พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 697


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๙๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีเห็นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น แต่ไม่เคยรู้ความจริงว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เป็นสิ่งที่มีจริงเพียงอย่างเดียวในบรรดาความจริงทั้งหมด ขณะนี้มีสิ่งซึ่งทุกคนชินแต่ไม่รู้ว่าความจริงเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถจะปรากฏให้เห็นได้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือว่าค่อยๆ เข้าใจแต่ละคำแล้วก็ไม่เผิน แล้วก็รู้ว่าถ้ารู้จริงๆ ก็คือว่าไม่ใช่เพียงฟังเข้าใจ ต้องสามารถที่จะรู้ความเป็นธรรมซึ่งเกิดจึงปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นอย่างนี้ หรือยัง หรือว่าเป็นอย่างนี้ หรือไม่ เป็นอย่างนี้จริงๆ แต่ไม่รู้เพราะความเข้าใจยังไม่พอ มิฉะนั้นจะละความเป็นตัวตน หรือความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไร จะละว่าเราเห็นดอกไม้ เราเห็นคน เราเห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ จริง คือเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เมื่อจิตเห็นเกิด ถ้าจิตเห็นไม่เกิดสิ่งนี้จะปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้นความจริงแต่ละอย่างในชีวิตก็คือธรรมทั้งหมด ก่อนศึกษาธรรม ธรรมก็เป็นธรรม ศึกษาธรรมขณะนี้ธรรมก็เป็นธรรมต่อไปเข้าใจเพิ่มขึ้นแต่ละธรรมก็ยังคงเป็นธรรมไม่เปลี่ยนแปลงคือเป็นสิ่งที่มีจริงที่สามารถจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นอารมณ์ของจิตทุกคนมีจิต เกิดแล้วต้องมีจิตเป็นสัตว์เป็นบุคคลต้องมีจิต จิตเป็นธาตุรู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏกับจิตนั้น เช่น จิตได้ยินจะมีเสียงรู้ได้เฉพาะเสียง จิตเห็นก็เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ จิตที่รู้กลิ่นขณะนั้นต้องมีกลิ่น จะมีการรู้กลิ่นโดยกลิ่นไม่ปรากฏไม่ได้ จิตที่กำลังลิ้มรสในเวลาที่รสปรากฏก็เพราะเหตุว่ามีจิตคือธาตุที่สามารถที่จะลิ้มรสซึ่งหลากหลายมาก และขณะที่มีการกระทบสัมผัสก็รู้สิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ตึงบ้าง แข็งบ้าง ทางใจก็คิดนึกทุกอย่างรวมสิ่งที่เห็น เป็นเรื่องเป็นราวเพราะมีการจำสิ่งที่ปรากฏสืบต่อดับอย่างเร็ว เกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว โดยการสืบต่อทำให้ปรากฏเป็นสัณฐานที่จำได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตายก็คือแค่นี้ เกิดมาเห็น คิด ได้ยิน คิด ได้กลิ่น คิด ลิ้มรสคิด กระทบสัมผัส คิด และก็ยังคิดเรื่องอีกมากมายจากสิ่งที่ปรากฏ แต่เพียงจิตไม่เกิด หรือว่าจิตเกิดแล้วดับไปสิ่งที่จิตรู้ขณะที่จิตเกิดก็ไม่เหลือ เพราะฉะนั้นแต่ละภพแต่ละชาติก็คือเกิดมาก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะรู้แค่ไหน ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นแม้การฟังก็ต้องเคยสะสมมาเป็นอุปนิสสยโคจร ที่เราใช้ภาษาไทยว่าอุปนิสัย ใครมีอุปนิสัยชอบอะไร เพราะว่าสะสมสิ่งนั้นบ่อยๆ บางคนชอบทำกับข้าว บางคนก็ชอบการละเล่นต่างๆ บางคนก็ชอบศึกษาวิชาการต่างๆ แต่ละหนึ่งตามการสะสม

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ไม่ใช่การบังเอิญที่แต่ละคนจะฟังธรรม หรือว่าจะได้ยินได้ฟังธรรม เพราะเหตุว่าเสียงมีมากมายหลายเสียง แต่เสียงที่ทำให้สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏบางคนไม่สนใจ เพราะว่าไม่ได้สะสมการที่จะได้ยินเสียงที่ทำให้เข้าใจธรรม และเห็นประโยชน์ เสียงอื่นสนใจมากกว่า ใช่ไหม เสียงดนตรีก็น่าสนใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นเสียงอะไร

    เพราะฉะนั้นอุปนิสสยโคจรหมายความว่า อารมณ์ที่ได้สะสมมาจนกระทั่งจิตมีอุปนิสัยที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ตามอารมณ์นั้น อย่างคนที่ฟังธรรมตื่นมาก็ฟังแล้วเพราะสะสมอุปนิสัยที่จะฟังเพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ขณะที่คนอื่นไม่ได้ฟังเพราะสะสมอุปนิสัยที่จะสนใจในสิ่งอื่น

    เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่แต่ละบุคคลนี้เป็นอัธยาศัยต่างๆ กันก็เป็นธรรมแล้วแต่การสะสม เลือกไม่ได้ แต่ใครก็ตามที่สนใจในธรรมทั้งฟังทั้งอ่านทั้งสนทนาก็คือว่าเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสะสมมาที่จะทำให้ไม่สนใจในอารมณ์อื่น แต่ว่าสะสมในอารมณ์ที่จะทำให้เกิดปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้อย่างนั้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ หรือยัง เห็นไหม อุปนิสัยมีแล้ว ฟังแล้ว สนใจแล้ว เข้าใจแล้วแต่ก็ไม่ใช่เราที่กำลังมีความรู้เพียงระดับนี้ และก็จะไปรู้มากกว่านี้เกินกว่านี้เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ แต่ว่าถ้ามีการค่อยๆ สะสมขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็มีพระอริยบุคคลที่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เข้าใจแค่ไหนก็มีการฟังสะสมเป็นอุปนิสัยซึ่งจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้จริงๆ ในวันหนึ่ง

    ด้วยเหตุนี้ ถามว่ากำลังฟังเรื่องเห็น คิดอะไร ตอบได้ไหม คิดไม่ใช่เห็นแม้กำลังคิดก็ไม่รู้ว่าคิด เพราะฉะนั้นถามว่ากำลังเห็นนี้ รู้อะไร คิดอะไร ก็คือคิดเรื่องอื่น ไม่ได้รู้ที่ลักษณะของเห็นจนกว่าฟังเรื่องไหนมีสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังขณะนั้น แล้วขณะนั้นเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง นั่นคืออุปนิพพันธโคจร ไม่ทำให้ใจไปสู่สิ่งอื่นนอกจากสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง

    ขณะนี้กำลังเห็น รู้ที่เห็น หรือเปล่า รู้เฉพาะเห็น หรือยัง เข้าใจถูกว่าเห็นไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเห็นกำลังเห็นเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็นเป็นหน้าที่ของธรรมซึ่งเป็นจิต และเจตสิก วันไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เวลาที่เข้าใจเพิ่มขึ้นก็คือการละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏเพราะรู้ว่าต้องเข้าใจเท่านั้นไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึงอารมณ์ที่จิตสะสมมา เพราะว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สภาพธรรมที่สะสมก็คือนามธรรมนั่นเองคือจิต และเจตสิก แต่แล้วแต่ว่าจะสะสมทางฝ่ายดี หรือฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่จิตสะสมมาซึ่งจะเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแล้วก็เป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้น อย่างผู้ที่สะสมมาในการฟังพระธรรมแล้วก็เป็นปัจจัยให้มีความเข้าใจสนใจในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ กับบุคคลที่สะสมการฟังแต่ชื่อของธรรม และก็เรื่องราวของธรรม แต่ไม่ได้สนใจในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เข้าก็สะสมเหมือนกันแต่เขาก็จะเป็นบุคคลที่สนใจแต่ชื่อ เรื่องราวของธรรม

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ชื่อเป็นภาษาไทย จากโลกนี้ไปแล้วจะใช้ภาษาอะไร แล้วจะนึกถึงชื่อธรรมต่างๆ ซึ่งเคยฟังเพียงชื่อได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คงจะมีหลายท่าน หรืออาจทุกท่านก็ได้ที่เกิดในสมัยพุทธกาลแคว้นต่างๆ อาจเป็นพาราณสี หรือแคว้นมคธ หรืออะไรก็ตามแต่ ได้ยินคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสในภาษานั้น และก็เข้าใจในขณะนั้นแต่เข้าใจเพียงชื่อ แล้วเวลานี้คนที่เคยพูดภาษาบาลีแล้วก็เข้าใจภาษาบาลี พอมีคำภาษาบาลีให้ได้ยินเข้าใจไหม หายไปไหนหมด

    เพราะฉะนั้นเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นเพียงชื่อในภาษาไหน พอเป็นอีกภาษาหนึ่งอีกชาติหนึ่งอีกภพหนึ่งก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าความสามารถที่จะเข้าใจความจริงคือสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ว่าจะใช้ภาษาไหนก็สามารถที่จะเข้าใจได้ อย่างขณะนี้ใช้ภาษาไทยจะเป็นภาษาที่ทำให้เข้าใจธรรมได้ชัดเจน เพราะว่าภาษาบาลีก็ยังต้องแปลเพื่อที่จะให้เข้าใจธรรม ไม่ใช่แปลเพื่อที่จะไปแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนอะไร แต่เวลาที่ได้ยินแต่ละคำก็จะต้องมีความเข้าใจชัดเจนขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาที่เราใช้อยู่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่แท้จริงได้ถ้าเพียงแต่รู้จักคำนั้นโดยการที่จะพูดจะฟังเช่นคำว่า “จิต” ภาษาไทยแน่ๆ ใช่ไหม ใจ ภาษาอะไร ก็ภาษาไทย และจิตใจคืออะไรตอบได้ไหม ก็ตอบไม่ได้ แต่ถ้าเคยสะสมความเข้าใจสภาพธรรมเพียงได้ยินก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าหมายความถึงธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็นขณะนี้ กำลังได้ยินขณะนี้ กำลังคิดนึก

    อ.กุลวิไล เพราะว่าธรรมไม่มีชื่อ ถ้าเรามีความเข้าใจที่เป็นปัญญาในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารต่างๆ สะสมความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้จะเกิดเป็นบุคคลใด ใช้ภาษาใด แต่ธรรมก็มีจริง สามารถที่จะเข้าใจ และพิสูจน์ได้แต่ชื่อลืมไปหมด ดูอย่างชีวิตประจำวัน พอเราเกิดมาก็ต้องมานั่งเรียนหนังสือวิชาการ แต่ละคนก็เก่งไม่เหมือนกันตามการสะสม แต่ก็ต้องมาเรียนเรื่องราวของวิชาการในชาติใหม่นี้เอง แต่อัธยาศัยที่สะสมมาจะเห็นถึงความแตกต่างกันนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่าจิตเห็นภาษาบาลีเรียกว่าอะไร ตอบได้ใช่ไหม แต่ไม่ได้รู้จิตเห็นที่กำลังเห็น

    อ.กุลวิไล พูดถึงจิตท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงอารมณ์เพราะว่าจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ การที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นจิต ก็ต้องรู้ถึงความเป็นอารมณ์ของธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง ซึ่งถ้าท่านเรียนพระอภิธรรม ท่านก็แสดงถึงอารมณ์ ๖ อย่าง เรียนคุณวิชัยอาจเป็นการทบทวนให้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิต และเจตสิก

    อ.วิชัย อารมณ์ก็คงจะเคยได้ยิน แต่การที่เราคุ้นเคยคำว่า “อารมณ์” จะตรงกับที่พระผู้มีภาคทรงแสดงซึ่งทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริง หรือไม่ เราก็อยากจะคิดถึงอารมณ์คือจิตใจขณะนั้นว่าอารมณ์ดีก็อาจหมายถึงการที่จิตใจสบาย หรืออารมณ์ไม่ดีก็อาจหมายถึงการที่จะหงุดหงิดอะไรต่างๆ แต่ถ้าจริงๆ ถ้าเราพิจารณาว่าการที่จะมีความรู้สึก หรือว่าจิตใจที่ดีนั้นคือประสบกับอารมณ์อะไร

    เพราะเหตุว่าอารมณ์ก็หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ สิ่งใดก็ตามที่จิตรู้นั้นหมายความว่าสิ่งนั้นเป็นอารมณ์แก่จิตในขณะนั้น ซึ่งอารมณ์ก็เป็นปกติธรรมดาในชีวิตประวันเพราะเหตุว่าจิตก็เกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ขณะนี้ก็มีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์อย่างเช่นกำลังเห็นในขณะนี้ จิตเห็นจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสิ่งที่จิตเห็นกำลังเห็นอยู่ ซึ่งขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏต่างๆ แต่ว่าธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเหตุว่าบางครั้งเราอาจรู้สึกว่าเห็นเป็นบุคคลต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงแล้วขณะที่เห็นจริงๆ ไม่ใช่เห็นเป็นบุคคลชื่อนั้นชื่อนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น แต่การที่จะรู้ว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นสิ่งของต่างๆ นั้นเป็นคนละขณะกัน เป็นการคิดถึงสิ่งที่เคยทรงจำไว้ซึ่งธรรม เป็นสิ่งที่เมื่อฟังก็จะทราบถึงความละเอียด ซึ่งอารมณ์ที่ทรงแสดงมีทรงแสดงไว้ ๖ อย่างด้วยกัน

    ๑ รูปารมณ์ หมายถึงขณะนี้คือสิ่งที่กำลังปราฏในขณะนี้ จิตเห็น เห็นอะไร เห็นสีสันวัณณะต่างๆ แต่ว่าทรงแสดงถึงคำที่กล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นรูปารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้นี่เอง

    ๒ สัทธารมณ์ คือเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงใดก็ตามที่ปรากฏทางหูที่ปรากฏได้เสียงนั้นเป็นสัทธารมณ์คือขณะนั้นกำลังเป็นอารมณ์แก่จิตที่กำลังรู้ในขณะนั้นก็เรียกว่าเป็นสัทธารมณ์

    ๓ คันธารมณ์ คือกลิ่นไม่ว่าจะเป็นกลิ่นใดก็ตามก็ต้องมาปรากฏทางไหน ทางจมูกคือต้องมีกลิ่นนั้นที่จะมากระทบที่จมูก และที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต และเจตสิกเกิดขึ้นรู้กลิ่นที่มากระทบกับจมูกในขณะนั้น ซึ่งขณะที่ปรากฏขณะที่จิตรู้ ขณะนั้นก็รู้ เป็นคันธารมณ์

    ๔ อารมณ์ที่ ๔ เป็นรสารมณ์ ก็คงจะเคยลิ้มรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ดต่างๆ อะไรก็ตาม หรือว่ารสใดก็ตามที่ปรากฏทางลิ้น ขณะนั้นก็มีสิ่งนั้นจริงๆ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทรงแสดงว่าขณะนั้นเป็นรูปอย่างหนึ่งที่ปรากฏแก่จิตในขณะนั้นซึ่ง จิตที่รู้รสนั้นเป็นจิตประเภทอะไร ถ้าภาษาบาลีเรียกว่าเป็นจิตอะไรที่รู้รส “ชิวหาวิญญาณ” ก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้รสทางไหน ทางลิ้น หรือว่าทางชิวหาประสาทถ้าเป็นภาษาบาลี

    ๕ อีกอย่างหนึ่ง รูป ทางกายก็มีรูปที่มาที่มากระทบในขณะนี้ก็มีไม่ว่าจะเป็นแข็ง อ่อน เย็น ร้อน หรือตึงไหวก็มีรูปที่มากระทบกับกาย ซึ่งขณะที่รูปไม่ว่าจะเป็นแข็ง หรืออ่อน เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหวที่มากระทบ และก็จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น หรือว่ารูปนั้น รูปนั้นก็เป็นโผฏฐัพพารมณ์ คือรูปใดก็ตามที่มาถูกต้องที่กาย และมีจิตเกิดขึ้นรู้รูปนั้น รูปนั้นเป็นโผฏฐัพพารมณ์ ไม่ต้องกล่าวชื่อได้ไหม ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็มีแล้วกำลังปรากฏก็ทรงแสดงว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ๖ อีกอารมณ์หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก ไม่ปรากฏทางลิ้น ไม่ปรากฏทางกาย แต่เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งคือจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนี้ได้สิ่งนั้นเป็นธัมมารมณ์ คือธัมมารมณ์สามารถรู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น จะรู้ทางตาไม่ได้ จะรู้ทางหูไม่ได้ จะรู้ทางจมูกไม่ได้ จะรู้ทางลิ้นไม่ได้ จะรู้ทางกายไม่ได้ เพราะเหตุว่าเรากล่าวเมื่อสักครู่นี้การรู้ทาง ๕ ทวารนั้นเป็นการรู้รูปประเภทต่างๆ มีจิต ๗ รูปด้วยกัน แต่ว่าอารมณ์ที่จะรู้ได้ทางใจเป็นธัมมารมณ์ พอยกตัวอย่างได้ไหม อะไรที่สามารถรู้ได้ทางใจ อย่างเช่นเรากล่าวถึงจิต จิตซึ่งเป็นธาตุรู้จะเห็นจิตได้ไหม ไม่ได้ หรือว่าความรู้สึกสามารถจะทราบใช่ไหมว่ามีความดีใจเสียใจ ขณะนั้นก็สามารถที่จะรู้ความรู้สึกคือเวทนา แต่ไม่สามารถจะเห็นความรู้สึกบุคคลอื่นได้ ไม่สามารถจะได้ยินได้ แต่สามารถจะรู้ได้ทางใจเท่านั้น เวทนาความรู้สึกเป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจเป็นธัมมารมณ์ ธัมมารมณ์ก็มีหลายอย่างแต่สิ่งนี้เพียงยกตัวเท่านั้น นี้คืออารมณ์ ๖ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    อ.คำปั่น ก็จะขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ ในเมื่อมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ได้ฟังพระธรรมแล้วก็ไม่พ้นจากการได้ฟังชื่อ หรือเรื่องของสภาพธรรม ท่านอาจารย์จะมีอะไรเป็นเครื่องเตือนผู้ศึกษาพระธรรมไหม เพื่อไม่ให้เพลินไปกับชื่อไปกับเรื่องราวของสภาพธรรม แต่เพื่อน้อมเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ คุณคำปั่นก็พูดภาษาไทย ใครๆ ที่นี่ก็เข้าใจภาษาไทย เพราะฉะนั้นถ้าไม่คำนึงถึงคำอื่นที่เราไม่รู้จัก หรือว่าเราไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาษาบาลี ธรรมก็คือเดี๋ยวนี้ที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ ให้เข้าใจได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เรารู้จักธรรมแล้วในภาษาไทย เราก็รู้ว่าคำนี้ในภาษาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับชาวเมืองนั้นๆ นี้ใช้คำว่าอะไร เราก็จะทำให้ตรงกันใช่ไหม จะพูดว่าจิตเห็น หรือว่าจักขุวิญญาณ ตรงกันไหม วิญญาณคือสภาพรู้ซึ่งอาศัยจักขุประสาทเกิดขึ้นรู้ ถ้าไม่มีจักขุประสาท วิญญาณที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏก็เกิดไม่ได้แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏมีจริงๆ ก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าถ้าสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงด้วยภาษาที่คุ้นเคยแล้วก็มีโอกาสที่จะได้ฟังคำภาษาบาลีก็เก็บภาษาบาลีเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องไม่ประมาทในความลึกซึ้งในความยากของภาษาบาลีซึ่งถ้าไม่รู้จริงๆ เดาเองไม่ได้ และก็ใช้คำก็ผิดด้วย แต่ลักษณะของสภาพธรรมไม่ผิด

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าคนที่ไม่รู้ภาษาบาลีใช้คำภาษาบาลีผิดแต่ว่าคนที่เข้าใจภาษาไทยใช้ภาษาไทยด้วยกัน เข้าใจธรรม หรือสภาพธรรมจะเข้าใจผิดไหม ก็ไม่ผิด เพราะฉะนั้นเข้าใจธรรมโดยภาษาไหนที่อาศัยทำให้เข้าใจธรรมนั้นได้ ไม่ผิด แม้ว่าจะพูดภาษาอื่นซี่งไม่ใช่ภาษาของตนเองไม่ถูกต้องครบถ้วนแต่คนก็ยังสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้ ขณะที่ฟังธรรมนี้สามารถจะรู้อะไรได้ น่าคิดไหม กำลังฟังธรรมสามารถจะรู้อะไรได้ ดูเหมือนพอเป็นคำถามแล้วงง แต่ตามความจริงก็คือธรรมดาๆ “ฟังธรรมแล้วสามารถจะรู้อะไรได้ เข้าใจอะไรได้” ก็ต้องเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินชื่อสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ นี้มีจริงปรากฏ หรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏจะเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่จิตที่กำลังเห็นขณะนี้แต่เป็นจิตอื่นๆ ชื่อตามกิจหน้าที่ของจิตนั้นๆ เช่นสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ไม่ปรากฏในขณะนี้ แต่ว่าสามารถที่จะฟัง และเริ่มเข้าใจการเกิดดับสืบต่อของจิตตั้งแต่เกิดจนตายว่าจิตต้องมีในขณะที่เกิด ถ้าจิตไม่เกิด ไม่มีสิ่งที่มีชีวิตที่เป็นสัตว์โลกที่เป็นมนุษย์ หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่เมื่อมีจิต ธาตุรู้พร้อมกับเจตสิกที่เกิดขึ้น ขณะนั้นดับไปทันทีที่ทำกิจสืบต่อจากชาติก่อน ให้ทราบว่าขณะนี้จิตคืออะไร และก็จิตก็เกิดดับสืบต่อเร็วจนกระทั่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เข้าใจได้เช่นขณะนี้ เหมือนเห็น และได้ยินพร้อมกัน เห็นก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง ได้ยินก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566