พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 804


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนนที่ ๘๐๔

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ มีเห็นไหม

    อ.วิชัย ก็กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีได้ยินไหม

    อ.วิชัย ก็มีปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีคิดไหม

    อ.วิชัย ก็คิด มีด้วย

    ท่านอาจารย์ มีแข็งไหม

    อ.วิชัย ก็มีด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้สิ่งไหน เพราะเลือกหรือเพราะปรากฏ มีทุกอย่างเลยในห้องนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี เสียงก็มี คิดก็มี เห็นก็มี แข็งก็มี กำลังเลือกเห็นหรือเปล่า หรือว่าเห็นเกิดแล้ว โดยไม่เลือก เลือกไม่ได้

    อ.วิชัย ก็เกิดแล้ว โดยไม่ได้เลือก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเลือกเข้าใจธรรม ได้ไหม

    อ.วิชัย ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ คือ ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ว่าธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นได้เลย เกิดแล้วทั้งนั้น กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ กลับจะไปเลือก ก็ผิดแล้ว ใช่ไหม

    อ.วิชัย ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจธรรม ทีละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ ทีละ ๒ ขณะไม่ได้แน่ ใช่ไหม แล้วก็มีคำว่า ผัสสเจตสิก ทุกคนก็รู้จักเจตสิกอันดับแรกเลย ใช่ไหม เจตสิกมีถึง ๕๒ แต่กล่าวถึงสภาพเจตสิก๑ คือ ผัสสะ ก่อนอย่างอื่น ก็แสดงให้เห็นว่า ผัสสะ ก็เป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย และขณะใดที่จิตเกิด จะปราศจากสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน อาศัยกัน และกันเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ที่ใช้คำว่าเจตสิก อย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท เกิดพร้อมจิตทุกประเภท รวมทั้งหนึ่งแรก คือผัสสเจตสิก สภาพของนามธรรมที่กระทบอารมณ์ เพราะเหตุว่า รูปไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น และ ผัสสะ ก็ไม่ใช่รูป และก็ไม่ใช่จิต แต่ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ เกิดขึ้นกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ โดยที่ว่า ใครจะไปสั่งผัสสะได้ไหม นี่คือความเป็นอนัตตา ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้ว่า ทั้งหมดเป็นธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นจริงๆ แม้แต่หนึ่งขณะ ที่สภาพธรรมที่เป็นจิต อย่างเดี๋ยวนี้ เห็นเกิดขึ้นก็จะต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ให้เกิดไม่ได้ ทุกคำ เพื่อเข้าใจ แม้แต่ธรรม ธรรมชาตะ ธรรมชาติ ก็ไม่ได้พูดเรื่องอื่น พูดเรื่องสิ่งที่กำลังมี ให้เข้าใจว่า เราไม่ควรที่จะผิวเผิน และก็เข้าใจเอาเองอย่างได้ยินคำว่าธรรมชาติ แล้วก็ไม่ศึกษาธรรม ก็เข้าใจว่าธรรมชาติก็เป็นป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ แต่ว่าตามความเป็นจริง ต้องรู้ว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง และก็สิ่งที่มีจริง ก็ต้องมีความเป็นไปของธรรมนั้นๆ ด้วย จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เกิดมาเป็นคุณอรวรรณ เกิดมาเป็นคุณสุพิชชา เกิดมาเป็นคุณอรรณพ มายังไงถึงได้เป็นอย่างนี้ เหมือนกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ละหนึ่งขณะของจิต อย่างเราพูดถึงเมื่อสักครู่นี้ ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรม ซึ่งมีจริงๆ ถ้าผัสสะกระทบสิ่งใด จิตรู้สิ่งที่ผัสสะกระทบ จิตจะไปรู้อื่นจากสิ่งที่ผัสสะไม่ได้กระทบไม่ได้ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เช่น ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ผัสสเจตสิก เกิดกับจิตเห็น เพราะผัสสะกระทบกับสิ่งที่กระทบจักขุปสาทได้ ผัสสะกระทบได้ทุกอารมณ์ ทุกอย่าง แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรปรากฏ ก็แสดงอยู่ในตัวว่าเพราะเจตสิก๑ ได้เกิดขึ้นทำกิจกระทบอารมณ์นั้น เช่น ขณะนี้คุณอรวรรณได้ยิน แต่คนอื่นคิดเรื่องอื่น เป็นไปได้ไหม เพราะอะไร ทั้งหมดเป็นธรรม ไม่มีใครไปจัดสรร ไม่มีใครไปเลือก

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมแต่ละครั้ง เพื่อเข้าใจความเป็นอนัตตา ความเป็นจริงของธรรม จนกว่าวันหนึ่งสามารถที่จะรู้ความจริงยิ่ง ถึงที่สุด คือ การเกิดขึ้น และดับไป ของสิ่งที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ต้องเพราะความเข้าใจอย่างเดียว ไม่ใช่เป็นตัวเราที่ไปเพียรจะรู้ โดยไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จากความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา จึงสละความติดข้อง ซึ่งเหมือนหลังคาที่คลุมไว้ ไม่ให้มองเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เวลานี้อะไรอยู่ข้างนอกหลังคาบ้าง รู้ไหม กำลังอยู่ใต้หลังคาจะรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ถ้าหลังคาปิดมืดหมดเลย อวิชชาจะมองเห็นอะไรไหม ที่มีอยู่ในที่นั้นจนกว่าจะมีแสงสว่าง เมื่อเปิดหลังคาแล้ว จึงสามารถที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เปิดด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ สิ่งที่มีจริง นานแสนนานมาแล้วก็เป็นอย่างนี้ โดยไม่รู้ความจริงเลยว่า ไม่เป็นใครสักอย่าง สักคน สักชาติ เป็นแต่เพียงธาตุที่เกิดขึ้น ธาตุนั้นมีจริงๆ เกิดขึ้นสืบต่อเป็นไปอยู่ตลอดเวลา และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย ผัสสเจตสิก เกิดมากเท่าไหร่ ตั้งแต่เช้ามา หรือเมื่อสักครู่นี้เอง นับไม่ถ้วน ทำหน้าที่อย่างนี้มา ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว นานแสนนานมาแล้ว ผัสสะ ไม่ทำหน้าที่อื่นเลย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นตัวผัสสะเอง กระทบแล้วจิตก็เกิดขึ้นเห็น ในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมตั้งแต่เพียงปรากฏชั่วคราว กว่าจะถึงการที่ชั่วคราวจริงๆ ด้วยการละคลายว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมนั่นเอง ซึ่งเกิดปรากฏแล้วก็หมดไปเพียงชั่วคราว ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดง และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในความเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในการฟังท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้กล่าวถึงสิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ผัสสะ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง ผัสสะมากมาย จิตรู้อะไร หรืออะไรปรากฏ ผัสสะ ก็ต้องกระทบกับสิ่งที่ปรากฏนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วผัสสะ เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ผัสสะ ชวนให้จิตรู้อารมณ์ ที่ผัสสะกระทบหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ผัสสะที่ดับไปแล้ว รู้จักผัสสะใหม่ที่เกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ นี่คือชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม เพียงเข้าใจว่า เลือกไม่ได้ จะนำไปสู่ความเข้าใจปัจจัยไหม แต่เพียงได้ยินคำว่าเลือกไม่ได้ ยังไม่ถึงการเข้าใจปัจจัย แต่ว่าจากการที่มีความเข้าใจจริงๆ ว่าเลือกไม่ได้เลย แล้วแต่ธรรมเกิดขึ้นเป็นไป แล้วก็ได้ยินได้ฟังว่า ตามเหตุตามปัจจัย ก็ได้ยิน เช่น ขณะนี้กำลังเห็นตามเหตุตามปัจจัย คือ มีสิ่งที่กระทบจักขุปสาท คือ กระทบตา และก็ถึงเวลาที่กรรมจะให้ผล เมื่อสิ่งที่กระทบนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็ถึงวาระของกุศลที่ได้กระทำแล้ว จะทำให้ผลของกุศลนั้นเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ดีที่น่าพอใจ เราก็สามารถจะค่อยๆ นำไปสู่ความเข้าใจ ความเป็นปัจจัย จนถึงขณะที่สิ่งนั้นกำลังเกิดขึ้นก็รู้ได้ ในความต่างของแต่ละหนึ่ง ซึ่งขณะนี้แต่ละหนึ่งก็เกิดไปดับไป พร้อมทั้งปัจจัยต่างๆ แต่ความรู้ก็ยังไม่รู้ถึงความเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยจากการฟังค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ คลายความไม่รู้ ความที่เคยยึดถือสภาพธรรม จนกว่าจะถึงขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็จะรู้ว่า อะไรนำมาสู่การที่จะสามารถเข้าใจลักษณะแท้ๆ ของเห็นที่กำลังเห็น หรือว่าได้ยินที่กำลังได้ยิน และทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏก็ต้องอาศัยความเข้าใจจากการฟัง ที่ใช้คำว่าปริยัติ หมายความว่า ฟังแล้วรอบรู้ คือ เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง มากขึ้น มั่นคงขึ้นจนกระทั่งคลายการที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา ในขั้นของการฟัง ในขั้นของการคิด จนกว่าจะถึงขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หลายคนก็เพิ่งฟัง ใช่ไหม ไม่เหมือนกับคนที่ฟังมาแล้วหลายเดือน หรือว่าหลายปี แต่ก็ความรู้ความเข้าใจเท่านั้น ที่เพิ่มขึ้น ที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจ และคลายความติดข้อง ที่เคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ในขณะนี้ เพียงปรากฏให้เห็นได้ ได้ยิน เข้าใจ ลืม เมื่อวานนี้ ก็ได้ยิน เข้าใจ แล้วลืม เดี๋ยวนี้ก็เป็นคุณอรรณพ หมายความว่า ขณะที่กำลังเห็น เข้าใจในความเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้จริงๆ หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องปัญญาขั้นต่างๆ เลยเพราะว่า ปัญญาทุกขั้น คือ ความเข้าใจ ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย จะไปหาปัญญาที่ไหนมารู้อะไรได้ ก็เพียงแต่เรียกชื่อ แต่ก็ไม่ใช่ความเข้าใจใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องที่ฟังแล้วฟังอีก อีก ๑๐ ชาติเคยฟังแล้วเรื่องนี้ แน่ๆ เลย แล้วก็จะได้ฟังอีกแค่ไหน และความเข้าใจเพิ่มขึ้น หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น เกิดมาแล้ว รู้ตัวหรือเปล่าว่าทำอะไรทุกวัน เก็บขยะทุกวันหรือเปล่า ไม่ได้ทิ้งขยะ แต่เมื่อรู้ว่าเป็นขยะจึงจะเริ่มทิ้ง แต่ทิ้งเองไม่ได้ ต้องเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงสามารถที่จะค่อยๆ สละสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเราก่อน ไม่ใช่ไปสละความติดข้องที่เคยสะสมมานาน ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในเรื่องราวต่างๆ เพียงแต่สละความไม่เข้าใจความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ สละความไม่รู้ว่าขณะนี้ ก็เป็นแต่สิ่งที่มีจริง กำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่มีจริงๆ ชั่วคราว เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่เก็บขยะ เมื่อเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ปัจจัย หลายๆ ท่านพอพูดถึงคำว่า ปัจจัย ก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องละเอียด แม้กระทั่งชื่อหรือว่าการจะเข้าใจเรื่อง แล้วความที่จะค่อยๆ เข้าใจความเป็นปัจจัยที่เป็นเบื้องต้นจริงๆ ท่านอาจารย์ ควรจะเริ่มเข้าใจยังไง

    ท่านอาจารย์ เรารีบร้อนที่จะไปเข้าใจปัจจัยเยอะๆ แล้วก็ชื่อมากๆ ใช่ไหม แต่ว่าถ้าพิจารณาว่าขณะนี้ แม้เห็นที่กำลังเห็น เกิดได้ไหม ถ้าไม่มีปัจจย นี่คือขั้นต้น ที่จะเป็นความเข้าใจจริงๆ โดยไม่ต้องใช้ชื่อเลย แต่ถ้าจะเปลี่ยนภาษาไทยเป็นภาษาบาลี ก็มีชื่อของปัจจัยนั้นๆ แต่ว่าจะเข้าใจชื่อหรือว่า จะเข้าใจความจริง ว่าขณะนี้แต่ละอย่าง ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรุงแต่งอาศัยกัน และกัน ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยสักอย่างเดียว เช่น ถ้าไม่มีตาแล้วจะให้เห็น ไม่มีโสตปสาทไม่มีหูแล้วจะให้ได้ยิน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น นี่คือ ขั้นต้นของการที่จะเริ่มเข้าใจปัจจัย โดยยังไม่ต้องเรียกชื่อ แต่เข้าใจก่อนว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยที่สมควรเฉพาะสิ่งนั้นเท่านั้น ที่จะเกิดขึ้น เพราะได้ยินคำว่าปัจจัยแล้ว ใช่ไหม และปัจจัยก็หลากหลายด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะปัจจัยเดียว เพราะฉะนั้น ในเมื่อปัจจัยหลากหลายก็ต้องมีชื่อ สำหรับแสดงความหลากหลายของปัญญา ของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย ที่เป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ไม่ได้ปฏิเสธ ว่ารู้ชื่อไม่ได้ แต่ว่าเข้าใจแล้ว ก็สามารถที่จะรู้ว่าใช้ชื่ออะไร สำหรับปัจจัยนั้นๆ จิตเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น โดยไม่มีสิ่งที่จิตกำลังรู้ ได้หรือไม่ ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสิ่งที่สามารถกระทบตา จิตเห็นจะเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฎ ที่กำลังปรากฏขณะนี้ เพราะกระทบตา แล้วจิตเห็นเกิดขึ้นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กระทบตาได้ เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องเห็นสิ่งที่กระทบตานั่นแหล่ะ จะไปรู้สิ่งอื่นไม่ได้ ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้น สิ่งนั้น ที่จิตกำลังรู้ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น เพราะจิตรู้ สิ่งนั้นจึงเป็นอารัมมณปัจจัย แค่นี้ธรรมดาที่สุด และค่อยๆ รู้จักทีละปัจจัย ๒๔ ปัจจัยนี่ก็ไม่มาก ถ้าพูดถึงปัจจัยใหญ่ๆ ที่พอที่จะเข้าใจได้ และก็เก็บเล็กผสมน้อย คือ ถ้าสามารถที่จะเข้าใจความหมายของปัจจัย ก็ทำให้คลายการที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือจะทำ หรือจะเลือก เพราะเลือกไม่ได้เลย แม้แต่ขณะนี้จิตใดเกิดขึ้น เพราะผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยด้วย แต่ว่าไม่ใช่อารัมมณปัจจัย แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นปัจจัยให้ จิตนั้นเกิดขึ้นโดยเป็นอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตนั้นต้องเกิด เพราะเหตุว่า อารมณ์นั้นกระทบ ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เราได้ยินคำว่าจิตกับอารมณ์ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ใช้ภาษาบาลีว่า อารัมมณ หรือ อารัมภณ ก็คือ อารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัย๑ ในปัจจัยอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะปัจจัยเดียว เพราะว่า จิตเห็นเกิดขึ้น โดยสิ่งที่ถูกเห็นเป็นอารัมมณปัจจัย แต่จิตเห็นที่จะเกิด ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อยากจะมีชื่อ รู้ชื่อก็ได้ หรือยังไม่อยากจะจำชื่อภาษาบาลีก็ได้ แต่เมื่อมีความเข้าใจว่า แม้จิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมกันดับพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้น การเกิดพร้อมกันเป็น สหชาตปัจจัย อะไรก็ตามไม่เลือกไม่เว้น สห แปลว่า พร้อมกัน เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกันเข้ากันได้สนิทไม่มีรูปใดๆ มาเจือปนเลย เป็นนามธรรม แม้อย่างนั้นจิตก็ไม่ใช่เจตสิก นี่คือการที่จะเข้าใจธรรม จนกระทั่งรู้ว่าแม้เพียงชั่วคราว แต่กว่าจะเกิดปรากฏได้ ก็ต้องอาศัยปัจจัยมาก ปรากฏแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น กว่าจะค่อยๆ รู้ว่าไม่มีใครสักคน นอกจากธรรมแต่ละหนึ่ง ก็ต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น สำหรับจิต และเจตสิก เราเคยใช้คำว่า สห บ่อยๆ ใช้คำว่า ชาติ หรือชาต ด้วย อย่างสหชาติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสภาพอะไรเกิดพร้อมกับการเกิดของพระองค์ด้วย ก็เรียกว่าเป็น สหชาต แต่ว่าขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต แล้วก็ดับพร้อมจิต และยังต้องรู้อารมณ์เดียวกับจิตด้วย เข้ากันได้สนิทเป็นเจตสิก สภาพธรรมที่เกิดในจิต เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นสหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่จิต และเจตสิก แต่เกิดพร้อมกันด้วยมีไหม มี เป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกัน และกันหรือเปล่า ก็เป็น ก็เท่านั้นเอง ใครจะไปเปลี่ยนธรรมได้ เมื่อธรรมอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น พอจะกล่าวได้ไหม ฟังมาแล้วทั้งนั้นเลย อะไรบ้างที่เป็นสหชาตปัจจัย ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แยกกันไม่ได้เลย ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีก ปลีกย่อยออกไปอีก แต่ก็ควรที่จะเข้าใจแต่ละหนึ่ง ให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เพียงแต่ว่านามธรรมเท่านั้นที่เป็นสหชาตเกิดพร้อมกัน อะไรก็ได้ รูปธรรมที่เกิดพร้อมกันก็เป็นสหชาตปัจจัย เฉพาะธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น หรือ ที่เกิดพร้อมกัน แล้วเป็นสหชาตปัจจัย ยังมีอื่นอีกหรือเปล่า นี่คืออาศัยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย และก็เพิ่มความมั่นคงขึ้นว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นอย่างนี้ โดยที่ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    อ.วิชัย ก็อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า สหชาต ก็มีคำว่า สห ก็คือ พร้อม ชาต ก็คือ เกิดขึ้น ปัจจัย ก็คือ โดยความเป็นปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกัน ท่านอาจารย์ได้ยกตัวอย่างเรื่องของจิต และเจตสิก ซึ่งทรงแสดง ก็จะใช้คำว่าเป็นปัจจัยแก่กัน และกัน ก็คือ ทั้งจิต และเจตสิก ต่างก็เป็นปัจจัยแก่กัน และกัน ด้วยอำนาจของสหชาตปัจจัย และก็ยังมีธรรมที่ขณะนี้ก็เป็นไปอยู่ อย่างเช่น ขณะที่มีจิต และจิตนั้นทั้งเจตสิกด้วย ก็เป็นปัจจัยให้รูปเป็นไป อย่างเช่น กำลังพูดอยู่ หรือว่ากำลังเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ขณะนั้น แสดงว่ายังมีจิตอยู่ที่จะเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเป็นไป ด้วยมีจิตนั้นรวมถึงเจตสิกด้วย เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดขึ้น พร้อมกับจิต และเจตสิกด้วยในขณะนั้น ดังนั้น ขณะนั้นจิตก็เป็นปัจจัยแก่ จะใช้คำว่าจิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต ด้วยอำนาจของสหชาตปัจจัย นี้ก็คือ อีกประการหนึ่ง และก็มีส่วนของมหาภูตรูป๔ ซึ่งก็ทรงแสดงว่า เป็นปัจจัยแก่กัน และกัน คือ ต่างก็เป็นปัจจัยแก่กัน และกัน ธาตุดินเป็นปัจจัยแก่ธาตุน้ำ ไฟ ลม ธาตุน้ำเป็นปัจจัยแก่ธาตุดิน ไฟ ลม ดังนั้นธาตุทั้ง๔ ก็เป็นปัจจัยแก่กัน และกัน ด้วยอำนาจของสหชาตปัจจัย และขณะที่รูปเกิดขึ้น ก็เกิดเป็นกลุ่ม ดังนั้น มหาภูตรูป๔ เกิดขึ้นก็มีอุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้น ดังนั้น อุปาทายรูป อย่างเช่น สี กลิ่น รส โอชา ก็เป็นรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ดังนั้น รูปที่อาศัยมหาภูตรูป เมื่อจะเกิด ก็ต้องเกิดเพราะมหาภูตรูป๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นสหชาตปัจจัยให้อุปาทายรูปเกิดขึ้น และในการบางคราว ก็คือ ปฏิสนธิจิต ก็เป็นปัจจัยแก่ กรรมชรูป นี้ก็เป็นเรื่องละเอียด

    ท่านอาจารย์ คงไม่ใจร้อนที่จะรู้เยอะๆ แต่เข้าใจจริงๆ แต่ละคำ ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างสหชาต ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ขณะนั้นต้องเกิดพร้อมกัน สิ่งที่อาศัยกันเกิด เกิดพร้อมกัน แต่ความละเอียดยังมี ความปลีกย่อยยังละเอียดกว่านั้นอีก ก็เพียงแต่คร่าวๆ ให้รู้ว่า อะไรก็ตามที่เกิดพร้อมกัน จะบอกว่าไม่พร้อมได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภาษาบาลีก็ สหชาต เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ คำว่า ธรรมดา ที่เราใช้กันทั่วไปนี้ เราจะพิจารณาให้สอดคล้องกับทั้งภาษาบาลี และความเข้าใจในธรรม ได้ถูกต้องอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พอพูดถึง ธรรมดา พูดถึง ธรรมหรือเปล่า ไม่รู้เลย ใช่ไหม แต่ความจริง เมื่อมีคำว่า ธรรม ก็หมายความว่า พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ และความเป็นจริงของสิ่งนั้น แต่เราก็เผินมาก ธรรมดา เป็นธรรมดา ก็เป็นธรรมดาจริงๆ เพราะว่า ต้องเป็นธรรมดา ธรรมจะเป็นอื่นไม่ได้ ต้องเป็นธรรมตา ความเป็นไปของธรรมที่จะต้องเป็นอย่างนั้น แต่คนไทยก็ไม่นิยมใช้ ต ก็เปลี่ยนเป็น ด ก็เป็นธรรมดา แต่ว่าเวลานี้เห็น เกิดมาแล้วก็ต้องเห็น เป็นธรรมดาหรือเปล่า มีใครบ้างเกิดมาแล้วไม่เห็น แต่รู้ไหมว่านั่นเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ใช้คำว่าธรรมดา แต่ก็ไม่รู้จักธรรมเลย

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็จะทำให้เราเข้าใจคำที่เราพูด และรู้จักความจริงของคำนั้นด้วย ไม่ใช่พูดคำที่ไม่รู้จัก แต่ว่าพูดคำที่รู้จักขึ้น ว่าแท้ที่จริงแล้วก็ต้องหมายความถึง สิ่งที่มีจริง แม้แต่ธรรมดาก็ต้องเป็นธรรมด้วย เกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ก็เป็นธรรมดา คือ ความเป็นไปของธรรม ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ และก็เกิดดับสืบต่อ ตามเหตุตามปัจจัย จนกว่าถึงกาลที่จะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ ก็ตายเป็นธรรมดา คือ ทุกอย่างก็เป็นธรรมทั้งหมด ถ้าใช้คำว่าธรรมดาก็ต้องเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้น จากการฟัง การศึกษาธรรม และการเข้าใจธรรม ก็จะไม่พูดคำว่าธรรมดาผิวเผิน แต่ก็มีความเข้าใจในความเป็นธรรม ที่ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึง เกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมก็มีคนตาย แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็พูดคำที่ไม่รู้จัก

    อ.ธิดารัตน์ ก็ถ้าหากว่าไม่ได้มีการศึกษาธรรม จะไม่ทราบว่า ตายแล้วเกิดทันทีปฏิสนธิทันที ในภพภูมิต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่เพียงเป็นดวงๆ จิต ก็คือ เป็นขันธ์๕ ที่เกิดขึ้น ในลักษณะของภพภูมินั้นๆ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม และการเข้าใจธรรม ก็จะทำให้เราไม่เข้าใจผิดๆ และไม่พูดตามๆ กันด้วยความไม่เข้าใจนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าพอเข้าใจความหมายของคำว่าธรรมตา หรือธรรมดาแล้วเวลาพูดคำนี้คิดถึงธรรมหรือเปล่า หรือยังคงเหมือนเดิม โกรธเป็นธรรมดาไหม เป็น หมายความว่า รู้จักโกรธว่าเป็นธรรม ไม่ใช่บอกว่าโกรธเป็นธรรมดา แต่ว่ารู้ด้วยว่าโกรธนั้นก็เป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่เกิดเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ทุกคำเป็นธรรมดา ใช่ไหม

    อ.กุลวิไล จะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม สะสมความเห็นถูก มิเช่นนั้นเราพูดคำที่เราไม่รู้จัก และที่สำคัญเป็นความเห็นผิดด้วย เพราะปุถุชนหนาแน่นด้วยกิเลส และยังเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ โกรธเป็นธรรมหรือเป็นเรา ใช้คำว่าธรรมดาจริง แต่เป็นเรา จนกว่าจะเข้าใจคำธรรมดา ว่าเป็นธรรม คือ ความเป็นไปของธรรมเท่านั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    18 ม.ค. 2567