พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 746
ตอนที่ ๗๔๖
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าเท่าที่สนทนากับสหายธรรมก็ยังไม่เข้าใจว่า ตนที่จะเป็นที่พึ่ง นั้นคืออะไร
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้หรือเปล่า ข้อสำคัญที่สุด ถ้าไม่เข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่สามารถที่จะมีตนเป็นที่พึ่งได้ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะฟังข้อความใดๆ จากพระไตรปิฎก บางทีเราก็อ่านจนจบ แต่ว่าเราไม่ได้พิจารณาจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นที่อย่างที่ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้หรือเปล่า เช่นมีตนเป็นที่พึ่ง เดี๋ยวนี้หรือเปล่า เห็นหรือไม่ ต้องเป็นเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มีตนหรือเปล่า ยังมีอยู่ ยังไม่ได้หมดความเป็นตน ใช่ไหม จึงต้องมีตนเป็นที่พึ่ง เพื่อที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า ตนที่นี่ก็คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าคือ โลกียธรรม และโลกุตตรธรรม
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างคือเดี๋ยวนี้ ฟังธรรมก็ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า กำลังฟังสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพื่อที่จะได้มีที่พึ่งของตนเอง ไม่ใช่คนอื่น ตราบใดที่ยังมีตน ก็จะต้องมีความเห็นถูกความเข้าใจถูก จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือธรรม ซึ่งขณะนี้เป็นโลกียะหรือเป็นโลกุตตระ ก็เป็นโลกียะ ก็ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าอ่านไปจนจบหมด แต่ว่าต้องพิจารณาแต่ละคำที่ได้ฟังว่า ขณะนี้ยังเป็นโลกียธรรมเพราะอะไร เดี๋ยวนี้เห็น ยังมีตนคือขณะที่ไม่ได้ฟังธรรม เห็นเป็นเรา แต่เวลานี้เห็น และเริ่มเข้าใจว่า เห็นเป็นธรรมที่เป็นโลกียะ เพราะเหตุว่าโลกียะหมายความถึง ธรรมซึ่งเกิดดับ สิ่งใดก็ตามซึ่งเกิด และดับ เป็นโลกียะทั้งหมด เช่นเห็นขณะนี้ไม่ใช่ได้ยิน ก็แสดงความต่างว่า ขณะเห็นไม่ใช่ขณะได้ยิน หรือจะกล่าวว่าขณะที่ได้ยินไม่ใช่ขณะที่เห็น ก็หมายความว่า ไม่ใช่ขณะเดียวกัน เป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว จนกระทั่งต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก พิจารณาจนกระทั่งเริ่มค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมแน่นอน เห็นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ได้ยินก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แค่นี้เวลาที่เราไม่ได้ฟังธรรมเราก็ลืมที่จะรู้ว่าเห็นเป็นธรรม ที่กำลังเห็น แล้วก็ได้ยินก็ไม่ใช่เห็น เป็นอีกธรรมหนึ่งที่ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏทางหูเป็นเสียงต่างๆ พูดเหมือนธรรมดา แต่ปัญญาค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าเป็นวาระที่จะได้ฟังธรรม ที่จะได้เข้าใจความจริงว่าขณะนี้เป็นธรรมทุกอย่าง แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม กำลังฟังเรื่องธรรม แต่ปัญญาเริ่มจะเพียงค่อยๆ เข้าใจธรรม
เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาที่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เห็นเป็นเพียงธาตุหรือธรรม หรือมีจริงเพราะกำลังเห็น แล้วยังละความเป็นเราจากเห็น จึงจะมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง พึ่งอกุศลไม่ได้ และพึ่งกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ไม่ได้อีก การที่จะรู้ความจริง ความจริงนั้นต้องด้วยความเข้าใจ
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่ค่อยๆ สะสมไป ทีละเล็กทีละน้อยด้วยความเป็นผู้ตรงว่าขณะนี้มีเห็นกำลังฟังเรื่องเห็น เพื่อที่จะเข้าใจความจริงของเห็น ว่าเป็นธรรม ขณะนี้กำลังได้ยินกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะสภาพที่กำลังได้ยินว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดได้ยิน แล้วหมด ทุกอย่างพิสูจน์ได้ทุกขณะแต่ต้องอาศัยกาลเวลาที่ฟังบ่อยๆ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ
อ.กุลวิไล มีข้อสงสัยในการทำวิปัสสนา เคยอ่านในหนังสือ แจ้งว่าไม่ใช่การนั่ง หรือจงใจให้เกิดขึ้น แต่เป็นการรู้ผัสสะทั้งหลายที่มากระทบ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ในอิริยาบถใด ระลึกรู้ถึงไตรลักษณ์ ในชีวิตประจำวันปกติที่ทำอยู่อย่างนี้เข้าใจถูกหรือไม่ และกราบเรียนถามท่านอาจารย์ปฏิบัติโดยวิธีใดบ้าง
ท่านอาจารย์ คงไม่หวังเพียงแค่จะให้ตอบใช่ไหม ว่าถูกหรือผิด แล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น ก็ขอให้คุณกุลวิไลพูดอีกครั้งหนึ่ง หรือว่าคำที่ควรเข้าใจ
อ.กุลวิไล ท่านถามถึงข้อสงสัยในการทำวิปัสสนา
ท่านอาจารย์ วิปัสสนาคืออะไร นี่สงสัยแล้วใช่ไหมในการทำ ถ้าเข้าใจว่าวิปัสสนาคืออะไร จะสงสัยเรื่องจะทำวิปัสสนาไหม ก็ไม่สงสัย เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นคือว่าให้เข้าใจให้ถูกต้องทุกคำที่ได้ยิน วิปัสสนาคืออะไร ถ้าไม่รู้ก็คงเป็นความไม่รู้ไปตลอด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะข้ามไปแล้วก็อยากจะได้คำตอบ หรือว่าอยากจะทำโดยที่ว่า ไม่เข้าใจว่าคำที่พูดที่ต้องการคืออะไร บอกว่าท่านอ่านหนังสือใช่ไหม
อ.กุลวิไล เคยอ่านในหนังสือ แต่ท่านไม่ได้บอกหนังสืออะไร
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หนังสืออะไรก็ตามที่อ่าน หรือว่าข้อความใดๆ ก็ตามที่ฟัง พิจารณาไตร่ตรองว่าเป็นคำที่จริงสามารถที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม โดยที่ไม่ต้องสนใจเลยว่านั่นหนังสืออะไร หรือว่าใครเขียนใครพูด แต่ทุกคำที่ได้ฟังประโยชน์คือ ฟังจะเสียประโยชน์มากถ้าไม่เข้าใจคำที่ได้ฟัง แต่เมื่อฟังแล้วเข้าใจอันนั้นเป็นประโยชน์ที่สุด
เพราะฉะนั้น คำที่เข้าใจถ้าเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ อันนั้นก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ควรที่จะข้ามไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ได้ยินคำว่าวิปัสสนาอย่าพึ่งทำหรือคิดว่าจะทำอย่างไร แต่ว่าต้องรู้ก่อนว่าวิปัสสนาคืออะไร
อ.กุลวิไล ในหนังสือที่ท่านอ่าน กล่าวว่า ไม่ใช่การนั่งหรือจงใจให้เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเพียงคำบอกเล่าใช่ไหม แต่เหตุผลมีหรือเปล่า หรือเขาบอกว่าไม่ต้องนั่งก็ไม่ต้องนั่งใช่ไหม แต่จริงๆ มีเหตุผลอะไร เพราะว่าไม่รู้จักว่าวิปัสสนาคืออะไรนั่นเอง จึงได้สงสัย
อ.กุลวิไล แต่เป็นการรู้ผัสสะทั้งหลายที่มากระทบ
ท่านอาจารย์ ผัสสะ ภาษาอะไร ไม่ใช่ภาษาไทยแล้วคืออะไรก็ไม่รู้ แล้วหนังสือเล่มนั้นก็จะไปให้รู้ผัสสะ ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ได้ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏที่สามารถจะเข้าใจได้
อ.กุลวิไล รู้ว่ากำลัง ทำอะไรอยู่ ในอิริยาบถใดๆ
ท่านอาจารย์ ทุกคนกำลังนั่งก็รู้ ก็ไม่เห็นแปลกอะไร ถ้ารู้เพียงเท่านี้
อ.กุลวิไล ระลึกรู้ถึงไตรลักษณ์ในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ คุณอรรณพ ไตรลักษณ์คืออะไร
อ.อรรณพ คือลักษณะของสภาพธรรมสามประการ สภาพธรรมที่เกิด และดับ ก็ต้องมีลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ ตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วก็ต้องแปรไป แล้วก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีใครบังคับบัญชาใครสร้างขึ้น คือไม่ใช่ตัวตนคือเป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ ไตรลักษณ์คือ เดี๋ยวนี้หรือเปล่า ก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้ ไตรคือ สามลักษณะของสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้มีสาม คือเกิดขึ้น และดับไปอนิจจัง สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นที่น่าปรารถนาไหม เราพอใจสิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสุข แต่สิ่งใดก็ตามซึ่งเพียงเกิดปรากฏแล้วดับไป จะเป็นสุขหรือจะเป็นทุกข์ ทุกข์ที่นี่หมายความว่าไม่น่าปรารถนา สุขคือยินดีต้องการพอใจ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ขณะนี้เป็นอย่างนี้ คือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอนิจจัง เป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าจะพอใจ ต้องเป็นปัญญาที่สามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง สิ่งนี้เกิดปรากฏสั้นมาก แล้วหมดไป แล้วไม่กลับมาอีก แล้วไปพอใจ แล้วจะได้อะไรขึ้นมา ในสิ่งที่เพียงแต่เกิดขึ้น และดับไป
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมขณะนี้เป็นอย่างนี้ ใครไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เลยจึงเป็นอนัตตา ถ้าไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะกล่าวถึงไตรลักษณ์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ปรากฏ แล้วจะรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นเรื่องของปัญญา ความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาก็คือความเข้าใจถูกจริงๆ ขณะนี้แข็งกำลังปรากฏ ไม่ได้ฟังธรรมไม่ได้เข้าใจแข็ง รู้แต่ว่าแข็ง แต่เวลาที่แข็งปรากฎแล้วฟังธรรมก็นี่แหละคือธรรมแน่ๆ เกิด และดับด้วยแต่ว่า เมื่อยังไม่ได้ประจักษ์ ก็ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะรู้ไตรลักษณะ หรือไตรลักขณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ทุกคำไม่ใช่เพียงให้ได้ยิน แต่เป็นการที่จะต้องฟังแล้วก็รู้ตัวเองว่าเข้าใจความจริงของคำนั้นแค่ไหน
อ.กุลวิไล เพราะว่าถ้าเป็นพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ที่ท่านอาจารย์กล่าวตอนต้นชั่วโมงว่าที่ไปอ่านหนังสือมา ประโยชน์คืออะไร ประโยชน์นั้นจะให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นท่านก็จะมีแต่คำถามเพราะว่าเอาศัพท์คำว่าวิปัสสนามาถาม แล้วยังพูดถึงคำว่าผัสสะด้วย และพูดถึงไตรลักษณ์ด้วย
ผู้ฟัง ที่ไปเรียนมาแล้วก็พยายามนำมาประยุกต์ว่า อย่างเราได้ยินเสียง เพราะเราได้ยินเสียงเพลงเราก็จะไปบัญญัติหรือว่ายึดติด ว่าอันนั้นเป็นเสียงเพลงแล้วก็ปรุงแต่งว่ามันเพราะ และเราก็ชอบพอใจ ตรงนั้นตามความเข้าใจน่าจะเป็นโลภะ แต่ถ้าเราได้ยินอย่างตอนนอนเราได้ยินเสียงสุนัขเห่า แล้วก็จะไปยึดติดว่าตรงนั้นเป็นเสียงสุนัขเราก็จะเกิดความไม่พอใจ ไม่ชอบตรงนั้นเกิดขึ้น ตรงนั้นก็น่าจะเป็นการปรุงแต่ง เราก็จะฝึกว่าให้รู้เฉพาะว่ารูปเป็นรูปเสียง แล้วก็โสตวิญญาณคือนามได้ยิน แล้วก็สักแต่ว่าเป็นเสียง ไม่ทราบว่าเราจะปฏิบัติอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน เหมาะสมแล้วถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณธิดารัตน์
อ.ธิดารัตน์ ก่อนที่เราจะทำอะไร เราก็ควรศึกษาให้เข้าใจก่อน เพราะว่าไม่เช่นนั้นความเป็นเราก็จะทำให้ทำผิด เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน จริงๆ มีธรรม ธรรมนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ แล้วพูดถึงธรรมก็จะมีลักษณะ จะมีทั้งลักษณะเฉพาะของธรรมแต่ละอย่าง และลักษณะทั่วไปหรือที่ใช้คำว่าสามัญลักษณะหรือว่าไตรลักษณ์ ก็คือธรรมทั้งหมดไม่ว่าจะมีลักษณะเฉพาะอย่างไรก็ตาม อย่างเช่น ลักษณะของความโกรธจะเปลี่ยนให้เป็นอื่นก็ไม่ได้ ลักษณะความโกรธก็มีลักษณะเฉพาะ หรือลักษณะของความติดข้องพอใจเหล่านี้ ก็เป็นลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ หรือลักษณะเห็นก็เป็นลักษณะเฉพาะของจิตที่ทำหน้าที่เห็น แบบนี้เป็นลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะของธรรมต่างๆ แต่เห็นไม่ได้ตั้งอยู่นาน เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ความเกิดดับของธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เป็นไตรลักษณะซึ่งก็ศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจคร่าวๆ ก่อน เพราะการที่จะเข้าถึงลักษณะของที่เป็นไตรลักษณะจริงๆ ต้องรู้ลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ ก่อน ถึงจะทราบว่าธรรมนั้นๆ เกิดแล้วดับอย่างไร นี่คือศึกษาเพื่อที่เข้าใจ และชีวิตประจำวันก็มีสภาพธรรมอยู่เสมอ แล้วเข้าใจว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างหรือเปล่า ค่อยๆ ที่จะเข้าใจอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ เคยปฏิบัติหรือยัง
ผู้ฟัง ตอนนี้เพิ่งเริ่ม ก็ได้จากอ่านหนังสือประกอบไปด้วยว่า ไตรลักษณ์คือสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็พยายามกำหนดว่า สิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้นก็เกิดดับแต่ก็ไม่แน่ใจ คือเป็นเพียงแต่สิ่งที่เรานึกคิด ก็ไม่แน่ใจว่าจิตจริงๆ อาจจะไม่ได้ตามตรงนั้นทัน
ท่านอาจารย์ เวลาจะทำอะไรนี้ต้องเข้าใจสิ่งที่จะทำก่อน หรือว่าไม่ต้องเข้าใจก็ทำได้
ผู้ฟัง ต้องเข้าใจก่อน
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจก่อน เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่าปฏิบัติ เป็นภาษาไทยหรือว่ามาจากคำภาษาบาลี ทราบไหม
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ภาษาไทยคิดว่าปฏิบัติคืออะไร
ผู้ฟัง การกระทำ
ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าปฏิบัติคือการกระทำ นี่เพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษาความหมายจริงๆ ในพระธรรมที่ทรงแสดง ได้ยินคำว่าปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธไหม สามคำนี้
ผู้ฟัง ไม่เคย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เคย แล้วปฏิบัติคืออะไร เพราะเหตุว่าปริยัติ ปฏิปัตติก็คือปฏิบัติ และปฏิเวธ ถ้ายังไม่ได้ยินสามคำนี้แล้วจะปฏิบัติอะไร ใช่ไหม ก็ไม่ได้ ถูกต้องไหม ต้องเข้าใจก่อน เพราะฉะนั้น ปริยัติคือ ความเข้าใจ ภาษาบาลีหมายความถึง สภาพที่รู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง จะใช้คำว่าสัมมาทิฏฐิก็ได้ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม จะใช้คำว่าปัญญาก็ได้ แล้วก็มีอีกหลายคำเช่นคำว่าวิปัสสนา ที่กล่าวถึง ทุกคำต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นสาวก เป็นพุทธบริษัทต้องฟังพระธรรมไม่ใช่คิดเอง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่กำลังฟังเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้หรือเปล่า ก็ต้องอาศัยการฟัง และพิจารณา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของเห็นเดี๋ยวนี้หรือเปล่า
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้
ท่านอาจารย์ ทรงตรัสรู้ความจริงว่า “เห็น” เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา มีปัจจัยเกิดขึ้น และดับไป ทรงตรัสรู้ “คิด” เดี๋ยวนี้หรือเปล่า สภาพคิดมีจริงๆ เกิดขึ้น ทรงตรัสรู้ความจริงของเสียง ของได้ยินของชีวิตประจำวันอย่างนี้หรือเปล่า ทั้งหมดในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมีจริงๆ แต่ว่าไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะรู้ความจริง เมื่อรู้แล้วก็ทรงแสดงความจริงให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย เป็นปริยัติ การฟังพระธรรมให้เข้าใจถูกต้องเป็นปริยัติ เป็นปฏิบัติหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ต้องทราบ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยมั่นคงเป็นสัจจญาณ ไม่สามารถที่จะมีปฏิปัตติได้ เพราะเหตุว่าไม่มีเรา ทั้งหมดเป็นธรรม ขณะที่ฟังเป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ ศึกษาพระอภิธรรมแล้วใช่ไหม
ผู้ฟัง เพิ่งเริ่ม
ท่านอาจารย์ เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เห็นเป็นธรรม แต่ว่าอาจจะยังไม่กระจ่างแจ้ง คือเราเหมือนจะกำหนดด้วย
ท่านอาจารย์ เรากำหนดอะไร เรากำลังฟังไม่ใช่หรือ กำลังฟังให้เข้าใจซึ่งเป็นปริยัติ จะไปกำหนดอะไร ต้องฟังเข้าใจก่อน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เข้าใจก่อนคือเห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นอภิธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ แล้วอะไรเป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้น ฟังแต่ละคำให้เข้าใจ แต่ละคำชัดเจนถูกต้อง
อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กราบเรียนถึงความเข้าใจ ถึงกามาวจรภูมิ ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ด้วย
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจคำว่า "กาม" หมายความถึง รูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่น่าใคร่ เพราะว่ากามมี ๒ ความหมาย วัตถุกาม ที่ตั้งของความยินดีพอใจ และโลภะซึ่งเป็นสภาพที่เป็นกามคือ ความพอใจความติดข้อง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีในโลกนี้ก็คงจะไม่พ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตาขณะนี้ เป็นที่ตั้งของความติดข้อง ความพอใจหรือเปล่า นี่คือธรรม แล้วก็ลืมทั้งๆ ที่จะติดข้องก็ไม่ได้ติดข้องอย่างอื่น นอกจากสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เสียงก็เช่นเดียวกัน กลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งวัน ที่เคยกล่าวไว้ว่าพอตื่นขึ้นก็แสวงหารูป เพราะพอใจในรูป สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปอย่างหนึ่ง ที่สามารถจะปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นที่ตั้งที่พอใจของความยินดีที่แสวงหา มีใครบ้างที่ไม่แสวงหาสิ่งที่ปรากฏทางตาตั้งแต่เช้า แสวงหาเสียงไหม ฟังข่าวอีกแล้ว ทุกคนตื่นขึ้นมาก็ไม่พ้นที่จะฟังข่าวคราวต่างๆ ก็เสียง แต่ว่าเสียงนั้นก็เป็นที่ติดข้อง เพราะมีการคิดนึกถึงเรื่องของเสียงเป็นเรื่องต่างๆ ด้วย
เพราะฉะนั้น ความติดข้องตลอดเวลาไม่ปรากฏ ในขณะที่กำลังติดข้องจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นกำลังเป็นธรรมที่ติดข้อง ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังเลยก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหตุว่า ไม่เคยรู้เลยว่าติดข้องอยู่มากมาย ยับยั้งไม่ได้เลย ทางจมูก เมื่อเช้านี้นั่งรถมา ก็มีดอกไม้ในรถ หอมด้วย ดอกสายหยุด คนที่นำดอกไม้มาใส่ไว้ในรถ ก็บอกว่าเดี๋ยวก็หมดกลิ่นนี้ และสมชื่อจริงๆ พอตอนสายก็หยุด ก็เป็นที่ติดข้อง เพียงแค่ปรากฏจะมากจะน้อยจะช้าจะเร็ว ขณะใดที่กำลังปรากฏก็ติดข้องในสิ่งนั้น ทางลิ้นติดข้องมากไม่ว่าเด็กหรือผู้ที่สูงอายุ ผู้ที่สูงอายุอาจจะคลายความติดข้องในหลายเรื่อง แต่ว่ารสยังไม่ได้คลาย
เพราะฉะนั้น สำหรับทุกวัยก็จะมีความติดในรส และในสิ่งที่กระทบสัมผัส เย็นทนได้ไหม ร้อนทนได้ไหม ก็ต้องการสบายๆ ที่ต้องการคือร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย นี่ก็แสดงว่าเกิดมาเพื่อติดข้องในภูมิซึ่งเต็มไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่สามารถที่จะคลาย และละ และจากไปสู่ภูมิอื่นที่สูงกว่านี้ คือภูมิที่ละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ตามสมควร เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าจะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่เห็นว่าเป็นโทษ เพราะเหตุว่า จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรมอย่างหนึ่ง และยังไม่คลายความติดข้องเลย เพียงแต่เมื่อไม่ปรากฏก็ไม่ติดข้อง
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการละคลายความติดข้องในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นความสงบของจิตระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่เสื่อม สามารถที่จะเป็นความสงบระดับนั้นก่อนจากโลกนี้ไป คือก่อนจุติจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายจะเกิด ความมั่นคงของความสงบนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ภูมิที่เต็มไปด้วยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่ก็ยังมีรูปซึ่งเป็นที่ตั้งให้จิตสงบเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้น ภูมินั้นก็เป็นที่เกิดของรูปพรหมบุคคล จึงเป็นรูปพรหมภูมิ ไปมาแล้วหรือยัง จะกลับไปอีกไหม ไปมาแล้ว แต่ก็ยากที่จะกลับไป เพราะเหตุว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่มั่นคงที่เห็นโทษว่า การติดข้องในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ นำมาซึ่งอะไร แต่ว่าถึงอย่างนั้นก็ไม่พ้นจากการที่จะต้องมีการเห็นอีก ได้ยินอีก ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม นี่คือธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้เลยว่า ที่เกิดของสัตว์โลกไม่ใช่มีแต่เฉพาะในมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีภพภูมิอื่นตามควรแก่กรรมนั้นๆ ด้วย แต่ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้หนทางที่จะดับความยินดีติดข้องทุกอย่างเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย สงบไหม
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 721
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 722
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 723
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 724
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 725
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 726
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 727
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 728
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 729
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 730
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 731
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 732
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 733
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 734
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 735
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 736
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 737
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 738
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 739
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 740
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 741
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 742
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 743
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 744
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 745
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 746
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 747
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 748
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 749
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 750
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 751
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 752
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 753
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 754
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 755
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 756
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 757
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 758
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 759
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 760
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 761
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 762
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 763
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 764
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 765
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 766
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 767
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 768
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 769
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 770
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 771
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 772
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 773
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 774
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 775
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 776
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 777
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 778
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 779
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 780