พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 760


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๖๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ที่สำคัญที่สุด ฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม นี่คือประโยชน์จริงๆ เก็บเล็กผสมน้อย เพราะเหตุว่า อกุศลก็เป็นธรรมแล้วก็เกิดแล้วด้วย แม้แต่คำว่า “ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว” เพราะเหตุว่า สามารถที่จะรู้ว่าประโยชน์จริงๆ มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ยังไม่เข้าใจความเป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏ แต่ก็จะค่อยๆ เข้าใจได้ เมื่อฟังบ่อยๆ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด กุศลธรรมจะเกิดก็เป็นกุศลมีเหตุปัจจัย อกุศลจะเกิดก็เพราะ สะสมมาที่อกุศลนั้นๆ จะเกิด ใครห้ามได้

    ผู้ฟัง คำกล่าวว่า บัณฑิตพึงเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลเพียงเล็กน้อย ตรงนี้ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนว่าเห็นขณะนั้นเล็กน้อยว่าเราช่างทำไม่ดีเลย โทษแค่นี้ ก็เห็นแล้ว เป็นบัณฑิตหรือเปล่า เห็นไหมไม่ใช่เพียงคำพูด แต่ต้องรู้ว่าบัณฑิตคือใคร ถ้าไม่มีปัญญาจะเป็นบัณฑิตได้ไหม

    ผู้ฟัง แล้วที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า บุคคลควรที่จะเป็นคนที่ดียิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้นในทุกๆ วันที่มีชีวิตอยู่

    ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์คิดว่า ถ้าเข้าใจธรรมแล้วจะดีขึ้นไหม

    ผู้ฟัง ก็ดีขึ้น แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ดีที่ต้องปรับปรุงอยู่

    ท่านอาจารย์ ที่ไม่ดี เพราะยังไม่เข้าใจธรรมพอ

    ผู้ฟัง ที่ผมขนดินกลับมาเยอะๆ ผมไม่เข้าใจธรรมพอ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นโลภะ ก็ไม่รู้ เป็นตัวคุณนิรันดร์ที่อยากได้ แต่สะสมโลภะความติดข้องต้องการ จนกระทั่งสามารถที่จะมีกาย วาจาอย่างนั้นตามกำลังของโลภะ ก็เข้าใจว่าเป็นคุณนิรันดร์ ไม่เข้าใจเลยว่าแท้ที่จริงธรรมเป็นธรรม อกุศลธรรมเกิดแล้วดับแล้ว กุศลธรรมเกิดแล้วดับแล้ว เป็นของใคร เป็นใครอยู่ที่ไหน ในขณะนี้ก็ดับไปอย่างนี้แหล่ะ จากไม่มีแล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ แล้วอยู่ที่ไหน ใคร ของใครก็ไม่มี

    ดูเหมือนว่า ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ปัญญา ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ จะเป็นคนดีที่จะละอกุศลได้อย่างไร อกุศลเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย กุศลเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้นไม่ใช่คนดี ขณะใดที่กุศลเกิดขึ้น เข้าใจว่ากุศลนั้นเป็นเราเป็นคนดี แล้วก็หมดไป แต่ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเกิดอีก ไม่ใช่ว่ากุศลจะเกิดได้ตลอดไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดได้มากกว่าอกุศล

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าผมเข้าใจว่ามีปัญญาเพิ่มขึ้น ที่จะเข้าใจว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และไม่ใช่สัตว์บุคคล ต่อไปผมจะไม่ขนดินมาอย่างงั้นหรือ ถ้ามีปัญญาที่เข้าใจในสภาพธรรมมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันเป็นพระอรหันต์หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณนิรันดร์เข้าใจธรรมมากขึ้นๆ จะถึงความเป็นพระอรหันต์หรือถึงความเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง ถึงความเป็นพระโสดาบันก่อน

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันดับกิเลสหมดหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นผิดหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มีความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้น สำคัญที่ว่าขณะนี้ยังมีความเข้าใจผิด เห็นผิด ในสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะไม่มีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะได้รู้ความจริงว่าทุกอย่าง ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละ ๑ เกิดโดยที่ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ จนไม่สามารถที่จะเข้าใจการเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า เป็นธรรมแต่ละ ๑ หลากหลาย ตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    สำหรับคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีความไม่ละอายตามระดับขั้น คฤหัสถ์กับบรรพชิตต่างกัน ความไม่ละอายของคฤหัสถ์ก็คือว่า ชีวิตประจำวันปกติอย่างคฤหัสถ์ แต่ว่าสำหรับบรรพชิตผู้ที่มีเจตนาที่จะประพฤติ ขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ด้วยธุระ ๒ อย่าง คือคันถธุระ การศึกษาให้เข้าใจพระธรรม และวิปัสสนาธุระ คือการอบรมจิตเจริญปัญญาจนสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ความไม่ละอายของผู้ที่กระทำผิดพระวินัยด้วยความจงใจ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงระดับของความไม่ละอาย ที่กล้า ที่จะทำผิด ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย นี้ก็เป็นตัวอย่างชัดที่ใช้คำว่า “อลัชชี” ผู้ที่ไม่มีความละอาย เพราะฉะนั้น จากการที่เราได้เข้าใจธรรมก็คือว่า ลัชชีคือละอาย อลัชชีคือไม่ละอาย

    สำหรับคฤหัสถ์ที่มีเพศต่างกับบรรพชิตก็แสดงอยู่แล้วว่า คฤหัสถ์เป็นเพศต่ำ เพราะไม่ละอายบ่อยๆ เดี๋ยวอกุศลก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าไม่ใช่จะมีโทษเหมือนอย่างบรรพชิต เพราะว่ารู้ความต่างว่าเป็นคฤหัสถ์ไม่ใช่บรรพชิต แต่ผู้ที่มีเจตนาที่จะสละหมด “ปวช” ปะ วะ ชะ (การบวช) สละหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ความสะดวกสบาย ความติดข้อง ความเพลิดเพลินในอาหาร ในวัตถุต่างๆ พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ตั้งแต่เช้าตื่น จนกระทั่งหลับ อีกเพศหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดการที่จงใจประพฤติ ไม่เป็นไปตามพระวินัยตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ ก็เป็นอลัชชี

    อ.อรรณพ ก็เป็นข้อความที่ให้มีความเข้าใจว่า การสะสมอบรมปัญญา ไม่ใช่ว่าทีละมากๆ บางทีเราคิดว่าทำกุศลกรรมก้อนโตใหญ่ๆ มากๆ หรือเป็นเรื่องราวใหญ่ๆ แต่จริงๆ แล้ว บัณฑิตทั้งหลายทำกุศลทีละน้อย ค่อยๆ ทุกๆ ขณะ เพราะว่ากุศลเกิดขึ้นเพียงแต่ละขณะจิต เกิดแล้วดับไป กุศลเกิดขึ้นเป็นกุศลจิต ดับไปเป็นปัจจัยให้กุศลจิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เกิดสืบต่อไป ๗ ขณะ เป็นอาเสวนปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศลจิต เป็นกุศลกรรมก็สะสมไป เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่ว่า แต่ละขณะหรือทุกๆ ขณะที่กุศลจิตเกิดไม่สูญเปล่า จะสะสมกรรมที่เป็นกุศลกรรม สะสมอาสยะที่ดีไว้ในจิต เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จิตขณะต่อๆ ไปที่จะเกิดขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเป็นกุศล แล้วมีกำลังเพิ่มขึ้นๆ จากความที่มีศรัทธานิดหน่อย แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ปัญญาก็อบรมให้กุศลต่างๆ เจริญขึ้น อบรมบารมีด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ค่อยๆ เจริญทุกๆ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ให้เห็นว่าไม่ได้มีอะไรที่ยั่งยืน แม้กุศลก็ไม่ใช่ว่ายั่งยืนยาวนาน เพราะเป็นสภาพของธรรมที่เกิดแล้วดับ แต่ละขณะทุกๆ ขณะที่สะสมไป ก็จะเป็นไปเพื่อการละคลายดับกิเลส คือมลทินของจิต มลทินก็คือกิเลสอกุศลทั้งหลายที่เป็นมลทิน เพราะฉะนั้น มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ และที่ยิ่งที่สุดก็คือโมหะเป็นมลทินของจิตใจ เพราะเป็นสภาพของอกุศลธรรมที่เป็นเหตุของสังสารวัฏฏ์ เป็นเงื่อนต้นของสังสารวัฏฏ์ คืออวิชชา ก็เป็นปัจจัยให้ทำกรรม แล้วก็ต้องเกิดในวัฏฏะ

    เพราะฉะนั้น จะล้างชำระมลทินออกไปไม่ใช่ทีเดียว เพราะบางคนนี่อยากจะศึกษาธรรม แล้วก็หมดกิเลส หมดมลทินทีเดียวเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะแสดงให้เห็นถึงการที่กุศลจิตเกิดแสนสั้น แต่ว่าทุกๆ ขณะที่กุศลเกิดที่ประกอบด้วยปัญญาก็ดี หรือแม้ไม่ประกอบด้วยปัญญาแต่เป็นฝักฝ่าย เป็นกุศลที่ประกอบบารมีต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อที่จะละคลายมลทินของจิต ก็คืออวิชชาความไม่รู้

    อ.วิชัย การศึกษาธรรมก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ก็คงทราบว่าอกุศลธรรมก็มี และมีปัจจัยก็เกิด ไม่ว่าจะเป็นความโลภหรือว่าความโกรธ ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเราฟังแล้วก็สั่งสมความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า อกุศลธรรมทุกประการเกิดมา ก็ทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นความโลภก็ต้องมีการแสวงหา เพื่อจะได้มาในสิ่งที่เราต้องการ หรือว่าความโกรธ ความไม่พอใจ ไม่สบายใจ เดือดร้อนใจกับสิ่งที่เราไม่พอใจ นี้ก็เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ว่าฟังเพื่อที่จะพยายามไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิด

    เพราะเหตุว่า เราเข้าใจว่าทุกอย่างมีปัจจัยก็ต้องเกิดขึ้น ฟังเพื่อเข้าใจความจริง เพื่อรู้เพื่อเข้าใจ ขณะที่ฟังเรื่องของอกุศล ขณะนั้นเริ่มที่จะเข้าใจว่าในปกติชีวิตประจำวันเราก็มีธรรมเหล่านี้เกิด ดีไหม หรือว่าไม่ดี เริ่มรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดมาก็เป็นเหตุให้เดือดร้อน เริ่มเข้าใจเพิ่มขึ้น มีปัจจัยที่จะเริ่มเข้าใจถูกว่า มี แต่ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เราจะบังคับให้ความโกรธไม่เกิดไม่ได้ หรือจะบังคับให้ความโลภไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า เป็นธรรม แล้วแม้แต่ความรู้ ความเข้าใจที่เป็นปัญญาจะบังคับให้เกิดก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ศึกษาเพื่อเข้าใจความจริงว่าแต่ละขณะ แต่ละขณะที่เราศึกษาก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ท่านอาจารย์ จะได้ทราบว่ากุศลเกิดน้อยแค่ไหน เดี๋ยวนี้เอง เห็นเป็นกุศลหรือไม่ ไม่เป็น ๑ ขณะแล้วกุศล และไม่เป็นกุศล แล้วก็จิตที่เกิดสืบต่อที่เป็นวิบาก ที่เป็นกริยา ก็ไม่ใช่กุศล แต่ในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วไม่รู้ แล้วติดข้องโดยไม่รู้ตัวเลย อกุศลแล้วใช่ไหม แล้วก็เวลาที่ได้ยินเสียง โดยที่ว่ายังไม่ถึงการที่จะรู้ว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร ก็มีความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ในเพียงเสียง อกุศลเกิดแล้วใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังแล้วเข้าใจนั่นคือกุศล เพราะฉะนั้น ลองเทียบดู ขณะนี้เห็นมากไหม เหมือนกับว่าไม่ได้หายไปเลย เพราะฉะนั้น แสดงว่าเห็นเกิดดับมากเท่าไหร่ แม้แต่เสียงยังไม่ทันรู้ว่าเป็นคำที่มีความหมายอะไร ขณะนั้นก็เป็นความติดข้อง หรือความไม่รู้ในสภาพธรรมนั้น ส่วนขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศลเล็กน้อยมากหรือไม่ เมื่อเทียบกับทางตาซึ่งเป็นอกุศลไปเท่าไหร่ ทางหูเป็นอกุศลไปเท่าไหร่ แต่ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะสมกุศลทีละน้อย ทีละน้อย น้อยมากจริงๆ แต่ก็สะสมไป ทีละน้อยก็ต้องมากขึ้นในวันหนึ่ง แล้วคิดถึงว่าถ้าไม่สะสมเลยจะเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ฟังธรรมก็มีหน้าที่คือฟังให้เข้าใจ เมื่อฟังท่านอาจารย์เมื่อเช้า สนทนากันเกี่ยวกับคำว่าอลัชชี อย่างไรถึงจะเรียกว่าอลัชชี อลัชชีกับอโนตตัปปะที่ไม่มีความละอาย จะเหมือนกันหรือเปล่า เป็นสภาพธรรมที่เหมือนกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องเรียกชื่อ ว่าจะเป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ หรือว่าเป็นอลัชชี แต่ว่าแม้แต่คำว่า ไม่ละอายเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นโมหะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมหรือว่าเป็นโลภะความติดข้อง หรือเป็นโทสะ หรือเป็นมานะความสำคัญตน หรือมัจฉริยะทั้งหมดก็เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ละอาย จึงเป็นอกุศล เป็นชีวิตปกติหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นชีวิตปกติ

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า คฤหัสถ์ย่อมรู้ และเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่บรรพชิต เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ละอะไร แม้ว่าเป็นคฤหัสถ์ แต่รู้ว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็ฟังพระธรรมด้วยความเคารพเพื่อเข้าใจ ขณะที่ฟังเพื่อเข้าใจ ละอายที่จะไม่รู้ใช่ไหมจึงฟัง

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ขณะนั้นที่เป็นกุศลไม่ใช่ความไม่ละอาย แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความเป็นจริง อกุศลจิตมีตั้งแต่อย่างละเอียด จนกระทั่งถึงอย่างหยาบ เพราะฉะนั้น แม้เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ชีวิตปกติของคฤหัสถ์ที่ไม่เข้าใจธรรมเลย ลองคิดดูจะเป็นอะไร แล้วก็คฤหัสถ์ที่ได้ฟังธรรมบ้าง เข้าใจบ้าง อกุศลก็ต้องน้อยกว่าผู้ที่ไม่ฟัง และไม่รู้ และไม่เข้าใจถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เมื่อทั้งหมดเป็นอย่างนี้ก็เป็นอาลัชชีกันทั้งนั้นใช่ไหม สำหรับคฤหัสถ์ถูกต้องไหม ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะเป็นขณะจิตที่ไม่ละอาย แต่ว่าถ้ากล่าวถึงชีวิตที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต สำหรับบรรพชิตถึงแม้ว่าสละเพศของคฤหัสถ์ไม่ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจ ขณะนั้นความไม่ละอายก็ต้องเป็นความไม่ละอาย เพราะเหตุว่า ธรรมเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ จะกล่าวถึงผู้ที่ไม่ละอายจริงๆ โดยเพศก็คือคฤหัสถ์ไม่ต้องพูดถึง ขณะใดที่เป็นอกุศลเพราะไม่ละอาย แต่ตามเพศของคฤหัสถ์ซึ่งไม่มีการที่จะต้องลงโทษ หรือว่าเห็นว่าผิดจากที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไว้ เพราะว่าสำหรับบรรพชิตก็อย่างหนึ่ง สำหรับคฤหัสถ์ก็อย่างหนึ่ง แม้แต่วินัยหรือศีลของคฤหัสถ์ก็ไม่ใช่ของบรรพชิต

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ต้องรู้กำลังของตัวเอง สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้จริงๆ หรือเปล่า และเมื่อเข้าใจว่าสามารถทำได้จริงสละเพศคฤหัสถ์แล้ว ถ้าทำผิดพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยไม่ละอาย โดยจงใจที่จะกระทำ ขณะนั้นก็เห็นความเป็นอลัชชี ผู้ที่ไม่ละอายชัดเจน

    ผู้ฟัง อลัชชีก็คงเป็นอกุศล ความแตกต่างระหว่าง ๒ อย่างนี้ก็คือ เมื่อเป็นอกุศลแล้วก็เหมือนกับอโนตตัปปะ เหมือนกันในลักษณะคล้ายๆ กัน อย่างนี้ใช่ไหม หรือว่าไม่มีความแตกต่างกันระหว่างอลัชชีกับอโนตตัปปะ

    ท่านอาจารย์ อโนตตัปปะ หมายความว่า ไม่เกรงภัย หรือความที่เป็นอันตรายของอกุศลใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วก็อหิริกะคือความไม่ละอาย ใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่ได้กล่าวถึงเพศ แต่ถ้าใช้คำว่าอลัชชี ผู้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุจะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยแล้ว จงใจที่จะล่วงพระวินัยบัญญัติ ก็แสดงให้เห็นชัดถึงความไม่ละอายในเพศของบรรพชิต

    อ.คำปั่น ได้ฟังพระธรรมที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวอยู่เสมอว่า กิเลสที่มีมาก ก็มาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งมีมาก ลึก แล้วก็เหนียวแน่น ซึ่งก็เป็นถ้อยคำที่ไพเราะ เป็นเครื่องเตือนอยู่เสมอ แต่จริงๆ แล้วอกุศลจิตก็ยังเกิดขึ้นเป็นไปมากทีเดียวในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาหรือไม่ อะไรที่มีมาก มีปัจจัยมากที่จะให้เกิดก็ต้องเกิดบ่อยๆ อย่าหวังว่าวันนี้ฟังธรรมแล้วจะเป็นกุศลไปทั้งวัน หรือว่าแค่สักไม่กี่นาที ก็หวังไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รู้ตามเป็นจริงว่าแค่เห็น อกุศลก็เกิดแล้วเพราะไม่รู้ความจริง แล้วก็ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นจึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เห็นประโยชน์ของการที่จะได้เข้าใจธรรม และทางเดียวที่จะเข้าใจได้จริงๆ คือ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีโอกาสได้ฟังสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือ การได้เข้าใจพระธรรม มิฉะนั้นแล้ว จะไปได้ยินพระธรรมเมื่อไหร่อีกก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ จากวันนี้ไปเกิดเป็นหนอนก็ได้ เป็นสุนัขก็ได้ เป็นแมวก็ได้ แล้วก็มีใครไปพร่ำสอนไหม มีเห็น มีได้ยิน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีโอกาสเลย ที่สามารถจะฟังแล้วก็เข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทก็คือว่า เป็นโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรม ควรที่จะได้ฟังพิจารณาไตร่ตรอง เป็นการสะสมความเห็นถูกซึ่งไม่ใช่เราจงใจต้องการที่จะฟังเพื่อเราจะได้เข้าใจ จะมีบ่อยมากเลย มาฟังธรรมเพื่อเราจะได้เป็นคนดี ฟังธรรมเพื่อเราจะได้เข้าใจ เป็นเราไปหมดเลย แต่ไม่ได้ฟังธรรมเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม ไม่มีใครเลย เป็นธรรมจริงๆ

    เมื่อไหร่เริ่มเข้าใจลักษณะของธรรมเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นก็จะรู้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะเหตุว่า อกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดมากกว่ากุศล เวลาฟังธรรมเมื่อเช้านี้ก็คงจะมีหลายท่านที่ฟังรายการวิทยุ เข้าใจใช่ไหม กำลังฟัง เข้าใจ เหมือนเดี๋ยวนี้กำลังฟังแล้วเข้าใจ แต่ว่าพอฟังจบความเข้าใจนั้นอยู่ที่ไหน ทางตาเห็นแล้ว อกุศลเกิดแล้ว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเรื่องราวของอกุศลทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เพราะอวิชชามีมาก แม้ว่าจะมีการสะสมความเข้าใจ ความเห็นถูกบ้าง แต่แล้วก็อวิชชานั้นแหละก็เกิดปิดบังอีกแล้ว อวิชชาเกิดเมื่อไหร่ ไม่รู้เมื่อนั้น ความรู้ที่สะสมมาน้อย แต่อวิชชาสามารถที่จะปิดบังจนกระทั่งขณะนั้นเป็นอกุศลมาก จนกว่าเมื่อไหร่มีปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิด เมื่อนั้นกุศลจิตก็เกิดขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อย แล้วอวิชชาก็เกิดขึ้นบัง

    ด้วยเหตุนี้ ฟังแล้วเหมือนเข้าใจขณะที่กำลังฟังก็เข้าใจ แต่ความเข้าใจนั้นไม่พอ ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีลักษณะของสภาพธรรมให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ก็เป็นแต่เพียงความคิด และความจำเรื่องราวว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าตามความเป็นจริงคือ เดี๋ยวนี้ธรรมปรากฎ และก็จากการฟังกว่าจะถึงการฟังที่เข้าใจจริงๆ ไม่ว่าอะไรที่ปรากฏขณะนี้ ก็เป็นลักษณะของธรรม แน่นอนแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดมาตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น เข้าใจประโยชน์จริงๆ การฟังเพื่อมีความเห็นถูกความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ แล้วก็จะรู้ได้ว่าอวิชชาที่มีมากๆ คลายไปบ้างไหม เพราะว่าเป็นสิ่งที่หนาแน่นมาก แล้วยังถูกฉาบทาไว้ด้วยโลภะความติดข้อง และอกุศลอีก เหมือนกับสิ่งซึ่งกว่าจะคลายเกลียวของความมั่นคง ต้องอาศัยกำลังของปัญญาแล้วก็ค่อยๆ ออกไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถที่จะค่อยๆ ละความไม่รู้ ซึ่งผู้นั้นก็จะรู้ว่าต้องอาศัยการฟังแล้วเข้าใจเท่านั้นเอง ไม่ใช่ไปทำอะไร

    อ.กุลวิไล แล้วถ้าไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมปรากฏในขณะนี้ ความเป็นเราติดข้องก็ไม่รู้ แล้วยังเข้าใจว่าขณะที่ติดข้องนั้น ก็ไม่ใช่อกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อย่าลืม ความต่างคือความละเอียด ศึกษาธรรมเพราะเข้าใจถูกว่า ขณะนี้มีธรรมที่กำลังปรากฏแล้วไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเริ่มจากการฟัง จนกระทั่งเข้าใจขึ้น นี่คือศึกษาธรรม ไม่ใช่ศึกษาวิชาธรรม หรือว่าไม่ใช่ศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา หรือว่าไม่ใช่ศึกษาวิชาพระอภิธรรม ถ้าเป็นวิชาก็จะเหมือนวิชาทั้งหลายใช่ไหม เต็มไปด้วยชื่อ เต็มไปด้วยเรื่อง เต็มไปด้วยจำนวน แต่ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ว่า เป็นสิ่งที่ควรศึกษายิ่ง ควรรู้ยิ่ง เป็นสีลสิกขา เป็นจิตตสิกขา เป็นปัญญาสิกขา

    เพราะเหตุว่า มีสภาพธรรมที่ไม่รู้ ให้ได้เข้าใจว่าความจริงสภาพธรรมนั้นคืออย่างไร นี่คือศึกษาจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงศึกษาวิชาธรรม จะรู้ได้ ศึกษาวิชาคือหิริ โอตตัปปะ หรืออลัชชี ศึกษาวิชา แต่ถ้าในขณะนั้นรู้ว่าคิดไม่ใช่เห็น ก็จะศึกษา และเริ่มเข้าใจลักษณะที่เห็นว่าต่างกับขณะที่กำลังคิด เพราะว่ามีสภาพธรรมจริงๆ แต่ละอย่างที่กำลังปรากฏให้ศึกษาให้เข้าใจ โดยที่ว่าไม่ต้องกังวลว่าจะเรียกว่าอะไรในภาษาไหน เพราะว่าลักษณะนั้นก็ปรากฎตามความเป็นจริง บางคนก็คิดว่า กำลังกระทบสัมผัสอะไร อยากจะเรียกชื่อมากเลย แม้แต่คำว่า เหนียว หนึบหนับ หรือคำว่าลื่น ก็อยากจะรู้ใช่ไหม อยากจะรู้คำ อยากจะรู้ชื่อ แต่ไม่ได้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ เมื่อสิ่งนั้นปรากฏก็หมายความว่าต้องมีธาตุรู้ที่กำลังรู้ลักษณะนั้น ไม่ว่าจะแข็งปรากฏก็มีลักษณะที่กำลังรู้แข็ง แข็งจึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะ ซึ่งจะขาดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมคือ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่กังวลถึงชื่อว่าจะเรียกว่าอะไร หรือว่าจะเรียกโผฏฐัพพะ ก็ไม่ต้องไปกังวล หมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏเมื่อมีการกระทบกาย และก็มีธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฎ ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่าง จึงเป็นการศึกษาธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567