พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 792


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๙๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ โลกุตตรจิต เป็นวิญญาณธาตุอะไร

    ผู้ฟัง เป็นมโนวิญญาณธาตุ

    ท่านอาจารย์ มโนวิญญาณธาตุ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ที่สามารถจะรู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น จิตที่รู้อารมณ์นั้นได้ ก็เป็นมโนวิญญาณธาตุด้วย นอกจาก ๑๓ ดวงนั้นถ้าจะใช้จำนวน ก็คือ จิตอื่นทั้งหมด เป็นมโนวิญญาณธาตุ ไม่ต้องไปนั่งจำอื่น และไม่ต้องไปนั่งเรียกชื่อด้วย ใช่ไหม อย่างโลภมูลจิตเกิด เราจะต้องมาคิดไหม นี่วิญญาณธาตุอะไร ในเมื่อเรารู้แล้ว ว่าจักขุวิญญาณก็ ๑ โสตวิญญาณก็ ๑ ฆานวิญญาณก็ ๑ เป็นแต่ละ ๑ ไป และก็ยังมีจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ แม้ว่าไม่ปรากฏ แต่ก็มี ให้รู้ความละเอียดว่า แต่ละหนึ่งไม่ได้ปะปนกัน จะให้จิตที่เกิดก่อนมาเป็นจิตเห็นก็ไม่ได้ เมื่อจิตเห็นดับไปแล้ว จะให้จิตที่เกิดต่อเป็นจิตเห็นก็ไม่ได้อีก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ยิ่งศึกษา ยิ่งเข้าใจความเป็นธาตุ ที่ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญที่สุด คือ เข้าใจ และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยว่า ใครสามารถจะรู้ปัญจทวาราวัชชนจิตได้ ใครสามารถจะรู้สัมปฏิจฉันนจิตได้ หรือแม้จิตอื่นๆ เพราะว่า ผู้รู้ทรงแสดง เพราะตรัสรู้ แต่คนอื่นก็ตามกำลังของสติปัญญา แต่ให้เข้าใจที่มั่นคงที่สุด พุทธะ ปัญญารู้ ไม่ใช่ไม่รู้ พุทธศาสนาคำสอนให้ผู้ฟังเกิดความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ของตนเอง ไตร่ตรองจนกระทั่งเข้าใจขึ้นๆ ทั้งหมดเพื่อละ ไม่ลืม เพื่อละอย่างเดียว ละความไม่รู้ ถ้ายังหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็คือ ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ได้ เพราะเหตุว่า เพราะไม่รู้จึงหวัง หรือว่ายังติดข้องอยู่ ด้วยเหตุนี้ ต้องรู้ว่า จุดประสงค์ของการศึกษา เพื่อละความไม่รู้ ต้องอดทนมาก เพราะว่าไม่รู้ทุกอย่างไปหมดเลย ชีวิตทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย แต่รู้ได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่า เป็นการให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังเป็น การเข้าใจเรื่องราว ของสิ่งที่มีจริง แต่ว่าปัญญาที่เข้าใจขึ้น สามารถจะเข้าใจแม้ความจริงของสิ่งที่มีจริงด้วย จึงสามารถที่จะละความไม่รู้ได้

    ผู้ฟัง เรื่องมโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ก็คิดมากในเรื่องธาตุ ๓ สุดท้าย จนกระทั่งเหมือนไปอยากรู้ ในสิ่งที่ไม่รู้ก็ไม่สามารถรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้สบายใจแล้ว ไม่เดือดร้อนใจแล้ว เพราะเข้าใจแล้ว

    อ.กุลวิไล ในการฟังพระธรรม คำบาลีก็มาก ฟังแล้วไม่เข้าใจ หนัก ท้อแท้ ท่านอาจารย์จะให้คำแนะนำกับผู้เริ่มศึกษาอย่างไร เพื่อเป็นกำลังใจ ที่จะทำให้มีวิริยะ อุตสาหะ ที่จะฟังพระธรรมต่อไป ด้วยความไม่ท้อแท้ ท้อถอย

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากได้ยินภาษาบาลี ก็ฟังภาษาไทยก็แล้วกัน ใช่ไหม แต่ว่าเมื่อไหร่สนใจ อยากจะรู้ว่า คำนี้ภาษาบาลีว่าอะไร ก็จะเริ่มจำได้ ใช่ไหม อย่างจักขุวิญญาณ ไม่ใช่ภาษาไทย ภาษาไทย คือ เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเห็น และรู้ว่า เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ไม่ได้แสดงพระธรรมเป็นภาษาไทย ตรัสเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร ตรัสว่า จักขุวิญญาณธาตุ หรือ จักขุวิญญาณ เพราะเหตุว่า เป็นธาตุรู้ ที่ต้องอาศัยตา ถ้าไม่มีตาแล้วเกิดไม่ได้เลย ก็เข้าใจได้ใช่ไหม เริ่มเข้าใจคำว่าธาตุ หรือ ธา-ตุ ซึ่งก็ไม่ใช่ภาษาไทย ธรรมก็ไม่ใช่ภาษาไทย จักขุก็ไม่ใช่ภาษาไทย และ จะเบื่ออะไร เบื่อคำยากๆ อย่างอาวัชชน สัมปฏิจฉันนะ หรืออะไร ไม่กี่คำ อย่างอาวัชชน หรือ ปัญจ ๕ ทวารคนไทยพูดแล้ว ประตู หรือทาง ทวาร คือ ทาง และปัญจ ก็คือ ๕ ทางไปไหน เห็นไหม ของเราเป็นตัวตนก็ไปโน่นมานี่ ใช่ไหม ออกประตูนี้ ประตูซ้าย ประตูขวา แต่จิตที่จะรู้อารมณ์อื่น ต้องอาศัยทาง

    เพราะเหตุว่า ขณะแรกที่เกิดขึ้น เป็นผลของกรรม ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีอะไรปรากฏของโลกนี้เลย ขณะนั้น ถ้าเป็นมนุษย์ก็มีกลุ่มเล็กๆ ของรูป ที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ซึ่งทั้งหมด กรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็มีจิต เจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรม ชื่อว่า วิปากะในภาษาบาลี ภาษาไทย ก็เรียกว่า วิบาก

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรม จะมีคำที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยเข้าใจ อย่าง วิบากเราคิดว่า ยาก ยุ่ง เหนื่อยยากสาหัส หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าตามความเป็นจริง วิปาก คือ ผลที่สุกงอม พร้อมที่จะเกิด เพราะเหตุว่า กรรมได้ทำมาแล้วมากมายในสังสารวัฏฏ์ แต่กรรมไหนจะให้ผม (นาทีที่ ๕.๕๐ แก้เป็น"ผล") ต้องพร้อมด้วยปัจจัย และฐานะที่จะเป็นไปได้ นี่ก็คือ ความละเอียด ที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ แต่ย้อนถอยไป กี่ชาติก็ตามแต่ ที่สะสมมา ก็ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตแม้ขณะนี้เกิดขึ้นได้ เช่น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประชวร เป็นผลของอดีตกรรมเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ นานมาแล้วก็ยังสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการประชวรได้ เมื่อได้บรรลุคุณธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังสามารถที่กรรมนั้นยังจะให้ผลได้ นี่ก็คือ ความละเอียดแต่ละขณะ ซึ่งถ้าศึกษาแล้ว จะเป็นผู้ที่เริ่มเข้าใจความจริง ซึ่งถ้าไม่มีการได้ยิน ได้ฟัง ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย เพราะใครก็คิดเองไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจะอยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ รู้ไม่ได้เลย ความไม่ประมาท คือ มีสิ่งที่ปรากฏ มีการที่สามารถเข้าใจได้ แล้วเริ่มเข้าใจเสีย และจะทำให้เข้าใจขึ้น จนกระทั่งรู้ความจริง ซึ่งขณะใดก็ตามที่ไม่ได้ฟัง ไม่รู้ไม่เข้าใจเลยตั้งแต่เกิดจนตาย ก็จะเป็นอย่างนี้ไป เหมือนในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา

    อ.กุลวิไล แล้วก็ทั้งหมดก็ไม่พ้นขณะนี้เอง เพราะว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธาตุ แม้นแต่สภาพที่ท้อแท้ ธาตุนี้อัศจรรย์มาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อยากจำชื่อ ก็บอกว่า ก่อนจิตเห็น ก็ต้องมีจิตหนึ่งเกิดก่อน ใช่ไหม แล้วจิตนั้นก็รู้ว่า มีอะไรกระทบ เพราะว่า ต้องมีตา มีหู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ หรือเสียง หรือกลิ่นก็แล้วแต่ ไม่ต้องจำก็ไม่จำ แต่ว่า มีจิตหนึ่งเกิดก่อน และเกิดได้ทั้ง ๕ ทางด้วย และจิตนี้ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ได้ทำทัศนกิจ แต่รู้รำพึง หรือคิดจะใช้คำอะไรก็ได้ แต่หมายความว่า เกิดก่อน และรู้นิดเดียว คือ รู้ว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบ ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่า อาวัชชน คนไทยใช้ชื่อภาษาบาลีมากมาย ไม่เห็นเดือดร้อนเลย จำเก่งด้วย จำได้หมดเลย ใครชื่ออะไร ภาษาบาลี แค่ชื่อนี้คำเดียวจำไม่ได้ อาวัชชน แต่ถ้ามีใครสักคนหนึ่งชื่อว่า อาวัชชน ก็คงจำง่าย ไม่ลืมว่า หมายความถึง จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ ที่กระทบตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย

    อ.กุลวิไล แล้วชื่อก็บอกว่าเป็นประเภทใด ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็เป็นจิตที่ อาวัชชนคือรำพึงถึงอารมณ์ ๕ ทางนั่นเอง ก็ไม่พ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย

    อ.อรรณพ พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ จำแนกธรรม โดยประการต่างๆ เพื่อให้เห็นในความเป็นธรรมนั้นจริงๆ ฟัง และค่อยๆ เข้าใจ ธาตุ ก็คือ สิ่งที่มีจริง โดยเฉพาะธาตุที่เป็นสภาพรู้ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน จิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ต้องใช้ภาษาบาลี มีสภาพรู้ ซึ่งเป็นจิต ซึ่งเกิดขึ้นรู้เพียงสิ่งเดียวทีละอย่าง อย่างเห็นจะเห็นเฉพาะสีเท่านั้น จิตเห็นจะไปรู้เสียง รู้กลิ่น หรือจะไปรู้อย่างอื่น รู้ความรู้สึกอะไรไม่ได้เลย ถูกไหม

    เพราะฉะนั้น แม้เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใด อาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น นั่นก็เป็นเพียงจิต ไม่ใช่เรา ขณะนี้ ก็มีจิตประเภทอย่างนี้เกิดขึ้นอยู่ ใช่ไหม เห็น ก็ไม่ใช่เรา ซึ่งเห็น แม้มีเพียงสีรู้สีอย่างเดียว อาศัยตาอย่างเดียว สภาพรู้อย่างนี้ ๕ อย่างนี้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่ปรากฏที่กาย ก็เป็นจิตไม่ใช่เรา ก็อย่างหนึ่งแล้วภายใน ๕ อย่างนี้ ก็ไม่ใช่เรา หรือจิตบางอย่าง สามารถเกิดรู้สีก็ได้ รู้เสียงก็ได้ รู้กลิ่นก็ได้ รู้รสก็ได้ หรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางกายคือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือตึงไหวก็ได้ แต่นั่น ก็ยังคงเป็นจิต ไม่ใช่เรา หรือจะมีสภาพรู้ คือ จิตบางอย่าง บางประเภท สามารถที่จะรู้อารมณ์ทางใจอย่างเดียวก็ได้ หรือรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วยก็ได้ หรือสามารถที่จะเป็นไปในการรู้สิ่งต่างๆ ตั้งแต่ละเอียดๆ มากกว่าจิต ๖ ประเภทแรกที่กล่าวมาก็ได้ แต่ก็ยังคงเป็นจิต ไม่ใช่เรา แม้จิตนั้นจะสามารถที่จะมีความสงบเกินกว่าจิตที่เกิดในชีวิตประจำวัน ก็หาใช่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่

    เพราะฉะนั้น จิต ๖ ประเภทแรก หรือวิญญาณธาตุ ๖ แรก แม้จะเป็นไปในกาม คือ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ไม่ใช่เรา และแม้วิญญาณธาตุที่ ๗ จะหลากหลายกว้างขวาง รู้อารมณ์ได้หลากหลายกว่า หรือว่ารู้อารมณ์ที่ละเอียดขึ้นได้ แม้จิตที่รู้นิพพานก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา จิตที่เป็นความสงบเป็นขั้นฌานจิตต่างๆ ก็ไม่ใช่เรา ก็ยังคงเป็นธาตุ เพราะมีคำว่า ธาตุ กำกับไว้หมดเลย วิญญาณธาตุหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ก็คือ เพื่อให้เห็นในความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา แม้ในสภาพรู้ที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน คือ จิต

    ผู้ฟัง ธาตุสูตร ท่านไม่ได้กล่าวถึง หทยรูป หรืออาจจะใช้หทยธาตุไว้ ในขณะเดียวกัน ท่านกล่าวถึงธาตุที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ ไว้ชัดเจน ก็เลยไม่ทราบว่า เราจะเข้าใจตรงนี้

    อ.ธิดารัตน์ ท่านจำแนกจิต โดยวิญญาณธาตุ ๗ แล้วก็ยังจำแนกรูป เพราะว่า เห็น ก็ต้องอาศัยปสาทรูป ปสาทรูปต่างๆ ท่านก็จำแนกแล้ว และอารมณ์ ๑๐ แล้วก็ยังมีรูปที่เหลือซึ่งเป็นสุขุมรูป ๑๖ เพราะฉะนั้น รูปครบ ๒๘ ก็เป็นรูปที่เป็น รูปหยาบ ก็คือ ปสาทรูป ๕ กับรูปที่ปรากฏทางทวาร ๗ รูป เป็น ๑๒ รูปซึ่งเป็นรูปหยาบ สุขุมรูปมี ๑๖ รูป ก็มีหทยวัตถุ อยู่ในสุขุมรูปด้วย เพราะฉะนั้น ท่านแสดงโดยครบปรมัตถธรรมทั้ง ๔ เลยไม่ว่าจะเป็นจิตก็ครบ เจตสิกก็ครบ เพราะเจตสิกก็อยู่ในหมวดของธรรมธาตุ ธรรมธาตุ มีทั้งนามธรรม รูปธรรม และก็มีนิพพานด้วย เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมครบทั้ง ๔ จำแนกโดยธาตุ เพราะว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น รูปที่คุณจักรกฤษสงสัย หทยวัตถุเป็นสุขุมรูป เป็นธรรมธาตุ

    ผู้ฟัง ท่านไม่ได้ยกขึ้นมาให้โดดเด่น เหมือนกับทางทวารทั้ง ๕ ที่ระบุไว้

    อ.ธิดารัตน์ เพราะว่า รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันที่ควรรู้ หรือว่าเป็นวิสยรูป เป็นโคจรรูป ก็คือ รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตเนืองๆ ก็มี ๗ รูป ส่วนรูปอื่นๆ ที่ละเอียดกว่านี้ ถ้ายังไม่รู้รูปหยาบก่อน ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน รูปละเอียดๆ ก็จะต้องรู้ด้วยปัญญาที่มีกำลังมากกว่านั้น เพราะฉะนั้น หทยวัตถุ ถึงแม้จะเป็นที่เกิดของจิต แต่ไม่ได้ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตบ่อยๆ เหมือนอย่างกับเห็น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านี้ แต่ท่านก็แสดงเอาไว้ เพราะฉะนั้น รูปอื่นๆ ที่เว้นจากรูปหยาบ ก็เป็นรูปประเอียด ก็คือ สุขุมรูป รู้ทางมโนทวาร ก็แล้วแต่ว่าใครจะมีสุขุมรูปนั้นปรากฏ แต่ในชีวิตประจำวัน ทุกคนมีการเห็นสี ได้ยินเสียง และถึงแม้จักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปหยาบเหมือนกัน เป็นปสาทรูปมีอยู่ เป็นใหญ่เป็นอินทรีย์เหล่านี้ ก็ยังไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างกับสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเลย

    ท่านอาจารย์ ได้ยินธาตุ ๑๘ ที่ทรงประมวลไว้ ความจริง แต่ละหนึ่งๆ ก็เป็นแต่ละธาตุ นับประมาณไม่ได้ แต่ว่าประมวลไว้ เป็นธาตุ ๑๘ ตามที่สามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย เพราะฉะนั้น ธาตุ ๑๘ ก็มีทั้งนามธาตุ และรูปธาตุ แต่เวลาที่กล่าวถึงเฉพาะวิญญาณธาตุ ทั้งหมดมี ๗ ใน ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ ๗ นี่คือ ต้องเข้าใจว่า การที่เราจะเข้าใจธรรม ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ทีละหนึ่ง ก็จะทำให้เราสามารถประมวลได้ตรงตามจำนวน เวลาที่กล่าวถึงธาตุ ๑๘ จะมีจักขุธาตุ จักขุวิญญาณ รูปธาตุ ๕ ทวาร ก็เป็น ๑๕ และมโนธาตุ ๑ ธรรมธาตุ ๑ มโนวิญญาณธาตุ ๑ แต่ถ้าจะประมวลเฉพาะจิต ซึ่งเป็นวิญญาณธาตุ ก็เอาเฉพาะ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นวิญญาณธาตุใน ๑๘ ก็มีวิญญาณธาตุ ๗ ก็คือ เพื่อเราที่จะเข้าใจแต่ละหนึ่งๆ ให้ชัดเจนว่าวิญญาณธาตุ ๗ได้แก่ อะไรบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจชัดเจน และก็ไม่สับสน เพราะเหตุว่า ประมวลมาแล้วซึ่งจิตทั้งหมด เป็นวิญญาณธาตุ ๗

    เพราะฉะนั้น เมื่อสักครู่เรารู้วิญญาณธาตุ ๕ กับมโนธาตุ ๓ และก็รู้ด้วยว่าจิตอื่นที่เหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตอะไรก็ตาม จะเป็นวิญญาณธาตุ ๕ ได้ไหม จะเป็นมโนธาตุ ๓ ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นมโนวิญญาณธาตุ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้ว ชอบ โลภะเป็นวิญญาณธาตุ หรือไม่ เห็นไหม โลภะไม่ใช่วิญญาณธาตุ แต่โลภะเป็นธรรมธาตุ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่จิต และไม่ใช่รูป ที่กล่าวถึง คือ ตา และสิ่งที่ปรากฏกระทบตาได้พวกนี้ คือ การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจก่อน และก็เข้าใจอย่างมั่นคง แล้วที่ว่ายาก เพราะว่าเราเก็บไว้เยอะ คำโน้นคำนี้หลายๆ คำ แต่ยังไม่ได้เข้าใจชัดเจนในแต่ละคำ ก็เลยสับสน แต่ถ้าเราเก็บทีละคำ และให้มีความเข้าใจในสิ่งนั้นชัดเจนจริงๆ จนกระทั่งไม่เปลี่ยน เราก็จะไม่สับสน เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะพบคำนั้นอีกในพระไตรปิฎกส่วนไหน ความหมายไม่เปลี่ยน เป็นปรมัตถธรรม เป็นธาตุ เพราะฉะนั้น ในวันนี้ ก็คือ วิญญาณธาตุ ๗ ยังไม่รวมธาตุอื่นๆ ใน ๑๘ ธาตุ แต่เฉพาะวิญญาณธาตุ ๗ ไม่สงสัยแล้วใช่ไหม ๕ และมโนธาตุ ๑ และมโนวิญญาณธาตุ ๑ รวมเป็นวิญญาณธาตุ ๗ ค่อยๆ ไป ค่อยๆ เข้าใจให้ชัดเจน จะได้ไม่สับสน

    อ.กุลวิไล จากประโยค คำที่ว่า ไม่มีเรา มีแต่ธาตุ จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงความละเอียดลึกซึ้งของธาตุ ที่ไม่ใช่เราอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟัง และเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังแล้ว อยากจะไปรู้ลักษณะของธาตุแต่ต้องฟัง และเข้าใจคำ เช่น ขณะนี้มีเห็น คิดเรื่องอะไร ไปไหน หรือว่า กำลังเห็นแล้วก็มีเห็น เพื่อที่จะเข้าใจเห็นที่กำลังเห็น เพราะเหตุว่า เห็นมีจริงๆ และเห็นเกิดแล้วด้วยใครทำให้เห็นเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครไปทำ แต่เห็นก็เกิดแล้ว นี่คือ การเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริง ว่าไม่มีใครสามารถที่จะทำขึ้นได้เลย และสิ่งที่มีจริงขณะนี้ก็เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้แน่นอน ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ จนกว่าจะเข้าใจเห็น ที่กำลังเห็น ซึ่งใช้คำว่าสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมในภาษาบาลี และเป็น ธา-ตุ หรือธาตุในภาษาบาลีด้วย ทั้งสองคำก็เป็นการที่ใช้คำ เพื่อที่ให้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ว่าเกิดแล้ แน่นอน ปรากฏ โดยที่ไม่มีใครทำให้เกิดเลย แค่นี้ ไม่ใช่ให้เข้าใจอย่างอื่นเลย พูดถึงเห็นกำลังเห็น ฟังเรื่องเห็น ให้เข้าใจความจริงของเห็น

    ถ้าจะพูดถึงเรื่องได้ยินก็ไม่ใช่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งกว่าจะรู้ความจริงว่าแต่ละหนึ่งนี้เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย นี่คือ การฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคง กว่าจะไม่เห็นสาระของสิ่งที่เกิดโดยที่ว่าไม่มีใครไปทำ ห้ามได้ไหม อย่าเกิด ไม่มีทางเลย เกิดแล้วด้วย แล้วก็สิ่งที่ไม่รู้ความจริงก็คือว่า แม้ขณะนี้เหมือนไม่ได้ดับไปเลย แต่ความจริง สิ่งที่เกิดแล้วอายุสั้นมาก เกิดแล้วดับทันที เร็วสุดที่จะประมาณได้ แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ผู้ที่รู้ความจริงก็กล่าวว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี่ เท็จ เพราะลวงให้เห็นว่าไม่ดับ แม้ว่าดับไปแล้วก็เหมือนยังมีอยู่

    เพราะฉะนั้น การฟัง ก็คือว่า การเริ่มเข้าใจความจริง แต่ไม่ใช่ใครจะฟัง เพื่อที่จะไปพยายามรู้จักธาตุ หรือว่า หมดกิเลส แต่ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะมีความเข้าใจที่มั่นคง ว่านี่เป็นธรรม สิ่งที่มีจริง ที่ผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีแล้ว ได้ตรัสรู้ และคำนี้ไม่ใช่คำเท็จ เป็นวาจาสัจจะซึ่งฟังแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วยังไม่รู้ความจริงอย่างนี้ หนทางเดียว ก็คือว่า เพียร วิริยะ ไม่ท้อถอย มั่นคง และก็จริงใจ คือ สัจจะทุกอย่าง ถ้ามีอยู่เสมอ และฟังไปเรื่อยๆ ก็เริ่มที่จะเข้าใจ และรู้ว่า ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็คลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรม โดยทีละน้อยจนกระทั่งไม่สามารถจะรู้สึกได้ เหมือนกับการจับด้ามมีด แต่ถ้าไม่มีขณะนี้ วันไหนก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นจริงตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง ไม่คลาดเคลื่อนเลย

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ และยังไม่ปรากฏอย่างนี้ ก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจความจริงอย่างนี้ เพื่อละความต้องการ หรือว่า ละความไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เราจึงมีการพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งเสาร์ ทั้งอาทิตย์ และก็ในรายการวิทยุ ก็เพื่อที่จะให้ไม่ลืม ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นธรรมทั้งหมด คือ เดี๋ยวเห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม รู้สิ่งที่กำลังปรากฏที่กายก็เป็นธรรม ไม่มีอะไรสักอย่างซึ่งไม่ใช่ธรรม

    เพราะฉะนั้น กว่าความเข้าใจอย่างนี้จะมั่นคง จึงสามารถที่จะรู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้น ยังไม่มั่นคง ก็คือ มีหนทางเดียวเข้าใจขึ้นๆ จนกว่าสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปรกติอย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจได้ ถ้าผิดปรกติ หมายความว่า ไม่ได้สะสมความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า มีความเป็นเรา ซึ่งแม้จะได้ยิน ได้ฟังว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ก็ยังมีเราที่ต้องการ ที่จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการฟังแล้ว ฟังอีก ท่านที่ได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ได้ฟังครั้งเดียว ไม่ได้ฟังชาติเดียว และก็คงจะไม่ได้ฟังเพียงกัปเดียวแต่ก็เป็นสิ่งซึ่งบางคนอาจจะท้อถอย ท้อถอยก็ไม่รู้ แล้วจะฟังทำไม ใช่ไหม แต่ว่าท้อถอย เพราะเหตุว่า มีความเป็นตัวตน แต่ถ้าฟังธรรมแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    22 ธ.ค. 2566