พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 683


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องอดทน เพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ เพื่อละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นที่พอจะรู้ได้มีธรรม และก็มีปรมัตถธรรมคือ หมายเฉพาะสิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่างเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่ปรมัตถธรรม จากการได้เข้าใจธรรมมากขึ้นก็ยิ่งเห็นพระคุณมากขึ้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะระลึกถึงพระองค์แม้แต่ระลึกถึงพระคุณ ก็คือในขณะที่เข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ ใครบ้างที่เข้าใจธรรมแล้วไม่ระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นการที่จะระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเพราะว่ามีการฟังพระธรรมนั่นเอง ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรมโอกาสที่จะระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นสัณฐานจึงเป็นอาการของการเกิดดับของรูปที่เกิดดับทางตา

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดดับสืบต่อ

    อ.กุลวิไล ที่เกิดดับสืบต่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะมีคำว่าปรมัตถ์กับบัญญัติ แสดงความต่างแล้ว ปรมัตถธรรมหมายความถึงธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่มีปรมัตถธรรม อะไรๆ ก็ไม่มี บัญญัติก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้ด้วยว่าขณะใดก็ตามจิตที่เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะหลับสนิท หรือจะตื่น หรือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามแต่ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่จากโลกนี้ไปเพราะมีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่ขณะเกิดจนกว่าถึงขณะสุดท้ายซึ่งทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นก็จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สิ่งที่มีจริงๆ ที่จะปรากฏให้รู้ได้จะต้องเป็นทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย และก็ยังมีการคิดนึกถึงสิ่งที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสด้วย แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ปรากฏแต่เพราะความจำได้เหมือนกับว่ายังมีสิ่งนั้นอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่มี

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดถึง เมื่อไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ สิ่งนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่เป็นปรมัตถ์ และอีกอย่างหนึ่งความหมายของปัญญัติ (ปัญ ญัต ติ) คือเป็นสิ่งที่ทำให้รู้ได้ว่ามี ถ้ามีแค่เพียงรูปที่เล็กที่สุดที่กระทบแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกจะรู้ได้ไหมว่ามีแล้ว ดับแล้ว อย่างเดี๋ยวนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะกำลังฟังเกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น รู้ได้ไหม เพียงแค่จะนึกว่าเมื่อกี้มีอะไรปรากฏก็ยังไม่รู้

    เพราะฉะนั้นปรากฏเหมือนยังไม่ได้ปรากฏเพราะว่าเพียงปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ว่าเวลาที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเกิดดับสืบต่อเป็นรูปร่างสัณฐาน เจตสิกหนึ่งคือสัญญาเจตสิกทำกิจจำทุกอย่างที่จิตรู้ เจตสิกจะจำสิ่งที่ปรากฏกับจิต และเจตสิกในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้เห็น สัณฐานเกิดดับสืบต่อแล้วก็จำ จึงเหมือนกับว่ามีทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเห็นแล้ว และก็ยังเที่ยงอยู่ เช่นเคยเห็นใคร เห็นอีกก็คิดว่าคนนั้นไม่ได้ดับไปไหนเลยใช่ไหม ตั้งแต่เห็นคราวก่อนจนกระทั่งถึงเห็นอีกครั้งหนึ่งก็เหมือนกับว่าไม่มีอะไรที่ดับไป

    นี่ก็คือมีความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏแม้ไม่ปรากฏก็ยังจำว่าสิ่งนั้นมีอยู่ทำให้มีการนึกถึงสิ่งได้เคยเห็นแล้วโดยจำได้ให้รู้ว่าเป็นสิ่งใดนั่นคือบัญญัติ หรือปัญญัติ แต่ให้ทราบว่าขณะนี้พอเห็นเป็นคน เห็นมีจริง คนอยู่ที่ไหน อยู่ที่คิด และจำ บัญญัติให้รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจำได้ว่าเป็นอะไร

    อ.กุลวิไล จริงๆ แล้วก็เพียงสัญฐานรูปร่างการเกิดดับสืบต่อของรูปที่ปรากฏเกิดดับทางตานั่นเอง แต่เรายึดถือว่าเป็นคน จะเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ให้เรามีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น การได้มีโอกาสฟังพระธรรมในแต่ละครั้งนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างแท้จริง เพื่อความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าที่ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมก็เพื่อเข้าใจความจริง แล้วความจริงคืออะไร ถ้าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้

    อย่างเริ่มต้นตั้งแต่ชั่วโมงพื้นฐานพระอภิธรรมก็เริ่มด้วยจิต ซึ่งทุกท่านก็คงปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมว่าไม่มีจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเกิดดับสืบต่ออยู่ทุกขณะ ที่จิตมีมากมายหลากหลายประเภทเพราะสิ่งที่จิตรู้มีมากมายก็คืออารมณ์นั่นเอง

    อารมณ์ทางตาก็อย่างหนึ่ง อารมณ์ทางหูก็อย่างหนึ่ง อารมณ์ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง อารมณ์ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง อารมณ์ทางกายก็อย่างหนึ่ง และอารมณ์ทางใจก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้คือความหลากหลายของสิ่งที่จิตรู้จึงทำให้จิตนั้นมีความหลากหลายมีความแตกต่างกัน นอกจากนั้นจิตก็ยังแตกต่างกันด้วยธรรมที่เกิดร่วมกับจิตก็คือเจตสิกอย่างเช่นจิตบางประเภทเกิดขึ้นมีโลภะเกิดร่วมด้วยเป็นสภาพที่ติดข้องพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตบางประเภทก็มีโทสะซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ขุ่นใจไม่พอใจเกิดร่วมด้วย นี้คือตัวอย่างของสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตซึ่งทำให้จิตมีหลากหลายประเภท ที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ก็เพื่อเข้าใจความจริง เพราะเหตุว่าสิ่งเหล่านี้ สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น

    อ.กุลวิไล ผู้ถาม ถามต่อว่า “จากการฟังธรรมของท่านอาจารย์อย่างสม่ำเสมอทำให้แต่ละครั้งที่เห็น และจำได้ว่าควรรู้ยิ่ง จะมีรู้เห็น และตามด้วยการรู้สัณฐาน แต่บ่อยครั้งก็จบเพียงรู้สัณฐานคือไม่รู้ต่อในบัญญัติของสัณฐาน แล้วก็มีอารมณ์อื่นต่อไป จึงขอทราบความละเอียดลึกซึ้งของจิตนิยาม”

    ท่านอาจารย์ จิตนิยามก็คือความเป็นไปของจิต ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายภาษาบาลีด้วย

    อ.คำปั่น อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ จิตนิยามเป็นภาษาบาลี เวลาท่านแปลภาษาบาลีก็แปลจากข้างหลังมาข้างหน้า นิยามหมายถึงความแน่นอน จิต ตะ ก็คือจิต เมื่อแปลแล้วก็จะแปลได้ว่า ความแน่นอนความเป็นไปของจิต ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวลาที่จิตเกิดขึ้นแต่ละครั้งแต่ละขณะนั้น จะไม่สลับลำดับกันเลย จะเกิดดับสืบต่อเป็นลำดับกัน ยกตัวอย่างก่อนที่จิตเห็นจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้เห็นทันที ก็ต้องมีวิถีจิตแรกทางจักขุทวารคือจักขุทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นก่อน เมื่อจิตประเภทนี้ดับไปจักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้น เมื่อจักขุวิญญาณดับไปก็มีจิตขณะอื่นเกิดสืบต่อไป มีสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตแล้วก็มีชวนจิตเกิดสืบต่อ สิ่งนี้คือความแน่นอน หรือความเป็นไปของจิต เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตที่ไม่สลับลำดับกัน

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ก่อนเห็นได้ไหม รู้รูปร่างสัณฐานก่อนเห็นได้ หรือไม่

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือจิตนิยาม ที่จะต้องเป็นไปอย่างนี้แน่นอนเปลี่ยนไม่ได้ โดยมากรู้สึกว่าอยากจะรู้คำมากกว่าเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่คำ แต่เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้คือเห็น เห็นนี่มีแน่ๆ แต่เห็นอะไรก็ยังตอบได้ว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏซึ่งถ้าคนไม่ได้ศึกษาธรรมจะไม่ตอบอย่างนี้ จะตอบว่าเห็นโต๊ะ เห็นดอกไม้ เห็นคน ใช่ไหม เพราะว่ารูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏเหมือนกับตั้งขึ้นพร้อมสิ่งนั้นเพราะความรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นจะให้มีแต่เพียงรูปเล็กๆ กลาปเดียวที่กระทบจักขุประสาท และจิตเห็นเท่านั้น ไม่สามารถที่จะรู้รูปร่างสัณฐานได้ แต่ความเป็นไปของจิตที่จะต้องเป็นก็คือว่า เกิดแล้วดับแล้วสืบต่อ จนแม้แต่จะไม่พูดถึงทางหู พูดถึงแต่เฉพาะทางตาทางเดียว ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นว่ารูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏนี้หลากหลายมาก

    เพราะฉะนั้นความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตนี้ใครจะประมาณได้ แม้กระทั่งทันทีที่เห็นก็จำได้เหมือนกับว่ารู้ทันทีว่าเห็นอะไร นี่คือความเป็นจริงที่ต้องรู้ว่า จิตที่เห็นก็เป็นประเภทหนึ่งเกิดพร้อมกับสภาพที่จำทันทีในสิ่งที่จิตเห็นในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่เพราะความรวดเร็วของการเกิดดับก็ทำให้ปรากฏว่าสิ่งที่เห็นเหมือนเที่ยง ไม่มีอะไรดับไป แต่เกิดซ้ำซ้อนอย่างเดียวกัน จนกระทั่งปรากฏเป็นสัณฐานหนึ่งสัณฐานใดให้จำได้

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะไม่เห็นแล้วก็ยังจำได้ ใช่ไหม นึกได้หมดว่าที่เห็นแล้วนี้เห็นอะไรเพราะสัณฐาน แต่ถ้าไม่มีสัณฐานจะบอกได้ไหมว่าเห็นอะไร ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตจริงๆ คืออย่างนี้ ยังไม่ต้องไปอยากรู้แล้วชื่ออะไร แล้วเรื่องอะไร แล้วคำนั้นคืออะไร แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏเกิดเหมือนพร้อมกับสัณฐาน ตั้งขึ้นพร้อมกัน เช่นเห็นอะไร ตอบได้ทันที เห็นคน เร็วแค่ไหน ทั้งๆ ที่คนก็ต้องมีคิ้ว มีตา มีจมูก มีปาก มีผม มีอะไรตั้งหลายอย่าง แต่ก็ตอบได้ว่า จำได้ว่าสัณฐานนั้นคือรูปร่างอย่างนี้ นี่คือทางตา

    ทางหูเสียงมากมายนับไม่ได้ ความหลากหลายจำแนกเป็นภาษาต่างๆ แม้แต่ประเทศเดียวก็ยังมีเหนือ มีใต้ มีตะวันออก และก็ภาษาก็เปลี่ยนไป จนกระทั่งสัญญา หรือสภาพเจตสิกที่จำ จำได้หมดในเสียง และในความหมายของเสียงด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินเสียงเหมือนได้ยินคำใช่ไหม ความจริงต้องได้ยินเสียง แต่สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตที่กำลังได้ยินเสียงกำลังรู้เสียงก็จำเสียงนั้น และเสียงมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเสียงที่ปรากฏเกิดขึ้นจึงดับไป

    ในระหว่าง ๑๗ ขณะ จะมีจิตหลากหลายประเภทเกิดซึ่งไม่รู้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าสัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภทจำเสียงที่ปรากฏ แล้วยังสามารถที่จะเข้าใจในความหมายของเสียงนั้นด้วย เพราะฉะนั้นจึงปรากฏเสมือนว่า ขณะนี้ได้ยินคำแต่ความจริงต้องเป็นเสียง แต่ความรวดเร็วทำให้สามารถที่จะเข้าใจความหมายของเสียง ซึ่งหลากหลายมากเป็นแต่ละความหมายด้วย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ฝัน ฝันถึงอะไร ฝันว่าได้ยิน หรือฝันว่าเห็น หรือฝันว่าอะไร แต่ความจริงฝันเรื่อง ถูกต้องไหม กำลังฝัน ฝันเรื่อง หรือไม่ ถามว่าฝันเห็นอะไรตอบได้ ในฝันนั้นเห็นอะไร แต่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความจำ จำทุกอย่างเพราะว่าเกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะ

    เพราะไม่ว่าจะเป็นทางตา จิตเกิดดับสลับสืบต่อมากเท่าไรก็ปรากฏเป็นสัณฐาน เสียงก็เช่นเดียวกัน เสียงหลากหลายมากแต่สัญญาก็จำเสียงเป็นแต่ละเสียง และเป็นแต่ละคำด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่ฝันได้ยินอะไรบ้าง ตอบว่าได้ยินเสียง หรือว่ากำลังพูดกับใคร อาจเป็นคนที่จากโลกนี้ไปแล้ว แต่ฝันก็ยังจำรูปร่างสัณฐานได้

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกคนมีเพื่อน มีญาติพี่น้อง เขายังอยู่ หรือเขาจากโลกนี้ไปแล้ว รู้ได้ไหม คิดว่ายังอยู่ความจริงจากไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ก็ได้ เมื่อเช้านี้ก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นสัญญานี้จำว่ามีสิ่งนั้นซึ่งเป็นสัณฐาน เพราะฉะนั้นก็มีสัณฐานของทุกอย่างที่ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    อย่างทางกาย แข็งกระทบปรากฏ กระทบอะไร อะไรแข็งตอบเลยใช่ไหม เก้าอี้แข็ง หรือเป็นเสื้อ หรือเป็นกระเป๋า หรือเป็นอะไรก็ได้ เพราะว่าแข็งปรากฏสั้นมากเล็กน้อยมาก แต่ซ้ำจนกระทั่งสามารถที่จะจำ และยังประกอบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นลักษณะแข็งมีสีสัน วัณณะ รูปร่างสัณฐานต่างๆ นี่ก็แสดงถึงการเกิดดับสืบต่อทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย เพราะเหตุว่าทางตาเพียงเห็นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ทางหูก็ได้ยินแค่เสียงยังไม่ได้คิดเป็นคำๆ แต่แม้ไม่ได้ยินเสียงยังคิดได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดเป็นเรี่องราวต่างๆ นี้ให้ทราบว่าคิดถึงเสียง และความหมายของเสียง เช่นคิดได้ไหมประเทศอินเดีย ใช่ไหม ถ้าไม่มีการได้ยินคำว่า “ประ” มาก่อน “เทศ” มาก่อน “อิน” มาก่อน “เดีย” มาก่อน ก็ไม่รู้ว่าอะไรใช่ไหม แต่ๆ ละคำเปลี่ยนใหม่ สวนลุมพินีไม่ใช่ประเทศอินเดียแล้ว คนละเสียง แต่สัญญาก็ยังจำเสียงเหมือนกับว่าทันทีที่ได้ยินก็ตั้งขึ้นพร้อมสัณฐานรูปร่าง หรือว่าความหมายทันที

    จะใช้คำว่า “สัณฐาน หรือรูปร่าง” ก็คือความหมายให้รู้ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่มีสัณฐาน ไม่มีเสียงที่หลากหลาย ไม่มีการจำไว้ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เกิดจนตายก็ด้วยความไม่รู้ความจริงของสิ่งซึ่งเป็นธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้คนที่ได้ยินได้ฟังสามารถเข้าใจความจริงที่มีจริงๆ ทุกขณะได้

    ขณะนี้ระลึกถึงพระคุณ หรือเปล่า พุทธานุสติ ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่คำว่า “ธรรม” หรือการที่จะเข้าใจว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริงที่มีอายุที่สั้นมากเพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่สืบต่อจนกระทั่งเป็นนิมิต เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวความทรงจำต่างๆ เป็นสิ่งที่ทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษาเป็นพระไตรปิฏก และยังมีอรรถกถา สำหรับผู้ที่ไม่สามารถที่จะมีปัญญาอย่างบุคคลในสมัยโน้น ซึ่งเพียงฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้

    อ.กุลวิไล มีผู้ถามว่า “เหตุใดฉันทะจึงเป็นสภาพธรรมที่พอใจในอารมณ์ พอใจในการกระทำซึ่งเกิดกับโทสมูลจิตได้ ทั้งๆ ที่โทสมูลจิตเป็นความขุ่นเคืองใจในอารมณ์”

    ท่านอาจารย์ พูดอย่างนี้เหมือนกับรู้จักฉันทะดี แต่ก็ยังคงสงสัย เพราะฉะนั้นก็ยังคงเป็นเพียงชื่อ และเรื่องราว พอได้ยินคำว่า “ฉันทะ” ได้ยินคำว่า “โลภะ” ได้ยินชื่อเจตสิกต่างๆ สามารถที่จะเข้าใจเอง หรือว่าต้องฟัง และพิจารณาไตร่ตรอง เพราะว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ฉันทะก็มีเกิดแล้วดับแล้ว แต่ว่าการฟังธรรมไม่ใช่เพื่อให้ใครไปรู้สิ่งที่รู้ไม่ได้ แต่ได้เห็นคุณค่าของการที่มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีการรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมอะไรบ้างแม้แต่ฉันทะ

    เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบง่ายๆ ก็คือว่าถ้าไม่พอใจที่จะโกรธ จะโกรธไหม

    อ.กุลวิไล ถ้าไม่พอใจที่จะโกรธ ก็ไม่โกรธ

    ท่านอาจารย์ บางคนยังบอกว่า ต้องโกรธ ดีนะโกรธแล้วคนอื่นก็กลัว หรือว่าอะไรก็ตามแต่ ก็ไปเห็นคุณความดีของสิ่งซึ่งไม่ดี เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่เรื่องที่เราจะฟังเผินๆ แต่ต้องพิจาณา ไตร่ตรอง ไคร่ครวญ ไม่ใช่ว่า “ทำไม” แต่ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงนี้ ฟังจนกระทั่งมีความค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราไม่รู้จักฉันทะ อยากรู้จักฉันทะเหลือเกิน เมื่อไรจะรู้ฉันทะ นั่นไม่ใช่แม้แต่เพียงจะเข้าใจตามความเป็นจริงว่ามีเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่ละประเภทก็ต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง ที่จะสังเกตได้ว่าเป็นธรรมฝ่ายตรงกันข้ามจริงๆ หรือเป็นฝ่ายที่ใกล้เคียงจนกระทั่งยากที่จะแยกออกได้ อย่างโลภะเป็นความติดข้อง ฉันทะเป็นความพอใจ ถ้าเกิดติดข้องเมื่อไรเป็นอกุศลทันที แต่ถ้าเป็นความพอใจในกุศลก็ได้ในอกุศลก็ได้

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นความต่างกัน แต่ไม่ใช่หมายความว่าในขณะนี้ให้ไปรู้ความต่างของฉันทะ และโลภะ ซึ่งฉันทะกับโลภะเกิดร่วมกันได้ เพราะเหตุว่าฉันทะจะเกิดกับกุศลก็ได้อกุศลก็ได้ วิบาก กิริยาได้หมดแล้วแต่ประเภทของจิตซึ่งต้องมีฉันทะเป็นปัจจัยในขณะนั้นจึงเกิดขึ้นได้ นี่คือการฟังธรรมเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

    แต่ไม่ใช่ฟังแล้วก็สงสัย แล้วตัวตนก็อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจขวนขวายที่เป็นเราที่จะรู้ แต่ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่มีเรา เป็นธรรมซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยด้วย แม้แต่ขณะนี้กำลังพูดคำว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” ยังไม่ต้องไปถึงฉันทะ ฟังแล้วฟังเล่า ผ่านหูผ่านใจไปกี่ครั้ง แต่ว่าอยู่ในใจพอที่จะระลึกได้แล้วเข้าใจขึ้นว่าเป็นธรรมซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นธรรมได้ถ้ามีความเข้าใจเพียงเล็กน้อย

    เพราะฉะนั้นการฟังแล้วฟังอีกจะทำให้ไม่ลืม และเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ที่กล่าวว่าเป็นธรรมเพราะว่ามีลักษณะของธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ก็ผ่านไปโดยไม่เข้าใจ จนกว่าการฟังสามารถจะทำให้ถึงลักษณะของธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ละลักษณะเฉพาะอย่างๆ จริงๆ นี่คือประโยชน์ของการฟัง ถ้าประโยชน์ของการฟังเพียงแต่จะรู้ว่าฉันทะเกิดกับจิต นอกจากจิตที่เว้นเช่น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น คือการฟังธรรมจะรู้เรื่องจิตกับเจตสิก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ให้เข้าใจถูกจนระลึกได้ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังมี และรู้ความจริงว่าเป็นธรรมลักษณะนั้นๆ ไม่ใช่เรา

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ก็คือรู้ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่เช่นนั้นก็เป็นเรื่องราว แต่ทั้งๆ ที่ทุกอย่างเป็นธรรม เรารู้ความเป็นธรรม หรือยัง

    ท่านอาจารย์ เวลาสงสัยอยากรู้นั่น อยากรู้นี่ ก็ลืมแล้วใช่ไหมว่าในขณะนั้นลักษณะที่สงสัยเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    อ.กุลวิไล เพราะทั้งหมดเป็นธรรม ความที่เราเคยชินกับบัญญัติ หรือเรื่องราวต่างๆ หรือความคิดนึก ย่อมปิดบังสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ พูดถึงบัญญัติ ได้ยินบ่อย พอได้ยินคำว่า “ปรมัตถธรรม” ก็มีคำว่า “บัญญัติ” ด้วย คำแปลก็มี ใช่ไหม แต่รู้ความลึกซึ้งของบัญญัติ และปรมมัตถ์ หรือไม่ เดี๋ยวนี้มีบัญญัติไหม ตอบง่ายมากว่ามีบัญญัติ แต่ความลึกซึ้งของคำนี้คืออะไร ถ้าไม่มีธรรมคือจิตธาตุรู้เกิดขึ้น ไม่มีเจตสิกซึ่งปรุงแต่งให้จิตเกิด ไม่มีรูปที่กำลังปรากฏก็จะไม่มีอะไรทั้งสิ้น


    Tag  ปรมัตถธรรม  พระคุณ  สัณฐาน  ปรมัตถ์  บัญญัติ  จิต  เห็น  ได้ยิน  ได้กลิ่น  ลิ้มรส   รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส  ปัญญัติ  สัญญาเจตสิก  เจตสิก  กิจ  เที่ยง  รูปร่าง  พื้นฐานพระอภิธรรม  โลภะ  ติดข้อง  สิ่งที่กำลังปรากฏ  จิตนิยาม  วิถีจิต  จักขุทวาร  จักขุทวาราวัชชนจิต  สัมปฏิจฉันนจิต  สันตีรณจิต  โวฏฐัพพนจิต  ชวนจิต  ฝัน  สัณฐาน  รูปร่าง  พุทธานุสติ  ธรรม  นิมิต  บัญญัติ  เรื่องราว  ความทรงจำ  พระไตรปิฏก  อรรถกถา  ฉันทะ  โทสมูลจิต  พิจาณา  ไตร่ตรอง  ใคร่ครวญ  กุศล  อกุศล  วิบาก  กิริยา  ปัจจัย  จักขุวิญญาณ  โสตวิญญาณ  อนัตตา  ลักษณะ  สงสัย  เป็นธรรมอย่างหนึ่ง  ธาตุรู้  ปรุงแต่ง  รูป  ความลึกซึ้ง  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566