ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1086
ตอนที่ ๑๐๘๖
สนทนาธรรม ที่ บ้านธัมมะ ลำพูน
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอารมณ์ของจิตขณะแรกที่เกิด มีไหม จิตขณะแรกเลย มีไหม ถ้าไม่มี ก็ไม่มีจิตเดี๋ยวนี้ เพราะที่จะมีจิตเดี๋ยวนี้ได้ก็ต้องเพราะมีจิตขณะแรกเกิดขึ้นในโลก และจิตขณะแรกนั่นเป็นวิถีจิตหรือเปล่า รู้อารมณ์อะไรหรือเปล่า อารมณ์อะไรปรากฏหรือเปล่า เวลานี้เราบอกว่าเราได้ยิน เพราะมีเสียงอาศัยหู ถ้าเราบอกว่าเวลานี้มีกลิ่น ก็เพราะกลิ่นอาศัยจมูก วิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้กลิ่น เพราะฉะนั้นจิตที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นวิถีจิต คิดมีใช่ไหม คิดไม่ใช่เห็น แต่รู้ว่าคิดเรื่องอะไร เรื่องที่คิดเป็นอารมณ์ของจิตที่คิด สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ของจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้น ชอบอะไรที่ปรากฏให้เห็นใช่ไหม แต่ต้องมีสิ่งนั้นปรากฏก่อน แล้วก็ชอบในสิ่งนั้นที่ยังไม่ดับไปด้วย เป็นจักขุทวารวิถีจิต อาศัยตาที่มีสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น โลภะที่เกิดขึ้นพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นวิถีจิต ถ้าอารมณ์ใดก็ตาม หมายความว่าอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นเป็นวิถีจิตทั้งหมด ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นโดยกรรมเป็นปัจจัย แต่โลกนี้ไม่ได้ปรากฏ ไม่รู้จักโลกนี้เลยในขณะที่เกิด เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้อารมณ์ของโลกนี้ ซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างที่เราเห็น ได้ยินเป็นต้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้ตายของชาติก่อน เพราะจิตต้องเกิดดับสืบต่อ เห็นแล้ว เห็นคิดได้ไหม เห็นเท่านั้น เห็นคิดไม่ได้ ถูกต้องไหม แต่เห็นแล้วคิดใช่ไหม
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นอะไร ต้องคิดถึงสิ่งที่เห็นต่อทันทีทางมโนทวาร แม้ไม่เห็น แต่ก็เพราะเคยเห็นสิ่งใดก็คิดถึงสิ่งนั้น ทุกคนคิดถึงบ้านได้ ต้องเคยเห็นเคยจำได้เมื่อบอกให้คิดถึงบ้าน ไม่ได้คิดถึงกรุงเทพใช่ไหม ไม่ได้คิดถึงเชียงใหม่ใช่ไหม ก็คิดถึงสิ่งที่ขณะนั้นจำไว้ว่าเป็นอะไร แต่ว่าตัวสิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นแม้ว่าเป็นวิถีจิต อาศัยใจที่จำทุกสิ่งทุกอย่างเกิดสืบต่อจากตา หู จมูก ลิ้นกาย จิตที่คิดก็มีเรื่องที่คิดนั่นแหละเป็นอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เป็นโลกนี้ใช่ไหม พูดถึงสิ่งที่มีในโลกทั้งนั้นเลย แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏในโลกนี้ แต่ปรากฏในชาติก่อน ทันทีที่จุติจิตขณะสุดท้ายดับไป จิตที่เกิดต่อรับรู้อารมณ์เดียวกับจิตนั้น เหมือนกับเวลานี้ เห็นแล้วก็มีคิด ต่อกันเลย เห็นอะไร เห็นดอกไม้ แต่ความจริงเห็นแค่สีสันวัณณะที่กระทบตา เห็นนิมิตรูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่ไม่มีใครบอกเลย ว่าเราเห็นนิมิตแล้วเราจำนิมิต แต่พอเห็นก็ดอกไม้ โต๊ะ เก้าอี้ไปเลย เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่รู้ว่าเป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่ใช่เห็น แต่เป็นคิด เมื่อได้ยินเสียงธรรม เข้าใจเลย ไม่ใช่พูดถึงเห็น แต่พูดคำว่าธรรม เพราะฉะนั้นทันทีที่ได้ยินแล้วดับไปแล้ว คิดต่อทันที
เพราะฉะนั้นทางใจก็ตามไปทุกทาง พอเห็นดับ ทางใจคิดต่อในสิ่งที่ปรากฎ เสียงดับ ได้ยินดับไปแล้ว ทางใจเกิดขึ้นคิดต่อว่าสิ่งนั้นเป็นเสียงอะไร ทางจมูกได้กลิ่นดอกมะลิ คำว่าดอกมะลิมาแล้ว ถึงแม้ไม่ได้พูดแต่ก็จำได้ เพราะฉะนั้นดอกมะลิไม่ใช่กลิ่น กลิ่นเป็นกลิ่น แต่จิตที่เกิดสืบต่อจากกลิ่นรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร เพราะว่ามีกลิ่นนั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า จิตที่อาศัยใจเป็นทางที่จะรู้ ชื่อว่ามโนทวาร ใจเป็นทวารที่จะให้จิตรู้เพราะคิดถึงสิ่งที่ได้เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นมีมโนทวารวิถีจิตคือคิด มีจักขุ คือตา ขณะใดที่มีสิ่งใดกระทบให้เกิดจิตรู้ เฉพาะรูปนั้นเป็นทาง หรือเป็นทวารให้จิตเกิดขึ้น รู้เฉพาะรูปที่กระทบตา เพราะฉะนั้นขณะนั้นมีจักขุ ซึ่งเป็นจักขุทวาร เพราะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏโดยจิตรู้สิ่งนั้น ส่วนทางหูมีโสตทวาร คือโสตปสาทรูป ที่ถูกเสียงนั้นกระทบ และจิตเกิดขึ้นรู้เฉพาะเสียงนั้นเท่านั้น ไม่ใช่เสียงอื่น เพราะฉะนั้นโสตทวารเป็นทางให้จิตเกิดขึ้น ได้ยินเฉพาะเสียงที่กระทบหู แล้วหลังจากนั้นจิตก็รับรู้ต่อ จำได้เลย มีความหมายของแต่ละคำที่ได้ยิน ถ้าจิตไม่คิดมีแต่เสียง เวลาที่ฟังภาษาอาหรับจะเข้าใจไหม แต่ได้ยินใช่ไหม รู้ด้วยว่าเป็นเสียง ยังจำได้ว่าภาษาอะไร แต่ไม่จำถึงกับเข้าใจความหมายเพราะไม่ได้รู้ความหมาย แต่เมื่อได้ศึกษาแต่ละเสียง สูงๆ ต่ำๆ เริ่มรู้ว่านี่คือภาษาอะไร และแต่ละภาษาหมายความว่าอะไร
เพราะฉะนั้นทางใจคือจิต เกิดมาก แค่สิ่งที่ปรากฏ ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแสนสั้น ต่อจากนั้นทางใจรับรู้ ปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราวต่อไปทันที ไม่ว่าจะทางหูก็สั้นมากแค่เสียง เหมือนฟ้าแลบในความมืด เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุรู้ ไม่มีสีสันใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจิตมืดไหม หรือสว่าง ธาตุรู้จริงๆ ยังไม่ได้ปรากฏเลยใช่ไหม ถ้าปรากฏต้องมืดหมด แล้วมีธาตุรู้ ให้หายสงสัยว่า นี่แหละไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่รู้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นกำลังรู้อะไร ขณะนั้นก็มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้กับสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นเสียงขณะที่ได้ยิน โลกต้องมืดใช่ไหม แต่มีธาตุรู้กับเสียง ไม่มีเรา
เพราะฉะนั้นกว่าจะไม่ใช่เราได้ ก็ต่อเมื่อรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละประเภท ซึ่งเป็นธาตุรู้ กับธาตุที่ไม่ใช่สภาพรู้ เท่านั้นเอง คือนามธรรม และรูปธรรม ความเข้าใจจะนำไปสู่ขณะที่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งสิ่งที่ได้ฟังมาแล้ว จึงขาดการฟังไม่ได้เลย ต้องฟังเข้าใจก่อนจึงจะเป็นปัจจัยให้รู้ว่าขณะนี้ขั้นฟัง แต่โลกยังไม่มืดเลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจะปรากฏทีละหนึ่งได้ไหม ที่แยกขาดจากกัน ธาตุรู้มืดสนิท เสียงมืดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมีสิ่งเดียวในโลกไม่ว่าโลกไหน คือธาตุที่สามารถกระทบตา และปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ โดยอาศัยตา แต่ขณะนั้นแค่นั้น แล้วทางใจก็รับรู้จำได้ ปรุงแต่งเป็นเรื่องราวต่างๆ ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงมีหลายขั้น แล้วก็รู้ด้วยว่าขณะหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ เพราะว่าปฏิสนธิจิต แสดงว่าปฏิ สันธิ สืบต่อจากจิตสุดท้ายของชาติก่อน เพราะฉะนั้นก่อนจุติจิตของชาติก่อนจิตรู้อะไร ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เหมือนเดี๋ยวนี้เลย จะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ก็ได้ แล้วตาย หรือมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคิด เรื่องที่คิดเป็นอารมณ์ของขณะนั้น และจุติก็ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกันกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ต้องมีความเข้าใจอีกมากมายค่อยๆ ปรุงแต่งไป จนกระทั่งค่อยๆ ได้เห็นตามความเป็นจริง ในขั้นปริยัติใช้คำว่ารอบรู้ปริยัติ เพียงแค่ฟังนิดๆ หน่อยๆ เป็นอะไร เดี๋ยวเป็นเรา เดี๋ยวเป็นธาตุ เดี๋ยวเป็นธรรม เดี๋ยวเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยังไม่มั่นคง ไม่มีความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปฏิปัตติ ยังไม่ถึงเฉพาะลักษณะที่แท้จริงว่าในขณะที่เสียงปรากฏ อย่างอื่นปรากฏไม่ได้ แต่เวลานี้การเกิดดับสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณได้ทุกทางสืบต่อ จนแยกไม่ออกว่าแต่ละทางเป็นแต่ละทางจริงๆ เห็นแล้วคิด แล้วก็มีเห็นอีก จึงไม่สามารถจะรู้ได้ว่าทั้งๆ ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คิดคั่นตั้งเท่าไหร่ จึงรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่เหมือนเห็นแล้วรู้ทันที เพราะฉะนั้นนี่คือความไม่รู้ ซึ่งอาศัยการฟังพระพุทธพจน์ เป็นปริยัติจนกว่าจะรอบรู้ ไม่ใช่แค่ฟัง จนกระทั่งมั่นคงเมื่อไหร่ เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะถึงเฉพาะลักษณะหนึ่ง โดยความเป็นอนัตตาเลือกไม่ได้ เลือกได้อย่างไรยังไม่เกิด เกิดแล้ว รู้แล้ว ก็เลือกให้รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ โดยความเป็นอนัตตาโดยตลอด เพราะฉะนั้นจึงมั่นคงในความไม่มีเรา และไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นแต่ละทางต้องเข้าใจชัดเจน ทวาร มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม ถ้าเป็นรูปธรรมคือตา ไม่รู้อะไร แต่เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กระทบตาได้ หู ไม่รู้อะไร แต่เป็นรูปที่สามารถกระทบเฉพาะเสียง เสียงกระทบตาไม่ได้ ต้องกระทบรูปที่อยู่กลางหูซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่มีจริงเพราะเป็นรูปที่สามารถกระทบเฉพาะเสียง เพราะฉะนั้นการที่ได้ยินจะเกิดก็ต้องอาศัยรูปนั่นแหละ โสตนั่นแหละเป็นทวาร จึงใช้คำว่าโสตทวาร เมื่อจิตเกิด จิตนั้นก็เป็นโสตทวารวิถีจิต ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าขณะที่เป็นภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิต ภาษาบาลีใช้คำว่าอะไร
อ.คำปั่น วิถีมุตตจิต
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คือชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เคยเปิดเผยเลยว่าเป็นธรรมทั้งหมด แต่ละหนึ่งๆ จนกว่าจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รอบรู้มั่นคงเมื่อไหร่ เป็นปริยัติ จะไปสำนักปฏิบัติไหม ไปเมื่อไหร่คือไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เข้าใจธรรม แล้วก็ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย เพราะทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคำไม่จริงทั้งหมด ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้ทุกคำไม่ประมาทเลย มีจิตที่อาศัยรูปเป็นทางที่จะเกิดขึ้นเห็น จิตที่อาศัยทวารชื่อว่าอะไร
คำปั่น ก็คือวิถีจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าอาศัยตาก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ได้อาศัยทวารใดๆ เลย คือหลับสนิท ก็เป็นอะไร
อ.คำปั่น วิถีมุตตจิต
ท่านอาจารย์ วิถีมุตตจิต มีไหม มี ต้องเรียกชื่อไหม ถ้าเข้าใจแล้วไม่ต้องเรียกแต่ถ้าไม่มีคำที่จะเรียก เราจะรู้ไหมว่าต่างกับขณะที่ตื่นอย่างไร เพราะฉะนั้นแต่ละคำ แต่ละเสียง ในทุกภาษาเป็นไปตามความหมายของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นกล่าวได้ไหม ตั้งแต่เกิดจนตายพูดคำที่ไม่รู้จัก จนกว่าจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงรู้จักคำที่พูด อย่างพูดคำว่า ตา ก่อนฟังไม่รู้จักเลย รู้แต่ว่ามี แต่อะไร เป็นอะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหน ไม่ใช่ตาขาวตาดำ แต่ตาเป็นรูปที่มองไม่เห็น ขาวไหม ดำไหม มองไม่เห็น ไม่ใช่สีสันวัณณะ เพราะฉะนั้นในบรรดาธรรมทั้งหมด มีสิ่งเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ คือสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ใช้คำว่า วัณณรูปก็ได้ หมายความถึงสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ ไม่เรียกก็ได้ใช่ไหม แต่มีแล้วขณะนี้สิ่งนั้นกำลังปรากฏ ฟังธรรมก็เพื่อรู้สิ่งที่มีตามความเป็นจริงในความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา แต่ละคำเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ไปจำชื่อ แต่ทุกชื่อต้องคืออะไร และคืออะไรก็ไม่ใช่สั้นๆ ง่ายๆ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ
ผู้ฟัง ขอความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับจิตที่ทำหน้าที่ ๑๔ กิจ
ท่านอาจารย์ หน้าที่แรกที่สุดมีใช่ไหม เพราะว่ามีจิตเมื่อไหร่ จิตนั้นต้องเกิดขึ้นทำกิจ๑อย่าง ใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้นจิตแรกคืออะไร คิดออกไหม ปฏิสนธิจิต จิตแรกที่เกิดขึ้น เป็นขณะที่สืบต่อจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน จิตขณะสุดท้ายทำจุติกิจ หมายความว่ากิจที่ทำให้เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง ถ้าจิตนี้เกิดขึ้น และดับไป จะเป็นคนนั้นอีกต่อไปไม่ได้ จะกลับไปเป็นอีกสักขณะหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า จุติจิต ก็คือขณะสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งจะเป็นสุดท้ายเมื่อไหร่ ก็ต่อเมื่อจิตนี้เกิดขึ้น แล้วก็ทำกิจให้เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ทันทีที่จิตนี้ดับไป คือหนึ่งกิจแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อจุติจิต จิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนดับ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดทันทีไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้นคำว่าปฏิสันธิจิต ก็หมายความถึงจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ๒ กิจแล้วใช่ไหม เหลืออีก ๑๒ กิจ แต่ว่าทีละหนึ่ง ทีละหนึ่งก็เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ เรารู้เลยว่าจิตเกิดขึ้นทำกิจ ถ้าจิตยังไม่ทำจุติกิจ คนนั้นอย่างไรๆ ก็ไม่ตาย จะสลบไสลไปสักกี่วัน จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ตาย เพราะว่าจิตยังไม่เกิดขึ้นทำจุติกิจ แต่ว่าทันทีทันใดที่จุติจิตเกิด และดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที โดยกรรมหนึ่งซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เป็นไปตามอำนาจของจิต ถ้าไม่มีจิต กรรมก็ไม่มี
เพราะฉะนั้นกรรมหนึ่งที่ได้ทำแล้วในทุกชาติที่ผ่านมา สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จิตที่เกิดหนึ่งขณะดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด คิดดู เป็นได้ถึงอย่างนั้นโดยความเป็นปัจจัยที่ใช้คำว่า อนันตร ไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้นตายแล้วเกิดทันที ไม่ต้องไปรอที่ไหนเลยทั้งสิ้น ไม่มีสักเสี้ยววินาที หรือจะไปนับอย่างไรๆ ก็ไม่ได้ เพราะว่าจิตเกิด และดับ และเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นจิตขณะนี้ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีระหว่างคั่นทันทีเป็น อนันตรปัจจัย ซึ่งทำให้เกิดจิตสืบต่อไม่ขาดสาย ตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว มาจากจิตก่อนๆ ก่อนๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันมา เป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะฉะนั้นจากโลกนี้ไปแล้ว กรรมใด เเรงกรรมทำได้ทุกอย่าง เป็นมนุษย์อย่างนี้ไปสู่สวรรค์ก็ได้ ไปสู่อบายภูมิ ลงนรกก็ได้ ถึงอเวจีเลยก็ได้ หรือว่าเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้ จากมนุษย์เป็นนกทันทีก็ได้ เป็นงูทันทีก็ได้ เพราะเหตุว่าเเล้วเเต่ว่ากรรมใดจะให้ผล ซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า กรรมที่ได้ทำมาแล้วซึ่งไม่รู้ชาติก่อนๆ กับกรรมแม้ชาตินี้ ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมนั้น แล้วก็ทำปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนทันที ไม่รู้เลยชาติก่อนอยู่ที่ไหน ตายตรงไหน เป็นใคร ไม่มีทางจะรู้ได้เลย ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมที่ปกปิด โดยเฉพาะกรรม
ขณะนี้ ฟังธรรมเข้าใจ ไม่ต้องไปวัดใช่ไหม ไม่ต้องพกพระด้วย แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเสมือนพระองค์ประทับอยู่ที่ใด และก็มีผู้ที่เข้าใกล้เพื่อที่จะได้ฟังคำ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ทันทีที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เหมือนบุคคลในครั้งนั้นได้เข้าไปสู่พระวิหารเชตวัน คำที่ได้ยินจากพระโอษฐ์ในครั้งนั้น ก็คือคำที่จดจำจารึกมา แล้วก็สามารถที่จะมีผู้ที่กล่าวถึงคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ก็เหมือนกับได้ไปเฝ้า ได้ฟังจากพระโอษฐ์ที่พระวิหารเชตวัน หรือที่ใดก็ตาม สมมติว่าได้เคยฟังธรรมที่พระวิหารเชตวัน ซึ่งอาจจริงก็ได้ ใครจะรู้ ไม่มีใครรู้ได้ กรรมที่เคยฟังธรรมนั้นก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นเป็นอะไรต่อจากชาตินั้นแต่ละหนึ่งชาติ เพราะฉะนั้นชาตินี้เป็นหนึ่งในแสนโกฏิกัปป์ ต่อไปข้างหน้าก็จะมีอีก ตราบใดที่มีเหตุที่จะให้เกิด ไม่มีใครสามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ สังสารวัฎฏ์ คือการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละขณะ เริ่มเข้าใจว่าสังสารวัฏฏ์คืออะไร ถ้าไม่มีจิตจะมีสังสารวัฏฏ์ไหม ไม่มี
เพราะฉะนั้นจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นความตายมี ๓ อย่าง ตายหมายความว่าไม่กลับมาอีก หรือจะกลับเป็นอย่างนั้นต่อไปอีกไม่ได้เลย ขณิกมรณะ มาจากคำว่าขณะ ทุกขณะที่จิตเกิดดับ ไม่กลับมาอีกเลย เหมือนตายไหม เป็นขณิกมรณะ และจากเกิดในชาติหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะจากโลกนี้ไปเป็นอะไรเมื่อไหร่ แต่ต้องมีการตายสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็เป็นสมมติมรณะ ที่เราสมมติกันว่าตาย แต่ว่าก็ยังมีการเกิด เพราะฉะนั้นคือตายจริงๆ หรือเปล่า ตายจริงแค่หนึ่งชาติ ก็เกิดดับสืบต่อ จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นสมุทเฉทมรณะ ไม่มีการที่จะต้องเกิด และตายต่อไป
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือ ธรรมเป็นธรรม จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก และจิต เจตสิกเกิดขึ้นก็ต้องทำกิจของตนของตน ตอนนี้เรารู้ ๒ กิจแล้วใช่ไหม
ผู้ฟัง อนันตรปัจจัยคือหน้าที่
ท่านอาจารย์ ทุกจิต แม้แต่จิตขณะนี้ก็กำลังเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด
ผู้ฟัง คือเรียกรวมทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด จิตเป็นสภาพธรรมซึ่งเมื่อดับแล้ว ปราศไปแล้ว ไม่เหลือแล้ว การปราศไป ดับไป นั่นแหละเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้จิตจะเกิดพร้อมกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย โดยความเป็นอนันตรปัจจัย ต้องทีละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้น จุติจิตไม่ใช่ปฏิสนธิจิต จิตทุกขณะไม่ใช่ซ้ำกันเลย ใหม่หมดแล้วก็ดับไปหมด ตายจริงๆ ทุกขณะ ถ้าไม่รู้อย่างนี้เราจะละความเป็นเราได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ หนึ่งกิจคือ จุติกิจ แล้วก็ ปฏิสนธิกิจ คือจิตซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่ง เราทำกรรมในชาตินี้ ตั้งแต่เล็กจนโตจนถึงวันนี้ มีทั้งกรรมที่เป็นอกุศลก็มี กุศลก็มี ฟังธรรมที่เข้าใจเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แต่รู้ไหมว่ากรรมนี้จะทำให้เกิด หรือว่ากรรมอื่นซึ่งเป็นอกุศลที่ได้ทำแล้วจะทำให้เกิด หรือไม่ใช่กรรมในชาตินี้ แต่กรรมในชาติก่อนโน้น ก็ยังสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด การกระทำซึ่งเป็นนามธรรมก็ต้องทำให้ผลคือนามธรรมซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นสืบต่อ แต่ว่าแม้จะห่างไกลกันมาก แรงกรรม อยู่ตรงนี้ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานได้เลย
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า จากจุติจิตหนึ่ง ก็เป็นปฏิสนธิกิจหนึ่ง หนึ่งขณะ คือจุติจิต ทำจุติกิจเพียงหนึ่งขณะ ไม่มีสองสามขณะเลย ฉันใด ปฏิสนธิจิตซึ่งทำปฏิสนธิกิจก็หนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นในชาตินี้มีปฏิสนธิจิตแล้ว ทำปฏิสนธิกิจแล้วแต่จุติกิจยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่าต้องเกิดแน่นอน เพราะฉะนั้นระหว่างที่ยังไม่มีจุติกิจ จิตที่เกิดสืบต่อก็ทำกิจอื่น ซึ่งไม่ใช่จุติ เพราะฉะนั้นจุติกิจหนึ่ง ปฏิสนธิกิจหนึ่ง ดับไหม จิตที่เกิดขณะแรก ดับ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเป็นวิบากจิต กรรมทำให้ผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น ถ้าเป็นอกุศลกรรม กรรมนั้นสามารถทำให้จิตและเจตสิกซึ่งเป็นผลเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่มีจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย ไม่ฉลาดใช่ไหม ฟังเขาบอกว่านี้หัวใจนะ ควักออกมาให้ดู สัตว์ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าเขาพูดว่าอะไรใช่ไหม เพราะขณะนั้นเป็นผลของกรรม ซึ่งไม่ทำให้โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ไม่มีเหตุใดๆ เลยเกิดร่วมด้วย เพราะแสดงให้เห็นว่า เมื่อกรรมคือเหตุมีแล้วสามารถทำให้จิตปฏิสนธิเกิดได้ตามประเภทของกรรมนั้นๆ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1081
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1082
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1083
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1084
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1085
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1086
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1087
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1088
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1089
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1090
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1091
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1092
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1093
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1094
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1095
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1096
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1097
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1098
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1099
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1120
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1140