ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1087
ตอนที่ ๑๐๘๗
สนทนาธรรม ที่ บ้านธัมมะ ลำพูน
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าเมื่อกรรมคือเหตุมีแล้ว สามารถทำให้จิตปฏิสนธิเกิดได้ตามประเภทของกรรมนั้นๆ ถ้าเป็นอกุศลกรรมให้ผล ทำให้จิตซึ่งเป็นผลชื่อว่า อกุศลวิบากจิต ซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้น และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เกิดเพราะกรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิกที่เกิดปฏิสนธิ เป็นผลของกรรมจึงเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นทั้งวิบากจิต และวิบากเจตสิก เกิดเป็นนก จะเป็นคนไม่ได้ เพราะปฏิสนธิจิตต่างกัน เป็นผลของกรรมต่างกัน เจตสิกซึ่งเป็นผล เป็นวิบากเจตสิก เกิดพร้อมจิตซึ่งเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นกรรมทำให้ทั้งจิต และเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมเกิดพร้อมกัน ใครทำได้ไหม ทำจิตได้ไหม ทำเจตสิกได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แต่กรรมเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิต และเจตสิกเกิด พร้อมกับรูป เพราะฉะนั้น รูปเป็นผลของกรรม แต่ไม่ใช้วิบาก เพราะวิบากต้องเป็นจิต เจตสิกเท่านั้น รูปไม่รู้อะไรเลย รูปชั่วตัวดำ รูปสวย ก็ไม่รู้อะไรทั้งหมด ตาสีฟ้า หรือตาสีเขียว หรือตาสีน้ำตาล หรือตาสีดำ กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ตาไม่รู้เลย เกิดเพราะกรรมก็ไม่รู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปเป็นสภาพซึ่งไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่วิบาก แต่เป็นผลได้ แต่ถ้าเป็นวิบากต้องเป็นสภาพรู้ แต่รู้สิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจเมื่อไหร่ เป็นผลของอกุศลเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้นจึงมีกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด ถ้าเกิดดี เป็นผลของกรรมที่ดี เพราะฉะนั้นวิบากจิต และเจตสิกที่เกิดเป็นกุศลวิบาก เมื่อได้ยินคำวิบาก ต้องเข้าใจทันทีว่าเป็นผล ถ้าพูดถึงกุศล และอกุศลก็เข้าใจทันทีว่าเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นพูดสั้นๆ ไม่ได้ เห็นเป็นอะไร เป็นกุศลได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เป็นวิบาก แต่ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศลวิบาก เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ไม่ดี เจตสิกที่เกิดก็เป็นวิบากเจตสิก เกิดขึ้นเพราะกรรมเดียวกัน ที่ทำให้จิตเห็นขณะนั้นเกิดพร้อมวิบากเจตสิก ซึ่งกรรมนั่นแหละทำให้เกิดทั้งจิต และเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก ปฏิสนธิจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ก็หลากหลายกันไปตามการสะสม ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ถ้าการฟังมีน้อยมาก ไม่ฟังให้เข้าใจขึ้น ปฏิสนธิจิตจะประกอบด้วยปัญญาไหม
ผู้ฟัง ไม่มีทาง
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของขณะที่รู้ว่าดี เป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรเข้าใจ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นเหตุหรือว่าจะเป็นผล กี่กิจแล้ว
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่เพิ่งฟังได้แค่จุติจิต ปฏิสนธิจิต แล้วก็มีคำว่าอนันตรปัจจัยทำกิจ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ๒ กิจแล้ว
ผู้ฟัง ๒ กิจ
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตดับไหม
ผู้ฟัง ดับ
ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดไหม
ผู้ฟัง แน่นอน
ท่านอาจารย์ ทำกิจอะไร ถ้าพูดถึงจิตต้องรู้เลยว่าทำกิจอะไร จะได้ไม่เป็นเรา ยิ่งรู้เท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นความไม่ใช่เราเท่านั้น เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต ทำปฏิสนธิกิจได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ใช่ไหม ต้องทำกิจอื่นแล้ว ทำภวังคกิจ เพราะว่าทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ กล่าวถึงอีกปัจจัยหนึ่งก็ได้ สมนันตรปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยให้จิตเกิดสืบต่อจริง แต่ต้องเป็นปัจจัยตามลำดับด้วยดี ทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตต้องเกิดต่อ จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย ถูกต้องไหม เป็นจิตแรกของชาตินี้ดับไปแล้ว จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้ เห็นทันทีไม่ได้ คิดทันทีไม่ได้ ได้ยินทันทีไม่ได้ รู้สิ่งที่กระทบทันทีไม่ได้ ต้องเป็นจิตซึ่งดำรงภพชาติ ทำภวังคกิจ ถ้าไม่มีจิตนี้ไม่มีชีวิต จบเลย ใช่ไหม แต่หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว ยังต้องอยู่ต่อไปใช่ไหม มีแค่ขณะเดียวได้หรือ แค่ปฏิสนธิซึ่งเกิดสืบต่อจากจุติ ไม่พอ ผลของกรรมยังมีอีกมากนักจนกว่าจะจากโลกนี้ไป ต้องรู้ว่าขณะไหนเป็นกรรม และขณะไหนเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมดับไปแล้ว กรรมนั้นยังให้ผล ทำให้จิตเกิดสืบต่อ ทำกิจดำรงภพชาติคือ ภวังคกิจ ขณะนั้นไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่กลิ่น ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นโลกนี้ปรากฏไหม
ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นหลับสนิท มีจิตซึ่งเกิดดับยังไม่ทำหน้าที่จุติ ขณะสุดท้ายที่จะพ้นความเป็นบุคคลนี้ ก็ต้องทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต มีอารมณ์เดียวกับจิตที่เกิดสืบต่อโดยเป็นผลของกรรมเดียวกัน กรรมอื่นจะมาสืบต่อไม่ได้ ต้องเป็นกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดนั่นแหละ แต่การให้ผลของกรรมเพียงขณะเดียวไม่พอ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ขณะใด ก็เป็นผลของกรรมที่ทำให้ยังคงเป็นบุคคลนี้อยู่ เพราะจิตจะต้องทำภวังคกิจ ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยินเมื่อไหร่ ก็ต้องทำภวังคกิจเมื่อนั้น เมื่อสักครู่นี้ก่อนมาฟัง มีใครไปพักผ่อนนอนหลับบ้างหรือเปล่า แต่ปรากฏไหม ลักษณะของภวังคจิต ถ้าไม่นานพอก็ไม่ปรากฏลักษณะของภวังค์ ใช่ไหม เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีภวังค์เกิดคั่นทุกวาระของเห็น เพราะเห็นมีสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นกระทบตา เป็นรูปธรรม มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
เพราะฉะนั้นรูป รูปหนึ่งดับช้ากว่าจิต จิตดับเร็วมากเหมือนมายากล ไม่มีใครรู้เลยว่าขณะนี้กี่วาระแล้ว เพราะเดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน คั่นอยู่ตลอดเวลา และยังมีภวังค์คั่นด้วย เพราะว่าทันทีที่วาระของจิตที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ จิตอื่นจะมาเกิดไม่ได้ นอกจากจิตที่มีรูป ๑๗ ขณะซึ่งยังไม่ดับ ทำกิจต่างๆ ระหว่างที่รูปนั้นยังไม่ดับ พอรูปนั้นดับ จิตก็ทำหน้าที่ที่จะมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ต่อไปไม่ได้ แต่ยังไม่ตาย จิตก็เกิดขึ้นทำภวังคกิจ ดำรงรักษาภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้
เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ถึงกระแสภวังค์ ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะภวังค์เท่าไหร่ กว่าจะรู้ว่ามีการเห็นเมื่อไหร่ การได้ยินเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นชีวิตดำเนินไปโดยการที่มีจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ สลับกับขณะที่เห็น ขณะนั้นไม่ใช่ภวังค์ พอเห็นสิ่งที่ปรากฏดับ ภวังค์เกิดสืบต่อทันที พอได้ยินเสียง ไม่ใช่ภวังค์ เพราะฉะนั้นพอเสียงดับ จิตก็เป็นภวังค์ดำรงภพชาติให้รู้สิ่งอื่นต่อไป จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แม้ไม่เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้น จิตที่รับรู้อารมณ์นั้นต่อจากแต่ละทาง ก็สามารถจำ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ให้มีการตรึกนึกคิดถึงสิ่งนั้นโดยบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครอยากจำ ไม่มีใครอยากคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีใช่ไหม แต่เกิดแล้ว คิดแล้ว คิดไม่ดีด้วย ช่วยไม่ได้เลย เพราะเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ในบรรดาสิ่งที่เกิดทั้งหมด ปัญญาประเสริฐสุด เพราะสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีทุกอย่าง จิตเป็นสภาพที่รู้ได้ทุกอย่าง ปัญญาก็สามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่ปัญญา จิตเป็นแต่เพียงธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์ เพียงแค่เห็น แต่ปัญญาเป็นสภาพที่เห็นถูก เข้าใจถูก สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเห็นแล้วไม่รู้ ก็คือเห็นแล้วปัญญาไม่เกิด แต่เห็นแล้วรู้ เพราะปัญญาเกิด จึงสามารถรู้เห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ ไม่ใช่เรา ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ จากการที่อยู่ในโลก ในสังสารวัฎฏ์มาด้วยความไม่รู้ แต่เมื่อได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีเรา แต่มีความเห็นถูก ซึ่งเป็นปัญญาเจตสิกเกิด เพราะเข้าใจเมื่อไหร่ ไม่ใช่เรา เป็นปัญญาเจตสิกที่เกิดขึ้นเข้าใจ เพราะฉะนั้นเห็นไหมว่ากี่กิจแล้ว
ผู้ฟัง จุติจิตก่อน แล้วก็ปฏิสนธิ แล้วก็มาถึงอนันตรปัจจัย
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ มาถึง ทุกขณะจิตเป็นอนันตรปัจจัย
ผู้ฟัง อาจจะเป็นภาษาพูด
ท่านอาจารย์ ภาษาพูดก็มาถึงได้อย่างไร จุติจิตเป็นอนันตรปัจจัยหรือเปล่า ต้องเป็น เพราะทันทีที่ดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ ปฏิสนธิจิตเป็นอนันตรปัจจัยหรือเปล่า ต้องเป็น เพราะทันทีที่ดับต้องมีจิตอื่นเกิดสืบต่อ ภวังคจิตต้องเกิดสืบต่อ
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กำลังอธิบาย คือหมายถึงการเกิดร่วมกันตั้งแต่จุติมาแล้วก็มาปฏิสนธิ
ท่านอาจารย์ กล่าวถึงธรรมซึ่งมีจริง ซึ่งเป็นธรรม ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่มี และก็ปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น
ผู้ฟัง อาจจะพยายามมากเกินไปที่อยากจะจำ ตรงคำว่า อนันตรปัจจัย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมที่ไม่เข้าใจ หรือว่าการฟังธรรมที่เข้าใจนิดหน่อย หรือการฟังธรรมที่เข้าใจได้มาก ก็ตามปัจจัยใช่ไหม ถ้าฟังด้วยความเป็นเราจะเข้าใจ คิดดูก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นฟังเพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจ
ท่านอาจารย์ เพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นเราจะได้ไม่มีโลภะ เพื่อเราจะได้ดี เพื่อเราจะได้เข้าใจมากขึ้น เพื่อเราจะได้ละกิเลสไป นั้นคือความเป็นเรา
ผู้ฟัง มีเหตุปัจจัยที่ทำให้อยากรู้เพิ่มขึ้น เพราะได้ยินมาหลายคำ
ท่านอาจารย์ ความอยากมีจริงไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม เป็นอนันตรปัจจัยหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเลยที่เกิด และดับเป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็จะได้ยินคำว่า ปัจจัย แต่เราไม่ต้องไปท่อง ๒๔ ปัจจัย แต่สามารถที่จะเข้าใจจากการที่ได้ฟังถูกต้องชัดเจนว่า อนันตรปัจจัยคืออะไร รูปเกิด และดับไป เป็นอนันตรปัจจัยหรือเปล่า
ผู้ฟัง คือยังไม่เข้าใจจริงๆ
ท่านอาจารย์ ทุกรูปที่จะเกิดขึ้นหลากหลายมาก บางรูปเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย บางรูปเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัย บางรูปเกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นปัจจัย บางรูปเกิดเพราะอาหารที่บริโภคเป็นปัจจัย นอกจากนั้นรูปจะเกิดไม่ได้ เพราะต้องเกิดจากสมุฏฐานธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป ไม่ใช่เพราะอนันตรปัจจัย แต่เพราะสมุฏฐานที่ทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น ฟังเพื่อรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่แค่กราบไหว้ มีพระพุทธรูปแต่ไม่รู้ว่าความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ถ้ามีพระปัญญาคุณ ถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังแต่ละคำ ซึ่งผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะทรงพระมหากรุณา สะสมปัญญาที่เป็นเลิศกว่าโพธิสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมพร้อมด้วยปัญญา ที่จะแสดงสิ่งที่มีจริงโดยนัยหลากหลาย โดยประการทั้งปวงถึง ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้น คำที่เราได้ยินแต่ละคำมาจากพระมหากรุณาคุณ ซึ่งรู้ว่าถ้าไม่ตรัสไว้โดยละเอียดยิ่ง ก็ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนได้ แม้ในขั้นการฟัง ไปคิดเองก็ผิดแล้ว เพราะฉะนั้นรู้เลยใครที่ฟังแล้วคิดเอง ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเขาไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง จิตทำหน้าที่ได้ทีละหนึ่งกิจ หรือว่าได้หลายกิจ
ท่านอาจารย์ จิตหนึ่งทำกิจหนึ่ง ไม่ใช่ทำสองกิจ แต่กิจหนึ่ง จิตกี่ประเภททำกิจนั้นได้ เช่นปฏิสนธิจิตทำปฏิสนธิกิจ อกุศลวิบากก็ทำได้ เกิดเป็นนก เป็นหนู เป็นปู เป็นปลา เกิดเป็นคนก็กุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้นกิจหนึ่ง แล้วแต่ว่าจิตใดบ้างที่ทำกิจนี้ ไม่ใช่จิตเดียว แต่จิตหนึ่งขณะที่เกิดขึ้นจะทำสองกิจไม่ได้ จิตเกิดขึ้นหนึ่ง ก็ต้องทำกิจหนึ่งของจิตนั้นในขณะนั้น ตอนนี้รู้จักกี่กิจแล้ว จุติ ปฏิสนธิ ภวังค์ เพราะฉะนั้นจุติ กับปฏิสนธิข้ามภพชาติใช่ไหม จิตที่ทำกิจจุติจะไปทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ใช่ไหม จิตที่ทำจุติกิจ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แล้วก็ดับไป ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรมดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่มีแต่เพียงจิตเดียว แต่วิบากจิตคือผลของกรรม แล้วแต่ว่ากรรมอะไรเป็นวิบากของกรรมนั้นก็ทำปฏิสนธิ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม กุศลวิบากไม่ใช่อกุศลวิบากแล้ว เห็นไหมว่าการที่จิตจะทำกิจหนึ่งๆ จิตไหนทำกิจอะไร และจิตทำที่กิจนั้นมีจิตกี่ประเภทที่ทำกิจนั้นได้ เพราะฉะนั้น จุติกิจ มีจิตอะไรที่ทำกิจนี้ได้
ผู้ฟัง วิบาก
ท่านอาจารย์ วิบาก ถ้าเกิดมาเป็นอกุศลวิบากทำปฏิสนธิ ก็อกุศลวิบากประเภทนั้นแหละทำจุติกิจ คนเกิดคนตาย นกเกิดนกตาย ไก่เกิดไก่ตาย เทวดาเกิดเทวดาตาย เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นอย่างไร ภวังคจิต ก็เป็นจิตประเภทเดียวกับที่ทำกิจปฏิสนธิ แต่ไม่ใช่ขณะนั้นมากลับมาทำ แต่ว่าเป็นผลของการที่ทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมนั้นแหละเกิดต่อไปอีก แต่ทำกิจต่างกัน คือขณะแรกทำปฏิสนธิกิจ ขณะต่อไปทำภวังคกิจ ระหว่างที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกระแสของภวังค์ เราไม่รู้ว่าขณะนี้มีภวังค์เกิดคั่นมากเท่าไหร่ ระหว่างเห็นขณะหนึ่งดับไปแล้ว มีจิตที่เกิดได้ยินทันทีไม่ได้ ต้องมีภวังคจิตเกิดต่อทันทีดำรงภพชาติก่อนจะเห็น เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็เกิดคั่นทุกวาระของการเห็น จะจิตกี่ประเภทก็ตามที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นดับไป ภวังคจิตก็เกิดต่อเป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรมเดียวกัน ดำรงความเป็นบุคคลนั้น ก่อนหลับเป็นคนนี้ไหม หลับไปเป็นใคร
ผู้ฟัง เป็นจิต
ท่านอาจารย์ ก็เป็นคนนี้ เป็นจิตประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิ พอตื่นขึ้นมา ตื่นแล้ว ไม่ได้ทำภวังคกิจแล้วจึงใช้คำว่า ตื่น เริ่มมีกิจอื่นนอกจากภวังคกิจแล้วใช่ไหม เพราะว่าตอนต้นทีเดียวก็มีปฏิสนธิกิจ แล้วก็มีภวังคกิจ แต่พอไม่ใช่ภวังค์แล้วก็ต้องเป็นกิจอื่นแล้ว เพราะฉะนั้นรู้จักกิจอื่นด้วยใช่ไหม อะไรบ้าง
ผู้ฟัง ก็มีทัสสนกิจ
ท่านอาจารย์ ทัสสนกิจ ภาษาไทยคืออะไร
ผู้ฟัง กิจเห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นผลของกรรม กรรมให้ผลไม่ใช่แค่เกิดแล้วก็ดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ แต่ก่อนที่จะถึงจุติ กรรมก็ยังให้ผล คือถึงวาระที่จะเห็น ต้องเห็น ถึงวาระที่กรรมจะให้ผลต้องได้ยิน ได้ยินจึงเกิดได้ ถึงวาระที่กรรมจะให้ผลให้รู้กลิ่น จิตรู้กลิ่นก็เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม แล้วถึงวาระที่จะลิ้มรสรู้รส ก็เป็นผลของกรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดจากกรรมอื่นก็ได้ หรือกรรมเดียวกับกรรมที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนั้นก็ได้ ใครรู้ ถ้าไม่มีกรรมอื่นเลย ผลของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นกุศลกรรมใช่ไหม ที่ทำให้กุศลวิบากเกิดขึ้นก็ต้องเป็นกุศลวิบากเรื่อยไป แต่กรรมอื่นซึ่งไม่ใช่กรรมที่ทำให้เกิดก็มีโอกาสให้ผล ไม่ให้ผลปฏิสนธิ ก็ให้ผลหลังปฏิสนธิแล้ว เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้ว สุขบ้าง ทุกข์บ้าง แล้วแต่กรรมใดให้ผล ถ้าขณะที่เป็นสุขก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าขณะเป็นทุกข์ได้เห็น ได้ยินสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นผลของอกุศลกรรม
เพราะฉะนั้นกรรมใดๆ ที่ทำแล้ว ไม่มีใครจัดสรรว่าให้เกิดขณะนั้น ขณะนี้ แต่ว่ามีปัจจัยที่กรรมนั้นถึงเวลาจะเกิด ใครก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ละหนึ่งๆ เป็นหนึ่งขณะ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย ฟังเพื่อที่จะรู้ว่าไม่มีเราที่จะไปบังคับบัญชาอะไรได้ทั้งสิ้น เป็นแต่ธรรมที่มีลักษณะหลากหลายที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามกิจหน้าที่ ตามประเภทของธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นนอกจากจิตที่ทำปฏิสนธิกิจหนึ่ง ภวังคกิจหนึ่ง ก็ยังมีกิจเห็น กิจได้ยิน กิจได้กลิ่น กิจลิ้มรส กิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กี่กิจแล้ว
ผู้ฟัง ๕ กิจ
ท่านอาจารย์ ทางตาหนึ่ง หูหนึ่ง จมูกหนึ่ง ลิ้นหนึ่ง กายหนึ่ง แล้วก็ปฏิสนธิอีกหนึ่งเป็น ๖ ภวังค์อีกหนึ่งเป็น ๗ จุติอีกหนึ่งเป็น ๘ เหลืออีกกี่กิจ
ผู้ฟัง อีก ๖
ท่านอาจารย์ เหลืออีก ๖ กิจเเค่นั้น รู้มามาก ก็เหลืออีกนิดเดียวใช่ไหม ถ้าฟังจริงๆ ค่อยๆ เข้าใจไปก็ครบถ้วนเลยถ้าเราไม่ใจร้อน เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าที่มีการเห็น การได้ยินพวกนี้ ล้วนเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ตามประเภทของตน ซึ่งไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นได้ นอกจากกรรมเป็นเหตุให้วิบากเป็นผลเกิดขึ้น ต่อไปจะกล่าวถึงกิจอื่นนอกจาก ๘ กิจ หลับสนิทจิตเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นภวังค์
ท่านอาจารย์ จิตเป็นภวังค์ มีอารมณ์ไหม
ผู้ฟัง มีอารมณ์ของชาติที่แล้ว
ท่านอาจารย์ มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ คืออารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของจิตใกล้จุติของชาติก่อน โลกนี้จึงไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นพอได้ยินเสียง นี่คือเสียงของโลกนี้แล้ว แต่ว่าขณะที่เสียงเกิด ขณะแรกที่เสียงเกิด เพราะเสียงนี้จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นขณะที่เสียงเกิดขณะแรก จิตยังไม่ได้ยิน เพราะต้องมีโสตปสาท ซึ่งเกิดจากกรรม โสตปสาทรูปที่สามารถกระทบเสียง เกิดดับหรือเปล่า เกิดดับตลอดเวลา ต้องเป็นขณะที่โสตปสาทเกิดแล้วยังไม่ดับ กระทบกับเสียงที่เกิด จิตได้ยินยังไม่เกิด เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้นกว่าที่จะได้ยินเสียงนั้น ภวังค์ต้องเป็นอตีตภวังค์ จะได้ยินทันทีไม่ได้ แล้วหลังจากนั้นก็เป็นภวังคจลนะ เพราะผัสสเจตสิกเกิดกับจิตขณะนั้น แม้ยังเป็นภวังค์ แต่เพราะเสียงที่กระทบก็ทำให้ภวังค์นั้นเริ่มที่จะหยุด ไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป เป็นขณะที่สองภวังคจลนะดับไป ภวังค์อีกหนึ่งขณะเกิดขึ้นเป็นภวังคุปัจเฉทะ หมายความสิ้นกระแสของภวังค์ ถ้าจิตเกิดขึ้นทำกิจนี้เมื่อไหร่ จิตขณะต่อไปเป็นภวังค์ไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิต เป็นจิตที่เริ่มรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้ยิน เพียงแต่เริ่มรู้ว่ามีเสียงที่กระทบโสตปสาท เพราะฉะนั้นจิตที่รู้ เป็นอารมณ์ เป็นวาระแรก เป็นวิถีจิตแรก ชื่อว่าอาวัชชนะ เป็นภาษาบาลี คำแปลว่าอะไร
อ.คำปั่น รำพึงถึง
ท่านอาจารย์ โดยศัพท์ แต่คนไทยถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่มีทางจะรู้จักอาวัชชนะจิต เพราะเหตุว่ารำพึงคือต้องยาว จะคิดอะไร รำพึงถึงอะไร ไม่ใช่ขณะสั้นๆ เลยใช่ไหม รำพึงอยู่นั่นแล้วใช่ไหม เราก็คิดว่าอย่างนั้น แต่ตามความจริงก็คือว่า จิตนี้เป็นจิตขณะแรกที่ไม่ใช่ภวังค์ เพราะทำหน้าที่รู้อารมณ์ที่กระทบทวาร ถ้าเป็นทางตา ยังไม่เห็น ถ้าเป็นทางหู ยังไม่ได้ยิน ถ้าเป็นทางจมูก ยังไม่ได้กลิ่น แต่เพียงรู้ว่ามีอะไรกระทบที่ทวาร เหมือนเราอยู่ในบ้านแล้วมีแขกอยู่ที่หน้าประตู แค่รู้ว่ามีแขกมา ยังไม่รู้เลยว่าใคร เพราะยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้นจิตนี้ทำอาวัชชนะกิจได้ทุกทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทวาร จึงชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตเดียว แต่สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบแต่ละทวารได้ แต่ต้องเป็นขณะเดียว ดับแล้วไม่กลับมาอีก ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นจิตทำกิจอะไรก็ตาม แค่เกิดขึ้นทำกิจนั้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เดี๋ยวนี้มีปัญจทวาราวัชชนะไหม ใช้คำว่าอาวัชชนะก็ได้ แต่ถ้ารวม ๕ ก็ใช้ปัญจะ เป็นปัญจทวาราวัชชนะ ถ้าพูดเเค่หนึ่งก็ได้ เป็นจักขุทวาราวัชชนะ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1081
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1082
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1083
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1084
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1085
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1086
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1087
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1088
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1089
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1090
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1091
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1092
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1093
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1094
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1095
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1096
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1097
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1098
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1099
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1100
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1101
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1102
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1103
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1104
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1105
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1106
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1107
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1108
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1109
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1110
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1111
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1112
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1113
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1114
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1115
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1116
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1117
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1118
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1119
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1120
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1140