ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1085
ตอนที่ ๑๐๘๕
สนทนาธรรม ที่ บ้านธัมมะ ลำพูน
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ท่านอาจารย์ เคยได้ยินคำว่า"ขันติ"ไหม หมายถึงอะไร เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นเราหรือเปล่า แล้วขันติเจตสิกมีหรือไม่ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ดี ที่อดทนในขณะนั้น ไม่ใช่ขณะที่รู้ว่าธรรมดีประเสริฐยิ่ง ยากยิ่งแตไม่เรียน มีที่บอกว่ายากใช่ไหม ไม่มีใครสักคนเดียวที่บอกว่าง่าย แต่อดทนที่รู้ว่าถึงยากก็รู้ได้ ผู้ที่รู้ได้ตั้งแต่ตอนที่ยากมากเหมือนเราขณะนี้ก็มี แต่เพราะกุศลธรรมที่มีความวิริยะพากเพียรที่จะประคองจิตให้ไม่หยุดที่จะสะสมคุณความดีหรือความเข้าใจต่อๆ ไป ความเพียรวิริยะ ซึ่งมีความอดทนที่จะให้ถึง ใช้คำว่าขันติ เพราะฉะนั้นก็มีทั้งวิริยะที่เป็นบารมี และขันติที่เป็นบารมีด้วย เพราะฉะนั้นขันติก็ไม่ใช่เรา แต่จะรู้ได้ว่าแม้กำลังฟังเดี๋ยวนี้ก็มีขันติใช่ไหม เพราะว่าวิริยะหนึ่งขณะยังไม่ใช่ขันติ แต่วิริยะที่แม้ว่าจะมีอุปสรรค เมื่อยบ้าง หิวบ้าง หิวน้ำบ้าง หรืออะไรบ้างก็ตามแต่ แต่ก็ยังอดทนต่ออุปสรรคเหล่านั้นที่จะได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นนี่คือทั่วๆ ไปใช่ไหม
เพราะฉะนั้นวิริยะความเพียรเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ เพียรเดินเป็นกิโลๆ วิ่งเพื่อสุขภาพร่างกายก็เป็นความเพียรแล้วก็ทนด้วย แต่ไม่ใช่บารมีเพราะเหตุว่าไม่เป็นไปเพื่อที่จะเข้าใจธรรมที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้นก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น สภาพธรรมที่เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็มีได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจคำว่าขันติในทางกุศล ถ้าเขาบอกขยันเข้า ขยันเข้า ลำบากก็ไม่เป็นไร ฝ่าแดดฝ่าลมไปอดทน เรารู้เลยว่าอดทนนั้นเขาให้อดทนในทางอกุศล ไม่เหมือนกับอดทนที่จะเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นเริ่มเห็นความต่างของอดทนที่เป็นอกุศล และอดทนที่เป็นกุศล แต่ถึงกระนั้น ขันติญาณ ใช้คำเดียวกันกับขันติที่เราเคยเข้าใจในความหมายของอดทน แต่ญาณเป็นปัญญา
เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงขั้นกำลังฟัง ปัญญาระดับนั้นยังไม่เกิด ความอดทนที่จะฟังก็เป็นแค่ระดับหนึ่งด้วยความเป็นเรา เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม แต่ถึงแม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏโดยความเป็นธรรมไม่ใช่ตัวตน ประจักษ์การเกิดดับ ขันติอีกเท่าไหร่ที่จะรู้ว่ากว่าจะรู้ทั่วว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมตามที่ได้ฟัง โดยไม่เลือกว่าเมื่อไหร่ ขณะไหน เวลาไหน จะเลือกว่าเฉพาะตอนรับประทานอาหารก็ไม่ได้ จะเลือกว่าเฉพาะตอนกำลังฟังก็ไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นธรรมหมด เกิดดับสืบต่อหมด เพราะฉะนั้นขันติญาณก็มีอย่างอ่อนด้วย ตั้งแต่สัมมสนญาณถึงอุทยัพพยญาณ แสดงให้รู้ว่ากว่าปัญญาที่จะอบรมจริงๆ เป็นปัญญาจริงๆ ดับอนุสัยกิเลสเพราะมีความเข้าใจ ถึงความเป็นพระโสดาบันเมื่อไหร่ดับอนุสัยกิเลส คือความสงสัยในธรรม ความไม่รู้ และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่มีอีกเลยในสังสารวัฎฏ์ จึงเป็น พระอริยบุคคล เป็นสังฆโสภณ เป็นสังฆรัตนะ สังฆะคือหมู่ โสภณคือที่ดีงาม ที่เจริญแล้วด้วยปัญญาจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการเข้าใจธรรมต้องเข้าใจจริงๆ แล้วจะไม่สับสน และจะสืบต่อเนื่องไปตามขั้น ถ้าเราไม่พูดถึงขันติญาณเราก็เข้าใจแค่ขันติใช่ไหม แต่เปรียบเทียบได้ไหมกับแม้ว่าสภาพธรรมปรากฎแล้ว กว่าจะทั่ว คิดดู หมดความสงสัยก็ต้องตามลำดับขั้น ตั้งแต่ขันติอย่างอ่อนได้แก่วิปัสสนาญาณระดับไหน ขันติอย่างกลางได้แก่วิปัสสนาญาณขณะไหน ขันติอย่างละเอียดยิ่งได้แก่วิปัสสนาญาณขณะไหน กว่าจะดับกิเลสคือดับอนุสัยกิเลส ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิตใจ อะไรก็ไม่สามารถไปดับได้นอกจากปัญญาตามลำดับขั้น
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมรู้ได้ไหมว่าชาติไหนจะเป็นพระโสดาบัน ไม่ต้องอยาก อยากได้อย่างไร อย่างไรก็ไม่ถึงด้วยความอยาก แต่ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อยสะสมไปเป็นอัธยาศัยสามารถจะได้ยินได้ฟังธรรม เพราะเหตุว่าที่พระธรรมจะอันตรธานใน ๕๐๐๐ปีในโลกมนุษย์ แต่ในสวรรค์ยังมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมกล่าวธรรม จึงยังมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นระหว่างที่เป็นมนุษย์ถ้าไม่เข้าใจธรรม เมื่อเป็นเทพบุตรเทพธิดาบนสวรรค์ก็ไม่มีทางที่จะไปสู่ที่แสดงธรรม แต่ว่าจะไปสู่สวนที่น่ารื่นรมย์ต่างๆ อย่างสวนนันทวันอะไรๆ ก็แล้วแต่ด้วยความเพลิดเพลิน เหมือนโลกนี้ยังไม่มาสู่สถานที่ที่มีธรรม เพราะฉะนั้นก็ไม่ไปสู่ศาลาสุธรรมา ซึ่งเป็นที่ที่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่กล่าวถึงธรรม
เพราะฉะนั้นฟังธรรมเผินไม่ได้ แต่ละคำได้ยินแล้วไม่พอ ต้องเข้าใจให้ละเอียดลึกซึ้งด้วย ต่อไปนี้เข้าใจคำว่าอนุสัยหรือยัง พอกล่าวถึงอนุสัย๗ แสดงว่าอย่างอื่นนอกจาก๗ ที่เป็นอกุศลเจตสิกไม่ใช่อนุสัย แต่อนุสัยก็ต้องเป็นหนึ่งใน ๑๔ อกุศลเจตสิก แต่ละหนึ่งๆ ทั้งสิ้นเป็นอนุสัยกิเลส ๗ และดับคือต้องดับอนุสัยไม่เช่นนั้นกิเลสดับไม่ได้ จะเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น พระโสดาบันก็ดับอนุสัยที่เป็นความติดข้องในความเห็นผิด และความสงสัยในความเห็นผิด แต่กิเลสอื่นยังมีสำหรับปัญญาที่จะต้องเจริญต่อไปอีก จนกว่าจะดับกิเลสเป็นขั้นๆ จนกว่าจะหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์
ผู้ฟัง มีข้อสงสัยว่าธรรมสิ่งที่มีจริงเกิดดับ ขันธ์นี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ขอให้อาจารย์อธิบายขยายความ
ท่านอาจารย์ โลกนี้มีแต่ธรรมใช่ไหม หรือมีอื่นนอกจากธรรมด้วย
ผู้ฟัง มีธรรม
ท่านอาจารย์ เท่านั้นใช่ไหม ธรรมที่มีต้องเกิดใช่ไหม
ผู้ฟัง ต้องเกิด
ท่านอาจารย์ เกิด และดับ เพราะฉะนั้นธรรมที่มี ที่เกิดดับต่างกันไหม หรือเหมือนกันหมด ต่างกันเป็นแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งหรือเปล่า
ผู้ฟัง ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ต่างกันแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่พอที่จะประมวลความต่างว่า แต่ละหนึ่ง บางหนึ่งเกิดขึ้นไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ยังเป็นธรรมใช่ไหม
ผู้ฟัง ก็เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องมั่นคงว่าธรรมคือไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริง ทุกคำที่ได้ฟังแล้วต้องมั่นคงไม่ว่าจะได้ยินคำไหน โกรธเป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปใช่ไหม
ผู้ฟัง เกิดแล้วดับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่มี เมื่อเกิดขึ้น เกิดแล้วต้องดับ เป็นธรรมหรือจะใช้คำว่าธาตุ (ทาด) ธาตุ (ทา-ตุ) ก็ได้ เพิ่มขยายความเข้าใจธรรมว่าแต่ละหนึ่งเปลี่ยนแปลงสภาพนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย แข็งเป็นแข็งใช้คำว่าปฐวีธาตุ เสียงเป็นเสียงใช้คำว่าสัททธาตุ ในภาษาบาลีไม่มีคำว่าเสียงแต่มีคำว่าสัทท แล้วก็เป็นธาตุด้วย ถ้าเป็นภาษาไทยเราก็บอกว่าธาตุเสียง และภาษาบาลีก็คือสัททธาตุ เสียงเป็นธาตุชนิดหนึ่งมีจริง ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นธาตุที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตนว่า ต้องเป็นเสียงเท่านั้นเป็นอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไรก็ตามทั้งหมดเป็นธรรมใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ แล้วธรรมที่เป็นรูปจะรู้อะไรได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ธรรมที่เป็นนามเกิดแล้วไม่รู้ได้ไหม
ผู้ฟัง ต้องรู้
ท่านอาจารย์ ต้องรู้ เพราะฉะนั้นนี่คือความเป็นธาตุของธรรม ธาตุก็คือธรรมใช่ไหม
ผู้ฟัง ธาตุคือธรรม
ท่านอาจารย์ สิ่งที่เกิดดับ เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เกิดแล้วก็เป็นปัจจุบัน เมื่อดับแล้วก็เป็นอดีต และสิ่งที่ยังไม่เกิดที่เป็นอนาคตก็เกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เกิดขึ้น และดับไปเป็นธรรมใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ แต่เป็นธรรมที่ใช้คำว่า ขันธ์ คือเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับ เพราะว่ามีธรรมอีกหนึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่เกิดเพราะไม่มีปัจจัยคือนิพพาน เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ใช่นิพพาน เป็นขันธ์ เมื่อเกิดขึ้นและดับไป ด้วยเหตุนี้ นิพพานเป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นธาตุหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นธาตุ
ท่านอาจารย์ เป็นขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เป็นขันธ์
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ขันธ์ นี่คือทุกอย่างที่ได้ฟังต้องมั่นคงว่าคือธรรมที่มีจริงแต่หลากหลายมาก เพราะฉะนั้นจากการตรัสรู้ก็ทรงแสดงความหลากหลาย และความต่างของธรรมนั้นๆ
ผู้ฟัง พระนิพพานไม่เกิดไม่ดับ
ท่านอาจารย์ นิพพานมีจริงไหม
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีนิพพานไหม
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ไม่มี
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไม่มีนิพพาน ก็คือความเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้น เพราะเดี๋ยวนี้มีแต่สิ่งที่เกิดใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ แต่เกิด และดับก็ไม่รู้
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ แต่ฟังแล้วเข้าใจขึ้น เริ่มเข้าใจในความไม่ใช่เรา เพราะว่าไม่ยั่งยืนเลย แค่มีปัจจัยเกิดและดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย จะเป็นเราได้อย่างไรทั้งหมดนำไปสู่ความเข้าใจความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นคำถามตอนต้นถามว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ถามว่า ธรรมกับขันธ์แตกต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ตอนนี้เข้าใจเลยใช่ไหม ว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมมีลักษณะเฉพาะหนึ่ง เฉพาะหนึ่งของตนจึงเป็นธาตุ สภาพธรรมใดที่เกิด และดับทั้งหมดเป็นขันธ์ ธรรมใดที่ไม่เกิด ธรรมนั้นจะดับได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ดับ
ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่าต้องมั่นคงในเหตุในผลซึ่งเป็นความจริง เพราะฉะนั้นนิพพานไม่เกิดไม่ดับ เพราะไม่เกิดจะดับได้อย่างไร ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งด้วย แต่เป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ขันธ์
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน คือดับขันธ์ก่อนแล้วก็ปรินิพพาน
ท่านอาจารย์ ขันธ์ทั้งหมดโดยรอบไม่เกิดอีกเลยเพราะไม่มีปัจจัยที่จะเกิดด้วยปัญญาที่ดับอนุสัยกิเลสหมด นิพพานเป็นนามธาตุ เพราะไม่ใช่รูปธาตุ แต่นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก เพราะนิพพานไม่ใช่สภาพรู้ ฟังทุกคำก็ต้องมีความเข้าใจในความต่างในความหลากหลายด้วย เพราะฉะนั้นจิตที่รู้แจ้งในนิพพานมีไหม นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูปแต่มีจริงๆ ซึ่งจิต และเจตสิกที่รู้แจ้งนิพพานเป็นโลกุตตรจิต ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจิตรู้แจ้งนิพพานได้ไหม
ผู้ฟัง จิตรู้แจ้งนิพพานได้
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องเป็นปัญญา ซึ่งเกิดกับโลกุตตรจิต จึงสามารถรู้นิพพานได้ ไม่ใช่ปัญญาขั้นฟัง ไม่ใช่ปัญญาที่ค่อยๆ สะสมการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม แต่ต้องเป็นการที่สามารถจะละความติดข้อง ที่จะพ้นจากความเป็นธาตุได้โดยการรู้แจ้งนิพพานว่ามีธาตุซึ่งไม่เกิด สามารถที่จะดับเหตุที่จะทำให้เกิดได้ตามลำดับขั้น เพราะค่อยๆ ละค่อยๆ คลาย ดับจริงๆ ต้องต่อเมื่อโลกุตตรจิตเกิดจึงจะดับได้ ด้วยเหตุนี้ จิตมีจริงไหม
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เป็นขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นขันธ์
ท่านอาจารย์ โลกุตตรจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นขันธ์หรือเปล่า จะรู้ว่าเราเข้าใจมั่นคงแค่ไหนเมื่อได้สนทนา จิตเกิด และดับใช่ไหม
ผู้ฟัง เกิด และดับ
ท่านอาจารย์ เปลี่ยนลักษณะของจิตให้ไม่เกิดดับได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เห็นไหมต้องมีความมั่นคง เพราะฉะนั้นจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จิตนั้นเกิดหรือเปล่า
ผู้ฟัง เกิด
ท่านอาจารย์ ดับหรือเปล่า
ผู้ฟัง ดับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโลกุตตรจิต และเจตสิกเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ จิตดับไหม
ผู้ฟัง ดับ
ท่านอาจารย์ เจตสิกดับไหม
ผู้ฟัง ดับ
ท่านอาจารย์ นิพพานดับไหม
ผู้ฟัง นิพพานไม่ดับ
ท่านอาจารย์ เพราะไม่เกิด เห็นไหมจึงสามารถที่จะเข้าใจถูกได้ว่าธรรมจริงๆ ที่ใช้คำว่าปรมัตถธรรม ลักษณะแท้จริงของธรรมนั้น ก็มีจิต เจตสิกเป็นนามธรรมที่เกิดดับ มีรูปซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้เกิดดับ และมีนิพพานซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่เกิด และไม่ดับ นิพพานเป็นขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง นิพพานไม่เป็นขันธ์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใช้คำว่าขันธวิมุตติ เมื่อได้ยินคำนี้เราก็รู้ว่าหมายความว่าไม่ใช่ขันธ์
ผู้ฟัง การฆ่าตัวตายไม่ได้เบียดเบียนคนอื่น คือเบียดเบียนตัวเองแล้วจะตกนรกไหม
ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ได้ฆ่าตัวตายตกนรกไหม
ผู้ฟัง ไปฆ่าสัตว์อื่นก็ตกนรก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแล้วแต่กรรม ไม่มีใครไปยับยั้งได้ ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดในภพภูมิที่ไม่ดี
ผู้ฟัง คือไม่ได้เบียดเบียนคนอื่น
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลจิตจะฆ่าตัวเองไหม
ผู้ฟัง ไม่ฆ่า
ท่านอาจารย์ ไม่ฆ่า เพราะฉะนั้นการฆ่าตัวเองไม่ได้เบียดเบียนคนอื่นใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้เบียดเบียนคนอื่น
ท่านอาจารย์ แต่เป็นอกุศลใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็สะสมสืบต่อไปเป็นปัจจัยให้คิดฆ่าตัวเองอีก ชาติไหนๆ ก็จะฆ่าตัวเองอยู่นั่นแหละ ไม่ไปฆ่าคนอื่นหรอก เพราะว่าสะสมมาที่จะฆ่าตัวเอง
ผู้ฟัง ฆ่าตัวเองไปทุกชาติๆ เลยไหม
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ปัจจัย เราเป็นใครจะไปรู้ เราเป็นใครจะไปบอก จะไปพยากรณ์ได้ เราเพียงแต่เข้าใจว่าธรรมแต่ละหนึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ให้เข้าใจอย่างมั่นคงแค่นี้ก็มากพอแล้วที่จะไม่ผิด แต่ไม่ใช่ไปรู้โน่น รู้นี่ รู้นั่น
ผู้ฟัง แล้วจะมีวิบากกรรมอย่างอื่นไหม
ท่านอาจารย์ ไปถึงวิบากกรรมไปถึงอะไร แต่ไม่ได้เข้าใจว่าธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุปัจจัยแต่ละหนึ่งขณะ ฝ่ายอกุศลก็มีตั้งแต่อย่างละเอียดจนถึงอย่างหยาบเป็นการเบียดเบียนประทุษร้าย ให้ผลเมื่อไหร่ ให้ผลโดยการเกิดขึ้นในอบายภูมิ ถ้าผลของกุศลก็เกิดขึ้นในสุคติภูมิ เช่น ภูมิมนุษย์เป็นต้น เกิดมาเป็นผลของกุศลกรรมเป็นมนุษย์ แล้วกุศลกรรมนั้นยังให้ผลอีกหรือเปล่า หรือหมดแล้ว
ผู้ฟัง ให้ผลอีก
ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่
ผู้ฟัง เมื่อได้เห็น ได้ยิน
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ที่เห็นรู้ไหมว่าเป็นผลของกรรมที่ต้องเห็น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไปบังคับให้เห็นสิ่งที่ดีก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเกิดมาขณะแรกที่เป็นผลของกรรม คือขณะเกิดปฏิสนธิจิต หลังจากนั้นแล้วกรรมก็ยังให้ผลต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นตา จักขุปสาทรูปเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยที่จะให้มีผลของกรรมคือเห็น หู โสตปสาทรูป เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยเพื่อจะได้ยินเสียงที่น่าพอใจไม่น่าพอใจ ก็แล้วแต่ว่าถึงเวลาของกรรมไหนจะให้ผล ตลอดชีวิตก็เป็นอย่างนี้ ขณะนี้กำลังเป็นผลของกรรมหรือเปล่า จิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นผลของกรรม
ท่านอาจารย์ จิตไหนเป็นผลของกรรม
ผู้ฟัง จิตได้ยิน
ท่านอาจารย์ ได้ยินเดี๋ยวนี้ที่กำลังได้ยิน ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง แสดงว่าไม่เป็นเรา
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิตรู้
ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยให้ได้ยิน นอนหลับสนิทใครอยากได้ยินเสียงฟ้าร้องบ้าง ดังสนั่น แต่ว่าได้ยินก็มี บางคนก็ได้ยิน บางคนก็ไม่ได้ยิน ถึงเวลาที่กรรมใดจะให้ผลทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ ต้องได้ยินเสียงที่ไม่พอใจแม้หลับก็ตื่นขึ้นได้ยิน เลือกไม่ได้เลย ให้ทราบว่าตลอดชีวิตไม่ว่าขณะใดที่เห็นอะไรก็ตาม ได้ยินอะไรก็ตาม ได้กลิ่นอะไรก็ตาม ลิ้มรสใดก็ตาม รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเมื่อไหร่ ขณะนั้นเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดขึ้น ตลอดชีวิตส่วนหนึ่งก็เป็นผลของกรรม อีกส่วนหนึ่งก็เป็นกรรมที่จะให้ผลต่อไป เพราะฉะนั้นกรรมได้แก่กุศล และอกุศล ผลของกรรมคือกุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิตก็เป็นผลของกรรม ฟังธรรมต้องทีละคำแล้วไม่สับสน
ผู้ฟัง ฝันว่าทะเลาะกับคนโน้นกับคนนี้โทสะเกิดในฝัน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ฝันคืออะไร เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ ต้องตั้งต้นอย่างนี้จนกระทั่งมั่นคง เราจะไม่สับสน
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ นามธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิต
ท่านอาจารย์ จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นจะมีคำว่าจิตตุปาท ใช้คำนี้เมื่อไหร่หมายความทั้งจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน แต่ถ้ากล่าวถึงจิตคำเดียวก็ไม่ใช่เจตสิก เจตสิกคำเดียวก็ไม่ใช่จิต และเจตสิกอื่นๆ ต้องเป็นเจตสิกนั้น แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง ศึกษาธรรมต้องละเอียด ถ้าเป็นความเข้าใจมั่นคงแล้วก็ไม่สับสน จิต เจตสิกเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นกำลังฝันมีจริงๆ ใช่ไหม เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิต
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เป็นจิตและเจตสิก แล้วทำไมบอกว่าฝัน
ผู้ฟัง เพราะตอนฝันเราไม่รู้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้หรือเปล่าว่าฝันก็คือคิด เดี๋ยวนี้ฝันหรือเปล่า ทำไมว่าเดี๋ยวนี้ไม่ฝัน
ผู้ฟัง ถ้าคนทั่วไปก็เข้าใจว่าหลับแล้วถึงจะฝัน
ท่านอาจารย์ นั่นคือคนทั่วไป แต่ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เฉพาะคนโน้นคนนี้ ชาตินั้นชาตินี้ ประเทศนั้นประเทศนี้ แต่ความจริงเปลี่ยนไม่ได้เลยไม่ว่าโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ ที่ไหนจริงก็ต้องจริง เพราะฉะนั้นฝันคืออะไร ไม่ใช่เห็นใช่ไหม ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นคือคิด คือรู้เรื่อง คิดเรื่องของสิ่งที่เคยเห็นเคยได้ยิน หลับคือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่โลกนี้ไม่ปรากฏ จิตยังเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทำกิจของจิตนั้นๆ ไม่ใช่เรา ที่เราบอกเราหลับก็คือจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ ภวังคกิจคือดำรงภพชาติแม้ในขณะนั้นไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่มีลิ้มรส เป็นแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งซึ่งละเอียดมาก เพราะฉะนั้นหลับจะไม่รู้เลยว่าเราเป็นใคร รู้จักไหมว่าชื่ออะไร
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่มีอะไรปรากฏ แต่จิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้แน่นอนใช่ไหม
ผู้ฟัง ต้องมีสิ่งที่จิตรู้
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นโดยไม่มีอะไรที่จิตกำลังรู้ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกำลังหลับสนิทเป็นจิตใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นจิตกับเจตสิก
ท่านอาจารย์ รู้อะไร จิตเกิดแล้วต้องรู้
ผู้ฟัง ต้องรู้
ท่านอาจารย์ แล้วรู้อะไรขณะที่หลับสนิท แม้มีธาตุรู้ขณะที่หลับก็ไม่รู้ว่ามีธาตุรู้ใช่ไหม เพราะอารมณ์ของธาตุรู้ขณะนั้นไม่ปรากฏ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีธาตุรู้ที่กำลังรู้อารมณ์นั้น แต่ที่ทุกคนรู้ว่าไม่ใช่ตาย เพราะจิตเกิดดับสืบต่อยังไม่ตายดำรงภพชาติทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้นความต่างก็คือว่า จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ แต่ว่า มีคำว่าวิถีจิต กับวิถีมุตตจิต หมายความว่าจิตซึ่งไม่ใช่วิถี ถ้าเป็นวิถีจิตก็คือว่าต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นรู้อะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อาศัยการรู้อารมณ์ทางนั้นๆ เช่นถ้าจิตรู้อารมณ์เพราะอาศัยตา เกิดแล้วก็ดับ รู้อารมณ์ที่กระทบตาเป็นจักขุทวารวิถีจิต ตาเป็นทวารเป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กระทบตา ขณะที่หลับสนิท จิตเกิดดับรู้อารมณ์ที่ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่คิดด้วย ไม่ได้อาศัยใจ จึงกล่าวว่าวิถีมุตตจิต วิถีวิมุตติ พ้นจากการที่เป็นวิถี แต่เมื่อเป็นจิตแล้วต้องรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นอารมณ์ของจิตขณะแรกที่เกิดมีไหม
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1081
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1082
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1083
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1084
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1085
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1086
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1087
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1088
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1089
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1090
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1091
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1092
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1093
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1094
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1095
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1096
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1097
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1098
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1099
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1120
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1140