ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1093


    ตอนที่ ๑๐๙๓

    สนทนาธรรม ที่ วิลล่า วิลล่า พัทยา รีสอร์ท จ.ชลบุรี

    วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นคนที่มั่นคงอย่างมากในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคนที่ศึกษาธรรม เรียนพระอภิธรรม สอนพระอภิธรรม ตั้งสำนักปฏิบัติ นั่นแสดงว่าเขาไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งซึ่งถ้าไม่รู้ก็คือไม่ละความเป็นเรา เพราะเราไม่รู้ในขณะนี้ เราจึงยึดถือว่า เราเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องตรงขณะนี้ด้วยว่า เดี๋ยวนี้ที่เห็นยังเป็นเรา ถ้าตราบใดที่ยังไม่ปรากฏความเป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ใช่ใครเลย ขณะนั้นก็ยังไม่ถึงความจริง เพราะฉะนั้นหนทางนี้เป็นหนทางของปัญญาเท่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจทุกคำและให้มั่นคงด้วย เพียงได้ยินว่าจิต ก็ต้องไม่มีทางที่ใครจะไปทำอะไรแล้ว เป็นธาตุรู้ซึ่งอาศัยปัจจัย เกิด และดับ จะค่อยๆ สงบกว่าที่ไปทำ เพราะว่าลึก กว่าจะค่อยๆ ละความลึกที่มีความไม่รู้หนาแน่น เหนียวแน่นสุดที่จะประมาณได้ ยิ่งกว่าความลึกของมหาสมุทร และสิ่งที่อยู่ใต้มหาสมุทร จิต เจตสิก ที่เรากำลังพูดถึง แต่ตัวเขายังไม่ปรากฏ และจะปรากฏกับปัญญาเท่านั้น ระดับไหน ต้องเป็นปัญญาระดับขั้นการฟังต้องมั่นคงว่า ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง คือพอดีผมไปเอา ๒ คำถามมารวมกัน เช่น คำถามในการทำงาน กับ คำถามธรรม ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าผมตัดคำถามเรื่องการทำงานทิ้งก็จบ ผมพอเข้าใจว่าตรงนี้ที่ทำก็เป็นจิต คือเขาเป็นอย่างไร เราไปบังคับเขาไม่ได้ ถ้าจะคุยในเรื่องของธรรมคือผมต้องตัดตรงนั้นทิ้งไป

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ที่แยกโลก กับ ธรรม คนส่วนใหญ่จะพูดอย่างนี้ ทางโลกฉันทำอย่างนี้ๆ ทางธรรมฉันเป็นอย่างนี้ๆ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วแต่ละคำเราเปลี่ยนหรือลืมไม่ได้ เพราะเมื่อเราเปลี่ยนก็จะลืมทันที หลงทางทันที เรื่องนี้เราไม่รู้เลยเพราะเราเป็นปุถุชน คนที่หนาแน่นด้วยกิเลส การที่เราจะมีความมั่นคงได้ก็คือว่า คำนี้ใครเป็นคนบอกเราว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ธรรม เราเริ่มรู้ว่าคนนี้พูดจริง คือพูดถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แค่เริ่มต้นเราก็รู้แล้วว่าพูดจริงใช่ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ก็คือไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ใคร และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย เท่านี้เราจะเบาใจไหมว่าตั้งแต่เราเกิดมาก็เลือกเกิดไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยซึ่งละเอียดมาก แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้ฟังคำสอนให้ละเอียด เราไม่สามารถที่จะละความเป็นเรา ทำให้เราแยกโลกกับธรรม คล้ายๆ กับว่าโลกไม่ใช่ธรรม แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม

    เพราะฉะนั้นทุกคำต้องมั่นคงอย่างยิ่ง ถึงจะรู้จักความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ท่านตรัสเพราะท่านตรัสรู้ ไม่ใช่เพียงแค่คิด แต่เราคือคิดเอาเองว่าทางโลกเราจะทำอย่างนี้ พอถึงทางธรรมเราจะไปทำอย่างนั้น และถ้าเรามีทางธรรม เราจะสงบเพื่อมาช่วยทางโลก ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของเราทั้งหมดเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องของความที่มั่นคงในธรรม ซึ่งจะนำทางไปสู่ทางสายเอก ก็คือความเข้าใจที่มั่นคงเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นโลกก็คือธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีอะไรเกิดมาเลยเเล้วจะมีโลกไหม แต่พอมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น นั่นคือโลกแล้วใช่ไหม แต่เวลานี้ปัจจัยที่จะทำให้เกิดเต็มโลก คือเป็นอย่างนี้ เราก็เลยเข้าใจว่าโลกคืออย่างนี้ แต่ความจริงโลกคือแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราเริ่มเข้าใจ โลกก็คือธรรม โลกจะไม่ใช่ธรรมไม่ได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ก็เลยแยกทางโลกออกไปกับทางธรรม แล้วพอฟังธรรมก็คิดว่าธรรมจะช่วยได้ หาทางที่จะช่วยทางหนึ่งทางใด โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจก็จะมีความไม่สงบ มีธุระ ความวุ่นวาย ความกังวล มากมายไปหมดทั้งวัน แต่หารู้ไม่ว่านั่นก็คือธรรมประเภทต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป สำหรับคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจ เช่น ทำครัวก็มีเรื่องยุ่งยาก เราลองไปในครัว เเม่ครัวเขาก็มีเรื่องของเขาเหมือนกัน ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น แต่ละขณะ ให้ทราบว่าเป็นความจริงซึ่งไม่ใช่เรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ยิ่งด้วยปัญญา ถ้ายิ่งด้วยศรัทธา ๘ อสงไขยแสนกัปป์ ถ้ายิ่งด้วยวิริยะก็ ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์ แล้วเราเป็นใคร อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า สุเมธดาบส ซึ่งคือพระพุทธเจ้าพระองค์นี้จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "โคดม" ในอีก๔ อสงไขยแสนกัปป์ คนยุคนั้นร่าเริงยินดีว่า ถ้าเขาไม่รู้แจ้งสภาพธรรมในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็ยังมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน๔ อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งก่อนนั้นก็มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๒๔ พระองค์ แล้วเราเป็นใคร เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเป็นสาวก ผู้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะขาดความอดทนที่เป็นบารมีได้ไหม ขันติบารมี มั่นคง อธิษฐาน ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ รู้แสนยากแต่รู้ได้แน่วันหนึ่ง สัจจบารมี คือความจริงเป็นอย่างนี้ หนทางนี้คือหนทางของปัญญา หนทางอื่นไม่ใช่ จึงได้ตรัสไว้ว่าหนทางเดียวที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสได้ ก็ด้วยความเข้าใจถูกต้องในความเป็นจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีบารมีแล้วเราก็ไปนั่งทำอะไร แล้วเราคิดว่า พอใจแล้ว เราสงบแล้ว เรามาช่วยทางโลกของเราแล้ว เหมือนกับว่าเราอาศัยพระธรรมมาช่วยทางโลก แต่ความจริงนั่นไม่ใช่การศึกษาธรรมเลย การศึกษาธรรมต้องรู้ว่าธรรมเป็นคำของใคร เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเราจะได้เข้าใจถูกต้อง คำของคนอื่นทั้งโลกไม่สามารถจะทำให้เราเข้าใจได้เลย ไม่ว่าเขาเป็นใคร แม้คำที่กำลังได้ยินตอนนี้ก็เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษา ละเอียดอย่างยิ่ง ไม่เว้นเลยแต่ละคำ แม้แต่จิตก็อธิบายอย่างละเอียดเลยว่า จิตรู้อารมณ์ จิตสะสม กิเลส กรรม วิบาก จิตทำให้วิจิตร หรืออะไรต่างๆ ทั้งๆ ที่พูดคำเดียวว่า มีจิตไหม คนบอกเข้าใจเเล้ว เเต่ไม่ได้เข้าใจจริง จนกว่าจะแสดงจิต ๘๙ ประเภทให้มั่นคงเพิ่มขึ้นอีกว่า ไม่ใช่เราสักหนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าธุรกิจการงานก็เป็นธรรม คือมั่นคงว่าเป็นธรรม โลกก็คือธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเกิดขึ้นก็ไม่มีโลก เพราะฉะนั้น โลก (โล-กะ) คำนี้ในภาษาบาลีหมายความถึงสิ่งที่เกิดดับ เราเริ่มเข้าใจถูกต้อง ค่อยๆ สะสมความไม่ใช่เรา ฟังแล้วไตร่ตรองจนกระทั่งมั่นคงในความไม่ใช่เรานั่นคือความสงบที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ก็ต้องละทางโลกหมด แล้วก็เข้าป่า

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ขอสั้นๆ ก่อนว่า เพราะปัญญาใช่ไหม

    ผู้ฟัง เพราะปัญญา ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไปทรมานพระองค์ ขณะนั้นยังไม่ถึงเวลาที่จะตรัสรู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าทำอย่างนั้นต่อไป จะตรัสรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเห็นว่านั่นไม่ใช่หนทาง ปัญญาต้องรู้ว่า สิ่งนั้นผิด ปัญญาจึงละ แต่ถ้าไม่รู้ว่าผิดก็ไม่ละ เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะละสิ่งที่ผิดได้

    ผู้ฟัง อีกตอนหนึ่งที่เขาอ้างถึงคำพูดของพระพุทธเจ้าว่า "สู่ป่า สู่ดง"

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นั่นแปลผิด แปลโดยตรงจะใช้คำว่า "ไปแล้วสู่ป่า" ท่านตรัสกับภิกษุ "ไปแล้วสู่เรือนว่าง" ไม่ได้ตรัสว่า ไปบ้าน เพราะภิกษุไม่มีบ้าน

    ผู้ฟัง ใช่ ไปแล้วสู่ป่า

    ท่านอาจารย์ ก็คือภิกษุทั้งหมดเลย แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ไป แต่ไปแล้ว เพราะว่าเป็นที่อยู่ของท่าน ไปแล้วสู่ป่า อย่างเรามาแล้วสู่ที่นี่ หมายความว่าเป็นชีวิตปกติของพระภิกษุ เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์อย่างท่านอนาถบิญฑิกเมื่อท่านได้ยิน ท่านก็เข้าใจ ท่านก็กลับไปบ้านของท่าน ปัญญาอยู่ที่ไหนก็ได้ ต้องมีความมั่นใจในปัญญาว่าปัญญาสามารถเข้าใจ ชื่อว่าปัญญาคือความเข้าใจ ซึ่งเริ่มจากทีละเล็ก ทีละน้อย เหมือนเราเรียนหนังสือ ปัญญาของเราก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาก็คือ ไม่รู้ ไม่รู้ แล้วรู้ผิดด้วย

    ผู้ฟัง คือเข้าใจมาก ก็คือจะบรรลุมากขึ้นทีละขั้นไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ มีสองอย่าง สัมมามรรค กับมิจฉามรรค แล้วเราไม่เคยพูดถึง มิจฉามรรคเลย มิจฉามรรคเริ่มต้นด้วย มิจฉาทิฎฐิ ซึ่งละเอียดมากเลยว่าเป็นเรา นี่คือมิจฉาทิฎฐิเเล้ว สักกายทิฏฐิ เพราะมีคำว่า "ทิฏฐิ" คือความเห็น กลางๆ ถ้าไม่มีคำว่า "สัมมา" หรือ "มิจฉา" ก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นหัวข้อเรื่องราวของอกุศล เพียงใช้คำว่า ทิฏฐิ ก็หมายความถึงอกุศล มิจฉาทิฏฐิ ถ้าพูดถึงเรื่องกุศลทั้งหลาย เมื่อพูดถึง ทิฏฐิ ก็คือ ปัญญาเจตสิก ต้องเป็นความละเอียดอย่างยิ่งแล้วเราจะไม่ถูกใครหลอก ไม่ใช่ว่าคำพูดของเขาซึ่งให้เราทำ แต่ไม่ได้ให้เราเข้าใจในความเป็นอนัตตา เท่านี้เราก็เห็นว่าไม่ตรงแล้ว บอกว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ให้ไปทำ ให้ไปนั่ง แล้วจะเป็นอนัตตาได้อย่างไร ตัวตนต่างหากที่ไปนั่ง แต่เดี๋ยวนี้ปัญญาเกิดได้ตามปกติ เพราะตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ทั่วเป็นปกติก็ละอะไรไม่ได้ ก็เห็นยังเป็น"เรา"เห็นอยู่อย่างนี้แล้วจะไปละอะไร เป็นปกติอยู่ที่ไหนก็ได้

    เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในครัวก็มี ไม่ได้ไปป่า ไปนั่งอะไรเลยทั้งสิ้น กำลังทำอาหารอยู่ เป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่ได้ไปไหน เพราะว่าปัญญาเป็นความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเราเริ่มเห็นความต่างของสภาพธรรมซึ่งเป็นปัญญาเจตสิก กับสภาพธรรมที่เป็น โมหเจตสิก โมหะ คือมืด แล้วมิจฉาทิฎฐิมีด้วยอกุศลเจตสิกซึ่งเห็นผิด อย่างคนที่รู้ว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันเเล้วไม่มาเฝ้าเลย เเต่ไปหาครูทั้ง ๖ ถ้าไม่สะสมความเห็นผิดในชาติก่อนๆ มา เขาก็ไปหาความเห็นถูกได้ แต่เพราะสะสมจนไม่รู้จักความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งอันตรายมาก บางคนที่มีโอกาสได้พบได้ฟัง แต่ว่าขาดความละเอียดที่จะมั่นคง เพราะว่าต้องรู้ว่าธรรมลึกซึ้ง ลึกซึ้งคืออภิธรรม ธรรมทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าไปแยกเป็นพระอภิธรรมหมวดหนึ่ง หรืออะไร แต่ที่ให้เป็น ๓ ส่วน เพราะเหตุว่าเพื่อให้สะดวกแก่การศึกษาว่าเราจะพูดเรื่องอะไร อย่างสำหรับพระสูตร เมื่อเห็นแล้วชอบ ความชอบมาแต่ไหน ก็ต้องมาจากเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่คือโดยนัยของพระสูตรซึ่งคนสามารถเข้าใจได้ แต่โดยนัยของพระอภิธรรม ที่เรากำลังจะพูดถึงวิถีจิต แสดงให้เห็นเลยว่ามาจากไหน อย่างไร ก่อนวิถีจิตคือจิตอะไร แล้วเห็น เห็นกี่ขณะ และจิตที่เกิดต่อ เพราะอะไรจึงไม่ใช่จิตเห็น เพราะมีเจตสิกเพิ่มขึ้นอีก ทำกิจอะไร เพราะถ้าไม่เห็นแต่ว่ารับมา ก็ต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ท่านตรัสทุกอย่างไว้ทำไม เราควรเห็นประโยชน์ ที่ท่านตรัสเพราะมีคนฟังและเข้าใจได้จึงตรัสไว้ ถ้าไม่มีคนฟัง หรือไม่มีคนรู้ได้เลยก็เสียเวลาเปล่า สำหรับผู้ที่สามารถรู้จักพระองค์ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะไม่มีอาจารย์ทั้งหลายมาบังเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า อาจารย์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าคำใดเป็นคำจริง คำนั้นทั้งหมดเป็นคำของเรา จริงต้องจริง ตรงตามเหตุตามผล ไปทำอย่างหนึ่ง อย่างใดนั่นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเดี๋ยวนี้ไม่รู้ ต้องละความไม่รู้เดี๋ยวนี้ เพราะสภาพธรรมเกิด และดับ เพราะฉะนั้นปัจจุบันจะสั้นแค่ไหน ไม่ต้องไปสนใจเลย ขอเเต่ให้ปรากฏ ท่านจึงใช้คำว่านิมิต ไม่ใช่หนึ่ง หนึ่งนั้นไม่มีใครไปรู้ได้ จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะเกิด ไม่ต้องมีใครไปรู้ เพราะออกมาเป็นนิมิตแล้ว ถ้าไม่มีความต่างของสีสันต่างๆ เราจะรู้ไหมว่าอะไร แต่ความตัดกันของสีสัน กว่าจะเป็นอย่างนี้ อย่างคิ้ว ๒ ข้างยังไม่เท่ากัน หรืออะไรก็แล้วแต่ ฟันอีก จมูกอีก อะไรอีก แต่ละหนึ่งๆ ปรากฏใช่ไหม จิตต้องรู้ใช่ไหม ถ้าขณะนั้นไม่มีจิต จะปรากฏไหม แต่ปรากฏเร็วจนออกมาเป็นนิมิต เพราะฉะนั้น ทั้งลวง ทั้งหลอก ท่านใช้คำว่าจิตเหมือนนายมายากล นายมายากลที่เก่ง ยังเก่งน้อยกว่าจิต เพราะเขาไม่รู้จักจิต

    ใครก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา ใครก็ตามทั้งหมด ไม่มีทางเสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคิดทั้งนั้น แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ ตรัสรู้ ไม่ใช่คิด เป็นการประจักษ์การเกิดดับเลย แล้วปัญญานั้นมาจากไหน ต้องมาจากการฟังก่อน ปริยัติ ฟังด้วยความมั่นคงในความเข้าใจที่ไม่เปลี่ยน จึงเป็น เถรวาทะ ที่เราใช้คำว่า "เถรวาท" ต้องรู้ว่าถ้าผิดจากนี้คือไม่ใช่เถรวาท สำนักปฏิบัติไม่ใช่เถรวาท ท่านพระอานนท์ไม่ได้ไปสำนักปฏิบัติ ใครๆ ก็ไม่ได้ไปสำนักปฏิบัติ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ให้ใครไปสำนักปฏิบัติ แต่แสดงธรรมตรงไหน ความเข้าใจของคนแต่ละคนที่สะสมมาก็ต่างกัน อย่างท่านพระสารีบุตรฟังไม่กี่คำเป็นพระโสดาบัน ถ้ามีความเข้าใจที่สะสมมาเต็มเปี่ยม เราไม่รู้ความเป็นอนัตตาว่าจะเกิดเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นจะไปหวังก็เสียเวลา ช้าไปอีก เพราะมีความหวังเข้ามาคั่น ในความเป็นอนัตตาเมื่อสมัยที่ยังไม่ได้เป็นพระสารีบุตร พระมหาโมคคคัลลานะ ท่านพระสารีบุตรท่านไม่รู้เลย ท่านไปดูมหรสพกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ยังเกิดความคิดว่า คนเล่นก็ตาย เราก็ตาย เพราะฉะนั้นความคิดของแต่ละคนที่หลากหลายมาจากการสะสมซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ไม่หายไปไหนเลย

    จิตเป็นสภาพที่สะสม กิเลส กรรม วิบาก ทั้งหมดอยู่ในจิต เพราะฉะนั้นจะผลิตวิบากออกมาเมื่อไหร่ ทางไหนเราไม่รู้ แล้วแต่กำลังของกรรม ธาตุรู้ สามารถที่จะทำให้ธาตุรู้เกิดในอีก ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ได้ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือมาจากการค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ปรุงแต่ง แล้วเราไปนั่ง ฟังใครบอกให้ไปนั่งที่นั่น เดินที่นี่ แล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลย นอกจากมีความพอใจที่เราสบาย พอใจแล้วตรงนั้น เพราะฉะนั้นอริยสัจจ์ ๔ ละโลภะ ถ้าไม่รู้ว่าโลภะอยู่ตรงไหน ตรงเห็นนี่แหละ ทรงแสดงไว้โดยวิถีจิต ตั้งแต่เกิด จิตขณะแรกไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย โลกนี้ไม่ปรากฏ เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก เพราะมีอารมณ์ใกล้จุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้นเด็กบางคน คิด ยิ้ม และบางคนก็อาจจะร้องไห้ แม้เราเองก็ได้ใช่ไหม เพราะเราไม่รู้ความเป็นไปของจิตว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ทั้งหมดนี้สะสมมาในจิต

    จิตขณะแรกที่เกิดเป็นขณะเดียว สืบต่อจากจุติของชาติก่อน ใช้คำว่า "ปฏิสนธิ" เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตนี้จะมีปฏิสนธิจิตอีกไม่ได้ เพราะจิตนี้ต้องเกิดหลังจากจุติจิตของชาติก่อนทันที จิตอื่นแทรกคั่นไม่ได้เลย โดย สมนันตรปัจจัย หมายความว่า อนันตรปัจจัย คือจิตหนึ่งเกิด และดับ ทันทีที่จิตนี้ดับไป จิตอื่นเกิดเพราะจิตนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเพราะจิตนี้ก็สะสมทุกอย่างตามที่จิตนี้ได้สะสมมาแล้ว ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะ และขณะต่อไปชื่ออะไร เป็นปฏิสนธิจิตไม่ได้ ทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ แต่ทำภวังคกิจ ภวะ คือ ภพชาติ อังคะ คือองค์ ที่ดำรงความเป็นบุคคลนี้ไว้ ยังจากโลกนี้ไปไม่ได้ ยังเปลี่ยนเป็นคนอื่นไม่ได้ เป็นคนนี้ไปตราบเท่าที่ยังไม่ถึงแก่กรรม ที่เราใช้คำภาษาไทย ถึงแก่กรรมคือตาย หมายความว่า ถึงแก่กรรมที่สิ้นสุดไม่ให้เป็นคนนี้อีกต่อไป แล้วสิ่งที่มีในชีวิตนี้ทั้งหมดสะสมอยู่ในจิต ยากที่จะรู้ได้ อย่างเด็กที่เกิดมามีพี่น้อง ๒ คน คนหนึ่งมีเงินก็ให้ทานคนอื่นโดยไม่บอกพ่อแม่ จนกระทั่งใบอนุโมทนามา พ่อแม่ถึงได้รู้ว่าเขาบริจาคให้ที่ไหนบ้าง โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องสอนเลย มาจากไหน ถ้าไม่มีการสะสม

    เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งจึงเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่า โลภะก็ไม่ใช่เรา โทสะก็ไม่ใช่เรา เขาซึ่งมีโทสะมากๆ จนกระทั่งฆ่าคนได้ ทำทุจริตได้ เราจะไปเดือดร้อนไหม ถ้าเดือดร้อน คือเรานั่นแหละ โทสะกำลังทำร้ายจิตของเรา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่ทำดี ไม่ใช่แค่ละชั่ว ทุกอย่างของพระองค์พิสูจน์ได้ เข้าใจได้ แต่ต้องมั่นคงว่าเป็นเรื่อง"ละ" ไม่ใช่เป็นเรื่องได้ ทุกคนอยากสบายใจ อยากสุขทั้งนั้น ศาสนาอื่นเขาก็สอนเรื่องสมาธิ ให้ไปนั่งอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ แต่เขาไม่ได้ให้รู้ความจริงเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นคำที่ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    คำของพระองค์ให้รู้ความจริง ทุกคำเป็นคำของปัญญาไม่ว่าคำไหน ไม่ว่าปฏิสนธิจิตคืออะไร จิตขณะแรกดับไปแล้วไม่เกิดอีกเลย จิตที่เกิดสืบต่อทำภวังคกิจ ตราบใดที่ยังไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็คือภวังค์ ด้วยเหตุนี้ กระแสของภวังค์จึงเกิดตลอด จนกว่าจะมีเห็นคั่น และก็ภวังค์ หรือว่าได้ยิน แล้วก็อะไรก็แล้วแต่ ภวังค์เป็นพื้นของจิต แต่ไม่เห็นไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแม้มีจริงเเต่จะปรากฏกับปัญญาที่ได้อบรมแล้วเท่านั้น ถ้าขั้นฟังไม่มีทางจะรู้อย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่วิปัสสนา แต่วิปัสสนาจะเห็น จะเข้าใจอื่นไม่ได้ นอกจากปกติอย่างนี้ แล้วก็ตรงตามที่ได้ฟัง คิดดูสิ เป็นได้ แต่ไม่ใช่มีใครไปทำ

    ผู้ฟัง ภาวนา หรือว่าปัญญา คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าภาวนาคืออะไร ต่อไปนี้ถ้าจะให้ใครหลอกเราไม่ได้ ก็คือเราถามเขาเลยว่าคืออะไร โดยศัพท์ ภาวนาแปลว่าอบรม เพราะฉะนั้นมีการอบรม ๒ อย่าง สมถะ สงบ "สมถภาวนา" อบรมจิตให้สงบ "วิปัสสนาภาวนา" อบรมให้ปัญญาเจริญ รู้แจ้งสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่เห็นโทษของการที่เกิด โลภะ โทสะ ทั้งวัน ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่สงบ ไม่ใช่อย่างที่เราทำธุรกิจ แต่แม้แค่เห็นเขาก็รู้เเล้วว่าไม่สงบ เพราะฉะนั้นเขาจะสงบได้ต่อเมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แล้วจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ปัญญาต้องมี เพราะฉะนั้นภาวนาจะปราศจากปัญญาไม่ได้เลยแม้ว่าต่างระดับขั้น สมถภาวนา เป็นปัญญาที่รู้หนทางที่จิตจะสงบ เพราะขณะนั้นเขาสามารถที่จะรู้ความต่างของกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งเกิดสลับ เขาก็ยังรู้ว่าถ้าจะไม่ให้มีสิ่งนี้ต้อง "ละ" ด้วยปัญญา

    ผู้ฟัง ที่ผมฟังจากอาจารย์เหมือนกับว่าต้องมีการฟังก่อน แล้วก็ต้องมีความเข้าใจก่อน แล้วก็ไปอีกอย่างหนึ่ง เเต่ก็มีที่บอกว่าให้ฟังแล้วเข้าใจเลย ซึ่งผมหาเหตุผลไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ฟังเข้าใจคือ ละความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเข้าใจแล้ว"ละ" ความไม่รู้ ความเห็นผิด เพราะฉะนั้นเวลาเข้าใจเกิดขึ้นจะไม่เห็นผิด

    ผู้ฟัง แต่วันนี้มาฟัง ผมเข้าใจแล้วว่า ผมกำลังหาทางที่จะทำให้สงบ นิ่ง ตอนนี้มาฟังอีกก็คิดว่าเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ หาเท่าไหร่ ก็เป็นคุณตี๋

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ด้วยความไม่รู้ ไม่สงบ เข้าใจเมื่อไหร่สงบทันทีในขณะนั้น ทีละเล็ก ทีละน้อย ถ้าระลึกได้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ชาติหน้าไม่ใช่คุณตี๋เลย เป็นใครก็ไม่รู้ เหมือนชาติก่อนเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ทุกอย่างที่สะสมมาอยู่ในจิต จึงทำให้เป็นแต่ละหนึ่งตามอัธยาศัยที่สะสมมา ต้องมั่นคงในความ"ไม่ใช่เรา" เพราะฉะนั้นที่บอกว่าไม่เข้าใจ ก็ฟังซ้ำเฉพาะคำ ว่ายังไม่เข้าใจคำไหน เเล้วจะมั่นคงต่อเมื่อเราเข้าใจขึ้นๆ เป็นหนทางเดียว นี่คือทางสายเอก ซึ่งเริ่มจากการฟัง ปริยัติ กว่าจะถึง ปฏิปัตติ กว่าจะถึงปฏิเวธ โดยความเป็นปัจจัย ไม่ใช่เราทำ

    ผู้ฟัง ยังมีคำ ๒ คำ ซึ่งเวลาอ่านแล้วคิดว่ามีความหมายคล้ายๆ กัน คำแรกคือมนสิการเจตสิก เเละวิตกเจตสิก ตรึกถึงอารมณ์ สองคำนี้ผมยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คือมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมแน่นอน

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ต้องอย่างนี้เลย หมายความว่าต้องแยก แม้จิต กับเจตสิกให้ชัดเจน ไม่งั้นเราก็ปนกัน เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เราค่อยๆ ฟังทีละคำเพื่อจะได้รู้จักเจตสิกแต่ละหนึ่ง ไม่ต้องไปจำชื่อหมดทั้ง ๕๒ แล้วก็สับสน พูดถึงเจตสิกที่มี เมื่อวานนี้เรามีเจตสิกอะไรบ้าง เวทนาเจตสิก สภาพที่รู้สึก สุข ทุกข์ ต่างๆ เด็กมีไหม นกมีไหม เพราะเราพูดเรื่องจิต ที่ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่เว้นเลย กับสัญญาเจตสิก สภาพที่จำ สิ่งที่มีชีวิตมีจิตทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ซึ่งเจตสิกอีก ๒ ที่คุณปริญญาอยากจะทราบความชัดเจน คือ มนสิการเจตสิก กับ วิตกเจตสิก เริ่มที่มนสิการเจตสิกก่อน มนะ คือใจ สิการะ เราไม่ต้องไปเรียนบาลีให้ครบถ้วน แต่ให้รู้ว่า มนสิการเจตสิก คือเหนือคำพูดที่เราสามารถจะรู้ได้ เพียงแค่พอเข้าใจได้ เพราะว่าขณะนี้มีและก็เกิดดับโดยเราไม่รู้ ซึ่งถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีทางที่ใครจะรู้ได้เลยว่า เจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท เป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 182
    4 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ