ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1095


    ตอนที่ ๑๐๙๕

    สนทนาธรรม ที่ วิลล่า วิลล่า พัทยา รีสอร์ท จ.ชลบุรี

    วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่จะแสดงอารมณ์ว่า มีอายุ ๑๗ ขณะ เริ่มตั้งแต่ตรงที่กระทบ ใช้คำว่า "อตีตภวังค์" ภวังค์มีมากมายเรียกไม่ถูก จึงกล่าวเฉพาะบางภวังค์ให้เข้าใจว่า ปฐมภวังค์หมายความถึงอะไร หรือว่าภวังค์ที่กำลังมีอารมณ์กระทบก็เป็นอตีตภวังค์ ภวังค์ยังจะดับไปทันทีไม่ได้ เพราะเป็นกระแส ซึ่งกว่ากระแสจะค่อยๆ หยุด ไม่เกิดต่ออีก ยังจะต้องมีภวังค์เกิดอีกหลังจากอตีตภวังค์ดับ ขณะที่รูปกระทบแล้วจะเห็นทันทีหรือ ได้ยินทันทีไม่ได้ เมื่ออตีตภวังค์ดับไป เป็นปัจจัยให้เกิดภวังค์อีกหนึ่งขณะ ชื่อว่า "ภวังคจลนะ" ไหว คือเพื่อที่จะทิ้งอารมณ์เเล้วจะเป็นวิถีจิต เมื่อภวังคจลนะที่ไหวดับ เป็นภวังค์สุดท้ายที่เกิดต่อ ใช้คำว่า "ภวังคุปัจเฉทะ" ตัดกระแสของภวังค์ ถ้าได้ยินคำว่าภวังคุปัจเฉทะเมื่อไหร่ ให้รู้ว่าต่อจากนั้นภวังค์เกิดไม่ได้ ต้องเป็นจิตประเภทอื่น คือเป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นวิถีจิต ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็ได้เดี๋ยวนี้

    จิตที่สามารถรู้อารมณ์ที่กระทบทวารทั้ง ๕ ได้มี หนึ่ง ปัญจทวาราวัชชนจิต สามารถที่จะรับอารมณ์ ไม่ว่าประเภทใด ดีหรือไม่ดีก็กระทบได้ รับได้ทุกอารมณ์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่วิบากจิต เพราะว่าถ้าเป็นกุศลวิบาก ต้องเฉพาะอารมณ์ดี ถ้าเป็นอกุศลวิบาก ต้องเฉพาะอารมณ์ที่ไม่ดี แต่จิตนี้สามารถรู้อารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีได้ทั้งหมด ทาง ๕ ทวารเท่านั้น เพราะฉะนั้นจิตนี้เป็นกิริยาจิต ตอนนี้เราจำชาติของจิตครบแล้ว กุศล๑ อกุศล๑ เป็นเหตุ วิบาก๑ เป็นผล กิริยา๑ ไม่ใช่ทั้งเหตุและผล เวลาไปงานสวดศพ กุสลาธัมมา เริ่มรู้ว่าหมายถึงกุศลธรรมทั้งหลาย อกุสลาธัมมา อกุศลทั้งหลาย อัพยากตาธัมมา อัพยากตา คือไม่ใช่กุศลและอกุศลทั้งหลาย ฟังแค่นี้ก็เข้าใจได้ว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่ามีใครสักคน แต่เป็นธรรมทั้งหมด ถ้าพูดถึงจิตโดยชาติมี ๔ ชาติ กุศล๑ อกุศล๑ วิบาก๑ กิริยา๑ เพราะฉะนั้นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบากจิต วิบากจิตไม่ใช่เหตุ คือไม่ใช่กุศล และ อกุศล ต้องเป็นแต่ละหนึ่งซึ่งมีปัจจัย เกิดและดับทันที แล้วไม่กลับมาอีกเลย ย้ำเลยว่า จะเป็นเราได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น มีภวังคจิตหลังจากเกิดแล้วดำรงภพชาติไป คั่นด้วยวิถีจิต ขณะนี้ วิถีจิตก็คั่นภวังค์แล้วขณะที่มีเห็น พอเห็นดับ รูปดับ ภวังค์คั่น ต้องเป็นภวังค์ก่อนได้ยิน จะเกิดได้ยินติดกับทางตาที่เห็นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตาไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ต้องมีความกระจ่างทุกคำ "ชาติของจิต ที่เป็นผลของกรรมเป็นวิบาก สำหรับรูป เป็นผลของกรรมแต่ไม่ใช่วิบาก" ต่อไปนี้ใครพูดผิด เรารู้เลย ถ้าบอกว่า กรรมทำให้ผลของกรรมเกิด แล้วมี จิต เจตสิก รูป ก็ถูกต้อง เพราะทั้งหมดเป็นผลของกรรม แต่สำหรับจิต เจตสิกเป็นวิบาก เป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ต้องรู้ แต่รูปไม่รู้อะไร แต่ก็เป็นผลของกรรม ต้องละเอียดมาก ต้องชัดเจน โดยกัมมปัจจัย ไม่ต้องไปเรียนทีละปัจจัย แต่ว่าสามารถเข้าใจได้ในขณะที่ฟังว่า เราสามารถศึกษาความเป็นปัจจัยที่จะให้ธรรมเกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่า ท่านอาจารย์จะจบตรง วิตก (วิ-ตัก-กะ) หรือยัง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว คือไม่จบแน่ เพราะวิตกเป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ สูงมากซึ่งขณะนี้ทันทีที่เห็นดับ วิตกเกิด เป็นเท้าของโลก เริ่มไปที่จะมีการจรด และก็มีการตรึก และก็จะมีการเป็นไปสารพัดต่อไป ดี ชั่ว หรือจะเป็น "สัมมาสังกัปปะ" จรดในอารมณ์ที่จิตที่ระดับนั้นสามารถรู้การเกิดขึ้น และดับไป

    ผู้ฟัง เรียนถามความหมายของ "เท้าของโลก"

    ท่านอาจารย์ มีโลกเกิดขึ้นใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ หยุดหรือไม่

    ผุ้ฟัง โลกเขาก็หมุนของเขาไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีหยุดเลย เพราะมีปัจจัยที่จะให้เกิดทั้งนั้นเลย แต่เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเกิดเพราะปัจจัย ก็เลยเป็นเราไปหมดเลย ไม่รู้อะไรทั้งหมดเลย แต่เมื่อรู้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิด เพราะมีปัจจัยเฉพาะที่จะให้สิ่งนั้นเกิดเป็นอย่างนั้นด้วย ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เริ่มเห็นความเป็นอนัตตา จึงต้องเข้าใจในสิ่งที่มีโดยความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นวิตกขณะนี้ยังไม่ใช่สัมมาสังกัปปะในมรรคมีองค์ ๘ แต่พอมีความเข้าใจเกิดขึ้น นั่นคือเริ่มที่จะมีพื้นฐานที่จะทำให้มรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นปริยัติจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้มรรคมีองค์ ๘ เกิดได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเป็นพื้นฐานเลย จะไปเอามรรคอะไรมาจากที่ไหน รู้อะไรก็ไม่รู้สักอย่าง

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า เป็นเท้าของโลก ในความละเอียดคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า จิตเห็นเป็นผลของกรรม ไม่ให้เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คือเวลาที่กรรมพร้อมที่จะให้ผล ที่ใช้คำว่าสุกงอม กรรมมีมากมาย แต่กรรมไหนให้ผลเมื่อไหร่ก็ทำให้เห็นเกิดขึ้น หรือได้ยินเกิดขึ้น ที่เราใช้ว่า "วิปากะ" คือผลของกรรม หนึ่งขณะ ต่อจากนั้นก็เป็น สัมปฏิจจฉันนะ สันตีรณะ เป็นผลของกรรมซึ่งเราไม่รู้ ที่เราจะรู้ได้โดยนัยของพระสูตร ก็คือว่า เห็นแล้วชอบ หรือไม่ชอบ แต่ว่า "วิตก" เริ่มเกิดตั้งแต่จิตเห็นดับ สัมปฏิจจฉันนะ มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัมปฏิจจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ เริ่มเป็นเท้าที่จะก้าวไปเรื่อยๆ เพราะว่าถ้ามีแต่เห็นแล้วดับก็ไม่ต่อ แต่วิตกเกิดมาแล้วในขณะต่อไป เริ่มไปเรื่อยๆ ก้าวไปไม่หยุด

    ผู้ฟัง ในเรื่องของมรรค ๘ สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ปัญญาเจตสิก สัมมาสังกัปปะ ก็คือ วิตกเจตสิก สัมมาวายามะ คือ วิริยเจตสิก สัมมาสติ คือสติเจตสิก สัมมาสมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก แต่ส่วนวิรตีเจตสิก อีก ๓ ที่จะครบ ๘ ขอให้อาจารย์อธิบาย "วิรตีเจตสิก" ด้วย

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจก่อนว่า วิรตีเจตสิกคืออะไร วิรัติ แปลว่า งดเว้น เป็นเรางดเว้นหรือเปล่า หรือว่าขณะนี้ เห็นสิ่งนี้ สมมติว่าเป็นเงินเเล้วอยากจะได้ เอื้อมมือไปหยิบ เป็นโลภเจตสิก แต่ถ้าไม่หยิบ เป็นวิรตีเจตสิกทางกายเกิดแล้ว วิรัติการกระทำทุจริตทางกาย ถ้ากล่าวคำพูดผิดโดยไม่รู้ หรือถ้ารู้คือจงใจ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ถ้าเว้นก็ไม่ผิด ขณะนั้นที่เว้นคือวิรตีเจตสิต ซึ่งเป็นสัมมาวาจา เพราะฉะนั้นเขาจะเกิดไม่พร้อมกัน ถ้าเป็นทางกาย ขณะนั้นก็เป็นวิรตีเจตสิกที่วิรัติทางกาย ถ้าเป็นทางวาจา ก็เป็นวิรตีเจตสิกที่วิรัติทางวาจา ถ้าเป็นทางอาชีพ ก็เป็นวิรตีเจตสิกที่วิรัติเพราะอาชีพ

    เพราะฉะนั้นวิรตีเจตสิกมี ๓ ซึ่งปกติจะเกิดไม่พร้อมกัน แต่ในฐานะที่เป็นมรรค ปกติก็มี ๕ และถ้ามีวิรตีเจตสิกเกิดด้วยหนึ่ง ก็เป็นหนทางที่จะค่อยๆ ปรุงแต่ง ที่จะมีปัญญา ที่รู้ว่าไม่ใช่เราในขณะนั้น แม้วิรัติก็ไม่ใช่เรา ซึ่งก่อนนั้นเราดี ใช่ไหม วิรัติก็ไม่รู้ว่า เป็นเจตสิก แต่ทั้งหมดก็คือ จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่เรา ไม่ว่าเวลาไหนขณะไหนได้แก่สภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้นกำลังวิรัติ งดเว้นทางกายวาจา สัมมาวาจาเจตสิกก็เกิดขึ้น นั่งเฉยๆ มีสัมมาวาจาไหม

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ได้พูด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีไหม แค่นี้ต้องคิดเเล้ว มีไหม ไม่มี แต่ถ้ากำลังพูดเเล้ววิรัติคำพูดที่ไม่จริงขณะนั้นเพราะสัมมาวาจาเจตสิกเกิดขึ้น ทำกิจเว้น ขณะนั้นต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย โสภณเจตสิกที่ดีงามทั้งหมดต้องเกิดขึ้นปกติ ๑๙ ประเภท แต่ก็เพิ่มวิรตีเจตสิก ซึ่งเเล้วเเต่ว่าจะเป็น สัมมาวาจา หรือสัมมากัมมันตะ หรือสัมมาอาชีวะ ความละเอียดของธรรมกว่าจะเกื้อกูลจนกระทั่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญาว่าไม่ใช่เรา เพราะถ้าบอกว่า วิรตีเจตสิกเป็นมรรค แต่ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบปัญญา ไม่เว้น ก็ไม่รู้ คิดว่าเราเว้น ใช่ไหม แต่ว่าต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม และธรรมอะไร ไม่ต้องมีชื่อ แต่ลักษณะของธรรมนั้น ปรากฏว่า "เว้น" เลย

    ผู้ฟัง วิรตีเจตสิกไม่ได้เกิดทุกขณะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นมี ๕ เจตสิกที่กล่าวมาข้างต้น

    ท่านอาจารย์ เกิดเป็นประจำ

    ผู้ฟัง แต่ว่ายกเว้น ๓ เท่านั้น ที่จะเกิดตามเหตุตามปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็น ๖ และพร้อม ๘ เมื่อถึงโลกุตตระ หมายความว่าทั้ง ๘ นี้เกิดขึ้นทำกิจของเขา เป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง สัมมาสมาธิ คืออย่างไร? ถ้าคนที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าสัมมาสมาธิ ในมรรค ๘ คือการต้องไปนั่งทำสมาธิ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ถ้าไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร ก็จบ เพราะคิดเองหมด ผิดด้วย ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องตั้งต้นก่อนว่าสมาธิคืออะไร เป็นธรรมใช่ไหม มีจริงใช่ไหม ได้แก่เจตสิกอะไร เพราะไม่ใช่จิต จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานอย่างเดียว แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งฝ่ายดี ทั้งฝ่ายที่สาธารณะทั่วไป เพราะฉะนั้นสมาธิคืออะไร

    ผู้ฟัง สมาธิก็คือ การตั้งมั่นของจิต

    ท่านอาจารย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง แล้วจะเป็นสัมมาในมรรคอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เป็น เป็นแค่เอกัคคตาเจตสิก ลักษณะของสมาธิไม่ปรากฏ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เอก (เอ-กะ) แปลว่า หนึ่ง เจตสิกนี้ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ทำให้จิตรู้อารมณ์นั้นอารมณ์เดียว ทุกจิตไป จิตจะรู้สองอารมณ์ไม่ได้ เพราะเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ทีละหนึ่งๆ จึงไม่ใช่สัมมาสมาธิ เพราะว่าเป็นธรรมดาที่เกิดกับจิตทุกประเภท แม้แต่เห็นขณะนี้ จิตเห็นตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งที่ปรากฏ เพราะมีเอกัคคตาเจตสิกอยู่ตรงนั้น เสียงปรากฏ จิตไม่ได้รู้อารมณ์อื่นเลย เพราะเอกัคคตาเจตสิก ตั้งมั่นในเสียงที่ปรากฏ รู้ทีละหนึ่ง แต่ลักษณะของสมาธิไม่ได้ปรากฏ จนกว่า เราใช้คำว่า "การทำสมาธิ" หมายความว่าปกติสมาธิคือเอกัคคตาเจตสิก เกิดดับ ไม่ใช่อาการปรากฏของความตั้งมั่น แต่ถ้าตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนานๆ อย่างเรากำลังวาดรูปอยู่ คนอื่นอย่ามารบกวนนะ เราบอกว่าเสียสมาธิ เพราะใจของเรากำลังจดจ่ออยู่ที่นั่น ต้องการให้อยู่ที่นั่นนานๆ ถ้าต้องการให้อยู่ที่หนึ่งที่ใดนานๆ เช่น จะตัดเสื้อ ถ้ามีคนมารบกวนก็ตัดเเขนเเหว่งเเล้ว เราก็บอกว่าขณะนั้นไม่มีสมาธิ เพราะไม่ตั้งมั่นที่อารมณ์เดียว เเต่มีอารมณ์อื่นอีก ก็ทำให้ขณะนั้นไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้ ก็ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า คำว่าสมาธิ ตั้งมั่น ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะและปรากฏ เราใช้คำว่าสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ที่ใดนานๆ ทอดไข่ต้องมีสมาธิ เผลอไปก็ไหม้แล้ว ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นสภาพจิตที่ตั้งมั่นที่นั่นนาน ก็ปรากฏกับอาการของสมาธิ จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่เรียกอะไรก็ได้ แต่ไม่มีปัญญา หรือความเข้าใจใดๆ เลยทั้งสิ้น นี่คือระดับหนึ่ง เเล้วอีกระดับหนึ่งคือ คนที่มีปัญญาในสมัยพุทธกาลมีไหม มี ยังไม่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้า เขาจะรู้ว่าเป็นธรรมไหม ไม่รู้ แต่เขาสามารถรู้ว่า จิตของเขาหวั่นไหวไปในอกุศล ถ้าไม่เห็น เราจะชอบไหม เราจะชังไหม เป็นเพราะเห็นใช่ไหม จึงชอบสิ่งที่เห็นบ้าง ไม่ชอบสิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ยิน เราจะชอบ จะชังเสียงไม่ได้ใช่ไหม แต่เพราะได้ยิน เราก็ชอบบ้าง ชังบ้าง คือหวั่นไหวแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่มีปัญญาในครั้งโน้น เห็นโทษของการที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้เห็น ให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้ลิ้มรส ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทำให้จิตไม่สงบ หวั่นไหวไปตามสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาของเขาคือ ระดับที่รู้ว่าถ้าเขาไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสเลย จิตเขาสงบจากความติดข้องได้ เขาก็ต้องรู้หนทางอีกว่า ทำอย่างไรจิตถึงจะสงบได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็นั่งตามใจชอบ บอกให้ดูวงกลมบ้าง ปฐวีกสิณ อะไรกสิณก็ว่ากันไป ลมหายใจ อะไรต่ออะไร ก็ว่ากันไป เเต่ไม่รู้อะไรเลยจึงเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่รู้จะเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ อื่นใดนอกจากสัมมาสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด ไม่ว่าจะทำเอง ไม่ว่าจะฟังเขามา ไม่ว่าจะอ่านวิสุทธิมรรค ไม่ว่าครูอาจารย์จะบอกหรืออะไร แต่ไม่มีความเข้าใจเลย มีแต่ความต้องการที่จะสงบ นั่นคือไม่ใช่ความสงบของผู้ที่สามารถรู้ความต่างกันของ กุศลจิต และอกุศลจิต อย่างบุคคลครั้งก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ท่านเหล่านั้นสงบจริง เพราะนั่นเป็นปัญญาจึงสามารถที่จะรู้ได้ ขณะนี้จิตเศร้าหมองแล้ว ไม่ผ่องใสแล้ว แต่ไม่ใช่การรู้ว่า ไม่ใช่เรา ด้วยเหตุนี้ปัญญา จึงมีขั้น สมถะ คือ สงบ แต่ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา และมีขั้นที่เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ซึ่งละเอียดกว่านั้นอีก เพราะแม้ไม่สงบ ปัญญาก็สามารถรู้ได้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นปัญญาเเบบไหนจะมีกำลังมากกว่ากัน นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างของปัญญาของสมถะซึ่งมีก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคนในครั้งอดีตเขามีปัญญาจริงๆ อย่างนิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องกั้นความสงบ มีอะไรบ้าง กามฉันทนิวรณ์ กามะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างที่เราพูดเมื่อวานนี้ ความติดข้อง ความพอใจ แม้การคิดถึง ขณะนั้นก็ไม่สงบ เพราะฉะนั้นขณะที่จิตสงบคือ เมื่อไหร่เป็นทาน จาคานุสติ ระลึกถึงกุศลที่ทำให้จิตสงบ แม้มรณสติ ระลึกถึงความตายก็สงบจากความติดข้อง จะไปมีเยื่อใยอะไรกับร่างกายนี้ กับจิตขณะนี้ ซึ่งเฉพาะชาตินี้ ต่อไปชาติหน้าก็เป็นจิตอื่นแล้ว รูปอื่นแล้ว ไม่ใช่เราแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่มีในชาตินี้ก็จะเป็นไปในทางกุศลเพิ่มขึ้น มีทาน การให้ จาคะ สละได้ การสละแต่ละหนึ่ง เป็นการค่อยๆ ไปสู่การสละความเป็นเรา แนบเนียนถึงอย่างนั้นกว่าจะสละความเป็นเราได้ ต้องสามารถที่จะสละแม้วัตถุ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าทำบุญแค่นี้ เเล้วจะได้ผลของบุญแค่นั้น นั่นไม่ได้สละอะไรเลย แต่เป็นความต้องการ

    เพราะฉะนั้น คนที่จะทำสมาธิไม่ใช่ไม่รู้อย่างนั้น เเต่ต้องรู้ว่าขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล และปัญญาที่เข้าใจก็น้อมมาสู่การจดจ้องอารมณ์ที่ไม่ทำให้เกิดอกุศล เพราะฉะนั้นอารมณ์ของสมถภาวนา ต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ทำให้เกิดอกุศล แม้แต่กสิณ คือ วงกลม เป็นธาตุดินก็ได้ ธาตุไฟก็ได้ น้ำก็ได้ ลมก็ได้ ปัญญาอยู่ไหน คนไม่มีปัญญาก็นั่งจ้อง ทำหมดเลยตามวิสุทธิมรรค ขนาดกว้างใหญ่ ห่างไกลแค่ไหนก็มานั่งจ้อง ไม่มีทางที่จะเป็นสัมมาสมาธิ แต่คนที่รู้จริงๆ ว่า ขณะที่ดูดิน เพื่อให้นึกถึงอะไร ให้เข้าใจอะไร ทุกอย่างที่เป็นรูป ไม่พ้นดิน เพราะฉะนั้นเขาเข้าใจลึกลงไปกว่านั้น เขาต้องการเพียงแค่ธาตุดิน ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ประเทศชาติที่รบกันก็เพราะต้องการดินทั้งนั้น แค่รูปก็ปราศจากธาตุดินไม่ได้ แต่ว่าเมื่อปรากฏเป็นเพียงแค่ธาตุดิน จะติดข้องไหมในเมื่อไม่มีอะไร เพราะฉะนั้นจิตก็น้อมไปสู่ความสงบ โดยขณะนั้น นิมิตของธาตุดินปรากฏ เพื่อจิตจะไม่ไปสู่อารมณ์อื่น ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตสงบได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าไปจำเพียงแค่วงกลม แต่ต้องด้วยปัญญาที่ละความติดข้อง เพราะรู้ว่าเป็นแค่ ธาตุดิน

    เพราะฉะนั้น กสิณ คือดินทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะโลกทั้งโลกก็คือดิน ถ้าเข้าใจอย่างนี้จิตสงบได้ แต่ว่าไม่สามารถที่จะละความเป็นเราได้ ต้องเป็นปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รู้ยิ่งกว่านั้น ที่จะรู้ว่าแม้ขณะนั้นก็คือ จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่เรา ด้วยเหตุนี้ทาง ๒ สาย คือ สมถภาวนา ทำให้จิตสงบจากอกุศล โดยไม่เข้าใจว่าไม่ใช่เรา อีกทางหนึ่งคือ วิปัสสนา แม้เพียงฟังเข้าใจ ก็จะนำไปสู่การที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ยิ่งขึ้น จนกระทั่งปัญญานั้น ถึงความเป็นมรรค มีองค์ ๘ ซึ่งก็ต้องจากการฟัง และเข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย

    ผู็ฟัง เอกัคคตาเจตสิก เวลาเกิดกับอกุศลจิต มีกำลังน้อยกว่า เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร มีกำลังมากไหมที่กำลังเป็นอกุศล ต้องเป็นเดี๋ยวนี้ทั้งหมด เดี๋ยวนี้ก็มีเอกัคคตาเจตสิก มีอกุศลประเภทไหน ถ้าไม่ใช่ปัญญาก็ไม่รู้ว่าเป็นโลภะติดข้อง หรือโทสะ หรือโมหะ ไม่มีทางรู้ เรียกแต่ชื่อ เหมือนเรียกของที่อยู่ใต้มหาสมุทร บอกมาเลย มีอะไร ที่ไหนๆ แต่ยังไม่ปรากฏสักอย่าง พูดถึงจิต จิตก็ไม่ปรากฏ พูดถึงเจตสิกแต่ละหนึ่ง ก็ยังไม่ปรากฏ พูดถึงรูป ก็ปรากฏสัณฐาน เป็นนิมิตต่างๆ ไม่ใช่ตัวรูปแท้ๆ แต่ละรูป แข็งคือแข็ง อ่อนคืออ่อน เย็นคือเย็น ร้อนคือร้อน แต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้น การฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เหมือนคำของคนอื่น เพราะว่าเป็นคำที่ไม่เคยได้ยิน ตั้งแต่เกิดจนตายพูดคำที่ไม่รู้จักทั้งหมด แม้ว่าสมาธิ หรืออะไรก็ตาม แม้แต่เห็นก็ไม่รู้จัก อะไรก็ไม่รู้จัก จนกว่าจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เมื่อลืมตาก็แสดงวิถีจิตแล้ว ก่อนลืมตา หลับอยู่ เป็นภวังค์ ถ้าไม่มีอารมณ์กระทบ จะรู้ไหมว่ามีสิ่งที่กระทบทางตา เพราะฉะนั้นอารมณ์กระทบภวังค์ อตีตภวังค์ วิถีจิตจึงเกิดทันทีไม่ได้ กว่าจะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ ภวังคจลนะคือภวังค์ไหว เป็นขณะที่ ๒ ของรูป ภวังคุปัจเฉทะ เป็นขณะที่ ๓ ของรูป ปัญจทวาราวัชชนกิริยาจิต เป็นขณะที่ ๔ ถ้าได้ยินเสียงก็เป็นขณะที่ ๕ กว่าจะถึง ๑๗ ขณะ ก็แสดงว่ารูปดับ และจิตจะรู้สิ่งนั้นต่อไปได้อย่างไร ภวังค์ก็เกิดคั่นทันทีหลายขณะ ก่อนที่วิถีจิตอื่นจะเกิดขึ้นต่อ ซึ่งวิถีจิตต่อจากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวารทันที รับรู้ต่อจากทางตา ถึงได้ต่อกันเป็นเรื่องราวทั้งหมด เห็นเเล้วก็มี การจำ การคิดว่าเป็นอะไรๆ เพราะทางใจถึงแม้ว่าไม่เห็น ก็ยังจำได้ ก็ยังคิดได้

    เพราะฉะนั้นธรรมต้องตามลำดับ ถ้ากล่าวเบื้องปลาย มีทางที่จะเข้าใจมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่ ถ้ากล่าวเรื่องท่ามกลาง เข้าใจไหม อ่านพระสูตรก็ยังเป็นเรา พระวินัยก็ยังเป็นเรา แต่ต้องตั้งต้น ถ้าไม่มีการตั้งต้น ตลอดชาติสับสน เดี๋ยวโน่น เดี๋ยวนี่ เดี๋ยวนั่น แล้วเขาก็บอก มีแต่เขาบอก เขาบอกๆ ๆ แต่ไม่ใช่ปัญญาของแต่ละคนเอง ซึ่งมรดกที่จะได้รับจากพระพุทธเจ้า คือปัญญาของตนเอง เห็นไหมว่าล้ำค่าขนาดไหน เงินทองซื้อไม่ได้เลย เห็นค่าอย่างนั้นแล้วเราจะทอดทิ้งหรือ ใครจะทอดทิ้งก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่าจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อเมื่อเข้าใจทีละคำ มั่นคง ไม่เปลี่ยน เถระ

    ขณะนี้ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย จะมีโลกไหม จะมีธรรมไหม ใช้คำว่าโลก ใช้คำว่าธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ความจริงก็คือว่า ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่มีอะไรทั้งหมด แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น การเกิดนั้นเป็นโลกแล้ว เป็นธรรมแล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 182
    10 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ