พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 710


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ สำคัญที่สุดคือความตรง กุศลเป็นกุศลอกุศลเป็นอกุศล ทั้งกุศล และอกุศลเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง

    อ.อรรณพ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าถ้าไม่ใช่ผู้ตรงจะไม่ได้สาระจากพระธรรมก็คือไม่ได้ความเข้าใจจากพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ก็เข้าใจว่ารู้อย่างที่คุณวิชัยกล่าวถึง ไม่เข้าใจก็คิดว่าเข้าใจแล้ว

    อ.วิชัย และบางครั้งก็เข้าใจเป็นเรื่องราวใหญ่โตก็คิดว่าเข้าใจแล้วโดยที่ความจริงยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจก็มีหลายระดับ จากการที่ไม่ได้ฟังก็ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม หรือว่าจะไปจำชื่อปรมัตถธรรมมี ๔ แต่ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมเป็นปรมัตถธรรม ก็คือว่าไม่สามารถจะได้สาระถ้าเพียงแต่จำ

    อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ คำว่าสาระ และไม่มีสาระก็ดูเหมือนจะมีหลายระดับตามความเข้าใจผิด หรือความเข้าใจถูกมากเลยอย่างเช่น คนที่เกิดมาเขาไม่ได้ฟังพระธรรมเขาก็คิดว่าสาระในชีวิตเขาก็คือการได้เรียนรู้ศาสตร์อะไรอย่างหนึ่ง หรือการที่เขาจะได้ความสุข หรือความพอใจของเขาเขาก็คิดว่าเป็นสาระนั่นก็คือไม่มีสาระ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ตรง ก็ไม่ได้สาระจากพระธรรม

    อ.อรรณพ และเมื่อมีการฟังพระธรรมขึ้น เริ่มมีความเข้าใจในขณะที่เข้าใจก็ได้สาระไปตามระดับขั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่ตรงที่รู้ว่าขณะนี้เป็นความเข้าใจขั้นฟัง ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้ลักษณะซึ่งปรากฏให้รู้ได้

    อ.อรรณพ ความเข้าใจในขั้นฟังแล้วเข้าใจถูก กับความเข้าใจในขั้นที่รู้ตรงลักษณะสภาพธรรมนี้เป็นสาระทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเลยจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นปฏิ ปัตติ ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสาระคือความถูกต้อง สาระคือความเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ในบรรดาสิ่งซึ่งเกิดดับปัญญาเป็นสิ่งที่เป็นสาระ และอย่างที่คุณวิชัยกล่าวก็ต้องตามลำดับขั้น จนกระทั่งแม้ปัญญาก็เกิดดับไม่เป็นสาระเท่ากับสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ ก็ต้องเทียบกันไป

    อ.อรรณพ ก็หมายถึงในขณะที่เข้าใจแม้ขั้นการฟังที่เข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นการสะสมไป ขณะนั้นก็เริ่มเป็นสาระที่สะสมความเข้าใจในเรื่องราวพระธรรมเพื่อความเข้าใจสภาพธรรม และสะสมเป็นอาสยะ

    ท่านอาจารย์ วันนี้เดือดร้อนทั้งวัน เป็นสาระ หรือไม่

    อ.อรรณพ ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าเดือดร้อนคืออะไร มีประโยชน์อะไรเกิดแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกจะค่อยคลายความเดือดร้อนเพราะรู้ว่าอะไรเป็นสาระ ความคิดที่ทำให้เดือดร้อนไม่เป็นสาระเลย

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่าอกุศลทั้งหมดไม่เป็นสาระก็ต้องตามลำดับก่อน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จากวันหนึ่งๆ ได้สาระอะไรจากอกุศลสักอย่างทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ ไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ก็จะเป็นทางที่จะทำให้อกุศลลดน้อยลงก็คือสาระที่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูก และก็เทียบสาระไปเรื่อยๆ จนกระทั้งถึงนิพพาน

    อ.อรรณพ ก็สอดคล้องกับที่คุณวิชัยได้กล่าวว่าถ้าพูดถึงสภาพที่มีสาระจริงๆ คือสภาพไม่เกิดไม่ดับคือพระนิพพาน เพราะฉะนั้นปัญญาที่มีสาระคือนำไปการที่จะรู้สิ่งที่มีสาระ

    ท่านอาจารย์ มีสาระเพราะปัญญารู้แจ้งนิพพาน

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นขณะนี้เอง มีสิ่งที่ไม่เป็นสาระไหม เพราะว่าสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปไม่มีสาระ แต่สิ่งที่ไม่มีสาระแล้วเป็นสาระได้ก็คือปัญญานั่นเองถ้าพูดถึงธรรมที่เกิดแล้วดับไป เพราะฉะนั้นเราได้สาระจากสิ่งที่ไม่มีสาระก็คือขณะที่ปัญญารู้ธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ หรือจะไม่ให้มีสาระ หรือจะไม่อบรมเพื่อที่มีสาระคือปัญญา เห็นไหม

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์พูดถึงอกุศลธรรม ไม่มีสาระจริงๆ เพราะว่านำมาซึ่งโทษในบรรดาธรรมที่ไม่มีสาระ

    ท่านอาจารย์ แล้วในเวลาที่สาระปรากฏแล้วมีความเห็นถูกความเข้าใจถูก ความเห็นถูกความเข้าใจถูกเป็นสาระที่ได้จากความไม่มีสาระ

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นขณะนี้เอง เห็นความไม่สาระไหมเพราะว่ามีธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ถ้าไม่รู้จักธรรมตามความเป็นจริง เต็มไปด้วยความไม่มีสาระเลยเพราะว่าเกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง กราบขอนุญาตร่วมสนทนาด้วยเรื่องสาระ หรือไม่มีสาระ เราชาวโลกนี้เกิดมาก็แสวงเงินทอง ทรัพย์สิน ครอบครัว บุตรภริยาอะไรต่างเหล่านี้ แสวงหาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ บางทีก็ไม่ไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษาว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ทรงสอนอะไร แสวงหาแต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้โดยไม่ได้แบ่งเวลามาที่จะศึกษาความเข้าใจความจริง อย่างนี้ก็ชื่อว่าแสวงหาสิ่งที่ไม่เป็นสาระใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปกติของความไม่รู้ก็แสวงหาสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ได้มาหมดเลยแล้วก็ตายเป็นอย่างไร สาระอยู่ตรงไหนได้มาทุกสิ่งทุกอย่างก็พิกลพิการเดินไม่ได้พูดไม่ได้ สาระอยู่ตรงไหน ใครที่อยากได้สิ่งที่ไม่เป็นสาระ ได้มาแล้วก็เกิดตายบ้าง พิการบ้าง แขนขาดขาขาดบ้าง สาระอยู่ที่ไหนจากสิ่งที่ติดข้องต้องการ

    ผู้ฟัง แต่เราก็ยึดถือต้องการโดยที่ไม่รู้ว่าไม่เป็นสาระ

    ท่านอาจารย์ โดยไม่รู้คือโดยโมหะความไม่รู้

    ผู้ฟัง โดยความไม่รู้ กราบท่านอาจารย์ แม้แต่การที่จะมาศึกษาธรรมนี้ บางทีก็อาจเป็นสาระ หรือไม่เป็นสาระก็ได้ เช่น อาจมาศึกษาเพื่อได้รู้มากขึ้น รู้ชื่อมากขึ้น ท่องได้จำได้ พูดกับคนอื่นได้ ไม่ได้ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือปัญญา หรือไม่ ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ปัญญา ก็กล่าวว่าศึกษาอย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่าศึกษาอย่างไม่เป็นสาระ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง แม้แต่การศึกษาก็ยังเป็นสาระ หรือไม่เป็นสาระที่ทุกคนควรจะนำมาพิจารณาว่าที่กำลังศึกษาอยู่เป็นไปเพื่อสาระ หรือไม่เป็นสาระ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ใช่จำ

    ผู้ฟัง ที่จะเข้าใจความจริงในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เริ่มต้นที่ความเห็นที่ถูกต้องก่อน กราบท่านอาจารย์ อย่างที่ผู้ฟังถามเรื่องของอนุสัยกิเลส อยากทราบว่าพระพุทธเจ้ามีจุดประสงค์อะไรจึงทรงแสดงเรื่องของอนุสัยกิเลสให้กับสาวกฟัง

    ท่านอาจารย์ คนที่คิดว่าไม่มีกิเลส มีไหม ลองไปถามชาวบ้านดูว่าเขามีกิเลสไหม เขาบอกว่าเขาไม่มีกิเลส

    ผู้ฟัง เขาคงจะเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แสดงเพื่อให้ไม่เข้าใจผิดคิดว่าไม่มีกิเลส

    ผู้ฟัง ทรงแสดงเพื่อให้ไม่เข้าใจผิดคิดว่าไม่มีกิเลสแต่จริงๆ แล้วยังมีกิเลสอยู่เต็ม และมีอนุสัยกิเลสด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วพระพุทธเจ้าได้แสดงหนทางคือการอบรมมรรค คือการเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้เช่นเห็นขณะนี้เป็นธรรม การเข้าใจเห็นในขณะนี้เป็นธรรมจะนำไปสู่การละอนุสัยกิเลสได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อสามารถที่จะรู้ และเข้าใจลักษณะของธรรมที่ได้ฟังแล้วตรง ธาตุรู้อยู่ที่ไหน มีรูปร่าง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง เห็นเป็นธาตุรู้

    ท่านอาจารย์ ก็แค่ตอบ จนกว่าจะรู้ขณะที่กำลังเห็นโดยไม่มีชื่อ แต่เริ่มคุ้นเคยกับลักษณะเห็น กำลังเห็นมีจริงๆ คุ้นเคยก็คือว่ารู้ว่านั่นเป็นลักษณะของธรรม เห็นเป็นธรรมมีลักษณะเฉพาะขณะนั้น

    ผู้ฟัง การรู้ว่าเห็นเป็นธรรม นำไปสู้การที่จะละคลายระดับอนุสัยกิเลสได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นคุณนิรันดร์ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เห็นไม่ใช่ผม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เริ่มแล้วใช่ไหมเห็นไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ขณะที่ได้ยินเป็นคุณนิรันดร์ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ แต่เป็นได้ยินที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าได้ยินก็ไม่ใช่สัตว์บุคคลใดๆ แต่เป็นธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นอย่างนี้ แม้แต่ความคิดก็เป็นอย่างนี้คือเกิดขึ้นคิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการที่จะดับอนุสัย ถ้าไม่เริ่มให้เข้าใจให้ถูกเห็นถูกก่อน ไม่มีทางเลยที่จะไปดับอนุสัยกิเลส คิดว่าจะไปทำอย่างอื่น หรือมีตัวตนที่จะมุ่งที่จะละคลายกิเลสให้น้อยๆ หรือมุ่งที่จะไปทำอะไรนั่นไม่ใช่หนทางที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะไม่รู้ความจริง ต้องเพราะไม่รู้

    ผู้ฟัง หนทางที่จะนำไปสู่การดับอนุสัยกิเลสนี้ต้องเป็นหนทางที่รู้ และเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะรู้ ปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

    อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ และอาจารย์วิทยากรทุกท่าน ที่ได้ฟังเรื่องสาระก็เป็นประโยชน์มาก เพราะว่าแสดงถึงความดีที่ควรอบรมในชีวิตประจำวันก็คือปัญญาความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งในวันนั้นท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวถึงการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ฟังเรื่องเห็นเรื่องได้ยินเรื่องได้กลิ่นเป็นต้น คุ้มไหมกับการที่ได้ฟังสิ่งที่มีจริงเหล่านี้ ย่อมคุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะว่าเป็นโอกาสที่หาฟังได้ยาก เพราะว่าในการฟังแต่ละครั้งก็เป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่คุ้มในวันนั้นเพียงวันเดียว ซึ่งก็จะต้องฟังต้องศึกษาต่อไป เพราะว่าขณะนี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พระธรรมก็ยังดำรงอยู่ มีผู้แสดงธรรมก็จะได้ฟัง จะได้ศึกษา จะได้อบรมเจริญปัญญาต่อไป จะได้สาระจากสิ่งที่ไม่มีสาระคือสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะว่าชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้นก็เป็นธรรมทุกขณะทุกสถานการณ์ วันคืนเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยขน์เป็นไปเพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ว่าปัญญาที่เจริญขึ้นที่อบรมขึ้นที่ค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงขึ้นนั้นจึงจะเป็นสาระที่แท้จริง

    เพราะฉะนั้นการได้มีโอกาสฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และมีปัญญาเพิ่มขึ้นนั่นแหละได้สาระจากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

    อ.ธิดารัตน์ ทุกครั้งที่ฟังธรรมก็เป็นประโยชน์ในขณะที่เข้าใจ เพราะฉะนั้นการฟังที่จะเป็นประโยชน์ก็คือเข้าใจในสิ่งที่ฟัง ขณะที่เข้าใจก็เป็นสาระ แต่ในขณะที่ถึงแม้ว่าฟังยังไม่เข้าใจแต่ยังสะสมการได้ยินได้ฟังจนกว่าจะเข้าใจ ค่อยๆ มีธรรมที่เป็นสาระคือมีปัญญาที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะว่าประโยชน์จริงๆ หรือสาระจริงๆ ก็คือความเข้าใจถูกนั่นเองซึ่งก็เริ่มต้นตั้งแต่การฟังที่จะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมทุกครั้งก็เป็นปัจจัยให้มีปัญญาซึ่งเป็นสาระเจิญขึ้น

    อ.ธีรพันธ์ สาระ ขณะนี้มีไหม ทุกคนก็สามารถตอบตัวเองได้ ความจริงแล้วไม่ต้องใส่ชื่อว่าขณะที่เข้าใจเป็นสาระ หรือไม่เพราะว่าขณะที่เข้าใจขณะนั้นคือค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าเข้าใจส่งที่ได้ยินได้ฟังตรงตามความเป็นจริง มีความเห็นถูก ขณะที่มีความเห็นถูกขณะนั้นมีสาระ เพราะว่าไม่ผิด ถ้าผิดก็คือไม่ใช่สาระ ขณะที่เข้าใจถูกจากที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลยสาระ สาระอันยอดเยี่ยมจริงๆ

    พระธรรมเป็นของยากที่จะได้ยินได้ฟัง ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา อาฬวกยักษ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “อย่างไรจึงจะได้ปัญญา” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา” นี่คือเป็นคำที่พระพุทธองค์ตรัสไม่มากแต่ว่าลึกซึ้ง ฟังอยู่ด้วยดีถ้าสาระไม่เกิด แน่นอนยังไม่ใช่การฟังที่ดีเห็นถึงความละเอียดของการฟัง ซึ่งโสตประสาทที่จะรับเสียงทุกเสียง เสียงที่สำคัญก็คือเสียงพระธรรม และผู้ฟังมีความเข้าใจในเสียงนั้นสามารถที่จะให้เกิดความเห็นถูก ไม่ใช่ให้เกิดความเห็นผิดเลย นี่คือพระธรรมจนสามารถที่จะเห็นความเป็นสาระจริงๆ รวมกระทั่งธรรมที่เป็นปัญญาก็เป็นสาระ และยิ่งไปกว่านั้นคือสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ คือการออกจากสังสารวัฏฏ์คือพระนิพพาน นี่คือสาระจริงๆ

    แม้กระทั่งปัญญาก็เป็นธรรมที่ท่านตรัสไว้ว่า ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย สังขตธรรมที่ยอดเยี่ยมคืออะไร อริยมรรคมีองค์ ๘ สังขตธรรมคือสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ว่าที่ยอดเยี่ยมคือมรรคมีองค์ ๘ คือ ขณะใดที่มีความเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ปรากฏตามความเป็นจริง รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมนี่คือความเป็นสาระที่ค่อยๆ เกิดขึ้นแล้ว

    อ.กุลวิไล วันนี้มีคำถามทิ้งท้ายให้ไตร่ตรองพิจารณาว่าได้สาระจากสิ่งที่ไม่มีสาระ หรือไม่ เพราะว่าขณะนี้มีธรรมที่กำลังปรากฏ ธรรมเหล่านี้เกิดแล้วก็ดับไปหาสาระไม่ได้ ดังนั้นปัญญาที่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทางจึงจะเป็นสาระจากสิ่งที่ไม่เป็นสาระ

    การสนทนาพื้นฐานพระอภิธรรมก็เพื่อความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เวลาที่เราศึกษาพระอภิธรรมก็ไม่พ้นธรรมที่มีในขณะนี้ เพราะท่านทรงแสดงทั้งหมดเป็นธรรม แม้แต่คำใดที่เราได้ยินแล้วก็อ่าน ซึ่งข้อความต่างๆ ทั้งหมดก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่มีจริง เราศึกษาพระอภิธรรม เราทราบว่าธรรมที่มีจริงไม่พ้น จิต เจตสิก และรูป ส่วนพระนิพพานก็เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรมแต่ในชีวิตประจำวันถ้ายังเป็นบุคคลที่หนาแน่นด้วยกิเลสอยู่ก็ย่อมเป็นไปกับสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก และรูป และก็ไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ขอสนทนากับท่านอาจารย์ให้ความละเอียด จริงๆ ก่อนศึกษาธรรมก็มีการกล่าวว่า “เส้นผมบังภูเขา” แล้ววันนั้นที่ไปสนทนาธรรมก็มีการกล่าวว่า “ภูเขาบังเส้นผม” ก็ความกรุณาท่านอาจารย์ว่าเป็นอย่างไร “เส้นผมบังภูเขา และภูเขาบังเส้นผม”

    ท่านอาจารย์ ข้อความในพระไตรปิฎก หรืออรรถกถานี้ไม่ได้พูดเรื่องเส้นผม แต่พูดเรื่องเมล็ดพันธุ์ผักกาด เพราะฉะนั้นจะเป็นเส้นผม หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็เป็นสิ่งที่เล็กกว่าภูเขา ขอเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ และท่านอาจารย์วิทยากรทุกท่าน จะขอกล่าวถึงข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของอรรถกถาอายาจนสูตร เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งเห็นได้ยาก เป็นธรรมที่ผู้ที่เป็นบัณฑิตเท่านั้นถึงจะรู้ได้ และมีข้อความที่แสดงถึงการเห็นยากของธรรมคือมีข้อความแสดง “เมล็ดพันธุ์ผักกาดถูกภูเขาบังไว้” นี้คือข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก

    ท่านอาจารย์ ก็ยังมีอรรถกถาด้วยใช่ไหมที่กล่าวถึงข้อความตอนนี้

    อ.คำปั่น ข้อความที่แสดงไว้ แสดงถึงว่า “ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ก็คือ สัจจะทั้ง ๔ ซึ่งก็หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงทุกอย่างทุกประการที่เป็นสิ่งที่มีจริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กว่าที่พระองค์จะตรัสรู้ หรือจะแทงตลอดสภาพธรรมเหล่านี้ตามความเป็นจริงนั้นก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานกว่าที่พระองค์จะตรัสรู้ตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น จากที่ได้อ่านข้อความในส่วนนี้ก็พอที่จะเข้าใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดในที่นี้ท่านเปรียบเหมือนกับสัจจะ ๔ คือ สิ่งที่มีจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ส่วนที่เปรียบกับภูเขาก็คืออวิชชา คือความไม่รู้ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์จึงปิดบังไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นธรรมคือสัจจะ ๔ ตามความเป็นจริง

    ซึ่งในรายละเอียดกราบเรียนท่านอาจารย์ได้อธิบาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการแสดงความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม ไม่ว่าจะโดยข้อความในพระไตรปิฎก หรือว่าในภาษาไทยที่เราใช้กัน อย่างภาษาไทยเราก็ใช้เส้นผมบังภูเขา แสดงให้เห็นว่าภูเขานี้ก็ใหญ่ แต่เส้นผมก็ยังบังได้ แต่ไม่ใช่บังมิดไปทั้งหมดใช่ไหม ก็บังส่วนที่จะเป็นส่วนของภูเขาตามเส้นผมที่บัง แต่อย่างไรก็ตามเวลาที่ศึกษาธรรมแล้วก็มีคำอุปมา หรือว่ามีข้อความในพระไตรปิฎก ที่สำคัญที่สุดคือเข้าใจในโวหารเทศนา เพราะว่าถ้าใครไปยึดติดกับคำพูดจะเปลี่ยนจากเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นอื่นได้ไหม ถ้ายึดติดในคำพูด ไม่ได้เลย ก็แสดงว่าคนนั้นไม่ได้เข้าใจโวหารเทศนาว่าไม่ว่าจะใช้คำอย่างไร ความมุ่งหมายก็คือว่าให้เห็นความลึกซึ้ง

    สำหรับเส้นผมบังภูเขา เวลานี้กำลังเห็น มีเห็นที่ปรากฏแล้วไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ทุกคนพอจะเข้าใจได้ว่าขณะที่เห็นแล้วไม่เข้าใจเห็นว่าเป็นธรรมขณะนั้นเป็นความไม่รู้เป็นอวิชชา ใช่ไหม แค่เพียงอย่างเดียว แต่ว่าเพียงแค่นี้ส่องไปถึงความไม่รู้ที่สะสมมาในแสนโกฏิกัปป์ไหมว่า ไม่ใช่มีเพียงความไม่รู้เฉพาะขณะที่กำลังเห็นขณะนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไรก็ตามแต่ อะไรก็ตามที่ปรากฏแล้วไม่รู้ คิด หรือว่าความไม่รู้สิ่งนั้นมีเพียงเท่านั้น แต่ความไม่รู้ในสิ่งนั้นมีมานานแสนนานในแสนโกฏิกัปป์ ใครรู้บ้างว่าเห็นขณะนี้เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้น เพียงแค่นี้คิดว่าน้อยใช่ไหม ไม่รู้ว่าเห็นขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับแต่ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ มานานแสนนาน เพราะฉะนั้นเหมือนกับภูเขา ซึ่งทำให้เราเห็นว่าความไม่รู้เหมือนเล็กน้อยเพียงแค่นี้ แต่ความจริงมาจากภูเขาของความไม่รู้ซึ่งมีมาก เพราะฉะนั้น ถ้ามีความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมก็ส่องไปถึงว่าที่ไม่รู้นี่แค่นิดเดียวเราไม่รู้ตรงนี้แต่ความจริงความไม่รู้นั้นมากมายกว่านั้นมาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะประมาท

    อ.กุลวิไล กราบท่านอาจารย์ คำพูดที่ให้เข้าถึงความจริง ซึ่งเป็นโวหารเทศนาอย่างเช่นอุปมาถึงความไม่รู้ที่เป็นอวิชชามีมากอย่างกับภูเขาซึ่งบังเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเมล็ดพันธุ์มีน้อยมาก นั่นก็คือบังสภาพธรรมปัญญาที่รู้ความจริงที่เป็นอริยสัจจ ๔ นั่นเอง ส่วนนัยที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงเส้นผมบังภูเขา ท่านอาจารย์ก็ให้เห็นถึงว่าความไม่รู้มีมากซึ่งเปรียบเท่าภูเขา แต่อย่างเส้นผม เราดูเหมือนกับว่ามีเพียงเล็กน้อยแต่ความไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริงมีมากกว่าที่เราคิด

    ท่านอาจารย์ มีคนหนึ่งสนทนากันเสร็จแล้วเขาก็บอกว่าเป็นพระโสดาบันนี่ยากอย่างนี้เชียว หรือ แสดงว่าอย่างไร อกุศลใดๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเหมือนเล็กน้อยที่จะดับได้อย่างรวดเร็วง่ายดายไม่ต้องมีความรู้อะไร เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านที่เข้าใจเรื่องของอกุศลคิดว่าเล็กน้อย และพยายามหาวิธีที่จะดับอกุศลนั้นโดยวิธีที่ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจถูก ด้วยเหตุนี้จึงมีการว่า”ทำ” ทำใจ ถ้าศึกษาแล้วทำอะไรไม่ได้เพราะว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    16 ม.ค. 2567