พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 702


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๐๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔


    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ เสียงมีสัณฐานรูปร่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สูง ต่ำ มีไหม เบา ค่อย มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ หลากหลาย

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ จำได้ว่าเป็นเสียงอะไร และยังรู้ความหมายด้วยเพราะเสียงหลากหลายนั่นเอง หลายขณะแล้วใช่ไหม นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดดับผ่านไปแล้วไม่กลับมาอีกเลยสักอย่างเดียว

    ผู้ฟัง แต่ที่ท่านอาจารย์กล่าวแล้วก็ที่ตอบท่านอาจารย์เกิดจากความคิดนึกทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟัง เข้าใจแล้วก็คิด ไม่ใช่ฟังแล้วคิดเฉยๆ คิดคือได้ยินเสียงแล้วก็คิดคำแล้วก็เข้าใจว่า คำหมายความถึงอะไร เสียงหมายความถึงอะไร แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ นั่นจึงเป็นประโยชน์ของการฟัง

    ผู้ฟัง แต่ความคิดนึกนี้ อย่างเรื่องสัณฐานของเสียงไม่ได้เกิดทางหู

    ท่านอาจารย์ อะไรเกิดที่โสตประสาทรูป

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ จิตได้ยินขณะเดียวนอกจากนั้นเกิดที่หทยวัตถุ พูดทำไม เห็นไหมคะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่าลึกซึ้งใครก็บังคับบัญชา หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมยิ่งขึ้น ฟังเพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แล้วต่างกันอย่างไร ขณะที่จิตได้ยินเสียงกับจิตที่คิดถึงรูปพรรณสัณฐานของเสียง เสียงสูงเสียงต่ำ

    ท่านอาจารย์ มีรูปพรรณสัณฐานก็ไม่เป็นไร เสียงสูง เสียงต่ำ จะใช้คำนั้นก็แล้วแต่ แต่ว่าเวลาได้ยินแล้วเข้าใจคำที่ได้ยินไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก่อนเข้าใจคำมีเสียงไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ หรือพร้อมกัน

    ผู้ฟัง คนละขณะ

    ท่านอาจารย์ ก็ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าศึกษาเช่นนั้นหมายความว่า คิดว่าเห็นนั้นมีลักษณะอีกต่างหาก ไม่ใช่ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ พูดถึงเห็น กำลังเห็น ถ้ากำลังเห็นแล้วพูดถึงเห็นก็จะค่อยๆ เข้าใจเห็นขึ้น ผิดตรงไหน ตรงที่ไม่รู้ความจริงว่า เห็นคือเห็น ได้ยินคือได้ยิน และก็เกิดแล้วก็ดับไปทีละหนึ่งอย่าง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เข้าใจอย่างนี้จะถามเพราะได้ยินเพียงคำว่า “อารมณ์” แล้วได้ยินคำว่า “ปัจจุบัน” เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำว่า “ปัจจุบันอารมณ์” ก็ไม่รู้อะไรเพราะไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริงขณะนี้เป็นอารมณ์ของจิตซึ่งกำลังมีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ขณะที่กำลังเห็นจะมีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ไม่ได้นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ขณะได้ยินจะมีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ไม่ได้นอกจากเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ก็จะรู้ว่าปัจจุบันอารมณ์ก็คือสิ่งนี้ไม่ใช่ไปไปจำคำ ความหมายแล้วก็คิดแล้วก็สงสัยว่าหมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง ผมมีคำถามว่า การที่สหายธรรมแต่ละท่านเมื่อเห็นใครทำกุศล หรือทำความดีมักจะกล่าวคำว่า “อนุโมทนา” ขณะที่กล่าวอนุโมทนาขณะนั้นใจไม่น้อมไม่ปลื้มปิติไปกับการกระทำความดี หรือกุศลของเขา เพียงแต่กล่าวอนุโมทนาแต่จิตใจเฉยๆ ขณะนั้นขณะกล่าวอนุโมทนาด้วยเป็นการบ่นเพ้อธรรม หรือไม่

    อ.วิชัย แต่ละคนก็แตกต่างกันใช่ไหม ในการที่จะมีจิตใจที่ทราบถึงว่าบุคคลนั้นได้กระทำความดีประการต่างๆ แล้วก็มีใจยินดี ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ยินดีแม้จะไม่กล่าวคำก็ตาม แต่บางบุคคลก็เป็นปกติที่เมื่อมีใจยินดีที่บุคคลอื่นได้เจริญกุศลก็กล่าวว่า “ขออนุโมทนา” ก็คือแสดงความยินดีแก่บุคคลนั้นที่เขาได้ทำกุศล แต่ละบุคคลก็แตกต่างกันซึ่งก็ต้องทราบถึงว่าจิตใจขณะนั้นเพียงกล่าว หรือว่ามีใจยินดีที่เขาได้เจริญกุศลแล้วก็กล่าวคำอนุโมทนา

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อรู้อะไร ให้เข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง เพื่อให้รู้ธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่ธรรมปรากฏ ขณะนั้นรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ความจริงขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้รู้อะไรเพราะว่ากำลังคิดว่าแล้วคนนั้นเป็นอย่างไร เรื่องนั้นเป็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดแล้วก็ไม่รู้ แม้แต่ว่าใครจะอนุโมทนาก็ยังสงสัยใช่ไหมว่า ใจของเขาขณะนั้นอนุโมทนา หรือไม่ เป็นกุศล หรือไม่ ใช่ไหม ทั้งๆ ที่ขณะนั้นก็เป็นธรรมที่กำลังคิดก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้รู้ธรรม ให้เข้าใจธรรม แต่ก็ไม่ได้เข้าใจเพราะคนนั้นเป็นกุศล หรือไม่ที่กำลังกล่าวคำอนุโมทนา อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเข้าใจธรรม

    อ.กุลวิไล มีท่านผู้เขียนถามว่า อยากทราบความเห็นเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ จริงๆ แล้วท่านอาจารย์กล่าวว่าได้ยินคำใดนี้ต้องเข้าใจในคำนั้น แต่ท่านผู้นี้เขียนถึงเรื่องไสยศาสตร์ที่ทำให้รักให้หลง ทำให้บุคคลนั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปโดยไปหลงรักผู้หญิงอื่น ไม่ทราบว่าตามหลักพระธรรมคำสอนจะไปหาพระภิกษุที่อ้างว่าสามารถแก้เรื่องไสยศาสตร์ได้ สามารถกระทำได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดอย่างนี้รักตน หรือไม่ อยากรู้เรื่องอื่น เกิดมาแล้วก็มีสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมแล้วเมื่อไรจะเข้าใจได้ถ้าเรายังคิดเรื่องอื่น และคิดว่าเรื่องอื่นสำคัญที่จะต้องรู้ที่จะต้องเข้าใจ ความจริงทั้งหมดไม่ว่าวิชาการใดๆ จะเป็นศาสตร์ใดๆ ไสยศาสตร์ หรือไม่ใช่ไสยศาสตร์ก็เป็นเพียงความคิด

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ก็คือว่าขณะนี้คิดเรื่องอื่นที่จะไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เราได้ยินแล้วก็ลืมแต่พูดตามได้ก็คือพูดว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” คำนี้เป็นคำจริง ขณะนี้ทุกอย่างไม่ได้เป็นธรรม เพียงแต่ฟังแล้วก็พูดตามว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงเปลี่ยนไม่ได้ แม้แต่จะคิดเรื่องอยากรู้อยากเข้าใจไสยศาสตร์ ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นการสะสมการสนใจมากกว่าพระธรรม เพราะว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ง่ายที่จะเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม คือทุกอย่างนี้ไม่เว้น แม้แต่ความคิดจะคิดอะไรก็ตามแต่เกิดแล้วหมดแล้ว คิดที่จะทำอะไรอาทิตย์หน้าก็เพียงแค่คิด แต่คิดก็หมดแล้ว จะถึงอาทิตย์หน้าไม่ถึงอาทิตย์หน้า หรือจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรรู้ยิ่งก็คือตรงตามที่ได้ฟังว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” เพราะฉะนั้น วันหนึ่งจะถึงการที่ทุกอย่างเป็นธรรม หรือไม่ ถ้าเรามัวแต่คิดเรื่องนี้ ถามเรื่องนี้แล้วยังตอบเรื่องนี้อีกไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็สมควรไหมที่จะพูดเรื่องอื่น หรือว่าสนใจเรื่องอื่นแล้วก็ตามไปไม่รู้จบ เพราะว่าไม่ใช่ความจริง ถ้าเป็นความจริงขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ให้เข้าใจ และก็สามารถที่จะจบความไม่รู้ ความไม่เข้าใจทั้งหมดได้เมื่อความรู้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดก็คือการที่ได้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นว่าสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วเป็นอย่างนี้แล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก

    อ.กุลวิไล พูดถึงการบริโภค ท่านอาจารย์ก็เคยเตือนเรื่องการบริโภคพระธรรม ท่านอาจารย์เคยถามว่าเดี๋ยวนี้บริโภคอยู่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจคำว่า “บริโภค” ด้วย ถ้าไม่มีสิ่งใดที่จะปรากฏให้เห็นจะบริโภคอะไร แต่ว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏก็ต้องรู้ด้วยว่าจิตอะไรบริโภคสิ่งที่มีในขณะนั้น ศึกษาเรื่องของวิถีจิตแล้ว และก็รู้ได้ วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นเพราะเป็นผลของกรรมแล้วจิตอะไรบริโภคอารมณ์ที่ปรากฏ ใช่ไหม มีแต่สิ่งที่ปรากฏให้บริโภคโดยอกุศลเกิดแล้วเกิดอีก อิ่มแล้วอิ่มอีก ไม่ว่าจะเห็นจะได้ยินก็บริโภคด้วยอกุศลอิ่มจริงๆ มากจริงๆ แล้วเวลาที่กุศลจิตเกิด กุศลจิตบริโภคสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่

    อ.กุลวิไล บริโภค

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่บริโภคคือกุศลจิต และอกุศลจิต แล้วแต่ว่าจะบริโภคด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกุศล หรือปัญญา ถ้าไม่มีสิ่งที่มีปรากฏจะไปบริโภคอะไรได้ เพราะฉะนั้น ในแต่ความหมายก็จะต้องเข้าถึงธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องราวแล้วก็นั่งคิดว่ากำลังนั่งบริโภค หรืออะไรอย่างนั้น

    แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏแล้ว จิตที่รู้อารมณ์ขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าเป็นอกุศลก็บริโภคไปด้วยอกุศล อย่างเวลาที่รับประทานอาหาร ทุกคนเห็นชัดใช่ไหม บริโภครส แต่จริงๆ จิตกำลังลิ้มรสอร่อยก็เป็นโลภะ ไม่อร่อย ถ้าไม่ชอบขณะนั้นก็เป็นโทสะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะบริโภคไม่ใช่แต่เฉพาะรส อย่างอื่นโลภะก็บริโภคด้วย โทสะก็บริโภคด้วย โมหะก็บริโภคด้วย กุศลก็บริโภคด้วย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็เพื่อที่จะเข้าใจธรรม และไม่ว่าจะทรงใช้คำอะไร อุปมาอย่างไรก็เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น ซึ่งคนอื่นจะบอก หรือเรารู้เอง เช่น ขณะนี้อะไรกำลังบริโภค ที่จะถามบ่อยๆ ก็คือว่ามีดอกไม้ให้เห็นเสมอๆ ขณะที่เห็นอะไรบริโภค สิ่งที่ปรากฏทางตา โลภะ ถ้าไม่ชอบก็คือโทสะ ก็เท่านั้นเอง เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าเรามีอกุศลมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน โดยที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมก็คืออกุศลนี้อิ่ม ไม่จบเลย เดี๋ยวก็บริโภคอีกๆ ๆ ๆ ยิ่งกว่ารสอาหารที่บริโภค

    เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจความเป็นจริงว่าขณะใดก็ตามที่ปัญญาไม่เกิด กุศลไม่เกิดขณะนั้นจิตเป็นอกุศลทุกครั้งที่มีอารมณ์ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ไม่ใช่แต่เฉพาะรสที่รู้ได้ทางลิ้นเท่านั้น คือการแสดงประโยชน์ให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่าอกุศลมากอย่างนี้ แล้วเมื่อไร สิ่งที่กำลังปรากฏทั้งหมดเป็นธรรม แสดงว่าจะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่พูดเล่นๆ ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ปัญญาระดับไหนที่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เดี๋ยวนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรมมีจริงๆ อย่างหนึ่ง ทางหูก็มีธรรม เสียงมีจริงๆ อย่างหนึ่งกำลังปรากฏ บริโภคไปแล้วใช่ไหม ด้วยอะไร ถ้าไม่มีการเข้าใจธรรมก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีอกุศลมากทรงแสดงอกุศลให้ไม่ประมาทให้รู้ความจริงว่า มากอย่างนี้แล้วจะหวังอะไรที่จะให้กิเลสหมด เพียงแต่เห็นความเป็นจริงถูกต้องจากขั้นการฟัง ก็ต้องเป็นผู้ที่ไม่เบื่อ เพราะถ้าเบื่อก็คือเบื่อปัญญาไม่ใช่เบื่ออย่างอื่น บอกว่าเบื่อที่จะฟังเรื่องเห็นก็คือเบื่อที่จะมีปัญญาที่เข้าใจเห็นที่กำลังเห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นโดยนัยนี้ไม่มีวันที่จะมีปัญญาเพราะเบื่อ เพราะไม่เห็นประโยชน์ แต่เมื่อสิ่งนี้กำลังมีจริงๆ กำลังปรากฏให้ไตร่ตรองให้เข้าใจทุกคำที่ทรงแสดงโดยโวหารที่จะทำให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น ผู้ที่มีอกุศลมากทรงแสดงอกุศลให้รู้ตัว ผู้ที่มีอกุศลน้อยก็ทรงแสดงเรื่องของกุศล เพื่อความเบิกบานใจเพราะว่าขณะนั้นบุคคลนั้นก็สะสมกุศลมามาก เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลตามอัธยาศัย

    ผู้ฟัง ขอสอบถามท่านอาจารย์ประเด็นว่า เหตุผลอะไร เวลาที่เราเห็นสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันนี้ เราอาจหลงลืมว่า คนทำดอกไม้สวยมีจิตกุศลที่ทำ หรือคนเป็นเจ้าภาพอาหาร เราก็ไม่เคยคิดถึงสิ่งอย่างนี้ ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็ถามว่า เห็นแล้วไม่คิด หรือ

    ผู้ฟัง ไม่คิด ก็คิดว่าสวยดี

    ท่านอาจารย์ ผิด เห็นแล้วไม่คิด ลองทบทวนมีไหมที่เห็นแล้วไม่คิด

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นที่คิดเป็นกุศล หรืออกุศลแล้วแต่การสะสมเป็นสังขารขันธ์ไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่บอกอย่างนี้สังขารขันธ์ก็ไม่ได้ทำให้เกิดกุศลจิต ถ้าสะสมมาที่จะเป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องใครจะไปเปลี่ยนแปลงธรรมไปบังคับ หรือไปอะไร แต่เข้าใจสภาพธรรมเกิดแล้วเป็นจริงตามที่เกิดไม่อย่างอื่นเพราะต้องเป็นไปตามปัจจัยที่สะสมมาจริงๆ ใครก็เปลี่ยนแปลงหนึ่งขณะจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปแล้วไม่ได้ ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแม้อกุศลจิต หรืออกุศลจิตก็ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แล้วก็เห็นสังขารขันธ์จริงๆ ว่าสังขารขันธ์ฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศลที่สะสมมามากก็ต้องเกิด แต่ที่จะบอกว่าเห็นแล้วไม่คิดเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความคิดของแต่ละคนก็หลากหลาย คนหนึ่งเห็นแล้วก็คิดอนุโมทนาทันที อีกคนหนึ่งเห็นแล้วก็เป็นเรื่องอื่นไป ใช่ไหม ก็แล้วแต่สังขารขันธ์จริงๆ นี่คือธรรม

    ผู้ฟัง แล้วเหตุผลอะไรจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่าควรที่จะมีจิตที่เป็นกุศลมากกว่าจิตที่จะเป็นอกุศล ที่ท่านอาจารย์ก็กล่าวว่าเห็นดอกไม้ก็ควรที่จะอนุโมทนา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ควร แล้วแต่ แต่ว่าทุกคนเห็นแล้วคิด จะคิดอะไรแล้วแต่สังขารขันธ์ที่สะสมมาปรุงแต่งมาเป็นอาสยานุสย พูดทุกคำก็คือเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ว่าควรจะมีจิตที่ตั้งไว้ในกุศล หรือ

    ท่านอาจารย์ ควรแต่ ไม่เป็นได้ไหม ควร ควรศึกษาธรรมพูดกันมาก ศึกษา หรือไม่ ควรเป็นกุศล เป็นกุศล หรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจตามความเป็นจริง เห็นไม่ใช่คิดแล้วคิดควร หรือไม่ควรก็แล้วแต่สังขารขันธ์ทั้งนั้นไม่มีเรา

    ผู้ฟัง แต่ต่อไปผมก็ควรที่จะอนุโมทนาเวลาที่เห็นคนอื่นจัดดอกไม้สวย หรือว่ามีเจ้าภาพทำอาหารเลี้ยง

    ท่านอาจารย์ คิด กำลังคิด แต่อะไรจะเกิดขึ้นจริงๆ แล้วแต่สังขารขันธ์ คิดไม่ออกก็มี ใช่ไหม อุตส่าห์ตั้งใจไว้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้พอถึงเวลาจริงๆ ก็คิดไม่ออกก็ลืมไปแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าพูดอย่างนี้ ตรงๆ ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า แสดงเรื่องของกุศลเป็นสิ่งที่ดีงาม และอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม เพื่อที่ให้เข้าใจความจริงอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แค่นั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นปัญญา หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ พอไหม แค่นี้

    ผู้ฟัง พอแต่ว่ามันยากที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แค่นี้พอก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะแค่นี้ก็คือแค่นี้ที่พอ แต่ไม่พอต่างหาก

    ผู้ฟัง เพราะในความเข้าใจของคนทั่วๆ ไปก็เข้าใจว่าควรเป็นหมายถึงว่าเป็นกุศลมากกว่าเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่สังขารขันธ์เพราะเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่าแค่นี้พอที่ว่ารู้ว่ากุศลก็เป็นสภาพธรรม อกุศลก็เป็นสภาพธรรม ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยให้ความเข้าใจตรงนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความเห็นถูก หรือไม่ อกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ดี กุศลเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง หรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ รู้เท่านี้พอไหม

    ผู้ฟัง รู้เท่านี้พอไหม ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจอีก เข้าใจอีกจนกว่าจะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ต้องยอมรับว่าฟังก็อาจเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นการสะสมแล้ว เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ขณะต่อไปเป็นความเข้าใจถูกต้องขึ้นอีกได้

    ผู้ฟัง บางทีที่เราฟังธรรม หรืออะไร มักขีดเส้นใต้ว่าเอ๊ะหากุศลเพื่ออนุโมทนา หรือว่าหาโทษของคนอื่นผู้ฉลาด หรือไม่ฉลาดอะไรอย่างนี้ เรามักจะขีดเส้นใต้ว่าต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แต่ว่าบางครั้งอย่างเช่นว่าเราพบคนที่เป็นญาติกับเรา หรือบุตรหลานทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ต้องบอกต้องเตือนอย่างนี้ เหมือนกับว่า เอ๊ะเ ราจะไปมุ่งหาอกุศลของเขา หรือไม่ แล้วจะเตือนได้ หรือไม่

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าพอฟังก็มีตัวตนที่คิดว่าจะหาคุณผู้อื่นเพื่อจะให้ตัวเองเป็นกุศล หรือคอยจะหาโทษของผู้อื่นด้วยความเป็นตัวตนเพื่อจะดูเหมือนว่าจะเป็นกุศล แต่เป็นการที่เข้าใจว่ากุศลเป็นสภาพที่ดีงาม อกุศลเป็นสภาพที่ไม่ดีงามควรละ ขณะที่เข้าใจอย่างนี้สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งไปในทางดีก็เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ แต่ความเข้าใจขณะนี้ค่อยๆ เข้าใจแล้วก็ปรุงแต่งไม่งั้นไม่มีคำว่า “สังขารขันธ์”

    ท่านอาจารย์ คุณอุดรหมายความว่าถ้ามีคนที่ทำผิด เห็นผิด พูดผิด ควรที่จะตักเตือน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับผม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นเมตตา หรือไม่ที่หวังที่จะให้เขาได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ก็ควรมีเมตตาไหม

    ผู้ฟัง ก็ควรมี กราบท่านอาจารย์ตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างดอกไม้ แต่ว่าโดยสภาพจิต เราไม่เข้าใจหรอกว่ากุศลจิตเกิด หรือว่าอกุศลจิตเกิด คือว่าเห็นดอกไม้ว่าสวย แล้วเป็นความคิดว่า “ผู้ที่ทำเขามีศรัทธามาก แล้วก็มีวิริยะในการที่จะมีความคิดในการที่ว่าออกแบบให้บูชาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันมาฆบูชา” นี่ก็คือคิดไปแบบนี้ แต่ไม่ได้อนุโมทนาเป็นคำพูด หรือเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้อง เพียงแค่คิดถึงกุศลจิตของเขา ยินดีด้วยในกุศลจิตของเขาไม่ต้องพูดอะไร

    ผู้ฟัง ความคิดก็มีแต่ เพียงแต่ว่าไม่ได้พูดออกมาจึงคิดสงสัยว่าขณะนี้เป็นกุศล หรือไม่ หรือเป็นอกุศล หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องพูดขณะที่คิดถึงกุศลของคนอื่น เวลาที่เราคิดกุศล เราอนุโมทนา ยินดีด้วยในกุศลนั้นใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับผม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องพูดอะไรก็ได้ ไม่ใช่รูปแบบ

    อ.กุลวิไล เชิญคุณพัชร์วัช

    ผู้ฟัง คือผมมีปัญหาสองข้อ ข้อแรกคำว่าอนุโมทนาคือมุทิตาจิต เหมือนกัน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณธิดารัตน์

    อ.ธิดารัตน์ อนุโมทนาก็คือการมีกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นเจริญกุศลแต่มุทิตานี่ เรายินดีในผลของผู้ที่ได้รับอย่างเช่นผู้ที่ได้ลาภยศสรรเสริญอย่างนี้ เราก็มีกุศลจิตเกิดเข้าใจถึงความที่เขาได้ผลที่ดีนั้นเพราะมีกรรมที่ดีเป็นปัจจัย ก็คือยินดีในผลที่เขาได้รับในลาภผลที่ดี

    ผู้ฟัง ข้อที่สองคืออนุโมทนา บางทีก็อนุโมทนาบ้าง แต่บางทีก็คิดว่าเป็นอนุโมทนาเทียม อนุโมทนาเทียมคืออะไรอย่างเช่น ยกตัวอย่างท่านอาจารย์ที่เมื่อสักครู่กล่าวว่าเห็นดอกไม้สวยแล้วคิดถึงว่าคนที่จัดดอกไม้ เหมือนกับว่าต้องให้อาจารย์มากระตุ้นให้เราเราถึงอนุโมทนา ก็ไม่ได้เกิดจากจิตที่เราเห็นปุ๊บก็อัตโนมัติที่จิตเป็นกุศลซึ่งเกิดโดยอัตโนมัติเกิดโดยที่ถูกอาจารย์ หรือว่าท่านวิทยากร บางทีบอกว่าเจ้าภาพวันนี้คือใครๆ อย่างนี้แล้วทุกคนก็อนุโมทนา

    เข้าใจว่าเป็นอนุโมทนาด้วยความคิดด้วยการตาม ถูกกระตุ้น ถูกอะไรซึ่งไม่ใช่การอนุโมทนาที่แท้ จึงขอท่านอาจารย์ให้ช่วยให้ความกระจ่างด้วยว่าอนุโมทนาโดยอัตโนมัติเกิดจากจิตตัวเองอย่างนี้

    อ.ธิดารัตน์ กุศลที่เกิดขึ้นเองก็มี ใช่ไหม ที่ไม่ต้องอาศัยการชักจูง หรือว่ากุศลที่ต้องอาศัยการชักจูงก็มีใช่ไหม กุศลจึงมีสองอย่าง หมายความว่าบุคคลที่เพียงเห็นผู้อื่นเจริญกุศลก็สามารถที่จะมีกุศลจิตเกิดได้ก็อนุโมทนาได้เลย แต่สำหรับผู้ที่เห็นแล้วก็ยังไม่อนุโมทนาแต่เมื่อมีคนมาบอกกล่าว หรือว่าอธิบาย ก็เริ่มที่จะคล้อยตามแล้วก็มีกุศลจิตเกิดก็เป็นการอนุโมทนาทั้งสองอย่าง แต่เกิดจากกุศลจิตที่มีกำลัง หรือแม้ตัวเองแต่ละครั้ง บางครั้งเราก็จะมีกุศลที่อนุโมทนามีกำลังกับอนุโมทนานิดเดียวก็คือกุศลจิตเกิดนิดเดียวกับกุศลจิตเกิดมากก็มีความต่างกันคือลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดก็แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ที่ใช้คำว่า “อนุโมทนาเทียม” ไม่มีถ้าเป็นกุศลจิตไม่มีเทียมเป็นลักษณะของกุศลที่เกิดมาก หรือน้อยเท่านั้นเอง พูดถึงว่าเรากล่าวคำว่า “อนุโมทนา” แต่จิตไม่ได้มีกุศลอย่างนั้นจริงๆ อย่างนั้นคือไม่ใช่การอนุโมทนาเป็นการกล่าว หรือว่ากล่าวตามๆ กัน

    เพราะว่าการอนุโมทนาจริงๆ ไม่ใช่คำกล่าวแต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อเห็นคนเจริญกุศล หรือว่าทำความดี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566