พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 799


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๙๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ ถ้าบุคคลที่เข้าใจเบื้องต้น ตามที่ฟังท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นการพยายามที่จะรู้ถึงความต่างกันของเห็นกับการคิดในสิ่งที่เห็น แต่ว่าเมื่อมีการฟัง มีการพิจารณาไตร่ตรองว่า การเห็นก็เป็นขณะหนึ่ง การคิดนึกถึงสิ่งที่เห็นก็เป็นขณะหนึ่ง เมื่อมีการเข้าใจอย่างนี้เพิ่มขึ้น มีการสั่งสมสิ่งที่มีเป็นปรกติ คือ มีการเห็นบ้าง มีการคิดในสิ่งที่เห็นบ้าง ก็เริ่มที่จะพิจารณาถึงธรรมเหล่านั้นได้ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ถ้าตั้งใจว่าเป็นเราฟังธรรม จะเอาเราออกไม่ได้เลยเพราะเป็นเราเข้าใจ และก็เราฟัง แต่ถ้าฟังธรรมรู้ว่า ฟังให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง แค่นี้ แม้แต่สิ่งที่มีจริงก็ไม่ใช่เราแล้ว และก็เป็นแต่ละหนึ่งๆ ๆ ที่มีจริง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะค่อยๆ คลายความคิดที่ยึดถือ แม้ความเข้าใจว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท หมายความว่า เกิดอีกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นปัญญาระดับไหน นี่คือทางตา และก็ลองคิดถึงทางหูโดยนัยเดียวกันหรือเปล่า เสียงเข้าใจเลย คนไทยพอได้ยินคำว่าเสียง ก็เข้าใจเลย ใช่ไหม แต่ความจริงคนที่เขาไม่ใช่คนไทย ได้ยินคำว่าเสียง ได้ยินมีแน่ๆ แต่เข้าใจไหม ว่าหมายความถึงอะไร ก็ไม่เข้าใจ แต่เสมือนว่าได้ยินเป็นคำ

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ความต่าง ความรวดเร็วของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง เสียงเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากสิ่งที่ปรากฏว่ามี ในขณะที่จิตได้ยินเท่านั้น คำว่าเท่านั้นก็รวมถึงจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดสืบต่อด้วย เพราะเหตุว่า การแสดงธรรมเท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ ถ้าพูดถึงจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดสืบต่อไม่ได้ปรากฏ ก็เข้าใจไม่ได้ แต่ที่สามารถจะเข้าใจได้ คือ ไม่ใช่เพียงได้ยินเสียง ยังรู้ด้วยว่า เสียงหมายความว่าอะไร เสียงที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าในขณะที่รู้ ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน เพราะว่าคนที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เข้าใจความหมายของเสียงนั้น ฟังเสียงก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร แต่ได้ยินมี เพราะฉะนั้น ได้ยินไม่ใช่ในขณะที่ได้ยินเสียงนั้นจนชิน จนสามารถที่จะสื่อ ทำให้เข้าใจกันได้เป็นที่รู้ว่า เสียงนั้นหมายความถึงอะไร นี่ก็คือสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ตลอดทุกขณะในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้ เป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ฟังจนกระทั่งรู้ความจริงว่าไม่มีเรา แต่มีธรรมแต่ละหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ เห็นเมื่อเกิดขึ้น แต่ละคนก็จะแตกต่างกัน บางอย่างของคนหนึ่งเห็น แต่อีกคนหนึ่งไม่เห็น ก็คือ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ พูดถึงธรรมทีละหนึ่ง พูดถึงเห็น ไม่ได้บอกว่าคนเห็น หรือใครเห็น หรือเขาเห็น หรือเราเห็น หรือเห็นสองเห็นต่างกันหรือเปล่า แต่พูดให้เข้าใจว่าเห็นมีจริงๆ เดี๋ยวนี้เกิดเห็นเท่านั้นเอง เท่านั้นเองจริงๆ แค่เห็นแล้วก็หมดแล้ว ไม่ว่าจะที่ไหนเมื่อไหร่จะเรียกว่าเขา จะเรียกว่าเรา จะเรียกว่าคน จะเรียกว่างู จะเรียกว่าสุนัข จะเรียกว่าแมว หรืออะไรก็ตามแต่ เห็นเป็นเห็น พูดถึงเห็น

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ความคิดทำให้เห็น ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เห็นต้องอาศัยอะไร

    ผู้ฟัง จักขุปสาท

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดอาศัยอะไร

    ผู้ฟัง คิด ก็ต้องอาศัยจิตคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คิดจะเห็นได้ไหม ในเมื่อเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท

    ผู้ฟัง ที่มากราบเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะว่าคุณแม่ที่บ้าน เขาเห็นเด็กเดินอยู่ในบ้าน แต่ว่าไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาสำหรับดิฉัน

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญากำลังเห็น คุณอรรณพกำลังเห็น จะเป็นเห็นเดียวกัน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นคือเห็น จะเป็นอื่นไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็หมดความสงสัย เห็นต้องเป็นเห็นเท่านั้น เห็นเป็นอื่นไม่ได้

    อ.คำปั่น กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เรื่องหนทาง สืบเนื่องจากเมื่อวานได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า แต่ละคนก็มีทางเดินของชีวิต ขึ้นอยู่กับว่าจะเดินไปทางไหน และวันนี้ก็ได้ฟังท่านอาจารย์พูดถึง หนทางที่ควรเดินอีกครั้งหนึ่ง ก็จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า หนทางนี้ เป็นหนทางที่ควรเดิน เป็นหนทางที่ควรจะอบรมในชีวิตประจำวัน กราบเรียนถามท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษา ว่าจะรู้ได้อย่างไร ว่าหนทางนี้ เป็นหนทางที่ควรเดิน

    ท่านอาจารย์ มีอะไรที่อยู่กับที่ ไม่ดับไปบ้างเมื่อเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น แม้จิตเกิดก็ดับ ไปไหน ไปอยู่ทุกขณะโดยไม่รู้ตัวเลย ไม่ใช่เพียงแค่เกิดมาเห็น เพราะเหตุว่า อย่างไรเกิดมาแล้วต้องเห็นแน่ แต่หลังจากเห็นแล้วไปไหน วิตกเจตสิกเป็นสภาพที่ตรึก หรือคิด ห้ามไม่ได้เลย ไม่มีใครห้าม กรรมทำให้เป็นบุคคลนี้ แต่ว่าการสะสมมาหลังจากที่เห็นซึ่งเป็นผลของกรรมมีแล้ว จากนั้นจะเป็นไปอย่างไร มีการคิดนึกตามการสะสม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า มีคำว่าอกุศลวิตกกับกุศลวิตก เพราะคำว่า วิตกไม่ได้หมายความถึง วิตกในภาษาไทย ที่เป็นห่วงเป็นใยกังวล แต่เป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น ไม่ได้ทอดทิ้งสิ่งที่ปรากฏแม้จิตเห็นดับ จิตที่เกิดต่อก็จรดในอารมณ์ที่รับสืบต่อจากจิตที่เห็น เพราะเหตุว่า รูปยังไม่ดับไป แต่เริ่มการตรึก แต่ยังไม่ถึงกับการที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร แต่จากการสะสมจากการเป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งยังไม่รู้จักอะไรเลย พ่อแม่ก็ไม่รู้จัก คนก็ไม่รู้จัก อาหารก็ไม่รู้จัก อะไรก็ไม่รู้จัก จนกระทั่งความจำเริ่มจำทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎ ในนิมิตนั้นๆ เช่นจำสัณฐานของคนใกล้ชิด หรือสิ่งต่างๆ หรือเสียงก็เริ่มคุ้นหูว่าเสียงนั้น เวลาเสียงนั้นเกิดขึ้น และมีอะไรเกิดขึ้น หรือหมายความถึงอะไร ไม่ว่าจะเป็นทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เริ่มที่จะนึกถึงสิ่งที่ได้ผ่านมา เพราะฉะนั้น เมื่อยิ่งโตขึ้นก็เป็นเรื่องมากของทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่แค่เห็น เห็นแล้วยังคิด แล้วแต่ว่าคิดดี หรือว่าคิดชั่ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง จะรู้หรือไม่ อย่างนั่งเฉยๆ จะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่มีใครบอก ไม่รู้เลยใช่ใหม ไม่เห็นโทษของความไม่รู้ เพราะเหตุว่า ไม่รู้จึงเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นคน ถ้ารู้เป็นอะไร เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น แล้วก็แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ การที่เกิดมาแล้ว และจะต้องมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ที่จะต้องมีเห็น มีได้ยิน และก็มีกุศล อกุศล เลือกได้ไหม ว่าอะไรจะดีกว่ากัน ถ้าเป็นปัญญาความเห็นถูกก็เห็นโทษของอกุศล และก็เห็นประโยชน์ของกุศล แต่แม้อย่างนั้นก็ยังไม่ใช่การที่ได้เข้าใจสภาพธรรม จนกว่าจะเป็นการได้ยินได้ฟังธรรม กุศลนั้นจึงสามารถที่จะประกอบด้วยปัญญา หรือว่าเป็นไปพร้อมกับความเห็นถูก ก็มีเรื่องสำหรับอาทิตย์หน้า ที่เป็นพระสูตร แต่ถ้ากล่าวถึงในวันนี้ก็อาจจะทำให้เข้าใจตรงนี้ชัดเจน ขออนุญาตเอาพระสูตรอาทิตย์หน้ามาพูด ได้ไหม คุณคำปั่นช่วยเล่าให้ฟังด้วย

    อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ สำหรับพระสูตรที่จะนำมาสนทนาในสัปดาห์หน้า ชื่อว่า มักกฏสูตร ซึ่งมักกฏะ ก็เป็นภาษาบาลี แปลออกมาเป็นไทย ก็คือ หมายถึง ลิง กล่าวถึงพระสูตรนี้ว่า ในพื้นที่ป่าที่เป็นที่ราบเรียบ จะเป็นที่สัญจรของพวกสัตว์ และมนุษย์ เวลาที่ลิงไปเพ่นพ่าน พวกที่เป็นประชาชนก็จะไม่สะดวกสบายในการที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็มีนายพรานเอาเครื่องดักลิงเรียกว่าตัง เวลาที่ลิงติดตัง พอมือข้างหนึ่งติด ก็มีความต้องการที่จะเอามือออก จึงเอามืออีกข้างหนึ่งไปช่วยเพื่อที่จะดึงมือออก ก็ติดเป็นสองข้าง จึงเอาเท้าเพื่อที่จะไปแกะเอามือทั้งสองข้างออก เท้าก็ติดเข้าไปอีก เหลืออีกข้างหนึ่งก็จะช่วยให้เอามือเอาเท้าที่เหลือออกได้ ปรากฏว่าก็ยิ่งติดเข้าไปอีก ทั้งมือทั้งเท้าเป็นสี่แล้ว เหลืออีกอย่างเดียว คือ เอาปากเพื่อที่จะช่วยให้มือ และเท้าออกจากเครื่องดักของนายพรานนี้ได้ ปรากฏว่าติดทั้งหมดเลย ทั้งมือเท้า และปาก พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เมื่อนายพรานดักลิงได้แล้ว ก็จะนำไปฆ่า ซึ่งพระธรรมพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ควรอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นอารมณ์ของบิดา ก็คือ เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ ทรงเจริญมาแล้วเพื่อที่จะไม่ให้จิตเป็นไปในทางที่เป็นอกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าหากว่าไม่มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะติดอยู่ในกับดักที่เรียกว่ากามคุณ ๕ ก็คือ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ เมื่อติดข้องในสิ่งเหล่านี้แล้ว กุศลธรรมไม่เจริญขึ้น ก็จะถูกฆ่าด้วยกิเลส ทำให้กุศลธรรมไม่เจริญขึ้น ซึ่งเมื่อวานก็ได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า นายพรานนี้ เปรียบเหมือนอะไร ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวว่า หมายถึง กิเลสหรือจะบอกว่าเป็นกิเลสมารก็ได้ เพราะว่า เป็นสภาพธรรมที่ฆ่าไม่ให้ความดี ไม่ให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ก็เป็นพระธรรมคร่าวๆ ซึ่งจะได้กราบเรียนท่านอาจารย์ ได้สนทนาเพื่อความละเอียดของพระธรรมยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทุกครั้งของการประชุมวิชาการ ก็จะมีการอ่านพระสูตรที่จะใช้ในอาทิตย์ต่อไป และก็จะได้ฟังความคิดเห็นของแต่ละท่านที่ค้นคว้าเหตุผลต่างๆ มาประกอบกัน เห็นพระมหากรุณาคุณไหม พูดเรื่องลิง โวหารเทศนา ที่นี่เป็นฝูงลิง หรือเปล่า เริ่มสนุกแล้วใช่ใหม ลิงซนมาก ลิงไม่อยู่เฉยเลย ไปทางโน้นมาทางนี้ เดี๋ยวตา เดี๋ยวหู เดี๋ยวจมูก เดี๋ยวลิ้น เดี๋ยวกาย เดี๋ยวใจ แต่ก็มีนายพราน ที่ต้องการที่จะจับลิง ก็เอาตังไปทาไว้ตามที่ต่างๆ ใครเป็นคนไปทาสิ่งที่น่าพอใจ ไว้ที่สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอวิชชา เพราะว่า เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การฟังอุปมาก็มุ่งไปที่ประโยชน์ ที่จะรู้ว่า ทำไมทั้งๆ ที่เป็นคน หรือว่าจะเป็นเทพ หรือจะเป็นใครที่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ก็เที่ยววิ่งพล่านไป สนุกสนานไป กับรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้น ทุกคนที่นี่เป็นฝูงลิง ข้างนอกเป็นไหม หรือว่ามีลิงแต่เฉพาะที่นี่ ทั่วไปหมด เพราะเหตุว่า มีอวิชชาที่ทา สิ่งที่จะติดไว้ตามสิ่งต่างๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มือสองข้าง เท้าสองข้าง แล้วปาก แล้วจะทำยังไง อย่างที่คุณคำปั่นถาม หนทางไหน มีไหม จะทำได้ยังไง จะออกจากการที่ถูกติดอย่างแน่นมาก กาวสมัยนี้ เป็นกาวอย่างดีที่แกะไม่ออก หรือว่าแกะยาก แล้วก็ติดมานานแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ทางไหนควรไป ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีผู้ที่สามารถจะให้ยา ที่สามารถที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากตัง ไม่มีใครสามารถที่จะหลุดพ้นได้ ใช่ไหม แต่ว่าใครจะรู้จักยา เพราะแล้วแต่ ลิงฉลาดก็มี ลิงไม่ฉลาดก็มีให้ยาไปก็ไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไรก็ได้ ใช่ไหม นี่เป็นการอุปมามาให้เห็นความไม่รู้ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งนั้น ความไม่รู้ต้องเป็นความไม่รู้ จะเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม ลืมไม่ได้เลย ยา คือ ธรรม พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นยา และถ้าไม่เข้าใจยา จะรักษาหรือจะพ้นจากตัง ได้ไหม ไม่มีทางที่จะพ้นไปได้เลย แต่เมื่อเห็นว่าเป็นยา เป็นสิ่งเดียวที่สามารถที่จะทำให้พ้นจากความติดข้องซึ่งมาจากความไม่รู้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเห็นอย่างนี้ จะใช้ยานั้นให้เป็นประโยชน์ได้ไหม เพราะรู้ว่ายานั้นทำได้ สามารถที่จะช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ เพราะเหตุว่า คุณคำปั่น ลิงตัวนั้นพอติดหมดห้าทางแล้ว ทำยังไง

    อ.คำปั่น พอลิงติดตังแล้ว ทั้งมือ ทั้งเท้า ทั้งปาก ก็จะมีข้อความแสดงไว้ว่า ลิงตัวนั้นถูกตรึงห้าประการอย่างนี้แล้ว นอนถอนใจถึงความพินาศ อันนายพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา นายพรานแทงลิงตัวนั้นแล้ว จึงดึงออกทิ้งไว้ในที่นั้น ไม่ปล่อยไป และก็หลีกไปตามปรารถนา

    ท่านอาจารย์ อดถอนใจกันหรือเปล่า เดี๋ยวก็ทุกข์ๆ สุขนิดเดียวเอง แล้วก็หมดไปพ้นทุกข์ไม่ได้เลย เพราะว่า ตามความเป็นจริง ทุกข์จริงๆ คือ ติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วหมดไป แล้วไม่กลับมาอีก คิดดู นี่เป็นต้นเหตุสำคัญ ถ้าจะดับทุกข์ คือ ต้องดับความติดข้อง และความติดข้องก็มีหลายระดับมาก ระดับต้น คือ ติดข้องด้วยความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน จึงได้ติด ใช่ไหม เพราะว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ถ้าจะดับ ต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเพราะไม่รู้ ไม่ไช่ว่าเรามาละกิเลสกัน แล้วก็ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แต่ไม่มีความรู้อะไรเลย นั่นคือ ผู้ไม่รู้ และไม่สามารถที่จะรู้ว่าการละหรือการดับกิเลสจนไม่เกิดอีกเลยเป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ กิเลสมากมายเหลือเกินก็มาก มากอย่างนั้นก็มาก แต่ก็ยังสามารถที่จะดับเป็นสมุจเฉทได้ด้วยความรู้ ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเป็นหนทาง ที่จะทำให้เกิดความเห็นถูก ซึ่งจะเป็นมรรคที่จะออกจากการที่จะติดข้องในสังสารวัฏฏ์ ไม่ต้องมาทอดถอนใจกันไปมาอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวชาตินี้ชาติเล่าก็เป็นอย่างนั้นอีก

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยา สามารถที่จะพ้นจากตัง เปรียบเหมือนอะไร ระดับไหน แค่ยา ให้เห็นความหนาแน่นของกิเลส ดูเหมือนจะดับกิเลสหมดเลยหรือเปล่า หรือยัง แค่ยา ปริยัติ ความลึกซึ้งกว่าจะถึงปฏิปัตติ เพราะรู้ว่า ต้องมีผู้ทำตังให้ติด ที่ไปติด ไปข้องในที่ต่างๆ ถ้าไม่มีอวิชชาจะติดข้องไหม ไม่มีการที่จะไปทำให้สิ่งต่างๆ ดูน่าติดข้องเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่รู้จักนายพราน สามารถที่จะทำลายนายพรานได้ไหม เพราะว่า เดี๋ยวนายพรานก็มาอีก ถ้ายังคงมีนายพรานอยู่ตราบใด มาอีกแน่ๆ ทาตังอีกแน่ๆ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น จากการที่ได้ฟังพระธรรม และเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างมั่นคง ก็จะหาตัวนายพราน และตอนนี้ทุกคนก็รู้จักนายพรานแล้ว คือ อวิชชา สู้ไหวไหม นักมวยก็ต้องมีการสู้กัน ใช่ไหม แล้วใครจะชนะ ถ้าคนแข็งแรงรู้จักหนทางวิธีการต่างๆ ก็สามารถที่จะเอาชนะได้ เพราะฉะนั้น ติดตังมาตั้งนาน และหลุดจากตัง จะแข็งแรงสักแค่ไหน พอที่จะสามารถทำลายนายพรานได้ไหม ระหว่างลิงที่ติดตังมานาน เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีอาหาร ถ้าไม่มีอาหารที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่มีทางที่จะชนะได้อาหารนั้น ก็คือ ความดี ซึ่งเป็นบารมีที่จะทำให้สามารถที่จะมีกำลัง ที่จะมีปัญญาความเห็นถูก ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ว่าในขณะที่ฟังอย่างนี้ ต้องรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร กิจที่ควรทำ ไม่ลืมคำนี้บ่อยๆ กิจที่ควรทำไม่ใช่กิจอื่น กิจเข้าใจธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อที่จะเข้าใจธรรม และก็ต้องทำความดีด้วย อยู่เฉยๆ ได้ยังไง ไม่กินอาหารทำให้ร่างกายแข็งแรง และจะไปทำลายอวิชชา หรือว่านายพรานเป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่ทรงอุปมาลิง ให้เห็นตัวอย่างว่า ลิงเป็นยังไง ไม่รู้แค่ไหน ถึงได้ติดในตังได้ ก็คือว่า หลายอุปมา แล้วแต่ว่าผู้ฟังเป็นใครสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน แต่ขณะนี้ไม่ต้องมีรูปร่าง เพราะความจริงลิงกับคนก็รูปร่างคล้ายๆ กันมาก แต่ว่าจะเรียกคนเป็นลิง จะเรียกลิงเป็นคนก็แล้วแต่บัญญัติสมมติ แต่หมายความถึงอกุศลที่มี ที่จะทำให้หมดสิ้นไปได้ ต้องเพราะกุศล และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีทางเลยที่จะพ้นไปจากนายพรานที่เป็นอวิชชาได้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ พอฟังแล้วก็จะเห็นได้ว่า อวิชชาซึ่งเป็นความไม่รู้ในธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง จึงเป็นปัจจัยให้ติดข้องในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เลยไม่เห็นภัย ไม่เห็นอันตรายที่จะต้องถูกฆ่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคน ก็รู้สึกว่า เป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง แต่พอคิดว่าเป็นลิง เป็นลิงจริงๆ ติดตังจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีแรงพอที่จะพ้นได้ นอกจากพระธรรม เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ปลอดภัยที่สุด คือ ถ้าเพื่อสิ่งนั้นสิ่งเดียว ไม่ได้เพื่อต้องการที่จะได้วิปัสสนาญาน หรือว่าจะได้ดับกิเลสซึ่งแสนไกล เพราะว่า ถ้าไม่มีความรู้ อะไรจะไปละความติดข้อง ละกิเลสทั้งหลายได้ ต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ ถ้าเข้าใจขึ้นๆ แม้ขณะนั้น ก็คือ ปัญญาที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะเข้าใจ ถึงระดับที่รู้แจ้งได้ ตอนนี้นายพรานอ่อนแรงไปบ้างหรือยัง ไม่มีทางเลย ไม่มีทางที่จะคิดว่า นายพรานได้อ่อนแรงไปแล้ว จนกว่าลิงจะมีกำลังมาก

    อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ก็เริ่มที่คำว่าปริยัติ เพราะฉะนั้นแล้ว ก็ต้องสำคัญที่ความเข้าใจพระธรรมตั้งแต่ต้น กว่าจะไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่จะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่เจริญขึ้นก็ต้องมาจากทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่มีความเข้าใจก็ติดตังไป แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจขึ้นๆ ก็สามารถที่จะมียา ที่สามารถที่จะทำให้พ้นจากตัง แต่ก็ยังมีอกุศลที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่า จะต้องถึงกับการรู้ว่านายพรานอยู่ที่ไหน และก็สามารถที่จะมีกำลังพอที่จะทำลายนายพรานได้ จากนายพรานซึ่งมีกำลังมากจนกระทั่งอ่อนแอลงๆ เพราะกำลังของลิง ตอนนี้ยอมเป็นลิงไหม แม้แต่พระธรรมที่กล่าวถึงเรื่องลิง เป็นมรณสติหรือเปล่า ไม่มีใครรู้เลยใครจะหายไปพรุ่งนี้ ก็เป็นไปได้ถึงจุดหมายปลายทางที่เดินอยู่ทุกวัน คือ ถ้าเดินไปทางอกุศล ก็ถึงที่ที่เป็นอบายภูมิ แต่ถ้าเดินไปในทางกุศล ก็ถึงที่ที่ปลอดภัย และถ้าเดินในหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม ก็จะพ้นจากภัยทั้งหมดได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    11 ม.ค. 2567