พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 662


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๖๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ โทสะก็เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ของใคร ไม่ทำให้ใจขุ่นเคืองเดือดร้อนมาก ใช่ไหม ถ้าพูดถึงโทสะ แต่พอมีชื่อเข้ามาใส่ความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น ความไม่ชอบเพิ่มขึ้น เพียงแค่ชื่อก็ทำให้ลืมนึกถึงว่าแท้ที่จริงก็กำลังเป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้นโลกนี้ปราศจากชื่อ ได้ไหม แม้ว่าทั้งหมดเป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่มีชื่อที่จะเรียกที่บอกกล่าวให้รู้ว่าหมายความถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้ไหม ไม่ได้ ใบ้ ใช่ไหม ไม่สามารถที่จะรู้ความหมายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ชื่อก็คือคำแต่ละคำที่แสดงให้เห็นว่าหมายความถึงอะไร

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่าชื่อเป็นชื่อ แล้วก็เป็นชื่อที่แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ หรือว่าเป็นเพียงชื่อ อย่างสภาพธรรมที่มีจริงคือเห็น ไม่เรียกว่าเห็นก็เห็น ไม่ใช้คำภาษาบาลีว่าจักขุวิญญาณ เห็นก็เห็น เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ถ้าเรียกชื่อสิ่งที่ไม่มีจริง พระราชา เห็นเป็นพระราชา หรือไม่ เสียงเป็นพระราชา หรือไม่ กลิ่นเป็นพระราชา หรือไม่ เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะเห็นได้ว่าคำ หรือชื่อต่างๆ มีทั้งหมายความถึงสิ่งที่มีจริงเพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงอะไร และก็ยังหมายความถึงสิ่งที่ไม่ได้มีจริงๆ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าโลกนี้ไม่มีชื่อไม่ได้ แต่ว่าถ้าไม่มีธรรมเลยชื่อใดๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ความจริงว่ามีธรรมแล้วก็มีคำเป็นชื่อต่างๆ เพื่อที่จะแสดงให้เข้าใจความหมายของธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรม พอกล่าวถึงฟัน กล่าวถึงหูก็เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เห็นอวิชชาไหม เห็นไหมอวิชชา เวลานี้มีฟัน หรือไม่

    ผู้ฟัง เวลานี้คิดก็มีฟัน

    ท่านอาจารย์ คิดว่ามี แล้วฟันแข็งไม่ใช่ หรือ

    ผู้ฟัง แข็ง

    ท่านอาจารย์ แล้วแข็งปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง แข็งก็ปรากฏตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีฟัน หรือไม่ขณะที่พูดว่ามีฟัน

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ละการยึดถือว่าเป็นเราไม่ได้ เราจำไว้หมดว่ามีแม้เดี๋ยวนี้ แต่ความจริงสิ่งที่ไม่ปรากฏ ไม่มี เกิดแล้วดับแล้วเร็วมากไม่เหลือ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ตรงกับคำที่ว่าเพียงอาศัยระลึกคือสติฟังแล้วก็เข้าใจ รู้ว่ามีสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะที่ฟังเข้าใจมีทั้งสติมีทั้งปัญญาที่เข้าใจว่าสิ่งใดมีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ ฟังว่าแข็งมีจริงไม่เหมือนกับเวลาที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นใครจะบอกว่าแข็งมีจริง เมื่อไร ลักษณะของแข็งปรากฏเมื่อไรมีจริงเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นกำลังพูดว่าแข็งมีจริงแต่แข็งไม่ได้ปรากฏ ขณะนั้นแข็งมีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จะรู้ว่าอะไรจริงก็เฉพาะตอนที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ ตรงกับความเป็นจริงที่ว่าเกิดแล้วดับ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการฟังแล้วเข้าใจว่า แม้แข็งเพียงแข็งก็เป็นธรรมที่มีจริงซึ่งไม่ใช่หู ไม่ใช่ฟัน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่ดินสอ ไม่ใช่กระดาษ แข็งเป็นแข็ง เพราะฉะนั้นลักษณะของแข็งปรากฏเมื่อกำลังรู้เฉพาะแข็ง เพราะฟังเข้าใจว่าแข็งมีจริงๆ ก่อนฟังแข็งก็มีจริง แต่ไม่ได้เข้าใจความแข็งว่าเป็นธรรมที่มีจริง แต่แข็งนั้นเป็นอะไร เป็นฟันบ้าง เป็นหูบ้าง เป็นแขนบ้าง แต่พอฟังธรรมรู้ว่าสิ่งที่มีจริงคือลักษณะที่แข็งแล้วแต่ว่าจะนึกถึงรูปร่างใด ก็เข้าใจว่ามีสิ่งนั้นเช่นมีหู มีฟัน แต่ความจริงมีแข็ง ถ้าไม่มีแข็ง หู ฟันก็ไม่มี แล้วมีแข็งเมื่อไร มีเมื่อแข็งกำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นที่จะละความเป็นตัวตนได้ ก็คือขณะนั้นไม่มีอะไรเหลือทั้งสิ้น นอกจากลักษณะที่แข็งกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง และทั้งสองอย่างก็ดับไป เพราะฉะนั้นจึงสามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ขณะนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่มี แต่ไม่ได้รู้ในขณะที่กำลังมี ทุกอย่างที่พูดเป็นเรื่องราวซึ่งสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด เร็วมาก ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้องว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงได้ก็ด้วยสตืสัมปชัญญะจากปริยัติ ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าการที่จะรู้ความจริงต้องเมื่อสิ่งนั้นที่มีจริงกำลังปรากฏ ถ้าสิ่งนั้นที่มีจริงไม่ปรากฏจะไปรู้ความจริงไม่ได้ แต่จะรู้ความจริงก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงอย่างนั้น แล้วก็มีความเห็นถูกมีความเข้าใจถูกด้วย แม้แข็งปรากฏก็มีธาตุที่กำลังรู้แข็ง

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงก็ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงในชีวิตประจำวันที่ไม่เคยรู้นั่นเอง แต่ว่าชื่อก็มาปิดบัง แต่ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าแม้ไม่ได้ใช้คำใดๆ ทั้งสิ้น ลักษณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มีชื่อใครจะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ด้วยเหตุนี้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงต่างกับพระปัจเจกพุทธเจ้าเพราะทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะทรงแสดงความจริงที่เป็นสัจธรรมโดยประการทั้งปวง โดยนัยต่างๆ ที่จะทำให้คนฟังได้มีการสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูกตั้งแต่ไม่รู้เลยจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ต้องเป็นผู้ตรง

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันทุกอย่างยาวๆ เหลือสั้นนิดเดียว

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดนี่ก็ดับไปนับไม่ถ้วนแล้ว เฉพาะสิ่งที่ปรากฏกับสติสัมปชัญญะเท่านั้นที่จะแสดงการเกิดขึ้น และดับไปโดยนิมิตด้วย

    ผู้ฟัง พื้นฐานพระอภิธรรมก็มีความเข้าใจว่าจะต้องศึกษาเช่น จิตเห็นเกิดขึ้นหนึ่งขณะนี่เป็นอนัตรปัจจัยให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็เป็นสมันตรปัจจัยอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็มีความรู้สึกว่าสงสัยต้องเข้าใจตรงนี้ให้มากขึ้นแล้วถึงจะสามารถรู้ในสิ่งที่ปรากฏได้

    อ.วิชัย ก็เป็นปกติใช่ไหมที่ฟัง ถ้าไม่มีความเข้าใจในขั้นการฟัง ความเข้าใจในขั้นที่ยิ่งๆ ขึ้นไปก็มีไม่ได้แน่นอน สิ่งนี้ก็เป็นความเข้าใจถูกว่าต้องเริ่มจากขั้นการฟังก่อน และเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องของธรรมว่าเป็นอนัตตาจริงๆ แต่ความเป็นอนัตตาของธรรมไม่ใช่แค่ฟังเท่านั้นแต่ว่าต้องมีลักษณะจริงๆ ของธรรม ที่จะรู้ถึงลักษณะจริงๆ ของธรรมนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเช่นจิตต่างๆ ที่เกิดดับสืบต่อกัน มีจิตจริงๆ ไหม แล้วจิตแต่ละขณะ ที่ขณะนี้กำลังเห็นแล้วก็คิดแล้วได้ยิน ก็เข้าใจว่าเป็นได้ยิน ก่อนฟังก็เหมือนกับพร้อมๆ กัน ใช่ไหม แต่ว่าตามความเป็นจริงก็มีจิตหลายขณะเกิดดับสืบต่อกัน ตามความเป็นจริงคืออย่างนี้ ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน จิตเห็นก็ขณะหนึ่ง ขณะที่คิดก็อีกขณะหนึ่ง ขณะที่ได้ยินก็เป็นอีกขณะหนึ่ง แล้วจิตที่เกิดขึ้นก็มีหลายประเภท จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาคือความเข้าใจก็มีด้วย แล้วแต่ว่ามีปัจจัยอะไรให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละประเภทก็ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอยู่แล้วว่าจิตเห็นเป็นจิตอะไรที่เกิดขึ้น เป็นผลของกรรมเป็นจิตชาติวิบาก แต่เมื่อจิตเห็นเกิดแล้วก็ดับแล้ว และก็มีจิตประเภทอื่นเกิดสืบต่อ หลังจากนั้นก็จะเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างโดยรวดเร็ว แม้ขณะนี้ก็มีใช่ไหม เป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต หลังจากเห็น หลังจากได้ยิน หลังจากได้กลิ่น

    ผู้ฟัง พอหลังเห็นแล้วไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล

    อ.วิชัย แต่ว่าเข้าใจได้ใช่ไหม แม้ยังไม่ปรากฏโดยสภาพของกุศล หรืออกุศลแต่ก็เข้าใจว่าหลังจากเห็น หรือได้ยินขณะนี้จิตก็เป็นกุศล หรืออกุศลแล้ว ก็เป็นความเข้าใจ แต่ว่าลักษณะนั้นยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม ผู้ที่มีศรัทธาสามารถที่จะอ่านพระไตรปิฎกแต่ก็ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่อ่าน ที่ฟังแล้วสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ทุกคนยืนยัน แม้จะได้ยินทุกวัน ฟังวิทยุทุกวัน และลักษณะของสภาพธรรมก็ปรากฏทุกวันแล้วก็ยังไม่ถึงกาลที่จะเข้าถึงความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่าง คือสภาพธรรมใดปรากฏสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วจึงปรากฏแล้วก็ดับไปแล้วด้วย ทุกคนก็จะได้ยินอย่างนี้แต่ว่าให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้แล้วก็เป็นผู้ที่ตรงต่อความจริงคือแม้เดี๋ยวนี้ก็เห็น แต่ก็ไม่ได้รู้ความจริงของเห็นซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่ใช่มีแต่เฉพาะเห็น ได้ยินก็มี เดี๋ยวนี้ก็ได้ยินแต่ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะที่ได้ยินที่เกิดขึ้น และดับไป ทั้งๆ ที่ฟังว่าได้ยินก็ต้องมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรม สัจจะความจริงของสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อยังไม่สามารถที่รู้อย่างนี้ได้ก็จะต้องเป็นผู้ตรงต่อความจริงว่าความจริงเปลี่ยนไม่ได้ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ทุกขณะ ทุกกาลเป็นอย่างนี้ แล้วจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ หรือไม่ ไม่ใช่หมายความว่าฟังแล้วจะไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ขณะที่เข้าใจนิดหนึ่งก็ไปคิดว่าไม่รู้ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ทำไมต้องคิดในเมื่อกำลังไม่รู้แล้วก็จะไม่รู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการเข้าใจจากการฟังเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นการฟังสิ่งซึ่งเป็นสัจจะเป็นความจริง ไม่ได้ไปทำให้ใครเร่งรัดไปรู้ความจริงนั้น แต่ให้เห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของความจริงซึ่งเป็นอย่างนี้แต่ไม่รู้อย่างนี้ นี่ก็เป็นเครื่องยืนยันความลึกซึ้งของธรรมแล้ว

    เพราะฉะนั้นก็ตัดปัญหาเรื่องยังไม่รู้ไปได้ แต่ให้ฟัง และก็มีความมั่นคงว่า เมื่อปัญญาเกิด ปัญญาสามารถที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสิ่งที่ดับไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็ไม่สามารถที่จะให้ความจริงได้ว่า กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้ว แล้วก็ดับด้วย เพราะฉะนั้นอธิษฐานบารมี ความเป็นผู้ที่มั่นคงในสัจจะในความจริง เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ก็ฟังต่อไปจนกว่าจะเข้าใจขึ้นแม้ทีละเล็กทีละน้อยก็ไม่ผิดเพี้ยนไม่หลงไปทางอื่นซึ่งไม่ใช่การที่จะฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วลองคิดดู ทำไมคนอื่นรู้ได้ แล้วทำไมคนที่ฟังแล้วก็บอกว่าฟังมายี่สิบปี สามสิบปี ห้าสิบปียังรู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง หรือไม่ หรือมุ่งแต่เพียงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งยังรู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าอกุศลมากมายมหาศาลเป็นเครื่องกั้นโดยไม่รู้ แม้แต่ความอยากที่จะรู้ก็เป็นเครื่องกั้น เพราะเหตุว่ามีความเป็นเราที่อยากจะรู้แต่ลืมว่าอะไรบ้างที่เป็นเราวันนี้ อกุศลมีไหม ลืมไป ความโกรธ ความพยาบาทมีไหม ลืมไป ความริษยามีไหม ความสำคัญตนมีไหม มีมานานเท่าไรแล้วมีมากเท่าไรแล้ว มีความติดในลาภ ในยศ ในสุข ในสรรเสริญมากน้อยทุกวันแม้แต่ชาตินี้แล้วเรายังหวังไปถึงชาติหน้าอีกมากมาย มีไหม แล้วก็ต้องการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่คิดว่าแท้จริงแล้วจิตที่สามารถที่จะรู้สภาพความจริงของธรรมได้ต้องเป็นกุศลจิตซึ่งมีความผ่องใสเพราะเหตุว่ามีอกุศลน้อยลง ไม่ใช่ว่ายังหนาแน่นด้วยกิเลสมากๆ แล้วก็ไม่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง พอฟังก็มุ่งหน้าฟังเพื่อหวังที่จะรู้ลักษณะของสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ขณะนี้ละอะไรบ้าง หรือไม่ แค่นี้ ขณะนี้ละอะไรบ้าง หรือไม่ ไม่ได้ละเลย ความไม่รู้ก็ยังมี การยึดถือสภาพธรรมก็ยังมี การต้องการรู้ ต้องการมีปัญญาก็มี แล้วอย่างนี้จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการเป็นคนดีจะนำไปสู่การสามารถที่จะละการยึดติดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยการฟัง และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ผู้ฟังต้องเป็นคนดี ถ้าผู้ฟังเป็นคนที่ไม่ได้ขัดเกลากิเลสไม่ได้สะสมความดีประการใดๆ ทั้งสิ้น มีความเห็นแก่ตัวมาก ติดข้องทุกอย่างแล้วจะสละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่กำลังติดข้องแล้วรู้ความจริงได้อย่างไร

    เพราะเหตุว่าแม้แต่ขณะนี้ ต้องการอะไร พ้นไหม รูป เสียง กลื่น รส โผฏฐัพพะ คนละกาล คือขณะที่กำลังต้องการก็เกิดขึ้นเพราะการสะสมความติดข้องในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แต่เวลาที่เห็นประโยชน์ของการฟังความจริง ไม่ลืม ฟังความจริงเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริงเพื่อที่จะรู้ความจริง ต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ ร่าเริง และก็เป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่าตราบใดที่ยังมีความติดข้อง และมีอกุศลอยู่มากมายไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้

    เพราะฉะนั้นการที่เป็นคนดีคู่ไปกับการฟังธรรมจะทำให้สามารถเข้าใจธรรมได้ เพราะเหตุว่า ขณะใดแม้ต้องการจะเข้าใจ กำลังฟังก็ไม่เข้าใจ กั้นทันทีโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นทุกคำที่พูดว่ายังไม่รู้ ยังไม่รู้ก็แสดงความอยากรู้อยู่ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แล้วก็รู้ด้วยว่าปัญญาความเห็นตามความเป็นจริงสามารถที่จะเห็นแม้อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล และจิตน้อมไปสู่กุศลยิ่งขึ้น พร้อมกับการเป็นผู้ที่ตรงต่อการที่จะละอกุศล ก็จะทำให้สามารถฟังธรรมเข้าใจได้ แต่ว่าถ้ายังเป็นผู้ที่มากด้วยกิเลส แม้ขณะที่ฟังก็ต้องการที่จะรู้ขณะนั้นก็กั้นแล้ว

    ผู้ฟัง ความเห็นถูกเข้าใจถูกก็คือไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนแต่ว่ายังมีความพยายามที่จะเป็นคนดีอยู่ สิ่งนี้ก็ยังมีความเห็นผิดอยู่ เพราะยังมีสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ แต่ว่ายังดีกว่าพยายามที่จะเป็นคนไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ใครไม่มีความเห็นผิดยึดถืสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นพระโสดาบัน แต่ว่าในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เป็นคนดียังดีกว่าเป็นคนไม่ดี

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาลืม หรือไม่ว่าทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจขั้นการฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ดีเป็นธรรม หรือเป็นคน

    ผู้ฟัง ดีก็ต้องเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่การขวนขวาย หรือความอยาก ถ้าขึ้นต้นด้วยความอยากก็ต้องเป็นสภาพ ...

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องภาษา ไม่ใช่เรื่องคำจะมาขึ้นต้น

    ผู้ฟัง แต่มีความอยากจริงๆ ที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล คนละขณะกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอนสภาพธรรมคนละอย่างปะปนกันไม่ได้ กุศลจะไปเป็นอกุศล และอกุศลจะเป็นกุศลก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ชีวิตจริงๆ ก็ยังเป็นคนดีกับคนไม่ดีอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วดีเป็นอะไร เราศึกษาธรรมไม่ใช่ หรือ วันนี้เรามีการสนทนาธรรมเพื่อที่จะได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นดีเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ดี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องก็เป็นธรรมฝ่ายดี เปลี่ยนเป็นอกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ก่อนที่จะเป็นดี

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าดียังไม่เกิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ดียังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ อะไรเกิด

    ผู้ฟัง ความอยาก

    ท่านอาจารย์ กุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ตรง จะเอาอกุศลมาเป็นกุศลได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่ว่าไม่ได้รู้จักลักษณะที่เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ถึงต้องฟังให้เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เริ่มต้นด้วยการฟังว่า”ถ้าไม่มีธรรมอะไรๆ ก็ไม่มี” เพราะเหตุว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรทั้งสิ้น สิ่งนั้นก็มี นี่คือความเข้าใจตั้งแต่ต้นคือทุกอย่างเป็นธรรมมีจริงๆ มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจมั่นคงอย่างนี้ การฟังธรรมก็จะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังฟังเพื่อเข้าใจธรรมซึ่งมี แต่ไม่เคยเห็นถูกว่าเป็นธรรม เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่ว่าความจริงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏสิ่งนั้นเกิดแล้วแน่นอนจึงปรากฏได้ ถ้าไม่เกิดก็ปรากฏไม่ได้แล้วความจริงของสิ่งนั้นก็คือว่าเมื่อเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือค่อยๆ ฟังจนกว่าจะมีความมั่นคงว่าไม่มีอะไรสักอย่าง ขณะนี้ที่ไม่ใช่ธรรม และสิ่งที่เป็นธรรมในขณะนี้เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีก คือฟังแล้วก็พยายามที่จะเข้าใจความจริง แล้วทุกอย่างที่เป็นธรรมก็จะต้องเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ รักคุณพ่อ คุณแม่ไหม

    ผู้ฟัง รัก

    ท่านอาจารย์ ทำไม

    ผู้ฟัง เพราะเป็นคุณพ่อ คุณแม่

    ท่านอาจารย์ ชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่แล้วรัก หรือเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เป็นผู้มีพระคุณ และให้กำเนิดเรามา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงชื่อแต่ธรรมเป็นธรรม จะใช้คำว่าคุณพ่อ คุณแม่ พี่ เพื่อนอะไรก็ตามแต่ แต่ธรรมต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้นคิดถึงคุณความดี หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ไม่ใช่เพียงเฉพาะคิดถึงแล้วรู้ว่าเป็นคุณความดี ยังสามารถกระทำสิ่งที่ดีต่อบุคลที่ได้กระทำความดีด้วย เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็คือเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งคุ้นเคยว่าเป็นคุณพ่อ คุณแม่ เป็นพี่ เป็นเพื่อนใดๆ ก็ตามก็คือธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะฟังธรรมเข้าใจธรรมก็จะรู้ความจริงว่า ธรรมเป็นสิ่งซึ่งใครบันดาลให้เกิดได้ หรือไม่ อย่างแข็ง แค่แข็ง เป็นแข็ง กระทบแข็ง แข็งปรากฏ ใครไปทำให้แข็งปรากฏ ใครไปทำให้แข็งเกิดขึ้นเป็นแข็ง เวลาที่ได้ยินเสียงอีกธรรมหนึ่งแล้ว ใครไปทำให้เสียงเกิดขึ้น เสียงมีจริง เสียงปรารกฏ แสดงให้เห็นว่าเป็นธรรมแน่นอน และจากไม่มีเสียง เสียงเกิดแล้วเสียงก็ดับไป นี่คือความไม่เที่ยงของธรรม แล้วความละเอียดคือทุกขณะของธรรมที่ปรากฏต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น จึงแสดงว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ หรือธรรมเมื่อเกิดแล้วดับไปก็ไม่เป็นของใครทั้งสิ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    24 ธ.ค. 2566