พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 688


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    อ.กุลวิไล ท่านผู้ถาม ถามต่อว่า ขอคำอธิบาย "ความไม่สันโดษในกุศลธรรม”

    ท่านอาจารย์ กุศลมีแล้วยังต้องการให้คนอื่นรู้ไหมว่าเรามีกุศล เราเป็นคนดี เราเก่ง เรารู้ หรือว่าดีก็ดีแล้ว ทำไมจะต้องการให้คนอื่นได้รู้ ถ้าอย่างนั้นก็คือไม่สันโดษ แม้ในปริยัติคนที่มีการศึกษามีการเข้าใจพระธรรมจำเป็นต้องบอกคนอื่นไหม แต่ถ้าบอกก็คือว่าไม่สันโดษ

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องความเป็นธรรมทั้งหมด แม้แต่สภาพของจิตที่เป็นปัจจัยให้พูดในขณะนั้นด้วย

    อ.วีระ อาจารย์อรจีราถามว่าการฟังนี้ ถ้าอ่านจะได้ไหม หรือจะทำอย่างอื่นได้ไหมถ้าเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา อาจารย์คำปั่นช่วยกรุณาขยายความตรงนี้

    อ.คำปั่น ปัญญาคือความเข้าใจถูกเห็นถูกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องมีเหตุมีปัจจัย เริ่มต้นที่การได้พบกับบุคคลผู้ที่มีปัญญา บุคคลผู้ที่เป็นบัณฑิต บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรที่สามารถที่จะให้ความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงได้ เมื่อเข้าไปหา หรือเข้าไปพบกับบุคคลผู้ที่มีปัญญาแล้วก็ย่อมจะได้ฟังความจริง ได้ฟังในสิ่งที่มีจริงจากผู้นั้น เป็นการได้ยินได้ฟังในสิ่งที่มีจริงจากบุคคลผู้ที่มีปัญญา

    เมื่อได้ฟังแล้วไม่ใช่เพียงแค่ฟัง ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง มีการทบทวนในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งจริงๆ แล้วการศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นจากการอ่าน หรือว่าจากการฟัง จากการสนทนาก็เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาทั้งสิ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคลว่าจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน

    จะเห็นได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประกาศพระศาสนาด้วยการแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษาแห่งการประกาศพระธรรมของพระองค์ เพื่อเกื้อกูลให้สัตว์โลกนั้นได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ได้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างที่พระองค์ได้ทรงหลุดพ้นมาแล้ว

    นอกจากนั้นในบางครั้งบางคราวไม่ใช่การแสดงธรรม แต่เป็นการสนทนาธรรม มีการถามปัญหาเพื่อให้พระองค์ได้ทรงตอบเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังอย่างเช่น ในหลายพระสูตรที่เป็นการถามปัญหาของบุคคลต่างๆ หรือว่าในเรื่องของเทวดาที่มาทูลถามปัญหา พระองค์ก็ได้ตรัสตอบ สิ่งนั้นก็เป็นธรรมที่เกิดจากการตอบปัญหาที่มีผู้ถาม และสิ่งเหล่านั้นก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง

    ซึ่งจะเห็นได้ว่าในการแสดงพระธรรม การตอบปัญหาในแต่ละครั้งของพระองค์นั้นมีผู้ที่ได้บรรลุธรรมมากมาย เป็นพระอรหันต์ก็มี เป็นพระอริยบุคคลขั้นรองลงมาก็มีมากมายนับไม่ถ้วน ท่านเหล่านั้นบรรลุธรรมได้อย่างไร ถ้าหากท่านเหล่านั้นไม่เคยสะสม ไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาก่อน ไม่ได้สะสมปัญญามา ท่านเหล่านั้นจะเข้าใจธรรมได้อย่างไร

    ก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะได้รู้แจ้งธรรม ได้ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น ท่านก็ต้องมีวันนี้คือได้สะสมการฟัง การศึกษาพระธรรมในแต่ละภพแต่ชาติมาแล้วทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมในขณะนี้ว่า ไม่ควรที่จะประมาท มีโอกาสแล้วก็ไม่ควรที่จะขาดการฟัง ฟังด้วยดีด้วยความตั้งใจ ศึกษาด้วยความตั้งใจ ด้วยความเคารพ เพื่อความเข้าใจธรรมจริงๆ ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วการศึกษาพระธรรมจากการฟัง การอ่าน การสนทนา การถาม การตอบก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ คำถามของคุณอรจีรา และคุณวีระก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟัง ว่าจำเป็น หรือที่จะต้องฟัง จะอ่านได้ไหม หรืออย่างอื่นได้ไหม ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าฟังคืออะไร เวลานี้คุณวีระมีหนังสืออะไรที่ตัวบ้าง หรือไม่ เอามาด้วย หรือไม่ เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีแต่ฟังได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตามีเห็น หูมีได้ยินไม่มีหนังสืออ่านไม่ได้ใช่ไหม แต่ฟังได้ไหม

    ผู้ฟังฟังได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังคืออะไร ต้องมีเสียงแน่นอน ถ้าไม่มีเสียงจะไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น และเสียงนั้นต้องกระทบกับโสตประสาทรูปด้วย เพราะว่าเสียงในป่าก็มีแล้วก็ไม่มีใครได้ยิน แต่ว่าเวลาที่มีการได้ยินเกิดขึ้นก็ต้องหมายความว่าความจริงขณะนั้นมีอะไรความจริงขณะนั้นคือมีเสียง และมีรูปที่กายส่วนที่กลางหูซึ่งสามารถที่จะกระทบกับเสียง แต่หู หรือรูปนั้นไม่สามารถที่จะได้ยินได้ แต่เมื่อเสียงกระทบกับรูปนั้นก็เป็นปัจจัยให้มีจิต หรือธาตุรู้เกิดขึ้นได้ยินเสียง เพียงได้ยิน ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ สุนัขได้ยินเสียงเดียวกันกับมนุษย์ไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ งู ปลา อะไรก็ตามที่สามารถจะได้ยินได้ เมื่อเสียงนั้นเป็นอย่างนั้นจะเปลี่ยนเสียงนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ และเสียงนั้นมีความหมายเพราะว่าเป็นเสียงที่ไม่เหมือนกัน มีเสียงสูง มีเสียงต่ำแต่ว่าเมื่อมีการจำเสียงสูงเสียงต่ำซึ่งหลากหลายกันมากก็สามารถที่จะรู้เนื้อความ หรือเข้าใจในเสียงนั้นว่าหมายความถึงอะไร ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง เพราะจำ

    ท่านอาจารย์ เพราะจำเสียง เพราะฉะนั้นเวลาที่อ่านหนังสือ “สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน” เห็นตัวหนังสือสีดำสีขาวต้องมีความจำในสัณฐานรูปร่าง และความหมายของสิ่งที่ปรากฏ และจำเสียงด้วย หรือไม่

    ผู้ฟัง จำเสียง

    ท่านอาจารย์ สมัยหนึ่งถ้าคนทึ่ไม่รู้ภาษาไทย ภาษาไทยไม่เข้าใจ ก็เห็นได้ รูปร่างสัณฐานของตัวหนังสือก็ปรากฏได้แต่ไม่รู้ความหมาย ถูกต้องไหม แต่ที่ใช้คำว่ารู้ความหมายต่อเมื่อจำเสียง ถ้าสมัยหนึ่งเฉยๆ ไม่มีเสียงจะเป็นสมัยหนึ่งได้ไหม จะไม่มีสมัยหนึ่ง ไม่มีคำนี้แต่จะมีรูปร่างของตัวหนังสือปรากฏทางตาให้เห็นแล้วก็ไม่รู้ อ่านไม่ออก ใช่ไหม แต่พออ่านออกเพราะจำเสียง สิ่งที่ปรากฏสื่อให้รู้ว่าสัณฐานนั้นหมายความถึงเสียงอะไร ถ้าเป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษ คนที่อ่านภาษานั้นก็อ่านได้ แต่คนอ่านไม่ได้ก็เห็นรูปร่างสูงๆ มีขีดมีอะไรต่างๆ แล้วคืออะไร จะออกเสียงแม้แต่สักหนึ่งคำก็ออกไม่ได้ เพราะไม่คุ้นเคยกับการที่จะได้ยินเสียงนั้นแต่เห็นได้

    ด้วยเหตุนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอ่านพระไตรปิฏก หรืออ่านหนังสือ หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่เพียงเห็นตัวหนังสือ แต่ยังสามารถที่จะจำเสียงซึ่งเกิดจากการที่เขียนอย่างนั้นหมายความถึงเสียงอะไรจึงจะเป็นการอ่านได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าไม่ได้ออกเสียง เปิดหนังสือพระไตรปิฏก สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ไม่ต้องออกเสียง แต่นึกถึงเสียงแล้ว

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน จากการเห็น เพราะฉะนั้นจะเป็นการอ่านก็คือการจำเสียงโดยอาศัยรูปร่างสัณฐานนั้น ทำให้สามารถที่จะรู้ได้ว่าที่เห็นนั้นหมายถึงอะไร เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ในขณะนี้เป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ ไม่เข้าใจว่าสมัยโน้นใช่ไหม เพราะว่าคนละเสียง ถ้าเสียงของสมัยโน้นก็คิดถึงสมัยโน้น ถ้าเสียงในขณะนี้ก็คิดถึงความหมายของเสียงนี้ ในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำก็คือเสียง ถ้าใช้คำว่า “คำ” ไม่ใช่เพียงแต่เป็นสิ่งซึ่งปรากฏให้เห็น ถ้าปรากฏให้เห็นก็ไม่ได้อ่านอะไร ใช่ไหม ไม่มีเสียงอะไรออกมาทั้งสิ้น แต่ว่าในขณะที่ไม่ใช่เพียงเห็นแต่อ่าน ก็คือการจำเสียงจึงเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ทุกคนอ่านหนังสือไม่ได้อ่านออกเสียงก็มี ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้อ่านออกเสียงก็มี เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อ่านออกเสียงก็มี เพราะฉะนั้นก็เป็นความละเอียดของธรรมว่า เห็นขณะหนึ่ง และยังมีสภาพของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อมากมายจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเสียงของคำที่เห็นหมายความถึงอะไร

    เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังพระธรรมต้องมีเสียงแน่นอน แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้ภาษาไทยก็ไม่รู้ว่าคำนั้น เสียงนั้น หมายความถึงอะไร แต่เวลาที่ได้ยินเสียงเช่น ธรรม เข้าใจได้ทันที หรือไม่ ทุกคนได้ยินเสียงนี้หมด ธรรม

    ผู้ฟัง แต่ทุกคนไม่ได้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ หรือว่าคิดต่างๆ กันไป ไม่ตรงตามความหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกไม่ใช่เพียงได้ยินเสียง แต่ต้องมีความเข้าใจในเสียงที่มุ่งกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงให้เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจะอ่าน หรือจะฟัง หรือจะคิด คิดก็เป็นคำๆ ก็เป็นคิดเรื่องเสียงเหมือนกัน ถ้าขณะนั้นไม่ได้คิดถึงรูปร่างสัณฐาน แต่คิดถึงคำ หรือเสียง

    ผู้ฟัง ขณะที่ได้ยินเสียงไม่ได้คิด แต่รู้ว่าเสียงนี้คืออะไร หรือว่าเป็นคำว่าเสียงเพราะไม่รู้ว่าความหมายว่าอย่างไร อย่างนี้เหมือนกับว่าขณะนั้นไม่มีการตั้งใจที่จะพิจารณาเรื่องคำว่า “เสียง” หรือว่าเป็นสัตว์ที่ได้ยินเสียงเค้าก็รู้ว่าอ๋อนี่เป็นเสียงเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของความจำด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความจำใดๆ ทั้งสิ้นเสียงก็ผ่านไป โดยที่ไม่รู้ว่าเสียงนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงก็เป็นสิ่งที่ละเอียดที่จะต้องรู้ว่า แม้แต่จิตของสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าของมนุษย์ก็ต้องต่างกัน ที่ว่าเพราะอกุศลกรรมทำให้ไม่สามารถที่จะไตร่ตรอง และเข้าใจในเสียงที่ได้ยินประการหนึ่ง และสำหรับคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แม้ว่าได้ยินเสียง เข้าใจคำเข้าใจความหมายแต่ไม่สามารถที่จะถึงเนื้อความ หรืออรรถที่จะเข้าใจได้ก็อีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละขณะจิตซึ่งหลากหลายมาก และก็เป็นความละเอียดที่จะมีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็เพราะความไม่รู้จึงรวมเห็นเป็นหนึ่ง หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าถ้าเป็นความละเอียดก็คือแต่ละขณะจิตตั้งแต่ได้ยินเกิดขึ้นเพราะปัจจัย แต่ว่าเพียงได้ยินเสียง หลังจากที่ได้ยินเสียงแล้วความจำเสียงต่างกันหลากหลาย ถ้าสามารถที่จะจำได้ละเอียดก็รู้ความหลากหลายนั้นละเอียดขึ้น

    อย่างการออกเสียงอักขระในภาษาบาลีซึ่งคนไทยจะออกเสียงอย่างหนึ่ง บางคนเพียงแค่จำแต่ไม่สามารถจะเปล่งเสียงออกมาได้อย่างนั้น นี่ก็เป็นแต่ละขณะของธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปอย่างละเอียดยิ่งที่จะทำให้รู้ว่า แม้แต่เพียงขณะนี้ที่ได้ยินความเข้าใจในความหมายนั้นก็ต่างกัน

    เวลาที่จิตคือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เกิด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นนามธาตุอีกประเภทหนึ่งเกิดร่วมด้วยกับจิตนั้น สภาพธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรมเพราะว่าสามารถรู้ได้ เป็นสภาพที่รู้ แต่ว่าไม่ใช่จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน เพียงเห็นเพียงได้ยิน แต่ว่าสภาพที่เกิดกับจิตซึ่งใช้คำว่า “เจ ตะสิ กะ” สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิตรู้สิ่งเดียวกับจิตแต่ทำหน้าที่ต่างกับจิตก็มีหลายประเภทเช่นสภาพจำ ขณะนี้ทุกคนจำได้ เหมือนเราจำ แต่ความจริงเพราะธาตุนั้นเกิดขึ้นจำในสิ่งที่กำลังปรากฏ และเวลาที่จำแล้วขณะนี้ก็จะมีการชอบไม่ชอบในสิ่งที่จำได้ สภาพธรรมที่ชอบไม่ใช่สภาพธรรมที่จำ

    เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยว่า ขณะจิตที่เกิดเป็นผลของอกุศลกรรมจะมีการเห็น การได้ยินก็จริงอยู่ แต่จะมีความสามารถถึงกับเข้าใจอรรถ หรือความลึกซึ้งของสิ่งนั้นได้ไหม อย่างได้ยินเสียงนี้ได้ยินเสียง แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจทุกคำ หรือไม่ หรือนานๆ ก็จะจำได้สักคำ แต่ว่าความหมายอรรถก็รู้พอประมาณแล้วแต่การสะสมซึ่งก็ทำให้เป็นสัตว์แต่ละประเภทที่แตกต่างกัน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็หมายความถึงว่าสัตว์ก็สามารถจะเข้าใจในอรรถ และพยัญชนะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ตามกำลัง

    ผู้ฟัง ตามกำลัง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไส้เดือนคงไม่ได้ใช่ไหม ไปสอนอย่างไร หรือว่าใครสามารถที่จะฝึกไส้เดือน ก็มีแล้วแต่

    ผู้ฟัง เคยเห็นในทีวีที่เค้าฝึกไส้เดือนให้เข้าไปอยู่รวมกัน

    ท่านอาจารย์ หรือแม้แต่จะบอกว่าให้วิ่งแข่งกัน เค้ารู้ไหม หรือว่าเค้าตะกุยตะกายไปวิ่งไปโดยเค้าไม่รู้ว่าเค้าจะชนะ หรือแพ้แต่ว่าเป็นเวลาที่เค้าจะวิ่งเค้าก็วิ่งกันเพราะปล่อยเค้าออกมา ก็เป็นเรื่องที่เห็นความหลากหลายมากของนามธาตุ และรูปธาตุซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีก

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นเสียงเป็นเสียง แล้วก็เสียงก็มีจริงทุกท่านคงไม่ปฏิเสธว่าเสียงปรากฏทางหู ไม่มีใครเห็นเสียงได้ เพราะเสียงไม่ได้ปรากฏทางตา นี่คือความจริงของธรรมที่มีในขณะนี้ ฉันใด ทางตาเช่นกัน ทางตาก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา สีสันมากมาย แต่ทำไมมีเรื่องราวมากมายก็เพราะว่าเรามีความจำ และรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นคืออะไร เหมือนกับตัวหนังสือ มีสองสี ดำกับขาว แต่เรื่องราวมาจากไหน จะเห็นถึงความต่างกันระหว่างเห็นกับคิด ซึ่งจริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่านี่คือธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพราะถ้าเราไม่รู้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นที่มีชีวิตอยู่ก็เพื่อที่จะมีปัญญาที่จะเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังอ่านอะไรอยู่ หรือไม่ ไม่มีตัวหนังสือ แต่รู้ว่าอะไรปรากฏเหมือนอ่านไหม ต่างกันตรงไหน เพราะว่าต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วจำรูปร่างสัณฐานไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ หรือเป็นขอบเขตสีดำ สีขาว สีน้ำตาลอะไรก็ตามแต่ รู้อรรถความหมายเมื่อไรก็เหมือนกับการอ่าน

    อ.กุลวิไล ตามหลักคำสอนของขวัญที่ควรให้กันปีใหม่คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ทุกคนคิดว่าให้ธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดแต่ใครจะรับขึ้นอยู่ว่ารับไหม ให้แล้วไม่รับก็มี ใช่ไหม

    อ.กุลวิไล ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดแต่ก็ไม่รับ สิ่งนั้นจะประเสริฐไหมในเมื่อผู้รับไม่แม้แต่จะรับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนที่รู้ค่า แต่ถ้าให้คนที่ไม่รู้ค่าสิ่งนั้นก็จะไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้นคำถามนี้ให้อะไรดีที่สุดก็ตอบได้เพียงแต่ว่าไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แต่ผู้รับชื่นชมในสิ่งที่จะให้ หรือไม่ แม้แต่ในขณะที่ฟังอย่างนี้ ชื่นชมคือมีความสุขขณะที่ได้ฟัง นั่นคือชื่นชม หรือไม่ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นธรรมที่จะให้ได้ไม่ใช่ให้เพียงตัวหนังสือ หรือว่าให้เป็นเสียง หรือว่าให้เป็นอะไร แต่ต้องสมควรแก่ผู้รับด้วย ถ้าผู้รับไม่ต้องการไม่ต้องให้

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า ผู้รับนั้นมีความต้องการอย่างไร หรือว่าเหมาะสมกับบุคคลนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่าอยากได้อะไร ถ้าให้สิ่งที่อยากได้ผู้รับก็พอใจ แต่เราไม่รู้ใจคนรับแล้วเราให้ธรรมแต่เป็นสิ่งที่ผู้รับไม่อยากได้ สิ่งนั้นก็ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้รับ

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าเงินทองนี้ให้เท่าไรไม่รู้จักพอ แต่ถ้าให้ปัญญาเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าเพราะว่าปัญญานั้นเป็นที่พึ่งไม่ใช่เพียงชาตินี้แต่ชาติหน้าด้วย

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์

    อ.คำปั่น จะกราบเรียนท่านอาจารย์เป็นการแนะนำสำหรับผู้ศึกษาพระธรรมว่าศึกษาอย่างไร พระอภิธรรมนั้นคืออะไร อภิธรรมนั้นไม่ใช่ภาษาไทย

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องรู้ ธรรมคือพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพราะฉะนั้นก็เป็นความจริงซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้เคยฟังมาก่อน ก็ไม่สามารถที่จะคิดเองได้

    แต่ว่าความลึกซึ้งของธรรมมีเกินกว่าที่ผู้ไม่รู้จะคาดคะเนได้ เช่นขณะนี้อะไรเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นการฟังธรรมหวังที่จะเป็นพระโสดาบัน หรือไม่ หรือว่าฟังเพราะว่าไม่รู้ธรรม ได้ยินแต่คำว่า “ธรรม” เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่าธรรมคืออะไร

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่หวังที่จะหมดกิเลส หรือว่าหวังที่จะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือว่าหวังที่จะเป็นพระโสดาบัน แต่ฟังเพื่อรู้ความจริง ที่สำคัญที่สุด “ฟังเพื่อรู้ความจริง” หมายความว่าก่อนฟังธรรมนี้รู้ความจริงอะไร หรือไม่ รู้ความจริงตามที่ชาวโลกเข้าใจว่าจริงแต่ไม่ใช่ความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง นี่เป็นความต่างกันมาก

    ด้วยเหตุนี้เวลาที่ชาวโลกศึกษาอะไรก็เพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าสำหรับการศึกษาธรรม ศึกษาเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังซึ่งเป็นเรื่องของความจริงขณะนี้ที่กำลังปรากฏ นี่เป็นความต่างกันมาก ไม่ว่าชาวโลกสาขาต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิศวกรรม หรืออะไรก็ตามแต่ ล้วนแต่เป็นเพียงเรื่องของธรรม แต่ไม่ได้รู้จักธรรม

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วเข้าใจก็เรี่มที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงแล้วก็ไม่รู้จนกว่าจะฟังเพื่อเข้าใจความจริง ถูกต้องไหม “ฟังเพื่อเข้าใจความจริง” ความจริงเป็นสิ่งที่ควรรู้ไหม รู้อะไร ก็รู้มาตั้งมากมาย จริง หรือไม่ จริงแค่ไหน แต่ว่าจริงแท้ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอีกไม่ได้ เป็นความจริงสำหรับโลก สำหรับทุกชีวิต ทุกขณะ ทุกกาลเวลา ก็คือความจริงซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ทรงแสดงว่าทุกอย่างขณะนี้ มีจริง

    เพราะฉะนั้นคนที่ฟังเริ่มคิดแต่ละคำที่ได้ฟังว่ามีจริงๆ หรือไม่ เช่นเดี๋ยวนี้ขณะนี้มีขณะนี้ที่เห็นจริงๆ หรือไม่ ได้ยินจริงๆ หรือไม่ คิดจริงๆ หรือไม่ สุข ทุกข์จริงๆ หรือไม่ ถ้าเป็นความจริงก็หมายความว่าเราไม่เคยรู้เรื่องความจริงเหล่านี้ว่าแท้ที่จริงสิ่งที่มีนี้เพียงเกิดปรากฏแล้วหมดไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกสักอย่างเดียว

    ขณะนี้ได้ยิน ก่อนได้ยินมีได้ยินไหม ไม่มี ก่อนเสียงปรากฏมีเสียง หรือไม่ ไม่มี เพราะฉะนั้นเสียงปรากฏเพราะอะไร เสียงไม่เกิดขึ้นเป็นเสียงจะปรากฏว่าเป็นเสียงไม่เป็นอย่างอื่นได้ไหม แม้แต่เสียงก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งในบรรดาสิ่งที่มีจริงในชีวิตจริงๆ ทั้งวันตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าสิ่งที่มีจริงปรากฏเพียงชั่วคราวแล้วก็ดับไป ยังไม่ทันจะรู้ความจริงของสิ่งนั้นสักอย่าง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    16 ม.ค. 2567