พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 791


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๙๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ กำลังหลับสนิท หมายความว่า มีจิตเกิดดำรงภพชาติ ไม่ใช่คนตาย แต่ขณะนั้นไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก และก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหนด้วย เป็นอย่างนี้ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เกิดในมนุษย์ หรือว่าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือจะเกิดเป็นเทวดา เป็นอะไรก็ตามแต่ ขณะที่ไม่มีการรู้ ว่ามีสิ่งปรากฏให้เห็นเช่นเดี๋ยวนี้ หรือว่าไม่มีเสียงปรากฏ แต่ก็ยังมีจิตที่เกิดดับดำรงภพชาติ ทุกภพชาติต้องมีจิตนั้นๆ นี่ก็แสดงให้เห็นความเป็นธาตุ ความไม่ใช่เรา การที่ธรรมจะต้องเกิดขึ้นเป็นไป ตามลักษณะของธรรมนั้นๆ เช่น กำลังกล่าวถึง ธาตุหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ จะใช้คำว่าจิต หรือมโน หรือวิญญาณก็ได้

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าใครบังคับไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้ไหม ไม่มีทางเลย นี่คือความเป็นธาตุจริงๆ ก่อนเห็น ถ้าไม่มีอะไรกระทบตา เห็นได้ไหม ไม่ได้เลย และเวลาที่กลิ่นปรากฏ ถ้าไม่มีอะไรกระทบ ไม่สามารถจะกระทบอะไร กลิ่นจะปรากฏได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ที่โต๊ะ ตัวโต๊ะ สามารถที่จะรู้กลิ่นไหม

    อ.กุลวิไล ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ และในห้องนี้ มีกลิ่นไหม

    อ.กุลวิไล มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่ามีกลิ่น ก็ต่อเมื่อกระทบกับรูปพิเศษ ที่สามารถจะกระทบเฉพาะกลิ่น แต่รูปนั้นไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าตา ที่เราใช้คำว่า ตา หมายความถึง รูปหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตาดำ ตาขาว ที่ใช้คำว่ารวมเป็นหลายๆ อย่างเป็นสสัมภาระ แต่หมายความถึง รูปหนึ่งซึ่งใครๆ ก็มองไม่เห็น อยู่กลางตา แล้วก็เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้เท่านั้น กระทบอย่างอื่นไม่ได้เลย นี่คือ ความน่าอัศจรรย์ของธาตุ ซึ่งเป็นอย่างนี้ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลให้เกิดขึ้น หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย ตรัสรู้ความจริงของธรรมทุกอย่าง ทุกขณะ ว่าเกิดมาแล้ว แม้กำลังเห็น กำลังได้ยินขณะนี้ ก็เพราะความเป็นธาตุต่างๆ เท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ขณะที่กำลังเห็น ทราบแล้วว่า ถ้าไม่มีตา ที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นขณะนี้ ปรากฏไม่ได้ เช่น คนตาบอด จะพูดถึงดอกกุหลาบ จะพูดถึงโต๊ะรูปร่างสัณฐานต่างๆ คนตาบอดก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย

    เพราะเหตุว่า ไม่เห็น ไม่มีตา ซึ่งเป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น กรรม ถ้าพูดถึงอย่างที่เราพอที่จะได้ยินได้ฟังมาแล้ว ก็เป็นธรรมซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นไปได้ คือ การเห็นเป็นไปได้ ไม่มีใครทำให้การเห็นเป็นไปได้ นอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว สามารถที่จะทำให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจ เมื่อเป็นผลของกุศลกรรม และเวลาที่มีสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อกุศลกรรมที่ทำไว้ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ นี่คือความเป็นไปของธาตุ

    เพราะฉะนั้น การที่จะพูดเรื่องจิต หรือ มโน หรือ วิญญาณ ก็ต้องมีความเข้าใจก่อนไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า จิตมีเท่านี้ วิญญาณมีเท่านี้ มโนวิญญาณเป็นเท่านี้ รวมกันเป็นวิญญาณธาตุ ๗ ก็จะไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ถ้าสามารถค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริง ให้รู้ว่าจิตเห็น ภาษาบาลี ใช้คำว่า จักขุวิญญาณธาตุด้วย เพราะว่า เป็นธาตุเห็น จิตได้ยินขณะนี้ก็เป็น โสตวิญญานธาตุ เพราะเหตุว่า โสต คือ หู รูปพิเศษมองไม่เห็น อยู่กลางหู แต่สามารถกระทบได้เฉพาะเสียงเท่านั้น เป็นปัจจัยให้จิต หรือธาตุรู้เกิดขึ้น เวลานี้ ได้ยินเสียงที่ปรากฏ ว่าเสียงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เสียงอื่น

    เพราะฉะนั้น แม้แต่จิตชนิดนี้ รู้อื่นไม่ได้เลย รู้ได้เฉพาะเสียงอย่างเดียว นี่คือความหลากหลายของจิตแต่ละประเภทในวันหนึ่งๆ ว่าจิตเห็น ได้ยินไม่ได้ เห็นอย่างเดียว และก็จิตได้ยิน ก็ได้ยินเฉพาะเสียง จะรู้กลิ่น หรือว่ารู้รสไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ จึงใช้คำว่าแต่ละธาตุ คือ จักขุวิญญาณธาตุ หมายเฉพาะจิตเห็น โสตวิญญาณธาตุหมายเฉพาะจิตได้ยินเสียง ฆาน คือ จมูก จิตที่อาศัยจมูกเกิดขึ้นได้กลิ่น ก็ชื่อว่า ฆานวิญญาณธาตุ คือ แสดงความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นธาตุที่เกิดขึ้น เวลาที่มีกลิ่นปรากฏ เพราะฆานวิญญาณธาตุ หรือจิตที่กำลังได้กลิ่น เกิดรู้กลิ่นนั้น กลิ่นนั้นจึงปรากฏ สำหรับเวลารับประทานอาหาร ก็รสเยอะเลย ก็เพราะไม่ใช่เรา แต่ก็เป็นจิตที่มีชิวหาปสาทรูปพิเศษ ที่อยู่กลางลิ้น ที่สามารถจะกระทบกับรส แต่รูปนั้นไม่ได้ลิ้มรส เป็นแต่เพียงสามารถกระทบ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น ลิ้มรส ซึ่งไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ อธิบายเลย ใครอธิบายได้ บอกหวาน หวานแบบไหน หวานยังไง มากน้อยแค่ไหน แต่ว่าจิตนั้นไม่ต้องใช้คำอะไรเลย ก็กำลังรู้แจ้ง คือ ลิ้มรสนั้น เป็นชิวหาวิญญาณธาตุ และก็ทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ขณะนี้ ให้เข้าใจความเป็นธาตุ ไม่ใช่เป็นเรา แต่เพราะเหตุว่า มีกายปสาท ที่กำลังกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็จิตนั้น เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฎที่กาย ไม่ใช่เราอีก แต่เป็นธาตุที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกายปสาท เพราะฉะนั้น จิตนั้นชื่อว่า กายวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุ ๗ ก็รู้แล้ว ๕ แล้วก็ไม่เปลี่ยนด้วย เพราะว่า ต้องเข้าใจความหมายว่า รู้เฉพาะจริงๆ ก้าวก่ายกันไม่ได้ สับสนกันไม่ได้ จักขุวิญญาณจะไปรู้สิ่งที่กระทบกายไม่ได้ กายวิญญาณ จะมาได้ยินเสียงไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในภพไหน ในโลกไหน ถ้ามีจิตเห็นเกิดขึ้น จิตขณะนั้นไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งสิ้น นอกจาก เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏแล้วดับ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะเห็นอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ในบรรดาวิญญาณธาตุ ๗ สภาพรู้ซึ่งเป็นจิตต่างๆ ก็แยกเป็นวิญญาณธาตุ ๕ ที่สามารถจะรู้ได้เฉพาะทาง เช่น จิตเห็น รู้สิ่งที่ปรากฎทางตา จิตได้ยินขณะนี้ ศึกษาธรรม คือ ขณะนี้ คือ กำลังได้ยินเสียงเฉพาะทางหู และเวลากลิ่นปรากฎ ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุที่เกิดขึ้นได้กลิ่น เวลาที่รสปรากฏ ก็เป็นธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นลิ้มรส เวลาที่กำลังกระทบสิ่งที่ปรากฏที่กาย ก็เป็นธาตุที่กำลังรู้ สิ่งที่กระทบกายได้ แต่ว่ามีแค่ ๑๐ เกินได้ไหม

    เราพูดถึงวิญญาณธาตุ ๕ แต่ให้ทราบว่า เป็นกุศลวิบาก ผลของกุศลหนึ่ง เป็นอกุศลวิบาก ผลของอกุศลหนึ่ง เพราะเราเลือกเห็นไม่ได้ ทุกคนอยากจะเห็นเพชรนิลจินดา อยากจะเห็นแม่น้ำลำคลอง อยากจะเห็นอะไรที่สวยงาม แต่ว่าทำไมไม่เห็น กลับไปเห็นอะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่น่าดู อาจจะเป็นรถชนกัน มีซากศพอะไรอย่างนั้นก็ได้ บังคับให้อะไรเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำไว้

    เพราะฉะนั้น ผลของกรรม ก็คือ เกิดแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรสต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วเวลานี้สำหรับวิญญาณธาตุ ๗ วิญญาณธาตุ ๕ เปลี่ยนไม่ได้ และแม้วิญญาณธาตุอีก ๒ ก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ เพราะว่า จิตที่เกิดก่อนเห็นมีจริงๆ หนึ่งขณะ ซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต แต่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ และก็ทันทีที่จิตเห็นดับไป ก็มีจิตที่สืบต่อทันทีเลย ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ฟังได้ ว่าการเกิดดับของจิตเร็วสุดที่จะประมาณได้ และจิตแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน เช่น กำลังหลับสนิท จะไม่มีอะไรปรากฏ ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่เวลาใดก็ตาม ที่จะมีการเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องมีจิตที่เกิดต่อจากภวังค์ ซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทไหน

    อ.กุลวิไล ที่จริงท่านอาจารย์ก็กล่าวครบ เพราะว่า ถ้าเราพูดถึงธาตุ ๑๘ โดยชื่อ หลายท่านอาจจะตกใจ และท่านอาจารย์ก็ยกเฉพาะธาตุรู้เท่านั้น เพราะว่า ธาตุรู้ ถ้าไม่มี อะไรๆ ไม่ปรากฏ จะรู้ได้ ก็คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย และคิดนึก แต่สิ่งเหล่านี้ ก็เป็นวิญญาณธาตุนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจิตอื่นๆ ไม่ใช่วิญญาณธาตุ ๕ คือ ไม่ใช่จิตเห็น ไมใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบกาย เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจิตอื่นไม่ใช่วิญญาณธาตุ ๕ แค่นี้ก็เป็นความเข้าใจที่มั่นคงแล้ว ใช่ไหม

    อ.กุลวิไล ก็เป็นความจริงว่า ต้องมีจิตที่ก่อนเห็นด้วย ซึ่งจิตนี้ เกิดขึ้นก็เพราะต้องมีสิ่งที่กระทบทางตาให้รู้ จะรู้ หรือไม่ก็ตาม นี่คือ มโนธาตุ และขณะที่คิดนึกหลังเห็น หลังได้ยินก็ต้องมี และขณะนั้นก็คือ มโนวิญญาณธาตุนั่นเอง เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันไม่พ้นธาตุรู้ และก็มีธาตุหนึ่งที่ไม่รู้อะไรด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่สามารถจะรู้ได้ก่อน เช่น เห็น ได้ยิน เหล่านี้ ก็พอจะเข้าใจถึงจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดก่อน หรือเกิดหลังจิตขณะนี้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของมโนธาตุ และธรรมธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ จากการที่ทราบว่า มโนธาตุ คือ อะไร และท่านอาจารย์อธิบายว่า วิญญาณธาตุ ๗ เป็นชีวิตประจำวัน ๕ ส่วนมโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คงต้องรู้แบบเป็นการศึกษาปัญญาพระพุทธเจ้าก่อน คือ ในชีวิตประจำวันนี้รู้ไม่ได้ ในตรงนี้ ก็จะเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ว่า ดูเหมือนว่า การศึกษาพระสูตรให้เข้าใจจริงๆ ในความลึกซึ้งของความเป็นธรรม ก็จะต้องมีพื้นฐานพระอภิธรรม เช่น อย่างถ้าอ่านสามคำสุดท้ายไม่เข้าใจ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ถ้าไม่มีพื้นฐานเรื่องวิถีจิต ที่จะต้องเป็นการศึกษาในพื้นฐานพระอภิธรรมว่า จริงๆ แล้วชีวิตประจำวันเป็นเรื่องของภวังคจิตสลับกับวิถีจิตอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระอภิธรรม คือ เดี๋ยวนี้ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลานี้รู้จักธาตุ ๕ ธาตุ ซึ่งเป็นวิญญาณธาตุ ๕ เห็น ๑ ได้ยิน ๑ ได้กลิ่น ๑ ลิ้มรส ๑ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๑ แต่ก่อนที่จิตจะเกิดขึ้นเห็นได้ ก็ยังมีจิตที่เกิดก่อนจิตเห็นด้วย คือ ค่อยๆ เข้าใจความรวดเร็วขณะนี้ เราเพียงรู้ว่าจิตเห็นเกิด แต่ให้ทราบว่า แม้ก่อนจิตเห็นจะเกิด ก็ยังมีจิตที่เกิดก่อน ซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต เพราะว่า ภวังคจิต ตัดไปได้เลย ไม่รู้อะไรเลยทั้งนั้น ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่ว่าที่จะมีอะไรแต่ละหนึ่งปรากฏได้ ต้องมีปัจจัยที่เหมาะสม ที่สิ่งนั้นจะเกิด เช่น ถ้าเห็นจะเกิดก็ต้องมีสิ่งที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เช่น เราใช้คำว่า ตา ถ้าไม่มีตา คือ รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ วิญญาณธาตุ คือ จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นเห็นไม่ได้เลย จะไม่มีการเห็น จิตนี้จะไม่มี ธาตุนี้จะไม่เกิดขึ้น เวลานี้ที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่มีหู หรือโสตปสาท รูปพิเศษที่สามารถกระทบเสียง ก็ไม่มีการที่โสตวิญญาณธาตุ ธาตุได้ยิน ซึ่งอาศัยหูจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง นี่คือ ชีวิตประจำวันซึ่งเป็นธาตุทั้งหมด ถ้าศึกษาเรื่องธาตุ ก็คือ ให้รู้ไปเลย ว่าธาตุทั้งนั้น ไม่เหลือเลยสักอย่างเดียว เป็นธาตุไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปธาตุ หรือนามธาตุ แต่เวลานี้กล่าวเฉพาะจิต ไม่ได้พูดถึงเจตสิกด้วย กล่าวเฉพาะจิตเท่านั้น เป็นวิญญาณธาตุ ๗ และวิญญาณธาตุ ๗ นี้ ก็คือ เริ่มจากสิ่งที่เรากำลังมีขณะนี้ คือ เห็น ได้ยิน วิญญาณธาตุ ๕ แล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะกล่าวถึงอีก ๒ หมายความถึง ก่อนจิตเห็น เมื่อมีอะไรที่กระทบ จิตเห็นเกิดทันทีไม่ได้เลย ภวังคจิต ต้องไม่เกิดอีก แต่มีจิตที่เกิดก่อนจิตเห็น รู้ว่ามีอะไรกระทบทางทวารไหน เพราะว่า ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน แต่รู้แล้ว ว่ามีอะไรอย่างหนึ่ง ที่กระทบขณะนั้น ไม่ต้องเรียกว่ากระทบตา หรือว่ากระทบหู กระทบตาได้ หูได้ แล้วแต่จะกระทบอะไร จิตนี้สามารถเกิดขึ้นรู้ว่ามีการกระทบ การรู้ไม่ใช่ภวังค์ เพราะเหตุว่า รู้ว่าสิ่งนั้น มี แต่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่กำลังกระทบจักขุปสาท และปรากฏขณะนี้ จิตที่เกิดก่อนจิตเห็นรู้ว่า มีสิ่งที่กระทบตา แต่ไม่เห็น เพียงรู้ จากไม่รู้อะไรเลย ภวังคจิต มาเป็นรู้ว่ามีอะไรกระทบตา จิตนั้นรู้ แต่ไม่เห็น เวลาที่เสียงกระทบหู จากภวังค์ไม่รู้อะไรเลย แต่เพราะมีโสตปสาท จึงมีรูปที่กระทบโสตปสาท ทำให้มีจิตเกิดขึ้น รู้ว่ามีการกระทบ แต่ไม่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้น จิตนั้นต้องเกิดก่อน ถ้าจะเรียกจิตนั้น ก็คือ อาวัชชนจิต เพราะว่า ทำอาวัชชนกิจ จิตทุกขณะคงไม่ทราบว่าเกิดขึ้นทำการงานทั้งนั้นเลย ไม่มีจิตไหนซึ่งเกิดขึ้นแล้วไม่มีกิจการงาน แล้วแต่ว่าจิตนั้นทำกิจอะไร หรืองานอย่างนี้ เป็นงานของจิตอะไร หน้าที่เห็น เป็นหน้าที่ของจิตอะไร เพราะฉะนั้น ก่อนนั้นจะต้องมีจิตที่สามารถที่จะรู้ว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เวลารับประทานอาหารเหมือนกับรสปรากฏเลย ใช่ไหม แต่ความจริงไม่ใช่ ต้องขณะนั้น ไม่มีอะไรปรากฏเลย และมีการกระทบลิ้นกับสิ่งที่เป็นรส และมีจิตเกิดขึ้นรู้การกระทบทางนั้น ดับไป จึงเป็นปัจจัยให้ ชิวหาวิญญาณ เกิดขึ้นลิ้มรส นี่คือ ชีวิตประจำวัน แล้วใครจะรู้ได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง เห็นความเป็นอนัตตา เพื่อที่จะได้ละการยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะคิด ไม่ว่าจะได้ยิน ให้รู้ในความเป็นจริงของแต่ละธาตุ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะเรียกชื่อ ซึ่งความจริงไม่ต้องเรียกก็ได้ แต่ถ้าไม่เรียกก็ไม่รู้ ว่าหมายความถึงจิตไหน เพราะจิตมากมายหลายประเภท

    ด้วยเหตุนี้ ที่จิต เป็นจิตที่สามารถรู้รำพึงถึงสิ่งที่กระทบโดยกิจนั้น จึงเรียกว่า อาวัชน แต่ว่าจิตนี้สามารถที่จะรู้อารมณ์ เฉพาะสิ่งที่กระทบตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย เพียง ๕ ทาง จึงมีคำว่า ปัญจ คือ ๕ ทวาร และอาวัชชน รวมเป็น ปัญจทวาราวัชชน เป็นธาตุอื่น ที่ไม่ใช่จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ พูดซ้ำๆ เหมือนในพระไตรปิฎก ซ้ำตลอด เพื่อที่ว่าจะได้คุ้นเคยกับความคิด กับความเข้าใจ และกับชื่อด้วย

    เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าใช้คำว่า วิถีจิต หมายความว่า จิตเริ่มที่จะเกิดดับสืบต่อ เพื่อจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด ซึ่งในขณะที่เป็นภวังค์ ไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ เลย แม้ว่ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แต่ใจขณะนั้น ก็ไม่ได้นึกคิดถึงเรื่องอื่นใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเมื่อยังไม่ตาย ก็เป็นธาตุรู้ ซึ่งยังมีอยู่ และรู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่า เป็นอารมณ์ที่สืบต่อจากจิตของชาติก่อน จิตขณะใกล้จะจุติของชาติก่อน ไม่ปรากฏในโลกนี้

    ด้วยเหตุนี้ ทั้งหมดที่เราอยู่ในโลกนี้ เราเกิดมาเป็นคนนี้ในโลกนี้ ก็เพราะเหตุว่า มีจิตซึ่งเป็นผลของกรรม ทำให้เป็นบุคคลนี้หลากหลายกันไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว วันหนึ่งๆ ก็หลากหลายได้ ทั้งเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง ขณะนี้ มีใครรู้สึกแข็งบ้างไหม เห็นไหม คนอื่นเห็น ไม่เหมือนกันแล้ว เพราะฉะนั้น แต่ละคน ก็เป็นแต่ละหนึ่ง และก็จะเป็นแต่ละหนึ่งไปตลอด จากการปรุงแต่งของแต่ละขณะ ที่เกิดขึ้นเป็นไปไม่รู้จบ ด้วยเหตุนี้ เริ่มรู้จักจิตประเภทอื่น ต่างจากวิญญาณธาตุ ๕ จิตนั้นเกิดก่อน และสามารถที่จะรู้ว่า อารมณ์กระทบทางทวารหนึ่งทวารใดได้ทั้ง ๕ ทาง ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกจิตนั้นที่ทำหน้าที่นั้นว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

    ถ้าถามว่า มีธาตุที่เกิดก่อน จักขุวิญญาณธาตุไหม มี ใช่ไหม ธาตุอะไร ตอนนี้ตอบได้แล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้น จิตนี้สามารถจะรู้ ได้อารมณ์ ๕ และก็ยังมีจิตที่รู้อารมณ์ ๕ ได้ด้วย ทั้งหมดรวมเรียกว่า มโนธาตุ ไม่ใช่ วิญญาณธาตุ เพราะฉะนั้น รู้จักมโนธาตุ ๑ แล้ว คือ จิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ดับไปแล้ว จิตเห็นจึงเกิดได้ เพราะจิตก่อนนั้นเป็นปัจจัย หรือว่าจิตได้ยินขณะนี้จึงเกิดได้ จิตได้กลิ่นขณะนี้ จิตลิ้มรสขณะนี้ จิตรู้สิ่งกระทบสัมผัสขณะนี้จึงเกิดได้

    จิตเห็นไม่นานเลย เห็นไหม ใครรู้ว่าไม่นาน เห็นอยู่อย่างนี้แล้วบอกว่าไม่นานเลย แต่ผู้ที่ตรัสรู้ ตรัสรู้ว่า จิตเห็นเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิต รวดเร็วอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถรู้ถึงการเกิดดับอย่างเร็วมาก แค่เห็นหนึ่งขณะแล้วดับ จิตอื่นเกิดต่อแล้ว เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่จักขุวิญญาณจิต ไม่ใช่โสตวิญญานจิตแต่จิตนี้เกิดสืบต่อจิตเห็นทันที หรือว่าจิตได้ยินทันที จิตได้กลิ่นทันที จิตลิ้มรสทันที จิตรู้สิ่งที่กระทบกายทันที แต่หลังจากที่เห็นแล้ว

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ก่อนเห็น เป็นจิตคนละประเภท ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่จิตเกิดก่อนเห็น ก็เป็นประเภทหนึ่ง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต แต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อไม่ใช่จิตนั้นเลย เพราะว่า ไม่ได้ทำกิจเกิดขึ้นก่อนเห็น แต่ทำกิจทันทีที่เห็นดับ รับรู้สิ่งที่จิตเห็นต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น ซึ่งภาษาบาลีจะใช้คำว่า สัมปฏิจฉันนจิต เป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้ ๕ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นเดียวกับ ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็รู้อารมณ์ได้ ๕

    ด้วยเหตุนี้ จิตที่รู้อารมณ์ได้ ๕ จึงมี ๓ เท่านั้น ชื่อว่ามโนธาตุ ๓ ไม่ยาก ใช่ไหม เข้าใจแล้ว จำได้ด้วย จิตที่เกิดก่อนเห็น ปัญจทวาราวัชชนจิต จิตที่หลังจากเห็น ได้ยินดับไปแล้วก็คือ สัมปฏิจฉันนจิต รับรู้ต่อ เป็นกุศลวิบาก ๑ เป็นอกุศลวิบาก ๑ จิต ๓ ขณะนี้ รู้อารมณ์ได้ ๕ อย่าง จึงเป็นมโนธาตุ ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่ไหน ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงจิตแต่ละอย่างให้เป็นอย่างอื่นได้ ง่ายที่สุดคือ จิตที่เหลือทั้งหมดเป็น มโนวิญญาณธาตุ ก็จบ แต่ว่าเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ได้ ถึงประเภทอื่นๆ แต่ว่าที่สำคัญ คือ มีวิญญาณธาตุ ๕ และมีมโนธาตุด้วย ซึ่งควรจะได้รู้ว่า จำนวนเท่าไหร่ ไม่เกินกว่านี้ต่อจากนั้น จิตอื่นทั้งหมด คือ มโนวิญญาณธาตุ

    ผู้ฟัง จะขอความละเอียดของท่านอาจารย์ว่า มโนวิญญาณธาตุแล้ว ก็คือ จิตที่ทำกิจ คือ รู้อารมณ์ได้ ๖ ทาง และเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องไปจำ ต้องไปคิด แต่กำลังฟังเข้าใจจิตเห็นขณะนี้ ว่าต่างกับจิตที่เกิดก่อนเห็นแสดงให้เห็นความละเอียดว่า แต่ละหนึ่งก็เป็นจิตแต่ละประเภท ซึ่งประมวลแล้วก็เป็น ๘๙ หรือว่า ๑๒๑ โดยพิเศษ แต่ว่าไม่ได้เกิดทั้งหมดกับแต่ละคน ต้องแล้วแต่บุคคล อย่างพระอรหันต์ ท่านก็ไม่มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้น เวลานี้เท่าที่เราจะเริ่มเข้าใจบ้าง ถ้าอยากจะรู้ชื่อด้วย ก็คือ เวลานี้รู้จัก วิญญาณธาตุ ๕ และก็มโนธาตุแล้ว และมโนวิญญาณธาตุ ก็รู้ด้วยว่าจิตอื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตใดๆ ทั้งสิ้นอย่างโลกุตตรจิต นี่เป็น วิญญาณธาตุอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    22 ธ.ค. 2566