พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 765
ตอนที่ ๗๖๕
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕
ท่านอาจารย์ ลาภที่ประเสริฐก็คือว่า การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม และก็ได้เข้าใจพระธรรม ซึ่งละคลายความไม่รู้ และความติดข้อง จนกระทั่งสามารถที่ความติดข้องซึ่งยากแสนยากที่จะละได้ ไม่เกิดอีกเลย หมดสิ้นได้ นี่คือ “ลาภอันประเสริฐ” เพราะฉะนั้น ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังธรรมกับชีวิตของผู้ที่ยังไม่เข้าใจธรรมก็ต่างกัน มากน้อยตามควร
อ.คำปั่น การให้ธรรมทานของพระองค์นั้น เป็นการให้ชีวิตที่ประเสริฐ ท่านอาจารย์กล่าวถึงการให้ชีวิตแล้ว ข้อต่อไปก็คือ ให้รสที่อร่อย คือ เบิกบานเมื่อได้เข้าใจความจริง
ท่านอาจารย์ จากความไม่รู้แล้วเป็นความรู้แม้เพียงเล็กน้อยนี้ เบิกบานไหม หรือยังไม่ค่อยจะรับเพราะว่ายังไม่รู้ว่า เบิกบานจริงๆ แค่ไหน เบิกบานที่จะรู้ว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง และความจริงเป็นอย่างนั้น ใครอยากจะให้อะไรเที่ยง มั่นคง ยั่งยืน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น หลง หวัง ที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างเดิม มั่นคง ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าได้รู้ความจริงว่า อย่างไรๆ ก็เป็นไม่ได้ เกิดแล้วต้องตายแน่ๆ ตายแล้วก็ต้องเกิดอีกแน่ๆ แล้วก็เกิดอีกตายอีกไปเรื่อยๆ ไม่ได้พ้นจากทุกข์ คือ การเกิด และการตาย มีใครชอบความตายบ้าง เกิดมาแล้วไม่อยากตาย แต่ก็ต้องตาย และถ้าไม่เกิดไม่ต้องตาย ใช่ไหม แต่ก็ยังไม่ถึงกาลที่จะเห็นประโยชน์ว่า ถ้าไม่เกิด ไม่ตายแน่ๆ
แล้วอย่างไร อยากจะเกิดอยากจะตาย หรือว่าเบิกบาน เพียงแค่นี้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะรู้จริงๆ จากการที่อยู่มานานแสนนานในสังสารวัฎฏ์ ชาติหนึ่งอาจจะสั้นมาก อีกชาติหนึ่งอาจจะยืนยาวมาก ยิ่งเป็นเทวบุตรในสวรรค์เทพธิดาในสวรรค์ยืนยาวกว่านี้มาก แล้วมีประโยชน์อะไร ในเมื่อที่จริงแล้วคือว่าเพลิดเพลินในสิ่งที่เพียงปรากฏ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เพียงแค่ปรากฏ ทุกสิ่งทุกอย่างลองหาดู เพียงแค่ปรากฏจริงๆ แต่ปรากฏแล้วไม่รู้จึงมีความติดข้อง
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจ ทุกข์ซึ่งเกิด เพราะความติดข้อง เพราะความไม่รู้จริงๆ ก็ยังคงอยู่ในการติดข้อง ในเรื่องของสิ่งที่ได้รับอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า เบิกบานขึ้นอยู่กับกำลังของปัญญา เบิกบานที่ได้รู้ความจริงเสียที น้อยมากก็ไม่เป็นไร แต่เป็นความจริง
เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงมีใครเห็นว่าไม่ถูกบ้าง หรือไม่ควรบ้าง หรือยังไม่อยากจะรู้ความจริงบ้าง อย่างไรๆ ก็จากโลกนี้ไปแน่ๆ แล้วก็เกิดใหม่ ตามการสะสมของชาตินี้ด้วย ชาตินี้สะสมความติดข้องไว้มากแค่ไหน ความโกรธ ความผูกโกรธ ความพยาบาทไว้มากแค่ไหน ความตระหนี่ ความริษยาไว้มากแค่ไหน จากโลกนี้ไป ก็เป็นไปตามกรรม คือแล้วแต่จะเกิดเป็นอะไร แต่สิ่งที่สะสมไม่ได้หายไปไหน ก็ติดตามไปเป็นบุคคลนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะอ่านข้อความในพระไตรปิฎก น่าสรรเสริญท่านพระสารีบุตรผู้มีปัญญา ผู้ที่มีปัญญามากกว่าท่านมากมาย ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คนอื่นก็มีปัญญาไม่เสมอท่าน ท่านพระโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอานนท์ ชีวิตของท่านเหล่านั้น ก่อนจะถึงอย่างนั้นก็คืออย่างนี้ แต่ว่าท่านเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ แล้วก็รู้ประโยชน์ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ จะเข้าใจความจริงแล้วก็รู้ความจริงจนกระทั่งสามารถที่จะละความติดข้องจะเป็นประโยชน์กว่าติดข้องไปเรื่อยๆ ไม่ออกจากสังสารวัฏฏ์
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเบิกบานจริงๆ คือผู้ที่เห็นค่าของความจริง จะมากจะน้อยจะเข้าใจได้แค่ไหน แต่ความจริงก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ทราบว่าเป็นรสที่อร่อยหรือเปล่า หรือว่าเป็นรสขม ต่อเมื่อใดเคี้ยวไปแล้วกลืนจึงหวาน เพราะว่าหลายอย่างเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงก็คือว่า เห็นกันอย่างนี้วันนี้ พรุ่งนี้ไม่เห็นกันได้ไหม เย็นนี้ไม่เห็นกันได้ไหม ต่อจากนี้ไปอีกไม่นานเลย เพียงชั่วครู่ไม่เห็นกันได้ไหม แล้วก็จะมีชีวิตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น รสอร่อยจริงๆ ก็คือว่า ขณะนั้น รับรู้ เข้าใจความจริง รู้ความจริง แล้วก็เข้าใจความถูกต้อง ก็จะมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน
อ.คำปั่น ผ่านไปแล้ว ๒ ข้อ การให้ธรรมเป็นทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ลาภที่ประเสริฐ ให้ชีวิตที่ประเสริฐ ให้ความเบิกบานที่ได้รู้ความจริง และอีก ๒ ข้อ เปรียบเสมือนกับเป็นการให้ยารักษาโรค
ท่านอาจารย์ โรคที่ไม่มียาอื่นรักษาได้เลย คือ “โรคกิเลส” กิเลส คือ เพราะไม่รู้ จึงทำให้มีความติดข้อง ทำให้ไม่พอใจในเมื่อไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาต้องการ และยังนำมาซึ่งกิเลสอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนมากมายมหาศาล เบาบางไปบ้างไหม เมื่อได้ฟังพระธรรม เตรียมตัวเป็นใครในชาติหน้า แขนขาด ตาบอด หรืออย่างไร หรือว่า หวังว่าจะไม่ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องเกิดในอบาย ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน รูปร่างประหลาดๆ ต่างๆ ไม่ต้องตกนรก เกิดในนรกขุมต่างๆ ความทุกข์ทรมานต่างๆ ไม่ต้องเป็นเปรตเป็นอสูรกาย หรือว่าจะเป็นอะไร ใครไม่สามารถจะรู้ได้เลย สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม พ้นจากการเกิดในอบายภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ แต่ว่ากุศลกรรมอย่างอ่อนก็จะทำใหอกุศลเบียดเบียนได้ ทำให้เป็นบุคคลที่เราพบเห็นในโลกนี้ เป็นคนพิการบ้าง เป็นคนหูหนวกตาบอดบ้าง เป็นคนที่ปัญญาอ่อนบ้าง มาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจากชาติก่อนๆ
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ก็กำลังเป็นเหมือนนายช่างที่กำลังวาดภพต่อไป หรือชาติต่อไป ว่าใครมีฝีมือจะทำให้ชาติต่อไปเป็นอย่างไร สวยงามหรือว่ามีทุกสิ่งทุกอย่าง มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ไม่มีปัญญา หรือว่ามีปัญญาแต่ก็มีอกุศลกรรมที่เบียดเบียนได้ เป็นคนค่อมก็ได้ เป็นอะไรก็ได้
เพราะฉะนั้น อะไรๆ ก็จะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งได้เป็นมาแล้ว แล้วก็จะเป็นต่อไป แต่ว่าทั้งหมดมาจากการกระทำในชาตินี้ด้วย เพราะฉะนั้น ชาตินี้ชัดเจน กุศลกรรมเกิดเมื่อไหร่ก็เป็นที่พึ่งอาศัยได้ว่าจะไม่ไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้าอกุศลกรรมหรืออกุศลจิตมีมากๆ ใครก็ช่วยไม่ได้ แม้จะหวังอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามเหตุ เพราะฉะนั้น จึงเห็นประโยชน์ว่า การที่เราได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม ได้รู้ความจริง ก็เหมือนยาที่รักษาคนตาบอด ที่ไม่เห็นอะไรเลยตามความเป็นจริง ให้มองเห็นได้ หรือว่า คนที่ป่วยไข้อ่อนแรง ล้ามาก ทำกุศลใดๆ ก็ไม่ได้เลย ก็มีเรี่ยวแรงมีกำลังที่จะสามารถทำกุศล และความเข้าใจตามกำลังของปัญญาที่มีได้
เพราะฉะนั้น สาวกโพธิสัตว์หรือว่าพระมหาโพธิสัตว์จะไม่หวังอย่างอื่น ไม่ได้หวังสมบัติของพระราชา หรือว่าสมบัติของเศรษฐีมหาศาล หรือว่าสมบัติของเทวดา เทพชั้นต่างๆ แต่ว่าเพื่อปัญญาความเห็นถูกความเข้าใจถูก ปัญญาประเสริฐกว่ากุศลทั้งปวง แล้วถ้าเป็นผลของปัญญาจริงๆ จะมีรูปร่างที่น่าเกลียดไหม ก็เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น แม้แต่พระรูปกายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีภาวะที่เลิศกว่ารูปกายของบุคคลอื่น ด้วยบุญบารมี คือความดีที่ได้สะสมที่ได้ทรงบำเพ็ญมา
เพราะฉะนั้น ทรงประกอบพร้อมทุกอย่าง เพราะฉะนั้น คนอื่นก็ลดลงมาตามลำดับขั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ที่ประเสริฐกว่าอย่างอื่นทั้งหมดก็คือปัญญา ไม่ว่าในยามใด จะสุข หรือจะทุกข์ จะเพลิดเพลิน ปัญญาก็ยังสามารถที่จะรู้ความจริง เมื่อได้อบรมแล้ว
อ.คำปั่น เป็นเครื่องเตือนที่ดี ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มีโอกาสได้ฟังพระธรรมจริงๆ เพราะว่าพระธรรมทุกส่วนนั้นเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา เมื่อมีปัญญาเพิ่มมากยิ่งขึ้นก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความประพฤติต่างๆ ในชีวิตประจำวันค่อยๆ งดงามตามกำลังของปัญญาด้วย
เคยได้ฟังท่านอาจารย์ได้กล่าวเดือนว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมรู้ว่าอกุศลกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วจะกระทำหรือไม่ ถ้ากระทำ แสดงว่านั่นไม่ใช่ปัญญา เพราะขณะที่ทำอกุศลกรรมจะเป็นปัญญาไม่ได้ นี่ก็เป็นคำเตือนที่มีค่าแล้วก็เป็นประโยชน์จริงๆ สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา และข้อสุดท้าย การให้ธรรมเป็นทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับการปล่อยสัตว์ออกจากกรง
ท่านอาจารย์ จะออกไหม เปิดประตู บางตัวก็ไม่ออกใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นปัญญาจริงๆ เกิดมาในสังสารวัฏฏ์นับประมาณไม่ได้ โดยจำนวนกี่แสนโกฏิกัปป์แล้วก็ตาม ก็ยังคงอยู่อย่างนี้ ต้องมีการเกิดการตายวนเวียนไปในภพภูมิต่างๆ ไม่มีทางที่จะสิ้นสุดลงได้ แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ก็อุปมาเหมือนกับปล่อยสัตว์ออกจากกรง คือทุกคนติดอยู่ในกรงของสังสารวัฏฏ์ ใหญ่มาก อรูปพรหมก็ยังเป็นกรง รูปพรหมก็เป็นกรง สวรรค์ชั้นต่างๆ ก็ยังเป็นกรง เพราะฉะนั้น กว่าจะออกจากกรงของสังสารวัฏฏ์ได้ ก็อาศัยการได้เข้าใจพระธรรม จากการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ด้วยเหตุนี้ ก็ย้อนกลับมาที่การฟังพระธรรม เห็นไหม ประโยชน์ของการฟังจริงๆ ก็ต้องเกิดจากการที่เห็นประโยชน์ แล้วก็ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ไม่ฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่มีการพูดคุย ซึ่งขณะใดที่มีการพูดคุยคิดถึงเรื่องอื่น ขณะนั้นไม่ได้ฟังสิ่งที่กำลังได้ยิน เพียงแต่ผ่านหูไปเท่านั้นเอง
อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ ในเรื่องของการฟังที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ฟังเองแล้วก็สหายธรรมด้วย ก็พอเข้าใจ ในการสนทนา นอกจากการฟัง การสนทนา สนทนาธรรมที่จะเป็นประโยชน์เป็นมงคล ควรที่จะมีข้อคิดอย่างไรบ้าง เพราะว่าก็คงไม่ได้ฟังตลอด ก็เป็นการสนทนาด้วย
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นเรื่องธรรมอย่างเดียว เพราะเป็นการสนทนาธรรม ไม่ใช่เรื่องความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องการชื่นชมอนุโมทนาใดๆ ถ้าชื่นชมอนุโมทนาเมื่อไหร่ก็ได้ใช่ไหม แต่ว่ากาลนี้เป็นกาลฟังธรรม
อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ คือจะสนทนาในเรื่องของการชื่นชมอนุโมทนาว่า จะเหมาะควรในโอกาสใดบ้าง อย่างในบ้างครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมกับพราหมณ์หรือกับบุคคลใด บุคคลนั้นได้รับประโยชน์ ก็จะเปล่งคำที่เป็นการชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะต่างกันอย่างไรกับที่ท่านอาจารย์พยายามที่จะให้เห็นว่าไม่ใช่กาล
ท่านอาจารย์ เมื่อฟังพระธรรมจบแล้ว ไม่ใช่กำลังฟังอยู่ กำลังฟังแล้วภิกษุก็มาชื่นชม แล้วพระพุทธเจ้าตรัสต่ออย่างนั้นหรือ มีไหม ในพระไตรปิฏก
อ.อรรณพ คงจะไม่เป็นอันฟัง เพราะว่าก็มีอนุโมทนาหรือชื่นชมตลอดเวลาจนเป็นการปิดบังหรือว่าเป็นการครอบงำการฟังธรรมไปเลย
ท่านอาจารย์ กำลังฟัง เบิกบาน ชื่นชม รสอร่อย ซาบซึ้ง แต่ไม่ใช่เป็นการกล่าวในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพราะว่าจะขาดโอกาสของการที่ได้ฟังพระธรรมต่อไป แต่ว่าเมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วก็แสดงความนอบน้อม แล้วก็กล่าวคำชื่นชมในภาษิตของพระองค์ได้ เมื่อจบแล้ว
อ.อรรณพ เพราะว่าเป็นผู้ที่ฟังธรรมโดยเคารพแล้ว แล้วก็มีความเห็นประโยชน์ความซาบซึ้ง ไม่ได้เป็นการกล่าวที่เอาเวลาของการฟังธรรมมากล่าว
อ.ธิดารัตน์ สภาพธรรมมีอยู่ตลอด ถ้าไม่มีการศึกษาว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่มี มีลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีตั้งแต่ขั้นการฟัง แล้วก็เมื่อฟัง ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น เข้าใจขึ้น ปัญญาก็ถึงจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น จึงขาดการฟังไม่ได้เลย การฟังจึงอุปการะที่จะทำให้เกิดปัญญา ต่างระดับๆ ขึ้นไป สะสมเพิ่มขึ้น ปัญญาตั้งแต่ขั้นการฟังแล้วเข้าใจขึ้น เป็นปัจจัยให้มีการไตร่ตรอง แล้วเข้าใจขึ้นอีก จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ โดยลำดับ แต่ถ้าไม่มีการฟังธรรมเลย ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รู้ความจริงหรือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ได้เลย เพราะว่าเราไม่ใช่ผู้ที่สะสมบารมีมาที่ตรัสรู้เอง ผู้ที่เป็นสาวกจึงต้องอาศัยการฟังธรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะอบรมบ่มปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น จนละกิเลสได้จริงๆ
ผู้ฟัง มีหญิงสองคนเป็นเพื่อนกัน อีกคนหนึ่งเป็นช่างตัดเสื้อ อีกคนหนึ่งเป็นคุณครูที่สอนนักเรียน คุณครูจะสอนธรรม แต่ไม่ใช่ธรรมเหมือนที่นี่ คือจะพาเด็กไปที่ สถานที่จังหวัดหนึ่งที่เขาดังๆ ไปนั่งสมาธิ แล้วก็เวลาวันพระ ทางบ้านวันพระ ๘ ค่ำ ถ้าในพรรษา ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ก็จะมีการทำบุญที่วัด คุณครูคนนี้ก็จะพาเด็กไปประจำ คุณครูเหมือนศึกษาธรรม แต่ไม่ได้มีความเข้าใจ แต่คนที่อ่านธรรมของท่านอาจารย์ เขาก็มีความเข้าใจบ้างเล็กๆ น้อยๆ พอดีฉันก็ไม่ได้มีคำถามอะไร ขอบคุณ
ท่านอาจารย์ ได้ฟังพอสมควรใช่ไหม เข้าใจว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ผู้ที่กำลังฟังเข้าใจหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า สักครู่นี้ทั้งหมดเป็นธรรมหรือเปล่า นี่สำหรับผู้ฟัง ไม่ใช่ว่าต้องเป็นข้อความจากพระไตรปิฏกเท่านั้น แต่ว่าจากการที่เคยรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องอะไรที่ไหน ทุกอย่างก็เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ ในขณะที่ใครก็ตาม พูดอะไรก็ตาม เกิดเข้าหูกระทบโสตประสาท จิตได้ยินเกิด เป็นธรรมหรือเปล่า คือบางคนก็มุ่งที่จะฟังเรื่องราวที่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ลืมว่า ไม่ว่าฟังอะไรทุกอย่างเป็นธรรม จนกว่าจะละคลายการที่ยึดถือว่านี่ไม่ใช่ธรรม หรือว่านั่นเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ คือ เมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม แม้เมื่อสักครู่นี้เป็นธรรมหรือเปล่า นี่คือสำหรับผู้ฟังที่จะพิจารณาตนเองว่า สามารถที่จะมีความเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นว่า เป็นลักษณะของธรรม ไม่มีเรา แต่ว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง จะเป็นได้ยิน จะเป็นคิด จะเป็นชอบ ไม่ชอบ อะไรก็ ทุกอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ฟัง และสำหรับคุณขจรเอง เรื่องของคุณขจรทั้งหมดที่เล่ามานี้ คุณขจรรู้ว่าเป็นธรรมหรือเปล่า หรือว่ายังมีเรื่องอย่างนี้ทุกวันเปลี่ยนจากอย่างนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง แล้วคุณขจรเข้าใจหรือเปล่าว่า แต่ละหนึ่งขณะนั้นเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ สำหรับทุกคนก็คือว่า เลือกไม่ได้ ว่าจะได้ยินอะไร เมื่อไหร่ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในความเป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วเป็นแล้วอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าสามารถที่จะสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูกในที่ทุกสถานโดยไม่เลือกอารมณ์เลย นั่นคือหมายความว่ามีการเข้าใจธรรม แต่ถ้าเรายังเลือกอันนี้ไม่ใช่ธรรม ไม่อยากฟัง ไม่อยากเป็นธรรมหรือเปล่า ทั้งๆ ฟังมาแล้วทุกอย่างเป็นธรรม แต่ขณะนั้นเป็นหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับปัญญา
เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งให้เห็นความเป็นอนัตตาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็หมดแล้วใช่ไหม ณ กาลครั้งหนึ่งไปแล้ว ไม่เหลืออะไรเลยสักอย่าง เพราะฉะนั้น ทั้งผู้ฟัง และผู้พูดขึ้นอยู่กับว่า มีความเข้าใจธรรมในขณะนั้นหรือเปล่า
อ.คำปั่น มีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ สำหรับสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะอยู่ ณ ตรงไหน ฐานะใดก็ตาม ก็มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป สำคัญก็คือความเข้าใจมีมากน้อยแค่ไหนกับสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์ตรงไหน ระหว่างที่ฟัง กับฟังแล้วได้ยินธรรม ประโยชน์อยู่ตรงไหน ฟังเรื่องของคุณขจร ผู้หญิงสองคน ในขณะนั้นความสำคัญอยู่ที่ว่า สามารถที่จะเข้าใจไหมว่าเป็นธรรม โดยไม่เลือก ฟังก็เป็นธรรม คิดเรื่องอื่นก็เป็นธรรม แล้วก็อยากฟังก็เป็นธรรม ไม่อยากฟังก็เป็นธรรม คือ ทั้งหมดเป็นธรรม คือผลของการฟัง
ผู้ฟัง การหลุดพ้นวิมุตติ ที่จะต้องเริ่มด้วยจากการที่จะฟังพระธรรม มีความเข้าใจในอรรถ มีความเข้าใจในธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วคือ การเข้าใจความจริง การเข้าใจในสิ่งที่เป็นจริง การเข้าใจในสิ่งที่เป็นจริง จากการที่ผู้ฟัง ฟังในที่นี้ หรือฟังจากพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ กล่าวว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ว่าถ้าไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีการฟัง และที่จะเข้าใจความจริง เข้าใจในสิ่งนี้ ไม่มีใครเลยที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นได้
ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์ชอบอะไร
ผู้ฟัง ชอบความจริง
ท่านอาจารย์ อะไร ความจริง
ผู้ฟัง ได้เข้าใจธรรมสิ่งที่เป็นจริง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความจริงของคุณนิรันดร์คือปัญญา คุณนิรันดร์ชอบปัญญา หรือว่าเข้าใจปัญญา
ผู้ฟัง เข้าใจปัญญา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การฟังต้องไตร่ตรอง ต้องพิจารณาแล้วจะเข้าใจขึ้น นอกจากปัญญา คุณนิรันดร์ชอบอะไรอีก
ผู้ฟัง ถ้าไม่ใช่เรื่องธรรมก็ได้เหรอ
ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันจริงๆ ตัวจริงๆ
ผู้ฟัง ชอบฟุตบอล
ท่านอาจารย์ ชอบฟุตบอล เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ดูได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ ทีมโปรด ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ติดข้อง เมื่อไหร่จะพ้น ที่คุณนิรันดร์ถามถึง การฟังธรรมเพื่อหลุดพ้น จากความไม่รู้ และความติดข้อง และความไม่รู้ และความติดข้องมากมายมหาศาล ชอบอะไร เมื่อไหร่ เพราะไม่รู้ใช่ไหม
ผู้ฟัง เพราะไม่รู้ ใช่
ท่านอาจารย์ และชอบขณะนั้นเลย ละความชอบในขณะนั้นได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้แน่นอน
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
ผู้ฟัง ยังชอบอยู่
ท่านอาจารย์ แต่ถ้ามีความเข้าใจขึ้นว่าจริงๆ แล้ว ทุกข์มาจากไหน ทุกข์ทั้งหมดเลย ไม่เว้นเลยมาจากไหน มาจากความติดข้อง ถ้าคุณนิรันดร์ไม่ติดข้องในสิ่งนั้น อย่างนางวิสาขา มิคารมารดา มีความรักลูกหลาน หลานตายก็ร้องไห้ เพราะติดข้อง คนอื่นตายนางวิสาขาจะร้องไห้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ เพราะไม่ได้ติดข้อง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เริ่มเห็นทุกข์ของเราเอง ทุกคนมีทุกข์โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะเหตุว่า เวลาติดข้อง แล้วยังไม่พลัดพราก หรือยังไม่ได้สิ่งนั้นมา ก็ดูเหมือนกับว่า ทุกข์มีหลายระดับ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ทุกข์ใหญ่ๆ จึงเห็น ถ้าทุกข์เล็กๆ ไม่เห็น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ คุณนิรันดร์อยากเป็นอิสระไหม
ผู้ฟัง อยากเป็นอิสระ
ท่านอาจารย์ นั่นคือหลุดพ้นจากความไม่รู้ และความติดข้องด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยคุณนิรันดร์
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 721
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 722
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 723
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 724
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 725
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 726
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 727
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 728
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 729
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 730
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 731
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 732
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 733
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 734
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 735
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 736
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 737
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 738
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 739
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 740
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 741
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 742
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 743
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 744
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 745
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 746
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 747
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 748
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 749
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 750
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 751
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 752
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 753
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 754
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 755
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 756
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 757
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 758
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 759
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 760
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 761
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 762
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 763
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 764
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 765
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 766
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 767
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 768
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 769
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 770
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 771
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 772
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 773
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 774
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 775
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 776
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 777
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 778
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 779
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 780