พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 827 --- ไม่ถอดเทป


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๒๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ ทุกคนละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือจิต ใช่หรือไม่ คนที่จัดดอกไม้ก็จะคิดถึงว่า ดอกไม้จัดอย่างไรจะสวย ก้านสั้น ก้านยาว สีเหลือง สีขาว สีเขียวสลับกัน นั่นก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้คิด ให้ตรึก แต่ลืมสภาพของจิตตั้งแต่เกิดจนตาย จนถึงขณะนี้ว่า มีใครรู้จักจิตจริงๆ ที่จะเข้าใจได้ถูกต้องในจิตของตน เพราะว่าส่วนใหญ่ จะคิดถึงจิตของคนอื่น พอวันนี้เห็นหน้าก็ เป็นอย่างไรบ้าง ดูเป็นสุขดีหรือว่าทุกข์ร้อนประการใด ก็ไปคิดถึงจิตของคนอื่น แต่ลืมสภาพจิตของตนเอง ซึ่งความจริงถ้าไม่มีจิตซึ่งเข้าใจว่าเป็นของเรา ยึดถือมานานว่าเป็นของเราเกิดขึ้น ก็จะไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น แต่ว่าขาด และละเลยการที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ว่า ถ้าจิตนี้ไม่เกิด ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี ไม่ปรากฏเป็นเรื่องราวมากมาย

    เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะพูดคำใด ก็คือว่า ฃพระธรรมจะทำให้สามารถเข้าใจความถูกต้องของคำนั้น ชัดเจน และละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า จะละบาปทั้งปวง ทั้งสิ้นทั้งหมด ก็จะต้องรู้ว่าขณะนี้บาปเมื่อไร จะละเมื่อไร นี่เป็นความชัดเจน ซึ่งจะต้องค่อยๆ เข้าใจละเอียดขึ้น มิฉะนั้นการฟังแต่ละครั้ง เหมือนรู้เหมือนเข้าใจ แต่ก็เป็นโมฆะ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจธรรมจริงๆ ที่เรากล่าวถึง ในขณะที่ธรรมนั้นเกิดขึ้น ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นถ้าอย่างเผินๆ คร่าวๆ ก็เป็นอย่างที่รู้กันว่า บาปก็คือธรรม หรือสิ่งที่ไม่ดี แล้วบุญก็คือสิ่งที่ดี ในชีวิตประจำวันไม่ได้มีแต่เฉพาะบาปกับบุญสองอย่าง ยังมีสภาพธรรมที่ไม่ใช่บาป ไม่ใช่บุญด้วย

    ก็เป็นเรื่องของการศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจขึ้น อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ และการเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา และยึดถือสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง จนกว่าสามารถที่จะชำระจิต ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่รู้ และการยึดถือ และความติดข้อง และอกุศลอีกมากมาย ประมาณไม่ได้เลย ที่จะไปละบาปให้หมดสิ้น ก็ลองคิดดู ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย จะละสักนิดหนึ่งก็ไม่มี มีแต่ว่าจะเพิ่มขึ้นๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ตรง เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องความจริงใจ ที่จะต้องมั่นคงจริงๆ ในการที่จะเข้าใจธรรม

    อ.ธิดารัตน์ กุศลที่มี แม้กระทั่งกุศลจิต ก็มีกุศลหลายประเภท แล้วกุศลที่ควรจะเจริญขึ้นละคะท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คิดถึงแต่ที่ควรจะเจริญ เห็นหรือไม่ พอได้ยินคำว่ากุศล ก็จะหากุศลที่ควรเจริญ ควรเจริญทุกอย่างหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ จริงๆ ก็ควรเจริญกุศลทุกประการ แต่แม้กระทั่งกุศลทุกประการ จะมีกุศลที่จะเป็นหนทางที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ละเลยโอกาสที่จะเป็นกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด แต่ว่ากุศลทั้งหลายจะบริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้าไม่มีความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ลืม ไม่ใช่เพื่อต้องการกุศลมากๆ หรือควรที่จะทำกุศลประเภทนั้นประเภทนี้ แต่เพื่อเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงในสิ่งที่มี นั่นจึงเป็นกุศลที่สามารถที่จะทำให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย เพราะเหตุว่ามีความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นย่อมเห็นถูกต้องว่า อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นอกุศล แล้วก็ไม่ใช่หวังที่จะไปมีแต่เฉพาะกุศลที่ประเสริฐ และยิ่งใหญ่ แต่กุศลทุกประเภท และกุศลทุกประเภทจะเจริญขึ้น เมื่อมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บอกอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร ได้ฟังอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ จริงๆ ก็ทำอะไรไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็คือว่า ไม่ละเว้นโอกาสที่จะเป็นกุศล ถ้าไม่ใช่โอกาสของการที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ กุศลอื่นก็มี และโอกาสที่จะได้ยิน ได้ฟังธรรมให้เข้าใจ แต่ไม่ฟัง กุศลนี้ก็ไม่มี และกุศลอื่นก็เจริญไม่ได้ด้วย

    ผู้ฟัง อกุศลเกิดมากกว่ากุศล และบังคับบัญชาไม่ได้ แม้ว่าจะอยากให้มีการเจริญกุศลทุกประการ แต่ก็บังคับบัญชาไม่ได้ กราบท่านอาจารย์ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้ารู้จักเหตุ ว่าเหตุใดนำมาซึ่งผลใด ก็เจริญเหตุนั้น เพื่อที่ผลนั้นจะได้เกิดขึ้น ถ้าจะมีปัญญา มีความเห็นที่ถูกต้อง ก็ต้องฟัง และพิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพื่อเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นกุศลอื่น ไม่ใช่กุศลระดับนี้ ก็เป็นกุศลที่เป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบ โดยที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นกุศลก็มีหลายประเภท ที่เราฟังธรรมนี้ ก็เพื่อมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก โดยเฉพาะคือในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏ และรู้ได้ ยังไม่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ของสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ จึงฟังแล้วฟังอีก ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกว่าจะเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ สามารถเห็นถูกต้องได้ จากขั้นการฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แม้จะเข้าใจว่า อกุศลเกิดมากกว่ากุศล

    ท่านอาจารย์ เพียงเข้าใจ แต่เวลานี้อะไรเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล อกุศลนั้นก็ดับไปแล้ว เพราะว่าเพียงแต่ฟัง แล้วก็มีความเข้าใจว่า ความไม่รู้ก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ก็เข้าใจอย่างนี้ว่า อกุศลต้องเกิดมากกว่ากุศลแน่นอน

    ผู้ฟัง ความคาดหวังที่จะทำดี ก็เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ คาดหวัง ใช่ไหม เป็นอะไร คาดหวังกับทำดี ต่างกันหรือเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ทำดี

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง คาดหวัง แต่เวลาสภาพธรรมเกิดจริงๆ ไม่สามารถที่จะแยกได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่มีตัวตนไปแยก แต่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เข้าใจด้วยการคิดเอง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจด้วยการคิดไม่พอ คิดก็ดับ แล้วก็คงเป็นเราคิด ฟังธรรมเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แต่ความรู้ขึ้น กับไม่รู้เลย ก็มีความต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็ตรงว่า จากการที่ได้ฟังมาแล้ว และก็ฟังอีก รู้ขึ้นบ้างไหม มากน้อยแค่ไหน ต้องฟังต่อไปอีกนานเท่าไร

    ผู้ฟัง เจริญพร มีความสงสัยเรื่อง กุศลที่จะเป็นไปในภพ อย่างเช่น ผู้นั้นทำทานก็ดี ศีลก็ดี แต่ว่าเป็นไปเพื่อจะพัฒนาในวัฏฏะ เกิดเป็นคนรวย เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นผู้มียศบรรดาศักดิ์ ถ้าทำกุศลศีลเป็นไปในฝักฝ่ายเหล่านี้ ไม่ทราบว่าเป็นกุศลที่สมควรจะเจริญหรือไม่

    ท่านอาจารย์ กุศลทุกประเภท ไม่ใช่อกุศลเจ้าค่ะ เพราะฉะนั้นก็ควรเจริญ ทำไมถึงจะไม่เจริญกุศล ไม่ว่าประเภทหนึ่งประเภทใด แต่ให้ทราบว่ากุศลมีหลายอย่าง ถึงพร้อมคือถึงพร้อมด้วยกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ถึงพร้อมถึงกาลที่จะสามารถดับกิเลส ถึงพร้อมถึงกาลที่จะเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่ยังไม่มีกุศลมากจนกระทั่งค่อยๆ มีกุศลเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง อาตมาเคยฟังอาจารย์แสดงเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารในที่นี้หมายถึง ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ถ้าเป็นไปในฝักฝ่ายเพื่อจะไม่ออกจากวัฏฏะ ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา ถ้าเป็นมิจฉาปฏิปทาอย่างนี้ สมควรจะเจริญหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็กุศลยังไม่ถึงพร้อม คือยังไม่ที่จะดับกิเลส ก็เป็นแค่ทานบ้างสำหรับบางคน และก็เป็นศีลสำหรับบางคน และก็เป็นทั้งทาน ศีลสำหรับบางคน แล้วก็เป็นความสงบของจิตที่เป็นสมถภาวนาสำหรับบางคน แล้วก็เป็นถึงอรูปฌาน แต่ก็ยังไม่ได้ออกจากสังสารวัฏฏ์ ก็หมายความว่ากุศลนั้นยังไม่ถึงพร้อม

    ผู้ฟัง แสดงว่ากุศลถึงพร้อม ในที่นี่หมายถึงตัวปัญญา ตลอดจนถึงสามารถดับกิเลสได้

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ บางท่านก็มีเพียงแค่ระดับทาน บางท่านก็ศีล บางท่านก็ความสงบของจิต แต่ว่ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ถึงพร้อมที่จะให้ดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง เจริญพร อนุโมทนา

    อ.ธิดารัตน์ เราก็จะได้ยินคำว่า บาป คุณคำปั่นค่ะ คำว่า บาป เป็นภาษาบาลีใช่หรือไม่ หรือว่าเป็นภาษาไทย เพราะว่ามีคำว่า บาป บางทีเราก็ใช้คำว่า บาปกรรม จะมีความต่างกันหรือไม่ สำหรับการใช้คำว่า บาป อย่างเดียว และ กรรม จะมีความละเอียดอย่างไร

    อ.คำปั่น เมื่อตอนต้น ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวถึง ความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เป็นบาป และที่เป็นบุญ จริงๆ แล้ว แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อว่าบาป แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อว่าบุญ ความเป็นจริงของธรรม ก็ไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ท่านอาจารย์ก็ใช้คำธรรมดาว่า สิ่งที่ไม่ดีกับสิ่งที่ดี นี่คือใช้ในคำไทย คำว่า บาป หรือว่า ปาปะ ในภาษาบาลี หมายถึง ไม่ดี หมายถึง ชั่ว เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณา ใช่หรือไม่ว่า ขณะใดที่ไม่ดี ขณะใดที่ชั่ว ก็คือขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป อกุศลก็มีกำลัง มีระดับที่แตกต่างกัน เมื่อมีกำลังมากขึ้น ก็มีการล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการเบียดเบียน มีการประทุษร้ายผู้อื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา ซึ่งก็แสดงถึงกิเลส อกุศลที่มีกำลัง ล่วงเป็นทุจริตกรรม เป็นบาปกรรม หมายถึงว่า เป็นกรรมที่เป็นบาป เป็นกรรมที่ไม่ดี เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี ที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า เพราะว่าถ้ากล่าวถึงกรรม ก็กว้างขวาง แต่ถ้ากล่าวถึงบาปกรรม ก็ต้องหมายถึงเฉพาะอกุศลกรรม ที่มีการล่วงเป็นทุจริตประการต่างๆ ด้วยกำลังของอกุศลที่มีมาก อย่างเช่น ข้อความที่ปรากฏในพระสูตร ในธรรมบทว่า ผู้ใดทำบาปด้วยตนเอง ผู้นั้นก็ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง ก็เพราะว่าเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ผู้นั้นเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ เพราะว่ามีความเศร้าหมองเกิดขึ้น ก็คือ อกุศล นั่นเอง และเมื่อเวลาที่อกุศลเหล่านี้เผล็ดผล ก็ย่อมให้ผลกับผู้นั้น ไม่ใช่ให้ผลกับผู้อื่น นี่คือความเป็นจริงของธรรม

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังพระธรรม เวลาที่ได้ศึกษาพระธรรมก็ไม่พ้นไปจาก เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้แต่การกล่าวถึงบาปก็ดี บุญก็ดี ก็หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง และมีจริงๆ ในชีวิตประจำวันด้วย เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แต่บางทีก็คิดว่า พอที่จะบัญชาได้ อย่างเช่น ขณะนี้ตัดสินใจว่า จะมาฟังธรรมแล้ว ตัดสินใจว่าวันหยุดขอฟังธรรมอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ไม่ไปที่อื่น ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ลองเปลี่ยนการตัดสินใจ บังคับให้ ไม่ตัดสินใจอย่างนั้น

    ผู้ฟัง คือขณะที่ตัดสินใจ ขณะที่ลูกๆ ชวน ก็คิดอยู่ว่า ขณะนั้นเราก็ยังมีสองทางที่จะตัดสินใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ไป บังคับเปลี่ยนให้ตัดสินใจใหม่เป็น ไป

    ผู้ฟัง ถ้ากรณีเปลี่ยนใจ ก็เป็นการตัดสินใจคนละวาระแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ บังคับได้หรือไม่ ให้เปลี่ยนการตัดสินใจให้ไป แทนไม่ไป บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง หลายๆ ครั้งคิดว่าบังคับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ หลายๆ ครั้ง ทำไมไม่เหมือนกันละคะ เดี๋ยวได้ เดี๋ยวไม่ได้ หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็คิดว่าอยู่ที่เราตัดสินใจว่า เราจะเข้าห้องน้ำหรือว่าจะทนต่อไปดี

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนเป็นตัดสินใจเลยได้ไหม แทนที่จะลังเล

    ผู้ฟัง ก่อนทำก็คิดว่าได้ แต่พอทำไปแล้วก็เปลี่ยนไม่ได้ เลยตัดสินใจว่าฟังก็ฟังไป แล้วมันก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นคุณพัชวัฒน์ หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้มั่นคงขึ้น ทั้งหมดไม่มีใครไปทำอะไรได้ แม้แต่คิดจะไป คิดไม่ไป เปลี่ยนเป็นคิดไป แล้วก็เปลี่ยนเป็นคิดไม่ไป ทั้งหมดก็คือสภาพธรรมที่เปลี่ยนได้ ตามเหตุตามปัจจัย คิดอย่างนี้แล้วก็เปลี่ยนเป็นคิดอย่างอื่นก็ได้ ตามเหตุตามปัจจัย แต่คิดเก่าดับไปแล้ว จะไปเปลี่ยนคิดเก่าไม่ให้คิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเกิดแล้วเป็นอย่างนั้นแล้ว และดับไปแล้ว ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง ว่าไม่มีเรา แต่มีธรรมแน่นอน ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย

    ผู้ฟัง ต้องขณะจิตสั้นๆ นิดเดียวๆ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ หรือขณะไหนก็คือว่า สภาพธรรมเกิดแล้ว คิดแล้ว ดับแล้ว คิดใหม่ก็เกิดใหม่อีกแล้ว ก็ดับไปอีกแล้ว คิดใหม่อีก ก็เกิดอีกแล้วก็ดับไปอีก

    ผู้ฟัง ขอทวนคำถามอาจารย์ที่ค้างไว้ว่า ทำไมหลายครั้งเวลาถามอาจารย์ ผมคิดว่าอาจารย์เป็นผู้มีความเมตตามาก แต่ทำไมเวลามาถามถึงมีความตื่นเต้น มีอาการสั่น ผมถามหลายท่านก็บอกว่าเป็นเหมือนกัน ความตื่นเต้นถ้าไปศึกษาก็เป็นโทสมูลจิต เมตตากับโทสะ มันเป็นคนละขั้วกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องมั่นคง เกิดแล้วเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไปแล้วด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจถูกต้อง สิ่งที่มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่มีใครสามารถจะบังคับให้เกิดตามใจชอบ หรือไม่ให้ ไม่เกิดตามใจชอบได้ เพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย แต่เข้าใจผิด เข้าใจว่าเป็นเราที่บังคับ แต่ความจริงไม่มีเรา ถ้าไม่มีจิต ไม่มีสภาพธรรม ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป อะไรๆ ก็ไม่มี

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างถ้าเห็นดอกไม้สวย ส่วนใหญ่คนก็จะมีโลภะ เห็นท่านอาจารย์เป็นผู้มีเมตตา ซึ่งจริงๆ จิตใจของเราต้องเยือกเย็น สงบ

    ท่านอาจารย์ อย่าลืม จะไม่สงบหรือว่าเมื่อสักครู่นี้จะหวั่นไหว ใช่ไหม จะตื่นเต้น เพราะมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราเห็น ทำให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรจะทำให้จิตที่ได้สะสมมา เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม แม้ว่าจะอยู่ในที่ๆ ไม่สงบเลย เดือดร้อนวุ่นวาย แต่จิตที่ได้ฝึกแล้ว สะสมแล้ว เข้าใจสภาพธรรมแล้ว ขณะนั้นก็สงบ ไม่ใช่ไปอาศัยเหตุการณ์ที่ไม่สงบ หรือเหตุการณ์ที่สงบมาทำให้จิตที่สะสมมาแล้วเป็นอย่างนั้น ตามที่คิด แต่ต้องตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง สรุปว่าคือ ถ้าผมมีใจสงบแล้ว ไม่ว่าจะเห็นอาจารย์ที่สงบแล้ว หรือเห็นคนที่ไม่สงบ ผมก็สงบได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ลืมว่า อารมณ์หรือสิ่งที่จิตรู้ ไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่หวั่นไหวเพราะกิเลสที่สะสมมาในจิต ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นจะทำให้ใครหวั่นไหวได้ แต่กิเลสที่สะสมมาในจิต จะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อกระทบกับสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ การกระทบคือผัสสเจตสิก กระทบตลอดเวลา มีไหมที่มีจิตเกิด โดยไม่มีผัสสเจตสิก ไม่มี กระทบไม่เคยหยุด เพราะว่าจิตเกิดไม่หยุด เพราะฉะนั้นผัสสะพอใจกระทบไหม ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่าผัสสะเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยด้วย ไม่ใช่เกิดโดยที่ไม่มีเหตุปัจจัย ผัสสะของพระอรหันต์มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ กระทบสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู หรือเปล่า แต่ไม่ได้มีความต้องการ ไม่ได้เดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นผัสสะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ผัสสะของคนอื่น กระทบแล้วติดข้องต้องการเพิ่มขึ้นไม่หยุดเลย เพราะฉะนั้นผัสสะนั้นก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะต่อๆ ไปอีกนานเท่าไร เห็นหรือไม่ นี่คือความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม คือเข้าใจความจริง ขณะนั้นก็เป็นปัญญา ซึ่งมีความเห็นถูกในขณะที่ฟังเข้าใจ แต่ไม่พอ เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับเลย เพราะเหตุว่าแม้เพียงขั้นการฟังก็ยาก ที่จะเห็นถูกตามความเป็นจริง เพราะว่าเคยเข้าใจผิดมาก่อน เช่น คุณพัชวัฒน์เข้าใจว่า บังคับได้ ประเดี๋ยวก็บังคับอีก ประเดี๋ยวก็คิดว่าบังคับได้อีก ไม่มั่นคงเลย แต่ถ้ามั่นคงจริงๆ ก็คือ เป็นธรรม ซึ่งเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุด ไม่ลืม จิตที่มีกิเลส ไม่ใช่อารมณ์ทำให้มีอิทธิพล ที่จะทำให้จิตนั้นเศร้าหมอง หรือผ่องใส แต่เพราะจิตนั้นสะสมอกุศลมานานแสนนาน อุปมาแล้วอุปมาอีก สกปรก เป็นแผลเน่า แล้วก็ตกลงไปในเหว ในหลุม ในบ่อ แล้วก็ยังหมักหมมไปอีกเรื่อยๆ เติมเข้าไปอีกเรื่อยๆ จนล้นออกมาด้วยอกุศล ยากต่อการที่จะทำให้สะอาด ชำระล้างให้บริสุทธิ์ได้ นี่คือการกล่าวถึงความจริง ใครว่าไม่จริง เพราะไม่รู้ ใช่ไหม แต่ทุกขณะที่มีการเห็น ตกไปอีกแล้วในทะเลของกิเลส จะเป็นในเหวในที่ลึกใดๆ ก็ตาม ยากที่จะขึ้นได้ แล้วก็สะสมไปอีกๆ

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมแต่ละครั้ง จะทำให้เห็นความจริงว่า จะเป็นพระโสดาบันชาตินี้ได้ไหม จะเป็นพระโสดาบันหรือว่าจะเข้าใจธรรมที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นพระโสดาบัน โดยไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่หวัง และปรารถนาไว้ ซึ่งสำเร็จไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นพระโสดาบัน แต่ต้องเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วละคลายความติดข้องด้วย เพราะฉะนั้นขณะนี้ ตั้งแต่เช้ามา ความไม่รู้กับความรู้อะไรมากกว่ากัน

    ผู้ฟัง ความหลงลืมมากกว่า

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นพระโสดาบันในชาตินี้ได้ไหม เดี๋ยวนี้กำลังสะสมอะไร

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็สะสมความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ กับที่เคยสะสมความไม่รู้ และกิเลสมาแล้ว อะไรมากกว่ากัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    10 ต.ค. 2567