ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1135


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๑๓๕

    สนทนาธรรม ที่ แพริมน้ำธาราบุรี จ.กาญจนบุรี

    วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าจิตเป็นธาตุรู้ แต่ต้องมีธาตุรู้ซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ใช้คำว่าเจตสิก ในภาษาไทย แต่ภาษาบาลีก็ต้องออกเสียงว่า เจ ตะ สิก กะ ต้องออกเสียงทุกคำ เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตแต่ไม่ใช่จิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่เจตสิกมีลักษณะต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท ทำให้จิตหลากหลาย ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้าไม่ทรงแสดงเราจะรู้ไหม ว่าจิตเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ แต่ไม่มีเจตสิกไม่ได้ เพราะต้องอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น เจตสิกก็ต้องอาศัยจิต ถ้าไม่มีจิตเจตสิกเกิดไม่ได้เลยด้วยเหตุนี้ คำว่าเจตสิกก็หมายความว่าสภาพที่เกิดในจิต เกิดพร้อมจิต รู้ เป็นสภาพรู้ ต้องรู้อย่างเดียวกับสิ่งที่จิตรู้ รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ใครรู้ว่าเดี๋ยวนี้กำลังเป็นจิตเจตสิกกำลังเกิดดับ แล้วก็รู้อารมณ์ และจิตเจตสิกก็เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่จิตเป็นจิต และเจตสิกมีลักษณะหลากหลายต่างกันเป็นประเภทถึง ๕๒ ประเภท ๕๒ ประเภท อย่างประเภท แต่ความละเอียดมหาศาล อย่างความโกรธมีตั้งแต่ขุ่นใจ จนถึงพยาบาท เพราะฉะนั้นเมื่อลักษณะนั้นแค่ขุ่นใจ เราจะบอกว่าแรงจนถึงพยาบาทได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ก็เป็นประเภทเดียวกัน คือประเภทที่ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ใช่ไหม แต่จากน้อยที่สุด ก็ต้องมีชื่อใช่ไหม และไม่ใช่แค่ชื่อ ชื่อนั้นเพื่อแสดงความเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เรามาเรียนชื่อกัน เรามาจำชื่อกัน แต่ให้รู้ว่าชื่อมีเพื่อให้รู้ว่าขณะสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร อย่างถ้าใช้คำว่าพยาบาท อาฆาต เราจะคิดว่าเราไม่ชอบได้ไหม ก็ไม่ได้ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไปไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่าขณะต่อไปก็ปรุงแต่งสืบต่อ ทำให้เป็นสภาพธรรมที่ต่างจากขณะก่อนที่เคยเกิด เพราะฉะนั้นการฟังธรรมตั้งแต่เริ่มฟังคำแรกเข้าใจ กับฟังต่อไป ต่อไป ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจะบอกว่าความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเหมือนตอนแรกได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่เดี๋ยวนี้ก็หลากหลายมาก แล้วลองคิดถึงในสังสารวัฎ ทุกวันใหม่หมด หลากหลายหมด ต่างกันหมด แล้วในสังสารวัฎเท่าไหร่ที่ผ่านมาแล้ว สภาพธรรมแต่ละหนึ่งก็แค่เกิดขึ้น แล้วดับไป โดยไม่มีใครรู้ ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นได้ยินคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงรู้ว่านั่นคือคำที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม จะนำไปสู่การที่สามารถที่จะดับความชั่วหรือกิเลส ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง นามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกก็ถูกต้องใช่ไหม เดี๋ยวนี้มีใครหรือเปล่า ในห้องนี้ ไม่มี แล้วมีอะไร

    ผู้ฟัง มีธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร

    ผู้ฟัง นามธรรม และรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ นามธรรมอะไร

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก

    ท่านอาจารย์ และรูปเท่านั้น ไม่มีอื่นเลย ด้วยเหตุนี้ธรรมที่มีจริง ใครเปลี่ยนไม่ได้ มีอีกคำหนึ่งคือใช้คำว่าปรมัตถธรรม มาจากคำว่าปรม (ปะ ระ มะ) คนไทยใช้ บ หมดเลยแทนที่จะเป็น ป เพราะฉะนั้นไม่พูดว่าปะระมะ ได้รวมเป็นบรม ใหญ่ยิ่ง อรรถ เราพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความหมายถึงลักษณะที่มี ถ้าไม่มีลักษณะเราจะไปพูดถึงสิ่งนั้นได้อย่างไร แต่ต้องมีลักษณะ ดอกไม้นี่มีกี่กลีบ ก็เป็นลักษณะแล้ใช่ไหม ให้รู้ว่าดอกนี้ต่างกับดอกนั้น สีอะไร เพราะฉะนั้นอรรถความหมาย ต้องหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม หมายความถึงธรรมที่มีลักษณะที่เป็นใหญ่ ใครเปลี่ยนไม่ได้เลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปลี่ยนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นี่คือความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ เริ่มเป็นปัญญาของเราเอง ที่อาศัยการฟัง การไตร่ตรอง ใครจะมาบอกว่าเดี๋ยวนี้สภาพธรรมไม่เกิดดับ เชื่อเขาไหม ไม่เชื่อ ใช่ไหม เดี๋ยวนี้เขาบอกว่าให้ไปนั่งทำไมปัสสนา เชื่อไหม จะทำอะไรนล่ะ ไม่รู้อะไรสักอย่าง ไม่เข้าใจสักอย่าง แม้แต่วิปัสสนาคืออะไร ก็ยังไม่บอกเลย ลองบอกมาซิ สำนักปฏิบัติ แล้ววิปัสสนารู้อะไร บอกได้ไหม เพราะไม่รู้ จึงใช้คำที่ไม่รู้ บางคนก็ไปนั่งนาน โงกง่วง เอนตัวไปมา เขาบอกว่านั่นเป็นวิปัสสนา เพราะไม่รู้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ให้เราไม่รู้ แต่ละคำต้องฟัง เข้าใจมีจริงกำลังปรากฏ ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ธรรมที่มีจริงใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย จึงมีอีกคำหนึ่งว่าปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นธรรมทุกอย่างมีจริงๆ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ธรรมทุกอย่างเป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีจริงก็ต้องมีลักษณะเฉพาะตน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถธรรม ลึกซึ้งไหม

    ผู้ฟัง ลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ มากไหม

    ผู้ฟัง มาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีอีกคำหนึ่งอภิธรรม พอได้ยินคำว่าอภิธรรมรู้เลย เดี๋ยวนี้เอง ไม่ใช่ที่ไหนเลย เป็นอภิธรรม เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นมีคนบอกว่าเขาจะศึกษาธรรม แต่เขาไม่ศึกษาพระ อภิธรรม ถูกไหม

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ไม่ถูก ก็ธรรมนั่นแหละเป็นปรมัตถธรรม และเป็นอภิธรรม จะศึกษาอย่างไรไม่เป็นอภิธรรม ศึกษาอย่างไรไม่เป็นปรมัตถธรรม ก็เท่ากับว่าไม่ได้ศึกษาเลย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องค่อยๆ เข้าใจทีละคำ อย่างมั่นคง ชอบมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถ์ธรรมมีจริงๆ ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนชอบให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นธรรมทุกอย่างที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรมหรือเปล่า ชอบ

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็น เคยได้ยินสวดศพไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ กุสลาธัมมา ใช่ไหม ธรรมที่เป็นกุศล อกุสลาธัมมาธรรมที่เป็นอกุศล อัพยากตาธัมมาธรรมมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล ไม่รู้อะไร ถ้าไม่ฟังพระธรรมให้เข้าใจตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นชอบมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ มีเยอะไหม

    ผู้ฟัง มีเยอะ

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าเริ่มรู้จักตัวจริงๆ แต่นี่เขาบอกใช่ไหมบอกชื่อด้วยว่าเป็นอกุศล แต่ตัวชอบเกิดเมื่อไหร่ไม่ต้องเรียกชื่อ

    ผู้ฟัง เกิดเมื่อปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเกิดก็ปรากฏลักษณะที่ติดข้อง เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ นามธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิก ชัดเจน หมายความว่ามีความเข้าใจว่านอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วันหนึ่งๆ ก็มีเจตสิกหลากหลายมากเป็นไป เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวไม่ชอบ เดี๋ยวใจดี เดี๋ยวใจร้าย ทุกอย่างหมดก็เป็นเจตสิกแต่ละหนึ่ง ๕๒ ประเภท ขณะที่กำลังเห็น เจตสิกปรากฏไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ มีแต่เห็นใช่ไหม เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง แต่ทรงแสดงไว้ว่าจิตที่จะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมใดที่เกิด ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยอาศัยให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกได้ใหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือมีรูปธรรมด้วย จิตเกิดที่รูป จิตไม่ได้เกิดนอกรูปเลย เพราะฉะนั้นกำลังเห็นเดี๋ยวนี้เกิดที่ไหน เกิดที่ตา จักขุปสาท ไม่ใช่ไปเกิดข้างหลัง หรือที่อื่นเลย ความละเอียดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ ให้เข้าใจขึ้น ค่อยๆ คลายความเป็นเรา เพราะไม่รู้ แล้วก็ตอนจากโลกนี้ไปจะไม่เหลือความเป็นเราที่เคยเป็นเลย เป็นได้แค่ชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้นชอบ เป็นนามธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก ไม่ชอบ

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เสียใจ

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ดีใจ

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ สำคัญตน มานะ

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ชัดเจนใช่ไหม ว่าไม่ว่าเมื่อไหร่ถ้าปัญญาเกิดก็จะค่อยๆ ถึงความไม่ใช่เรา จำมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นภาษาบาลี ไม่มีคำว่าจำ แต่มีคำว่าสัญญาเจตสิก หมายความถึงสภาพที่จำ จนกว่าไม่ใช่เราจำ ลองคิดดูเดี๋ยวนี้จำหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จำ

    ท่านอาจารย์ ให้ทราบว่าสัญญาเจตสิก เกิดกับจิตเห็นด้วย เพราะฉะนั้นทันทีที่จิตเกิดรู้อะไร สัญญาจำทันทีพร้อมจิตเห็น จิตเห็นดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ มีจิตอื่นเกิดต่อไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้ไหมว่าจิตอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางรู้ได้เลย ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงอภิธรรม ที่ละเอียดยิ่ง ว่าทันทีที่จิตนี้ดับ จิตประเภทไหนเกิดต่อแต่ว่าโดยนัยของพระสูตร ไม่ใช่โดยนัยของพระอภิธรรม ก็เพียงเท่าที่เราสามารถจะรู้ได้ว่า เห็นแล้วชอบไหมเท่านั้นเอง เข้าใจเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิกฝ่ายดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ฝ่ายดี

    ท่านอาจารย์ ฝ่ายไม่ดีเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้คือโมหะหรืออวิชชา มี ๒ อย่าง อ (อะ) แปลว่าไม่วิชชาแปลว่ารู้ เวลาไม่รู้นี่มืดเลย หลงเลย เพราะฉะนั้นอีกคำหนึ่งคือโมหะ สภาพที่หลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็ชัดเจนใช่ไหม เพราะฉะนั้นเจตสิกก็มีทั้งฝ่ายที่เกิดกับจิตได้ทุกประเภท เพราะพระอรหันต์ก็มีจิต ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะสัมมาส้มพุทธเจ้าก็มีจิต ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีอกุศลเจตสิกฝ่ายไม่ดีเลย ดับหมดแม้กุศลก็ไม่มี เริ่มที่จะเข้าใจละเอียดขึ้นว่า เพราะเหตุว่าถ้ายังเป็นกุศล และอกุศลยังเป็นเหตุที่จะให้เกิด เพราะฉะนั้นผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ทำความดีเพราะไม่มีอกุศลเลย แต่ดีนั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่กุศล ใช้คำว่ากิริยา เป็นไปเพียงอาการที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล เหมือนดอกไม้ลม ต้นไม้บางทีมีดอกแต่ไม่มีผลใช่ไหม เพราะฉะนั้นการกระทำนั้นมีสภาพจิตเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล ก็เป็นกิริยาจิต ด้วยเหตุนี้ กุสลา ธัมมา ภาษาบาลีก็คือกุศลธรรมในภาษาไทย อกุสลา ธัมมา ภาษาบาลี ภาษาไทยก็คืออกุศลธรรม อัพยากตา ธัมมา ธรรมที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศลเช่น กิริยาจิตของพระอรหันต์ หรือธรรมใดทั้งหมดที่ไม่ใช่กุศล และอกุศลเป็นอัพยากตะ ทุกคำต้องเข้าใจ และไม่ลืม ธรรมใดๆ ทั้งหมดไม่เว้นเลย ที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศลเป็นอัพยากตะ ไม่พยากรณ์คือไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้อะไรที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลลองคิด คิดยาก แต่คิดได้ แต่ยากมากเลยถ้าไม่ได้ฟัง มีไหมเดี๋ยวนี้ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อกุศล รูปเป็นกุศลหรือเปล่า ต้องสภาพรู้เท่านั้นคือจิต และเจตสิก รูปไม่รู้อะไรแล้วจะไปดีได้อย่างไร จะไปชั่วได้อย่างไรจะไปโกรธ จะไปเกลียดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นรูปทุกชนิดทุกประเภท เป็นอัพยากตธรรม หมายความว่าไม่ใช่ธรรมที่เป็นกุศล ไม่ใช่ธรรมที่เป็นอกุศล ตอนนี้ไปฟังสวดก็เข้าใจ ใช่ไหม กุสลา ธัมมา คืออะไรเราหรือเปล่า ถ้าใช้คำว่าธรรมต้องไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น แต่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ ๓ คำ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม ที่หลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นธรรมะอะไรบ้าง ที่นั่งอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เราเป็นรูปกับนาม เป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม หรืออัพยากตธรรม

    ผู้ฟัง รูปเป็นอัพยากตะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง นามเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว จำเท่านั้นไม่เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง ใช้คำว่าปัณฑระ ตัวจิตเท่านั้นไม่ได้เป็นกุศล อกุศล แต่เมื่อมีเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดกับจิตนั้น จิตนั้นก็เป็นอกุศล ถ้ามีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วยจิตนั้นก็เป็นกุศล และสำหรับพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศล และอกุศลเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย ก็เป็นกิริยา เพราะฉะนั้นจิตก็มีทั้งที่เป็นกุศล อกุศล และเป็นกิริยา รูปเป็นกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นรูปเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอัพยากตะ

    ท่านอาจารย์ เป็นอัพยากตะเท่านั้น ไม่ว่าเมื่อไหร่ ที่ไหน นี่คือธรรม ปรมัตถธรรม อภิธรรม ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ปัญญาจะรู้อะไรไหม จะไปนั่งที่ไหน ทำอะไร สำนักไหน ก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะไม่รู้อะไร ถ้าฟังแล้วเข้าใจแล้วลืมได้ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจไม่ลืม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจแล้วไม่ลืม แต่ไม่นึกถึง จนกว่าจะฟังบ่อยๆ ต่อไปนี้ก็คือว่าไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนความเข้าใจซึ่งมีแล้วให้เป็นอย่างอื่นได้ เป็นสมบัติที่ใครก็เอาไปไม่ได้ ทรัพย์สินเงินทองอื่น ใครก็เอาไปได้ ขโมยขโจร ไฟไหม้ น้ำท่วม ได้หมด แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม ฝ่ายดี ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกก็จะติดตามไป


    สนทนาธรรม ที่ สำนักงานเขตสะพานสูง

    วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐


    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ บางทีเราก็ทำความดี ท่านอาจารย์เราก็ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ลักขโมย ให้ทานบ้าง มีศีลบ้าง อย่างนี้จะเรียกว่าทำความดี ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ดีต้องดีแน่ๆ เปลี่ยนสิ่งที่ดีให้เป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ได้แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะเข้าใจความดี ยิ่งกว่าที่เราเคยได้ยินมาก่อน เพราะเหตุว่าทุกคนรู้ว่าความดีคืออะไร ความกตัญญู ดูแลพ่อแม่ มีเมตตาช่วยเหลือคนอื่น เราก็เข้าใจเท่านี้ แต่ว่าจะมีความดียิ่งกว่านี้อีกไหม ไม่ใช่เพียงความดีเท่าที่เคยมี แล้วก็อยู่อย่างนั้นแหละแค่นั้นเอง แต่ว่ายังมีความดีมากกว่านี้อีก คือการได้รู้ความจริง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครคิดถึงว่า สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เราไม่รู้อะไรเลย ใช้คำว่าไม่รู้อะไรเลย ถ้ารู้ก็ต้องบอกได้ ถ้ามีคนถามใช่ไหมว่าคืออะไร แต่ถ้าตอบไม่ได้หมายความว่าไม่รู้ ใช่ไหม อย่างเห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ หรือเปล่า อันนี้ไม่ยาก ใช่ไหม เห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีแน่นอน ถ้าเห็นไม่เกิดขึ้นเห็น จะมีเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ นี่คือจริงแล้วใช่ไหม ถ้าเห็นไม่เกิดขึ้นเห็น ก็ไม่มีเห็นแล้วเห็น เห็นตลอดไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้นชั่วคราว ความดีอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า รู้ความจริงว่าทุกขณะที่มีชั่วคราวแสนสั้น แม้แต่ขณะที่เกิดก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ขณะที่ตายก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ขณะที่คิดก็ไม่ใช่เห็น ขณะที่ฟังได้ยินเข้าใจ ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้กลิ่น ลิ้มรส เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันก็คือว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ดีชั่วมาจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เห็นแล้วดีเป็นอย่างไร ได้ยินแล้วดีเป็นอย่างไร ได้กลิ่นแล้วดีเป็นอย่างไร ใช่ไหม คิดนึกที่ดีเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจละเอียดขึ้น ความดีของเราก็เพิ่มขึ้น ความดีเพิ่มขึ้น ชีวิตก็เป็นสุขขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนหวังความสุขในชีวิต แต่ยังไม่รู้เหตุจริงๆ ว่าที่จะให้ชีวิตเป็นสุขได้ยิ่งขึ้นในวันหนึ่งๆ ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่มีคืออะไร ไม่ว่า เราจะศึกษาวิชาอะไร ทั้งหมด ใช่ไหม เราศึกษาเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นฟังอะไร สิ่งที่เป็นประโยชน์จากการที่เอาเวลามาฟัง ก็ต้องเป็นสิ่งที่สามารถที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเคยได้ยินคำว่าธรรม ถามว่าคืออะไร ทุกคำจะตอบยาก หรือตอบไม่ได้ครบถ้วน ทุกคำตั้งแต่เกิดจนตายเราพูดคำที่เราไม่รู้จักจริงๆ รู้จักผิวเผิน นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเองไม่ว่าจะดีชั่ว อะไรก็ตามในชีวิต ถ้ารู้เข้าใจถูกต้องมากกว่านี้ก็ดีขึ้นกว่านี้แน่นอน

    เพราะฉะนั้นปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เป็นสิ่งที่ดี ความไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าสามารถเข้าใจความจริงในชีวิตได้แต่เกิดจนตายเพิ่มขึ้น ชีวิตก็ต้องเป็นสุขเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นสุขไม่ใช่มาจากการไม่รู้ แล้วก็หวังต้องการแต่ความสุข โดยไม่รู้ว่าเหตุของความสุขนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกคนต้องการสุข แต่สุขจริงๆ หรือเปล่า ว่าเหตุให้เกิดความสุขได้อยู่ที่ไหน และความสุขนั้นคืออะไร ฟังแรกๆ ที่อาจจะงงๆ ไม่เห็นพูดเรื่องวิชาการอะไรสักอย่าง แต่พูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ซึ่งมีจริงๆ และก็พูดถึงความดี แต่ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรอง มี๒ อย่าง เห็นแล้วดี กับเห็นแล้วไม่ดี อะไร ต้องคิด เห็นแล้วดีเป็นอย่างไร แล้วก็เห็นแล้วไม่ดีเป็นอย่างไร ธรรมสิ่งที่มีจริง จะเป็นความเข้าใจของเราเอง มั่นคงถูกต้อง ต่อเมื่อเป็นการฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งถูกคือถูก แล้วก็ผิดคือผิด คำง่ายๆ ธรรมดา แต่สามารถที่จะรู้ว่า ลึกซึ้ง เช่นเห็นแล้วดีเป็นอย่างไร เห็นแล้วไม่ดีเป็นอย่างไร เอาแค่เห็น ยังมีได้ยินใช่ไหม ยังมีได้กลิ่น ยังมีลิ้มรส รับประทานอาหารรสต่างๆ ลิ้มรสแล้วดี กับลิ้มรสแล้วไม่ดี หรือแม้แต่ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส แข็งบ้าง เย็นบ้าง กำลังกระทบสิ่งที่แข็งแล้วดี กับกำลังกระทบสิ่งที่แข็งแล้วไม่ดี แค่นี้น่าคิดไหม คิดออกไหม คงต้องใช้เวลาพอสมควร และอาจจะทั้งวัน

    ผู้ฟัง ถ้าเห็นแล้วดี เราก็จะคิดว่าเห็นรูปภาพ เห็นอะไรที่สวยงามว่าเห็นแล้วดี แล้วถ้าเห็นรูปภาพเห็นสิ่งที่ไม่สวยงามก็เข้าใจว่าเห็นแล้วไม่ดี คือสิ่งนั้นภาพนั้น เรื่องนั้น ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่เห็นมีรูปภาพ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็นถูกต้องไหม ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น เพราะฉะนั้นคุณบงกชรัตน์หมายความว่าเห็นสิ่งที่สวยงามน่าพอใจ สิ่งที่ถูกเห็นสวยงาม แต่เห็นแล้วหลังจากเห็นแล้วดี กับหลังจากที่เห็นแล้วไม่ดี เชิญเลยเชิญคุณนาตยา

    ผู้ฟัง กราบคารวะอาจารย์ หมายถึงว่าเป็นทางเลือกใช่ไหม การที่เห็นแล้วดี แล้วไม่ดี เป็นการที่เราจะเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่เป็นหลักคุณธรรม มาใช้กับชีวิตประจำวันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเราเลือกได้หรือ

    ผู้ฟัง เลือกในสิ่งที่จะทำในสิ่งที่ดี แล้วสิ่งที่ไม่ดีเราก็จะละทิ้งไป อย่างงั้น

    ท่านอาจารย์ ก็มีส่วนถูกแต่ห่างมาก ยังใกล้ชิดกว่านั้นอีก หลังจากเห็นแล้ว ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไรเลยที่จะทำ ไม่ทำ ดีชั่ว แต่เพียงแค่เห็น หมดไป แล้วดีหรือไม่ดี ละเอียดมากใช่ไหม เพราะเห็นเกิดแน่นอน แต่ไม่ได้เห็นตลอดเวลาก็หมายความว่าเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 182
    17 ต.ค. 2567