พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 727
ตอนที่ ๗๒๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
ท่านอาจารย์ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร หมายความถึง เจตนาที่เป็นกรรม ที่เป็นกุศลหรืออกุศลนั่นเอง เมื่อมีกรรม และผลก็ต้องมี เป็นปัจจัยแก่ ปฏิสนธิจิต และวิบากจิตอื่นๆ ทั้งหมดเพราะเหตุว่า เหตุมีแล้ว เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า จะทำบุญมาก ทำบาปมาก อย่างไรก็ตาม จากโลกนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะพ้นไปจากการที่ต้องเกิดอีก แต่ว่าเกิดตามกรรมแล้วแต่ว่า จะเกิดเพราะกุศลกรรมเป็นปัจจัย หรือว่าอกุศลกรรมเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น จะมีคำว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ เพราะเมื่อสังขารเป็นเหตุ คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรมเป็นเหตุ วิญญาณก็คือวิบากทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ที่เกิดมาแล้วเป็นอย่างนี้ ถ้าย้อนกลับไปก็จะรู้ได้ว่า เกิดเป็นมนุษย์เพราะกุศลกรรม แต่รู้ไหมว่า กุศลอะไร ทานหรือศีลก็ไม่รู้ได้ และยังประมวลมาซึ่งกรรมที่ได้กระทำแล้ว ที่สามารถที่จะให้ผลในชาตินี้ด้วย
เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของแต่ละคน ไม่เพียงแต่หลากหลายโดยการที่ไม่รู้ว่า เมื่อเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล แต่ไม่รู้ว่า กุศลนั้นเป็นทานหรือเป็นศีล แต่ก็ยังประมวลมาซึ่งกรรมอื่นที่สามารถที่จะให้ผลด้วย ด้วยเหตุนี้ เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศลกรรม แต่ความหลากหลายของการสะสมในแสนโกฏิกัปป์ ก็ทำให้สิ่งที่สะสมมาแล้ว ทำให้แต่ละคนเมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ก็ต้องเป็นปัจจัยให้มีนาม และรูป นามที่นั่นคือ เจตสิก จะมีแต่วิบากจิตซึ่งทำกิจปฏิสนธิโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้เลย และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปของแต่ละคนเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต และยังสะสมความหลากหลายในแสนโกฏิกัปป์
ด้วยเหตุนี้ แต่ละคนที่นี่ “รูป” เหมือนกันไหม มาจากไหน ทั้งๆ ที่เป็นผลของกุศลกรรมก็ต่างกันไปหลากหลายมาก นี้ก็คือ เริ่มเข้าใจแต่ละหนึ่งๆ และก็เข้าใจเท่าที่จะเข้าใจได้ คือ เมื่อยังมีอวิชชา มี แล้วก็มีกุศลกรรม อกุศลกรรม จากโลกนี้ไปแล้วก็ยังต้องเกิดอีก เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ซึ่งเป็นปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิต และวิบากทั้งหมดก็มาจากกุศลกรรม และอกุศลกรรม ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร คือ เจตนาที่เป็นกุศล และอกุศล สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ คือ วิบากจิต เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต จนกระทั่งชีวิตที่จากปฏิสนธิถึงขณะจุติ หลากหลายไปตามกรรม ที่ประมวลมาที่จะให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจต่างๆ กัน
เพราะฉะนั้น สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต และวิบากจิต วิญญาณเป็นปัจจัยแก่ นาม รูป หมายความว่า ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะปฏิสนธินั้นเอง และกรรมก็ทำให้รูปเกิดหลากหลายกันไปด้วย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดด้วยอกุศลวิบากจิตเหมือนกันเลย ประเภทเดียวเท่านั้น ไม่หลากหลาย แต่ประมวลมาซึ่งกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น ดูชีวิตของสัตว์ รูปร่างของสัตว์ก็ต่างกันไป แม้แต่ประเภทที่เป็นงูก็ยังมีงูหลายชนิด และรูปร่างก็คล้ายๆ กับกิ้งก่า แต่ในภูมิประเทศแห่ง ๑ หน้าตากิ้งก่าก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง อีกที่ ๑ ก็หน้าตาอีกอย่าง ๑ นี่คือ ความหลากหลายสุดที่จะประมาณได้ ซึ่งทั้งหมดเป็น “ธาตุ” หรือ “ธา-ตุ” เท่านั้น ที่จะต้องเป็นไปตามการที่มีเหตุปัจจัย ที่จะให้หลากหลายกันไป
ด้วยเหตุนี้ ก็ทบทวนไป ทีละเล็กทีละน้อยให้จำได้ และเข้าใจด้วย และมั่นคง เมื่อมีอวิชชาซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มี ก็เป็นปัจจัย เพราะว่า ทุกคนมีกุศลกรรม และอกุศลกรรม ซึ่งเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว หรือว่ายังไม่จากไปก็ตามแต่ แต่กรรมที่จะให้ผลในชาตินี้เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าขณะนี้กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ หรือว่ายังไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ แต่จะให้ผลในชาติต่อไป หรือว่าแม้ในชาติต่อไปยังไม่ให้ผล ก็ยังจะให้ผลในชาติหลังจากชาตินั้นอีก ซึ่งแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอดีตกรรม ที่ทำให้พระองค์มีอกุศลวิบากทางกายต่างๆ กันว่า ในชาติไหนได้กระทำกรรมใด นานแสนนานมาแล้วก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้วิบาก คือ ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คือ เจตนาซึ่งเป็นกรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ซึ่งกรรมนั้นก็จะต้องให้ผลเป็นวิบาก ตั้งแต่ปฏิสนธิ และวิบากหลังปฏิสนธิทั้งหมด ก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย กี่องค์แล้ว อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เพราะต้องมีเจตสิต และรูปด้วยเวลาที่กรรมให้ผล เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดดับแต่กรรมก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แล้วก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดด้วย
เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรมให้ทราบว่า เกิดทุกอนุขณะของจิต ไม่มีใครไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น รูปจะเป็นอย่างไร วันนี้ พรุ่งนี้ ต่อไปก็แล้วแต่กรรมซึ่งเป็นปัจจัย เมื่อเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเกิด ทำให้มีเจตสิก และรูปเกิดพร้อมกัน และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้วิบากเกิดต่อพร้อมกับรูปด้วย แต่รูปเกิดทุกอนุขณะของจิต จิตมีอนุขณะ ๓ คือ ขณะเกิด “อุปาทขณะ” “ฐีติขณะ” คือ ยังไม่ดับ ตั้งอยู่ และ “ภังคขณะ” ขณะที่ดับ กัมมชรูปเกิดทุกอนุขณะของจิต ไม่มีใครไปทำให้จักขุปสาทเกิด โสตปสาท ชิวหาปสาท หรือกายปสาทเกิดได้ นอกจากกรรม
เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า กรรมสามารถที่จะทำให้นามธรรมเกิดเป็นวิบาก และยังทำให้รูปธรรมเกิดได้ด้วย นี่คือ ความละเอียด ถ้าเราใจร้อน อยากจะรู้ชื่อให้หมด แต่ว่าไม่เข้าใจอะไรเลยก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าเราเข้าใจแต่ละคำ แล้วค่อยๆ เข้าใจความละเอียดกับการสืบเนื่องกัน เราก็จะกล่าวได้ว่า เราเข้าใจปฏิจจสมุปบาท แต่ว่า ต้องตามลำดับ คือ ต้องเข้าใจองค์ของปฏิจจสมุปบาทว่า ในบรรดาธรรมทั้งหมด อะไรเป็นแก่นของสังสารวัฏฏ์ ก็คือ “อวิชชา” เมื่อมีอวิชชาแล้วก็มีเจตนาเป็นกรรมซึ่งใช้คำว่า “สังขาร” ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “ปุญญาภิสังขาร” “อปุญญาภิสังขาร” “อาเนญชาภิสังขาร” แสดงให้เห็นว่า ธรรม แสดงโดยหลากหลายนัยต่างๆ ได้ แทนที่จะกล่าวถึง อกุศลเจตนาซึ่งเป็นอกุศลกรรม ก็กล่าวว่า อปุญญาภิสังขาร “ปุญฺญ” เป็นธรรมฝ่ายดีที่ขัดเกลากิเลส “อปุญฺญ” ก็เป็นอกุศล
อ.กุลวิไล คุณธิดารัตน์จะร่วมสนทนาในประเด็นของนามรูปเป็นปัจจัยแก่ “สฬายตนะ” ขอเชิญ
อ.ธิดารัตน์ “สฬายตนะ” หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดในทั้ง ๖ วิถีนั่นเอง เพราะหลังจากที่ปฏิสนธิแล้วก็จะต้องมีการเห็น การได้ยิน ต้องมีสฬายตนะซึ่งเป็นจักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท หรือแม้ทางมโนทวารก็ตามก็ต้องมีจิตที่จะเป็นปัจจัย เพราะว่า เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิเกิดแล้ว ปฏิสนธิวิญญาณก็จะมีทั้งนาม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และยังมีกัมมชรูปเกิด และหลังจากนั้น หลังจากปฏิสนธิแล้ว กรรมก็จะเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดทุกๆ อนุขณะของจิตเลย ปสาทรูป ๕ ก็เป็นรูปที่เกิดจากกรรม เมื่อมีปัจจัยที่จะทำให้มี การเห็น การได้ยิน ในขณะนี้ ถึงแม้ขณะนี้ก็มี “สังขาร” หรือว่ากรรมในอดีตซึ่งเป็นอภิสังขาร จะเป็นการเห็นที่ดีหรือว่าการเห็นที่ไม่ดี จักขุวิญญาณก็เป็นชาติวิบาก เป็นวิญญาณอยู่แล้ว แล้วก็ต้องอาศัยสฬายตนะหรือว่าจักขุปสาทซึ่งเกิดจากกรรมด้วย เป็นปัจจัยให้มีการเห็น
เพราะฉะนั้น ก็คือ ชีวิตประจำวันหลังจากปฏิสนธิแล้ว ก็ไม่พ้นความเป็นไปของธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ที่จะทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สฬายตนะก็เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงยังมีผัสสะอีกที่เป็นเจตสิกตัว ๑ ที่ท่านยกขึ้นมาในองค์ของปฏิจจสมุปบาท เพราะว่า เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ ในปัจจุบันวิถีจิตที่จะรู้อารมณ์ก็ต้องอาศัยผัสสะที่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน เหล่านี้กระทบสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นปัจจัยให้มีการรู้อารมณ์ เวลาที่เราศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรม ก็ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก แต่จริงๆ ชีวิตประจำวันขณะนี้ ก็เป็นการทำกิจของจิต และเจตสิก และไม่ใช่เพียงแค่ธรรมชนิดเดียว ยังมีธรรมที่อาศัยกันหลายอย่างมากในชีวิตประจำวัน และที่กล่าวถึงอายตนะนี้ก็คือ สภาพธรรมมีอยู่ในขณะนั้นด้วย จักขุปสาทยังมีอยู่ และยังเป็นปัจจัยอยู่ จึงเป็นปัจจัยให้มี การเห็น การได้ยิน
อ.กุลวิไล เพราะมีสฬายตนะจึงเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เนื่องจากว่า ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีปัจจัยให้ผัสสะกระทบอารมณ์ แล้วก็ความรู้สึกเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ รูปที่ตัว รูปไหนสำคัญ เห็นไหม ถ้าไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย สามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ในบรรดารูปทั้งหมดกล่าวถึงอายตนะ เพราะเหตุว่า เป็นรูปที่กระทบกับอารมณ์ ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นได้ ด้วยเหตุนี้ เกิดมาด้วยกรรมเป็นปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับนาม และรูป คือ เจตสิก และกัมมชรูป ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด รูปที่เกิดเพราะจิตยังเกิดไม่ได้ รูปอื่น เช่น รูปที่เกิดเพราะอุตุ เพราะอาหาร ก็ยังเกิดไม่ได้ มีรูปเดียวซึ่งเกิดพร้อมปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ คือ ทันทีที่จิตเกิดขณะนั้นก็มีกัมมชรูปเกิด
เพราะฉะนั้น เมื่อมีกัมมชรูปเกิดแล้ว เพียงเท่านั้น จะมีการปรากฏมีชีวิต มีอะไรไหม แต่ว่าต่อเมื่อใดมีอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วแต่ว่า จะเกิดในภพภูมิใด ในภูมิซึ่งไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดพร้อมกันทันที ก็จะมีเพียงกลุ่มของรูป ๓ กลุ่ม คือ “กายปสาทรูป” แล้วก็เป็น “กายทสกะ” แล้วก็ “หทย” คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต แล้วก็ “ภาวทสกะ” หมายความว่า ภาวะของความเป็นหญิงหรือชาย ในทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด จะมีกัมมชรูปเกิดพร้อมด้วยในภูมิมนุษย์
เพราะฉะนั้น รูปที่สำคัญ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว ที่ใดก็ตามที่กระทบแล้วมีแข็งปรากฏ ตรงนั้นต้องมีกายปสาทรูป เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เกิดมาแล้ว ที่จะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นผลของกรรมที่จะต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้ากรรมเพียงแต่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด และไม่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เดือดร้อนไหม แต่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า กรรมทำให้รูปที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดสำหรับเป็นที่เกิดของจิตซึ่งเป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้น เกิดมาแล้วก็มีทั้งตา หู จมูก ลิ้น และกายปสาทด้วย ซึ่งกายปสาทก็เกิดก่อนพร้อมกับปฏิสนธิจิตก่อนรูปอื่นๆ และถึงกาลที่จะต้องเห็นเพราะมีตา อยากเห็นไหม ก่อนเห็นใครอยากเห็นบ้าง ไม่มีเห็น แล้วก่อนเห็นอยากเห็นไหม คุณอรรณพอยากเห็นไหม
อ.อรรณพ เห็นก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ว่าจะอยากหรือไม่อยาก
ท่านอาจารย์ คือยังไม่เห็นเลย ยังไม่เห็นเลย เกิดมาแล้วก็มีกายปสาทเป็นกายทสกะ ทสกะ คือ ๑๐ รูปจะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แม้แต่กายปสาทก็ต้องเกิดกับมหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และก็ต้องมีสี คือ สิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท มีกลิ่น มีรส มีโอชา ๘ รูปแยกกันไม่ได้เลย แต่กรรมก็ทำให้กายปสาทเกิดอีกรูป ๑ พร้อมด้วยชีวิตินทริยรูป หมายความว่า เป็นรูปที่ทำให้รูปในกลาปหรือกลุ่มนั้นเป็นรูปที่มีชีวิต ต่างกับรูปอื่นเพราะว่า รูปอื่นมี ๘ รูปแต่ไม่ได้เกิดจากกรรม
เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีชีวิตินทริยรูป แต่รูปใดก็ตามซึ่งเกิดจากกรรม ความต่างก็คือมีชีวิตตินทริยรูปด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ไม่เห็น และไม่ได้ยินด้วย ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จนกว่าจะถึงกาลซึ่งมีการเกิดขึ้นของวิบาก ที่ทำให้รู้สิ่งที่กระทบกาย แม้แต่อยู่ในครรภ์ แต่ยังไม่เห็น แต่ว่ามีการสามารถกระทบกับสิ่งที่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ขณะนั้นได้ แล้วก็ไม่เคยรู้เลยว่า จะมีเห็น ขณะนั้นอยากเห็นไหม
อ.อรรณพ ขณะนั้นไม่ได้อยากเห็น
ท่านอาจารย์ ไม่รู้แต่ต้องเห็น อยากหรือไม่อยากก็ต้องเห็น นี้แสดงความเป็นอนัตตาของธรรม ซึ่งแม้แต่เห็นขณะนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะทำได้ แต่เห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัย ด้วยเหตุนี้นามรูปก็เป็นปัจจัยแก่อายตนะ ซึ่งเป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย ซึมซาบอยู่ทั่วตัว แล้วก็สภาพของจิตซึ่งเป็นผลของกรรม ก็เกิดขึ้นพร้อมผัสสเจตสิก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีผัสสเจตสิกที่จะกระทบกับอารมณ์โดยอาศัยปสาทเหล่านี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ปรากฏไม่ได้ แต่ว่า ใจคิดนึกได้
เพราะฉะนั้น แม้แต่อยู่ในครรภ์ ขณะที่ไม่รู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ไม่ได้กระทบ แต่มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น ซึ่งใครจะจำได้อยู่ในครรภ์ยังไม่ได้ออกมาเลย แล้วก็ยังไม่เห็นด้วย แต่ก็มีสภาพธรรมซึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีนามรูปก็ต้องมีอายตนะ เมื่อมีอายตนะก็ต้องมีผัสสะ เพราะฉะนั้น เวลาที่อยู่ในครรภ์ ไม่มีการกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น แต่ใจก็คิดนึกได้ ด้วยเหตุนี้ผัสสะก็กระทบได้ทางมโนทวาร นี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด
เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงธรรม ไม่ว่าเรื่องหนึ่งเรื่องใด อย่าเพียงกล่าวเฉพาะชื่อ แต่ให้เข้าใจสิ่งนั้นก่อน และเข้าใจความสืบเนื่องเกี่ยวข้องกันว่า เกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะฉะนั้น จริงๆ ก็เป็นขณะนี้เอง มีตา หู จมูก ลิ้น กาย มีผัสสะกระทบ และมีการเห็น การได้ยิน มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ความรู้สึก นี้ก็ค่อยๆ เป็นจริงอย่างที่เรากำลังเป็นในขณะนี้ ให้รู้ว่า กระทบแล้วไม่รู้สึก ไม่มีเลย เวทนาเจตสิกเป็นสภาพซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะด้วย เดี๋ยวนี้ก็มี แต่เพราะอะไรๆ ก็นึกถึงเหตุผลที่เป็นมาที่จะทำให้เกิดสภาพ แม้ความรู้สึกในขณะนี้ มีความรู้สึกแน่นอน พอไหมพอรู้สึกไหม เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความอยาก ความติดข้อง ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ความยึดมั่น อุปาทานก็เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมภพ หรือ อุปัตติภพ ความหมายของภพมี ๒ อย่าง แต่ที่นี้หมายความถึงกรรมภพ คือ เมื่อติดข้องแล้วโลภโมโทสัน การกระทำเป็นทุจริตหรือสุจริตก็แล้วแต่จะเป็นไป ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้น ก็ดำเนินมาตั้งแต่ชาติก่อนจนถึงปัจจุบันชาติ และก็จะสืบต่อไปถึงชาติหน้า เพราะมีกรรมภพใหม่อีกแล้ว ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดอุปัตติภพ ชาติ ชรา พยาธิ โสกะ มรณะ ซึ่งก็คือชีวิตจริงๆ
อ.กุลวิไล แล้วจะเห็นได้ว่า ทุกข์กาย ทุกข์ใจ มาจากไหน ถ้าไม่เพราะมีกิเลสที่ทำเอาไว้ แล้ว เป็นปัจจัยให้ทำกรรม และเมื่อทำกรรมก็ต้องรับผลของกรรม แต่ผลของกรรมไม่ใช่เฉพาะปฏิสนธิขณะเท่านั้น แต่หลังเกิดด้วย
ท่านอาจารย์ ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ความยึดมั่น มีหรือเปล่า กามุปาทานมั่นคงแค่ไหน ความยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าไม่มีความยึดมั่น ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดการกระทำซึ่งเป็นกรรมภพ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะกล่าวถึงปฏิจจสมุปบาท ไม่ต้องกล่าวโยงอย่างนี้ก็ได้ กล่าวเป็นแต่ละประเภทแล้วก็ให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็รู้ว่า สืบเนื่องกันอย่างไร อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารโดยปัจจัยอะไร ไม่ใช่กล่าวลอยๆ
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็เป็นความละเอียดยิ่งของสิ่งซึ่งมีในขณะนี้แต่ไม่รู้ เหมือนกำลังได้ยินชื่อ แต่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความจริงซึ่งอยู่ข้างในได้เลย เพียงแต่ผ่านๆ แล้วก็ได้ยิน แล้วก็กระทบหู ความจริงสภาพธรรมก็ละเอียด และลึกซึ้ง ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ และก็ไม่ใช่ไปติดที่ข้อความ หรือพยัญชนะ แต่ให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนั้น แล้วก็จะเข้าใจการสืบเนื่องของธรรมเหล่านั้นด้วย
ลองคิดดู ความดีมีหลายอย่าง ทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ก็เป็นความดีอย่าง ๑ กายวาจาที่ไม่เบียดเบียนใคร และยังช่วยเหลือคนอื่น ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นก็เป็นความดี แต่ความดีเพียงฟังธรรม ทำได้ไหม ไม่ต้องเสียวัตถุใดๆ เลยทั้งสิ้น ใช่ไหม กายวาจาก็ไม่ต้องไปแบกหาม ไปทำอะไรให้คนอื่นด้วยความเหนื่อยยากของเรา เพราะว่า บางทีการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ก็ทำให้เราไม่ได้อยู่เฉยๆ สบายๆ ใช่ไหม แต่ก็ทำ แต่ว่า เพียงแค่ฟัง ทำไม่ได้หรือ ลำบากนักหรือกับการที่จะฟังธรรม
เพราะฉะนั้น ที่ไม่ฟังเพราะอะไร เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่า การฟังทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และบางคนก็ยังสงสัยต่อไปว่า แล้วความรู้ความเข้าใจจะมีประโยชน์อะไร นี่ก็แสดงให้เห็นอวิชชาว่า ปิดบังไว้หนาแน่นมากมายสักแค่ไหน เพียงแค่รู้กับไม่รู้ก็ไม่เห็นความต่างแล้วว่า อะไรมีประโยชน์ ไม่ได้ให้ทำอะไรเลย ฟังให้เข้าใจ ถูกต้องไหม ไม่ต้องไปนั่งนานๆ หรือว่าไปเดินเยอะๆ หรือว่าไปแบกหามอะไรๆ ทั้งสิ้น ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เท่านี้ทำไม่ได้หรือ
อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความดี ถ้าดีจริงๆ ต้องประกอบด้วยปัญญา ทุกคนคงชอบกุศลธรรม แต่กุศลธรรมทั่วๆ ไปถ้าไม่มีปัญญาเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยที่กุศลจะเจริญได้
ท่านอาจารย์ รู้อย่างนี้ สบายมากไหม ไม่ต้องทำอะไรเลย ฟังทันทีที่จะฟังได้ นั่นคือ ความดีที่ดีกว่าอย่างอื่นเพราะว่า ประกอบด้วยปัญญา
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 721
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 722
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 723
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 724
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 725
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 726
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 727
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 728
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 729
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 730
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 731
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 732
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 733
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 734
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 735
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 736
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 737
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 738
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 739
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 740
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 741
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 742
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 743
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 744
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 745
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 746
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 747
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 748
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 749
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 750
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 751
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 752
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 753
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 754
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 755
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 756
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 757
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 758
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 759
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 760
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 761
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 762
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 763
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 764
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 765
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 766
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 767
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 768
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 769
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 770
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 771
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 772
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 773
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 774
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 775
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 776
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 777
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 778
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 779
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 780