ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1088


    ตอนที่ ๑๐๘๘

    สนทนาธรรม ที่ บ้านธัมมะ ลำพูน

    วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีปัญจทวาราวัชชนะไหม ใช้คำว่าอาวัชชนะก็ได้ แต่ถ้ารวม ๕ ก็ใช้ปัญจะ เป็นปัญจทวาราวัชชนะ ถ้าพูดหนึ่งก็ได้ จักขุทวาราวัชชนะเฉพาะทางตา โสตทวาราวัชชนะเฉพาะทางหู ถ้าไม่บ่งว่าทางทวารไหน ก็รวมเป็นจิตนี้ที่สามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร แต่ทีละหนึ่ง และจิตหนึ่งที่เกิด และดับไป ถ้าจะกระทบใหม่ ภวังค์สิ้นสุดเมื่อไหร่ จิตนี้เกิดเมื่อไหร่ก็เป็นจิตที่ทำกิจนี้ แต่เป็นจิตใหม่ ไม่ใช่จิตเก่าที่เกิดแล้วดับแล้ว ทุกขณะไม่มีซ้ำกันเลย

    เพราะฉะนั้นขณะที่ได้ยิน รู้เลย ก่อนที่เสียงจะปรากฏกับจิตที่ได้ยินเสียง ต้องมีจิตที่เกิดก่อนเป็นวิถีจิตแรก คำว่าวิถี หมายความว่าจิตที่รู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต มีอารมณ์เดียวกันที่ไม่ปรากฏ ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะต้องเป็นอารมณ์ของโลกก่อน ซึ่งปฏิสนธิจิตรับสืบต่อมาจากใกล้จะจุติ เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังเห็นใช่ไหม ก่อนเห็นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อาวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นอาวัชชนจิต จิตที่เกิดขึ้นรู้ รำพึงถึงอารมณ์ที่ปรากฏ ก่อนที่ปัญจทวาราวัชชนะจะเกิด มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มีภวังค์

    ท่านอาจารย์ มีภวังคจิต เป็นความเป็นไป ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ แต่ให้รู้ว่าทั้งหมดเป็นอภิธรรม เพราะเหตุว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง มากมายหลายอย่าง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นธาตุ ธา ตุ แต่ละหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตน ของตน ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นจากคำว่าธรรมก็ปรากฏอีกคำหนึ่งว่า ธาตุ หรือธา ตุ และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เป็นปรมัตถธรรม เป็นความจริงถึงที่สุดว่าใครก็เปลี่ยนไม่ได้ และเป็นอภิธรรมเพราะละเอียดยิ่งลึกซึ้งอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จะมีคนบอกว่าเขาฟังธรรม แต่เขาไม่ศึกษาพระอภิธรรมได้ไหม ไม่ได้ เพราะธรรมทั้งหมดเป็น ปรมัตถธรรม และเป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมจริงๆ หรือเปล่า ถ้าฟังจริงเข้าใจจริงก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรมนั่นเอง หมายความว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่เป็นสิ่งที่เพียงมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจากภวังค์จะเห็นทันทีไม่ได้ ต้องเป็นอาวัชชนะทางหนึ่งทางใด ทางตาก็เป็นจักขุทวาราวัชชนะ ทางหูก็โสตทวาราวัชชนะ แต่เป็นจิตประเภทเดียวกัน ทำกิจได้กี่กิจ

    ผู้ฟัง กิจเดียว

    ท่านอาจารย์ กิจเดียว คืออาวัชชนกิจ นี่คือการฟังธรรม ไตร่ตรองจนกระทั่งไม่ผิดเลย เมื่อนั้นก็คือไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ ต้องไปเปิดหนังสือไหม แต่ว่าถ้าเข้าใจพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ใช้หนังสืออะไรเลยทั้งสิ้น ไม่มีหนังสือในครั้งนั้น แต่ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น ว่าก่อนที่จะเห็นต้องมีวิถีจิตแรกที่รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ แต่ยังไม่เห็น รู้ว่าอารมณ์กระทบหู แต่ยังไม่ได้ยิน จิตนั้นเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ ด้วยเหตุนี้ก่อนเห็นต้องมีอาวัชชนกิจ แล้วต่อจากนั้นก็คือทัสสนกิจ พูดแล้วใช่ไหม ๑ ใน ๕ กิจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าเป็นทางหูก็ไม่ใช่เห็น แต่สวนะได้ยินเสียง อารมณ์ต่างกัน ไม่มีใครได้ยินสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะกระทบหูไม่ได้ ใช่ไหม แล้วขณะที่เสียงไม่ปรากฏใครจะไปได้ยินเสียงก็ไม่ได้ หลังจากที่จิตเห็นดับ มีจิตอื่นเกิดต่อไหม

    เพราะฉะนั้น จิตเห็นเป็นอนันตรปัจจัยใช่ไหม ที่จะให้จิตอื่นเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น แต่จิตนั้นทำกิจอะไร ความละเอียดยิบอย่างยิ่งของแต่ละขณะจิตจึงเหลือเชื่อ เพราะว่าเร็วสุดที่จะประมาณได้ นับไม่ถ้วนแล้ว เมื่อเห็นเป็นคน ก็ตั้งแต่ เห็นผม เห็นจมูก เห็นอะไรหมด เห็นนิมิตสัณฐานต่างๆ ยังรู้ว่าแต่ละคนไม่เหมือนกันอีก ใช่ไหม อย่าไปคิดประมาณการเกิดดับของจิตว่าเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้นจึงลวงเหมือนมายากล เหมือนกับว่ายังมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เที่ยงถาวร แต่ความจริงหารู้ไม่ว่าทุกอย่างที่เกิดแตกดับทันทีเร็วมากสืบต่อ ปิดบังการที่สิ่งนั้นดับไปแล้ว เหมือนว่าสิ่งนั้นยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นฉลาดไหมที่จะติดข้องในสิ่งที่ไม่มี เพราะจากไม่มีเลยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไม่มีเหลือเลย กว่าจะรู้ว่าฉลาดหรือไม่ฉลาดแค่ไหน ก็ต่อเมื่อได้มีความเห็นถูกต้องเกิดขึ้น จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าไม่รู้มานานแสนนาน เป็นปุถุชนหนาด้วยกิเลส คือความไม่รู้ซึ่งนำมาซึ่งกิเลสอื่น เพราะฉะนั้นจะดับกิเลสจึงไม่ง่าย ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มเข้าใจตั้งแต่การฟัง เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมที่สามารถเข้าใจยิ่งขึ้นกว่านี้เกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเห็นดับ โลภะเกิดทันทีไม่ได้ แต่ต้องมีจิตซึ่งรับรู้ต่อจากจิตเห็น รูปยังไม่ดับเลย รูปมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิต เกิดพร้อมภวังค์ ซึ่งเราใช้คำว่าอตีตภวังค์ เป็นเครื่องกำหนดให้รู้ว่ารูปนั้นเกิดเมื่อไหร่ และจะอยู่ต่อไปอีก ๑๗ ขณะ รูปนั้นจึงจะดับ เพราะฉะนั้นกำหนดหมายเอาที่เกิด คือที่กระทบภวังค์เป็นอตีตภวังค์หนึ่งขณะ แล้วก็เป็นภวังคจลนะหนึ่งขณะ แล้วก็เป็นภวังคุปัจเฉทะหนึ่งขณะ เป็น ๓ ขณะ ซึ่งรูปยังไม่ได้ปรากฏ และก็อาวัชชนะอีกหนึ่งขณะ รู้ว่ามี แต่ว่ายังไม่ได้ทำทัสสนกิจ ทำอาวัชชนกิจ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำทัสสนกิจคือจิตเห็นดับแล้ว จิตที่เกิดต่อรับรู้อารมณ์ต่อจากจิตเห็น โดยไม่เห็น ไม่ได้ทำทัสสนกิจเลย แต่เหมือนเห็นตลอดเวลา ปิดบังแล้วใช่ไหม แต่ว่าทำไมทรงแสดงกิจของจิต เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น สัตว์โลกหลงไม่รู้เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับ ไม่ได้บอกใครว่าฉันเกิดแล้วไม่ใช่คนนั้นคนนี้ใช่ไหม แต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นทันทีที่เห็น จักขุวิญญาณทำทัสสนกิจดับ หรือว่าโสตวิญญาณทำสวนกิจ จิตได้ยินดับ จิตที่เกิดต่อ ๕ ทวาร คือจิตที่รับรู้อารมณ์นั้นต่อด้วยดี ไม่เกิดไม่ได้ ใช่ไหม ต้องเกิด ใครบังคับ ปัจจัยที่เป็นไปตามลำดับ อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย จิตที่ดับไปแล้วคือจักขุวิญญาณ โลภะเกิดต่อทันทีไม่ได้ เพราะว่าปัจจัยของจิตเห็นคือ อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ทันทีที่เห็นดับเป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดต่อรู้ตามจิตเห็น คือมีอารมณ์เดียวกันเพียงแต่ไม่เห็น แต่รับรู้ต่อ นี่คืออภิธรรม เกิดด้วยกัน ทวารเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ทำกิจต่างกัน เพราะเหตุว่าเป็นจิตต่างประเภท แต่เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นกรรมทำให้จิตเห็นเกิด แล้วทำให้สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจิตเห็นด้วย หนึ่งขณะ คิดดูใครจะรู้สัมปฏิจฉันนะ เห็นก็พอรู้ได้ แต่ไม่รู้ว่าเห็นจริงหรือเปล่า หรือสัมปฏิจฉันนะ หรือปัญจทวาราวัชชนะ หรืออะไร เพราะว่าไม่มีการรู้การเกิดดับในขณะนี้เลย ซึ่งจะต้องมีจิตเหล่านี้ด้วย แต่เหมือนเห็นตลอดเวลา เพราะจิตอื่นรู้อารมณ์เดียวกันเพียงแต่ว่าไม่ได้ทำทัสสนกิจ เพราะฉะนั้นทัสสนกิจจริงๆ คือเห็นสิ่งที่ปรากฏ เห็นจริงๆ แต่ขณะที่ไม่ได้ทำกิจเห็นจริงๆ ก็ทำกิจรับรู้ต่อโดยไม่เห็น แต่ทำกิจรู้อารมณ์เดียวกัน เหมือนปัญจทวาราวัชชนะรู้ว่ามีอารมณ์กระทบตา แต่ไม่เห็น เพราะเพิ่งจะเกิดขึ้นรำพึงถึง หรือเพียงแค่รู้สึกตัวว่ามีอารมณ์กระทบทางทวารนั้น เพราะฉะนั้นจิตเห็นเกิดต่อจากปัญจทวาราวัชชนะหรือจักขุทวาราวัชชนะก็ตามแต่ หนึ่งขณะ แล้วดับ จิตต่อไป สัมปฏิจฉันนะรู้ต่อ ไม่เห็น สัมปฏิจฉันนะดับ มีจิตอื่นเกิดต่อไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ โลภะใช่ไหม ไม่ใช่ ตามอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย อนันตรปัจจัยคือต้องมีสภาพธรรมเกิดสืบต่อทันที เพราะยังมีปัจจัยที่จะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นไปตามลำดับ คือสมนันตรปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้นหลังจากสัมปฏิจฉันนะซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้สันตีรณจิตรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ยังไม่เป็นกุศล ยังไม่เป็นอกุศล นี่คือไม่ใช่เราทั้งหมด ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ใครจะรู้ ไม่มีทางจะรู้เลย แสดงโดยประเภทเป็นจิตประเภทไหน ชาติอะไร แล้วก็ทำกิจอะไรแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นสันตีรณะก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ไม่ได้ทำแค่จิตเห็นเกิดขึ้น แต่ต้องทำให้ทั้งจิตเห็นเกิด และจิตเห็นดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้จิตที่รับรู้เกิดสืบต่อ สัมปฏิจฉันนะดับไปแล้วก็ยังทำให้สันตีรณะซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกันเกิดต่อ แต่ทำหน้าที่ต่างกัน คือทำหน้าที่รับไว้ยังไม่ทันจะรู้อะไรเท่าไหร่ แต่สันตีรณะจากที่รับแล้วก็รู้เพิ่มขึ้นเป็นสันตีรณะ ยังไม่เป็นกุศลและอกุศล สันตีรณะดับ จิตไม่เกิดต่อได้ไหม ไม่ได้ เพราะสันตีรณะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้จิตที่เกิดต่อทำโวฏฐัพพนกิจ ที่จะเป็นทางที่จะให้กุศล หรืออกุศลที่สะสมมาแล้วเกิดได้ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะไปจัดการอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงกระทำทางให้กุศลและอกุศลที่เกิดสามารถที่จะเกิดได้ต่อจากนั้น

    ถ้าสะสมความโกรธไว้มาก ไม่ให้โกรธเกิดได้ไหม เพราะเป็นปัจจัยที่ถึงเวลาที่จะไม่ชอบที่จะโกรธก็ต้องเกิด ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนะซึ่งเกิดก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเกิดก็ไม่รู้ จักขุวิญญาณเกิด รู้ว่าเห็น แต่ว่าขณะนั้นจะเป็นปัญจทวาราวัชชนะ หรือจะเป็นสัมปฏิจฉันนะ หรือจะเป็นสันตีรณะ หรือจะเป็นโวฏฐัพพนะ ไม่รู้เลย เพราะว่าจิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจแต่ละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นสำหรับโลภะเกิด รู้ใช่ไหม ชอบ เพราะจิตที่ประกอบด้วยเหตุคือโลภเจตสิกเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ มากกว่าจิตอื่นแล้ว เพราะฉะนั้นอาการของความติดข้องพอใจจึงปรากฏ อาการของความไม่ชอบใจจึงปรากฏ เพราะว่าจิตประเภทเดียวกันเกิดทำชวนกิจ เพราะว่ากิจอื่นไม่มีแล้ว จิตอื่นทำหมดแล้ว ก็เหลือแต่กุศล หรืออกุศลสำหรับคนที่ยังเป็นปุถุชน และผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ พระโสดาบันก็มีกุศล อกุศลตามที่สะสมมา แต่ละขณะตามวาระซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ มีพระอรหันต์เท่านั้นที่ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้นมีแต่เจตสิกฝ่ายดีจึงเป็นโสภณเจตสิก ซึ่งไม่ใช่กุศลซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผลคือวิบาก ด้วยเหตุนี้ โสภณจิตสำหรับพระอรหันต์จึงเป็นกิริยาจิต โสภณกริยา เพียงเกิดขึ้นทำกิจการงานจนจะถึงวาระที่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ จะตายเมื่อไหร่ก็คือสิ้นสุด ไม่มีอะไรเกิดสืบต่อได้อีกเลย คืออภิธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดเป็นอภิธรรมหรือเปล่า ลึกซึ้ง รู้ไม่ได้ แต่ว่าต้องเข้าใจโดยการฟังและไตร่ตรอง กี่กิจแล้ว

    ผู้ฟัง ๑๓

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเหลืออีกหนึ่ง เพราะเรานับปฏิสนธิ ภวังค์ จุติแล้วใช่ไหม เหลืออีกหนึ่ง ไม่มีใครรู้ เพราะว่าชวนะเกิด ๗ ขณะ แต่รูปมีอายุตั้ง ๑๗ ขณะจิต ถ้ารูปนั้นยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้กรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น รับรู้รูปซึ่งรับมาจนชิน เพราะเหตุว่าเป็นกามที่น่าใคร่ ที่น่าพอใจ ที่ติดข้องมานานแสนนาน ด้วยเหตุนี้ขณะที่จิตรู้รูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส ชวนะเกิดแล้ว ๗ ขณะ รูปยังไม่ดับ กรรมก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับรู้ต่อ ทำหน้าที่ตทาลัมพณะคือ ตัง รู้อารมณ์นั้นเอง ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น เพียงแค่อารมณ์ยังเหลืออยู่ก็เป็นปัจจัยให้กรรมทำให้วิบากจิต ซึ่งติดข้องในกาม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น รส โผฏฐัพพะ รู้อารมณ์นั้นต่อ เพราะฉะนั้นอารมณ์ใดที่เป็นกามารมณ์มีตทาลัมพณะเมื่อรูปนั้นยังไม่ดับ แต่ถ้ารูปดับไปก่อน หลังจากที่ชวนะจิต ๗ ขณะดับไปแล้ว ตทาลัมพณะก็เกิดไม่ได้ นี่คือที่ว่าเป็นเรา ความจริงคือจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ถ้าทางใจก็ต่างกันเพราะรูปไม่ได้มากระทบจริงๆ ไม่ได้เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่คิดนึกถึงสิ่งที่เห็น ถึงสิ่งที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นมโนทวารวิถี จิตที่อาศัยใจรับรู้อารมณ์ต้องต่างกับปัญจทวารวิถี เพราะเหตุว่าปัญจทวารวิถีต้องมีรูปจริงๆ ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะกระทบ ทำให้วิถีจิตเกิดมากหลายวิถี ใช่ไหม กี่วิถี การศึกษาธรรมจะไตร่ตรองได้ คิดได้เมื่อเข้าใจ บางคนบอกว่าไม่คิดก็ได้ ก็ไม่คิด ก็ไม่เป็นไร แต่เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วคิดก็ได้ นับก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นวิถีจิตทางตามีกี่วิถี แต่ละหนึ่งขณะเป็นวิถีหนึ่งๆ เพราะเป็นจิตต่างประเภทกัน เพราะฉะนั้นวาระหนึ่งซึ่งมีการเห็น มีวิถีจิต ไม่ใช่ภวังค์แล้วใช่ไหม จิตที่ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมดเพราะอาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงมีจักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี และมโนทวารวิถี ก็ต้องเป็นการรู้อารมณ์ทางใจ แต่เฉพาะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีกี่กิจ

    ผู้ฟัง อาวัชชนะ

    ท่านอาจารย์ อาวัชชนกิจเป็นกิจแรก จิตหนึ่งขณะซึ่งสามารถรู้ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ ปัญจทวาราวัชชนจิต เรียกว่าปัญจะ เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ แต่เกิดทีละหนึ่ง แต่จิตนั้นเองสามารถเกิดก่อนจิตเห็นก็ได้ เกิดก่อนจิตได้ยินก็ได้ เกิดก่อนจิตได้กลิ่นก็ได้ ทั้ง ๕ ทางต้องมีจิตนี้เกิดก่อน เป็นอาวัชชนะ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน หนึ่งกิจแล้วคืออาวัชชนะกิจ แล้วก็กิจต่อไปถ้าเป็นทางตา ทัสสนกิจ แล้วต่อจากนั้นสัมปฏิจฉันนกิจ ต่อจากนั้นสันตีรณกิจ ต่อจากนั้นโวฎฐัพพนกิจ ต่อจากนั้น ชวนกิจ ถ้าอารมณ์ยังไม่ดับก็มีตทาลัมพณกิจอีกหนึ่ง เต็มที่คือ ๗ วิถีจิต แต่ถ้าอารมณ์ดับไปวามจริงคือก่อน หลังจากที่ชวนจิตดับแล้วอารมณ์ดับ ก็ไม่มีตทาลัมพณะ ก็เว้นไป ตามเหตุตามผล แล้วทางมโนทวารไม่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าอารมณ์ไม่ได้กระทบจริงๆ เพราะฉะนั้นทางใจจะไม่มีจิตที่ทำทัสสนกิจ จิตของวิถีจิตแรก คืออาวัชชนะ แต่ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนะ

    เพราะฉะนั้นจิตที่ทำอาวัชชนะกิจมี ๒ ถ้าทาง ๕ ทวารก็เป็นจิตหนึ่งซึ่งสามารถรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๕ ทวารเท่านั้น แต่ทางใจรู้ไม่ได้ เป็นปัญจทวาราวัชชนะ และจิตที่รู้อารมณ์ทางใจก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด เป็นมโนทวาราวัชชนะ ๑ เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนะ คือหลังจากที่ทางตาเห็นแล้ว ทางใจรับรู้ต่อโดยมโนทวาราวัชชนจิตเกิด สืบต่อจากภวังค์ซึ่งคั่นทุกวาระของเห็น ได้ยิน ต้องมีมโนทวาราวัชชนะเกิด รับรู้อารมณ์เดียวกันเลยเหมือนกันเลย แต่ว่ามโนทวาราวัชชนะสามารถที่จะนึกถึงอารมณ์นั้นได้ และหลังจากที่อาวัชชนจิตซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว กุศลจิต หรืออกุศลจิตต้องเกิดต่อตามการสะสม ไม่ใช่เรา นี่คือความเข้าใจขั้นต้นเบื้องต้น ซึ่งถ้ามีความเข้าใจแล้วก็ฟังเรื่องอื่นต่อไปอีกที่เป็นความละเอียดของแต่ละหนึ่ง ซึ่งแสดงไว้โดยนัยหลากหลายมากถึงความเป็นปัจจัยของแต่ละหนึ่งด้วย ของทั้งจิต และเจตสิกทั้งหมด เพื่ออนุเคราะห์ให้เราเห็นความไม่ใช่เราในขั้นฟัง แล้วจะรู้จริงๆ อย่างนี้ได้ไหม ก็ตามกำลังของปัญญา เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะแม้เดี๋ยวนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก็ไม่รู้ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิตเกิดก็ไม่รู้ รู้แต่แค่เห็นแล้วชอบไม่ชอบ ด้วยเหตุนี้ โดยนัยการเทศนาของพระสูตร เวลาที่มีคนไปเฝ้าทรงแสดงสภาพธรรมตามที่สามารถจะรู้ได้ว่าเห็นแล้วชอบหรือไม่ชอบ แต่ระหว่างที่เห็นแล้วกว่าจะชอบหรือไม่ชอบมีจิตที่เกิดคั่น ซึ่งไม่ได้แสดงโดยนัยของพระสูตร แต่โดยนัยของพระอภิธรรมได้ทรงแสดงไว้ละเอียดทุกประการ เพราะฉะนั้นเท่าที่เราสามารถจะรู้ได้เดี๋ยวนี้ ชอบดอกไม้สีขาวไหม

    อ.กุลวิไล ถ้าสวยชอบแน่นอน

    ท่านอาจารย์ เห็นแล้ว ชอบไหม

    อ.กุลวิไล ชอบ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการที่เราจะไปนั่งพิจารณาเลย เพราะเหตุว่าสะสมความพอใจในสิ่งนั้น ที่เมื่อทันทีที่เห็นก็พอใจทันที แต่ถ้าสีขาวเป็นรูปอื่นก็ไม่ชอบ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นกุหลาบสีขาวกับดอกมะลิสีขาว กับดอกไม้อื่นสีขาว ชอบหรือไม่ชอบ ยังไม่ทันจะเลือกเลย เกิดแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะรู้ว่ามีเมื่อเกิด ถ้ายังไม่เกิดไม่สามารถจะรู้ได้ว่ามีหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล เมื่อก่อนก็ไม่ทราบว่าแค่ลืมตาก็ติดข้องแล้ว เเล้วก็ไม่เห็นถึงความต้องการอะไรเลย แต่ถ้าพิจารณาไปก็แน่นอน หลังเห็นก็ต้องมีความติดข้องต้องการ

    ท่านอาจารย์ เห็นแล้วต้องการสิ่งที่ปรากฏให้เห็นไหม

    อ.กุลวิไล ต้องการ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หยุดเพียงแค่พอใจ แค่เห็นแล้วชอบ ยังแสวงหาอีก ถ้าทางสุจริตไม่ได้ กิเลสมีกำลังก็ทำให้กระทำทุจริตเพื่อที่จะได้ ทุจริตเป็นอกุศลให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ไม่มีใครไปจัดการอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เดี๋ยวนี้มีภวังค์ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ มีสัมปฏิจฉันนะไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบได้

    ท่านอาจารย์ แต่พอเกิดโลภะ รู้ไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่ทราบได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ติดข้องเเล้ว มากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่ถ้ายังไม่มีอะไรจะติดข้องได้อย่างไร แต่เมื่อเกิดมีปรากฏติดข้องโดยไม่รู้เลยว่าระดับไหน เพราะฉะนั้นแสดงกำลังของกิเลสไว้ อนุสัยเป็นพืชเชื้อนอนเนื่องอยู่ในจิตทุกขณะ ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะมีอนุสัยกิเลสไหม มี เป็นเหตุให้ท่านก็ต้องมีโลภะ โทสะเป็นต้น แล้วก็มีกุศลด้วยใช่ไหม แต่พอเป็นพระโสดาบันประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นพระโสดาบันไม่มีความเห็นผิด หมดความสงสัย แต่ยังมีความติดข้อง

    เพราะฉะนั้นเห็นความหนาแน่นของกิเลส พระโสดาบันไม่มีความสงสัยในการเกิดดับของสภาพธรรมประจักษ์แจ้งการเกิดดับ แต่ว่ายังพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ยากไหม ถ้าเข้าใจแล้วยากไหม รู้ว่าธรรมละเอียดลึกซึ้ง แต่เข้าใจได้จากพระมหากรุณาที่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้นฟังคำของใคร ไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ว่าใครจะพูด พระเถระทั้งหลายจะพูดก็ตามแต่ ก็คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าพุทธศาสนาคือคำสอนของใคร ของพระเถระหรือเปล่า หรือว่าของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทุกคำเป็นคำที่เกิดจากการตรัสรู้ เป็นพุทธศาสนาคำสอนของผู้ที่ได้ตรัสรู้ และมีอีกใช่ไหม มีพุทธศาสนา แล้วก็มีคำว่าเถรวาท มีคำว่ามหายาน คืออะไรมาจากไหน ก็มีแต่คำสอนของสัมมาสัมพุทธจ้า แต่ความเข้าใจของคนหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามไม่เข้าใจอย่างมั่นคงในความเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่งตามที่ได้ทรงแสดงไว้ คิดเอง ต่อเติมแต่งไปเอง ขณะนั้นก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา และไม่ใช่คำของผู้ที่มั่นคง เถระคือมั่นคง เพราะฉะนั้นถ้าใครไม่มั่นคงก็จะกล่าวคลาดเคลื่อนไป ก็ไม่ใช่เถรวาทะหรือเถรวาท ถ้าเถรวาทก็ต้องตรงตามคำที่พระสัมสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 182
    31 มี.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ