พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 695


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๙๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ คำที่ชินหูของขันธ์ ๕ ก็คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ที่กล่าวถึง ๑ และวิญญาณขันธ์ ๑ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเข้าใจแม้คำว่า “สังขารขันธ์” ก็ควรจะท้าวความไปถึงธรรมที่มีจริงเดี๋ยวนี้เพื่อที่จะเข้าใจขันธ์แต่ละขันธ์เดี๋ยวนี้ รูปขันธ์เดี๋ยวนี้ก็มี เข้าใจแล้ว นามขันธ์คือธาตุที่สามารถจะรู้ได้มี ๔ อย่างซึ่งเป็นที่ยึดถืออย่างยิ่งก็คือความรู้สึก ภาษาบาลีไม่มีคำว่า “ความรู้สึก” แต่มีคำว่า “เวทนา”

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้ภาษาไทยต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เวทนาไม่ใช่สงสารมากแต่ว่าเป็นความรู้สึกประเภทหนึ่งประเภทใดคือ สุข หรือทุกข์ โสมนัสคือดีใจ โทมนัสคือเสียใจ และถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ไม่ดีใจไม่เสียใจก็คือ ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ ภาษาบาลีก็เป็นคำว่า “อุเบกขาเวทนา”

    เพราะฉะนั้นความรู้สึกทั้งหมดวันหนึ่งๆ ไม่เคยขาดความรู้สึกทีละหนึ่งความรู้สึกซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีความรู้สึกเจ็บปวด เมื่อยเพราะอาศัยกายขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา ขณะใดที่ไม่เป็นทุกข์ อาศัยกายเกิดขึ้นมีความรู้สึกสบายขณะนั้นเป็นสุขเวทนา แต่ถึงแม้ว่ากายไม่เป็นทุกข์ แต่ใจเป็นทุกข์ได้ไหม

    เพราะฉะนั้นความรู้สึกโทมนัส ความรู้สึกไม่สบายใจก็ต่างกับความรู้สึกไม่สบายกาย และบางครั้งก็รู้สึกดีใจ สบายใจ ขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกทางใจไม่ใช่ความรู้สึกทางกาย และความรู้สึกอีกความรู้สึกหนึ่งก็คือความรู้สึกเฉยๆ ก็เป็นอีกหนึ่งขันธ์ เป็นนามธรรมอีกหนึ่งขันธ์ เดี๋ยวนี้ มีไหม จะรู้จักขันธ์เพียงชื่อ หรือว่ารู้จักขันธ์ที่กำลังเป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ หรือว่าดีใจ หรือว่าเสียใจ ซึ่งรู้ยากมากเพราะอะไร ปรากฏแล้วหมดไป ตลอดเวลานี้มีความรู้สึกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดดับตามเหตุตามปัจจัยโดยไม่รู้

    เพราะฉะนั้นการที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วจะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ก่อนอื่นแต่ละคำคือสิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ มีใครรู้รูปขันธ์บ้างไหม กำลังเห็นแท้ๆ ก็ไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่กำลังฟัง และเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ มีใครรู้ความรู้สึกบ้างไหม กำลังมีความรู้สึกจริงๆ แต่ก็ไม่รู้ ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่ทรงแสดง แม้แสดงถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ แต่ไม่ใช่ใครคนหนึ่งคนใดรู้ ต้องเป็นปัญญา ความเห็นถูกที่ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีว่าเป็นธรรม มิฉะนั้นการศึกษาธรรมสูญเปล่า เพราะว่าได้ยินแต่ชื่อ จำแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะที่มีจริงๆ แต่ละอย่าง เวลานี้ ๒ ขันธ์คงไม่ต้องทบทวน รูปขันธ์กับเวทนาขันธ์ ใครกำลังอยู่ที่นี่บ้าง ตอบได้ใช่ไหม ใครกำลังอยู่ที่นี่ได้เพราะจำ ถ้าไม่จำจะรู้ไหมว่าใคร เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เกิดดับสืบต่อจนเป็นนิมิตรูปร่างสัญฐานต่างๆ จะมีสภาพจำซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ จำทุกอย่างที่จิตรู้ ไม่ว่าจิตรู้อะไรสภาพนั้นจำ

    เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริงก็คือรูปธรรม ๑ และจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ และเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งเกิดในจิต เกิดพร้อมจิตรู้อารมณ์เดียวกับจิต และก็ดับพร้อมจิตด้วย ในภูมิที่มีรูป จิตเกิดที่รูปใดทั้งจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกันที่รูปนั้น นี่ใครรู้ คิดเองได้ไหม แล้วรู้ไปมีประโยชน์อะไร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่ามีเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไปเท่านั้นเองตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องรู้ประโยชน์ด้วยเพื่อเข้าใจแม้แต่คำว่า “ธรรม” แม้แต่คำว่า “ขันธ์” เดี๋ยวนี้กำลังจำ หรือไม่ที่กำลังพูด เห็นคนหนึ่งคนใดจำว่าเป็นคนนั้นเป็นอัตตสัญญา สัญญาที่จำสิ่งที่ปรากฏซึ่งเกิดดับเพราะความไม่รู้ว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นสิ่งที่เหมือนเที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือความหมายของอัตตสัญญา มีไหม กำลังมี หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าความจริงก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดแล้วต้องจำ ถ้าจะกล่าวถึงธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมคือจิต เจตสิก รูป และนิพพานซึ่งยังไม่มีไม่ปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็กล่าวเพียงจิต เจตสิก และรูป นิพพานยังไม่ปรากฏ และก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

    ด้วยเหตุนี้ จิตเป็นสภาพที่เพียงรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ นอกจากนั้นเป็นเจตสิกทั้งหมด ด้วยเหตุนี้สัญญาก็เป็นเจตสิกที่จำ ไม่ใช่จิต แต่จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้ ให้รู้ทุกครั้งว่าขณะที่เห็นนี้จำแล้ว และเมื่อไรจะรู้อย่างนี้ น่าสงสัยไหม มีจริงๆ และจำก็กำลังจำ แต่ที่จะรู้จักว่าจำเป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็จำหลากหลายมาก จำสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยรูปร่างสัณฐาน จำเสียงด้วย หรือไม่ จำกลิ่นด้วย หรือไม่ จำรสด้วย หรือไม่ จำสิ่งที่กระทบสัมผัสว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย หรือไม่ จำเรื่องราวที่เคยเห็นแล้วก็คิดนึกด้วย หรือไม่ ทั้งหมดตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก และรูป

    เพราะฉะนั้นขันธ์ที่ ๒ ซึ่งสำคัญเพราะว่าเกิดทุกขณะ และก็ไม่เคยรู้ว่า ไม่ใช่เรา ก็คือสัญญาเจตสิกซึ่งจำเป็นสัญญาขันธ์ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ เหลืออีก ๒ ขันธ์ เชิญคุณธิดารัตน์

    อ.ธิดารัตน์ กล่าวถึงรูปธรรมไปแล้ว รูปธรรมก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่ว่าจะเป็นรูปมากน้อยแค่ไหนจำแนกโดยนัยของรูป ๒๘ ก็เป็นรูปขันธ์แล้วจะมีความต่างกันหยาบละเอียดอย่างไรก็เป็นรูปขันธ์ เวทนาก็เป็นความรู้สึกซึ่งมีหลากหลาย ดีใจ เสียใจ เฉยๆ สุข ทุกข์ก็เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ซึ่งท่านอาจารย์เพิ่งได้กล่าวถึงก็คือความจำ ไม่ว่าจะจำด้วยกุศล หรือจำด้วยอกุศลต่างๆ ก็จะมีสัญญาซึ่งเป็นความจำ หรือแม้กระทั่งการเห็น การได้ยิน ก็มีสัญญาที่จำเพราะว่าเกิดกับจิตทุกดวง

    แล้วก็ที่เหลือเจตสิกอีก ๕๐ ประเภทก็คือสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็เป็นเจตสิกที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตอย่างเช่น ถ้าเป็นเจตสิกที่เป็นเจตสิกซึ่งเป็นฝ่ายไม่ดี เป็นอกุศลเจตสิกก็เกิดขึ้นรวมกับจิต จิตนั้นก็เป็นอกุศล หรือว่าเป็นเจตสิกฝ่ายดีฝ่ายโสภณเกิดขึ้น จิตก็เป็นจิตที่ดีงาม สังขารขันธ์จึงมีเจตสิกมากถึง ๕๐ ประเภท ยกตัวอย่างที่สำคัญเช่นโลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ก็ปรุงแต่งจิตให้เป็นอกุศลเป็นสังขารขันธ์ เจตนาที่เป็นไปในกุศล หรืออกุศลที่ปรุงแต่งอย่างยิ่งเป็นอภิสังขาร ที่จะทำให้มีการกระทำกรรมที่เป็นกุศลกรรม หรือว่าอกุศลกรรม มีเจตนาเป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่งชื่อว่า “อภิสังขาร” เพราะว่าปรุงแต่งมากกว่าสังขารขันธ์ประเภทอื่นๆ ปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะว่าปรุงแต่งจิตแล้วก็สะสมด้วย ที่จะทำให้ความเข้าใจในแต่ละขณะเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยกตัวอย่างคร่าวๆ

    อ.กุลวิไล ซึ่งแม้แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังมีสภาพธรรมที่เป็นสัญญาที่จำในอารมณ์ และก็เป็นขันธ์ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดแล้วก็ต้องดับไป กราบท่านอาจารย์ แล้วสังขารขันธ์ท่านอาจารย์ยังไม่ได้ให้ความเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้เป็นสังขารขันธ์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วธรรมที่มีจริงนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยต่างๆ หลากหลาย เพราะฉะนั้นคนที่ฟังต้องเป็นคนที่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจริงๆ เวลากล่าวถึงขันธ์ก็ต้องเข้าใจว่าขันธ์คืออะไร และขันธ์มีเท่าไร เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกจะกล่าวได้โดยนัยของประเภทก็คือว่ามี ๕ ขันธ์โดยประเภทของขันธ์ ๕ แต่ทุกอย่างเป็นขันธ์ เพราะฉะนั้นปัญญาขันธ์พูดได้ไหม พูดได้ ทั้งหมดเพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อให้สับสนแต่ให้เข้าใจจริงๆ ว่าธรรมเป็นธรรม เมื่อมีความเข้าใจแล้วจะกล่าวถึงโดยนัยใดๆ ก็ได้

    เมื่อกล่าวโดยนัยของขันธ์ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ มีคำว่าจิต เจตสิก หรือไม่ ไม่มี แต่จะไม่มีจิต เจตสิกได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงโดยนัยของขันธ์นี้ แสดงให้เห็นว่าไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และรูปนั่นเอง แต่โดยนัยของความยึดถือ เช่น ยึดถือรูปตั้งแต่เกิดมา ตั้งแต่เช้ามา แสวงหาอะไร ค้นหาอะไร

    อ.กุลวิไล รูป

    ท่านอาจารย์ รูปเท่านั้นเอง ใช่ไหม อะไรอยู่ที่ไหนนี้ค้นหาอะไร

    อ.กุลวิไล ก็รูป

    ท่านอาจารย์ ก็รูป จะไปหาอะไรที่ตลาด หาอะไรอีก

    อ.กุลวิไล หารูป

    ท่านอาจารย์ หารูป ชีวิตจะปราศจากความยินดีต้องการในรูปไม่ได้ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่ารูปก็เป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นโลกของนิมิตต่างๆ สิ่งของต่างๆ โดยที่ว่ารูปนั้นๆ เกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกของความหลง ความลวงไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าแท้ที่จริงถ้าไม่มีรูปซึ่งเกิดดับสืบต่อ สิ่งต่างๆ ซึ่งแสวงหาทั้งวันซึ่งเป็นรูปนี้ก็มีไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้การที่จะเข้าใจธรรมก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าแสดงโดยนัยของขันธ์ก็ต้องกล่าวถึงขันธ์ซึ่งเกิดดับซึ่งเป็นรูปกับนาม คือเวทนาขันธ์เป็นความรู้สึก สัญญาขันธ์เป็นความจำ คนที่ศึกษาแล้วทราบว่าทั้งความรู้สึก และความจำเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ได้แก่เจตสิกอีก ๕๐ ที่ไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดเป็นแต่ละขันธ์แต่รวมเป็นสังขารขันธ์ เพราะว่าสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เหล่านี้ก็ไม่ใช่ความรู้สึก และไม่ใช่ความจำ เพราะฉะนั้นเจตสิกอื่นๆ ก็เป็นสังขารขันธ์

    ขณะนี้กำลังมีสังขารขันธ์ไหม มีปัญญาขันธ์ไหม เข้าใจเมื่อไรเป็นปัญญาเมื่อนั้น ปัญญาเกิดแล้วดับไหม เห็นไหม พอพูดถึงปัญญาขันธ์ก็มุ่งไปที่สภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้น และดับไป เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าจะกล่าวว่าเจตสิกแต่ก็เกิดดับเป็นขันธ์ เพราะฉะนั้นพอพูดถึงปัญญาขันธ์ ปัญญาความเข้าใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โลภะได้ไหมขันธ์ มากเลยก็รวมเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นก็เว้นเวทนาเจตสิกกับสัญญาเจตสิก เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ ก็เป็นสังขารขันธ์ ๔ แล้วใช่ไหมเหลืออีก ๑ คือวิญญาณขันธ์ ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่า “วิญญาณ”

    อ.คำปั่น คำว่า “วิญญาณ” หมายถึงสภาพธรรมที่รู้แจ้งในอารมณ์ วิญญาณ หรือวิน ญา ณะ ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่สิ่งซึ่งมีการล่องลอย เพราะเหตุว่าวิญญาณเป็นนามธรรมประเภทหนึ่ง เป็นจิต จะใช้คำว่า “จิต หรือวิญญาณ” ก็ได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน เกิดขึ้นเมื่อใดต้องรู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏอย่างเช่น จิตเห็นในขณะนี้เรียกว่า “จักขุวิญญาณ” มีคำว่าวิญญาณต่อท้ายเพราะเหตุว่าเป็นจิตที่รู้แจ้งสีทางตา

    ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ในขณะนั้นจิตเห็นเป็นวิญญาณขันธ์ กล่าวโดยประมวลทั้งหมดแล้วจิตทุกประเภท ทุกขณะเป็นวิญญาณขันธ์ เมื่อเป็นขันธ์แล้วก็ไม่ใช่เรา ใช่ไหม เป็นสภาพธรรมที่จากไม่มี แล้วก็มี เมื่อมีแล้วก็ดับไป เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เกิดดับทุกประเภทมีแล้วกลับไม่มี เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไปไม่ว่าจะเป็นขันธ์ใดๆ ก็ตามรวมทั้งวิญญาณขันธ์ด้วย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า “เสียงเป็นเพียงเสียงเท่านั้น เห็นก็เป็นเพียงเห็นเท่านั้น ได้ยินก็ได้ยินเท่านั้น” ฟังแล้วเหมือนกับว่ายังไม่เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้เป็นเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังให้เข้าใจว่าเป็นเท่านั้นจริงๆ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นเท่านั้น เสียงเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นเสียงซึ่งปรากฏเมื่อโสตวิญญาณเกิดขึ้นรู้เสียงนั้น แล้วก็ดับ เสียงก็ดับ เพราะฉะนั้นเป็นเสียงเท่านั้น หรือไม่ เพียงเกิดปรากฏเมื่อจิตได้ยินเสียงนั้นแล้วก็ดับ เสียงที่ดับไปแล้วก็เป็นเสียงเท่านั้นจะเป็นอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็ฟังเข้าใจเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งว่าไม่เป็นอื่น

    ผู้ฟัง อีกประเด็นคำถามหนึ่งว่า เมื่อมาศึกษาแล้วก็พบว่าพระพุทธองค์ทรงใช้คำที่อธิบายลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมาก เช่น คำว่า “ธรรม” คำว่า “ธาตุ” คำว่า “ขันธ์” คำว่า “อายตนะ อริยสัจสี่ ปฏิจสมุปปาท” คำว่า “โลก” ทรงใช้คำที่มากมายจริงๆ เพื่ออธิบายสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากๆ ความจริงคำไม่มากนี้ในปัญญาน้อยๆ ก็เข้าใจยากแล้ว

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะเข้าใจคำหนึ่งคำเดียวโดยตลอดโดยถ่องแท้นี้ สามารถที่จะเข้าใจทันที หรือว่าต้องฟังโดยนัยหลากหลายจึงจะสามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นคำเดียวได้เช่นคำว่า “ธรรม” คำเดียว ใช้คำเดียวแล้วเราสามารถเข้าถึง และเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม ถ้าไม่กล่าวโดยนัยต่างๆ

    ผู้ฟัง ปัญญาน้อยก็กล่าวหลากหลายเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ว่าเห็นเป็นเห็น เห็นไหมแค่นี้ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเห็นเพียงเกิดขึ้นเห็น เป็นเห็นแล้วก็ดับ แค่นี้ก็ต้องพิจารณาแล้วว่าจริง หรือไม่

    ผู้ฟัง เคยคิดอีกสังขารขันธ์เขาก็ปรุงแต่งว่าเหมือนในสมัยพุทธกาลพระองค์ก็รู้ว่าผู้นี้ถ้ากล่าวเรื่องขันธ์จะทำให้บรรลุได้ ผู้นี้กล่าวเรื่องธาตุ ผู้นี้กล่าวเรื่องอายตนะก็จะเข้าใจแล้วก็บรรลุได้ ในหมู่พวกเรานี้ดูเหมือนว่าพอปัญญาน้อยแล้วก็ต้องรู้ทุกอย่าง ต้องรู้ที่ศึกษา และก็ยังไม่สามารถเข้าถึง

    ท่านอาจารย์ ปัญญาน้อยต้องฟังมาก หรือว่าปัญญาน้อยฟังคำเดียว

    อ.วิชัย จริงๆ ก็ได้ฟังพี่อรวรรณสนทนาเกี่ยวกับเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม จริงๆ แล้วก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เพื่อให้บุคคลที่ฟังสามารถเข้าใจได้ ก็จะมีคำหลายคำ คือเราฟังไม่จำเป็นต้องรู้ทุกคำใช่ไหมว่าคำนี้หมายถึงอะไร แต่เมื่อฟังคำใดสามารถที่จะเข้าใจเพราะว่าคำนั้นแสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ คือไม่ใช่เพียงแต่มุ่งที่จะสนใจ หรือว่าจำคำนั้น แต่เมื่อฟังแล้วสามารถที่จะพิจารณาเข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงๆ โดยอาศัยคำๆ นั้น อย่างเช่นกล่าวถึงวิญญาณขันธ์อีกขันธ์หนึ่ง ซึ่งวิญญาณหมายถึงการรู้แจ้ง คงเคยได้ยินว่าจักขุวิญญาณก็คือธาตุที่รู้แจ้งทางตา ขณะนี้เมื่อกล่าวถึงกำลังเห็นขณะนี้ เห็นจะใช้คำอื่นก็ได้อย่างเช่นจักขุวิญญาณ ก็คือแสดงถึงธาตุรู้ สภาพรู้ ซี่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งทางตาขณะนี้

    ดังนั้น คำหลายคำเพื่อฟังแล้วเข้าใจ แต่ความเข้าใจคือเข้าใจโดยธาตุสิ่งนั้นกำลังมีปรากฏ คงไม่ใช่ฟังแล้วพยายามที่จะนึกว่าเป็นธรรมอะไร อย่างไร ที่ไหน แต่ว่าขณะนี้แสดงถึงว่ามีธรรมต่างๆ ที่สามารถที่จะเข้าใจได้เพราะเหตุว่ากำลังปรากฏอยู่ เมื่อฟังเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจนั้นจึงค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่จำคำต่างๆ เดี๋ยวก็ลืม เพราะเหตุว่าความสนใจของเรามีมากมายในแต่ละวัน ความใส่ใจ สนใจ แต่ว่าเมื่อเข้าใจ และฟังอีกก็เป็นปัจจัยให้มีความเข้าใจในสิ่งที่เคยเข้าใจนั้นเพิ่มขึ้นอีก

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนเรื่องก็ได้จากขันธ์เป็นวิญญาณ ดีไหม เพราะว่าวิญญาณก็เป็นขันธ์แต่ว่าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือวิญญาณ ๖ ได้ไหม โดยนัยไหนก็ได้ ใช่ไหม ถ้ามีความเข้าใจว่าวิญญาณคือธรรมที่รู้ รู้สิ่งใดเฉพาะสิ่งนั้น แจ้งในสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งอื่น เช่นขณะนี้ที่ใช้คำว่าจักขุวิญญาณ ก็ต้องหมายความถึงสภาพที่ภาษาไทยธรรมดาก็ใช้คำว่า “เห็น” พอพูดถึงเห็นก็งง แต่พอพูดถึงจักขุวิญญาณรู้สึกเข้าใจดีไม่มีข้อสงสัย ใครๆ ก็เรียนเรื่องจักขุวิญญาณใช่ไหม แต่ว่าพอพูดถึงเห็นทำไมไม่เข้าใจกว่าจักขุวิญญาณเพราะเหตุว่าเป็นภาษาไทยแท้ๆ บอกใครทุกคนก็เข้าใจ เห็นคือเห็น แต่ไม่รู้ว่าเห็นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” ไม่ใช่ให้เราจำแล้วเหมือนเข้าใจ วิญญาณเป็นสภาพที่รู้แจ้งทางตาคือ ต้องอาศัยจักขุจึงเกิดขึ้นรู้คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่เราไม่เห็นเรานึกถึงสิ่งที่เคยเห็นเหมือนขณะที่กำลังเห็น หรือไม่

    อ.กุลวิไล ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณไม่ใช่คิด หรือจำสิ่งที่ปรากฏ แต่ต้องเป็นธาตุ หรือธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเห็นขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏจึงใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” ต้องอาศัยตา การที่เราจะเข้าใจแม้แต่คำที่ใช้อย่างวิญญาณ ๖ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณใช้ได้ไหม

    นี่คือการที่เราต้องมีความมั่นใจ และมั่นคงว่า เรากำลังศึกษาธรรมโดยอาศัยคำที่จะทำให้เราเข้าถึงความจริงของธรรม แต่ไม่ใช่ไปติด และงงกับคำต่างๆ ที่เราได้ยิน จะเป็นอย่างไรกับวิญญาณขันธ์ หรืออะไรอย่างนี้ใช่ไหม พอได้ยินคำว่า “มโนวิญญาณ หรือวิญญาณขันธ์” ก็สับสนไปหมด แล้วยังจะมีวิญญาณอื่นอีกต่อไปก็ได้ใช่ไหม แต่ถ้าเรามีความเข้าใจพื้นฐานที่มั่นคงเราก็ไม่สับสน และสามารถที่เข้าใจแม้ความหมายของคำว่า “วิญญาณ” ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งคือเห็นขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566