ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1138


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๑๓๘

    สนทนาธรรม ที่ สำนักงานเขตสะพานสูง

    วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เมื่อครู่นี้เราพูดถึงจิตใช่ไหม ว่าถ้าไม่พูดคำนี้จะพูดคำอื่นได้ไหม แต่หมายความถึงธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ มีคำอะไรอีกนอกจากจิต

    ผู้ฟัง มโน

    ท่านอาจารย์ มโน

    ผู้ฟัง หทย

    ท่านอาจารย์ หทย วิญญาณ คนไทยพูดบ่อยใช่ไหม แต่เขาเข้าใจผิด เขาคิดว่าตายแล้ววิญญาณออกจากร่าง ก็ไม่รู้จักวิญญาณวิญญาณไปไหนไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ไปไหนเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่เรากล่าวถึงธาตุรู้มีมาก แล้วก็ธาตุรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต แต่ทำไมมีรายชื่อ เพราะเหตุว่าจิตหลากหลายมากใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้คำว่าจักขุวิญญาณสำหรับเห็น เพราะจักขุคือตา วิญญาณคือรู้ เพราะฉะนั้นรู้ที่จะต้องอาศัยตา ใช่ไหม จึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ เป็นจักขุวิญญาณ เราก็เรียนภาษาบาลีเล็กๆ น้อยๆ ไปในตัว พอได้ยินก็พอที่จะรู้ได้ว่าจักขุก็ไม่ใช่ภาษาไทย คนไทยใช้คำภาษาสันสกฤต อย่างจักษุ แต่ความจริงเป็นจักขุในภาษาบาลี จักขุวิญญาณ เห็น แล้วได้ยิน ลองคิดเองสิ

    ผู้ฟัง โสตวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ โสตวิญญาณ แปลว่ารู้ เพราะฉะนั้นโสตเป็นหู โสตรู้อะไรไหม

    ผู้ฟัง หู ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แล้ววิญญาณเท่านั้นคำเดียวรู้ไหม เป็นธาตุรู้หรือเปล่า รู้ แต่ไม่รู้ว่าวิญญาณไหน จิตไหน แต่ใช้คำว่าโสตวิญญาณรู้เลยว่าได้ยิน คือว่าเราพูดคำภาษาไทย แล้วก็ตรงกับอีกกลุ่มหนึ่งของบุคคลอีกเชื้อชาติหนึ่ง ซึ่งใช้อีกภาษาหนึ่ง แต่ก็หมายความอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่เราเข้าใจไว้นี่ เราพูดภาษาไทยทั้งหมด แต่คนที่พูดภาษาบาลี ก็พูดเหมือนกันเลยทุกคำ แต่เราก็รู้บางคำอย่าง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ถ้าได้กลิ่นก็เป็นฆานวิญญาณ ถ้าลิ้มรสก็เป็นชิวหา คือลิ้น ชิวหาวิญญาณ ถ้ารู้สิ่งที่กระทบกายก็เป็นกายวิญญาณ ก็ได้ภาษาบาลีไปพอสมควร ที่จะรู้ว่าเป็นคำที่กล่าวถึงจิตแต่ละประเภท เพราะจิตหลากหลายมาก เดี๋ยวนี้ก็มีใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ภาษาไหนเลยก็มี แต่ถ้าจะให้เข้าใจกันว่าเราหมายความถึงอะไรเราก็จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษา

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ แนะนำเรื่องเกี่ยวกับเจตสิกด้วย

    ท่านอาจารย์ เจตสิกมีจริงๆ แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานอย่างจิต จิตสามารถรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ น้ำกับฟ้า ถ้าไม่รู้ว่านั่นน้ำนี่ฟ้าเพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง แต่ขณะที่จิตจะเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อย่างจำ ถ้าไม่จำจะรู้ไหมว่าน้ำเป็นน้ำ ฟ้าเป็นฟ้า เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง แต่ไม่รู้ว่าอะไรใช่ไหม ไม่ต้องคิดถึงอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่รู้แจ้งทางตา เห็นชัดๆ ว่าเป็นอย่างนั้น แต่เจตนิกที่เกิดกับจิตอย่างจำ จำไว้เลยว่าสีนั้นไม่ใช่สีนี้ แล้วถ้าได้ยินเสียง เสียงเป็นภาษาอะไร เสียงไม่เป็นภาษาอะไรเลย แต่ว่าผู้ที่จำเสียงแล้วแต่ว่าจะจำในภาษาอะไร แม้แต่คำคล้ายๆ กัน แต่ละภาษาก็สามารถที่จะรู้ว่าหมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นได้ยินคำไหน ได้ยินเป็นจิต สภาพที่จำสิ่งที่ปรากฏเป็นเจตสิก เป็นสัญญาเจตสิก และยังมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย รู้สึกอย่างไร เดี๋ยวนี้ นั่งตรงนี้ รู้สึกอย่างไร ลองบอกหน่อยสิ บอกว่าไม่มีความรู้สึกไม่ได้ โต๊ะไม่มีความรู้สึก เก้าอี้ไม่มีความรู้สึก ดอกไม้ไม่มีความรู้สึก แต่สิ่งที่มีชีวิตต้องรู้สึก เพราะฉะนั้นความรู้สึกมีจริงๆ แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ พอพูดว่าที่ความรู้สึกเราหมายความถึงรู้สึกอะไร รู้สึกดีใจ รู้สึกเสียใจ รู้สึกเฉยๆ รู้สึกทุกข์ เจ็บปวด เมื่อย รู้สึกสุขสบาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกทั้งหมดมี ๕ อย่าง เลือกให้เกิดไม่ได้เลย เลือกให้เป็นสุขไม่ได้ เวลาที่มีเหตุที่จะทำให้ทุกข์เกิด สุขเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามปัจจัย ด้วยเหตุนี้เจตสิกหนึ่ง เราใช้ในภาษาไทยว่ารู้สึก แต่ภาษาบาลีใช้คำว่าเวทนา คนที่ไม่ค่อยคุ้นกับภาษาบาลี จะออกเสียงว่าเวท-ทะ-นา แต่ความจริงภาษาบาลีต้องออกเสียง เว-ทะ-นา หมายความถึงความรู้สึก เดี๋ยวนี้มีไหมความรู้สึก

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ นี่เพิ่มความรู้ขึ้น แต่บอกไม่ได้ว่ารู้สึกอะไร ก็คือความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีใจไม่เสียใจขณะนั้นต้องมีความรู้สึก แต่ความรู้สึกมันเฉยๆ รู้ยากไหม ความรู้สึกเฉยๆ ยากกว่าดีใจ ยากกว่าเสียใจ ยากกว่าทุกข์ทางกาย ยากกว่าสุขทางกาย แต่ว่าต้องมีแน่ เพราะฉะนั้นมีเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ๗ ประเภท เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ชีวิตประจำวันเราทั้งหมดเป็นจิตกับเจตสิก และรูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่าสำหรับจิต เจตสิกก็หลากหลายมาก เพราะเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ๕๒ ชนิด เกิดกับจิตทำให้จิตหลากหลายต่างกัน ๘๙ ประเภท เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตสิก ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีใครพรรณนาพระคุณของผู้ที่ทรงรู้ความจริงตรัสรู้อย่างที่เราได้ฟัง ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้คือรู้ถึงที่สุดของความจริงนั้นโดยชอบ ตามความเป็นจริง สัมมาสัมพุทธ ใช่ไหม รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงถึงที่สุด ถ้าใครจะพรรณนาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราฟังแล้วรู้คุณไหม

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง ไม่มีทางจนกว่าจะเข้าใจธรรม บอกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ไม่รู้ รู้อะไร ตรัสรู้หมายความว่าอย่างไร ตรัสรู้ไม่ใช่คิด ใช่ไหม ไม่ใช่ไตร่ตรอง แต่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นทุกคำที่ตรัสแล้ว เป็นคำที่ได้ทรงประจักษ์แจ้งแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเอ่ยให้คนอื่นได้เข้าใจได้อย่างไร เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นระลึกถึงคุณของผู้ที่ทรงตรัสรู้ จึงรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระคุณที่บำเพ็ญบารมี เพื่อจะรู้สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ซึ่งใครก็ไม่มี แล้วทรงพระมหากรุณาให้คนอื่นได้เข้าใจตามด้วย มิเช่นนั้นเราไม่มีโอกาสเข้าใจ หมายความว่าปัญญาไม่สามารถที่จะเกิดได้เลย ถ้าไม่มีการฟังคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น พอเข้าใจอย่างนี้ นี่คือพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธจ้า แต่ถ้ามาฟังนานๆ ทั้งวัน แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมเลย จะเห็นคุณได้อย่างไร แต่พอเข้าใจธรรมเมื่อไหร่ อย่างเดี๋ยวนี้กำลังเห็น ไม่ใช่เรา เห็นเกิดเห็น แล้วเห็นก็ดับ เราเข้าใจอย่างนี้จากใครเรา คิดถึงคุณของผู้นั้น เพราะฉะนั้นจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต่อเมื่อเข้าใจธรรม

    อ.คำปั่น อย่างที่กล่าวถึงเจตสิก ความหมายของเจตสิก เจ-ตะ-สิก-กะ หมายถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ก็เป็นธาตุรู้ แต่ว่าไม่ได้เป็นใหญ่ และไม่เป็นประธาน เหมือนอย่างจิตเมื่อกล่าวถึงก็คือขณะนี้ทั้งหมดเลย อย่างเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึงความรู้สึก คือเจ็บ คือเสียใจ คือทุกข์ใจ เป็นธรรมเป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เพราะฉะนั้นจากคำแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ก็เพิ่มพูนความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมมากยิ่งขึ้น ว่าไม่ใช่ที่อื่นที่ไกลเลย แต่ว่ามีจริงๆ ในขณะนี้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ยกตัวอย่างว่าเห็นกับได้ยิน เกิดแล้วดับ แต่เสมือนหนึ่งบางทีเราเหมือนกับได้ยินแล้วก็เห็นไปด้วย การที่เราจะเข้าใจจริงๆ คือต้องรู้ลำดับด้วยไหมว่า ในณ.ปัจจุบันตรงนั้นได้ ด้วยความต้อง

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็เป็นเรา หาวิธีด้วย ลืมเลยว่าธรรมคืออะไร ต้องมั่นคงระดับไหน ธรรมไม่ใช่ใคร แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง มีสภาวะของตนๆ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เกิดเองไม่ได้ตามลำพัง เหตุกับผลต้องตรงกัน ฟังเพื่ออะไร ฟังธรรมเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ ไม่ลืมคำนี้ เพราะฉะนั้นจะไปทำอะไรไหม หาวิธีทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจ นั่นไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้วแต่งต่อเติมตามความคิด แต่ถ้าฟังธรรมแล้ว ฟังแล้วเข้าใจแค่ไหน บอกว่าธรรมไม่ใช่เรา จริงไหม แล้วบอกว่าเห็นเกิดแล้วดับ และจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ อย่างเห็นจะทำหน้าที่อื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะที่ได้ยินต้องไม่ใช่เห็น ใช่ไหม เห็นจะไม่มีเสียงอยู่ในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย แล้วเวลาเสียงปรากฏก็จะไม่มีสีสันวรรณที่เสียงหนึ่งเสียงใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งเป็นแต่ละหนึ่งที่ละเอียดยิ่ง ฟังเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่มารวมกัน ปกปิดความจริง ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง แม้แต่ฟัง รู้ว่าสิ่งที่มีจริงเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น ก็ลืมแล้ว ก็จะเป็นเราทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าเรามีความติดข้อง เพราะความไม่รู้ ยึดถือสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป เร็วสุดที่จะประมาณว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เข้าใจอย่างนั้นถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง เข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ เข้าใจผิด ยังมีอีกเยอะไหม ทุกวันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เยอะมาก

    ท่านอาจารย์ จนกว่าความเข้าใจธรรมจากค่อยๆ ขัดเกลา ละคลาย ละลายความเห็นผิด ซึ่งมากมายมหาศาล เพราะถ้าเป็นนามธรรมก็ไม่มีที่เก็บ แต่ความจริงประมาณไม่ได้เลยว่ากี่จักรวาลก็ตามแต่ ความไม่รู้มีมากกว่านั้น เพราะว่าไม่รู้ไปหมดเลย เห็นเกิดแล้วดับก็ไม่รู้ ได้ยินเกิดแล้วดับก็ไม่รู้ ทุกอย่างไม่รู้หมด เพราะฉะนั้นสะสมความไม่รู้นานเท่าไรในชาตินี้ และชาติก่อนๆ วันนี้ เมื่อวานนี้ ไปจนถึงเกิด แล้วก็ต่อไปจนกว่าจะตายก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็เพิ่มความสำคัญว่าเป็นเรา ทำให้หนทางผิดมาเลย เพราะฉะนั้นจึงมีการที่ประมาทธรรม คิดว่าเราทำ ต้องแน่ใจจริงๆ ว่าความจริงสิ่งนั้นเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นใครทำให้เกิดไม่ได้เลย เพราะเกิดแล้ว เห็นเกิดแล้วใครทำ ได้ยินเกิดแล้วใครทำ คิดเกิดแล้วใครทำ ไม่มีใครทำสักคน แต่เกิดแล้วดับไปด้วย อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะรู้ก็คิดว่าจิต ธาตุรู้สภาพรู้ เกิดทีละหนึ่งขณะ แล้วก็รู้ทีละหนึ่งอย่าง ไม่ได้รวมกันหลายๆ อย่าง อย่างนี้เลย

    เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงหนึ่งเฉพาะเสียงนั้น แต่เหมือนเสียงยาวใช่ไหม แต่ละหนึ่งเกิดดับ เกิดอีกดับอีก เกิดอีกดับอีกซ้ำๆ จนกระทั่งปรากฏเหมือนนานหรือเหมือนยาว หรือเหมือนมาก แต่ความจริงทีละหนึ่ง เจตสิกเกิดขึ้นกับจิตทีละหนึ่ง กี่ประเภทก็ตามที่เกิดกับจิต อย่างจิตหนึ่งขณะเกิดขึ้นเห็น จะต้องมีสัญญาเจตสิกที่จำ ไม่ได้จำอื่น จำสิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั่นแหละ ๑ ขณะ แล้วความรู้สึกขณะที่เห็นต้องมี ไม่มีไม่ได้ เพราะอะไร รูปกระทบตา ทำให้ธาตุรู้เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกในสิ่งนั้นทันที เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ อย่างน้อยที่สุดจิตหนึ่งขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท นี่ ๒ แล้วเหลืออีก ๕ ยังมืดมนใช่ไหม จนกว่าจะค่อยๆ เปิดเผย ทีละหนึ่ง ทีละหนึ่ง ทีละหนึ่ง แล้วก็ค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้น ไม่ใช่เราไปทำ ถ้ามีใครบอกให้ทำถูกหรือผิด รู้เลยว่าคนนั้นไม่รู้ รู้เลยว่าคนนั้นเข้าใจผิด สอนให้คนอื่นทำได้อย่างไร ต้องให้เข้าใจ ไม่ใช่ให้ทำ เพราะใครก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครที่จะทำ ตาบอดทำให้เห็นสิทำอย่างไร รู้หรือเปล่าว่าตาเกิดจากอะไร ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดตา เกิดหู เกิดจมูก เกิดสีสันวรรณะที่ร่างกายต่างๆ กันไป แม้แต่ตาสีต่างๆ ใครทำ แต่ต้องมีปัจจัย เหตุที่จะทำให้สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น ถ้ารู้แล้วหมดสงสัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สงสัยมีมาก สงสัยมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นอะไร เป็นธรรมากเป็นธาตุชนิดไหนมี ๒ อย่าง รูปธาตุกันนามธาตุ เพราะฉะนั้นสงสัยเป็นธาตุชนิดไหน

    ผู้ฟัง เป็นนามธาตุ

    ท่านอาจารย์ นามธาตุ ไม่สงสัยได้ไหม ถ้าสงสัยยังไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นอย่างอื่นไม่ใช่สงสัย แต่พอสงสัยเกิดแล้วจะไม่สงสัยไม่ได้เพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัยด้วย ใครไม่สงสัย รู้ความจริงเมื่อไหร่ก็ไม่สงสัยในสิ่งที่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องสงสัยใช่ไหม เพราะฉะนั้นไม่รู้ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งเ ป็นเจตสิก โมหเจตสิก ภาษาบาลีใช้หลายคำ อวิชชาแปลว่าไม่รู้ ตรงตัว วิชชาแปลว่ารู้ อวิชาก็ไม่รู้ โมหะไม่รู้แล้วก็ต้องมืดมน จะไปถูกได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็โมหเจตสิก จะได้ยินคำนี้บ่อยๆ โลภเจตสิก โทสเจตสิกโ มหเจตสิก แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แต่มี ไม่ต้องเรียกก็ได้ ไม่โกรธอย่างนี้มีไหม ขณะไม่โกรธมีโกรธเกิดร่วมด้วยไหมพร้อมกันได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโกรธดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ทำไมว่าไม่ดี

    ผู้ฟัง เพราะโกรธแล้วไม่เป็นสุข

    ท่านอาจารย์ สภาพนั้นเกิดเมื่อไหร่ ทำร้ายจิตเมื่อนั้น ศัตรูภายใน ศัตรูภายนอกเราอาจจะหาวิธีต่อสู้ชนะได้ แต่ศัตรูภายใน เจตสิกซึ่งเป็นฝ่ายไม่ดี เกิดเมื่อไหร่ทำร้ายจิตทันที พอจิตไม่ดีแล้วกายดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ วาจาดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้ได้เลยใช่ไหม โลภเจตสิกเกิดก็รู้ได้โดยกาย โดยวาจา ฉันใด โทสเจตสิกเกิดก็รู้ได้ทางกาย ทางวาจา นั่งเฉยๆ ไม่กระดุกกระดิก แต่โกรธ รู้ได้ไหม อย่างยิ้มอย่างนี้ นั่งเฉยๆ แล้วยิ้มก็ยังรู้ได้ใช่ไหม ไม่ได้พูด ไม่ได้เคลื่อนไหว ยกมือยกไม้อะไรแต่ยิ้ม ยิ้มได้อย่างไร เพราะจิตขณะนั้นรู้สิ่งที่พอใจยิ่ง เพราะเหตุว่าถ้าพอใจนิดหน่อยก็เฉยๆ ใช่ไหม แต่ถ้ายิ้มเมื่อไหร่ เริ่มแล้วพอใจยิ่ง ยิ่งหัวเราะสนุก สภาพของจิตก็ต่างๆ ต่างกันไป ไม่ใช่เราเลย เกิดแล้วก็หมดไป เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ใช่ไหม เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ ทุกอย่างหมดเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเข้าใจธรรมว่าไม่ใช่เรา ถูกหรือผิด ถูกจนกว่าจะถึงที่สุด คือดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เมื่อไหร่ที่เป็นเราต้องเป็นทุกข์ คนอื่นเขาตายเขาพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติไม่เห็นเราเดือดร้อนเลย แต่พอถึงตัวเองเป็นอย่างไร เจ็บไข้ได้ป่วยทรัพย์สมบัติสูญหาย เดือดร้อนเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นยึดมั่นในความเป็นเรา ทำให้เกิดทุกข์ เราไม่ได้ไปยึดคนอื่นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเขาจะตกน้ำ เขาจะเป็นอะไรก็เรื่องของเขา ไม่เดือดร้อนใช่ไหม แต่พอถึงสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นเราก็เดือดร้อน เพราะฉะนั้นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับบัญชาได้ แต่สามารถเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ขออนุญาต อันนี้คือการปล่อยวางไหม แล้วก็เหมือนกับเป็นการเดินสายกลาง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลยสักอย่าง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เราพูดคำที่เรายังไม่รู้จัก เช่นปล่อยวาง เราถืออะไรไว้

    ผู้ฟัง อย่างเช่นความทุกข์ ความอะไรที่ไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว แล้วดับแล้วด้วย ต้องชัดเจนทุกคำ ประมาทความจริงไม่ได้ ประมาทสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งไม่ได้ ประมาทความถูกต้องไม่ได้ เพราะเหตุว่าพลาดนิดเดียวผิดทันที เพราะฉะนั้นฟังคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง และพิจารณาไตร่ตรอง ถูกหรือผิดไม่ใช่ต้องไปเชื่อ ไม่ต้องตามใคร ถ้าใครไม่พูดให้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเขาไม่รู้ ถ้ารู้เขาจะพูดผิดๆ ไหม ไม่ได้ใช่ไหม รู้อย่างไรก็พูดอย่างนั้น รู้ผิดก็พูดผิด รู้ถูกก็พูดถูก แต่คนฟังรู้ ถ้าเป็นคนที่มีเหตุผล เมื่อมีเหตุผลก็จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ จะกราบเรียนให้ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ของคำว่าปล่อยวางกับสายกลาง

    ท่านอาจารย์ ปล่อยวางเป็นธรรมหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเรารู้เพียงแค่นี้แล้วเราจะเอื้อมไปรู้สิ่งที่ไกลกว่านี้มาก แต่ต้องเป็นไปตามลำดับ ถ้ายังไม่รู้ว่าปล่อยวางคืออะไร ปล่อยอะไร ใครปล่อยวาง วางอะไร ก็ไม่มีการที่จะเข้าใจได้เลย เพราะฉะนั้นต้องเป็นไปตามลำดับ เอาเด็กอนุบาลไปเป็นแพทย์ผ่าตัดได้ไหม ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะพูดอะไร มิตรที่ดี เพื่อนคือมิตร หมายความว่าไม่ใช่ศัตรู คำว่ามิตรมาจากคำว่า มิต-ตะ หรือไมตรี หมายความถึงความเป็นเพื่อน เป็นอย่างไรเป็นเพื่อน หวังดี ไม่หวังร้ายเลย พร้อมที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ขณะนั้นเป็นมิตร แต่ถ้าทำร้ายเมื่อไหร่ไม่ใช่มิตร เฉยๆ เมื่อไหร่ก็ไม่ใช่มิตร ใช่ไหม มิตรต้องเป็นพร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลคนนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นมิตรก็คือว่าให้เขาเข้าใจถูกต้องทุกคำ ด้วยความหวังดี เพราะว่าเป็นสิ่งที่หายาก ถ้าไม่มีใครที่จะพูดคำจริงให้เราเข้าใจ เราก็หลงผิดไป อย่างนั้นไม่ใช่มิตรที่ดี เพราะฉะนั้นมิตรที่ดีต้องมีความกล้าที่จะทำดี สิ่งที่ถูกต้องทำไมพูดไม่ได้ สิ่งที่ถูกต้องทำไมทำไม่ได้ ทำได้อาจหาญร่าเริง บางคนกลัวผลร้าย ไม่มีทางที่ใครจะทำร้ายใครได้เลย นอกจากธรรมที่เคยเข้าใจว่าเป็นเราต่างหาก ที่ทำร้ายตัวเอง ถ้าเขาว่าเราแต่เราไม่โกรธ คำนั้นทำร้ายเราไม่ได้เลย ต่อให้คนที่พูดมีเจตนาร้ายสักเท่าไหร่ แต่คนนั้นไม่โกรธ ทำอย่างไรเขาก็ไม่โกรธ คำนั้นจะมาทำร้ายได้อย่างไร เพราะฉะนั้นโกรธเมื่อไหร่ ไม่ใช่คนอื่นทำร้าย แต่สภาพธรรมคือความขุ่นข้อง ความหยาบกระด้างของจิต ที่เกิดขึ้นขณะนั้นทำร้ายจิต

    ทุกคำมีคำตอบจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่มีใครเข้าใจธรรมเลยเขาจะรู้ได้อย่างไร ว่าผู้นี้ต่างกับคนอื่นทั้งหมดในสากลจักรวาล ไม่ใช่เฉพาะแต่มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ทั้งหมดก็มาเฝ้าทูลถามเพราะว่ารู้ว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งทุกอย่าง ด้วยประกาศทั้งปวง เพราะฉะนั้นให้เข้าใจก่อน แล้วถึงจะรู้ว่าใครพูดคำนี้ เมื่อไหร่ กับใคร ก็รู้ว่าบุคคลที่ให้คนอื่นได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องจากการที่บุคคลนั้นรู้จริงๆ ประจักษ์แจ้งจริงๆ จึงกล่าวได้ว่าทุกอย่างในขณะนี้ กำลังเกิดดับ

    อ.คำปั่น ที่ท่านอาจารย์ ได้กล่าวว่าแม้แต่การปล่อยวางก็เป็นไปตามลำดับ อย่างในขณะนี้ที่มีการฟังธรรมท่านอาจารย์ พอที่จะเห็นถึงความปล่อยวางได้มากน้อยแคไหน

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าปล่อยอะไร วางอะไร

    อ.คำปั่น ขณะนี้ก็ได้ฟังธรรม ก็เริ่มสะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ก็เริ่มที่จะสละวางความไม่รู้ที่เคยมี

    ท่านอาจารย์ ปล่อยหรือยัง

    อ.คำปั่น ยังไม่ได้อย่างเด็ดขาด

    ท่านอาจารย์ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะปล่อยไหม หรือว่าอยู่ดีๆ ก็ทิ้งไปได้

    อ.คำปั่น ก็ต้องได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำพูดแต่ละคำ ฟังดูเหมือนง่าย ไม่จริง ปล่อยวางง่ายจัง ไหนล่ะ อะไรก็ไม่รู้ ไม่จริง ทางสายกลาง ทางซ้ายก็มี ทางขวาก็มี ทางสายกลางอยู่ไหน คืออะไร ไม่ใช่พูดเฉยๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 182
    19 พ.ย. 2567