พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 796


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๙๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ การฟังก็ต้องค่อยๆ ฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ สะสมความเข้าใจโดยไม่หวังว่า จะรู้ความจริงของสภาพธรรมตามที่ทรงแสดงเมื่อไหร่ และวันไหน แต่ทุกอย่างที่เป็นผล ต้องมาจากเหตุ ถ้ามีเหตุ คือ ปัญญาที่ได้สะสมแล้ว จะให้ไปทิ้งที่ไหน ปัญญา ก็จะต้องเข้าใจถูก เห็นถูก เพราะว่า ปัญญาเป็นความเข้าใจ ซึ่งทุกคนลืม ใช้คำว่าปัญญา แต่ลืมว่า หมายความถึง เข้าใจ กำลังมีเห็น เข้าใจเห็น ไม่ใช่ให้ต้องไปทำอะไรเลย ฟังจนกระทั่งเข้าใจ ก็คือ เห็นอย่างนี้ ไม่มีรูปร่างเลย เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป ได้ยินไม่ใช่เห็น เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องละเอียด ละเอียดจนกระทั่งว่า อัตตสัญญา ต้องไม่มี จึงจะประจักษ์ลักษณะของอนัตตสัญญาได้

    อ.กุลวิไล ซึ่งท่านอาจารย์ ก็ได้พูดถึงลักษณะของเห็นด้วย ว่าเห็นไม่มีรูปร่าง เห็นก็ไม่ใช่มีแขนมีขามีตัว เพราะว่า เห็นเป็นเห็นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ก็ต้องมี และรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่รู้ความจริง พอพูดถึงเห็น ท่านรู้ไหม ว่าหมายถึง เฉพาะเห็นจริงๆ ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลยทั้งสิ้น จะไปมีความทรงจำว่ากำลังพูดถึงตาที่เราเคยจำว่าเป็นตาของเรา ถ้าพูดถึงสิ่งที่มีจริง ท่านก็สามารถที่จะพูดถึงสิ่งใดสิ่งนั้นเป็นจริงชั่วขณะ แล้วก็ไม่เปลี่ยนด้วย แม้แต่เห็นไม่ใช่คนเห็น ไม่ใช่สัตว์เห็นไม่ใช่เทวดาเห็นไม่ใช่รูปพรหมเห็น เห็นเป็นเห็นตรงนั้นแล้วก็ดับ และก็ท่านก็ต้องรู้ความจริงอย่างนี้ เมื่อได้ประจักษ์ และตลอดไป ไม่ว่าที่ไหน พูดถึงอะไร ก็คือ เป็นเฉพาะหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ประโยชน์มากมายไหม เพราะเหตุว่า เราฟังเรื่องอื่นมามาก เป็นสุขเป็นทุกข์กับเรื่องอื่นๆ ชั่วคราว แล้วก็หมดไป แล้วก็จากโลกนี้ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าคงไม่ลืม ว่าอย่างไรๆ ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาจากแต่ละขณะของชาตินี้ที่สะสม ทั้งกุศล และอกุศลจะติดตามไป เพราะฉะนั้น จะเป็นอะไรชาติหน้า โลภะ โทสะมากๆ เหมือนเดิมแล้วก็ยังโมหะ หรือว่าค่อยๆ รู้ความจริง ซึ่งถ้าไม่รู้ความจริง เราจะดีได้ไหม ดีได้ก็เพียงแค่เท่าที่สะสมมาเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ดีขึ้นอีกๆ ๆ ได้ไหม ในเมื่อทุกคนก็รู้ว่า สิ่งที่ดีตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี และก็ไม่มีใครชอบสิ่งที่ไม่ดี แต่ตัวเองเป็นเสียเอง ใช่ไหม เพราะเหตุว่า ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็สามารถที่จะรู้ได้ ชาติหน้ายังไม่เกิดจริง แต่เกิดแน่ แต่จะเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าความเข้าใจธรรมก็จะสืบต่อไป ทำให้มีโอกาสได้ฟัง และได้เข้าใจความจริงด้วย

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึง เรื่องของอัตตสัญญา ตามการที่เราได้ศึกษา สัญญา คือ ความจำ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้น ความจำที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง ว่าที่เป็นอัตตสัญญาก็มี หรือว่าอนัตตสัญญาก็มี รวมถึงเป็นนิจจสัญญา หรือว่าเป็นทุกขสัญญา สุขสัญญาต่างๆ อะไรที่เป็นเหตุให้มีสัญญา คือ ความจำที่เป็นตัวเราบ้าง หรือความจำที่ไม่ใช่ตัวเราบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเพราะไม่รู้

    อ.วิชัย อวิชชา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.วิชัย ความไม่รู้ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดความจำที่ ถึงกับอาจจะเป็นวิปลาส เป็นไปในเที่ยงบ้าง หรือว่าเป็นโดยตัวตนบ้าง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่รู้ขณะนี้เกิด จึงไม่รู้ว่าสภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับ

    อ.วิชัย ก็เลยเป็นปัจจัยที่ให้เกิดความจำที่ไม่ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ คิดว่าเที่ยง เมื่อเที่ยงแล้วก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และคิดว่าอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ ตามการศึกษาก็จะทราบว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับ มีความเป็นอนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เหล่านี้ แต่การศึกษาก็จะเข้าใจอนัตตา เข้าใจโดยเป็นความเข้าใจ ถึงแม้ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ลักษณะของความเป็นอนัตตาก็ยังไม่ได้ปรากฏ เพราะขณะนั้น รู้แต่ลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง แล้วก็ลักษณะของความเป็นอนัตตาจริงๆ จะปรากฏเมื่อไหร่

    ท่านอาจารย์ เมื่อสภาพธรรมปรากฏว่าเป็นธรรม

    อ.ธิดารัตน์ คือ เวลาที่สติระลึก ลักษณะของธรรมก็ปรากฏโดยความเป็นธรรมแต่ขณะนั้น ก็มีแค่เพียงลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นกำลังรู้เฉพาะลักษณะหนึ่ง ชัดเจนแต่ละลักษณะ หรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ สภาพธรรมต้องปรากฏทีละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ความรู้ความเข้าใจทีละหนึ่งจริงๆ หรือเปล่า ถ้าจริงๆ หมายความว่า ขณะนั้นต้องไม่มีอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น เป็นอย่างนั้น หรือเปล่า เดี๋ยวนี้ทุกคนลองพิสูจน์ มีแข็ง รู้แข็ง อย่างอื่นปรากฏด้วย หรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ขณะแข็งปรากฏ ก็ไม่มีอย่างอื่น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนนั่งอยู่ที่นี่เยอะๆ ด้วย แต่ชั่วขณะหนึ่งที่แข็งกำลังปรากฏให้รู้ ไม่ใช่หมายความว่า อย่างอื่นจะไม่เกิดสลับสืบต่อเหมือนเดิม เพียงแต่เริ่มเห็นความต่างกัน ของขณะที่ไม่ได้เคยเข้าใจแข็งกับขณะนั้น เพราะฟังว่า แข็งมีจริง และลักษณะของแข็งก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจบัญชาของใคร แข็ง ดูสิ่ เกิดแล้วเป็นแข็ง ใครไปทำให้แข็งเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าความเข้าใจขณะนั้นไม่มี แล้วก็ไม่ใช่ความรู้ชัด ก็ยังคงมีเรา และก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้ไม่เอ่ยชื่อ เหมือนอย่างนี้ เห็นที่ไหน เดี๋ยวนี้เห็นเกิดที่ไหน เห็นไหม ก็ยังจำว่ามีตา ไม่ได้เกิดที่หู ใช่ไหม แล้วก็รู้จริงๆ หรือเปล่า ว่าขณะที่เห็นเกิดขึ้น ไม่มีเราเลย แม้แต่ตาก็ไม่ได้ปรากฏ ถ้าคิดถึงตา ขณะนั้นเป็นความเข้าใจเห็น หรือเปล่า เห็นไหม ความรวดเร็วของการที่ยังเคยจำทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ยังไม่ได้ออกไปเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ไม่ยากเลย แต่ว่าขณะนี้จะเรียก หรือไม่เรียกก็ตามแต่ เรายังมี หรือเปล่า ตาเรายังอยู่ หรือเปล่า ถ้าไม่มีไม่อยู่ หมายความว่า ตรงนั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีอย่างอื่นเจือปนเลยทั้งสิ้น ความหมายต้องเป็นอย่างนั้น

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ คือ ความเข้าใจความเป็นอนัตตากับลักษณะของอนัตตลักษณะ ซึ่งเป็นไตรลักษณ์ เพราะว่า คือ หลายท่านอาจจะคิดว่า คือ เริ่มเข้าใจความเป็นอนัตตาแล้ว ก็จะคิดว่ามีสัญญาที่เป็นอนัตตสัญญา หรืออะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม ใช่ไหม แล้วเดี๋ยวนี้หล่ะ แน่ใจเหรอ ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมหมด ไม่มีใครสักคน เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ หรือว่าเป็นเสียง หรือว่าเป็นได้ยิน อย่างนั้น หรือเปล่า หรือว่าจำได้ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม พูดทีไรพูดถูกทุกที ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่เปลี่ยนคำพูดด้วย แต่ว่าทุกอย่างเดี๋ยวนี้ อะไรที่เป็นธรรมจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ โดยความเข้าใจจากการฟัง และโดยการเริ่มเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม จนกระทั่งถึง ขณะนั้นไม่มีเราเลยๆ เพราะประจักษ์ธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้ นั่นคือ อนัตตลักษณะจริงๆ

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ ก็มีข้อความในอรรถกถา ปรมัตทีปนีเมฆิยสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อรู้ลักษณะหนึ่ง อย่างเช่น อนิจจลักษณะ ก็เป็นอันรู้ลักษณะทั้งสอง คือ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะด้วย ที่ทรงแสดงถึงสามลักษณะ ถ้ารู้ลักษณะอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่า รู้ลักษณะทั้งสอง คือ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็ดับ ลักษณะอะไร

    อ.วิชัย อนิจจะ

    ท่านอาจารย์ อนิจจัง แล้วก็อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา หรือเปล่า

    อ.วิชัย ก็ไม่เป็น เพราะเกิดแล้วมีปัจจัย เกิดแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นที่สามารถจะปรากฏการเกิดดับได้ ต้องเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่คนทั้งคนเวลานี้เกิดแล้วก็ดับไป แต่ว่าสภาพธรรมที่จะปรากฎว่าเป็นอนัตตา ต้องหมายความว่า ลักษณะนั้นปรากฏการเกิดดับ เพราะการเกิดแล้วดับเป็นอนิจจังไม่เที่ยง และก็ไม่ได้อยู่อำนาจบังคับบัญชาด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นอนัตตาแล้วจะมีความยินดีติดข้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นอย่างนั้น หรือเปล่า

    อ.วิชัย ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่สุขขัง แต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    อ.วิชัย ก็คิดถึงในวิปลาส ที่กล่าวถึงพระโสดาบัน ที่ท่านละ คือ ทิฏฐิวิปลาส ก็ละได้ทั้งหมด และในส่วนของจิตตวิปลาส และสัญญาวิปลาส ที่ท่านละในสำคัญว่าไม่เที่ยงว่าเที่ยงได้ และในอนัตตาว่าเป็นอัตตาได้ แต่ว่าในส่วนของที่ยังเห็นว่ายังเป็นสุข หรือยังเป็นงามอยู่ ในเมื่อลักษณะของธรรมก็มีลักษณะ คือ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแต่ว่าที่ท่านละ ที่เห็นว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน การที่ท่านละอย่างนั้น คือหมายถึง ไม่มีความเห็นที่ว่า ธรรมว่าเป็นตัวเราแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกแล้ว ยังสงสัย ปัญหาทุกคนจะสงสัยเหมือนกันเลย จนกระทั่งรู้จริงๆ ว่าเกิดขึ้นแล้วดับไปไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตต าแล้วทำไมยังคงมีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะเป็นผู้ตรง ต่อความเป็นจริงว่า ยังไม่ได้ละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ว่ารู้ความจริง และก็รู้ด้วยว่าเพียงรู้ความจริงอย่างนี้ ก็ยังมีการที่จะติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งจะต้องละต่อไป

    อ.วิชัย คือ ปัญญายังไม่เพียงพอที่จะละ

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่เห็นว่าไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้ความติดข้องเกิดขึ้นได้ไหม เกิดขึ้นก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา เพลินอย่างมากเลยขณะนั้น ละความเป็นเรา หรือเปล่า ถ้าปัญญาเกิดขึ้น กว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องรู้ชัดว่าทุกอย่างหมด ไม่ว่าสุขระดับไหน ทุกข์ระดับไหนอะไรก็ตามทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เราแต่ยังมีความยินดี แต่ความยินดีนั้นไม่ใชเรา

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ช่วยขยายตรงนี้ว่า ความจำด้วยความติดข้อง ต้องมากมายมหาศาล จนขนาดที่ว่าพระโสดาบันก็ยังมีความจำ ในความน่าพอใจน่ายินดีทั้งๆ ที่ดับความจำในความเที่ยง หรือว่าเป็นตัวตนไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ปุถุชนไม่ใช่พระอริยบุคคลคน ใช่ไหม

    อ.อรรณพ ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จะบังคับไม่ให้อกุศลเกิดได้ไหม

    อ.อรรณพ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อกุศลเกิดเห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่เราในอกุศลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะอะไร ทั้งหมดที่เป็นอกุศลธรรม เป็นเพียงธรรมที่มีจริง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ก็เห็นตามความเป็นจริงว่า ยังมีอะไรอยู่ แต่สิ่งนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่อย่างนั้นพระโสดาบัน ก็ต้องเป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ แต่เพราะเหตุว่า แม้สิ่งนั้นยังมีก็ไม่ใช่เรา เป็นธรรม ซึ่งถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้นก็เห็นโทษของความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จากความที่เป็นปุถุชน และไม่เคยเห็น ปุถุชนนี้ติดข้องมากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ผู้ที่มีปัญญาแล้ว เห็นจริงแล้ว ก็รู้ว่าแม้ความติดข้องก็เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา เพราะสะสมมา จึงยังมี

    เพราะฉะนั้น ชีวิตตามปกติเท่านั้น ที่จะทำให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริง แล้วละการยึดถือสภาพธรรมได้ ไม่ใช่ไปพยายาม ไปบังคับ หรือไปให้ไม่มี นั่นคือ ไม่รู้ความจริง แต่ถ้ารู้ความจริงไม่ว่าณ สถานที่ใดเวลาไหน ธรรมใด ขณะนั้น ผู้ที่กำลังดำเนินหนทางที่จะถึงการดับการยึดถือสภาพธรรมต้องรู้ในขณะนั้น และเข้าใจความจริงในขณะนั้น และก็เป็นผู้ตรงว่ากิเลสอื่นยังมี ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีแน่นอน ใช่ไหม จากปุถุชนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รสต่างๆ เหล่านั้น เพียงแต่เริ่มเห็นถูก เข้าใจถูก ว่าเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วจะหวั่นไหวไหม เมื่อรู้ความจริงขึ้น ก็รู้อัธยาศัยของแต่ละคนที่สะสมมา วิสาขานิคารมารดา ทุกท่านรู้จักใช่ไหม อุบาสิกาผู้เลิศในการถวายทาน เครื่องประดับท่านสวยมากเหลือเกิน สำหรับผู้ที่ยังติดข้องพอใจ และคนมีที่จะมีเครื่องประดับอย่างนั้นไม่กี่คน ตามบุญที่ได้กระทำไว้ ท่านก็รู้ใช่ไหม ท่านก็เห็นแล้วเวลาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ความพอใจก็เกิด แต่ไม่เหมือนปุถุชน เพราะว่า แม้อย่างนั้นก็คือ ธรรมซึ่งเกิดดับ มิฉะนั้นท่านจะถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคลได้ไหม ท่านจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลได้ไหม ท่านจะถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ไหม ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ได้สะสมมา ตามความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามการสะสม จะเปลี่ยนแต่ละบุคคลให้เหมือนกันไม่ได้เลย แต่ละหนึ่งจริงๆ เพราะฉะนั้น ประวัติของพระสาวกทั้งหลาย ก็แสดงการที่ แต่ละท่านเคยเกิดเป็นอะไร เคยทำอะไร เคยชอบอะไร เคยไม่ชอบอะไรทั้งหมด แสดงให้เห็นตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องของความจำ หรือว่าสัญญา ขอความกรุณาท่านอาจารย์ขยายความตรงนี้ว่า ส่วนใหญ่เราไม่จำสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงเลย มีนัยโดยละเอียดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ความจริง จะให้ไปจำสิ่งที่มีจริงก็ไม่ได้ ใช่ไหม เกิดมาก็มีคน มีต้นไม้ มีบ้าน มีเพื่อน มีทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว แต่ละหนึ่งสามารถจะปรากฏว่ามีได้เพราะอะไร ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ อะไรๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลยทั้งสิ้น แม้เดี๋ยวนี้ ฟังแล้วเข้าใจ แต่ว่าสภาพของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อไม่ขาดสายเลย ก็ยังไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็อาศัยการเข้าใจจากการฟัง จนกระทั่งมีความมั่นคงว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะที่ต่างกันเป็นสองอย่าง แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร แม้แต่สิ่งที่แข็งจะเป็นเรา หรือ เสียง กลิ่น รส หรือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ ก็เพียงปรากฏให้เห็น แล้วก็หมดไป เพราะจะนั้น จะเป็นเรา หรือเป็นใครก็ไม่ได้ทั้งสิ้น เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ จึงจะมีสัญญาความจำในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราในความไม่เที่ยง ในการเป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะติดข้องยินดี ด้วยความเห็นผิด แต่ที่จะไม่ให้ติดข้องยินดีเลย เป็นไปไม่ได้ ต้องความเห็นผิดก่อน และภายหลังก็จะรู้ว่า แม้ไม่มีความเห็นผิดแล้ว ก็ยังมีความติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป ปัญญาก็จะใช้คำว่าฉลาดขึ้น หรือมั่นคงขึ้น หรือรู้ละเอียดขึ้นก็ได้ ทำให้ค่อยๆ คลายการติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระสกทาคามี แต่ก็เพียงเบาบางจากการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่ถึงกับดับเป็นสมุจเฉทเหมือนกับพระอนาคามี แม้เป็นพระอนาคามีแล้ว ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รสไม่มี เพราะฉะนั้น โทสะก็ไม่เกิด แต่ก็ยังมีความติดข้องในความเป็น ในภพ ในชาติ จนกว่าจะเห็นโทษของการที่ ทำไมจะต้องมี ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่อะไรเลย แต่ก็ยังต้องเกิดดับเห็นบ้างได้ยินบ้างไปเรื่อยๆ ก็จะมีการหน่ายในภพ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป เมื่อสามารถที่จะดับความติดข้องในภพ อกุศลทั้งหลายดับหมด ก็ถึงความเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น เป็นพระอรหันต์ ต้องตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาเทียบกันไม่ได้เลย ปัญญาของปุถุชนกับปัญญาของกัลยาณปุถุชน หรือปัญญาของกัลยาณปุถุชนกับปัญญาของพระอริยบุคคล ก็ต่างกัน ตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ คือ หมายความว่า ตอนนี้ความจำ ก็คือ จำในเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นลำดับขั้นไป

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ยังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม จะไปจำลักษณะที่เกิดแล้วดับ ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นสุขสัญญา นิจจสัญญา อัตตสัญญา ถ้าจะเข้าใจการที่ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น และมั่นคงขึ้น จากสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ต้องตรงกัน แต่ว่าปัญญาต่างระดับ เช่น ขณะนี้ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ต้องเกิด เข้าใจระดับหนึ่ง และสิ่งที่เกิดก็ต้องดับ ถูกต้อง ถูกทุกอย่าง แต่ยังไม่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้น ปัญญาที่กล่าวว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามขณะนี้ปรากฏเพราะเกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไป เป็นความเห็นถูกระดับขั้นฟัง ทั้งๆ ที่ขณะนี้ได้ยินอย่างนี้ แต่สภาพธรรมก็ยังไม่ได้ปรากฏอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาเจริญขึ้น ได้ยินอย่างนี้ สภาพธรรมปรากฏอย่างนี้ แล้วก็กำลังเป็นอย่างนั้นด้วย นี่ก็แสดงว่า หมายความว่า ต้องมีการเข้าใจละเอียดขึ้น และคลายความติดข้อง เมื่อคลายความติดข้องสภาพธรรมขณะนี้ ก็เกิดดับเป็นปกติตามปกติ ขณะนั้นปัญญาก็สามารถที่จะเห็นถูกในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ต่างกันที่ปัญญาแต่สิ่งที่ปรากฏก็เป็นอย่างนี้ จากการเริ่มฟัง และเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ผู้ที่ระลึกรู้ ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งปัญญาคมกล้าถึงความเป็นพระโสดาบันแล้ว กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ เพื่อให้ท่านเข้าใจชัดเจนอย่างไร เพื่อให้ท่านละกิเลสที่เหลือได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ระลึกรู้อย่างนี้จะให้ท่านรู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่พ้นจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ท่านก็ยังคงต้องระลึกถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ และไม่ว่ากิเลสที่เหลือ คือ ความติดข้อง ท่านก็ต้องมีก็ต้องระลึกว่าโลภะเกิด หรือว่าอะไรเกิดก็เป็นเพียงสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เห็นความหน้ารังเกียจของอกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่ละอย่างลองคิดดู โลภะขณะนี้ดูไม่น่ารังเกียจเท่าไหร่ ใช่ไหม แต่ความจริงอกุศลทั้งหมดควรมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ควรมี

    ท่านอาจารย์ ต้องปัญญาเท่านั้น ที่จะเห็นว่าควรละ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ แสดงว่าจนกระทั่งท่านจะบรรลุเป็นพระสกทาคามี หรือเป็นพระอนาคามี ท่านก็ยังคงจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ยังมีอยู่ให้ระลึก

    ผู้ฟัง มีอยู่แค่นั้น และกิเลสที่ท่านยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ พระอนาคามีจะระลึกถึงความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รสได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ท่านไม่มีความติดข้องแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะดับความติดข้อง ไม่มีให้ระลึกในความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น พระอนาคามี ท่านก็ยังมีความติดข้องในภพชาติ ในความมีความเป็น

    ท่านอาจารย์ เพื่อระลึก จะได้รู้ว่าไม่ควรจะมี แม้ความติดข้องในภพ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    23 ธ.ค. 2566