้ แล้วเราจะอยู่ตรงไหน ก็ไม่มี แต่เพราะไม่รู้จริงๆ ไม่ใช่ไม่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ไม่รู้มาแสนโกฏิกัปป์
เพราะฉะนั้นพอเกิดมาก็มีความไม่รู้ แม้แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญพระบารมีมาพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่เป็นปัจจัยที่เป็นอภิสมัย สมัยคือหนึ่งขณะ ขณะๆ ๆ สมัยที่จะตรัสรู้ก็ยังตรัสรู้ไม่ได้ แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาทั้งหมด เพื่อที่จะได้ค่อยๆ สะสมความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งถูกปิดบังไว้นานแสนนานมาก เพราะเหตุว่าพอมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ก็ยึดถือว่าเป็นเราบ้าง เป็นสิ่งนั้นบ้างเป็นสิ่งนี้บ้าง ลืมไปเลย ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ สภาพธรรมคือจิต และเจตสิกก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่มีใครพูดถึง เมื่อพูดถึงเห็น เห็นกำลังเห็น แต่ก็ยังไม่รู้ในธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะธาตุรู้ไม่มีรูปร่างเลย แต่เห็น เพราะฉะนั้นคิดดูว่าง่ายหรือไม่ ที่จะเข้าใจเห็นว่าไม่ใช่เรา เห็นทุกวัน แต่ถูกปิดบังไว้ด้วยความไม่รู้ ลืมสนิทเพราะสนใจในสิ่งที่จิตรู้
เพราะฉะนั้นโลกที่เราเห็นก็เป็นโลกที่จิตรู้ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ อะไรต่ออะไร แต่ลืมตัวจิตตั้งแต่แรกเกิด ว่าที่เกิดเป็นคนก็เพราะมีจิต เจตสิก และรูปซึ่งเล็กมากขณะนั้น เกิดมาใหม่ๆ อยู่ในครรภ์ไม่มีใครรู้หรอกต่อไปจะเป็นอะไร จะเป็นปลา หรือจะเป็นงู หรือว่าจะเป็นนก หรือว่าจะเป็นคนก็แล้วแต่ เล็กมาก แต่ธรรมก็ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงได้ ว่ากรรมใดทำให้จิตขณะนั้นเกิดพร้อมเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรม ทุกคำละเอียดมากแต่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจ เข้าใจแล้วเราก็ไม่ลืมใช่ไหม แต่ว่าเพราะมีสิ่งอื่นที่ปรากฏก็ไม่ได้คิดถึง แต่เมื่อมีการพูดถึงเราก็รู้ว่ากำลังพูดถึงธาตุรู้ในเวลานี้ ถ้าไม่มีธาตุรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ นานๆ เราก็คิดถึงสักทีเมื่อมีการพูดถึงหรือมีการฟัง แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่าเราไม่สามารถจะบังคับบัญชาอะไรได้เลยเพราะไม่มีเรา มีแต่ธาตุรู้ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน
เพราะฉะนั้นฟังธรรมทีละคำ ตอนนี้ไม่สงสัยใช่ไหม ปรมัตถธรรมหรือธรรมที่มีจริงๆ ถึงจะกล่าวถึงรูปร่างสัณฐาน สีสันวัณณะ รสชาติอย่างไรก็ต้องเป็นหนึ่งในปรมัตถธรรม ๔ คือเป็นจิต ธาตุรู้เกิดพร้อมเจตสิก และก็มีรูปกับนิพพาน แต่หลากหลายเหลือเกิน หลากหลายอย่างไร เกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลย จะเป็นอย่างนั้นอีกไม่ได้ เหมือนกับเรามีน้ำมะนาว ก่อนใส่เกลือลงไปก็เป็นรสหนึ่ง พอใส่เกลือลงไปแล้วจะให้กลับเป็นรสเดิมที่ไม่มีเกลือไม่ได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างหมายความว่า เดี๋ยวนี้เห็น ไม่ใช่เห็นเมื่อสักครู่ แล้วเร็วสุดที่จะประมาณได้ เมื่อสักครู่ในห้องนี้ยังไม่มีคุณตี๋ ไม่มี แล้วก็มีเข้ามาในห้องนี้ ถ้าไม่เห็นและถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีสิ่งที่เราจำได้ว่าคือใครไหม และจำมีจริงๆ ใช่ไหม เป็นเราหรือเปล่า ไม่ใช่ เป็นธรรม เป็นธรรมอะไร เมื่อสักครู่เราจำกัดความไว้เเล้วว่าเป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน
เพราะฉะนั้นจำ เป็นอะไร ไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง แต่ว่าขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้นต้องอาศัยเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท จำ ไม่ใช่เราแน่ๆ แต่ทุกครั้งที่จิตเกิดมีเจตสิกนี้เกิดพร้อมกันเลย รู้สิ่งเดียวกันแล้วก็จำได้ ไม่ใช่ว่าแยกคุณตี๋ออกไปจากรูปนี้ เเต่จากรูปนี้เองที่จำไว้ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็คือสภาพธรรมซึ่งไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป ที่โต๊ะนี้มีแต่รูปใช่ไหม เเต่ว่าแต่ละคนที่นั่งอยู่นี้ไม่ว่าใครก็คือ จิต เจตสิก รูป โดยที่เราไม่รู้เลย ไม่พูดก็ไม่รู้จนตาย แล้วไม่รู้จนตาย ไม่ใช่จนตายชาตินี้ชาติเดียว เเล้วชาติก่อนรู้ไหม รู้เท่าไหร่ และชาตินี้มีโอกาสได้ยินได้ฟังแล้วรู้แค่ไหน เพราะฉะนั้นก็เท่าที่เรามีโอกาสจะได้ฟังเข้าใจ แต่ความเข้าใจที่เป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่ได้หายไปไหนเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิต เหมือนอย่างเมื่อเช้าที่คุณณภัทรขับรถไปเเล้วเราเจออะไรบ้างก็ยังจำได้ แต่ว่าสภาพที่จะนึกถึงไม่ใช่เจตสิกที่จำ เป็นอีกเจตสิกหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหมดละเอียดมากและคล้ายกันมาก ถ้าไม่ฟังจริงๆ ไม่ไตร่ตรองจริงๆ เข้าใจไม่ได้เลย เพราะว่าขณะหนึ่งที่จิตเกิดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ทั้ง ๗ นั่นคืออะไรซึ่งขาดไม่ได้เลยสักหนึ่ง เราไม่รู้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ว่าไม่ขาดเจตสิก ๑ ใน ๗ ที่จะต้องเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นเท่าที่เราสามารถที่จะรู้จักเจตสิก ชื่ออื่นๆ ทั้งหมดในวันหนึ่งๆ ที่เป็นสภาพรู้เป็นเจตสิกทั้งนั้น อย่างจิตคือเราบอกว่าเห็นแล้วก็ได้ยิน พวกนี้เป็นใหญ่เป็นประธานรู้สิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นเจตสิกก็เกิดพร้อมจิตรู้สิ่งเดียวกันแต่ต่างฐานะของเจตสิกนั้นๆ ทำหน้าที่คนละอย่างๆ เช่น อยู่ในห้องครัวเราก็อาจจะมีเเม่ครัว มีลูกมือหลายคน แต่ละคนก็ทำหน้าที่ไปคนละอย่าง คนหั่นผักก็หั่นไป คนต้มน้ำก็ต้มไป คนทำอะไรก็ทำไป ก็คือเจตสิกแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดที่ปรุงแต่งให้จิตนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกได้ไหม ไม่ได้ เจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตได้ไหม ก็ไม่ได้ แล้วเรารู้จักเจตสิก ๗ ไหม อย่างน้อยที่สุด ทั้งหมดตั้ง ๕๒ ไม่อยู่ที่อื่นเลย อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่สิ่งที่มีจิตทั้งหมด เจตสิกจะไม่เกิดกับสิ่งอื่นนอกจากเกิดกับจิต และจิตจะเกิดก็ไม่ได้ถ้าไม่มีเจตสิก
เพราะฉะนั้นก็สอดคล้องกันที่ว่า ธรรมคือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยอาศัยกันและกัน ปรุงแต่งกันและกันให้เกิดขึ้น ขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกซึ่งจำ เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ถ้าจิตไม่เกิดจะไปจำอะไร ใช่ไหม ไม่มีทาง แต่พอจิตรู้สิ่งใดเจตสิกก็จำสิ่งนั้น เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเจตสิกนี้ภาษาบาลีใช้คำว่าสัญญาเจตสิก คือจำ แต่คนไทยมาใช้ว่าทำสัญญาเพื่อไม่ลืม เพื่อจะได้จำได้ แต่ไม่ต้องทำสัญญา สัญญาก็เกิดกับจิตทุกขณะ โดยที่ว่าขณะนี้ที่จำๆ ๆ ๆ ๆ เดี๋ยวนี้ทั้งหมดก็คือสัญญา ที่เห็นเดี๋ยวนี้ทั้งหมดก็คือจิต เห็นๆ ๆ ๆ คือจิต จำๆ ๆ ๆ ๆ คือเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาเจตสิก แล้วก็มีเจตสิกที่เป็นความรู้สึก เกิดพร้อมกับจิตทุกขณะ ความรู้สึกก็มีรู้สึกเฉยๆ วันหนึ่งๆ รู้สึกเฉยๆ บ่อยไหม ถามว่ารู้สึกเฉยๆ คืออย่างไร เฉยๆ ไปจนกว่าจะดีใจ หรือเสียใจซึ่งตรงกันข้าม ก็เป็นสภาพความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งทางใจ แล้วก็ทุกข์ทางกาย เจ็บ ปวดเมื่อย ท้องเสีย ปวดฟัน หรืออะไรก็แล้วแต่ อาศัยกายเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์ทางกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิต และไม่ใช่สัญญาเจตสิก แต่เป็นเวทนาเจตสิกสภาพที่รู้สึก เพราะฉะนั้นความรู้สึกทั้งหมดมี ๕ อย่าง เฉยๆ ๑ สุขหรือทุกข์ทางกาย ๒ และโสมนัสหรือโทมนัสทางใจ คือดีใจหรือเสียใจ อีก ๒ รวมเป็นเวทนา ๕ ซึ่ง ๑ ใน ๕ ต้องเกิดกับจิต รู้หรือไม่รู้ ตอนนี้ก็กำลังเกิดดับอยู่แล้วตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น เรารู้ในสิ่งที่มีแต่ไม่รู้ ไม่รู้มานานแสนนานเเล้วเพิ่งจะค่อยๆ รู้ว่าไม่ใช่เรา เกิดแล้วต้องตาย เลือกเวลาให้เกิดก็ไม่ได้ เลือกเวลาตายก็ไม่ได้ เพราะต้องอาศัยปัจจัย แม้แต่เกิด เกิดมาก็ต่างกันหลากหลายมาก ทำไมไม่เหมือนกัน เป็นนก เป็นช้าง เป็นงู เป็นคน เป็นเทวดา เป็นพรหม ตามเหตุคือกรรมที่ได้กระทำ ซึ่งวันหนึ่งๆ มีมากเฉพาะชาตินี้ เเล้วชาติก่อนอีกก็นับไม่ถ้วน ยิ่งในสังสารวัฎฏ์ยิ่งนับไม่ถ้วน แต่ทุกกรรมที่กระทำสำเร็จแล้วเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้น ในชาตินี้ขณะแรกที่เกิด จิต เจตสิก รูปเป็นผลของกรรม แต่สำหรับจิต เจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ใช้คำว่าวิบาก ภาษาบาลีเป็นวิปากะ แล้วใครที่บอกว่าฟังไม่รู้เรื่อง ก็ฟังภาษาไทยเเล้วจะไม่รู้ได้อย่างไร แต่เขาไม่ได้ใส่ใจไม่ได้ตั้งใจ เพราะเขาคิดว่าธรรมคงเป็นเรื่องอื่นมากเลย ต้องไปนั่งพนมมืออยู่ที่ไหน และฟังอะไรเป็นภาษาบาลี แต่ความจริงเป็นสิ่งที่มีจริงในภาษาไหนก็ได้แล้วแต่ เพราะฉะนั้นในขณะแรกที่เกิดเป็นผลของกรรม แต่สำหรับจิต เจตสิกเป็นผลที่ใช้คำว่าวิบาก เพราะเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้ให้ผลเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น เป็นวิบาก
เพราะฉะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากหรืออกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ รูปก็เกิดขึ้นเพราะกรรมแต่ไม่ใช้คำว่าวิบาก นี่คือความละเอียดซึ่งเราคิดเองไม่ได้ ไหนว่าผลของกรรมก็ต้องเป็นผลของกรรม ก็ไม่ปฏิเสธ ขณะแรกเกิดมาเป็นผลของกรรม จิตก็เป็นผลของกรรม เจตสิกก็เป็นผลของกรรม รูปที่เกิดก็เป็นผลของกรรม แต่รูปไม่รู้อะไร แต่ตัววิบากเป็นธาตุรู้ ซึ่งกรรมที่ทำกุศลหรืออกุศลเป็นธาตุรู้ก็ทำให้ผลของกรรมซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น เป็นผลที่ดีหรือเป็นผลที่ชั่ว ถ้าเป็นผลที่ดีเกิดเป็นมนุษย์มาจากกุศลกรรม ถ้าเป็นผลที่ไม่ดีก็เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ใครเลือกได้ อย่างมดเดินมา เราไปเลือกได้หรือว่าไม่ให้เกิดเป็นมด
เพราะฉะนั้น วิบากหมายความเฉพาะจิต เจตสิก ส่วนรูปเป็นผลของกรรมแต่ไม่ใช่วิบาก นี่คือความละเอียดซึ่งถ้าไม่ศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นก็จะสับสน เพราะว่าพระไตรปิฎกมาจากคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับผู้ที่รู้ทั้งนั้นเลย ผู้ที่มีปัญญาสะสมมาเมื่อได้ฟังพระธรรม บางท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลอย่างท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ใครจะไปรู้ก่อนท่านได้ ท่านสะสมมาที่จะเป็นผู้เลิศในทางรู้ก่อนใครทั้งหมด เมื่อถึงเวลาที่ได้ฟังพระธรรมท่านสามารถเข้าใจจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน
แต่คนที่สะสมมาก็ต้องฟังแล้วฟังอีกใช่ไหม ไม่ต้องสนใจว่าเมื่อไหร่ เพราะลึกซึ้งเกินกว่าที่จะคิด เพียงแต่ว่าได้มีโอกาสเข้าใจก็สะสมไว้ ทำให้จิตซึ่งสะสมความไม่รู้มามากพร้อมทั้งกิเลสอื่นซึ่งเกิดจากความไม่รู้ ค่อยๆ มีปัจจัยที่จะเกิดน้อยลง โดยปัจจัยที่จะทำให้กุศลเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นปัจจัยที่จะทำให้กุศลเพิ่มขึ้นๆ ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง ซึ่งต้องเป็นกิจที่ดี ซึ่งเราใช้คำว่าบารมี ไม่อย่างนั้นแล้วต้องไม่มีบารมี ไปนั่งทำกันในห้องปฏิบัติและก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม คือเป็นไปไม่ได้ที่อกุศลทั้งหลายซึ่งหมักหมมมานานแสนนานแล้วจะรู้ได้ โดยไม่มีความเข้าใจที่จะปรุงแต่งให้บารมีทั้งหลายเกิดขึ้นขัดเกลากิเลส ละคลายอกุศลจนกระทั่งพร้อมที่จะรู้ สภาพธรรมเดี๋ยวนี้กำลังเกิดดับปรากฏ เห็นไม่ใช่ได้ยิน เห็นปรากฏเป็นเห็น ได้ยินปรากฏเป็นได้ยิน แต่ปัญญาขั้นฟังเท่านี้ไม่สามารถถึงการเกิดดับของทั้ง ๒ อย่าง แต่ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มากขึ้น ละคลายมากขึ้น มีหรือซึ่งสิ่งที่มีจริงนี้จะไม่ปรากฏ แต่ต้องปรากฏกับปัญญาถึงขั้นที่สามารถที่จะรู้อย่างนั้นได้ เพราะปัญญาก็มีหลายขั้น ขั้นเด็กประถมอนุบาลอย่างนี้จะไปรู้อะไรได้
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ว่าฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจถูกต้อง สะสมความเห็นถูกเพื่อละ นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดคือหนทางตรงกันข้ามกับปัญญา ความไม่รู้ทำให้ติดข้อง ปัญญารู้ทำให้ละความไม่รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจ ความติดข้องก็ค่อยๆ ลดน้อยลง ไม่มีใครไปทำอะไรให้ใครได้ จะไปบอกให้เขานั่งนอนยืนเดินอย่างนั้นอย่างนี้ ปัญญาเขาก็ไม่เกิด แล้วจะไปละอะไรได้
ด้วยเหตุนี้การเป็นผู้ที่เคารพอย่างสูงในพระรัตนตรัย คือบูชาพระรัตนตรัยด้วยการศึกษาในความถูกต้อง ในความเป็นจริงที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ เพื่อที่จะให้เราได้รู้ด้วยจากการที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ในขณะที่ตรัสรู้ไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดงเพราะความลึกซึ้ง ไม่ใช่มาเข้าสำนักปฎิบัติ ๗ วัน ๘ วันอย่างนั้น ไม่ได้เลย
แสดงให้เห็นว่าความละเอียดเป็นเรื่องละ แต่ความไม่ละเอียดเป็นเรื่องต้องการ แล้วจะมีประโยชน์อะไร ฟังธรรมไปก็เพิ่มความต้องการเหมือนเดิม กับฟังธรรมแล้วรู้ แล้วก็ค่อยๆ ละความติดข้อง จนกระทั่งเป็นความลึกซึ้ง ไม่ต้องไปหวังเลย ค่อยๆ ไปแต่ละหนึ่งขณะเท่านี้ คือ สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ถูกปิดบังสนิท และก็ต่อแต่งเติมด้วยความคิดของเรา มีคำถามที่วุ่นวายมากเพราะว่าเราไปคิด แต่ถ้าฟังแล้วคิด ถามที่ตรงคิดนั่น ก็จะได้ความชัดเจนว่าที่เข้าใจที่ฟังมีข้อสงสัยอะไร แต่ถ้าไม่สงสัยก็คือเข้าใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความสงสัย ไม่ใช่ให้ไปสงสัยสิ่งที่เรายังไม่ได้ฟัง เพียงเฉพาะที่ฟังแต่ละครั้งที่กำลังฟัง เพียงความเข้าใจจริงๆ ตรงนั้น เพราะถ้าเข้าใจจริงๆ ไม่มีทางที่เราจะลืม ได้ยินคำว่าธรรมเรารู้เลย แต่คนที่ไม่รู้เขาก็พูดธรรมอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งเรารู้ว่าเขาไม่รู้ใช่ไหม เพราะรู้ว่าธรรมคือทุกสิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่ามีจริง เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง แต่ตรัสรู้มากกว่านั้นว่าไม่ใช่เรา เพราะเกิดแล้วดับตามเหตุตามปัจจัยด้วย ใครก็ไปทำให้เกิดไม่ได้
อ.ณภัทร แม้คำว่าอารมณ์หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงได้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิต มีอะไรเป็นอารมณ์ของจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีความเห็นที่ผิดไป คือว่าขณะนี้มีสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิต มีรูปร่าง มีสีเท่านั้น ที่เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ส่วนทางหูก็มีเพียงเสียง ซึ่งยังไม่ได้เป็นเสียงของคนอื่น เสียงของใครก็แล้วแต่
ท่านอาจารย์ ยังไม่เป็นเรื่องราว
อ.ณภัทร ยังไม่เป็นเรื่องราว เพราะฉะนั้นก็จะเป็นลักษณะของปัญญาที่ค่อยๆ เห็นถูกขึ้นว่าเป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ
ท่านอาจารย์ แต่ปัญญาระดับนี้ต้องมาจากความเข้าใจ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นลองคิดดู แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายากและลึกซึ้งเพียงไหน เห็นมี กำลังเห็น เห็นอะไร
อ.ณภัทร เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตา
ท่านอาจารย์ เพียงเท่านี้ เพียงคำนี้คำเดียว สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ต้องมีจริงใช่ไหม
อ.ณภัทร ต้องมีจริง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คนใช่ไหม
อ.ณภัทร ไม่ใช่คน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกว่าจะไม่มีใครในห้องนี้ ทันทีที่เห็นก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏคือ เพียงปรากฏและดับด้วย กว่าจะละความมีตั้งหลายคนในห้องนี้ ต้องถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ คือกระทบตา แล้วปรากฏ ซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่อะไรเลย แต่เป็นสีสันวัณณะต่างๆ แต่เห็นความรวดเร็วของจิตซึ่งเกิดสืบต่อ จำไว้หมดเลยว่าเป็นใคร แต่ละหนึ่งคนก็รู้หมดเลย หลากหลาย แต่ความจริงหลับตาเท่านั้นหายไปไหน ใครใส่เสื้อสีอะไร ใครนั่งตรงไหน ไม่มีเลย เมื่อลืมตามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วยังมีเกินเลยไปถึงรู้ว่าเป็นใครหลังจากที่เห็นแล้ว ต้องหลังจากที่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นกว่าจะเอาความเป็นเราออกไปจากสิ่งที่ปรากฏ รู้จริงๆ เฉพาะในลักษณะของสิ่งที่เป็นสิ่งนั้น คือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ โดยไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น
ผู้ฟัง ปัญญานี้ต้องไวมาก
ท่านอาจารย์ คมมาก กล้า ไม่ใช่ว่าจะถึงได้ง่ายๆ เลย
ผู้ฟัง เพราะแม้ขณะเดียวที่เราเห็น ยังเห็นตั้งหลากหลายมากมาย
ท่านอาจารย์ ปัญญามาจากไหน กว่าจะถึงปัญญาระดับนั้นต้องมาจากการฟังๆ ๆ เข้าใจๆ อย่างเราพูดเราตอบได้ เวลาใครถามว่าเห็นอะไร เคยฟังมาแล้วก็บอกเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่รู้ไหมว่ากว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต้องไม่มีใครเลยในห้องนี้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาต้องไวมากกว่าที่เราเห็นจริงๆ
ท่านอาจารย์ ปัญญาคมกล้า สามารถเข้าใจขึ้นจนกระทั่งละ ละ สละ การที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าหลับตาแล้วลืมตาจะเห็นพร้อมกันหมดเลยก็ว่าเร็วสุดแล้ว
ท่านอาจารย์ เเต่ ไม่หลับตาก็เป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง เข้าใจ แต่หมายถึงว่าตัวปัญญาจะต้องสะสมมา
ท่านอาจารย์ ปัญญาเขารู้ทุกอย่าง อย่างที่ไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะรู้ได้ถึงอย่างนั้น แต่ในเมื่อความจริงแต่ละคำเป็นอย่างนี้ปัญญารู้ ถ้ายังไม่รู้คือยังเป็นขั้นฟัง เพราะฉะนั้นยังไม่ใช่ปฏิปัตติอะไรเลยทั้งสิ้น
อ.ณภัทร ปัญญาที่รู้ตรงลักษณะตามสภาพที่ปรากฏก็จะละคลายความยึดถือ ความติดข้องในสิ่งที่เคยเห็น ที่เคยจำ ที่ผิดจากความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ ใช่ ถึงจะมีวิปลาสเข้ามาก็รู้ว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คืออย่างนี้ เมื่อเราเข้าใจธรรมแล้วเราจะไปถึงคำต่างๆ เหล่านั้นได้ชัดเจน
อ.ณภัทร แต่ลักษณะที่รู้ในบัญญัติที่ปรากฏก็มี แต่ไม่เข้าใจผิด
ท่านอาจรย์ ปัญญาเข้าใจถูกในทุกอย่างตามความเป็นจริง
อ.ณภัทร ขณะที่เห็น ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าเป็นใคร รู้ว่าเป็นใคร
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ขณะที่เห็น
อ.ณภัทร เเต่ไม่เข้าใจผิดว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็รู้ว่านั่นท่านพระอานนท์ นี่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ แต่ปัญญาของท่านประจักษ์แจ้งหมดว่าต่างขณะกัน
อ.ณภัทร แล้วถ้าในความละเอียด ในลักษณะของการเห็นก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ปรากฏกับสภาพที่รู้ในสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่อย่างเดียวกัน ก็จะละเอียดขึ้นๆ ๆ
ท่านอาจารย์ เเน่นอน ค่อยๆ ฟัง จนกระทั่งปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยไม่เลือกเลยว่าจะรู้อะไรขณะไหน แต่รู้ว่าถ้ารู้จริงก็ต้องเข้าใจอย่างนี้โดยไม่ใช่เราด้วย ข้อสำคัญซึ่งยากซับซ้อนก็คือว่าโดยไม่ใช่เราที่จะไปพยายามพากเพียรทำอะไรเลย ยิ่งทำก็ยิ่งผิด เพราะเป็นเราทำ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1081
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1082
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1083
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1084
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1085
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1086
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1087
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1088
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1089
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1090
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1091
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1092
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1093
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1094
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1095
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1096
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1097
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1098
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1099
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1120
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1140