พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 794


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๙๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้จริงๆ จะละคลายความติดข้อง และการยึดถือว่า เป็นเรามานานแสนนานได้ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลานั้น อาศัยการฟัง และเข้าใจไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าวันหนึ่งก็สามารถเริ่มที่จะเห็นว่า มีสาระอะไรกับการที่เพียงเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง เท่าที่เรียนมา รูปต้องเกิดดับเร็วมาก เท่ากับจิต ๑๗ ขณะ ก็เลยสงสัย เพราะว่ามันน่าจะเร็วกว่านั้น

    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากกรรม ดับพร้อมจุติจิต

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ใช่ใครรู้ นอกจากผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงว่า รูปแต่ละรูปที่เกิดจากแต่ละสมุฏฐาน ถ้าเป็นรูปที่มีจริง ก็จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ นี้แน่นอน เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรม ต้องมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะด้วย เพราะเป็นรูปที่มีจริงๆ ไม่ว่าจักขุปสาท โสตปสาท เหล่านี้เป็นต้น เปลี่ยนได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ รูปที่เกิดจากกรรมไม่ได้เกิด เพราะว่า รูปที่เกิดก่อนนั้นก็จะดับพร้อมกับจุติจิต นี่เป็นความต่างกัน ของรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ และก็รูป และที่เกิดจากอาหาร เนื่องจากสมุฏฐานต่างกัน รูปที่เกิดจากจิต เกิดพร้อมอุปาทขณะของจิต หมายความว่า ทันทีที่จิตเกิด รูปนั้นเกิดพร้อมกันเลย โดยที่เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าขณะนี้จิตประเภทไหนเป็นปัจจัยให้เกิดรูป รูปที่เกิดจากจิตนั้น ต้องเกิดพร้อมกับจิตนั้น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจักขุวิญญาณ จิตที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ โสตวิญญาน ฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ กุศลวิบาก๑ อกุศลวิบาก๑ รวม ๑๐ ดวง ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป เรารู้ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะเหตุว่า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ เท่านั้น จะไม่มีจิตอื่น ซึ่งมีเจตสิกเกิดเพียง ๗ เลย นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้ จิตอื่นนอกจากนี้ มีเจตสิกเกิดมากกว่า นี่ก็แสดงความต่างกันของจิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจิต ๑๐ ดวงนี้ ไม่มีกำลังที่จะทำให้รูปเกิด

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ตลอดชาติ จิตที่จะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดนั้น มีในขณะไหนบ้าง ในขณะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก รูปเกิดจากกรรมเท่านั้น ไม่มีรูปที่เกิดจากจิตเลย เพราะว่า ขณะนั้นจิตที่เกิดขณะแรก ปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ยังไม่มีกำลังที่จะทำให้รูปเกิดได้ เพราะฉะนั้น นอกจากจิตขณะนั้นก็ยังมี จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาน ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด ปฏิสนธิจิตมีเจตสิกเกิดมากกว่า แต่เพราะเหตุว่าเป็นจิตขณะแรก จึงไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด ไม่มีจิตชรูปเลย สำหรับปฏิสนธิจิต แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้ทั้งจิต และเจตสิก และรูปที่เกิดจากกรรม คือ กัมมชรูปเกิดพร้อมกัน ในขณะที่ปฏิสนธิ นี่ก็แสดงความต่างของรูปในขณะนี้ทั้งหมด ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นธรรม

    อ.วิชัย รูปที่เป็นกัมมชรูป ก็คงจะทราบว่า รูปมี ๔ สมุฏฐาน รูปเกิดจากกรรม รูปเกิดจากจิต รูปเกิดจากอุตุ และรูปที่เกิดจากอาหาร รูปที่เกิดจากอุตุ เป็นส่วนของรูป คือ ที่เป็นธาตุไฟ เมื่อเกิดแล้ว พอถึงฐีติขณะของรูป ธาตุไฟก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดกลุ่มรูปใหม่ได้ กลุ่มรูปใหม่ที่เกิดขึ้นเรียกว่าอุตุชรูป เป็นรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน ส่วนรูปที่เกิดจากอาหาร ก็คือ รูปที่เรารับประทานเข้าไป และโอชารูปก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดกลุ่มรูปใหม่ขึ้นมาภายในร่างกาย และอีกส่วนหนึ่ง คือ รูปที่เกิดจากกรรม และรูปที่เกิดจากจิต ซึ่งท่านอาจารย์ก็กล่าวเมื่อสักครู่ ว่ารูปที่เกิดจากจิต เว้นจิต ๑๖ ดวงที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป ก็มีทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปวิบาก ๔ เพราะเหตุว่า เป็นจิตที่เกิดในอรูปพรหม ซึ่งไม่มีรูป และปฏิสนธิขณะหนึ่ง และอีกขณะหนึ่ง คือ จุติจิตของพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น จุติจิตของบุคคลคนธรรมดา เมื่อจุติจิตเกิด ก็ยังสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปได้ แต่ถ้าพูดถึงกัมมชรูป ที่จะถึงกาลที่บุคคลนั้นจะจากความเป็นบุคคลนี้ไป กัมมชรูปจะเกิดสุดท้าย ก็คือ ก่อนจุติจิตนับไป ๑๗ ขณะ เพราะเหตุว่า รูปมีอายุ ๑๗ ขณะดังนั้นกัมมชรูป คือ ต้องดับพร้อมกับจุติ เป็นในเรื่องของรูป

    มีเรื่องขอเรียนถามท่านอาจารย์ เรื่องของจิตก็ทราบว่าโดยสภาพของจิต ก็คือ สะสมหลายอย่าง อย่างเช่น บุคคลใดกระทำกรรมใดๆ ต่างๆ ก็ตาม แม้กรรมนั้นดับไปแล้ว ก็ยังสามารถสะสมที่จะให้เกิดผล หรือแม้บุคคลสั่งสมที่เรียกว่าเป็นอุปนิสัย ที่จะเป็นทางฝ่ายดีก็ตาม หรือไม่ดีก็ตาม จิตเพียงชั่วขณะเดียว จะสั่งสมเยอะขนาดนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ ไม่หนัก ไม่ใช่สะสมอะไรมาจนหนัก แต่ว่าตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า เป็นสภาพรู้ เมื่อกุศลใดๆ หรืออกุศลใดๆ ทีละหนึ่งขณะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป ซึ่งเกิดสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น จะให้สิ่งที่เกิดแล้ว ถึงแม้ว่าดับไปแล้วก็จริง แต่เพราะเคยเกิดแล้ว ก็ยังสามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดอีกได้ โดยความเป็นปัจจัยที่นอนเนื่อง หรือว่าสืบต่อในจิตขณะต่อไปเรื่อยๆ

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่า ถ้าคิดถึงการกระทำกรรมของบุคคลหนึ่งๆ ก็นานแสนนาน แต่ก็คือยังสืบต่อแม้จิตขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะผ่าจิตจะเห็นอะไร ผ่าไม่ได้ แต่รู้ได้ ว่าจิต แม้ว่าเป็นนามธรรม ก็สะสมมาหมดเลยทุกสิ่งทุกอย่างในแสนโกฏิกัปป์ เพราะความเป็นธาตุรู้ นามธาตุ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย และก็สะสมกุศล อกุศลเป็นอุปนิสัย เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยก็แสดงโดยนัยต่างๆ ปกตูปนิสสยปัจจัย อนันตรูปนิสสยปัจจัย อารัมมณูปนิสสยปัจจัยด้วย นี่ก็คือ ความต่างกันของ มีที่อาศัยที่มีกำลัง จากการที่เคยปรากฏแล้วเกิดแล้ว แม้ว่าดับไปแล้วก็ยังสะสมสืบต่อ ไม่อย่างนั้น จิตของแต่ละคนต้องเหมือนกันหมดเลย เห็นแล้วดับแล้วไม่มีอะไรเหลือ ใช่ไหม แต่นี้เพราะเหตุว่า แม้แต่กุศลจิต และอกุศล และจิตของแต่ละหนึ่งก็หลากหลายมาก จะให้ไปสะสมเหมือนๆ กันก็ไม่ได้ ใช่ไหม ก็ตามกำลังของแต่ละประเภท ที่เกิดแล้วดับไป ก็สะสมกำลังนั้น สืบต่อในจิตขณะต่อไป ที่สามารถจะทำให้จิตประเภทนั้นเกิดขึ้นได้

    อ.วิชัย เป็นลักษณะของนามธรรม ก็ไม่สามารถที่จะเหมือนกับรูป

    ท่านอาจารย์ ผ่าออกดูไม่ได้เลย แต่ก็มีเยอะแยะมากมายไปหมดเลย เชื้อโรค ขยะอะไรก็แล้วแต่ ทางฝ่ายกุศลก็มี เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันก็บ่งถึงการสะสม น่ากลัวไหม คนที่มักโกรธ ไม่ให้อภัย แล้วก็ตระหนี่แม้แต่คำสรรเสริญ พูดไม่ออก ใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นถึงระดับนั้น จะกล่าวชมใครสักคำก็ยาก ชมไม่ได้ เขาไม่ใช่เรา หรืออะไรอย่างนั้นก็แล้วแต่

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ส่องไปถึงการสะสม แม้ไม่ทั้งหมด แต่ก็ยังสามารถที่จะปรากฏเกิดขึ้นให้รู้ได้ ว่าแต่ละคนก็สะสมอะไรมามากน้อยต่างกันอย่างไรแม้แต่เพียง ใครชอบสีชมพู ใครชอบสีเหลือง อารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า เคยยินดี เคยพอใจในสีนั้น ถ้าคุณวิชัยชอบสีชมพู ก็ปรากฏว่าหลายอย่างของคุณวิชัย ก็เป็นสีชมพูทั้งนั้นเลย บางคนอาจจะมีแม้ปากกาสีชมพู รองเท้าสีชมพู ดินสอสีชมพู ยางลบสีชมพู อะไรก็เต็มไปด้วยสิ่งที่สะสมมาที่จะชอบ เพียงอย่างเดียว แล้วยังรสอีกอาหารต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างหมดเลย เป็นสิ่งที่เคยเสพ เคยพอใจ เพราะฉะนั้น จะติดข้องต้องการในสิ่งนั้น สะสมมาเป็นอุปนิสัย เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เกิดมาแล้ว เป็นจิตประเภทต่างๆ เวลานี้เป็นจิตประเภทต่างๆ ไม่ใช่ใคร แต่การสะสมมาก็ทำให้ต่างกัน แม้แต่อารมณ์ที่ปรากฏ ก็ยังมีชอบน้อย ชอบมากต่างๆ กันไปตามการสะสม นี่คือธรรม นี่คือธาตุ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่จากการฟัง และเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็จะปรุงแต่งจนกระทั่งสามารถจะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันส่องถึงการสะสม ทุกท่านจะเห็นได้ว่า แต่ละคนอัธยาศัยแตกต่างกัน เห็นถึงการสะสมของจิตนั่นเอง ที่ยาวนานหลายแสนโกฏิกัปป์ แต่ก็เพราะว่า การสะสมมานั่นเอง ทำให้แต่ละคนอัธยาศัยที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เป็นธรรมทั้งหมด

    มีท่านผู้เขียนมาเรียนถาม ช่วงนี้ ถ้ามามูลนิธิก็อาจจะได้เห็นประโยคที่ว่า ทำดี และศึกษาพระธรรม กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็เกิดมาแล้ว จะทำอะไรดี ระหว่างดีกับชั่ว

    อ.กุลวิไล ต้องทำดี

    ท่านอาจารย์ และเกิดมาแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย และจะรู้ได้ต่อเมื่อศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ควรจะทำอะไร

    อ.กุลวิไล ก็ควรจะต้องทำความดี พร้อมกับศึกษาพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ชีวิตนี้จึงมีค่า คุ้มกับการเกิดมา ไม่เป็นโทษเป็นภัยแม้กับตนเอง และคนอื่นเลย และก็ยังสามารถที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่นได้ด้วย จากการเป็นคนดี และการเข้าใจธรรม คงไม่ลืม ดีสักเท่าไหร่ก็ตามในโลกนี้ ไม่ว่าใครที่ไหน จนกระทั่งถึงความเป็นอรูปพรหมบุคคล แม้ความดีนั้น ก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่า ยังมีความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์พูดถึงความคุ้มค่าของการเกิดมา และท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า ความดี ถึงแม้ว่าดีอย่างไรก็ตามถ้าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ไม่บริสุทธิ์ท่านอาจารย์ช่วยขยายความด้วย

    ท่านอาจารย์ ยังเป็นเรา จริงๆ แล้ว ทุกคนเห็นกันมานาน แล้วแต่ว่าใครจะมาที่นี่ กี่ปีแล้วก็มาบ่อย หรือไม่บ่อย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนมองข้าม ไม่เห็น ก็คือ ความเห็นแก่ตัวของทุกคน ใช่ไหม แต่ว่าเป็นความจริง หรือเปล่า แม้สักเล็กน้อยนิดหน่อย ส่องลงไปถึงความเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นปัญญาที่เห็น ไม่ว่าใครจะทำความดี หมดความเป็นตัว หรือยัง ยังเห็นแก่ความดีนั้นจะตอบสนองเมื่อไหร่ อย่างไร เขาจะว่าเราทำไม ในเมื่อเราทำดีถึงปานนี้ ทั้งหมด ก็คือ ความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่มองให้ลึกซึ้ง ไม่เห็น แต่จริงๆ แล้วก็คือว่า ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวแน่นอน เพียงแต่ว่าจะมากจะน้อยจะปรากฏเมื่อไหร่

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์พูดถึงความเห็นแก่ตัว ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นได้ ก็แสดงว่า ถ้าไม่รู้ความเป็นธรรม และยังยึดถือธรรมว่าเป็นตัวเรา ก็ยังมีความเห็นแก่ตัว

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่า ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่บริสุทธิ์ ถ้ายังไม่ได้เข้าใจธรรม

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึง การเห็นแก่ตัว คือ ขณะที่เห็นแก่ตัว ขณะนั้น คือ ไม่รู้ นอกจากจะมีความเข้าใจถูกว่า ลักษณะของความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังเป็นตัว เลือกทำดีทำไม เพื่อใคร หรือว่าเข้าใจถูกต้องว่าไม่มีเราเลย ธรรมฝ่ายดีก็เป็นธรรมฝ่ายดี เกิดขึ้นเป็นธรรมฝ่ายดีแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ของใคร แต่ว่าถ้าเลือกทำความดีเพื่อใคร ต่างกันแล้วใช่ไหม นั่นคือ ความเห็นแก่ตัว ลึกลงไป ก็คือ ยังเห็นแก่ตัว ธรรมละเอียดมากถ้าไม่รู้จริงๆ ไม่เข้าใจจริงๆ ดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะว่า โลภะจะติดตามไปเหมือนช่องว่างในกลาป ระหว่างกลาป แม้ขณะนี้ไม่ปรากฏก็มาแล้วในอากาศ มองไม่เห็นใช่ไหม แต่ก็พร้อมที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าเมื่อไหร่

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ ทำดีอยู่แล้ว ต้องมีพ่วงไปด้วยว่า ศึกษาพระธรรม และท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงความเห็นแก่ตัว แม้กระทั่งการทำความดี เพราะฉะนั้น หมายถึง การศึกษาพระธรรมถึงจะขัดเกลาให้เห็นความเห็นแก่ตัวแม้จะทำดี หรือ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจความจริงเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น จะเอาความไม่รู้ออกไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญญา เพราะไม่รู้จึงเห็นแก่ตัว

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์โปรดขยาย ว่าความเห็นแก่ตัวในการทำความดี เป็นอย่างไรบ้างลักษณะความเห็นแก่ตัว แม้ว่าจะเป็นคนที่ทำความดีบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทำเลยรู้เลยขณะนั้น ไม่ต้องไปหาตัวอย่างที่ไหน ถ้าจะเข้าใจประโยคนี้คือ ขณะที่กำลังทำความดี รู้สึกอย่างไร ถ้าทำความดีด้วยความเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นไม่ได้เห็นแก่ตัว เพราะปัญญาละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมเลย ความดีที่ทำนั้นเพื่อใคร และถ้ามีความเข้าใจธรรมบ้าง ไม่เข้าใจธรรมบ้าง ก็เป็นกาลที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นปัญญาที่เข้าใจถูก ในความไม่ใช่ตัว เพราะรู้ว่า แม้สิ่งที่จะเกิดซึ่งเป็นผลของความดี ก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้ติดข้อง แต่ว่าผลต้องมีตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ไม่เช่นนั้น เราจะหมดความเห็นแก่ตัว หรือความเป็นตัวตนได้อย่างไร ถ้าปัญญาไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง แต่เพราะฟังธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ทำดีก็จะมีการเข้าใจถูก เห็นถูก จนกระทั่งสามารถที่จะละความเห็นแก่ตัว เพราะรู้ว่า ไม่มีตัวแต่มีธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทุกวันนี้ พิสูจน์แล้วว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมด

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ข้อความสั้นๆ ว่าทำดี และศึกษาพระธรรม จึงกว้างขวาง และยาวนานมาก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่จบ จนกว่าเสร็จกิจ กิจที่ควรกระทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นยิ่งกว่านี้ไม่มี คือ กิจที่จะเข้าใจความเป็นจริงของธรรมจนดับกิเลสได้หมด เป็นพระอรหันต์

    อ.อรรณพ หรือว่าการศึกษาพระธรรมก็จะเป็นปัจจัย ให้มีความเข้าใจ และปรุงแต่งให้ความดีนั้นค่อยๆ บริสุทธิ์ขึ้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น ใครที่มีอกุศลมาก ไม่อยากมีเลย แต่ไม่เข้าใจธรรมเลย กำลังอยากก็เป็นอกุศลแล้ว ก็ไม่รู้

    อ.กุลวิไล เพราะว่าความดี ก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมนั่นเอง กุศลธรรมก็มีทั้งที่ประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่มีความเข้าใจธรรม ก็ยังมีความเป็นเราอยู่นั่นเอง และถ้ามีความเป็นเราเมื่อไหร่ ก็ยังเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว แล้วความดีนั้นจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร แต่ถ้าผู้ที่มีปัญญาเห็นถูกตามความเป็นจริง ความดีนั้นบริสุทธิ์ เพราะสามารถจะขัดเกลากิเลสได้

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สามารถสละสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ ขณะนั้นสามารถที่จะสละสิ่งนั้นได้ แต่หลังจากนั้น เห็นแก่ตัว หรือเปล่า ก็ตามไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ที่เคารพ การที่มนุษย์ แม้แต่เทวดา ก็ยังต่างคนต่างแข่งที่จะแย่งกันทำความดีว่า นับเป็นการเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น การเห็นแก่ตัวนี่จะเป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรมได้

    ท่านอาจารย์ ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พ้นการเห็นแก่ตัว ถ้ายังมีความเป็นตัวตนอยู่

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การเป็นตัวตนก็เป็นฝ่ายอกุศล

    ท่านอาจารย์ คุณลักษณ์ อยากสงบไหม

    ผู้ฟัง อยาก

    ท่านอาจารย์ นั่นไง คุณลักษณ์อยากสงบ เห็นแก่ใคร

    ผู้ฟัง อยากสงบต้องการอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ต้องมีตัวนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเห็นแก่ตัว

    ผู้ฟัง ก็ยังเห็นแก่ตัวอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้สละตัวออกไปเลย

    ผู้ฟัง สิ่งที่เรามุ่งหมายก็จะเป็นความดี

    ท่านอาจารย์ เพื่อใคร

    ผู้ฟัง เพื่อตัวอีก ใช่แล้ว เข้าใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ลึกลงไปต้องเป็นปัญญาที่สามารถเห็นได้

    ผู้ฟัง ภาษิตที่เขาบอกว่า ต่างคนต่างแข่งแย่งกันดี ก็ไม่สมบูรณ์ที่จะเป็นดี

    ท่านอาจารย์ แย่งกัน ก็ดี หรือ

    อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ ที่กล่าวถึง ทั้งการทำความดี และก็ศึกษาพระธรรม ก็จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ใช่ หรือไม่ จะทำดี โดยที่ไม่เข้าใจพระธรรมก็ไม่ได้ หรือจะมุ่งที่จะศึกษาพระธรรมอย่างเดียวก็ไม่ได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ด้วย

    ท่านอาจารย์ แม้แต่ขณะนี้ กิเลสมากเหลือเกิน ถ้ามองดู หรืออยากจะว่าผ่าออกมาอีก มันก็มืดสนิทด้วยอวิชชา และอะไรจะเป็นเครื่องค่อยๆ ขัดเกลา อยากจะมีปัญญา แต่ถ้าไม่มีคุณความดีอื่นๆ เลยจะไหวไหม จะเอาปัญญามาจากไหน เพราะถูกกลุ้มรุมด้วยความไม่ดี หรือความต้องการอยู่ตลอด ด้วยเหตุนี้ ไม่ประมาทในกุศลทุกประเภท และกุศลนั่น ก็คือ บารมี เป็นเครื่องที่จะนำไปสู่ การที่จะมีจิตที่เบาสบายปลอดโปร่ง ไม่ต้องกังวลเดือดร้อนด้วยอกุศลซึ่งพัวพัน ทำให้สามารถที่จะฟังธรรมก็เข้าใจ แต่ลองคิดดูเวลานี้ฟังธรรมแล้ว เข้าใจแค่ไหน ระหว่างที่ไม่เข้าใจ เพราะอะไร เห็นไหม ขณะนั้น ก็ต้องเป็นอกุศล เบื่อไหม ซ้ำๆ ง่วง หรือเปล่า ตอนนี้ไม่ต้องเข้าใจ ไปคิดถึงที่เราอยากรู้แล้วมาถามดีกว่า จะได้เข้าใจตรงที่อยากจะรู้ ก็ทั้งหมดนี้ เป็นความดีพร้อม หรือเปล่า ที่จะทำให้เข้าใจธรรม เพราะเหตุว่า จริงๆ แล้ว การเป็นผู้ตรงต่อความจริง การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ สิ่งซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าใจด้วยตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของคนอื่น ที่จะบอกว่าถูกไหม อย่างนี้ดีไหม หรืออะไรเป็นต้น นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดต้องมีปัจจัยพร้อม ที่จะทำให้แม้ฟังขณะนี้ เข้าใจแค่ไหน บุญเก่าที่ได้กระทำแล้ว นำมาจนถึงการได้ฟังธรรม แต่ก็ยังมีอุปสรรคได้ เพราะเหตุว่า อกุศลก็มากมายที่สะสมมา ก็พร้อมที่จะเป็นปัจจัยเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงแล้วก็ตรง แล้วก็เห็นประโยชน์จริงๆ

    อ.กุลวิไล จะเรียนถามท่านอาจารย์ ถึงความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนเก่า เหมือนเดิม คือ ธรรมเปลี่ยนไม่ได้เลย แต่ว่าฟังหลายๆ ครั้ง ก็จะเข้าใจขึ้น ถ้าเพียงแต่ฟังครั้งเดียว เราก็ลืม และไม่ได้คิดให้ละเอียด ใช่ไหม เห็นทุกวัน บางวันก็ได้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ฟัง ก็ฟังเรื่องจิต เรื่องอะไรบ้าง แต่ว่าขณะนี้ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ คือ แต่ละคำ กว่าจะเข้าไปถึง การที่จะรู้ความจริงว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็เป็นการที่ต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ลองคิดถึงต้นไม้ที่ใหญ่มาก รากอยู่ใต้ดิน และลึกด้วย และการที่จะทำลายต้นไม้ต้นนั้นไม่ให้มีอีกเลย จะใช้วิธีไหน ถ้าเพียงแต่โกรธ และอยากไม่โกรธ หาวิธีไม่โกรธ ก็คือ การตัดกิ่งตัดใบนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำลายต้นไม้ต้นใหญ่ของอวิชชา และอกุศลทั้งหลายได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า การฟังวันนี้แล้ว เราสามารถที่จะไปละการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนที่กำลังเห็นได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น หรือว่าจะเป็นเสียง หรือว่าเป็นคิด หรือจะเป็นอะไรก็ตามแต่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าฟังเท่านี้แล้วสามารถที่จะไปละการยึดถือสภาพธรรมที่เหนียวแน่นมาก และยึดถือมานานแสนนาน อุปมา ก็คือ รากที่แข็งแรงอย่างยิ่ง ของต้นไม้ใหญ่ ที่อยู่ข้างใต้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    21 ธ.ค. 2566