พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 732


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมแต่ละอย่างจริงๆ เห็นไม่ใช่ได้ยิน เกิดแล้วก็ดับแล้วด้วย ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วก็ไม่ใช่ของใคร และใครจะบังคับบัญชาก็ไม่ได้ ทุกอย่างหมดในชีวิต

    ผู้ฟัง งั้นเราที่ดิ้นรนขวนขวายในการงาน เลี้ยงดูบุตร ธิดา มารดาต่างๆ ระหว่างนั้นก็เต็มไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ก็ต้องเป็นไปอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรมคือจิต เจตสิก อะไรจะดิ้นรน

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ที่ดิ้นรนก็ต้องเป็นธรรมที่เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะบอกว่า มันเป็นธรรมดา เพราะมันว่าเป็นธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ธรรมดาคือไม่ต้องมีใครไปทำอะไรเลย ทำก็ไม่ได้ แต่อยากจะทำเพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็อยาก แม้แต่อยากจะทำให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ที่ว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้แล้วจะอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เกิดแล้ว ทำได้ไหมเกิดแล้ว ไม่ต้องไปทำให้เกิด เกิดแล้ว

    ผู้ฟัง เช่นการติดข้องในรูป เป็นเรื่องธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ก็เกิดแล้ว ติดข้องแล้วจะไปทำอะไรได้

    ผู้ฟัง ก็ให้เป็นกุศล เป็นเมตตา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้ ไม่ใช่ให้ เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจว่าแม้ความติดข้องในรูปก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้เข้าใจด้วย บังคับไม่ได้ แต่ความจริงเป็นอย่างนี้ก็พิจารณา จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    อ.กุลวิไล เชิญคุณสุกัญญา

    ผู้ฟัง สภาพคิดกับวิตก

    ท่านอาจารย์ รู้จักคำว่าคิดใช่ไหม ก่อนจะได้ยินคำว่าวิตก หรือได้ยินคำว่าวิตกก่อนคิด

    ผู้ฟัง รู้จากสภาพคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กำลังคิดรู้ใช่ไหมว่าไม่ใช่เห็น

    ผู้ฟัง แน่นอน

    ท่านอาจารย์ แล้ววิตกเข้ามาเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง ได้ยิน แล้วก็คิด

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ยินคำว่า วิตก แสดงให้รู้ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็นเราคิด ความจริงก็เป็นเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตที่คิด แล้ววิตกเจตสิกก็เป็นสภาพของเจตสิก ๑ ซึ่งเกิดกับจิต ยังมีผัสสเจตสิก มีเวทนาเจตสิก มีสัญญาเจตสิก และอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ใช่ให้เรามามุ่งหมายที่จะไปรู้วิตกขณะที่คิด และวิตกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิตล่ะ

    ผู้ฟัง ก็มี

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เพียงรู้ว่า ที่ว่าเป็นเราคิด ก็คือขณะนั้นต้องมีจิต และเจตสิกเกิด แล้วก็ต่างก็ทำกิจตามเจตสิกนั้นๆ

    ผู้ฟัง สภาพคิดเป็นจิตที่คิดแล้วก็มีเรื่องราวที่คิด อันนี้ก็มีความเข้าใจจากการศึกษาธรรม คือโดยปกติก็จะเป็นเราคิด แต่ถ้าโดยสภาพธรรมจริงๆ ก็ต้องมีจิตคิดกับเรื่องราวที่คิด

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เองใช่ไหม

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ แต่สิ่งที่มีจริงๆ นี่คือเพียงแค่สภาพคิด ทีนี้คิดก็เป็นจิต แต่จิตจะเกิดโดยปราศจากเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิก ก็ต้องเกิดร่วมกับจิตขณะคิดด้วย เป็นความเข้าใจที่เพิ่งเข้าใจวันนี้

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดมีเพียง ๑๐ ประเภทที่ใช้คำว่า ทวิคือ ๒ ปัญจะ ๕ ก็คือ ๑๐ ได้แก่ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ต่อไปใครนับได้ใช่ไหม ครบแน่ๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างละ ๑ คือกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิต ๑๐ ดวงนี้เท่านั้นที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย น้อยที่สุดคือ ๗ เพราะฉะนั้น จิตอื่นนอกจากนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่าคือมีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก และเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง จิตคิดก็มีหลากหลายมากมาย

    ท่านอาจารย์ จริงไหม

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ จิต ๑ ขณะจะมีเจตสิกเกิดด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗

    ผู้ฟัง อย่างน้อยที่สุด ๗ แต่เมื่อจิตแต่ละขณะหลากหลายเป็นหลายประเภท เพราะฉะนั้น ก็คือแต่ละขณะก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจำนวนไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ อย่างจิตเห็นเป็นต้น มีเจตสิกเกิดด้วย ๗ จะให้หลากหลายยังไงก็ ๗ เกิน ๗ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตคิดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ เรื่องที่คิดอีกเรื่องหนึ่ง แต่จิตที่คิดเปลี่ยนได้ไหม ถ้าเป็นคิดด้วยกุศลจะมีเจตสิกเกิดมากกว่าคิดที่เป็นอกุศล แล้วไม่ใช่เราไปเติมเอง เพิ่มเอง แต่ว่าตามความเป็นจริงที่ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจความหลากหลายของธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับไปเลย แล้วก็มีปัจจัยเกิดอีกแล้วก็ดับไปเลยนับถ้วนไหม

    ผู้ฟัง ความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ขณะที่คิด ก็ต้องมีความเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเพียงแค่ประโยคที่พูดเมื่อสักครู่นี้ ขณะที่คิดก็เข้าใจว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง นั่นถูกต้องที่สุด ไม่ต้องไปเกินกว่านั้นว่าจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ เพราะว่า ขณะนั้นไม่ได้ปรากฏ เจตสิกไม่ได้ปรากฏ แต่ความคิดเกิดขึ้นโดยไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่ว่าฟัง และเป็นเรื่องมากมาย แต่ว่าแต่ละคำต้องรู้ว่าเข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่แม้ขณะนี้ก็กำลังคิด ว่าเป็นแต่เพียงธรรมซึ่งไม่ใช่เห็น เพราะว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง คือคิด แค่นี้จะได้ค่อยๆ คุ้นเคยกับสภาพคิดว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม เพราะธรรมนั้นคิด ไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมคิดไม่ได้ เพียงแต่รู้ว่าเป็นธาตุรู้ โดยที่ไม่แยกเลยว่าขณะนั้นเป็นจิต วิตกเจตสิก วิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ให้รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นลักษณะหนึ่งของจิต ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในเมื่อสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิกไม่ได้ปรากฏ

    อ.วิชัย กราบเรียนอาจารย์ เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์กล่าวถึงวิตกเจตสิกก็เว้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง แล้วก็จิตที่เป็นฌานอะไรต่างๆ อีก ถ้ากล่าวถึงวิตกเจตสิก ก็เป็นไปได้ทั้งกุศลก็มี อกุศลก็มี วิบากก็มี แล้วก็กิริยาก็มี ในส่วนของอกุศลวิตก ผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า มีกามวิตก พยาปาทวิตก แล้วก็วิหิงสาวิตก ถ้าในส่วนของกามวิตก ขอกราบเรียนถามว่า การตรึกที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือเป็นไปด้วยพร้อมกับความยินดีพอใจเท่านั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ วิตก ขณะนั้นวิตกด้วยความติดข้องเป็นกามวิตกในอะไรก็ได้ ในบัญญัติ ในเรื่องราวก็ได้ไม่จำเป็นต้องเฉพาะในกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ต้องทราบความหมายของคำว่ากามด้วย ว่ากาม โดยสภาพที่เป็นนามธรรม หมายความถึงโลภเจตสิก แต่ว่าเวลาที่พูดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นกามอารมณ์ เพราะว่าเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นที่ติดข้องต้องการ เพราะฉะนั้น ก็มีกิเลสกาม และวัตถุกาม

    อ.วิชัย ก็มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของเนกขัมมวิตก คือการที่จะสลัดออกจากความพอใจยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ฉะนั้น การที่จะเพียงฟัง แต่ว่าเพียงเข้าใจจะเป็นการละความพอใจได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ฟัง ไม่ได้ไปทำอย่างอื่นใช่ไหม

    อ.วิชัย แต่ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ ฟังสิ่งที่ทำให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ออกจากความติดข้องในกามหรือไม่ ในขณะที่กำลังฟังเพื่อเข้าใจ

    อ.วิชัย ถ้ามีความรู้ความเข้าใจก็ต้อง

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ได้ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ที่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ขณะนั้นไม่ได้ไปเปิดเพลงเพราะๆ ฟังใช่ไหม แต่ก็ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เป็นการออกจากกามคือความติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขั้นของฟัง ที่จะมีความเห็นที่ถูกต้อง ที่จะละความไม่รู้

    อ.วิชัย ถ้าในส่วนของบุคคลที่อาจจะ อย่างเช่นการที่จะไปในที่ๆ หนึ่ง ที่เว้นจากปกติชีวิตประจำวันท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็นการเนกขัมมะต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการที่ออกจริงๆ ใช่ไหม เพราะขณะนี้ไม่มีความรู้ ความเข้าใจอะไร

    ท่านอาจารย์ อีกความหมายหนึ่งของเนกขัมมะ หมายถึงกุศลทั้งหมด ทั้งปวงเป็นเนกขัมมะ เพราะว่าออกจากอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะไหนก็ตาม ที่ไหนก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะ ระดับหนึ่ง

    อ.วิชัย พูดถึงขณะที่กุศลใช่ไหมท่านอาจารย์ กราบขอบคุณ

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น กุศลธรรมจะดูจากภายนอกไม่ได้ เพราะว่าเป็นสภาพนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะ

    ผู้ฟัง ความตายนี้น่ากลัวไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้กำลังตาย น่ากลัวไหม

    ผู้ฟัง นี่ยังไม่ตาย

    ท่านอาจารย์ ตาย ขณิกมรณะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้รู้สึกอะไรอย่างนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วต้องตาย

    ผู้ฟัง แต่ที่รู้สึกว่าตายจริงๆ คือว่าตาย นอนตายแล้วไม่ลุกขึ้นมาเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากตายใช่ไหม

    ผู้ฟัง อยากจะเตรียมพร้อมที่จะตาย

    ท่านอาจารย์ ตายแล้วก็เกิด เหมือนเมื่อสักครู่ ตายแล้วเกิดต่างกันตรงไหน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าไม่ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ตายแล้วเกิด แล้วก็ตายแล้วก็เกิด สิ่งที่เกิดก็ตาย พอตายแล้วเกิด อยู่ทุกขณะเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ พร้อมไหม กลัวไหมในเมื่อเป็นธรรมดา แต่เพราะไม่รู้จึงไม่อยากจะจาก พราก จากสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นของเรา และเป็นเรา

    ผู้ฟัง งั้นถ้าตายนี้ อาจารย์จะบอกว่าเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีอะไรที่ต้องน่ากลัว

    ท่านอาจารย์ กลัวอะไรตายก็เกิด กลัวเกิดหรือเปล่า ตายก็เกิดแน่ๆ เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ไม่มีความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้หรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็เป็นธรรมดา เมื่อไหร่ก็คือธรรมดา ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อาจจะตายไม่สมควรแก่อายุ อย่างเช่น อายุ ๔๗ แล้ว ๔๘ ตาย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ยังไม่ถึงเวลานั้นแล้วคิดอะไร ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีเวลาที่รู้สึกว่า น่าจะตายคือเป็นมะเร็ง แล้วผมรู้สึกว่าผมสงบ เพราะรู้สึกว่าเมื่อมีโอกาสผมได้สนทนากับท่านอาจารย์กับท่านวิทยากร และเพื่อนธรรม

    ท่านอาจารย์ ขอทราบว่าเดี๋ยวนี้มะเร็งอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่อยู่

    ท่านอาจารย์ นั่นซิ แล้วอย่างไร คิดเรื่องด้วยจิตประเภทไหน ถ้าไม่มีจิตไม่มีคิดเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็ไม่มี แต่ธรรมใดๆ ก็ตาม มีเมื่อเกิดขึ้น ชั่วขณะแล้วก็หมดไป ไม่ยั่งยืนเลย

    ผู้ฟัง การที่เราจะสงบเตรียมที่จะตายได้ เข้าใจว่าตายพร้อมกับความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เลือกได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดว่าผมเลือกได้

    ท่านอาจารย์ เลือกตายได้ไหม

    ผู้ฟัง เลือกตาย เลือกไม่ได้ แต่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เลือกตายไม่ได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นยังไม่ทันเลือกเลยได้ตายแล้ว

    ผู้ฟัง มันเป็นความโชคดีแค่ไหนที่ เมื่อมีโอกาส และเราก็ได้มาสนทนา ได้ใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์ เมื่อถึงคราวตายเราก็ไม่เสียใจว่า เมื่อมีโอกาสแล้ว เราก็ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นเย็นนี้ก็ได้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทในการที่จะมีชีวิตอยู่ ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด

    อ.กุลวิไล คุณธิดารัตน์ ความตายมีกี่อย่าง

    อ.ธิดารัตน์ ตายโดยทั่วไปที่เรารู้จักกันก็คือ ตายจากชาตินี้ที่ไปงานศพกัน ตายแบบนั้น ใช้คำว่าตายโดยสมมติคือตายแล้วก็ต้องเกิดอีก แล้วก็ตายอีก เกิดอีกแล้วก็ตายอีก ท่านจึงใช้คำว่าสมมติมรณะ แล้วก็มีการตายทุกขณะซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ใช้คำว่าขณิกมรณะ ส่วนความตายที่ เป็นการปรินิพพานของพระอรหันต์ถึงจะเป็นสมุจเฉทมรณะ คือการที่พระอรหันต์ท่านปรินิพพานแล้ว ไม่มีปฏิสนธิเกิดอีก

    เพราะฉะนั้น จุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตอีกต่อไป เพราะฉะนั้น จุติจิตของพระอรหันต์จึงเป็นการตายที่ ตายแล้วไม่เกิดอีกจริงๆ คือเป็นสมุจเฉทมรณะ

    ท่านอาจารย์ มีอะไรที่น่ากลัวกว่าตายอีกไหม ลืมกลัวสิ่งที่ควรกลัว มีอะไรที่น่ากลัวกว่าไหม

    อ.กุลวิไล โลภะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ กิเลส แต่อโนตตัปปะไม่กลัว ใช่ไหม ถ้าเป็น โอตตัปปะ ก็จะกลัวภัยหรือโทษของกิเลสยิ่งกว่าตาย เพราะว่าจะเกิดต่อไป เพราะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เลือกเกิดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง หลายครั้งนี้อาจมีจิตที่เกิดขึ้น ก็เลือกที่จะฟังธรรม ละการทำอย่างอื่น ซึ่งจากการศึกษาบอกว่าชีวิตประจำวันมีแต่อกุศล เพราะว่าเฉพาะทาน ศีล ภาวนาเป็นกุศล ความพอดีตรงนี้ก็ยาก ท่านอาจารย์ก็เคยเตือนว่า ชีวิตเหลือน้อย ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร ช่างลำบาก พอบางครั้งอาจจะคิดผิดแล้วก็ ภาระหน้าที่เอาไว้ก่อน ฟังธรรมดีกว่า เคยเรียนถามท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์บอกอย่างนั้นก็เป็นคนเห็นแก่ตัว เราก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ รายละเอียดซับซ้อนซ่อนเงื่อน เข้าใจธรรมยากจริงๆ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเพราะว่าไม่รู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น หรือแม้คนที่ไม่อยากจะทำอะไรเลย อยากจะฟังธรรมอย่างเดียวก็ยังไม่รู้จักตัวเอง ว่าสะสมมาอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า เพราะเหตุว่า ธรรมเป็นเรื่องที่อนัตตา ลืมไม่ได้เลย ขณะนี้ดูเหมือนว่าคนที่ต้องการอย่างนั้น อยากจะเป็นพระอรหันต์คือผู้ที่ไม่มีกิเลส ถ้าพูดถึงคำว่า พระอรหันต์คือผู้ที่ดับกิเลสหมด ฟังอย่างนี้อยากจะถึงไหม อยากจะเป็นอย่างนั้นไหม เพราะว่าเห็นว่ากิเลสไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ลืมว่าเป็นธรรม ไม่มีใครจะถึงความเป็นพระอรหันต์หรือว่า เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระโสดาบัน หรือมีวิปัสสนาญาณ หรือสติปัฏฐานจะเกิดได้ ตามใจหวัง แล้วคนที่พยายามหาทางทุกทาง ไม่เข้าใจ อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น เป็นปัญญาจริงๆ หรือว่ามีความหวัง ที่ทำไปด้วยความหวัง

    เพราะเหตุว่า โลภะเป็นสิ่งที่เห็นยากมาก จะไม่รู้เลยว่า แม้แต่ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ขณะนั้นก็ส่วนใหญ่เป็นไปตามโลภะ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วทุกคนก็ฟังธรรม แต่ว่ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ ก็พยายามที่จะเลือกทางที่จะให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ขณะนั้นใครเลือกทาง มองไม่เห็นเลย มองไม่เห็นเลย แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือ ถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้ทุกอย่างเกิดแล้วทั้งนั้นเลย แม้แต่ความคิดอย่างนั้นก็เกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้ามาเพิ่มเติมได้ เรื่องของโลภะเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก มองดูเหมือนกับว่าเป็นผู้ที่ต้องการละโลภะ แต่ว่าตามความเป็นจริง ละโลภะต้องด้วยปัญญา และปัญญาไม่ใช่รู้เพียงสิ่งที่เราพยายามจำกัด ว่าเราอยากจะมีชีวิตอย่างนี้เพื่อปัญญาของเราจะเกิดมากๆ แต่ว่าตามความเป็นจริง ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่เป็นบรรพชิตก็มี ที่เป็นคฤหัสถ์ก็มี ที่เป็นคฤหัสถ์ที่ครองเรือนก็มี คฤหัสถ์ที่ไม่ครองเรือนก็มี

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะเป็นพระอริยบุคคลได้ ก็ด้วยปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดแล้วในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ยังเป็นในขณะนี้หรือเปล่าที่เข้าใจธรรม แต่พยายามไปสร้างเหตุการณ์ซึ่งอาจจะคิดว่าจะอำนวย จะช่วย จะเร่ง หรือว่าจะทำให้บรรลุผลเร็วขึ้น

    เพราะฉะนั้น บางคนก็อาจจะมีชีวิตซึ่งมองดูเหมือนกับว่า เป็นชีวิตอีกแบบหนึ่ง ต่างกับชีวิตเดิมๆ แต่ว่าความเข้าใจธรรมจริงๆ ต้องในขณะนี้ที่ธรรมปรากฏ เพราะว่าเกิดแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามเข้าใจธรรม อย่างที่เราหวังว่าจะรู้โดยที่ขณะนั้นยังไม่ปรากฏ นี่แสดงให้เห็นว่าภพชาติของพระอริยบุคคล ก่อนที่จะถึงการเป็นพระอริยบุคคลได้ ท่านผ่านชีวิตหลากหลายมาก กว่าปัญญาที่จะสามารถเข้าใจเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่รั้งรอเลย เพราะว่า ถ้ารั้งรอก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้วจึงได้ทรงอุทานว่า ได้พบนายช่างผู้สร้างเรือน ทำไมก่อนนั้นไม่พบในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานมากเลย ไม่รู้เลยว่าใครสร้างให้มีภพชาติอยู่เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามแม้คิด เคยรู้ไหมว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นธรรม กำลังเห็นเดี๋ยวนี้สามารถที่จะเข้าถึงธรรมซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ เพราะถ้าไม่ใช่ปัญญาอย่างนี้ ก็ไม่มีทางที่จะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงคือ เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธรรมที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นมีปัจจัยเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นอิสระพ้นจากการที่ถูกโลภะจูง หรือนำพาไปเงียบๆ โดยไม่รู้เลย ตลอดชาตินั้นอาจจะไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เกิดแล้วในขณะนี้ได้ นี่ก็คือเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เพราะว่าฟังธรรมเพื่อละแต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน ละด้วยความรู้ความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม การฟังธรรมจะละเลยว่า ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นการที่มีแต่เรื่องราว มีแต่ชื่อ มีแต่ความต้องการจำนวน หรือว่าอาจจะต้องการอย่างอื่นก็ได้ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้ชีวิตของแต่ละคนเป็นแต่ละ ๑ ใครก็เปลี่ยนแปลงการสะสมของแต่ละ ๑ ไม่ได้เลย ใครจะคิดอย่างไร พูดอย่างไร ทำอย่างไร ก็คือการสะสมที่เป็นมาแล้วแต่ละ ๑ เพราะฉะนั้น ไม่สำคัญเลยว่าใครจะคิดอะไร จะทำอะไร แต่ว่าสำคัญคือ เขาสามารถที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ต้องไปกังวลถึงใครทั้งสิ้น เพราะแต่ละ ๑ ก็ไปยับยั้งไม่ได้ที่จะให้คิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง นัยของคำว่า ฟังธรรมตามกาล

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ฟังอยู่

    ท่านอาจารย์ และเป็นกาลของการฟังหรือเปล่า กาลของการฟังเมื่อไหร่ก็ได้

    ผู้ฟัง เมื่อไหร่ก็ได้ที่โสตวิญญาณได้ยินธรรมหรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องเลือกไหมว่าที่ไหน เพราะแม้แต่สงสัยแล้วฟัง ก็เป็นกาลที่ควรฟัง ไม่ใช่เก็บความสงสัยนั้นไว้ แล้วก็ไม่มีการฟังเพื่อที่จะหายสงสัย เพราะฉะนั้น กาลของการฟังธรรมทรงแสดงไว้ว่ามีหลายอย่าง แม้แต่ในกาลที่มีการประชุมกัน รวมกันที่จะฟังธรรม แล้วก็เป็นกาลของการฟังธรรม หรือว่ากาลที่มีโอกาสที่รู้ว่าจะได้ฟัง ขณะที่ฟังก็เป็นกาล คือหมายความถึงเวลาที่ได้ฟังธรรมเท่านั้นเอง ฟังขณะไหน ก็คือกาลขณะนั้น

    ผู้ฟัง เมื่อไหร่ได้ยิน เมื่อนั้นก็เป็นกาลที่ได้ฟังแล้ว ธรรมเกิดแล้วใช่ไหม ขอบพระคุณท่านอาจารย์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567