พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 685


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓


    อ.กุลวิไล จะเห็นถึงความรวดเร็วของจิตไม่ต้องพูดถึงรูปทั้งๆ ที่รูปก็อายุมากกว่าจิตแต่จิตก็เกิดดับสืบต่อเร็วมากดูเหมือนเราเห็น และได้ยินพร้อมกัน ทั้งๆ ที่จิตเห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ส่วนได้ยินมีเสียงเป็นอารมณ์ ต่างทวาร และก็ต่างอารมณ์แต่ก็เหมือนพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงบัญญัติ ใช่ไหม ความละเอียดก็คือขณะนี้เป็นนิมิต ไม่ว่าจะเป็นเห็นขณะนี้ก็มากมายหลายขณะ รูปที่ปรากฏก็มากมาย เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เป็นนิมิตให้รู้ว่ามี แต่ไม่ได้เข้าใจความจริงว่าสิ่งที่ว่ามีเป็นเพียงนิมิตของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง ตรงนี้พอเข้าใจว่าปรมัตถ์คือสิ่งที่มีจริง และนิมิตก็คือการเกิดดับรวดเร็วของปรมัตถธรรมปรากฏให้รู้เป็นนิมิต

    ท่านอาจารย์ เป็นนิมิตต่างๆ เช่นความรู้สึกใช่ไหม ความรู้สึกไม่สบายใจไม่ใช่ ๑ ขณะ แต่เราสามารถจะรู้ได้ว่าไม่สบายใจเพราะว่าสภาพที่เป็นความรู้สึกไม่สบายใจมีจริงๆ เกิดดับสืบต่อจนปรากฏให้รู้ได้ว่ามี แต่ตัวที่มีจริงๆ เกิดแล้วดับแล้วอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้เข้าใจใช่ไหม

    ผู้ฟัง พอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีความสงสัยเรื่องปรมัตถธรรมซึ่งเกิดดับเป็นนิมิต ไม่ว่าจะเป็นรูปนิมิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เวทนานิมิตความรู้สึก สัญญานิมิตความจำ สังขารนิมิตคือเจตสิกทุกอย่างที่เกิดให้รู้ได้เพราะว่าเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นนิมิตของสิ่งนั้น และวิญญาณนิมิตคือขณะที่กำลังเห็น หรือเมื่อไรก็ตามแต่ เช่นได้ยินก็เกิดดับสืบต่อจนรู้ว่ามี เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีนิมิตจะรู้ได้ไหมว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นนิมิตนั้นเองเป็นบัญญัติธรรม เป็นธรรมที่ทำให้มีการรู้ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีนิมิตจะรู้ได้ไหม ก็รู้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีปรมัตถธรรมจะมีนิมิตไหม ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นบัญญัติก็คือให้รู้ได้จากนิมิตที่ปรากฏนั้นเองว่าเป็นอะไร แต่ถ้าไม่มีนิมิตก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่รู้แล้วสิ่งที่จำให้รู้ได้นี่จำว่าเที่ยงว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะสัญญาจำบัญญัติจากการที่จำนิมิต

    อ.กุลวิไล บางคนพอศึกษาพระอภิธรรมแล้วคิดว่าพอมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์แล้วจะไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ จะไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ เกิดมาถ้าไม่มีบัญญัติจะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ที่มาที่ไปว่าบัญญัติมาจากไหน ถ้าไม่มีนิมิตจะรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ได้ว่าเป็นคน ให้รู้ได้ว่าเป็นดอกไม้ ให้รู้ได้ว่าเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เพราะนิมิตเป็นอย่างนั้น เวลาที่เห็นดอกกุหลาบนิมิตตะของดอกกุหลาบก็ไม่เหมือนกับนิมิตตะของดอกกล้วยไม้ เพราะฉะนั้นทั้งสองอย่างเป็นนิมิตตะของรูปซึ่งเกิดดับสืบต่อ แต่เกิดดับสืบต่อให้รู้ได้ว่าเป็นอะไร นั่นคือจากนิมิตก็มีการจำนิมิตนั้น เป็นเรื่องราวเป็นสิ่งต่างๆ

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวที่ท่านอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับเรื่องของสติที่ระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นสติระลึกที่นิมิตของธรรม หรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นจะเป็นรูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิตตลอด จนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ขณะนั้นก็รู้ด้วยว่านิมิตนั้นเป็นนิมิตของปรมัตถธรรม แสดงว่าต้องมีปรมัตถธรรม แต่เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรมเกิดแล้วดับแล้วสืบต่อเป็นนิมิตให้รู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละอย่าง เช่นนิมิตของเวทนาก็เป็นเวทนา นิมิตของสัญญาก็คือการจำ เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมอย่างไรเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นนิมิตของสภาพธรรมนั้น สติก็เกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ไม่ใช่นิมิตโดยไม่มีปรมัตถธรรม

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงขณะที่ฟังเริ่มที่จะเข้าใจว่ามีธรรม และมีนิมิตคือมีสิ่งที่ปรากฏอยู่ ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏกับสติที่ระลึกคือหมายความว่ากำลังของความเข้าใจเพิ่มขึ้นจนกว่าที่สติจะระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เข้าใจว่ามีปรมัตถธรรมแล้วก็เกิดดับสืบต่อเป็นนิมิต แล้วเวลารู้ว่านิมิตนนั้นเป็นอะไรนั่นคือบัญญัติเพราะนิมิตนั้นมี เวลานี้ถ้าจะมีการเริ่มเข้าใจ ใช้คำว่า “เริ่มเข้าใจก่อน” ยังไม่ถึงสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน เริ่มเข้าใจถูกตามความเป็นจริงว่าขณะนี้เป็นธรรม ขณะฟัง

    อ.วิชัย ขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ ขณะฟังใช่ไหม แต่ลักษณะของเห็นเป็นธรรม หรือยัง

    อ.วิชัย เพียงเข้าใจแต่ยังไม่รู้ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้สติปัฏฐานจะเกิดรู้อะไรถ้าไม่เข้าใจก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีในขณะนี้ตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรมไม่ต้องไปคิดถึงนิมิต เพราะว่าขณะที่คิดถึงนิมิตไม่ได้รู้ถึงลักษณะของธรรม

    เพราะฉะนั้นมีลักษณะของธรรมที่เป็นนิมิต ไม่ใช่ว่ามีนิมิตโดยไม่มีลักษณะของธรรม เพราะฉะนั้นสติก็เริ่มเข้าใจลักษณะของธรรมที่ปรากฏเป็นนิมิตของธรรมนั้น จนกว่าจะเพิ่มการรู้ว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เห็นไหมว่าจะไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่มีชื่อ และก็ไม่มีนิมิตที่จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่มีความเข้าใจถูกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งซึ่งเพียงปรากฏให้เห็นเท่านั้น จะค่อยๆ นำไปสู่การไม่ติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะว่าจะไม่ใช่คนนั้นจริงๆ ซึ่งเหมือนมี แม้กำลังคิดก็เหมือนมีคนนั้นจริงๆ จะคิดถึงใคร เรื่องราวต่างๆ หน้าหนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์อะไรก็ตามแต่ พอคิดถึงคนหนึ่งมีคนนั้นในความคิด มีอะไรในความคิด คนนั้นมีจริงๆ หรือไม่ เข้าไปอยู่ในความคิดได้ไหม

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกำลังคิดถึงคนหนึ่ง ขณะนั้นมีอะไรจริงๆ ในความคิด

    ผู้ฟัง บัญญัติ

    อ.วิชัย ก็เป็นเรื่อง แต่ว่ามีจิตที่คิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นิมิตของปรมัตถธรรม ใช่ไหม

    อ.วิชัย ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่จากบัญญัติที่จำไว้ จากนิมิตที่มี จากปรมัตถธรรมซึ่งเกิดดับ

    อ.วิชัย ซึ่งก็แตกต่างแน่นอนจากนิมิตของสิ่งที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบัญญัติก็มีหลายอย่างใช่ไหม อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นนิมิตรู้ว่าเป็นอะไรนั่นคือบัญญัติ เพราะนิมิตนั้นจึงทำให้รู้ว่าเป็นอะไร บัญญัติคือรู้ได้โดยประการ นั้นๆ ที่เป็นนิมิตนั้นๆ ไม่ใช่เป็นอย่างอื่น

    อ.วิชัย ถ้าขณะที่สติเกิด ขณะนั้นความรู้คือรู้แน่นอนว่าเป็นความต่างกับความที่เพียงเข้าใจใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีนิมิต จะรู้อะไรไหม ไม่รู้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เท่าที่ปัญญาเริ่มจะรู้ได้ เริ่มจากการเข้าใจแล้วก็สามารถที่จะรู็ ไม่ใช่เพียงวันนี้ เพียงแต่ว่าเมี่อไรมีปัจจัยพอที่จะเกิดเข้าใจขึ้นว่าขณะนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ประโยชน์มหาศาลไหม เพราะความจริงมีเท่านี้เอง สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเกินกว่านี้ไปไม่ได้นอกจากเป็นธรรม หรือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีจริงที่ปรากฏให้เห็นได้ เกินจากนี้คือไม่ใช่สิ่งนี้ที่กำลังปรากฏให้เห็นได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อสัจจะความจริงเป็นอย่างนี้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อละ การที่จะอบรมเจริญปัญญา หรือแม้การฟังไม่ใช่เพื่อเราจะรู้มากเข้าใจมากจะเห็นถูก แต่เพื่อละความไม่รู้ สิ่งนี้สำคัญที่สุดเพราะไม่มีเรา แต่มีความไม่รู้มากมายมหาศาลพร้อมกับจิตที่เกิดขึ้นกับความไม่รู้นั้นนานแสนนานแล้วด้วย และก็ยังอยู่ในจิตทุกขณะด้วยตราบที่สิ่งที่สะสมมายังไม่ได้ดับไปด้วยปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงได้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ บางคนคิดถึงวิปัสสนาญาณสักญาณหนึ่งก็ยังดีบางคนบอก แค่นามรูปปริจเฉทญาณชาตินี้ก็พอแล้ว หวังน้อยเหลือเกินหวังแค่นั้นแต่ความจริงถ้าได้มากกว่านั้นก็เอาใช่ไหม เพราะต้องการแต่ไม่ใช่เพื่อละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่มีวันถึงด้วยความไม่รู้ซึ่งทำให้ต้องการ

    นี่คือความละเอียดของธรรมแม้แต่การฟังก็ต้องรู้จุดประสงค์ของการฟังว่าฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังฟังให้เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องสติ หรือว่าสติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้เริ่มเข้าถึงอรรถความจริงนี้ หรือยังว่าแท้ที่จริงหลงติดข้องคิดว่ามีคน มีสิ่งต่างๆ ในสิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิตจริงๆ แต่ความจริงปรมัตถธรรมเกิดแล้ว ดับแล้ว หมดแล้วไม่เหลือ

    เพราะฉะนั้นเพียงเมื่อสิ่งนี้ยังปรากฏคือเห็นก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเริ่มมีความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เป็นความเข้าใจถูก หรือไม่ ขณะนั้นมีสติไหม

    อ.วิชัย มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ สตินั้นกำลังรู้อะไร

    อ.วิชัย ก็รู้ และระลีกได้ในสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ต้องใช้คำว่าสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐานไหม

    อ.วิชัย ไม่ต้องกล่าว

    ท่านอาจารย์ พอนึกถึงไม่ใช่แล้ว เป็นนึกถึงคำ ไม่ใช่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นหนทางนี้เป็นหนทางที่ไกลมาก เพราะว่าอวิชชามาก และกั้นอยู่ตลอดเวลา แม้แต่การที่จะก้าวไปสู่ความเข้าใจเพื่อละความไม่รู้ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ

    อ.วิชัย การที่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ก็เพราะว่าไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้นถ้าความรู้คือปัญญาเกิด ขณะนั้นจะติดในนิมิตอนุพยัญญชนะไหม

    ผู้ฟัง ไม่ติด ถ้าปัญญาเกิดรู้ลักษณะนั้นก็จะไม่ติด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดคำว่า “ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ” เพราะว่าในขณะนั้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏสืบต่อมา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทุกคนรู้จักชื่อคุณประทีปใช่ไหม

    ผู้ฟัง รู้จัก

    ท่านอาจารย์ ชื่อเป็นอะไร ยังคงมีคุณประทีป หรือไม่ หรือว่าไม่มีคุณประทีปถ้าไม่คิด ถ้าเข้าใจถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ถูกต้องไหม สัจจะที่เป็นปรมัตถสัจจะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เมื่อไรไม่ติดข้องแล้วก็รู้ความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นใครดอกไม้ต้นไม้อะไรก็ตามที่ปรากฏให้เห็นได้ เป็นเพียงธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริงซึ่งปรากฏให้เห็นได้กับจิตซึ่งกำลังเห็นเท่านั้นเอง

    ถ้าจิตเห็นไม่เกิดสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้แม้มีจริงก็ไม่ปรากฏว่ามี และความจริงก็มีเพียงสั้นมากคือเกิดแล้วดับแล้วด้วย เพราะฉะนั้นเห็นก็ไม่ใช่เห็นสิ่งซึ่งที่กำลังมีในขณะนี้เพราะว่าเกิดดับสืบต่อ ด้วยเหตุนี้คิดว่ามีคนนั้นคนนี้ มีเมื่อไร

    ผู้ฟัง มีเมื่อมีนิมิตปรากฏ และคิดถึงนิมิต

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน กลับไปบ้านคิดถึงมูลนิธิได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดได้

    ท่านอาจารย์ คิดได้ ถ้าไม่คิดมีมูลนิธิไหม

    ผู้ฟัง ชั่วขณะที่ไม่คิดก็ไม่มีมูลนิธิ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราคิดว่าก็ต่อเมื่อคิด แต่สิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมแม้ไม่คิดก็มี อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ไม่ต้องคิด เพราะมีจริงๆ กำลังเห็นต้องคิด หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้องคิด ก็เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็รู้จักปรมัตถธรรมกับสิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นแล้วความหมายของนิมิตอนุพยัญชนะก็ละเอียดลึกซึ้ง และก็รวดเร็วเหลือประมาณที่จะเข้าใจได้ในระดับที่ผมศึกษาอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้คิดว่าจะละกิเลสได้โดยไม่รู้ เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง คงเป็นไปไม่ได้เพราะว่าไม่รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    อ.กุลวิไล พูดถึงความหมายของนิมิตก็คืออาการเกิดดับสืบต่อของสิ่งที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรม อย่างรูปนิมิตที่ปรากฏตอนนี้ ส่วนอนุพยัญชนะก็คือส่วนละเอียดของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อนั่นเอง เพราะฉะนั้นก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่มีในขณะนี้ แต่ให้รู้ได้เพราะว่าเป็นบัญญัติที่เราคิดขี้นมาว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะไม่ติดคำ แต่เราเข้าใจความหมายความจริงของสภาพธรรมก็ไม่มีเครื่องกั้น แต่พอเราไปนึกถึงคำนั้นคำนี้อย่างเมื่อกี้นี้มีอนิมิตตะใช่ไหม แต่ความจริงหมายความถึงอะไรคิดเอง ว่ามี อะ แล้วก็นิมิตตะคือขณะที่ไม่มีนิมิต แต่ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าเมื่อไรที่จะไม่มีนิมิต

    อ.กุลวิไล ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นพระนิพพานนั่นเอง เพราะว่าปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จิต เจตสิก และรูปเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะสภาพธรรมเหล่านี้เกิดดับสืบต่อเพราะเราไม่เห็นการเกิดดับของสภาพธรรามจึงเป็นนิมิตของสิ่งที่มีจริง แต่พระนิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป ไม่มีนิมิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องละเอียด ยิ่งละเอียดยิ่งไตร่ตรองแม้แต่คำที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วๆ เล่าๆ ก็จะเข้าใจขึ้นอีกได้

    อ.กุลวิไล มีท่านผู้เขียนมาอยากทราบว่าวันคล้ายวันปรินิพพานของพระอัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือท่านพระสารีบุตร กรุณากล่าวให้สาธุชนทราบเพราะว่าเพื่อที่จะบูชาพระคุณของท่าน และก็มีท่านนำพวงมาลัยมาถวายด้วยในวันนี้ เรียนเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น จริงๆ ไม่ใช่วันคล้ายเป็นวันครบรอบ วันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นวันครบรอบวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตรเถระซึ่งเป็นพระอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา ซึ่งก็ตรงกับวันนี้เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว

    เพราะฉะนั้นกล่าวถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ก็ควรที่จะได้น้อมนึกถึง ระลึกถึงพระคุณของพระอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญาก็คือท่านพระสารีบุตรเถระ ซึ่งก็มีข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฏกในสังยุตตนิกายมหาวารวรรค จุนทสูตร คือในปีนั้นเป็นปีแห่งการสูญเสีย เพราะว่าท่านพระสารีบุตรเถระปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ก็คือตรงกับวันนี้ นับไปอีก ๑๕ วันท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ปรินิพพาน และถัดมาอีกถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

    เมื่อกล่าวถึงท่านพระสารีบุตรเถระท่านเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนามากมาย เป็นผู้ที่สามารถเกื้อกูลพุทธบริษัทได้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นก็ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ ท่านก็ดำเนินชีวิตในความเป็นอรหันต์ในความเป็นพระอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญาตลอด ก่อนที่ถึงวันสุดท้ายของท่าน

    ก่อนที่ท่านจะปรินิพพาน ๗ วันท่านก็มีปัญญาสามารถที่จะรู้ว่าชีวิตของท่านจะดำเนินไปอีก ๗ วัน ท่านก็นึกถึงพระคุณของมารดาของท่านคือนางพราหมณีผู้เป็นมารดา เพราะว่ามารดาของท่านเป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ แต่ว่ามารดาของท่านเองยังเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดอยู่ ท่านก็เลยคิดว่าเวลาที่เหลืออยู่นี้ก็จะให้เป็นประโยชน์ที่สุด ท่านก็เลยเดินทางไปเกื้อกูลมารดาของท่าน และก็ได้เกื้อกูลมารดาของท่านจนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน และท่านก็ปรินิพพานในวันนั้นคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒

    หลังจากที่ท่านปรินิพพานในวันนั้น มารดาของท่านได้ซาบซึ้งในพระคุณของลูกชายที่ทำให้ท่านได้รู้แจ้งธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน ได้มีการจัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่ มีการสร้างมณฑปสำหรับวางศพของท่าน และก็มีอุบาสิกาท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตรชื่อว่านางเรวตี หรือว่านางเรวดี ท่านก็ทำดอกไม้ทอง ๓ ต้นมาบูชาศพของท่านพระสารีบุตร ด้วยจิตที่เป็นกุศลท่านก็มาบูชา แต่ว่าเนื่องจากวันนั้นมีคนมากมายท่านก็เกิดล้มคนเหยียบท่านเป็นเหตุให้ท่านเสียชีวิตในวันนั้น แล้วไปเกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พิจารณาเห็นว่าที่ตัวเองได้สมบัติอย่างนี้เพราะว่าได้บูชาศพของท่านพระสารีบุคร ท่านก็มาพร้อมกับวิมานแสดงให้คนได้เห็นว่าที่ท่านได้สมบัติอย่างนี้เพราะว่าได้บูชาพระสารีบุตร

    เมื่อมีการฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว ท่านพระจุนทะซึ่งเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตรก็นำบาตร นำจีวร และก็นำเครื่องกรองน้ำที่ห่อธาตุ หรือว่าห่อกระดูกของท่านพระสารีบุตรกลับมาที่พระวิหารเชตวันไปหาท่านพระอานนท์ก่อน และก็ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงธรรมให้เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมคือในที่สุดแล้วก็จะต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ก็คือต้องมีการพลัดพราก ต้องมีการตายจากกัน

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งจริงๆ ก็คือมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ ไม่ใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ที่ว่ามีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่พึ่งนั้นก็คือมีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นที่พึ่งซึ่งก็คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

    อ.ธิดารัตน์ คุณคำปั่นพูดถึงท่านพระสารีบุตรเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ในครั้งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไปโปรดพระมารดาที่ดาวดึงส์ แล้วก็แสดงพระอภิธรรมบนดาวดึงส์แล้วเวลาที่ท่านจะต้องลงมาฉันภัตราหาร ท่านก็จะแสดงมาติกาซึ่งเป็นหัวข้อของพระอภิธรรมให้แก่ท่านพระสารีบุตร แล้วท่านพระสารีบุตรก็แสดงพระอภิธรรมตามหัวข้อของมาติกาให้กับลูกศิษย์ของท่าน ๕๐๐ คน ซึ่งก็ได้นำสืบๆ มา เวลาเราศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียดก็ทราบได้ว่าปัญญาของท่านพระสารีบุตรแม้เพียงฟังหัวข้อ และมาติกาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ขยายความต่อ เวลาที่เราศึกษาธรรมก็น้อมนึกถึงทั้งพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์ทั้งหลายที่ท่านสืบๆ มา ส่วนถ้าเป็นพระสูตรก็ท่านพระอานนท์เป็นผู้ทรงจำ

    อ.กุลวิไล ท่านผู้เขียนเขียนมาว่า “กราบเรียนท่านอาจารย์วันนี้เป็นวันลอยกระทงในสมัยพุทธกาลมีวันลอยกระทงอย่างวันนี้ไหม"

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีศรัทธาที่จะบูชาคุณของพระรัตนตรัย และเนื่องจากเห็นว่ากระทงนี้สวยงามมากก็เลยนำมาบูชา แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของอกุศลที่จะไปสนุกสนานรื่นเริงเพียงแต่ว่าเมื่อวันนี้มีดอกไม้ที่ประดิษฐ์อย่างสวยงามเป็นกระทงก็ได้นำกระทงนั้นมาบูชาพระรัตนตรัย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566