พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 773


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๗๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ศึกษาคำนั้นโดยภาษาของตนๆ นี่คือข้อความในสังยุตนิกาย สคาถวรรค เรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงในภาษาที่เราเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ก็คิด และเข้าใจขั้นคิด แต่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะใดที่จากการที่ไม่เคยรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ซึ่งหลายอย่างเหลือเกิน ก็มีการรู้เฉพาะลักษณะหนึ่งเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเป็นความต่างที่ไม่ได้คิด

    ผู้ฟัง ยังมีละเอียดกว่านั้นอีก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ เพราะขณะนี้ สภาพธรรมปะปนกันมากมายใช่ไหม จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง ซึ่งความจริงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่จะรู้ชัดเฉพาะลักษณะหนึ่ง ถึงเฉพาะลักษณะนั้น ถ้าไม่มีการฟังเข้าใจ ไม่มีการที่จะรู้เฉพาะลักษณะนั้นได้เลย

    ผู้ฟัง แต่เมื่อมีความเข้าใจว่า ลักษณะที่ปรากฏเป็นธรรม ก็ไม่สามารถที่จะอธิบายหรือบอกกับใครได้ในความเข้าใจนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องบอกใคร ไม่ต้องอธิบาย เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏแค่ไหน

    ผู้ฟัง ก็มีคำถามที่จะขอกราบเรียนถาม เมื่อขณะที่ธรรมเกิด ที่ว่าเป็นธรรมแล้ว ความสัมพันธ์ตรงนั้นมีไหม แล้วก็จะทำให้เราหลงผิดได้ว่า ไม่ได้เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องคิดอื่น นอกจากเมื่อลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็เข้าใจ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงคิด ตามที่ได้ฟังมากมายว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เกิดแล้วดับไปอย่างเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ที่กำลังเข้าใจเฉพาะลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ความคิดเรื่องอื่น แต่เป็นการค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่อยากจะใช้คำว่า “สติ” แต่ขณะนั้นก็เป็น สติ ไม่อยากจะใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” ให้สับสน หรือว่าให้ต้องการมากๆ แต่ก็ให้รู้ต่างว่า ขณะนี้ก็มีธรรมหลากหลาย เห็นก็มี ได้ยินก็มี เสียงก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี คิดนึกก็มี ชอบก็มี ไม่ชอบก็มี ทั้งหมดปรากฏชั่วคราวแล้วก็ดับไป ยังไม่ได้รู้ความจริงของแต่ละหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ก็เพียงฟัง รู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่ปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิด สิ่งนั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะนี้เกิดแล้ว ไม่ต้องไปนั่งคิดถึงเรื่องปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิด เพราะนั่น ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจเฉพาะลักษณะที่เป็นธรรมของแต่ละหนึ่ง ซึ่งปรากฏแล้วก็หมดไป เร็วมาก

    เพราะฉะนั้น ในขณะใดก็ตาม ซึ่งยังมีสภาพธรรมนั้นปรากฏ แล้วก็มีการเข้าใจเฉพาะลักษณะนั้นตามความเป็นจริง นั่นคือ ไม่ใช่ความคิด แต่เป็นความเข้าใจสิ่งที่มีตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ขณะนี้ “เห็น” กับ “คิด” ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีแต่ คิด มีเห็นด้วย แต่ละคำที่คุณชุนกล่าว คือ คิด แล้วก็มี เห็น รู้เฉพาะลักษณะไหนหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องไปคิดโยงไปเรื่องไหนเลย เพียงแต่ฟังแล้วก็รู้ความต่างว่า ขณะนี้ มีสิ่งที่มีจริง ต้องอาศัยการฟังเพื่อที่จะละความเป็นเรา แล้วก็ค่อยๆ รู้ความต่างของขณะซึ่งกำลังรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมนั้นสภาพธรรมหนึ่ง ซึ่งถ้ายังไม่เกิด ก็แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจยังไม่พอที่จะให้เกิดขึ้น รู้จริงๆ ในแต่ละลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องฟังจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นผู้ฟังธรรมแล้ว เกิดมาชาติหนึ่ง ได้มีโอกาสพบพระพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง นับว่าหาได้ยาก ถ้าเกิดมาแล้วได้ฟังธรรมแล้วสติปัฏฐานไม่เกิด ได้แต่ฟังเพื่อความเข้าใจ แล้วจะคุ้มเหรอที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่งได้มีโอกาสได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว แล้วก็ ความคุ้มของการที่ได้พบพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน ถ้าไม่ได้โอกาสที่ปฏิบัติหรืออะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ แล้วสติปัฏฐานจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ก็มีความเข้าใจนิดๆ หน่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจนิดๆ หน่อยๆ สติปัฏฐานจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ แล้วอย่างนี้ ก็เสียชาติเกิด ที่มีโอกาสพบพระพุทธศาสนาแล้วสติปัฏฐานไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรมนี้ เสียชาติเกิดเหรอ

    ผู้ฟัง แล้วท่านอาจารย์จะบอกว่า คุ้มแล้ว แค่ฟังแล้วเข้าใจ ไม่ต้องคำนึงถึงว่า สติจะเกิดหรือไม่เกิดอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ กับไม่เข้าใจต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ คุ้มไหม

    ผู้ฟัง ผมว่าคุ้ม ถ้าเกิดมาแล้วได้มีโอกาสที่จะเข้าใจความจริงจากที่ไม่เคยเข้าใจ แม้แต่สติจะไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างงั้นคำถามของคุณนิรันดร์ ก็จะกลายเป็นว่า เกิดมาแล้วไม่เป็นพระอรหันต์ คุ้มไหม

    ผู้ฟัง อย่างนี้ ก็สะสมความเข้าใจตรงนี้ต่อไป สะสมไปในชาติต่อๆ ไปอย่างนั้นเหรอ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ถ้าคิดอย่างนี้ได้ ก็ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องหวังอะไรมากมาย แค่ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้น

    อ.กุลวิไล ทุกท่านเกิดมาแล้วต้องตาย แต่การที่จะได้ประโยชน์จากการเกิดก็คือ การศึกษาพระธรรมนั่นเอง อบรมปัญญา และสะสมความเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพราะว่าปัญญานำมาซึ่งคุณ เป็นที่พึ่งด้วย และก็ไม่ใช่พึ่งเฉพาะชาตินี้ ชาติหน้า แล้วก็เป็นที่พึ่งอย่างยิ่ง ขณะนี้ทั้งหมดเป็นธรรม

    ดิฉันจะยกข้อความในพระสูตร “จตุตถสมิทธิสูตร” พระผู้มีภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรสมิทธิ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ ธรรมที่พึงจะรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ดิฉันจะขออ่านเฉพาะส่วนของทางตาก่อน กราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงนัยที่ท่านแสดงถึงโลก และการบัญญัติว่า โลก

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นโลกหมด เว้นนิพพาน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่มี ที่ปรากฏเป็นโลกทั้งนั้น แล้วก็เป็นแต่ละโลกด้วย เพราะเหตุว่า โลกคือสภาพธรรมที่เกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี แต่ว่าเมื่อเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดเป็นโลก เพราะเกิดดับ จะพ้นความเป็นโลกไม่ได้เลย

    ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเข้าใจละเอียดว่า ที่เราไม่รู้จักโลกก็เพราะเหตุว่า โลกแต่ละโลกซึ่งเกิดดับ รวมกัน ประชุมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงไม่สามารถที่จะเห็นโลกตามความเป็นจริงว่า แต่ละหนึ่งโลกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็เพื่อเข้าใจที่จะสะสมความเห็น ความเข้าใจ ที่ถูกต้องว่า ที่ไม่เคยรู้จักโลก แต่ใช้คำว่าโลก ก็ไม่รู้จักความจริงว่า แท้ที่จริงทุกขณะเป็นโลก และทุกสิ่งที่มีจริงเป็นโลก เว้นสภาพธรรมที่ไม่ได้ปรากฏเพราะไม่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่โลก

    อ.กุลวิไล เพราะว่าสิ่งที่มีจริง ก็มีเพียง ๔ อย่างเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ถ้าผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้รู้ว่าลักษณะของโลกในความที่เกิดดับ แต่เขาก็ยังยึดถือว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานี้เป็นโลก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมแล้วจะรู้ความจริงของอะไรหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

    อ.กุลวิไล จะเห็นได้ว่า ท่านอาจารย์เน้นความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้แต่ คิด ดูเหมือนว่าเราเป็นผู้ที่คิดมาก แต่เราก็ไม่รู้ว่าคิดก็ไม่ใช่เรา แล้วก็คิดก็เป็นโลกๆ หนึ่ง แล้วท่านอาจารย์ก็บอกว่าแม้แต่ขณะนี้เอง ก็มีธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งก็คือโลกนั่นเอง แล้วไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ความจริงแต่ละคนก็เป็นแต่ละโลก และแต่ละคนแต่หนึ่งขณะก็เป็นโลกแต่หนึ่งขณะด้วย กำลังมีโลกรำคาญหรือเปล่า มีจริงๆ หรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นโลกหรือเปล่า นี่คือให้เข้าใจสิ่งที่เราพูด ถ้าเราจะพูดเรื่องโลก ก็ให้รู้ไปเลยจริงๆ ว่าโลกคืออะไร เดี๋ยวนี้กำลังเป็นโลกแต่ละโลก ไม่อย่างงั้นเราก็ผิด ศึกษาธรรมแต่ไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น ก็ให้ทราบว่า ตามความเป็นจริงต้องรู้จักคำว่า “โลก” ถ้าพูดถึงอะไร เมื่อสักครู่ เราพูดถึงโลก แต่เราต้องรู้จักคำว่าโลก โลกคือสภาพใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น และดับไปทั้งหมดเป็นโลก เพราะฉะนั้น มีอะไรที่ไม่ใช่โลก

    อ.กุลวิไล ก็ไม่มี นอกจากพระนิพพานเท่านั้นเอง เพราะว่าขณะนี้ก็มีธรรมที่เป็นโลก ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก และรูป ที่เราศึกษากันนั่นเอง เพราะฉะนั้น อยู่กับโลกต้องรู้จักโลกตามความเป็นจริง

    อ.อรรณพ ก็เป็นเรื่องความคิดที่ต่างกันมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมกับผู้ที่ศึกษาธรรม เพราะผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม เขาก็ไม่รู้ว่า อะไรคือโลก แล้วอะไรคือปัญหาของโลก แล้วก็ยังไม่ต้องไปพูดถึงการแก้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็แก้ไม่ได้ ก็ยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวันตามอกุศลที่เพิ่มขึ้น

    อ.อรรณพ แม้ว่าจะเป็นความโดยโลกๆ ที่เขาเรียกว่า “ปัญหาของโลก” ตอนนี้เรามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสงคราม เรื่องอะไรทั้งหลายนี้ แต่ว่าที่แท้จริงแล้วก็ต้องมาจากอกุศลอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าทุกคนมีแต่กุศลไม่มีปัญหาแน่ๆ

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาก็เป็นเรื่องที่มีแต่ความไม่รู้จริงๆ เพราะเราก็คิดว่า คนโน้นทำให้เป็นปัญหา คนนี้ทำให้เป็นปัญหา เป็นคน เป็นสัตว์ แล้วก็แม้แต่สิ่งไม่มีชีวิต เราก็คิดว่าทำให้เกิดปัญหา ปัญหาดินถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ อะไรต่างๆ เหล่านี้

    แต่จริงๆ แล้วถ้าถอด สัตว์ บุคคล เรื่องราวออกไป ก็เป็นสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่า รูปก็ไม่ใช่ปัญหา ก็มีเหตุปัจจัยก็เป็นไปอย่างนั้น จิตเป็นปัญหาไหม ปัญหาก็คือ “เจตสิก” แล้วก็เป็นเจตสิกที่ไม่ดีที่เป็นปัญหา เจตสิกที่ไม่ดีท่านก็แสดงไว้ ๑๔ อย่าง แล้วในบรรดาเจตสิก ๑๔ อย่าง ตัวปัญหาหลักๆ จริงๆ ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ แล้วในบรรดา โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นตัวปัญหาหลัก หรือเป็นเหตุ เป็นมูลที่ไม่ดี ก็คือ อวิชชา หรือ โมหะเหตุ นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ที่มาศึกษาธรรม เพื่อจะละเหตุที่แท้จริง หรือปัญหาต้นตอของปัญหาจริงๆ ก็คือ อวิชชาความไม่รู้ รู้สึกว่าเป็นต้นตอที่แท้จริง ซึ่งใครเลยจะรู้ได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงพิจารณาไปว่า ตั้งแต่เรามีทุกข์ได้รับทุกพิบัติภัยต่างๆ มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจต่างๆ สืบไปแล้วก็คือ พบปัญหาที่แท้จริง

    ในทางโลกเราก็ต้องหาประเด็นปัญหาก่อนที่จะแก้ปัญหา แล้วไม่ว่าจะเป็นศาสตร์อะไรเรื่องอะไรก็ต้องหา อย่างเช่น ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม ก็ต้องสืบเสาะไปว่า ตรงไหนเป็นจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษต่างๆ แต่มลพิษทางจิตใจที่จะสืบเสาะไปจริงๆ แล้วก็คือ ความไม่รู้ ณ ขณะนี้มาศึกษาธรรมก็กำลังที่จะแก้ปัญหาที่ตรงลงไปจนถึงต้นตอจริงๆ ก็คือ ความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สนทนาในประเด็นเรื่องโลก และปัญหา คือ ดูเหมือนว่า ถ้าฟังแล้วปัญหาก็อยู่ที่อกุศลแล้วก็กิเลส ถ้าไม่มีคนคือ จิต เจตสิก ที่สะสมมาเช่นนั้น แล้วถ้าจะไม่มีปัญหาก็ต้องเป็นกุศล แล้วถ้าจะไม่มีปัญหาอย่างยิ่งก็คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ตรงความจริง แต่ในความเป็นจริงก็คือ กว่าคนที่จะมามีโอกาสได้ฟังก็ยาก เมื่อมาฟังแล้วก็ยังเข้าใจยาก ยกตัวอย่าง ถ้าเอาแต่ละบุคคลแต่ละหนึ่ง กว่าจะฟังให้เข้าใจได้จริงๆ จนกระทั่งรู้ว่าปัญหาจริงๆ ก็คือความไม่รู้ความจริง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว แต่กว่าจะรู้ก็ยากมาก

    เพราะฉะนั้น เหมือนกับ การสะสมปัญหาก็มาก แล้วการที่จะเริ่มรู้แล้วเพื่อไปนำสู่การรู้ที่แก้ปัญหาจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆ มันก็เลยกลายเป็นว่า เต็มไปด้วยปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วท้อถอยไหม

    ผู้ฟัง เป็นบุญที่ได้มาฟัง

    ท่านอาจารย์ แล้วท้อถอยไหม ยากอย่างนี้

    ผู้ฟัง ก็มีบ้าง แต่ไม่ท้อถอยเป็นหลัก

    ท่านอาจารย์ บารมี มีเท่าไหร่

    ผู้ฟัง ๑๐

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีบารมี สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏธรรมดาๆ อย่างนี้ไหม ต้องเป็นปัญญาระดับไหน ที่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเกิด และดับไป ถึงสามารถที่ละการที่เคยยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นตัวตนเป็นเราได้ แต่เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ก็แล้วแต่ว่า จะรู้ความจริง จะอดทน จะฟังจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะรู้ได้ ก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีวิริยะไม่มีความเพียร ไม่มีความจริงใจสัจจะ ไม่มีขันติความอดทน ไม่มีวันที่จะถึงแน่ เพราะทุกคนต้องไม่ลืม ปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์เมื่อกล่าวเช่นนี้ว่า เพราะต้องมีบารมี ๑๐ หรือว่าต้องมีอดทน มีวิริยะ ก็หมายความว่า ในเมื่อทราบว่า ปัญหาก็สะสมมามาก ความไม่รู้ในแต่ละหนึ่งๆ ก็คงจะสะสมมาเนิ่นนานจริงๆ ก็หมายความว่าเมื่อรู้เช่นนั้น ก็คือ ก็ต้องอบรมไปที่จะมีบารมี เช่น มีขันติว่า อากาศร้อนแค่ไหน รู้อะไรก็ฟังให้เข้าใจไป

    ท่านอาจารย์ อบรมด้วยความเข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมด ยิ่งเพิ่มความอดทนกับวิริยะใช่ไหม แต่วิริยะก็ไม่ใช่เรา อดทนก็ไม่ใช่เรา แต่ว่ามีจริงๆ และปัญญาความเห็นถูกก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นได้จริงๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ท่านอาจารย์บอก สะสมบุญมาถึงจะได้ฟัง ก็เหมือนกับได้เริ่มต้น ที่จะสู่การแก้ปัญหาแล้ว เพราะว่า ถ้ายังไม่ได้ฟังเลยก็ยังไม่รู้ว่า คิดว่าเป็นโลก เป็นอะไรที่มีปัญหามากมาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จุดที่เป็นปัญหาที่สุดก็คือ “การเกิด” หาต้นตอไปจากอกุศลใช่ไหม เป็นเหตุให้เกิดปัญหา แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเกิด และมีปัจจัยทุกอย่างที่จะทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ปัญหาทั้งหมดจะหมดได้เมื่อ “ไม่เกิด” ต้องไปถึงระดับนั้น

    ผู้ฟัง ก็ทราบว่าต้องเป็นจุติจิตของพระอรหันต์ซึ่งต้องอีกนานมากก็อบรมไป บารมี ๑๐ เช่น การมาฟังอย่างนี้สม่ำเสมอ

    ท่านอาจารย์ และพระอริยะบุคคลในอดีต เห็นไหม ทำไมท่านรู้ได้ มากมายเหลือเกิน แล้วทำไมคนอื่นรู้ไม่ได้ เพราะอะไร และจะรู้จริงๆ ก็รู้ได้ ถ้าอบรม ถ้าเห็นประโยชน์

    ผู้ฟัง ก็อบรมต่อไป

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า ปัญหาหมดได้ต้องไม่เกิด หลายท่านคงไม่แปลกใจ เพราะว่าธรรมที่เกิดเพราะมีปัจจัยนั่นเอง ยังมีปัจจัยให้เกิด และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องมีปัญหา เพราะว่าอกุศลธรรมก็มีกุศลธรรมก็มี แล้วธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรม และอกุศลธรรมก็มี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ยังต้องมีอกุศลธรรม และอกุศลธรรมอันนี้แหละเป็นปัญหา

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้เลย อย่างกรณีของโลก ก็เป็นสภาพธรรมที่จริง แล้วก็เป็นธรรมที่เกิด และต้องดับไป เป็นธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย เป็นสังขารธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา การที่จะแก้ปัญหาที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่า ธรรมที่แก้ปัญหาได้ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี และแน่นอนปัญญาซึ่งเป็นความเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยที่ให้ผู้นั้นสามารถที่จะแก้ปัญหาได้หรือว่าหมดปัญหาได้ ซึ่งถ้าหากว่าผู้ที่ศึกษาธรรม และมีความเข้าใจธรรม กับการที่จะอยู่กับโลกที่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ ก็ยังเป็นผู้ที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เผชิญกับปัญหาแน่นอน แต่จิตเป็นอะไร ใครจะหลีกเลี่ยง การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่นการลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก แต่จิตขณะนั้นเป็นอะไร นี้คือแก้ปัญหาที่จิต อย่างที่ทุกคนรู้แล้วว่า อกุศลจิตเป็นตัวปัญหา ทำให้เกิดปัญหา แต่กุศลจิตไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเลย เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศล ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงการที่จะเห็น การที่จะได้ยิน แต่แม้อย่างงั้นขณะนั้น ก็เป็นกุศลจะเกิดปัญหาอะไร

    อ.กุลวิไล เพราะว่า ถ้ากุศลจิตเกิด ปัญหาไม่มีแน่นอน ไม่เดือดร้อนใจ ไม่ทุกข์ใจ แล้วข้อสำคัญไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย ปัญหาไม่มีแน่นอน ถ้าเราไปเบียดเบียนผู้อื่นปัญหาต้องเกิดกับเราแน่ และแน่นอนถ้าเราอยู่กับโลกที่เขามีปัญหากันอยู่ เพราะว่าธรรมหลากหลาย สังขารธรรมไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ก็ไม่เดือดร้อนด้วย สภาพจิตขณะนั้นเป็นกุศลก็เป็นปัจจัยให้ไม่เกิดปัญหา

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงเรื่องของความทุกข์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การเกิดขึ้น เมื่อมีการเกิดขึ้นก็ ย่อมมีชรา ย่อมมีพยาธิความเจ็บป่วย แล้วก็ย่อมมีมรณะความตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือว่าการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า ทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมเกิดแต่ตัณหา คือ ความพอใจ สำหรับผู้ที่ฟังใหม่ ก็น่าคิดว่า ทุกคนก็ยังมีความต้องการ แล้วก็มีความสุขจากสิ่งที่ได้ตามที่ต้องการ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ความทุกข์ทั้งหมดที่เป็นไปตั้งแต่ความเกิดจนถึง ความโศกเศร้า รำพัน ต่างๆ เพราะตัณหา คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความพอใจ สิ่งนั้นจะสูญหายไป สลายไป เดือดร้อนไหม

    อ.วิชัย ก็ย่อมไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความเดือดร้อนมาจากไหน

    อ.วิชัย ความพอใจ แปลว่า ที่เป็นเหตุให้เกิดความเกิดขึ้น ถ้าปกติในชีวิตประจำวันก็พอจะทราบ แต่ว่าความเกิดที่เป็นไปเพราะตัณหา คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมดตัณหาแล้วไม่เกิด

    อ.วิชัย เพราะยังมีตัณหาอยู่จึงเกิดขึ้น ท่านอาจารย์กล่าวถึง เรื่องของธรรมที่ปรากฏ เป็นธรรมที่เกิดดับ คือ มีแล้วก็ดับไป ดังนั้น ความรู้ที่รู้อย่างนี้ ขณะที่รู้ ก็เป็นการละ ความพอใจด้วยในขณะนั้นด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เช้ามา ละความพอใจอะไรบ้างหรือเปล่า

    อ.วิชัย รู้สึกว่า เป็นปกติธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ละความพอใจอะไรเลย จึงมีทุกสิ่งทุกอย่างไปเรื่อยๆ ทุกวัน ไม่ได้หยุดยั้งเลย เพราะยังมีความพอใจที่จะให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น อะไรที่จะเกิด เกิดเพราะความต้องการหรือเปล่า

    อ.วิชัย ก็ย่อมมีความต้องการขวนขวายที่จะให้เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าหมดความต้องการ ก็หมดความที่จะต้องไปขวนขวายทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น โลภะจึงเป็นเหตุเกิดทุกข์นั่นเอง ถ้ายังมีความติดข้องใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ก็ยังเป็นผู้มีทุกข์อยู่ ไม่สามารถจะพ้นทุกข์จากสังสารวัฏฏ์ได้เลย เพราะฉะนั้น อย่างที่ได้สนทนากันทุกท่านมีทุกข์ แม้แต่ทุกข์ใจ แต่ที่จะแก้ได้ก็คือ การ เข้าใจธรรมนั่นเอง เราไม่สามารถอย่าไปแก้ไขผู้อื่นได้ เพราะล้วนแต่เป็นสังขารธรรมที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งนั้นเลย บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ความเข้าใจธรรมจะเป็นที่พึ่ง และที่สำคัญคือ ถ้าเข้าใจธรรมแล้วปัญหาไม่มี

    ผู้ฟัง กระผมคิดว่า ปัญหาต่างๆ สัตว์ บุคคล เพิ่มขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา แม้แต่ในครั้งพุทธกาล พระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีปัญหากันในเรื่องน้ำ ในการทำนา เป็นปัญหาไปหมด เพราะว่า เมื่อคนมากขึ้นๆ ทุกที มันไม่มีลดลงมีแต่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าบุคคลที่มาฟังธรรมแล้ว ปัญหาก็อาจจะลดลงบ้าง อย่างนี้จะเป็นเรื่องความจริงที่ท่านอาจารย์ได้พูดว่า ปัญหาก็จะลดลงใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตเกิดเมื่อไหร่ ไม่มีปัญหา อกุศลเกิดเมื่อไร ก็มีปัญหา

    ผู้ฟัง แม้แต่ปัญหาที่เป็นของชาติ ก็ทำให้อกุศลเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยให้อกุศลเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก็ชัดเจน ปัญหาของชาติมีมากเพราะอกุศลมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567