ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1094


    ตอนที่ ๑๐๙๔

    สนทนาธรรม ที่ วิลล่า วิลล่า พัทยา รีสอร์ท จ.ชลบุรี

    วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีทางที่ใครจะรู้ได้เลยว่าเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท เป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ เห็นไหมว่า เหนือคำที่เราจะไปใช้ให้เข้าใจชัดเจนได้ เพราะว่าทันทีที่อารมณ์ปรากฏ เจตสิกนี้ใส่ใจ ไม่เมินเฉยในอารมณ์นั้น อย่างเวลานี้ เราเห็นของ ๒ อย่าง เราใส่ใจรึเปล่า แค่เห็นว่าต่างกันก็ใส่ใจแล้ว เพราะฉะนั้นเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท ๒ สิ่งนี้ต่างกันเราก็ใส่ใจเเล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราเลย แต่เป็นมนสิการเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นเวลาฟัง ใส่ใจในเสียงไหม เพราะว่าเสียงแต่ละเสียงเป็นไปตามความหมาย เช่น พูดว่า แว่นตา เป็นไปตามความหมายของสิ่งนี้ที่เป็นที่รู้กันและจำได้ หนังสือ ก็เป็นไปตามความหมาย ขณะนั้นก็เป็นการที่ใส่ใจในสิ่งที่จิตรู้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องเป็นคำ แต่ใส่ใจในรูปร่างสัณฐานในสิ่งที่แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตอะไรเกิดขึ้น ถ้าเป็นจิตเห็น เดี๋ยวนี้ที่เห็นก็ใส่ใจแล้วในสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตก็เป็นใหญ่ เป็นประธานแล้วเพราะรู้สิ่งนั้น ยากไหมที่เพียงหนึ่งขณะจิต คือเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับ ๑ วินาที เพราะเร็วยิ่งกว่านั้นอีก แสนโกฏิขณะก็ได้เพราะว่าละเอียดมาก จนกระทั่งเป็นทั้งห้อง คิดดูก็แล้วกัน ไม่มีใครจะนับได้ แต่ทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมี มนสิการเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นกำลังมีเสียงปรากฏ จิตได้ยินเกิดขึ้น เจตสิกที่เป็นมนสิการเจตสิก รู้สิ่งเดียวกับจิตรู้ แต่ลักษณะของเจตสิกนี้ ไม่ใช่ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง จิตเขารู้แจ้งชัดเลย เพชรแท้ เพชรเทียม ฟ้า ทะเล เป็นต้น เเต่มนสิการเจตสิกเขาใส่ใจในอารมณ์นั้น เจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นเป็นอกุศลได้ไหม ใส่ใจว่าเป็นเรา ใส่ใจว่าของเรา แต่ความจริงไม่ใช่

    การฟังธรรม นอกจากใส่ใจในขณะที่ได้ยินเเล้ว ก็ต้องมีเวลาที่จิตคิดตามเสียง ขณะนั้นมนสิการเจตสิกก็ใส่ใจในเรื่องที่คิด ถ้าใส่ใจผิด เขาไม่ได้บอกอย่างนั้นแต่ได้ยินผิด แล้วก็บอกว่าคนนี้พูดว่าอย่างนั้น ขณะนั้นเป็นอกุศลแน่ๆ อโยนิโสมนสิการ คือไม่ได้ใส่ใจด้วยความถูกต้องแยบคาย เพราะฉะนั้น โยนิโส ก็คือว่า ถูกต้อง แยบคาย เเต่ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการ ก็เกิดกับอกุศลจิต ถ้ากำลังฟัง ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงมีจริง โยนิโสมนสิการ ใส่ใจ และเข้าใจว่าก็เป็นเสียงซึ่งเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นเสียงของเราหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเสียงเราก็อโยนิโสมนสิการ ไม่รู้ว่าเสียงแค่เสียง เกิดขึ้นและดับไปจะเป็นของใครได้ แม้แต่ธรรมทั้งหมดที่ตัวก็เป็นแค่แต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะเป็นเราได้อย่างไร แข็งก็มี เห็นก็มี ตาก็มี ล้วนเป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป จะเป็นเราได้อย่างไร เข้าใจอย่างนี้เมื่อไหร่ โยนิโสมนสิการ ถ้า "อะ" แปลว่าไม่ ไม่แยบคายเลย ฟังเท่าไหร่ก็เป็นเรา จะทำโน่น จะทำนี่ จะรู้แจ้งนิพพาน จะไปสำนักปฏิบัติ พวกนี้คือ อโยนิโสมนสิการ ข้อสำคัญที่สุดที่จะได้สาระจากพระธรรมต้องเป็นผู้ตรง ตรงต่อความจริง และมั่นคง อธิษฐาน และสัจจะ จริงใจด้วย ปัญหาทั้งหลายในโลกนี้ที่ยังแก้กันไม่ได้ก็เพราะไม่รู้ว่าถ้าไม่ใช่ความถูกต้องจริงๆ แก้ไม่ได้ ทุกเรื่องมาจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้นทุกเรื่องแก้ได้เมื่อรู้ และแก้ได้จริงๆ อย่างปรองดอง ความดี กับ ความชั่ว จะปรองดองกัน ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นั่งประชุมกัน พูดดีๆ ปืนอยู่ข้างหลัง มีดอยู่ข้างหลัง ดาบอยู่ข้างหลัง อะไรอย่างนั้นหรือคือ ปรองดอง​ แต่ถ้าเป็นความดี หรือคนดี​ ช่วยกันตลอด​ คนละไม้​คนละมือ​ ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ถูกต้อง​ด้วยกัน ขณะนั้นจึงปรองดองได้ เพราะฉะนั้นจะมีคำว่า "สามัคคี" มีคำว่า "ปรองดอง" สามัคคี คือพร้อมเพรียงกัน ทำอะไรก็ได้ที่พร้อมกัน นักเรียนในชั้นลุกขึ้นยืนพร้อมเพรียงกัน นั่นเป็นสามัคคีทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าปรองดอง​ก็ยิ่งกว่านั้น ต้องเป็นธรรมที่ถูกต้อง​เช่นเดียวกัน ตราบใดที่เป็นความไม่รู้ และความโลภ ความโกรธ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีทางจะปรองดอง แต่ถ้าเริ่มเข้าใจธรรมเมื่อไหร่ เริ่มเป็นคนดีเมื่อไหร่ คนดีไม่ทำร้ายคนดี เมื่อนั้นแหละปรองดองได้

    ด้วยเหตุนี้ ทุกขณะเป็นธรรม ไม่ว่าจะธุรกิจ การเมือง การค้า ไม่ว่าอะไรก็เป็นการสะสมของจิต ซึ่งไม่พ้นจากเห็นแล้วคิด ตามเรื่องที่สะสมมา ได้ยินวิชาการต่างๆ ก็คิด ตามเรื่องที่ได้ยินแล้วแต่ว่าเป็นวิชาอะไร ทั้งหมดไม่เคยเป็นเรา หรือเป็นของเรา แต่เป็นธรรมทุกเรื่อง ไม่มีที่จะพ้นจากธรรม เพราะฉะนั้นปัญหาของประเทศชาติก็แก้ไม่ได้ด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าด้วยความรู้ก็แก้ได้โดยความถูกต้อง ถ้าถูกต้องแล้ว ไม่ผิด แต่ต้องจริงใจ ตรง และมั่นคง คือโยนิโสมนสิการ ขณะที่ฟังไม่ใช่เรา​ ต้องรู้เลย​ เกิดกับจิตทุกดวง​ ยังไม่ถึงวิตก (วิ-ตัก-กะ) ให้เป็นแค่ว่า​ โยนิโสมนสิการ เป็นไปในกุศล ก็อย่างทาน (ทา-นะ) ทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ เป็นอามิสบูชา ก็ได้ ให้ธรรมก็ได้ อะไรเป็นเลิศ ใช่การนำดอกไม้ พวงมาลัย ๗ สีไปถวายพระพุทธเจ้าหรือไม่ พระองค์สะสมมาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพื่อรับดอกไม้ธูปเทียน แต่เพื่ออนุเคราะห์คน​ให้เขาพ้นจากความไม่รู้ พ้นจากความเข้าใจผิด พ้นจากกิเลสทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นธรรม​ที่บูชาสูงสุด​ ก็คือการเข้าใจธรรม ขณะที่เราสนทนาธรรมก็เป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเป็นคนตรงที่จะไม่ทำให้คำสอนของพระองค์คลาดเคลื่อนหรือผิดไป​ ซึ่งเป็นการทำลายคำสอน แค่คลาดเคลื่อนนิดเดียว​ก็ทำลายแล้ว​ วิวาทะต่างกับที่พระองค์ได้แสดงไว้แล้ว​ ไม่ใช่เถรวาท​ ถ้าไม่ใช่คำที่มั่นคง​ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ใช่ว่า​ไปสอบให้ได้คะแนนมา ไม่ใช่เพื่ออย่างนั้น​ เพราะทั้งหมดเป็นไปเพื่อการ "ละ" ทาน (ทา-นะ) คือการสละสิ่งที่มีเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ลองคิดถึงว่าเรารักตัวเราที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นการสะสมมายังทำให้สามารถ "ละ​" สิ่งที่มีให้คนอื่น​เพื่อประโยชน์แก่เขา​ ขณะนั้นเริ่มเป็นการสละ จึงเป็นบารมี เพราะเรื่องของการสละ ทั้งหมดเป็นเรื่องบารมี ถ้าเราไม่สามารถที่จะสละแม้วัตถุให้คนอื่นได้ แสดงว่าเราติดแน่น หวงแหนในความเป็นเราแค่ไหน แล้วนั่นหรือจะสามารถสละความเป็นตัวตนได้ เพราะเหนียวแน่นยิ่งกว่านั้น ขนาดคนจะตาย แม่ลองใจลูกที่กำลังจะตาย ถอดแหวนของลูก ลูกกำไว้แน่น คิดดูสิ จะจากโลกนี้ไปแล้ว แค่แหวนก็ยังกำไว้แน่น

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจธรรมก็จะไม่รู้ว่าตัวตนเหนียวแน่นระดับไหน แค่ไหน ยิ่งกว่าไม่มีที่บรรจุในจักรวาลเลยก็ว่าได้ แน่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้เป็นเราเห็น กว่าจะค่อยๆ ฟังพระธรรมเข้าใจๆ ตัวเข้าใจจะค่อยๆ เอาสิ่งที่ผิดออกทีละน้อยๆ จนถึง "อภิสมัย" ที่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรเลย ในขณะที่เห็น อย่างอื่นต้องไม่มี เพราะจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วก็ดับไป ขณะนั้นโลกอย่างที่เรามีหลายๆ คนในห้องนี้ต้องไม่เหลือ เพราะว่าปัญญาต้องรู้รอบในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าหลายๆ อย่าง เช่น เห็นเป็นโต๊ะทั้งตัวเลย เเล้วอย่างนี้จะไปรู้รอบตรงไหน แต่เพียงหนึ่งที่ปรากฏ รู้รอบในสิ่งที่ปรากฏว่า ไม่ใช่เราแน่นอน และสิ่งที่เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่เรา เพราะทั้ง ๒ อย่างต้องต่างกัน นี่คือโยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ขั้นฟัง ฟังด้วยความเข้าใจด้วยความแยบคาย ด้วยการรู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกปิดบังไว้นานแสนนาน ทั้งๆ ที่เป็นคำจริง ทุกขณะที่ได้ฟังเริ่มรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ถึงแม้กระนั้น ความจริงนี้เมื่อไหร่จะมั่นคง จนกระทั่งสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ปรากฏอย่างนั้นตามปกติ ความไม่รู้ มีเป็นปกติในสิ่งที่กำลังเป็นเดี๋ยวนี้ฉันใด ปัญญาที่จะละ ต้องละ ด้วยความรู้ในสิ่งที่กำลังมีตามปกติ เราพูดถึงจิต จิตดับไปแล้วมากมายแต่ยังไม่ถึงลักษณะของจิตหนึ่งเลย เพราะฉะนั้นเราก็ยังไม่หมดความสงสัยในธาตุรู้ จึงต้องเป็นคนที่ตรงว่าปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้ระดับไหน

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี หลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์แล้วพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ เเล้วกว่าแต่ละพระองค์จะตรัสรู้ และกว่าจะได้ฟังคำสอนเพื่อเก็บเล็กผสมน้อยสะสมอยู่ในจิต จนกว่าจะถึงวาระที่พร้อมด้วยปัจจัยที่จะรู้เมื่อไหร่ ความรู้แต่ละครั้งจึงปรากฏโดยความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นถ้ารู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือมั่นคงในความเป็นอนัตตา

    วันนี้ที่เราได้รับประทานขนมปัง เราไม่รู้เหตุให้เกิดของขนมปัง แต่ละอณูมาจากธาตุอะไรเป็นปัจจัย เราก็เรียกเต็มๆ เลยว่า ขนมปัง แต่ถ้ารู้ว่า เล็กที่สุด แข็งหรืออ่อน มีอากาศธาตุแทรกคั่นรวมกัน ไม่ว่าจะยังสดหรือปิ้งแล้ว ก็คือไม่พ้นจากความเป็นธาตุแต่ละหนึ่ง เราก็ค่อยๆ คลายว่า ขนมปังปิ้งฉันใด ที่ตัวนี้ก็ต้องฉันนั้น ต้องมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ยังหลงยึดถือว่า เป็นเรา เพราะไม่รู้ นี่คือโยนิโสมนสิการ ฟังเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นคงไม่สงสัยในคำว่า "มนสิการ" ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท

    อีกเจตสิกหนึ่งคือ วิตกเจตสิก เจตสิกที่เสมอกับจิตอื่น ไม่ว่าจะเกิดกับกุศล หรืออกุศล "อัญญสมานาเจตสิก" อัญญะแปลว่าอื่น สมานาแปลว่าเสมอ เจตสิกนี้เกิดขึ้นแล้วแต่เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยจะเป็นกุศล และอกุศล หรือเป็นวิบาก เป็นกิริยา ๔ ชาติที่เรากล่าวเมื่อวานนี้ ครบ ๔ ชาติหรือยัง ถ้ายังจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ฟังคำไหน เข้าใจคำนั้น แล้วคำต่างๆ เหล่านั้นก็จะไปต่อกันเองได้ เพราะว่าความจริงทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมดเลย ด้วยเหตุนี้ เราก็รู้ได้เลยว่าฟังธรรมเพื่อเข้าใจในความเป็นอนัตตา ไม่ว่าคำไหน เห็นเป็นอนัตตา คิดเป็นอนัตตา โกรธเป็นอนัตตา เกลียด ใจดี เป็นอนัตตาทั้งหมด มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิก เป็นเจตสิกซึ่งเสมอกับเจตสิกอื่นๆ เป็นอัญญสมานาเจตสิก ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ พวก โดย ๗ ประเภทเป็น "สัพพจิตตสาธารณเจตสิก" หมายความว่า เกิดกับจิตทุกดวง สัพพจิตตะ คือจิตทั้งหมดเลย สาธารณะเกิดร่วมด้วย เจตสิก ๗ ดวงนี้ เกิดร่วมด้วยกับจิตทุกประเภท ถ้าพ้นจาก ๗ ไม่ใช่สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้นวิตกเจตสิตไม่ใช่หนึ่งใน ๗ เจตสิก เพราะเกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง ๑ ใน ๗ เจตสิกที่พูดไปแล้วเมื่อวานนี้มี ๒ คือ เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เหลืออีก ๕ เพราะฉะนั้นจิตเห็นขณะนี้ ใครรู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ไม่รู้ใช่ไหม นี่คือพระปัญญาคุณให้เพื่อให้รู้ ให้เข้าใจถูกว่า ทั้งหมดไม่ใช่เรา คำว่า "ไม่ใช่เรา" ก็คืออนัตตา

    เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดด้วย เป็นผลของกรรม ให้ทราบว่าตลอดชีวิต จิตประเภทหนึ่งก็คือเป็นผลของกรรม ที่ทำให้เกิดอย่างไรก็ดำรงความเป็นภพชาติด้วยความเป็นบุคคลนั้น แล้วกรรมทั้งหลายก็ให้ผล โดยทำให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบกายบ้าง เพราะฉะนั้นรูป ๕ รูป คือจักขุปสาทเกิดจากกรรม บางคนตาบอดตั้งแต่กำเนิด หมายความว่าตลอดชีวิต กรรมไม่ทำให้จักขุปสาทเกิดจะไม่เห็นไปเลยตลอดชีวิต แต่บางคนไม่ใช่ตลอดชีวิต เกิดมาแล้วเห็น แล้วก็มาตาบอดทีหลังก็เพราะกรรมอีก สัตว์โลกจึงไม่พ้นจากกรรม และผลของกรรม เพราะฉะนั้นผลของกรรมคือ ทำให้เกิดแล้ว ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านี้ นอกนั้นที่เราไม่แสดงโดยนัยอย่างละเอียดก็คือว่า ไม่ใช่ผลของกรรม สำหรับ จิตเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตได้ยินทั้งหมด ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    จิตต้องเกิดขึ้นทำกิจ กิจทั้งหมดของจิตมี ๑๔ กิจ ที่เป็นเราทำโน่น ทำนี่ ความจริงเป็นกิจต่างๆ ของจิตแต่ละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นใน ๑๔ กิจนี้ มี ๕ กิจแล้วที่เรารู้จัก แล้วก็มีปฏิสนธิกิจเป็นกิจของจิตอีกหนึ่ง แล้วก็ภวังค์กิจ หมายความว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ ยังไม่เห็นทันที แต่มีจิตที่เป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิ ทำให้จิตต่อไปที่เป็นวิบากเกิดสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่นเลย อย่างเวลาที่เรานอนหลับสนิท เพราะฉะนั้นในชีวิตหนึ่ง ชาติหนึ่ง เราจะรู้จักจิตประเภทเดียวกัน คือปฏิสนธิ ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏในโลกนี้ ภวังค์เหมือนหลับสนิทเลย เป็นใครอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร บ้านช่อง ทรัพย์สมบัติ ผู้คน มิตรสหาย ไม่มีเลย ขณะนั้นแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เเต่ยังต้องดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น เพื่อที่จะเห็นต่อไป ยังไม่สิ้นสุดผลของกรรม ที่จะต้องได้ยิน ได้เห็น เพราะฉะนั้นนอกจาก ปฏิสนธิกิจหนึ่ง ภวังคกิจหนึ่ง และอีก ๕ กิจเป็น ๗ กิจแล้ว กิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ ปฏิสนธิหนึ่ง ภวังค์หนึ่ง และอีก ๕ กิจ และก็จุติกิจอีกหนึ่ง เป็น ๘ แล้ว เหลืออีก ๖ กิจเท่านั้นเอง จิตเห็นเกิดหนึ่งขณะ ดับ จิตที่เกิดต่อ ไม่เห็น แต่รู้อารมณ์เดียวกับจิตที่เห็น โดยฐานะของกิจที่รับต่อ รับรู้แต่ไม่ได้ทำทัสสนกิจ นี่คือความละเอียดที่ลวงเหมือนว่าเห็นตลอดเวลา แต่มีจิตที่เกิดต่อจากจิตเห็น โดยที่จิตขณะนั้นไม่เห็น แต่มีอารมณ์เดียวกับเห็น เพราะวิตกเจตสิกเกิดขึ้น ตรึกหรือจรดในอารมณ์ซึ่งจิตที่เกิดก่อนรู้

    เพราะฉะนั้นวิตกเจตสิก เป็นปกิณณกเจตสิก ไม่ได้เกิดกับจิตทุกประเภท สำหรับ ๗ ดวงต้องเกิดกับทุกจิต ไม่เว้นเลย แต่วิตกต้องเกิดโดยฐานะที่รู้อารมณ์นั้น แต่ไม่ใช่ทัสสนกิจ เป็นสัมปฎิจจฉันนกิจ เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็คือ ตามธรรมดาถ้าโลกไม่ปรากฏเมื่อไหร่ อย่างตอนเกิด และภวังคจิต ขณะนั้นโลกก็ไม่ปรากฏเพราะเป็นจิตประเภทเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน จิตที่เป็นประเภทเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกันก็คือ ปฏิสนธิจิตหนึ่ง ภวังคจิตหนึ่ง และจุติจิตหนึ่ง ต่อจากนั้นก็เป็นอารมณ์ของโลกนี้ที่ปรากฏทาง ตาบ้าง หูบ้าง คิดบ้าง อะไรบ้าง ด้วยเหตุนี้ สำหรับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้นวิถีจิตคืออะไร คือจิตที่รู้อารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์ของ ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ อารมณ์อื่นคืออะไร กำลังเห็นไม่ใช่อารมณ์เดียวกับตอนปฏิสนธิ ตอนเกิดสิ่งนี้ไม่ได้ปรากฏ เห็นทางตาไม่ได้ปรากฏเลย แต่ว่ามีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน ก็เป็นอารมณ์ของ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ นอกจากนั้นแล้วเป็นอารมณ์ของโลกนี้ โดยอาศัยตา ถ้าใครตาบอดไม่มีทางรู้เลยว่าโลกนี้มีอะไรบ้าง เพราะไม่เห็น อีกโลกหนึ่งก็คือ ต้องอาศัยหู โสตปสาท เพราะฉะนั้นจักขุปสาท โสตปสาท ก็คือกรรมทำให้รูปนี้เกิด เป็นผลแต่ไม่ใช่วิบาก เพราะไม่รู้อะไร การเป็นผลแต่ไม่รู้อะไร ต่างกับการเป็นผลแล้วรู้

    จิตที่รู้โดยเป็นผล วิบากจิตก็คือ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ให้เห็น ให้ได้ยิน ซึ่งเลือกไม่ได้ ถึงเวลาต้องเห็นเเล้ว อย่างเช่น ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ไม่มีใครอยากได้ยิน ไม่มีใครอยากเห็น แต่ต้องเห็น ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจเพราะกุศลกรรม เป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นเหมือนกันหมด จิตเห็น ไม่ใช่นก ไม่ใช่คน ไม่ใช่เทพ แต่เป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจแค่นี้ แค่เห็นแล้วก็ดับไป ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย แต่ทันทีที่จิตนี้ดับไป จิตต่อไปต้องมีเจตสิกเกิดเพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้ทำทัสสนกิจ เดี๋ยวนี้มีภวังค์ไหม มี แต่ไม่รู้ มีภวังค์มากมายตั้งเท่าไหร่คั่นระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน ระหว่างจิตเห็นแล้วคิด ก็มีภวังค์คั่น ระหว่างได้ยินแล้วคิด แต่ละคำ แต่ละเสียง ก็มีภวังค์คั่น นี่คือการเกิดดับอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลอกลวงปิดบังให้ไม่รู้เลยจึงเป็นเราตั้งแต่เกิด จนกระทั่งได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เมื่อถึงภวังคจิตแล้วจะเห็น หมายความว่าเห็นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีรูปที่กระทบตา แล้วขณะนั้นมีจิตเกิดขึ้น แค่รู้ว่ามีสิ่งที่กระทบตา แต่ยังไม่เห็น ถ้าจะกล่าวถึงวิถีจิต คือจิตใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่จุติจิต ภวังคจิต ปฏิสนธิจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นเป็นไปสืบต่อหลายขณะในแต่ละอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเราเริ่มรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ อายุของจิตสั้นมาก ดับไป ๑๗ จิต รูปๆ หนึ่งถึงได้ดับ ใครรู้ เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมอนุเคราะห์ให้ กว่าความไม่รู้และความยึดถือจะค่อยๆ จางไป โดยการที่ต้องเข้าใจอย่างมั่นคงว่า เห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นธรรมคือเดี๋ยวนี้ พูดถึงสิ่งที่มีจริง เราพอจะเข้าใจจิตเห็นใช่ไหม แต่ไม่รู้ว่าก่อนเห็นเป็นภวังค์ แล้วพออารมณ์กระทบ จิตเห็นยังเกิดไม่ได้ ต้องมีวิถีจิตแรกเกิดก่อน ยังไม่เห็นทันที วิถีจิตแรกเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ เพราะฉะนั้นเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ "อาวัชชนะ" ในภาษาไทยใช้คำว่า "รำพึง" ซึ่งรำพึงในภาษาไทยจะยาวเหลือเกิน เเต่เป็นเพียงหนึ่งขณะจิต เหมือนกับเพียงแค่รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ คือไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์แล้ว เพราะภวังค์หลับสนิทเลย ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงวิถีจิตแรก รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ เพราะฉะนั้นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ที่กระทบได้ ๕ ทาง จึงเป็นปัญจ คือ ๕ ทวารา คือ ทวาร ปัญจทวารกับอาวัชชนะ "ปัญจทวาราวัชชน" จิตนี้รู้อารมณ์ที่กระทบ ไม่ว่าจะเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเราหรือเปล่า กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เราก็ต้องละเอียดยิบ เพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ว่า พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ไม่ใช่เราๆ เท่านั้นแล้วเราก็เชื่อตามที่พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่เรา เท่านั้นจะพอได้หรือ แต่คำแต่ละคำ อธิบายจนกระทั่งความไม่ใช่เราจะค่อยๆ มั่นคงขึ้นว่า ภวังค์ก็ไม่ใช่เรา เป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่กรรมยังไม่ทำให้เห็นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นเห็น ไม่ใช่เราอยากเห็น กรรมทำให้เห็น ได้ยิน ก็ไม่ใช่เราอยากได้ยิน แต่กรรมทำให้ได้ยิน เพราะก่อนนั้นเป็นภวังค์ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ถึงเวลาที่กรรมจะให้ผลทางไหน เป็นปัจจัยให้สิ่งที่มีกระทบทวารนั้น ถ้าให้ผลทางจมูก กลิ่นหอมก็มี กลิ่นขยะก็มี เลือกไม่ได้เลย ถึงเวลาที่กรรมจะให้ผลที่จะทำให้จิตได้กลิ่นไม่ดีเกิดขึ้น กลิ่นที่ไม่ดีทั้งๆ ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ เเต่ยังไม่กระทบจมูกใคร จนกว่ากรรมจะให้ผล ทำให้กลิ่นนั้นกระทบจมูก เมื่อกระทบจมูกก็คือ ก่อนนั้นต้องเป็นภวังค์ ยังไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้นที่จะแสดงอารมณ์ว่ามีอายุ ๑๗ ขณะ เริ่มตั้งแต่ตรงที่กระทบ ใช้คำว่าอตีตภวังค์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 182
    10 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ