พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 722


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    อ.วิชัย เมื่อกล่าวถึงนามธรรม คือ จิต และเจตสิก คือมีปัจจัยเกิด เมื่อเกิดแล้วดับไปแล้ว ความดับไปของจิต และเจตสิก คือ กล่าวโดยความไม่มีระหว่างคั่นแก่จิตอีกขณะ ๑ ก็ทราบว่า นามธรรมโดยความสามารถหรือความเป็นปัจจัยของนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเมื่อดับไปแล้ว สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกอีกขณะ ๑ เกิดขึ้น ถ้ากล่าวโดยความเป็นปัจจัยคือ โดยความเป็นอนันตรปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยไม่มีระหว่างคั่น ความหมายของคำว่า “ไม่มีระหว่างคั่น”

    ท่านอาจารย์ ทันทีเลย ทันทีที่จิตขณะก่อนปราศไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีอีกต่อไปทั้ง ๓ อนุขณะ คือ “อุปาท” “ฐิติ” “ภังค” ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีช่องว่าง

    อ.วิชัย คือต้องเกิดสืบต่อทันทีเลย

    ท่านอาจารย์ ทันที

    อ.วิชัย ซึ่งต่างกับรูป ทำไมรูปไม่มีความสามารถอย่างนามธรรมโดยฐานะความเป็นอนันตรปัจจัย

    ท่านอาจารย์ รูปไม่รู้อะไรเลย

    อ.วิชัย แต่เกิดจากสมุฏฐาน ๔

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อสมุฏฐานนั้นไม่ทำให้รูปเกิด รูปก็ไม่เกิด ไม่ใช่การสะสมรูปก่อนมาทำให้รูปต่อไปเกิด แต่รูปที่จะเกิดไม่ว่า เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม รูปเกิดตามสมุฏฐานที่ทำให้เกิดขึ้น

    นี่คือ ความต่างกันโดยประการทั้งปวง โดยสิ้นเชิงของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่า รูปไม่ใช่ว่า มองเห็นทุกรูป เห็นรูปเดียว ในบรรดารูปทั้งหมด เฉพาะรูปที่กำลังปรากฏให้เห็นขณะนี้เท่านั้น รูปอื่นทั้งหมดมองไม่เห็นเลย ไม่สามารถที่จะเห็นได้เลย แต่ก็เป็นรูปธรรมซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้น ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม คือ นามธรรมไม่มีรูปใดๆ ก็จริง แต่เกิดขึ้นรู้ ล้วนเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปธรรมเจอปนเลย และรูปธรรมไม่ว่าเกิดที่ไหน รูปอะไรทั้งสิ้น ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปธรรมเป็นอนันตรปัจจัยหรือเปล่า

    อ.วิชัย ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นไม่ได้ ไม่ใช่จิต เจตสิก เพราะเหตุว่า ไม่ใช่สภาพรู้ จักขุปสาทเกิดจากสมุฏฐาน คือ เกิดจากกรรม ถ้าสิ้นสุดกรรมนั้น ไม่ทำให้รูปนั้นเกิด รูปนั้นก็เกิดไม่ได้ จักขุปสาทมี แล้วก็มี แล้วก็มี ความจริงก็เกิดแล้วดับ เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่า กรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทยังเกิดต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้ากรรมไม่เป็นปัจจัยให้จักขุปสาทเกิด จักขุปสาทเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของนามธรรมเท่านั้น คือ จิต และเจตสิกที่เป็นอนันตรปัจจัย

    อ.คำปั่น ขออนุญาตแปลศัพท์ที่ได้ฟังไปเมื่อสักครู่ คำว่า “อนันตรปัจจัย” “อนันตร” มาจากคำ ๒ คำ คือ “น” ปฏิเสธเป็นคำแรก คำที่ ๒ คือ “อนฺตร” หมายถึง ระหว่าง “น” หมายถึง ไม่มี เวลาที่ท่านสนธิกัน “น” ตัวนั้นก็จะแปลงเป็น “อน”กับ “อนฺตร” จึงเป็น “อนันตร” หมายถึงไม่มีระหว่างคั่น สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ จิต และเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไป เมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก ขณะต่อไปเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น หมายความว่า ไม่มีจิตอื่นคั่น นอกจากว่า จะต้องเป็นจิต และเจตสิกขณะต่อไปเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป

    เพราะฉะนั้น จึงมีอีกปัจจัย ๑ ที่คู่กันคือ “สมนันตรปัจจัย” คือ เป็นลำดับด้วยดี เพราะว่า จิต เจตสิก เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้ จิต เจตสิก ขณะต่อไปเกิดขึ้น นอกจากว่า จะไม่มีระหว่างคั่นแล้ว ก็จะต้องเป็นลำดับด้วยดีด้วย ไม่ใช่ว่า สับลำดับกัน ซึ่งก็เป็นพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงว่า เมื่อจิตขณะนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับด้วยดี ไม่สับลำดับกัน

    ผู้ฟัง จิตเกิดดับทันทีไม่มีระหว่างคั่น พระอรหันต์ที่ท่านได้นิโรธสมาบัติ ถ้าท่านเข้านิโรธสมาบัติขณะนั้นท่านดับ จิต เจตสิกไม่เกิดระหว่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วต่อมา จิต เจตสิก เกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต่อมาก็เกิด

    ท่านอาจารย์ มาจากไหน

    ผู้ฟัง ท่านออกจากนิโรธสมาบัติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ใช่นิโรธสมาบัติ จิต เจตสิก ต้องเกิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตที่เกิดมาจากไหน

    ผู้ฟัง ก็เกิดมาจากสภาพธรรม เป็นอนันตรปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วช่องว่างระหว่าง ๗ วันนั้น

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องเข้าใจ แม้แต่ความหมายของคำว่า “อนันตรปัจจัย” โดยทั่วไปเราเข้าใจว่า ไม่มีระหว่างคั่น เพราะความจริงก็เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า จิตก่อนนั้นไม่มีปัจจัยที่เป็นอนันตรปัจจัย ยังคงมี แต่ไม่ถึงกาลที่สามารถจะเกิดได้ด้วยกำลังของสมาบัติซึ่งเป็นนิโรธสมาบัติ ต้องมีเหตุไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องมีเหตุ

    ผู้ฟัง ได้อ่านพระสูตรที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า ศรัทธานำไปสู่การที่จะข้ามโอฆะ คือ กิเลสต่างๆ ได้ ดูเหมือนว่า พอเราฟังแล้วเราก็อยากให้เกิดศรัทธาขึ้น เพราะว่า ถ้ามีศรัทธาแล้ว เราจะได้ข้ามพ้นกิเลสได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรา ไม่ได้เป็นธรรมเลยตั้งแต่ฟังมา ใช่ไหม ฟังจบก็เป็นเราอยากที่จะข้ามพ้นโอฆะโดยที่ไม่รู้ว่า ไม่มีเรา ฟังจนกว่าจะเข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะเป็นโน่น เป็นนี่ แต่ฟังจนกว่าจะเข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้เอง มีศรัทธาหรือเปล่า ไม่ใช่ว่า อยู่ในตำรา ทรัพย์อันประเสริฐ นำออกจากโอฆะ เดี๋ยวนี้เข้าใจหรือเปล่า เดี๋ยวนี้สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้ นี้คือผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ฟังธรรมไม่ใช่ว่า รู้จักจิต ๘๙ หรือว่ารู้จักเจตสิก ๕๒ ที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ฟังเพราะรู้ว่า ไม่รู้เลยมานานแสนนาน ฟังแล้วเริ่มเข้าใจเหมือนแสงเงินแสงทอง พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นเลยแต่ก็มีแสงเงินแสงทอง คือ พระธรรมซึ่งได้ทรงแสดงไว้แล้ว

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตัวเองว่า ความไม่รู้นี้มากมายแค่ไหน แม้แต่คำว่า “โอฆะ” เห็นห้วงน้ำใหญ่ เห็นทะเลไกลมาก แล้วคิดถึงอะไร อวิชชาเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ยิ่งกว่านั้นอีก ทั้งลึก ทั้งกว้าง ยากที่จะข้ามได้ ก็กลับไปคิดถึงโอฆะ

    แต่ความจริงการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจความจริงว่า ไม่ว่า จะพูดถึงอะไรก็ตาม ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน หรือกำลังเริ่มเข้าใจว่า เป็นธรรมๆ ศรัทธาเป็นธรรม สติเป็นธรรม โกรธเป็นธรรม วิริยะเป็นธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมเลย เพื่อเข้าใจให้ถูกต้องก่อนตามลำดับ โดยที่ยังไม่เห็นอะไรเลย

    เพราะเหตุว่า ขณะนี้ถ้าพูดถึงว่า มีศรัทธาในขณะที่กำลังฟังจะตอบว่าอย่างไร ตอบได้ แต่รู้จักศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจของศรัทธาหรือเปล่า ก็รู้ไม่ได้เพราะอะไร ไม่ใช่ศรัทธาเจตสิกเท่านั้นที่เกิด ต้องมีทั้งสติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะด้วย ในขณะที่กุศลจิตเกิด แม้เพียงชั่วขณะที่แสนสั้น เพราะว่า เป็นธรรม ข้อสำคัญที่สุดคือ ให้เข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ให้เราไปหาตัวศรัทธามารู้ และไปเข้าใจเรื่องของศรัทธา แต่ฟังเพราะมีความเข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมก่อน แล้วก็จะเข้าใจยิ่งขึ้น เมื่อกล่าวถึงธรรมแต่ละอย่าง เช่น ในขณะนี้มีสติไหม ที่กำลังฟังธรรมเข้าใจ

    ผู้ฟัง มีสติประกอบ

    ท่านอาจารย์ มีศรัทธาไหม มี อโลภะ มี อโทสะ มี ตัตตรมัชฌัตตตา มี แล้วก็โสภณสาธารณเจตสิกอื่น รู้จักไหม ดับแล้วหมดเลย แต่ฟังให้เข้าใจว่า สภาพธรรมที่เป็นกุศลเกิดได้ เพราะโสภณสาธารณเจตสิกนั่นเอง เกิดเมื่อไร จิตขณะนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือกุศลวิบากก็ตาม หรือกิริยาจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ฟังให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นฟังแล้วเราก็จะข้ามโอฆะ ก็คือไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังเลย แต่ถ้าฟังแล้วรู้ความจริงว่า ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งมีจริง รู้ได้ด้วยแต่ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา พร้อมสติสัมปชัญญะที่ถึงกาลที่จะระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะได้มีความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา เป็นสติสัมปชัญญะ เป็นขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น และทันทีที่รู้ก็ดับแล้ว นี่คือการที่จะค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูก แล้วก็รู้ว่า อะไรที่จะรู้ได้ เข้าใจได้แค่ไหน ไม่มีเรา แต่ไม่ใช่ “เรา”จะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั้นคือ ไม่เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง มีการทำหรือมีการที่จะให้เกิดศรัทธาข้ามโอฆะ อันนั้นไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรที่จะต้องเข้าใจว่า เป็นธรรมก่อน เพราะเดี๋ยวนี้ก็เป็นธรรม เมื่อไหร่ๆ ก็เป็นธรรม แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรม โกรธบ่อยๆ เป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดบ่อยๆ ไม่ใช่ใครจะไปทำให้เกิดขึ้น แต่เป็นธรรมประเภทนี้ เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ ตามเหตุตามปัจจัย ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า เป็นธรรม และเป็นปกติด้วย

    เพราะว่า ขณะนี้ธรรมทั้งหมดเดี๋ยวนี้ เป็นปกติอย่างนี้ เพราะมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างงี้ ถ้าจะให้ผิดปกติหรือทำอะไรที่ผิดปกติ นั้นคือ ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจธรรมที่เกิดแล้วเป็นปกติตามปัจจัย เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องละเอียด เพื่อเข้าใจสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ที่กำลังปรากฏ ศรัทธาปรากฏหรือเปล่า หิริปรากฏไหม สติปรากฏหรือเปล่า ปรากฏเมื่อไหร่ ควรรู้ยิ่ง คือ ขณะนั้นสภาพธรรมที่แสดงความเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิด ไม่ใช่ใครไปทำให้เกิดเลย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดมากๆ จนยากที่ผู้ฟังจะเข้าใจได้เพราะว่า แม้จะฟังเรื่องของศรัทธา แน่นอนซึ่งหลายคนก็คิดว่า อยากจะให้มีศรัทธาเกิด และเพื่อจะนำไปสู่การข้ามโอฆะ

    ท่านอาจารย์ เพราะเข้าใจเป็นปัญญา เมื่อไม่ใช่ปัญญาแล้วจะเข้าใจได้อย่างไร ที่เข้าใจทั้งหมดนั่นคือ ความเห็นถูกต้อง ปัญญาจะเข้าใจละเอียดขึ้น แล้วก็จะรู้ความลึกซึ้งตามปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นเวลานี้ไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจระดับนั้น เพราะฉะนั้น ก็เริ่มต้นเข้าใจสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ และก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมลึกซึ้งแค่ไหน แม้แต่ธาตุรู้เกิดดับแน่นอน เพราะกำลังรู้ แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรมใช่ไหม เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงตามปกติก็เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า มีจริงๆ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจในธรรมแต่ละอย่าง พูดถึงว่า “แข็ง” แต่ “แข็ง” ไม่ปรากฏเลย แล้วบอกว่า “แข็งเป็นธรรม” กับขณะที่ “แข็ง” กำลังปรากฏ ความเข้าใจต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม แข็งก็เป็นแข็งธรรมดา มีใครบ้างที่ไม่รู้แข็ง แต่เวลาฟังธรรมแล้วเข้าใจ แข็งปรากฏ ความรู้แค่ไหน ลึกซึ้งจนกระทั่งว่า ขณะนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากแข็ง ไม่มีเรา ไม่มีโลกอื่นใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้แข็งก็กำลังปรากฏ เป็นการรู้ความจริงว่า แข็งเป็นธรรมจริงๆ เฉพาะแข็งได้หรือยัง รู้จริงๆ ว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากแข็งที่ปรากฏแล้วก็ดับ รู้อย่างนั้นได้หรือยัง

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ยังไม่รู้อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะมีเห็นด้วย ไม่ใช่ “รู้รอบ” เฉพาะแข็งซึ่งขณะนั้นไม่มีอย่างอื่นเลย จึงเข้าใจความหมายของคำว่า “รู้รอบ” มีอย่างเดียวปรากฏให้รู้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งของธรรมก็ตามลำดับของความเข้าใจ คือ ปัญญาไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเรา ไม่มีทางที่จะรู้อะไรได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็จะสามารถรู้ว่า ทุกคำที่พูดเป็นความจริง สามารถที่จะประจักษ์ความจริงนั้นได้ เพราะเมื่อเป็นความจริงอย่างนี้ จะรู้อย่างอื่นได้ไหมที่จะไม่เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถ้ารู้จริงๆ ก็ต้องรู้ตรงตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เป็นการฟังธรรมเพื่อจะเข้าใจความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

    ผู้ฟัง ทุกอย่างต้องมีปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ศรัทธาปรากฏหรือเปล่า ไม่ว่ากุศลใดๆ ทั้งหมดที่เกิด ขณะนั้นฟังแล้วรู้ว่า ต้องมีศรัทธาแน่นอน และไม่ใช่มีแต่เฉพาะศรัทธาด้วย ฟังศรัทธาคำเดียวพอถึงสติก็ต้องมีด้วย อโลภะก็ต้องมี อโทสะก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังฟังธรรมจะไปหาเวลาไหนที่จะมาให้เข้าใจศรัทธา ทั้งๆ ที่มีศรัทธาแต่ก็ไม่รู้จักศรัทธา แต่ว่าฟังแล้วเริ่มเข้าใจว่า ขณะนี้มีศรัทธาแน่นอน ขณะที่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้จักตัวศรัทธา เพราะมีสภาพธรรมหลายอย่างซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ต้องเกิดกับจิตฝ่ายดี

    ผู้ฟัง ทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ศรัทธาจะต้องมีปัจจัยให้เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่เป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ศรัทธาเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ และอย่างอื่นอีกมาก ซึ่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะจิต ขณะนี้จิตเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ โดยไม่รู้ลักษณะของจิตว่า จิตขณะนั้นที่เป็นกุศล มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แต่กำลังพูดถึงชื่อของธรรมซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมก็ต้องตามลำดับขั้นว่า ขณะนี้สามารถจะรู้จักศรัทธาไหม หรือพอจะรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่กุศลประเภทใดเกิดก็ตาม ขณะนั้นมีศรัทธา แต่ไม่ใช่มีเฉพาะศรัทธา มีสติด้วย มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ และโสภณเจตสิกอื่นๆ ด้วย แล้วจะรู้อะไร นี่เป็นตัวตนที่จะรู้ แต่ไม่ได้เริ่มจากความเข้าใจว่า มี แต่ยังรู้ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้เองเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ศรัทธาไม่ปรากฏเด่นชัดขณะที่มีโสภณเจตสิกเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้อะไรเด่นชัด

    ผู้ฟัง ไม่มีอะไรเด่นชัด

    ท่านอาจารย์ จะมีได้อย่างไร ถ้ามีต้องไม่ใช่เราที่คิดหรือเราที่รู้ แต่ต้องเป็นสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นเพราะฟังเข้าใจ จนกระทั่งละความติดข้องว่า เมื่อไหร่สติจะเกิด ไม่ต้องคิดเลย

    อ.กุลวิไล บางท่านศึกษาใหม่อาจจะไม่ทราบว่า เข้าใจธรรมจะมีประโยชน์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้นทราบไหม หวังว่า จะดีหรือเปล่า หรือว่าหวังให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า แล้วแต่อะไรจะเกิด ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าทุกอย่างต้องมีเหตุ แค่นี้เป็นประโยชน์ไหม เพียงแค่นี้ก็ยังเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจมากกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ ยิ่งกว่านี้ จะเป็นประโยชน์มากขึ้นหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวว่า แล้วแต่อะไรจะเกิด ซึ่งจะเห็นถึงความเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ตามเหตุตามปัจจัยบังคับไม่ได้ เพราะเมื่อสักครู่ก็ถามแล้วใช่ไหม หวังว่า อะไรจะเกิด ต้องเป็นสิ่งที่ดีๆ ไม่มีใครหวังที่จะให้สิ่งที่ไม่ดีเกิด แต่อะไรจะเกิดไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพียงเข้าใจความจริงเท่านี้มีประโยชน์ไหม ทุกคนก็รู้แล้ว หวังสุขแน่ๆ ไม่มีใครหวังทุกข์เลย แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถเข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นแน่นอน ความเข้าใจถูกก็จะรู้ความจริงว่าเกิดแล้ว ทุกคนแน่ใจต้องตาย แต่ก็ยังช้าเพราะว่า กำลังตายอยู่ทุกขณะก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจความจริงก็จะทำให้พ้นจากการที่เป็นทุกข์เพราะไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นอยู่หลายคน รู้ความจริงหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ถ้าอวิชชาก็ต้องไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อยู่คนเดียวจริงๆ เพราะว่า จิตเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ และใน ๑ ขณะที่จิตเกิด เป็นธาตุรู้ที่ต้องรู้เพียงสิ่งเดียว ทีละอย่าง และสิ่งเดียวที่ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้ เป็นคนหรือเปล่า เป็นอะไรหรือเปล่า นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเข้าใจความจริงว่า ไม่ใช่เรา แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็น เกิดแล้วเพราะมีปัจจัยต้องเกิดเป็นอย่างนี้ ไม่เกิดขึ้นเป็นอย่างอื่น ก็จะค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริง เพราะว่าตั้งแต่เกิดจนตายมีชีวิตอยู่โดยไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ความจริงจะพูดจริง ตามความเป็นจริงได้ไหมในเมื่อไม่รู้ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็พูดแต่คำที่ไม่รู้จักตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น การที่มีโอกาสได้ฟังความจริง คือ ผู้นั้นเห็นประโยชน์ของการที่เมื่อสิ่งใดเป็นจริงอย่างไร ก็ควรจะรู้จริงๆ อย่างนั้น ไม่ใช่หลอกตัวเอง หรือหลอกว่า เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ โดยที่ไม่สามารถที่จะเป็นอย่างที่คิดได้ เพราะว่า ความจริงต้องเป็นความจริง

    อ.วิชัย คำว่า วิญญาณ

    ท่านอาจารย์ พูดกันบ่อยใช่ไหม มีใครบ้างที่ไม่เคยได้ยินคำว่า “วิญญาณ” แต่ว่า รู้จักวิญญาณหรือเปล่า พูดคำที่ไม่รู้จัก พูดคำอื่นอีกไหม ไม่รู้จักคำ ๑ แล้ว

    อ.วิชัย เช่น จิตใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จิตใจก็อีกใช่ไหม พูดว่า “คนนั้นใจดี” “จิตเป็นอย่างไรวันนี้” แต่ก็ไม่รู้จักจิต เพราะฉะนั้น ก็พูดคำที่ไม่รู้จักความจริงของคำนั้นเลย แต่เราก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า แต่ละคำคืออะไร พูดคำว่า “โลก” รู้จักโลกไหม ก็ไม่รู้จัก ก็พูดแต่คำที่ไม่รู้จักเพราะว่า เป็นอวิชชาที่ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น จะพูดคำที่เข้าใจได้อย่างไร ในเมื่อขณะนั้นไม่รู้จักคำที่พูด

    อ.กุลวิไล ช่วยขยายความของคำที่ว่า “เข้าใจในคำที่พูด” จะลึกซึ้งอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรมทีละคำด้วยความเข้าใจจริงๆ ก็สามารถที่จะทำให้เราเพิ่มความเข้าใจในแต่ละคำ เพราะว่า สิ่งที่มีจริงหลากหลาย จะใช้เพียงคำเดียวไม่ได้ จะใช้คำเดียวได้อย่างไร สำหรับสิ่งที่ต่างๆ กันไป ก็จำเป็นต้องใช้หลายๆ คำ แต่อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงสามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ไหม หรือว่าทั้งๆ ที่มีจริงทุกวัน เห็นทุกวัน ได้ยินทุกวัน คิดทุกวัน สุข ทุกข์ทุกวัน ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งนั้นๆ ได้เลย

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างของอวิชชา ความไม่รู้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมีเป็นประจำทุกวัน ทุกเวลาก็ไม่รู้ กับวิชชาซึ่งสามารถที่จะเริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ได้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่รู้ความจริงโดยถ่องแท้ โดยประการทั้งปวง คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงพระธรรม ใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงในขณะนี้ได้เลย

    อ.วิชัย อย่างเช่นคำว่า จิต เช่น บุคคลที่อาจจะชอบให้ ชอบเกื้อกูลบุคคลอื่น ก็ทราบว่า บุคคลนี้ใจดี อันนี้จะเป็นการรู้ว่า ใจเขาชอบให้ ชอบช่วยเหลือบุคคลอื่น อย่างนี้จะเป็นการรู้จักคำว่า ใจ ว่าคนนี้ใจดีหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คนนั้น” เป็นอะไร ก็ไม่รู้แล้วใช่ไหม แม้แต่ “คน” ก็ไม่รู้ “ใจ” ก็ไม่รู้ “ดี” ก็ไม่รู้ เพราะเป็น “คนนั้นใจดี” แต่ไม่ใช่เป็นธรรมแต่ละลักษณะ แล้วก็ไม่รู้จริงๆ ว่า ใจมองไม่เห็น คนนั้นใจดี เห็นใจเขาหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่เห็นการกระทำกับคำพูดแล้วบอกว่า “เขาใจดี” แต่ใจจริงๆ ก็ไม่เห็นว่า ขณะนั้นเป็นใจอะไร

    อ.วิชัย หมายความว่า ต้องมีธรรมนั้นๆ จึงจะแสดงความหมายออกมาเป็นลักษณะอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ก็ไม่รู้จักธรรม ก็รู้จักแต่คน แล้วก็บอกว่า ใจดีแต่ใจเป็นอย่างไรก็ไม่รู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567