ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1091


    ตอนที่ ๑๐๙๑

    สนทนาธรรม ที่ วิลล่า วิลล่า พัทยา รีสอร์ท จ.ชลบุรี

    วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ผู้ฟัง ได้ฟังการสนทนาของท่านอาจารย์กับพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ท่านบอกว่าบางครั้งอาตมาก็ตั้งใจจะทำสติปัฏฐาน บางวันอาตมาก็จะเจริญวิปัสสนา ท่านอาจารย์ก็ถามว่า เลือกได้หรือเจ้าคะ ท่านบอกว่า ท่านก็จะเลือกอย่างหนึ่งอย่างใดแต่ละวัน แล้วท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายไปว่า สภาพธรรมเป็นอนัตตา ที่ว่าเป็นอนัตตาเพราะไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ จะเป็นสมถะ หรือจะเป็นวิปัสสนา เมื่อปัญญาถึงพร้อม จะเป็นสภาพธรรมใดก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นขณะนั้น ก็คือสภาพนั้นนั่นแหละที่ปัญญาจะรู้ คือกะเกณฑ์ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่เกิด แล้วอะไรจะทำให้เกิด ต้องเป็นปัญญา ทีละเล็ก ทีละน้อยที่เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งไป ความเข้าใจของเราเวลานี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นสังขารขันธ์กำลังปรุงแต่งขณะต่อไป ขณะต่อไปมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็เห็นได้อย่างหนึ่งว่า สภาพธรรมเป็นอนัตตาจริงๆ เพราะว่าขณะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ปัญญาถึงพร้อม แล้วขณะนั้นทวารไหนก็แล้วแต่อารมณ์อะไรจะปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่เกิด

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เกิด แต่ท่านก็ฟังท่านอาจารย์อธิบายจนท่านก็เข้าใจว่า สรุปแล้วเลือกไม่ได้จริงๆ จะต้องเป็นไปตามปัญญาที่สะสมมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นหนทางนี้ เป็นหนทางของอนัตตาโดยตลอดจึงจะเป็นทางที่ถูกต้อง ถ้ามีอัตตาความเป็นตัวตนเข้ามาเมื่อไหร่ก็ผิดทันทีเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า "สีลัพพตปรามาส" การที่ยังคงมีความเห็นผิด ปฏิบัติผิด จนกว่าจะดับด้วยโสตาปัตติมรรค ปัญญารู้เองหมดทุกอย่าง อะไรผิด ถ้าไม่รู้ผิด ก็ละผิดไม่ได้ ไม่รู้จักโลภะ จะไปละโลภะได้อย่างไร คนที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ให้ฟังเท่านั้น ไตร่ตรอง พิจารณา ถูกต้องอย่างไร ไม่ใช่ว่าให้เชื่อ แต่พระองค์พูดถึงสิ่งที่มีใช่ไหม สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ใช่ไหม และเมื่อฟังแล้วเป็นความจริงใช่ไหม แต่ว่าเป็นความรู้ขั้นปริยัติ คือขั้นฟังพระพุทธพจน์ แล้วรอบรู้ในพระพุทธพจน์จึงจะเป็นปริยัติ ถ้าฟังเผินๆ รู้นิดหน่อย ไม่ใช่ปริยัติ เดี๋ยวผิด เดี๋ยวถูกก็ไม่ใช่ปริยัติ ปริยัติต้องรอบรู้ในพระพุทธพจน์ รอบรู้หมายความว่า แต่ละคำ เข้าใจละเอียดลึกซึ้ง สอดคล้องกันทุกคำ ต้องอธิบายได้ ต้องบอกได้ ตามเหตุผลด้วย ผู้นั้นยังรู้เลยว่านี่คือขั้นปริยัติ ยังไม่ใช่ปฏิปัตติ เพราะว่าปฏิปัตติต้องเป็นอนัตตา แล้วเมื่อไหร่ปฏิบัติเกิดขึ้น เมื่อนั้นปัญญาก็รู้ว่าคือปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง เพราะฉะนั้นช่วยให้เราพ้นจากความเห็นผิด ไม่อย่างนั้นเราก็โง่ หลงเชื่อคำของคนอื่น ซึ่งเขาไม่ให้เราเข้าใจอะไรเลย แต่ทุกคำต้องเป็นไปเพื่อละความไม่รู้ ทุกคำ

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ เรื่องวิถีจิต ธรรมที่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้าก็นำมาพิจารณาในชีวิตประจำวันที่เกิดตามความเป็นจริง ที่บอกว่า ถ้าวิถีจิตทางตาที่เกิดขึ้นเป็นจักขุวิญญาณ เกิดการเห็นขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ เรายังไม่ต้องไปคิดอย่างนั้นเลย เพียงแต่ว่า ถ้ามีคนมาถามเรา หรือเราถามเขาก็ได้ว่า วิถีจิตคืออะไร พอได้ยินคำว่าวิถีจิต ต้องรู้ทุกคำที่เราได้ยิน เรารู้จักจิตแล้ว เรารู้จักเจตสิกแล้ว เรารู้จักรูปแล้ว เรารู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม คือธรรมที่ใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนได้เลย ไม่ว่าใครทั้งนั้น จะใหญ่เกินกว่าปรมัตถธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นมีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ให้เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างแข็ง ใครจะไปเปลี่ยนเเข็งให้เป็นหวานไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสภาพนั้นแหละ เป็นสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ฟังดูเหมือนแค่จิตหนึ่ง เจตสิก ๕๒ เเละรูป ๒๘ แต่ละเอียดลึกซึ้งกว่านั้นอีกมหาศาล เพราะว่าแต่ละหนึ่งเกิด และดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก เป็นรูป อย่างเมื่อครู่นี้หมดไปแล้วเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ไม่รู้เลย เหมือนเดิม แต่ความจริงทั้งหมดเกิดดับตามเหตุ ตามปัจจัย เร็วมากสุดที่จะประมาณได้ แต่ปัญญาก็สามารถจะค่อยๆ เข้าใจจนประจักษ์แจ้ง โดยปัญญาไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นจะมี เราทำ เรารู้ ก็ไม่ถูก เพราะแม้แต่ที่บอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงอยู่ที่มหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูป ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม จะไม่มีสิ่งที่กระทบตาได้เลย ฟังเเต่ละคำให้ชัดว่าเป็นจริงไหม แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่มหาภูตรูป ไม่ใช่เย็นร้อน ไม่ใช่ตึงไหว มหาภูตรูปกระทบตาไม่ได้ แต่ตรงที่มีมหาภูตรูป มีรูปหนึ่งที่สามารถกระทบตา ที่เราใช้คำว่า "รูปารมณ์" หมายความถึงรูปที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจว่าคือจิตเห็น ไม่ใช่เรา เป็นธาตุรู้ ถ้าธาตุรู้ยังไม่มั่นคง ยังไม่สามารถที่จะปรากฎได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีความรู้ที่ชัดเจน แต่ละคำๆ ต้องละเอียด เพราะฉะนั้นเมื่อมีคนพูดว่า วิถีจิต คืออะไร

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่า จะขาดมหาภูตรูปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จะขาดมหาภูตรูปได้ไหม รูปเป็นสิ่งที่มีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกว่ามหาภูตรูป ก็ได้ใช่ไหม แต่ทำไมจึงมีคำนี้ แสดงว่าสิ่งที่สำคัญในบรรดารูปทั้งหมด ถ้ารูปนี้ไม่มี รูปอื่นมีไม่ได้ เราต้องเข้าใจคำด้วย มหาภูตรูป รูปที่ปรากฏ ไม่ว่ารูปอะไรทั้งนั้นต้องมีรูป ที่เป็นแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แม้เรามองไม่เห็น อย่างเสียง มีแข็งอ่อน เย็นร้อน ตึงไหว หรือไม่ ไม่มีใครรู้ได้ แต่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ตัวของแต่ละคน ที่โต๊ะ ที่อะไร ก็ต้องมี อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ที่เราเรียกว่าดอกกุหลาบก็ต้องมี เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว โต้ะก็ต้องมี เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เพราะฉะนั้นลักษณะ ๔ อย่าง เป็นรูป ๔ รูป ซึ่งอาศัยกัน ทุกคำที่เราพูดต้องแสดงว่า อะไรอาศัย อย่างเราพูดถึง เย็นรูปเดียว แต่เย็นมีไม่ได้ ถ้าไม่มีอ่อนหรือแข็ง เป็นที่ตั้ง เมื่อมีอ่อนหรือแข็งเป็นที่ตั้ง รูปเย็นก็มีที่นั่น ห้ามไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นธรรมคืออนัตตา ต้องเข้าใจว่าไม่มีใครไปทำ แต่ว่าธรรมเป็นอย่างนี้ ธรรมดาที่เราใช้ในภาษาไทยมาจากคำว่า "ธรรมตา" คือเป็นปกติ ความเป็นไปของรูป ใครจะไปเปลี่ยนความเป็นไปของ รูปได้ เพราะฉะนั้นธรรมดา ทุกอย่างธรรมดา คือต้องเป็นไปตามความเป็นไปของรูปนั้น เพราะฉะนั้นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานในภาษาไทย ภาษาบาลีใช้คำว่า "มหาภูตะ" รูปใหญ่ปรากฏทั่วไป มหาภูตรูปได้แก่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ถ้าคุณทิพย์ออกไปข้างนอก มหาภูตรูปไปเเล้ว ไม่มีสิ่งที่จะปรากฏให้รู้ว่าเป็นคุณทิพย์อีกได้ เพราะอยู่ตรงที่มหาภูตรูป ถ้านำดอกกุหลาบเข้ามาในห้อง ก็ต้องมี เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว แต่แข็งกระทบตาไม่ได้ เพราะฉะนั้นมหาภูตรูปมี ๔ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นธรรมดา อาศัยกันและกันเกิดขึ้น หมายความว่าธาตุดินต้องอาศัย ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วยังมีอีก ๔ รูปซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป

    หนึ่งรูปก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อกระทบตา เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ปรากฏ ถ้าเพียงแต่ไม่มีจักขุปสาทรูป แม้รูปนี้มีก็ไม่ปรากฏ ที่ปรากฏได้เพราะมีปสาทรูป ถ้ามีแค่มหาภูตรูป รูปนี้ก็ไม่ปรากฏ ต้องมีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น ใช้คำว่าเกิดขึ้นเห็น เวลานี้ที่เห็นก็คือเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ หนึ่งรูปที่อยู่ที่มหาภูตรูป มี ๔ รูป ที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป คือสิ่งที่กระทบตาใช้คำว่า สีสันวัณณะต่างๆ ก็ได้หนึ่งรูป แล้วก็มีกลิ่น มีรส และก็มีโอชา รูปที่ทำให้รูปอื่นเกิด เป็นสิ่งที่เราบริโภคอาหารเข้าไป เพราะว่าในอาหารแต่ละหนึ่งมีโอชา สิ่งที่กระทบตาไม่ทำให้เกิด กลิ่นก็ไม่ทำให้เกิด รสก็ไม่ทำให้เกิด แต่รูปโอชาทำให้รูปเกิดขึ้นเป็นไป ท้องเสีย แข็งแรง อ้วนพี หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะมหาภูตรูปเป็นที่อาศัยของรูปเหล่านี้ มหาภูตรูปมี ๔ รูปทั้งหมด ๒๘ รูป เหลืออีกเท่าไหร่ เหลืออีก ๒๔ รูป เป็นรูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด

    ผู้ฟัง คือจะขาดธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้เลย แล้วถ้าในภูมิที่เป็น อรูปพรหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปใดๆ เลย คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใครเปลี่ยนไม่ได้ เพราะอะไร ตรัสรู้ถึงที่สุดว่า โลกที่เกิดของสัตว์มีหลายโลก โลกที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๓ รูปที่กระทบกาย คือเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ยังมีคำที่ละเอียดๆ ลงไปอีก เว้นอีกตามความเป็นจริง ชื่อว่า กามโลก เพราะว่ากามคือ น่าใคร่ น่าพอใจ เราชอบอะไรทั้งวัน สิ่งที่ปรากฏทางตาเราชอบมากเลย ต้นไม้ ดอกไม้ อะไรทุกอย่าง เสื้อ แสง สีสัน ต่างๆ เป็นที่ตั้งของความพอใจ เป็นกามที่น่าใคร่ เสียง เราก็ชอบเสียงดนตรีต่างๆ กลิ่นก็ชอบ รสก็ชอบ ที่สัมผัสกายได้ ๓ รูปคือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนธาตุน้ำเป็นธาตุที่เกาะกุม ๓ รูปนี้ เพราะฉะนั้นกระทบเมื่อใด ธาตุน้ำไม่ปรากฏ ไม่กระทบเลย เพราะธาตุน้ำซึมซาบ ๓ รูปนี้ให้รวมอยู่ด้วยกัน ไม่แยกกัน

    เพราะฉะนั้นเราชอบพวกนี้ใช่ไหม นี่เป็นกาม กามโลก โลกซึ่งมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๓ รูป แทนที่จะเรียกว่า เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เพราะกระทบกาย ก็รวมเรียกว่าโผฏฐัพพะ ๓ รูป และความรู้สึกที่พอใจ มีไหม เพราะฉะนั้นคำว่ากามมี ๒ ความหมาย ลักษณะของธรรมซึ่งติดข้อง ต้องการ คือโลภเจตสิก คือกาม ความติดข้อง หนึ่งเป็นนาม แล้วก็รูปซึ่งเป็น ที่ตั้ง ที่อาศัย ที่น่าใคร่ เพราะฉะนั้นพวกนี้เป็นกามหมด อะไรที่เป็นรูปที่น่าใคร่เป็นกามทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราอยู่ในกามโลก เทวดาก็มีกามโลกเหมือนกัน พอถึงรูปพรหมเปลี่ยนโลกที่อยู่แล้ว เป็นโลกซึ่งไม่ติดข้องใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นก็มีรูปไม่ครบ มีเฉพาะที่จำเป็น เพราะถึงอรูปพรหม อรูปโลก ด้วยปัญญาที่สามารถที่จะละความติดข้องในรูปทั้งหมดได้ ด้วยกำลังของฌาน ฌานยังไม่ต้องพูดถึง เพราะเกินกำลัง แค่นี้ยังไม่รู้อะไรเลยแล้วจะไปเป็นฌานได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอรูปฌานก็คือ โลกซึ่งไม่มีรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น มีแต่นามธรรม

    เพราะฉะนั้นคำของพระพุทธเจ้าไม่เปลี่ยน แต่ว่าต้องศึกษาให้เข้าใจ อย่าสับสน ไม่ใช่เอาสิ่งนี้ไปปนกับสิ่งนั้น ใช่ไหม เมื่อพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องสิ่งนั้น ในเทวดามีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหม มี มีสีไหม มีกลิ่นไหม ก็เป็นกามโลก เพราะมีกามวัตถุ กามเป็นโลภะ วัตถุ เป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นกามวัตถุก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นที่ตั้งของกาม ของความยินดี อาหารเมื่อกลางวันอร่อยไหม เห็นพูดกันว่าอร่อยๆ เป็นที่ตั้งแล้ว ใช่ไหม ถ้าไม่มีจะติดข้องไหม ไม่มีก็ติดข้องไม่ได้ แต่มี จะไม่ให้ติดข้องได้อย่างไร เพราะฉะนั้นติดข้องในสิ่งที่มี ทุกคำต้องเข้าใจชัด แต่เราจะไปศึกษาธรรมโดยพจนานุกรมไม่มีทางสำเร็จ ในห้องนี้มีกามไหม มีกามวัตถุไหม มีทั้ง ๒ อย่าง เราไม่รู้ว่าโลภะมีมากมายมหาศาล ติดข้องในทุกอย่างที่มี เร็วด้วย แค่ลืมตาก็มาแล้ววิถีจิต เพราะฉะนั้นวิถีจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง วิถีจิต คือจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ในโลกนี้ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดโดยอ่าน

    ผู้ฟัง จดไว้ แต่ว่าคือจากความคิดที่เขียน

    ท่านอาจารย์ ทำไมเราไม่พูดตามความเข้าใจ ที่เราได้เข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง วิถีจิตหมายถึง จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ในโลกนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ยังตามที่เขียนไว้ เพราะฉะนั้นในครั้งพุทธกาลไม่มีตัวหนังสือ ไม่มีสมุด แต่มีธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ปรากฏโดยคำของพระองค์ แต่ไม่ใช่ไปตามตัวหนังสือเลย แต่คำนั้นสามารถที่จะทำให้เข้าใจได้ เช่น ตอนเกิด มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีรูปไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อารมณ์คืออะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ เก่ง จริงๆ ไม่เปลี่ยนแปลง หมายความว่าคำที่พูดแล้วต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่า เมื่อจิตเป็นธาตุรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่เราใช้คำภาษาบาลี เราเรียนบาลีเล็กๆ น้อยๆ ไปในตัว ก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม ใครบอกว่าไม่ชอบบาลี เป็นประโยชน์ ได้เพิ่มอีกภาษาหนึ่ง ไม่ดีหรือ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ภาษาบาลีจะออกเสียงว่า จิตตะ เราตัดหมดเลย ทุกขะ ก็เป็นทุกข์ สุขะก็เป็นสุข เจตะสิกะก็เป็นเจตสิก ก็ไม่ว่ากัน แต่ให้รู้ว่าถ้าพูดสากลกับชาวต่างประเทศ เราจะออกเสียงอย่างเราไม่ได้เลย เขาไม่เข้าใจ ต้องออกเสียงให้ถูกต้องตามภาษาบาลี แต่ภาษาไทยเราพูดกันได้ เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ได้ไหม ต้องยืนยันเลย ขณะเกิดมีจิตไหม รู้อารมณ์ไหม ต้องรู้ มีเจตสิกไหม เกิดพร้อมจิตใช่ไหม รู้อารมณ์เดียวกับจิตใช่ไหม แต่ว่าไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบถูกต้อง ไม่ใช่คิดนึกด้วย แล้วคืออารมณ์อะไร ไม่เห็นด้วย ไม่ได้ยินด้วย ไม่ได้กลิ่นด้วย ไม่ลิ้มรสด้วย ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แล้วคืออารมณ์อะไร

    เพราะเหตุว่ามีจิตขณะแรกที่เกิดขึ้น ภาษาบาลีจะใช้คำว่า "ปฏิสนธิ" หมายความว่าเกิดสืบต่อจากจุติจิต จุติจิต คือจิตสุดท้ายของชาติก่อน หมายความว่าตายเเล้วเกิดทันที เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อไม่มีระหว่างคั่น จะเอาอะไรไปคั่นไปแยกไม่ได้เลย โดยที่จิตหนึ่งขณะเป็นอนันตรปัจจัย ต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดโดยไม่มีระหว่างคั่น อนันตรแปลว่าไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้นทันทีที่จิตหนึ่งขณะดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไม่มีอะไรคั่นเลย เพราะฉะนั้นชาติก่อนกับชาตินี้ ชาติก่อนมีจิตขณะสุดท้าย ที่ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ใช้คำว่า "จุติกิจ" พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง จะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกสักหนึ่งขณะจิตก็ไม่ได้ ทำกิจจบสิ้นสุดชาติก่อนดับไป เป็นปัจจัยให้จิตแรกของชาตินี้เกิดขึ้น สืบต่อจึงใช้คำว่า "ปฏิสนธิ" สืบต่อจากจุติจิต

    เพราะฉะนั้นขณะแรกของชาตินี้มี เกิดสืบต่อจากชาติก่อน ชาติก่อนเป็นใครอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เมื่อตายแล้วเกิดอีก จำชาตินี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทันทีที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มีจิตซึ่งมีอารมณ์แน่ แต่ว่าเป็นอารมณ์ที่สืบต่อมาจากจิตสุดท้ายของชาติก่อน ก่อนที่จุติจิตจะเกิด จิตเกิดดับสืบต่อ ต่อไปเราจะเรียนเรื่อง กิจหน้าที่ของจิต เราถึงจะเข้าใจคำว่าวิถีจิต เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดนึกอะไรเลยทั้งสิ้น แต่มีอารมณ์ เป็นอารมณ์ใกล้ตายของชาติก่อน บังคับได้ไหมว่าจะเอาอารมณ์อะไร ชาตินี้บังคับได้ไหมก่อนตายให้มีอารมณ์นั้น อารมณ์นี้ ไม่มีทางเลย ก็เริ่มเข้าใจความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจิตแรกของขณะนี้ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่อาศัยหูเกิดขึ้นได้ยิน แต่ทำหน้าที่เกิดขึ้นโดยกรรมหนึ่ง ซึ่งกรรมที่ทำให้เป็นคนก่อน สิ้นสุดไม่เป็นคนนั้นอีก แต่กรรมที่จะทำให้เกิดสืบต่อ แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมอะไร ในชาติไหนที่ได้ทำมาแล้วทั้งหมด ที่ยังสามารถที่จะทำให้เกิดทำหน้าที่ทำให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น มีกำลังที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นอกุศลกรรม มีกำลังที่จะทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรมทำให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าสามารถทรงตรัสรู้ได้ถึงขนาดนั้นเลย ขณะปฏิสนธิจิต เรื่องของกรรมต่างๆ จุติจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ทรงตรัสรู้ เราจะได้ยินคำเหล่านี้มาแต่ไหน ใครจะมาบอก พระองค์เดียวเท่านั้นที่เหนือใครในสากลจักรวาล ไม่มีใครเทียบเลย จะมีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์พร้อมกันไม่ได้ ต้องเป็นเลิศจริงๆ พระปัญญามหาศาลกว่าที่เราคิด

    ผู้ฟัง คุณตี๋เขาพูดถึงเรื่องที่ท่านอาจารย์สอน คือเป็นพระอภิธรรม ไม่สามารถจะเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจ

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ก่อน พระอภิธรรมคืออะไร เพียงเท่านี้ ทุกอย่างต้องตั้งต้นด้วยคืออะไร เพราะฉะนั้นอภิธรรมคืออะไร เท่าที่คุณตี๋ทราบ

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจ คือธรรมที่ยิ่งใหญ่ คือธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เราต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าพูดถึงอภิธรรม แสดงว่าธรรมมีจริงใช่ไหม ตั้งแต่ต้นเรื่องเลย ธรรมต้องเป็นสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้มี แล้วจะบอกว่าไม่จริงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีเเต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนถึงความละเอียดยิ่ง ละเอียดยิ่งลึกซึ้งยิ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีแน่ ที่จะมีคำที่เราได้ยินแบ่งเป็น ๓ ปิฏก หรืออย่างไรก็ตามแต่ แต่ธรรมมีจริงไหม ใครเปลี่ยนแปลงธรรมได้ไหม เป็นอนัตตา แล้วธรรมที่มีจริง ที่เป็นอนัตตา เมื่อเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ใหญ่ยิ่งกว่าใครทั้งหมดไหม

    ผู้ฟัง ใหญ่กว่า

    ท่านอาจารย์ ใหญ่ยิ่งคือบรมใช่ไหม ที่จะกล่าวว่าเป็นบรมได้ต้องมีลักษณะของเขา ซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างแข็ง ใครเปลี่ยนแข็งไม่ได้เลย เสียง ใครก็เปลี่ยนเสียงไม่ได้ เกิดเป็นเสียงเเล้วดับทันที ใครไปเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมใช่ไหม ใหญ่ยิ่งใช่ไหม อีกคำหนึ่งคืออภิธรรม เพราะฉะนั้นธรรมเท่านั้น เป็นทั้งปรมัตถธรรม และเป็นอภิธรรม ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าไปเอาอภิธรรมมาต่างหาก และธรรมอยู่ต่างหาก แต่ตัวธรรมที่มีจริงเป็นสิ่งที่มีจริง ใหญ่ยิ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วลึกซึ้งละเอียดอย่างยิ่ง ที่เรากำลังพูดถึงแต่ละหนึ่งๆ แสดงความลึกซึ้งว่าเมื่อหลับตาไม่มีสิ่งที่ปรากฏ เห็นอะไร เห็นคน ผิดไหม เพราะเหตุว่าหลับตาแล้วไม่มีสิ่งที่ปรากฏ แต่มีคนหรือเปล่าถ้าเห็นคน ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจละเอียดจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรมแน่ และละเอียดลึกซึ้งจนไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดงเพราะฝืนกระแสของเรา เพราะเราติดข้อง นี่คือสอนให้เข้าใจแล้ว"ละ" เมื่อไม่ใช่เราแล้วจะไปติดข้องได้อย่างไร แต่เพราะเข้าใจว่าเป็นเราต่างหากจึงติดข้อง ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่มีจริงนั่นแหละเป็นอภิธรรม เวลาไปงานศพเขาบอกว่าสวดอภิธรรม เขาตั้งต้นว่าอย่างไร กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา มีคำว่าธรรมทั้งหมด ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลาย กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา ธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ก็คือจิต เจตสิก

    รูปเป็นกุศลได้ไหม รูปเป็นไม่ได้ คือความลึกซึ้ง ความละเอียด ซึ่งค่อยๆ รู้ว่ากว่าเราจะรู้ว่า ไม่มีเรา ทั้งตัวคือรูปละเอียดที่แทรกด้วยอากาศรูปทั่วตัวเลย แตกย่อยออกมาเป็นแต่ละหนึ่งได้ ใช่เราที่ไหนสักรูปเดียว แม้แต่เห็นก็ไม่ใช่เรา ได้ยินก็ไม่ใช่เรา เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ นี่คือความลึกซึ้งจึงเป็นอภิธรรม และที่จะกล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่เกิด ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ก็จะมาถึงอภิธรรมด้วยว่า แล้วมีอารมณ์อะไร ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า ใครจะมาบอกเราว่าอารมณ์ของจิตปฏิสนธิ คืออารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน ยังมี เพราะอะไรอีก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 182
    2 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ