พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 712


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจในเรื่องราวของธรรม ส่วนใหญ่จะเป็นเราเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าไม่ใช่พระโสดาบันใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วโดยสภาพธรรม ความเข้าใจ ก็เป็นสภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วก็เป็นสภาพของความเข้าใจที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ จำได้ทุกคำ พูดได้ทุกคำ และลักษณะของธรรมเดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็เป็นแล้ว ก็หมดไป

    ท่านอาจารย์ โดยไม่รู้ เกิดเมื่อไหร่ ดับเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง ไม่ประจักษ์การเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ความต่างกันของความเข้าใจขั้นฟัง ไม่ใช่ฟังแล้วไม่เข้าใจก็มีมาก ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ภาษานี้ไม่เข้าใจ ใช้คำบาลีไม่เข้าใจ แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า พูดถึงสิ่งที่มี กำลังมี เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าความจริงของสิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ และจะไม่เข้าใจอะไร เช่น พูดถึงเห็น ไม่ใช่ว่าไม่มีเห็น แล้วมาพูดเรื่องเห็น อย่างนี้จะเข้าใจได้อย่างไร แต่ว่ากำลังเห็น แล้วก็พูดเรื่องเห็น เห็นอวิชชาเลย มากเท่าไหร่ ซ้ำกี่ครั้ง ก็เป็นเพียงการจำคำ จำเรื่อง แต่ว่าถ้าจำถูกต้องก็เป็นความเข้าใจระดับหนึ่ง แต่ถ้าจำผิดก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดคือความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นการจำ เพราะเหตุว่าจำโดยไม่เข้าใจก็ได้ บางคนอาจจะคิดว่าคนนี้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เพราะว่าลำดับวิปัสสนาญาณได้หมดหรืออะไรอย่างนี้ ใช่ไหม แต่ว่าตามความเป็นจริงก็ต้องรู้ว่านั่นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่มีชื่อ เห็นหรือไม่ ฟังชื่อต่างๆ คำต่างๆ เพราะว่าถ้าไม่มีคำพูดถึงเรื่องนั้นก็จะไม่สามารถเข้าใจสิ่งนั้นได้ แต่ที่มีพระธรรมเทศนา ๔๕ พรรษา ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริง เพื่อที่จะให้คนที่ฟัง ได้เริ่มเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วฟังอะไร เพื่ออะไร ฟังสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่ใช่ของใคร เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่เหลือเลย ขณะนี้เป็นเพียงคำพูดที่จำ แต่ถ้าจำ จำต่อไปอีกมากๆ ก็เริ่มที่จะรู้ลักษณะว่าแท้ที่จริงแล้วมีธรรมที่ปรากฏ แต่กำลังนึกถึงชื่อ ใช่หรือไม่ เช่น ถ้าพูดถึงเห็น เห็นกำลังมี แต่พอพูดถึงเห็นคิดถึงชื่อเห็น แต่ฟังจนกระทั่งเข้าใจว่า เรื่องของเห็นไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยของขันธ์ สภาพธรรมที่เกิดดับไปไม่กลับมาอีก จะกล่าวถึงโดยลักษณะของอายตนะ ขณะที่เห็นต้องมี ถ้าไม่มีจะเห็นได้อย่างไร แต่ไม่ใช่มีแต่เห็นอย่างเดียว ต้องมีจักขุปสาทด้วยที่ยังไม่ดับ ถ้าไม่มีจักขุปสาทจะเห็นได้อย่างไร และในขณะนี้ก็ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งยังไม่ดับด้วย เพราะจิตกำลังเห็นสิ่งนั้นซึ่งยังไม่ดับ และในขณะที่จิตเกิด ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นจะปราศจากจักขุปสาท สิ่งที่ปรากฏคือรูปารมณ์ จะปราศจากจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกันไม่ได้ ก็เข้าใจความหมายของอายตนะ ไม่ใช่ไปจำคำว่าอายตนะ ๖ ภายในภายนอก ๑๒ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องรู้ความหมายของคำที่ได้ยินว่า หมายความถึงสภาพธรรมเดี่ยวนี้ พูดถึงเห็น เห็นมี เห็นเป็นธรรม เห็นเป็นปรมัตถธรรม เห็นเป็นอนัตตา เห็นเป็นอภิธรรม เห็นเป็นขันธ์ เห็นเป็นอายตนะ เห็นเป็นธาตุ เห็นเป็นสัจจะ พูดได้หมดเลย แต่เพื่ออะไร ให้เข้าใจเห็น ที่กำลังเห็น จนกว่าเมื่อไหร่ถึงกาลที่จะค่อยๆ เข้าใจเห็น เพราะขณะที่พูดถึงเห็น กำลังเริ่มรู้ลักษณะเห็น ถ้าไม่มีการเริ่มรู้ลักษณะเห็น ก็เป็นเพียงแค่สุตมยปัญญา หรือถ้ากล่าวโดยญาณ ก็เป็นสัจจญาณมีความเข้าใจที่มั่นคง การรู้สภาพธรรมก็คือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญารู้อะไร ปัญญาก็รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาแทงตลอดความจริงของอะไร ก็ของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่กำลังมีในขณะนี้ แต่ต้องอาศัยคำที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่มีทีละเล็กทีละน้อย โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพราะอยาก ไม่ใช่เพราะเมื่อไหร่ ไม่ใช่เพราะทำอย่างไร แต่เพราะเข้าใจขึ้น

    อ.กุลวิไล สัญญาต่างจากปัญญาอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ ชื่อก็ไม่เหมือนกัน สัญญาหมายถึงเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภทเลย จะไม่มีจิตดวงใดที่ขาดสัญญาเจตสิกเลย เพราะว่าขณะที่จิตเป็นสภาพที่รู้ สิ่งที่ถูกรู้ รู้อารมณ์ สัญญาก็จำอารมณ์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยินหรือว่าจิตทุกๆ ประเภท ที่รู้สิ่งที่มาเป็นอารมณ์ของจิต สัญญาก็จะจำอารมณ์นั้นทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถ์ธรรมหรือบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของจิต สัญญาก็จำหมดเลย

    แต่ลักษณะของปัญญา ปัญญาคือความเข้าใจถูก ต่างกันแล้ว ต่างกับความจำ จำคือจำหมด ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถ์หรือว่าบัญญัติ จำพร้อมกับจิตที่รู้ลักษณะของธรรมนั้น จิตรู้ทุกอย่าง มีจิตที่เห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตก็รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา สัญญาก็จำสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ถ้าจะมีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นกุศลที่ไม่ได้เกิดกับจิตเห็น จิตเห็นเป็นชาติวิบาก แต่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง คือรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยความเป็นรูปธรรม หรือสิ่งที่สภาพจิต หรือสภาพรู้ หรือสภาพของนามธรรมที่จะมาปรากฏกับปัญญาก็โดยสภาพของความเป็นธาตุรู้ ซึ่งปัญญารู้ถูกตามลักษณะของปรมัตธรรมนั้นๆ นั่นเอง แต่สัญญาจำอย่างเดียว

    ผู้ฟัง เรื่องจำ และเรื่องปัญญา หรือเข้าใจ ก็ทราบว่า จำ เกิดกับจิตทุกประเภทไม่เว้นเลย แต่ว่าเข้าใจ ก็เป็นเห็นถูกเข้าใจถูกในความจริงที่กำลังปรากฏขณะนี้ ขอเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ว่า มีความจำที่ไม่เข้าใจ กับความจำที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง เพราะเหตุว่าศึกษาธรรมอีกแบบหนึ่งก็ได้ ใช่หรือไม่ คือพูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ยังไม่ต้องใช้คำว่าธรรม ไม่เข้าใจมีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ จริงหรือไม่

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมแค่นี้เอง เข้าใจ มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เหมือนไม่เข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต่างกัน ก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง จำกับเข้าใจเหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจำก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เข้าใจก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เห็นกับเข้าใจเหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ใช้ชื่อก่อน แต่สิ่งที่มีจริงอย่างนี้ จริง กำลังมีกำลังปรากฏแต่ไม่รู้ ไม่รู้ไปหมดเลย ไม่รู้ว่าเกิดแล้วปรากฏ รู้ไหมขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏมีใครรู้บ้างว่าเกิดแล้วจึงปรากฏ ไม่รู้ใช่หรือไม่ แต่จริงไหมเริ่มเข้าใจ ไม่เหมือนกับตอนที่ยังไม่ได้ฟัง แล้วก็ยังไม่ได้คิด แล้วก็ลืมว่าสิ่งที่ปรากฏต้องเกิดแน่นอน ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ เกิดแล้วจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะปรากฎได้อย่างไร เข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกับเมื่อสักครู่นี้ ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็มีทั้งธรรมที่เข้าใจ และไม่เข้าใจ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง ให้คนฟังเข้าใจว่าเป็นจริงอย่างนี้ตั้งแต่เกิด ไม่ใช่มาเป็นจริงตอนที่เพิ่งฟังสิ่งที่เคยเกิดกับแต่ละคน คือเกิดแล้ว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกตลอด ให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่ไม่มี แต่สิ่งที่มี เคยมีแล้วด้วย และก็จะมีต่อไปด้วย และแม้ขณะนี้ก็กำลังมี ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม แต่ละลักษณะๆ ไม่ว่าจะพูดคำไหน เช่นพูดถึงความจำ จำมีแน่ๆ เป็นธรรมแน่ๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรมแน่ๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่อย่างอื่น

    ผู้ฟัง ในการศึกษาพระอภิธรรมที่มีสอนหลากหลายไม่ได้บอกว่า อภิธรรมจริงๆ แล้วก็คือเห็นขณะนี้เป็นอภิธรรม เห็นแล้วคิดเป็นอภิธรรม ได้ยินก็คือการรู้อารมณ์ ๖ ทางขณะนี้ที่เกิดกำลังปรากฏขณะนี้ สิ่งที่มีจริงขณะนี้ ศึกษาอภิธรรม ก็คือศึกษาสิ่งที่มีจริงนั้นเอง แล้วก็เข้าใจแล้วจำได้ว่าเป็นธรรมขณะนี้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ศึกษาที่เป็นปริเฉท จิตมี ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้ เป็นจิต เป็นเจตสิก ที่มีปัจจัยเกิด เป็นรูปที่มีปัจจัยเกิดแล้วตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป จะบอกว่า ถ้าจำได้ว่า จำได้หมดเลย ท่องจิตได้หมดเลย ท่องเจตสิกได้หมดเลย แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม นั้นก็คือจำโดยไม่เข้าใจ แต่ถ้าฟังท่านอาจารย์สอนตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ก็คือขณะนี้มีอะไรที่ปรากฏให้รู้ได้ เข้าใจว่าเป็นจิต เจตสิก แต่เข้าใจว่าขณะนี้ได้ยิน หรือว่าคิดนึก คิดออกมา แล้วกล่าวมาเป็นคำๆ เช่นนี้ จะต้องมีจิตที่คิด ตรงนี้จะเป็นจำแบบเข้าใจ กับไม่ใช่จำโดยไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เริ่มจำคำที่ได้ยิน เริ่มเข้าใจความหมายของคำที่ได้ยิน เริ่มรู้ว่าคำที่ได้ยินกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ จนกว่าจะเริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าจริง ตามที่ได้เข้าใจทุกอย่าง

    ผู้ฟัง การจำแบบไม่เข้าใจ การจำแบบเข้าใจ ก็จะทำให้การเติบโตของปัญญาจะต่างกันมาก เพราะว่าหากเกิดจำไปเลย ฟังบ่อยๆ แล้วก็จำได้ แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้แข็งขณะนี้กำลังปรากฏ แล้วก็เป็นธรรมก็ไม่กลับมาอีกเลย จริงๆ ก็รู้ว่าธรรมแต่ละอย่างเกิด ถ้าเห็นไม่ดับแข็งก็ปรากฏไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเหมือนว่าเข้าใจคำ และเรื่องของธรรม แต่สามารถน้อมไปเห็นว่าเป็นธรรมขณะนี้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ฟัง เพื่อเข้าใจ ปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าได้ยินคำอะไร ฟังแล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะเหตุว่าเป็นธรรม เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ขณะที่เข้าใจ และฟังอีกก็เข้าใจอีกๆ นั่นคือการเจริญขึ้นของความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ วันหนึ่งก็สามารถที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ได้ ฟังแล้วก็เป็นผู้ตรง เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังขั้นไหน แล้วก็รู้ความต่างกัน ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้ว่าแม้ความเข้าใจก็มีหลายขั้น แสดงการเติบโตรึการเจริญขึ้นของความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจเพียงเรื่องราว แต่ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของธรรม จะมีการรู้ลักษณะของธรรม ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการแม้แต่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ยังไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ศึกษาคือฟัง ศึกษานี้เป็นเราหรือไม่ เป็นโสภณเจตสิกธรรมฝ่ายดี ขณะนั้นไม่ได้โลภ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้หลง เพราะเหตุว่ากำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ละความติดข้องด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นการเข้าใจเรื่องราวของธรรมยิ่งละเอียด ยิ่งตรง ก็ยิ่งมีประโยชน์ อุปการะให้เห็นความเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าธรรมเป็นอนัตตา อยากหรือไม่ที่จะรู้ธรรม เห็นหรือไม่เพียงเท่านี้ เห็นสมุทัยไหม แม้ในขั้นการฟัง นี่คือความละเอียดยิ่ง เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างนี้ แล้วอยากจะรู้ อยากจะประจักษ์แจ้งไหม แค่นี้มาแล้วโลภะ เพราะฉะนั้นแม้แต่ยังไม่ได้รู้จักโลภะอย่างละเอียดยิ่ง ซึ่งเหมือนกับอากาศธาตุ ซึ่งแทรกอยู่ทุกกลาป ลองคิดดู ขณะที่มีความติดข้องต้องมีความไม่รู้ เพราะฉะนั้นกว่าจะค่อยๆ ขจัดความไม่รู้ได้ ก็ด้วยปัญญา ซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นจริงๆ ความไม่รู้ก็เกิดขึ้นทางตา เกิดขึ้นทางหู ค่อยๆ สะสมพอกพูนขึ้นฉันใด ปัญญาที่จะต้องรู้ในขณะที่กำลังเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังได้ยิน มีเสียง มีได้ยิน ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะเอาอะไรไปละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่รู้ก็ต้องไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้เห็น ไม่รู้ขณะนี้มีโลภะหลังจากที่เห็นดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ารู้ก็คือว่าสามารถที่จะมีความเข้าใจถูก ในเห็น และในสิ่งที่ปรากฎ แทนความไม่รู้ จนกว่าสามารถจะประจักษ์ความจริง เพราะละความไม่รู้ทีละเล็กละน้อย ในขั้นของการฟังเข้าใจ แต่ถ้าฟังไม่เข้าใจก็ปิดหนทางของการที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะอริยสัจมี ๔ มรรคเป็นอริยสัจซึ่งลึกซึ้งด้วย ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรก็จะไปถึงการดับกิเลสได้

    อ.อรรณพ ก็เป็นประโยชน์ เพราะเราศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรม วันนี้ก็ได้ค่อยๆ สะสมความเข้าใจลักษณะสภาพธรรม ๒ อย่างก็คือสภาพที่จำหรือสัญญา และสภาพที่เข้าใจคือปัญญา สัญญาเป็นปรมัตถธรรม สัญญาเป็นเจตสิกปรมัตถ์ เจตสิกก็แสดงความเป็นธรรม เน้นลงไปก็คือเจตสิกปรมัตถ์ เป็นธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่เกิดขึ้นประกอบกับจิตเป็นสภาพรู้ มีความละเอียดลึกซึ้งหรือไม่ จึงเป็นอภิธรรม ปัญญาเป็นเจตสิกปรมัตถ์ ละเอียดลุ่มลึกที่สุดแล้วก็เป็นอภิธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย อาศัยปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ ทรงจำแนกโดยหลายนัย นัยหนึ่งก็คือโดยนัยของขันธ์ สภาพธรรมที่เกิด และดับตามเหตุตามปัจจัย เป็นรูปขันธ์ส่วนหนึ่ง เวทนาขันธ์ส่วนหนึ่ง สัญญาขันธ์ส่วนหนึ่ง สังขารขันธ์ส่วนหนึ่ง และวิญญาณขันธ์อีกส่วน เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ท่านทรงจำแนกเช่นนี้ สัญญาเป็นเจตสิกหนึ่งเจตสิก ทรงแสดงว่าเป็นหนึ่งขันธ์ เป็นธรรมเป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าเมื่อสภาพรู้เกิดขึ้น จะปราศจากสัญญาไม่ได้ และไม่ใช่เพียงแค่ว่าปราศจากสัญญาไม่ได้ แต่สัญญามีลักษณะที่จำอารมณ์ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดนึกการสะสมต่างๆ เป็นไปตามความจำ แต่อย่างไรก็ตาม สัญญากับปัญญาอบรมเจริญอะไร อบรมเจริญสัญญา หรืออบรมเจริญปัญญา ท่านที่ฟังมาชินหู ท่านก็ต้องอบรมเจริญปัญญา เพราะท่านฟังมาจนคุ้นหูคำนี้ แต่ทำไมถึงอบรมเจริญปัญญา ไม่แสดงว่าอบรมเจริญสัญญา เพราะว่าเมื่ออบรมเจริญปัญญาความเข้าใจ สัญญานั้นก็เป็นไปตามปัญญานั้น สัญญาก็จำไปตามที่ปัญญารู้

    เมื่อสักครู่พี่อรวรรณก็กล่าวว่า จิตรู้สิ่งใดสัญญาก็จำในสิ่งนั้น ใช่หรือไม่ จริง ถ้าจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาก็ปรุงแต่งให้จิต และเจตสิกขณะนั้น เป็นการรู้ด้วยความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นสัญญาก็รู้ตามที่จิตที่ประกอบด้วยสัญญานั้นเกิด สัญญานั้นก็จำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะว่าประกอบหรือสัปปยุทธ์ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นอบรมเจริญปัญญา สัญญาที่เกิดประกอบกับปัญญาก็มีความจำที่มั่นคงด้วยความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นๆ เมื่อปัญญามีหลายระดับ สัญญาก็มีหลายระดับตามระดับของปัญญานั้น เราไม่พูดถึงสัญญาที่เกิดกับอกุศล เพราะว่าสัญญาเกิดกับจิตทุกดวงเกิดทั้งจิตที่มีกำลังอ่อนไม่มีปัญญาเกิด ไม่มีโสภณธรรมเกิดเลย สัญญาเจตสิกก็เกิดได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ กุศลก็ได้ หลากหลาย

    เมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญ ระดับของปัญญามีทั้งระดับเข้าใจความจริงที่เป็นสัจจญาณ ซึ่งเริ่มต้นจากการฟัง แล้วก็กิจจญาณก็คือปัญญาทำกิจรู้ตรงลักษณะสภาพธรรม แล้วก็ปัญญาที่เป็นกตญาณถึงความสมบูรณ์พร้อมตามระดับขั้นฉันใด ในเมื่อปัญญาเป็นอย่างนั้น สัญญาที่เกิดกับปัญญาระดับต่างๆ สัญญาก็เจริญขึ้นจึงสอดคล้องกับที่ท่านแสดงไว้ว่าถิรสัญญาเป็นเหตุใกล้ของการที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะสภาพธรรม ถิระสัญญา คือสัญญาที่มั่นคง ถิระสัญญาเกิดจากฟังแล้วเข้าใจ เมื่อฟังเข้าใจ ขณะนั้นมีความจำที่เกิดพร้อมกับความเข้าใจ ในเรื่องราวของพระธรรม แต่ไม่ใช่จำเรื่องโดยไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟังเข้าใจแม้ฟังเรื่อง ขณะนั้นเป็นสุตมยปัญญา พิจารณาไตร่ตรองเป็นจินตามยปัญญา สัญญาก็ค่อยๆ จำ ตามทำนองคลองธรรมที่ถูกต้อง แม้ยังไม่ใช่เป็นการที่จำในลักษณะสภาพธรรมตรงๆ เพราะอยู่ดีๆ กิจจญาณจะเกิดขึ้นหรือว่าความจำที่จะจำสภาพธรรมว่าเป็นอนัตตาเกิดขึ้นเอง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยปัญญาที่ค่อยๆ ตั้งแต่ขั้นการฟัง และสัญญานั้นก็เป็นขันธ์ เพราะสัญญานั้นเป็นสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ที่เกิดกับปัญญา ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ที่เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะฉะนั้นก็มีการจำมั่นคงๆ ขึ้นจนกระทั่งความจำพร้อมความเข้าใจในขั้นฟังมั่นคงขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ตรงสภาพธรรม ปัญญาก็เข้าใจในสภาพที่สติระลึก และสัญญาในขณะนั้นก็ค่อยๆ จำในความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เราจริงๆ แล้วปัญญาก็จะอบรมเจริญไปอีก จนกว่าสัญญานั้นจะจำในลักษณะสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้นๆ ที่เป็นที่อภิธรรม และสูงสุดของอภิธรรมคืออะไร คือพระนิพพาน และปัญญาที่จะรู้พระนิพพานก็ต้องมีกำลังแล้วก็ละเอียด สัญญานั้นก็จำในสภาพพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพที่สูญเปล่าจากตัวตนจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    7 ก.พ. 2567